บทความ
บันทึกฅนในความทรงจำ
บันทึกฅนในความทรงจำ
ความเกี่ยวพันของเขา
กับผม
หมายเหตุก่อนเริ่มเรื่อง :
ผมหลับตา-ถอนหายใจขับไล่ความเศร้า-คิดถึงคำหนึ่งพูดของ ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร ที่บอกว่า ความตายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความทรงจำที่ไม่มีวันตายในหน่วยความจำของใครบางคน ก่อนที่จะตอกนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ดีด-ในค่ำคืนที่ฝนตกพรำลงมาตั้งแต่เช้ายันเย็น
ความเชื่อและใฝ่ฝัน : ต้นปี ๒๕๒๕ ด้วยความเชื่อว่า วรรณกรรมย่อมมีชีวิตอยู่ในทุกแห่งหนบนผืนแผ่นดินนี้ ดังนั้นกลุ่มวรรณกรรมต่าง ๆ อันมี ชมรมดอกไม้, ชมรมนักกลอน นครศรีธรรมราช, กลุ่มประภาคาร, กลุ่มประกายพรึก, ชมรมเพื่อนเรา, กลุ่มสานแสนทอง, กลุ่มเพื่อนวรรณกรรมปักษ์ใต้วรรณศิลป์ และอีกหลาย ๆ คนจึงได้ร่วมกันทำกิจกรรมเนื่องในวาระฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี
นี่คือจุดก่อเกิดของ กลุ่มนาคร ในฐานะกลุ่มกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม
จากสถานภาพของกลุ่มที่ก่อเกิดจากกลุ่มนักคิด นักเขียน ดังนั้นนอกเหนือจากความใฝ่ฝันถึง สำนักพิมพ์ เพื่อสนองตอบงานเขียนในฐานะนักเขียนแล้ว ในฐานะนักอ่าน ก็ย่อมใฝ่ฝันถึง ร้านหนังสือ ที่สมบูรณ์แบบเพื่อตอบสนองนักอ่าน และในฐานะนักคิด นักเขียนและคนทำงานที่ต่างมีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด และตระหนักในคุณค่าของ หัวเมืองต่างจังหวัด ว่าล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมส่วนรวม ชาติบ้านเมืองได้โดยเท่าเทียมกัน จึงย่อมใฝ่ฝันถึงศูนย์กลางในการพบปะเสวนาและจัดกิจกรรมประเทืองปัญญา สนองตอบความปรารถนาอันดีงามนั้นเช่นกัน
กลางปี ๒๕๒๘ และด้วยความใฝ่ฝันข้างต้นจึงเริ่มขึ้นด้วยการขยายและประสานแนวความคิด ร่วมลงหุ้นลงขันลงแรงกันตามอัตภาพของกลุ่มนาคร และเพื่อน ทั้งนี้โดยการเกื้อหนุนด้านสถานที่ทำการของครอบครัว บวรรัตนรักษ์
แม้กลุ่มนาครและเพื่อนจะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง แต่โดยเนื้อแท้ของวัตถุประสงค์และความปรารถนาพื้นฐานนั้น หาได้จำกัดขอบเขตความเป็นเจ้าของเพียงเฉพาะกลุ่มนาครและเพื่อนไม่ หากแต่ได้เปิดกว้างเพื่อเป็นสมบัติส่วนรวมของนักคิด นักเขียน นักอ่าน เยาวชนคนหนุ่มสาว ปัญญาชนและประชาชนทั่วไปแล้วตั้งแต่เบื้องต้น
และนี่คือความเป็นมาโดยย่นย่อของ สวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์
สถานที่ซึ่งนำพาเขากับผมให้มารู้จักและเกี่ยวพันกัน
*****************************
ความเกี่ยวกันพันของเขากับผม :
ต้นปี ๒๕๓๕ ผมเข้ามาทำงานในสวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์ ร้านหนังสือที่เกิดขึ้นจากการร่วมลงหุ้น ลงขัน ลงแรงของคนกลุ่มหนึ่ง ผมรักหนังสือ รักการอ่าน และคิดอยู่ตลอดที่จะขีดและเขียน ในบางครั้งคราวผมเองก็มีอาการ เหมือนที่กนกพงศ์เคยพูดบอก คือหลงใหลวรรณกรรม และเข้าใจอย่างที่กนกพงศ์เขียนเอาไว้ว่าวรรณกรรมคือผลแห่งการสังเกตความเป็นไปของผู้คนและสังคม และเป็นสิ่งที่เขายึดเป็นวิธีคิดและวิธีเขียน สิบกว่าปีผ่านมา ผมหาได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน หรือเป็นที่ชื่นชมของครอบครัวและคนรอบข้าง ชีวิตที่อยู่ไปวันต่อวัน จนมีนิยามติดปากอยู่เสมอว่า ทุกเรื่องราวของเมื่อวาน อีกทั้งทุกเหตุการณ์ของวันนี้ มันจะบอกให้รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร บ้านเกิดของผมตั้งอยู่ห่างจากหุบเขาฝนโปรยไพรไม่มากนัก พื้นที่ทุ่งนาซึ่งอยู่หว่างกลางทะเลและภูเขา คราวหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของนักเขียนหนุ่มธัช ธาดา ผมได้มีโอกาสพบเห็นนักเขียนตัวเป็นๆ ครั้งแรกที่บ้านเช่าติดกับร้านขายของชำ และผมเองก็ตั้งใจที่จะขอแจ้งเกิดเป็นนัก(อยาก)เขียน ในนามนัก(อยาก)เขียน ลูกบ้าน ตามที่กนกพงศ์อยากจะเห็น แม้จะไม่มีโอกาสนั้นแล้วก็ตามที ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วผมเริ่มต้นลงมือขีดเชียนอย่างจริงจัง มุ่งมั่นและพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นให้ออกมาในรูปแบบของวรรณกรรม
และแล้วเมื่อวันเวลาผ่านไป ชีวิตได้เรียนรู้กับหลายต่อหลายสิ่งที่ผ่านเข้ามา ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ผมรู้สึกหวงแหนภาพ และ/หรือเรื่องราวทุกอย่างที่พบผ่านมา เหมือนกับที่กนกพงศ์ปรารถนาให้เรื่องราวเหล่านั่นของเขา จำหลักอยู่ในรูปงานวรรณกรรม หลากเรื่องราวและวิถีชีวิตเช่นนั้นที่เขาหวงแหน คือสมบัติมีค่าหนึ่งเดียวของเขา -.
เพราะดินมันดี
หมู่มวลแมกไม้ จึงงอก- งดงาม
ดอกผลครบถ้วน สมบูรณ์คุณค่าโภชนาการ
แม้ใบเจ้าร่วง...ยังคืนค่าให้แผ่นดิน
แม้ใบเจ้าร่วง...ยังคงคุณ- ค่าคู่แผ่นดิน
เขียนถึงกนกพงศ์ในยามนี้ ทำให้คิดถึง สมใจ สมคิด นักเขียนอีกคนหนึ่ง ย่านหุบเขาฯ ที่กนกพงศ์กล่าวยกตำแหน่งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน พี่สมใจครับ เรื่องที่ติดค้างระหว่างผมกับพี่หนก เราสองคนเคลียร์กันเรียบร้อยก่อนวันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ แล้วครับ ขอบคุณที่พี่เป็นห่วงและทักท้วงผมครับ *****************************
บางส่วนเสี้ยวของความคิดคำนึง :
ความตายกำลังเดินเข้ามาหาเรา เข้ามา เข้ามาใกล้เรื่อย ๆ แต่นั่นแหละ มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือสิ่งของ ย่อมมีวันดับสูญและย่อยสลายไปตามสภาพของกาลเวลา และความตายนั้นก็เป็นเสมือนจุดจบของชีวิต หมดทั้งทุกข์หมดทั้งโศก เดินทางจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า คนเราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข หรือทุกข์ เป็นคนยากจน หรือร่ำรวย มีหน้าที่การงาน ชื่อเสียงเกียรติยศ มีสุขภาพดี ผิวพรรณผ่องใส แต่จะตายวันไหน เมื่อไหร่นั้น กรรมที่เราทำไว้ ได้จัดสรรและกำหนดเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันเป็นเหมือนกับคำพูดที่ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นตามกรรม เกิดมาเป็นคนย่อมหนีไม่พ้นซึ่งความตาย
ความตายเป็นหน้าที่ของสังขาร สังขารที่กล่าวถึงคือสิ่งปรุงแต่งจากเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยบางส่วนหยุดปรุงแต่ง มันก็มีความตายบางส่วนปรากฏออกมาสำหรับสังขารส่วนนั้น จึงถือว่าการตายเป็นหน้าที่ของสังขาร หรือ สังขารมีหน้าที่ ที่จะต้องตาย คนเราถ้าไม่ทำหน้าที่ที่เรียกว่าธรรมแล้ว จะต้องตาย เช่น ไม่หาอาหารกิน ก็จะต้องตาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน การไม่ทำมาหากิน เป็นการไม่ปฏิบัติธรรมะอย่างยิ่ง หรือเป็นการปฏิบัติผิดธรรมะอย่างยิ่ง ในเมื่อธรรมะ แปลว่า หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผู้ที่ไม่ทำมาหากินจึงต้องตาย นี้เรียกว่า ไม่มีธรรมะจึงต้องตาย แต่ถ้ามีธรรมะเข้ามา คือทำหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เขาก็ไม่ต้องตาย นี้เรียกว่าธรรมะเป็นเหมือนผ้าประเจียดสามารถปะทะกับความตายยังบุคคลนั้นให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ แต่มันก็มี- สิ่งที่จะป้องกันความตายได้นั้น
มีอยู่สองความหมาย : - ความหมายอันหนึ่งก็คือ อย่าให้ตายก่อนอายุขัย นั้นหมายความว่า ให้อยู่ไปจนถึงสิ้นอายุขัย เท่าที่จะอยู่ได้ อีกอย่างหนึ่งนั้นก็เป็นการป้องกันโดยสิ้นเชิงคือ ไม่ให้มีความตายโดยประการทั้งปวง เพราะว่าถอนอุปทานว่า เรา ว่า ตัวเรา หรือ ของเรา เสียได้ การที่ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตนของเรา หรือของคนอื่น เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่มีความตาย เป็นผู้อยู่เหนือความตาย พ้นจากความตายโดยสิ้นเชิง-.
เจ็บไข้นั้น มันก็เป็นเช่นนั้นเอง
กินยาก็เป็นเช่นนั้นเอง
หายก็เช่นนั้นเอง ไม่หายก็เช่นนั้นเอง
ตายก็เช่นนั้นเอง
อยู่ต่อไปก็เช่นนั้นเอง ไม่ได้อยู่ต่อไปก็เช่นนั้นเอง
พุทธทาสภิกขุ
*****************************
หลังเที่ยงคืน , ศุกร์ 24 กุมภาพันธ์ 2549
กลับจากงานศพ-กนกพงศ์ สงสมพันธุ์(พัทลุง)คัดลอกมาจากสมุดบันทึกประจำวันของผู้เขียน
หลังจากอ่านหนังสือ วิธีชนะความตาย และ ตถาตาหน้าเชิงตะกอน ของท่านพุทธทาสภิกขุ
หมายเหตุท้ายบันทึก :
ผมเขียนบันทึกชิ้นนี้เก็บเอาไว้ เปิดออกอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายต่อหลายครั้ง ก่อนตัดสินใจนำส่งมาเผยแพร่ ณ ที่แห่งนี้.........