บทความ

ฟูโก-ในสารานุกรมสุนทรียศาสตร์

by Pookun @February,01 2007 19.41 ( IP : 222...143 ) | Tags : บทความ
photo  , 295x342 pixel , 17,636 bytes.

(ข้อชี้แจงบางประการของผู้เรียบเรียง : สมเกียรติ ตั้งนโม) จาก เว็บไซต์ มหาลัยเที่ยงคืน

บทความต่อไปนี้เป็นเรื่องทางปรัชญา-สุนทรียศาสตร์ ซึ่งเรียบเรียงมาจาก Encyclopedia of Aesthetics ในหัวข้อ Michel Foucault. ซึ่งได้ใช้วิธีตัดต่อและเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อขยายความรู้และความเข้าใจให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในกระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มช. ที่ตนเองเป็นผู้สอนอยู่ให้เข้าใจเรื่องเกี่ยวเนื่องกับศิลปะนี้มากขึ้น หากงานเรียบเรียงชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์อยู่บ้างต่อสังคม (ซึ่งไม่ประสงค์ที่จะอ้างให้หรูหราและฟังมีคุณค่าแต่แรก) นั่นย่อมขึ้นอยู่กับผู้อ่านท่านนั้นยังไม่รู้เรื่องนี้ และผู้อ่านรู้จักวิธีการอ่านงานเขียนทางปรัชญา.

เป็นเรื่องไม่ง่ายและไม่จำเป็นที่ความคิดอันลึกซึ้งและซับซ้อนของนักคิด-นักปรัชญา จะต้องเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้อ่านทั่วๆไป และเริ่มมาสนใจอ่านปรัชญา ดังที่ C.E.M.Joad ซึ่งเขียนเอาไว้ในหนังสือ PHILOSPHY ได้แนะเอาไว้ว่า “การอ่านปรัชญาจะต้องศึกษาความคิดของนักปรัชญาท่านนั้นเอาไว้พอสมควร และมีผู้แนะนำ คำแนะนำมีทั้งควรจะเลือกอ่านอะไรก่อน และควรจะข้ามตอนใด งานเขียนทางปรัชญาส่วนมากยาวเกินไป และบางครั้งไม่จำเป็นต้องอ่านจนจบ จนกว่าจะมีการอภิปรายกันแล้วถึงบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง...

ข้อแนะนำเป็นขั้นๆในที่นี้ของ C.E.M.Joad คือ
(1) เมื่อเริ่มต้นอ่านปรัชญา อย่าพยายามอ่านจนจบเล่มหรือจบบท ให้เลือกอ่านเฉพาะที่เข้าใจก่อน.
(2) บางครั้งการอ่านปรัชญาจะเจอข้อความยากๆ ถึงแม้จะอ่านครั้งที่สองและสามแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ดังนั้นกฎข้อที่สองคือ”รู้จักว่าตรงไหนควรข้าม”ให้ข้ามไปเสีย.
(3) เพื่อทดสอบความเข้าใจ ให้ทำย่อความจากเรื่องที่อ่านไว้เตือนความจำ และเมื่อกลับมาอ่านให้อ่านจากบทสรุปของตัวเองอันนั้น
(4) ในคราวหนึ่งๆ อย่าอ่านปรัชญามากเกินกว่าครึ่งชั่วโมง หรือสี่สิบห้านาที เพราะสมาธิของคนเราจะเริ่มเนือยลง [เมื่อท่านอ่านปรัชญาแล้ว ภายหลังการอ่านวรรณกรรมประเภทอื่นจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เหมือนกับปล่อยรถจักรยานลงจากเนินเขา หลังจากที่พยายามถีบขึ้นไปแล้วด้วยความยากลำบาก]... ผู้เรียบเรียงเห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ จึงได้ยกเอาข้อความดังกล่าวมาชี้แจง

Michel Foucault
มิเชล ฟูโก

1.แนวคิดหลัก

มิเชล ฟูโก (1926-1984) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เกิดที่ Poitiers ในประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรของนายแพทย์คนหนึ่ง. ฟูโกเองได้ประกอบอาชีพทางด้านจิตวิทยา และได้ทำหน้าที่แพทย์ฝึกหัด ณ โรงพยาบาลโรคจิตที่ St.Anne’s mental hospital ในกรุงปารีส ในสภาพแวดล้อมนี้นี่เองที่เขาได้เริ่มตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ในเรื่อง”ความรู้กับอำนาจ” และได้พัฒนางานวิพากษ์ของเขาขึ้นมาเกี่ยวกับ”ปฎิบัติการตามปกติ”, อย่างเช่น เรื่องของ”การแพทย์-เวชกรรม”

หลังจากได้รับใบประกาศ the Licence de Philosophie และ the Licence de Psychologie (ประกาศนียปัตย์ทางด้านปรัชญาและจิตวิทยา)จากมหาวิทยาลัย Sorbonne, หลังจากนั้นเขาก็ได้รับปริญญา the Diplome de Psycho-Pathologie (ปริญญาโททางด้านจิตวิทยาและพยาธิวิทยา)จากมหาวิยาลัยปารีสในปี 1952. นับจากปี 1970 เป็นต้นมาจนกระทั่งการถึงแก่กรรม เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานคนหนึ่งของที่ the College de France ที่ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์และระบบคิด.

งานเขียนหลักๆของเขาประกอบด้วย Madness and Civilization: A History of Insanity in the Age of Reason (1961), The Birth of the Clinic (1963), The Order of Things (1966), Discipline and Punish: The Birth of the Prison (1975), และ The History of Sexuality, 4 เล่ม (1976-1984).

บ่อยครั้ง ฟูโกได้รับการจัดให้เป็นนักสังคมวิทยาคนหนึ่ง หรือนักประวัติศาสตร์ มากกว่าจะเป็นนักปรัชญา; แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือ เขาได้ดำเนินไปภายใต้ระนาบของญานวิทยา(epistemology-สาขาหนึ่งทางปรัชญาที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้). โครงการของฟูโกคือ ต้องการ”วิเคราะห์รูปลักษณ์หรือเรือนร่างของความรู้ในความสัมพันธ์กับอำนาจ” ภายใต้บริบทขององค์ประกอบที่ได้กำหนดความรู้เหล่านั้นขึ้นมา.

เป้าหมายของเขาคือ “การสร้างกระบวนการข้อสรุปที่ผ่านเหตุผลแวดล้อม”(discursive formation) หรือ”apparatus”(เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้น เพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง)ขึ้นมา: นั่นคือ ลำดับการของแนวความคิด และกฎเกณฑ์ต่างๆสำหรับการสร้างถ้อยคำต่างๆขึ้นมา ซึ่งนั่นได้นิยามระบบของความจริงเฉพาะขึ้นมา (ฟูโก เชื่อว่า ความจริงเป็นเรื่องของอำนาจ ไม่ได้เป็นธรรมชาติ - ) เช่นเดียวกับ หน้าที่, สถาบัน, ปฏิบัติการ, เทคโนโลยี, และสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งระบบของความจริงได้รับการทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และมันได้รับการธำรงรักษาเอาไว้.

คำถามที่สำคัญของฟูโกไม่ใช่ ”อะไรคือความรู้ ?” หรือ “อะไรคือความจริง ?”, แต่ “อะไรคือโครงสร้างและขบวนการขั้นตอนซึ่ง ตัวความรู้ได้ถูกสร้างขึ้นมาและแพร่หลายออกไป ?” ฟูโกให้เหตุผลว่า ความจริง ไม่ใช่การค้นพบ แต่ถูกสร้างขึ้น(Truth is not discovered but produce), ตามขบวนการหรือขั้นตอน ซึ่งกำหนดหรือตัดสินสถานการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์. สิ่งซึ่งน่าจะกล่าวถึงก็คือ, ใครได้อำนาจในการพูด, อะไรล่ะที่เป็นเป้าหมายอันหนึ่งของการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์, และความรู้จะต้องได้รับการทดสอบอย่างไร, มันสะสมเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างไร และมันสูญสลายหายไปอย่างไร. (สิ่งเหล่านี้คือสาระสำคัญที่เขาได้ตั้งคำถาม)

ในการศึกษา”ระบบของความจริง”ต่างๆ ฟูโกได้พัฒนาความคิดของ Nietzschean ที่ว่า ความจริงทั้งหมดได้รับการผลิตขึ้นมาตามเงื่อนไขต่างๆที่กำหนด(all truth is produced according to determinable conditions), ความจริงทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งเฉพาะหรือเรื่องเฉพาะทางประวัติศาสตร์ และร้อยรัดกันกับอำนาจและอิทธิพล. (ความจริงไม่ใช่สิ่งสากล)

ฟูโกได้หลุดเข้าไปในคำถามที่เป็นความรับผิดชอบหรือข้อผูกพันทางญานวิทยาคลาสสิคเกี่ยวกับปรัชญาสมัยใหม่: นั่นคือ ความเป็นสากลของความจริง, แก่นเกี่ยวกับความสามารถของความรู้ และความสามารถของเจตจำนง, แนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ในเทอมต่างๆของการเป็นตัวแทน และ การจำลองแบบ. (เหล่านี้คือคำถามในทางปรัชญา”ญานวิทยา”)

แต่อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ของเขานั้น ได้ให้ความเอาใจใส่ต่อเรื่องของ”human science”(มนุษยศาสตร์)เป็นปฐม เพราะเป้าหมายของเขาไม่ใช่เพียงเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เท่านั้น แต่มีเป้าหมายเกี่ยวกับยุทธวิธีด้วย. ฟูโกได้พูดถึงงานเขียนของเขาว่า มักจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอันหนึ่งเสมอ: นั่นคือ สร้างความยุ่งเหยิงสับสนต่อปฏิบัติการเกี่ยวกับ”การปฏิบัติการต่างๆตามปกติ”(normalizing practices).

โดยผ่าน human science (มนุษยศาสตร์ – ที่ศึกษาถึงเรื่องของแรงงาน, ชีวิต, และภาษาของมนุษย์ตามที่เป็นจริง –) แนวความคิดต่างๆทางปรัชญา, มันได้ทำให้บรรลุถึงบรรทัดฐานของสถานภาพอันหนึ่ง และได้รับการแปลไปความเป็นจริงของความเป็นอยู่ของปัจเจกชน. วิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างเช่น เวชศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ชีววิทยา, ฑัณทวิทยา, จิตเวชศาสตร์, และวิทยาศาสตร์ทางเพศ, เช่นเดียวกับภาษาศาสตร์, ได้เตรียมบรรทัดฐานและมาตรฐานต่างๆเอาไว้ พร้อมทั้งสร้างมาตรวัดและการวินิจฉัยขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ได้เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆบนพื้นฐานของหลักการทั่วไปทางสถิติและโครงสร้างต่างๆ และได้สร้างกลไกในการแบ่งแยก”ความปกติ”ออกจาก”ความไม่ปกติ” เพื่อที่จะควบคุมแต่ละคนเอาไว้อย่างเหมาะสม.

โดยผ่านงานเขียนในลักษณะล้มล้าง ฟูโกได้ตั้งคำถามในเชิงยุทธศาสตร์ว่า... เหตุใด ภาพทั่วๆไปของวิทยาศาสตร์ต่างๆเหล่านี้ จึงถูกนำมาเป็นตัววัดหรือมาตรฐาน และทำไมมันจึงได้รับการสร้างขึ้นมา และถูกนำไปบริหารความจริงเหล่านั้น.

โดยการเพาะชำคำถามข้างต้นขึ้นมา เกี่ยวกับแนวความคิดและภาพลักษณ์เหล่านี้ที่ถูกพบ ฟูโกตั้งเป้าที่จะขุดคุ้ยพลังอำนาจกฎระเบียบของระบบอำมาตยาธิปไตยเกี่ยวกับปกติวิสัยทิ้งไป,(อำมาตยาธิปไตยในที่นี้หมายถึง การปกครองโดยเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้น ทั้งระบบราชการและเอกชน พวกนี้จะยึดหน้าที่ประจำของตน มีกฎตายตัว ดัดแปลงได้ยาก มีระเบียบที่ล่าช้า ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่ยอมทดลองสิ่งใหม่ๆ) ขณะเดียวกันก็สร้างแนวคิดที่เป็นระบบขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับพื้นฐานความคิดทางด้านญานวิทยา.

ในช่วงต้นของการประกอบอาชีพของเขา ฟูโกโฟกัสไปที่ศิลปินในฐานะที่เป็นภาพลักษณ์อันโรแมนติค ผู้ซึ่งหนีรอดจากพลังอำนาจของความเป็นปกติ. ความบ้าของบรรดาศิลปินและความแปลกประหลาดในหมู่คนพวกนี้ ได้จัดหาชะแลงที่สำคัญอันหนึ่งขึ้นมา เครื่องมือดังกล่าวมันทำหน้าที่งัดง้างพลังความเป็นเนื้อเดียวกันของระบบอำมาตยาธิปไตย และขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันต่างๆ. ในข้อสรุปของงานเขียนเรื่อง Madness and Civilization, ฟูโกได้ให้เหตุผลว่า จากงานเขียนต่างๆทางวรรรกรรมของ the Marquis de Sade และ งานจิตรกรรมของ Francisco Goya “โลกตะวันตกได้ให้การยอมรับความเป็นไปได้เกี่ยวกับความอยู่เหนือเหตุผล ในเรื่องของความรุนแรง และเกี่ยวกับการหวนคืนมาของประสบการณ์เกี่ยวกับความเศร้าโศก ซึ่งพ้นไปจากคำมั่นสัญญาต่างๆของลักษณะวิภาษวิธี(dialectic)”.

  1. ศิลปะในทัศนะของฟูโก

การสรรเสริญกันจนเลิศลอยเกี่ยวกับความจริง และชัยชนะของอำมาตยาธิปไตยที่ได้รับการยกย่องในปรัชญาแบบ Hegelian ต่อมาต้องพบว่า ตัวของมันเองได้ถูกตั้งคำถามโดยผลงานต่างๆทางด้านศิลปะ. การเชื่อมโยงกันระหว่าง ”ความว่างเปล่าของความไร้เหตุผล” กับ “พลังของการทำลายล้าง”, Sade และ Goya ได้กระตุ้นและผลักดันให้เกิดการร้อยรัดกันของความบ้า และผลงานศิลปะ: นั่นคือ “เมื่อมัน(หมายถึงความไร้เหตุผล(unreason)), เป็นเรื่องของการชี้ขาดอะไรบางอย่าง, สำหรับโลกสมัยใหม่, ในงานศิลปะทุกชิ้น: นั่นคือ ไม่ว่าผลงานศิลปะชิ้นใดก็ตาม มันได้บรรจุสิ่งที่มีลักษณะอันตรายยิ่ง และ การบีบบังคับเอาไว้.

Friedrich Nietzsche, Vincent van Gogh, และ Antonin Artaud สามารถที่จะรับรู้การส่งผ่านของสุ้มเสียงที่ได้ยินกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความไร้เหตุผลที่คลาสสิคของ Goya ... และปล่อยให้มันแสดงออกมา. ไม่เพียงผลงานศิลปะต่างๆของศิลปินเหล่านี้ที่อยู่ยงคงกระพันต่อมาเท่านั้น โดยไม่ถูกคุมขังโดยกฎศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ และไม่อาจที่จะถูกทำลายด้วยข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของจิตวเชศาสตร์ และการสาธารณสุขอันมีเหตุผล, แต่มันยังบีบบังคับโลกของ human science (มนุษยศาสตร์)ให้ต้องหาเหตุผลหรือพิสูจน์ตัวของมันเองด้วย.

“ผลงานศิลปะได้เปิดที่ว่างอันหนึ่งขึ้นมา, ชั่วขณะหนึ่งของความเงียบ(ของดนตรี), มันได้ตั้งคำถามซึ่งไม่ต้องการคำตอบ, ปลุกเร้าให้เกิดความแตกแยกโดยไม่มีการประนีประนอม… โลกกำลังถูกบีบบังคับให้ต้องตั้งคำถามตัวของตัวเอง”. มันดูราวกับว่า เป็นสุ้มเสียงทางบวกและอยู่ภายใต้ความบ้า(ความบ้าที่ยอมรับได้ เช่นในงานศิลปะ), ความบ้า ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยถูกทำให้เงียบมาโดยตลอด โดยผ่านการจำแนกและด้วยการวินิจฉัยอย่างละเอียด พร้อมเยียวยารักษาตามหลักจิตเวชศาสตร์, มาถึงตอนนี้ มันได้ปะทุออกมาโดยผ่านพลังอัจฉริยะทางศิลปะเพื่อซักไซ้ไต่ถามภาวะแห่งเหตุผล และระบบอำมาตยาธิปไตยของความปกติวิสัย.

ในความเรียงของเขาปี 1963 ในเรื่องเกี่ยวกับนักเขียน Raymond Roussel, ฟูโกให้เหตุผลว่า ภาษาของศิลปินทางด้านวรรณกรรมนั้น ได้เข้ามาตัดบทหรือเข้ามาขัดจังหวะหลักตรรกะของเอกลักษณ์ที่ควบคุมอภิปรัชญาของตะวันตก. ตรรกะของความเหมือนกันหรือเป็นอย่างเดียวกัน(logic of the Same)นี้ ได้จำลองปัจเจกแต่ละคนขึ้นมาในแบบเดียวกัน โดยผ่านการจำแนกทั่วๆไปของวิทยาศาสตร์. ภาษาได้มารับใช้เพื่อเป็นตัวแทนความหลากหลายของบรรดาปัจเจกในความจริงของรูปแบบทั่วๆไปเท่านั้น.

ฟูโกอ้างว่า ภาษาของศิลปินทางวรรณกรรม อย่าง Roussel, “ได้ยืนยันตัวของมันเองในทันทีถึงการแบ่งแยกระหว่างการเลียนแบบและสิ่งที่มันเลียนแบบ(เช่นคำว่า”ม้า” กับ “ตัวม้าจริงๆ” ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันเลย) เพื่อเปิดเผยถึงช่องโหว่ต่างๆและของการเลียนแบบ”. ภาษาของ Roussel เป็นใบมีดที่บางเฉียบที่ได้ตัดหรือเฉือนเอกลักษณ์ของสิ่งต่างๆ แสดงมันออกมาให้เห็นในฐานะที่เป็นคู่ที่สิ้นหวังที่มันได้พรากจากกัน มันเป็นการ แยกออกมาอย่างชัดเจน

ภาษามีพลังอำนาจที่จะทำให้เกิดบาดแผลกับวัตถุต่างๆ และบ่อยครั้งฟูโกได้อธิบายถึงการใช้ประโยชน์ของวาทกรรม(discourse)ของ human science (มนุษยศาสตร์)ต่อการดำรงชีวิตของปัจเจกชนจริงๆ ในฐานะที่เป็นชนิดหนึ่งของความรุนแรงของการบังคับควบคุมหรือการข่มขู่ ซึ่งได้สร้างความเป็นเนื้อเดียวกันของผู้อยู่ใต้บังคับให้เป็นปกติ. ภาษาทางวรรรกรรม มันได้เข้าไปขัดจังหวะ และซักไซ้ภาษาอันนี้ของความเหมือนหรือเป็นอย่างเดียวกัน(the Same).

อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุณค่าของวรรณกรรมอันนี้ ขึ้นอยู่กับแนวความคิดเกี่ยวกับ”อำนาจ” ซึ่งโดยแก่นแท้แล้วเป็นการบังคับควบคุม. ฟูโกกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเกี่ยวกับแนวความคิดนี้ หลังจากหนังสือเรื่อง Discipline and Punish, เขาได้มาถึงความเข้าใจที่ว่า “อำนาจ”เป็นผลิตผลเบื้องต้น, ส่วน”การบังคับควบคุม”เป็นเพียงแบบฉบับอันหนึ่งของอำนาจมากกว่าจะมีสาระหรือแก่นแท้ของตัวมันเอง.

ในการยกย่องสรรเสริญความป่าเถื่อนหรือความไม่เชื่อง, สุ้มเสียงที่ไม่เป็นปกติธรรมดาของศิลปิน, ฟูโกได้ตั้งสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลังความเป็นภววิสัยต่างๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นมาเป็นวาทกรรมหรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของจิตเวชศาสตร์. ลักษณะแรกเริ่มเดิมที, ความจริงธรรมชาติของความบ้า, และเขามีความเห็นสอดคล้องกับผลงานศิลปะว่า มันมีพลังอำนาจที่จะเปิดเผยความจริงที่เป็นรากเดิมอันนี้ได้.

ไม่เพียงเขาจะสันนิษฐานการมีอยู่ของภววิสัยในเชิงบวกของศิลปะที่ว่า ตัวมันเองไม่ได้ถูกผลิตโดยปฏิบัติการที่แวดล้อมหรือบริบทต่างๆเท่านั้น, แต่เขายังให้ศิลปะมีพลังอำนาจที่จะปลดปล่อยความจริงอันนี้ออกมาได้ด้วย โดยการตัดขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างความรู้และอำนาจออกจากกัน. อย่างไรก็ตาม, ในเรื่อง Discipline and Punish, ฟูโกได้วางแนวคิดทั่วๆไปของอำนาจลงในความนึกคิดเกี่ยวกับเทคนิคและยุทธวิธี, มากกว่าการปราบปรามควบคุม. อำนาจทั้งหมดเป็นเรื่องของผล และภววิสัยใดๆก็ตามก็คือผลิตผลของระบบบางอย่างของความจริง หรือ “apparatus”(เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง) ซึ่งอ้อมค้อมและไม่อ้อมค้อม ดังนั้น อำนาจและความจริงจึงซับซ้อนยุ่งเหยิง.

“พวกเราควรยอมรับว่า อำนาจได้สร้างความรู้ และอำนาจและความรู้ มีนัยะเป็นอีกอันหนึ่งของกันและกันโดยตรง”(power produce knowledge that power and knowledge directly imply one another...) มันไม่ได้เป็นกิจกรรมของความรู้ ที่สร้างความรู้ขึ้นมา, แต่อำนาจ-ความรู้(power-knowledge)...เป็นตัวกำหนดรูปแบบต่างอันเป็นไปได้ของความรู้”.

แม้ว่าฟูโกยังคงหลงใหลต่อไปกับผลงานศิลปะที่สามารถจะหนีรอดไปจากอำนาจแห่งขนบธรรมเนียมและความเป็นปกติวิสัย, แต่เขาก็เห็นว่า มันก็เหมือนๆกับความเป็นภววิสัยอื่นๆทุกอย่างนั่นเอง, กล่าวคือ มันเป็นผลอันหนึ่งของระบบบางอย่างของอำนาจความรู้(power-knowledge) นั่นเอง.

ในข้อเท็จจริง ความเข้าใจนี้เกี่ยวกับผลงานทางด้านศิลปะในฐานะที่เป็นผลของอำนาจ-ความรู้ ได้รับการนำเสนอขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นๆของผลงานของฟูโกแล้ว. ผลงานเขียนเกือบทุกชิ้นจะเริ่มต้นและพัฒนาจากภาพลักษณ์เชิงสัญลักษณ์: the stultifera navis หรือ เรือของคนโง่ ใน Madness and Civilization, ฉากของโต๊ะชำแหละในเรื่อง The Birth of the Clinic, หรือในภาพกว้างทั้งหมดในเรื่อง Discipline and Punish. ในแต่ละเรื่อง เขาได้ให้ภาพที่แสดงออกมากขึ้นเกี่ยวกับ”apparatus” (เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง) หรือระบบของอำนาจ-ความรู้ ที่ได้สร้างมันขึ้นมา.

ใน The Order of Things (Les Mots et les choses) ภาพในเชิงสัญลักษณ์นี้เป็นงานจิตรกรรมของ Diego Rodriguez de Silva y Velazquez. ฟูโกพบว่าในภาพ Las Meninas ของ Velazquez เป็นการสาธิตหรือแสดงให้เห็นถึงตรรกะของการจำลองแบบ(representation)ที่ควบคุมยุคคลาสสิคเอาไว้(1650-1789)(โปรดดูภาพประกอบ).


ภาพอันมีชื่อเสียงนี้ได้บันทึกฉากของงานจิตรกรรมของ Velazquez, ภาพของกษัตริย์และราชินีแห่งสเปน, ผู้ซึ่งปรากฎพระองค์เพียงเป็นภาพที่ถูกสะท้อนในกระจกเงาด้านหลังเท่านั้น. ในการปลุกเร้าด้วยคารมคมคายและรายละเอียดของงานจิตรกรรมดังกล่าว, ฟูโกได้เผยให้เห็นว่า พวกเราในฐานะผู้ดูได้ถูกวางในตำแหน่งของหุ่นหรือผู้เป็นแบบ(we as spectators are place in the position of the model), ในเวลาเดียวกัน วัตถุที่ได้รับการจำลองบนผืนผ้าใบ และตัวแบบในภาพก็กำลังจ้องมองการทำงานของจิตรกรที่กำลังวาดภาพอยู่.

ผลงานจิตรกรรมนี้ได้เผยให้เห็นความแตกต่างและความไม่ต่อเนื่อง ของการกระทำเกี่ยวกับการจำลองแบบ, วัตถุของการจำลอง, และการจำลองในตัวของมันเอง, ซึ่งอันนี้เป็นการตั้งคำถามถึงความเหมือนกันหรือเอกลักษณ์(identity) ที่ถูกอ้างโดยหลักตรรกะของการจำลองหรือการเป็นตัวแทน (logic of representation)สำหรับภาพและวัตถุของมัน.

ยิ่งไปกว่านั้น, ในการจำลองที่เป็นตัวแทนของตัวมันเอง, ผลงานดังกล่าวได้เผยถึงเงื่อนไขของการผลิตความรู้ในฐานะที่เป็นตัวแทน และแสดงให้เห็นว่า ความประจวบเหมาะของผู้สร้างสรรค์, หุ่นที่เป็นแบบ(หมายถึงเราที่กำลังเป็นคนดูภาพนี้เป็นแบบให้กับจิตรกร), และผู้ดู ซึ่งการจำลองแบบต้องพึ่งพา, ไม่เคยเกิดขึ้นเลย. แน่นอน เพราะมันจำลองผลงานตัวของมันเองตาม”apparatus” (เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง)ของการจำลอง.

ผลงานศิลปะชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่เป็นชะแลงหรือคานงัด ในการวิเคราะห์ที่สำคัญมากเกี่ยวกับการจำลองตัวของมันเอง. (ลองหวนกลับไปดูรูปประกอบอีกครั้ง แล้วตระหนักว่าตัวเราผู้ดูกำลังเป็นแบบให้กับจิตรกรวาดภาพอยู่ ตัวเราคือความจริง [แต่เป็นจริงไปไม่ได้] แต่สิ่งที่จิตรกรเขียนนั้นคือความจริงในบริบทที่มาประจวบกันทั้งหมด ไม่ใช่ความจริงที่อยู่นอกบริบทไปได้)

ในทำนองเดียวกัน ความเรียงเรื่อง”What is the Author ?” ฟูโกได้ตั้งคำถามขนบธรรมเนียมการอ้างอิงใจความต่างๆ ต่อการสร้างสรรค์ของนักเขียน, ความลึกซึ้งทางสติปัญญา, แรงบันดาลใจ, หรือเจตนา, ราวกับว่า ผลงานนั้นเป็นผลของการกระทำทางจิตวิทยาบางอย่าง หรือถ้อยแถลงของนักเขียน. ฟูโกให้เหตุผลว่า “นักเขียน” ไม่ใช่ตัวหลัก-ตัวเรื่อง, แต่มีบทบาทหน้าที่ของการเสนอวาทกรรม, ซึ่งเป็นผลอันหนึ่งของการสร้างข้อสรุปจากเหตุผลแวดล้อมหรือ”apparatus” (เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง) ที่กำหนดลงไปว่า ใครสามารถพูดได้, อะไรที่ถูกนำมาพูด, และความสัมพันธ์ของสิ่งที่ถูกพูดกับเรือนร่างต่างๆของความจริง.

ฟูโกได้ชี้ว่า”บทบาทหน้าที่ของนักเขียน”ไม่ใช่ความเป็นสากล. ตามประวัติศาสตร์วรรณกรรม ได้ให้ตัวอย่างต่างๆมากมาย เกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายโดยไม่เกี่ยวข้องหรือผูกพันกับนักเขียนเนื้อหาพวกนั้นขึ้นมา. ตัวของนักเขียนเป็นประเด็นหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะต่อวาทกรรมเหล่านั้น ซึ่งความมีเหตุมีผลได้ถูกผูกติดกับอุปกรณ์ต่างๆ. การวิเคราะห์เกี่ยวกับ”หน้าที่ของนักเขียน” ได้เผยให้เห็นระบบของอำนาจหน้าที่ ซึ่งวาทกรรมได้ถูกทำให้เป็นระเบียบและถูกเผยแพร่ออกไป.

การสร้างข้อสรุปด้วยเหตุผลแวดล้อม หรือ”apparatus” (เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง) ได้กำหนดหรือนำเสนอตำแหน่งที่เป็นไปได้ต่างๆจากสิ่งซึ่ง เรื่องราวอันหนึ่งสามารถกล่าวออกมาได้ เช่นเดียวกับกลไกและบรรทัดฐานที่แบ่งแยกสิ่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ กับสิ่งที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ออกจากกัน.

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการวิเคราะห์จากข้อสรุปแวดล้อม จึงไม่ใช่การถามว่า ใครคือนักเขียนที่แท้จริง และอะไรที่นักเขียนได้เผยให้เห็นถึงตัวตนของตัวเองที่ลึกซึ้งที่สุด, แต่ควรตั้งคำถามว่า เนื้อหาอันนี้มันมาจากไหน, มันได้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างไร และใครเป็นผู้ควบคุมมัน. เนื้อหาต่างๆของ Nietzsche หรือ Gustave Flaubert ไม่ได้หนีพ้นไปจากการวิเคราะห์อันนี้ ยิ่งไปกว่าเรื่องทางจิตเวชศาสตร์ ฑัณทวิทยา หรือจริยศาสตร์.

สิทธิพิเศษทางความรู้อันหนึ่ง ยังคงเกาะติดอยู่กับศิลปะและวรรณกรรมต่อไป โดยไม่คำนึงถึงเสียงวิพากษ์จารณ์ต่างๆเกี่ยวกับการควบคุมและอำนาจแต่อย่างใด. ในความเรียงที่ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาในปี 1986 เรื่อง “Maurice Blanchot: The Thought from Outside” ฟูโกได้ให้เหตุผลวรรณกรรมว่า มันมีอำนาจแห่งการล่วงละเมิด(transgressive power). ในภาษาของวรรณกรรมนั้น มันได้หนีรอดหรือหลุดพ้นไปจาก”วงศ์วานแห่งการจำลองหรือการเป็นตัวแทน”(dynasty of representation) และบรรลุถึง”การทะลุทะลวงอันยิ่งใหญ่”.

The Marquis de Sade และ Johann Christian Friedrich Holderlin, Artaud และ Stephane Mallarme, เป็นตัวอย่าง, ได้ฉีก”คุณสมบัติภายในเกี่ยวกับการสะท้อนถ่ายทางปรัชญาของเรา” กับ “ลักษณะบวกเกี่ยวกับความรู้ของเรา”ออกจากกัน และได้ให้ภาษาหนึ่งซึ่งตัวแบบ(subject)ได้ถูกกันหรือแยกออกไป. ฟูโกเสนอว่า”การดำรงอยู่ของภาษา มันเพียงปรากฏเพื่อตัวของมันเอง โดยที่ไม่ปรากฏเกี่ยวกับตัวแบบ(the subject)”.

ตราบเท่าที่ภาษาได้ถูกทำให้เป็นบริวารหรืออยู่ใต้การบังคับบัญชาของกลไกการเป็นตัวแทนหรือการจำลอง, เพื่อที่จะสร้างหรือสถาปนาความเหมือนตัวของมันเองขึ้นมา, มันก็จะถูกครอบงำต่อไปด้วยคำถามของ Hegellian เกี่ยวกับความหมาย, ของการกล่าวถึงสิ่งที่ถูกหมายความถึง. อย่างไรก็ตาม, บรรดานักเขียน อย่างเช่น Artuad หรือ Blanchot มิได้ถามว่าภาษาหมายถึงอะไร, แต่ถามว่า อะไรที่เขียน เพื่อเปิดเผยว่ามันคืออะไร: นั่นคือ ฉากหนึ่งของความเหินห่าง และ การซ่อนเร้นอำพราง.

วรรณกรรมคือ”ภาษาชนิดหนึ่ง ซึ่งไกลห่างจากตัวของมันเองเท่าที่จะเป็นไปได้”, มันเป็นบาทวิถีอันหนึ่ง ที่นำไปสู่สิ่งที่เป็นเรื่องภายนอกของคุณสมบัติภายใน หรือความเหมือน(เอกลักษณ์)ตัวเองของตัวแบบที่กำลังพูดถึง.

จากชั่วขณะดังกล่าว วาทกรรมได้ยุติการดำเนินรอยตามความคิดภายใน และ ทำให้ความคิดมาสู่โลกภายนอก. มันกลายเป็นการบรรยายที่พิถีพิถันของประสบการณ์, การเผชิญหน้า, และเครื่องหมายต่างๆ-ทางภาษาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เกี่ยวกับสิ่งภายนอกของภาษาทั้งหมด, คำพูดเกี่ยวกับด้านที่มองไม่เห็นของคำต่างๆ.

งานเขียนของ Blanchot หรือ Mallarme ได้แสดงให้เห็นว่า ภาษาไม่มีกาลเวลา, และไม่ใช่เป็นนิรันดร์กาลด้วย, ไม่ใช่คน, แต่มักจะเป็นรูปแบบที่ไม่ทำงานของภายนอก(undone form of outside). ค่อนข้างจะหวนกลับไปสู่ตัวของมันเองมากกว่า เพื่อที่จะยืนยันถึงวงจรเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของมันเอง. ภาษาอันนี้จึงได้เปิดตัวสู่ภายนอก ที่ซึ่งได้กลายเป็นอื่นไปแล้วอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง. การนำไปสู่ภายนอกอันนี้, ตัวแบบหลักได้สูญสลายหายไป และงานเขียนปรากฎตัวขึ้นในฐานะที่เป็นผลอันหนึ่งของคุณสมบัติภายนอกนี้. ด้วยเหตุดังนั้น, ฟูโกจึงสรรเสริญ Blanchot เพราะว่าเขา”ไม่ได้ถูกซ่อนโดยงานเขียนต่างๆของเขา, แต่ก็ไม่ได้มีอยู่จากการมีอยู่เหล่านั้นด้วย....”

ในทำนองเดียวกัน ฟูโกได้พูดถึงตัวของเขาเองว่า “เขาเขียนเพื่อที่จะได้ไม่มีโฉมหน้า”, เพื่อที่จะแทนอัตตะเจตนาด้วยผลสรุปจากเหตุผลแวดล้อม. ฟูโกยังคงยกสถานภาพวรรณกรรมต่อไป โดยไม่คำนึงการมาบังคับควบคุมและอำนาจ, เพราะเขาไม่ได้วางคุณค่าของมันลงในความไม่เป็นธรรมดา, อัจฉริยภาพที่เป็นอิสระไม่ผูกติด.

ในงานเขียนท้ายสุดของเขา 4 เล่ม History of Sexuality ฟูโกได้เปลี่ยนความสนใจมายัง”สุนทรีย์ศาสตร์ของการดำรงอยู่” นั่นคือ ต่อระบบต่างๆของจริยธรรมของกรีกและโรมันสโตอิค(หลักธรรมแห่งการปลงและการขจัดตัณหาราคะ) ซึ่งมีเป้าหมายของหลักการอยู่ที่การทำให้ชีวิตงดงาม. ปรัชญาเหล่านี้ได้พัฒนา”ศิลปะของการดำรงอยู่ขึ้นมา”, เทคนิคและวิธีปฏิบัติเพื่อบ่มเพาะและทำให้สาระของตัวตนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น. ถึงแม้ว่าผลงานเหล่านี้จะบรรจุบทสนทนาเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลงานทางด้านศิลปะ หรือเกี่ยวกับสนุทรียศาสตร์ ในความหมายของทฤษฎีทางศิลปะ, แต่มันก็ได้สำรวจภาวะที่คล้ายคลึงกันอันนี้ระหว่างเรื่องราวทางจริยธรรมและผู้สร้างผลงานศิลปะ. ทั้งสองต่างๆเป็นสาระของเทคนิค: นั่นคือ ผลต่างๆของ”apparatus” (เนื้อหาสาระชุดหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง), ระบบของแนวความคิดและปฏิบัติการทางด้านเนื้อหาที่ได้ผลิตทั้งวัตถุและความรู้ของเราเกี่ยวกับมันขึ้นมา.

แสดงความคิดเห็น

« 3202
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ