บทความ
เพศชาย เพศมหาอำนาจ ความจริงแห่ง เพศสภาวะ ในอุษาคเนย์
เพศชาย เพศมหาอำนาจ ความจริงแห่ง เพศสภาวะ ในอุษาคเนย์
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2550 09:28 น.
ต้องยอมรับความจริงว่าในทุกวันนี้ โลกกลมๆ ใบที่เราอาศัยอยู่นั้น สวิงตัวหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะความหลากหลายทางเพศสภาวะของคนเรา และยิ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ รวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ก็ไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องของเพศสภาวะเช่นกัน
ในการจัดเสวนาเชิงวิชาการว่าด้วยหัวข้อเรื่อง เพศกับความเป็นจริงในอุษาคเนย์ โดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อมูลและแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพศสภาวะในดินแดนแห่งนี้ที่น่าสนใจทีเดียว
-1-
เพศชายเพศมหาอำนาจ
ผศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเพศว่า เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ เพราะเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องของการสืบพันธุ์เท่านั้น หากแต่เรื่องเพศเป็นความเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม คือการสื่อสารในสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สามารถจะทำได้คนเดียว สองคน สามคน หรือทั้งสังคมก็ได้ เรื่องเพศจึงเป็นวัฒนธรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเพศได้ในเวลาเดียวกัน
สำหรับเรื่องเพศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นและไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งบริบทสำคัญที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต จริยธรรม ศีลธรรม วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาของคนภูมิภาคนี้อย่างแยกไม่ออกเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ในสังคมอุษาคเนย์นั้น ยกย่องเพศชายให้เป็นเพศมหาอำนาจ ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานกี่พันปีก็ตาม และเพศหญิงยังคงเป็นเพศที่ต้องเป็นทาสของเพศชายไม่ว่ายุคสมัยใด หนำซ้ำในบางครั้งเพศหญิงยังถูกมองเป็นเพศแห่งกิเลสตัณหาและการมักมากในกามคุณอีกด้วย
ตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องดังกล่าวก็เช่น การสักการะสัญลักษณ์แห่งเพศชายอย่าง ศิวลึงค์ หรือความเชื่อของจีนที่เปรียบผู้หญิงที่เป็นภรรยาเป็นเพียงเสื้อผ้าอาภรณ์นอกกาย แต่พี่น้องกลับเปรียบเป็นแขนขา ดังนั้นบุรุษชาติมังกรโบราณจึงถูกสั่งสอนมาให้เป็นเจ้านายของภรรยาที่บ้านมากกว่าที่จะเป็นคู่ทุกข์คู่ยากหรือร่วมทุกข์ร่วมสุข
ด้านอ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ก็ได้ให้หลักฐานประกอบในส่วนนี้ว่า ในสมัยจีนโบราณนั้น ตำราจีนที่ถูกเขียนด้วยนักปราชญ์อย่าขงจื๊อหรือเล่าจื๊อ ก็จะเป็นการเขียนสรรพวิทยาเพื่อสอนกุลบุตรจีน ไม่มีการเขียนถึงสตรีแต่อย่างใด จึงเป็นที่ปรากฏว่า ประเทศหลังม่านไม้ไผ่มีการฝังค่านิยมการให้ความสำคัญกับเพศชายมาช้านานแล้ว
ผศ.ธเนศได้ยกตัวอย่างเพิ่มเกี่ยวกับค่านิยมในอุษาคเนย์ที่มีการเพาะความเชื่อบ่มความคิดจิตสำนึกมาช้านานว่าเพศหญิงเป็นเพศแห่งตัณหาราคะและเป็นเหตุให้สถานะทางสังคมของเพศหญิงตลอดจนความเป็นเพศสภาพของหญิงในอุษาคเนย์เป็นได้เพียงพลเมืองชั้นสองของอู่อารยธรรมแห่งอุษาคเนย์เท่านั้น อาทิ ในวรรณคดีอินเดียหลายเรื่อง มักจะเขียนให้ฤษีที่บำเพ็ญตบะมานานนับร้อยนับพันปี เกิด ตบะ แตกเอาเมื่อถูกสตรีเพศยั่วยวน หรือแม้แต่ในพุทธศาสนาเอง มาร ที่มาผจญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาปรากฏในร่างของสตรีเพศอันสวยงามเย้ายวนและเต็มไปด้วยราคะจริต เป็นต้น
ขณะที่ อ.วราภรณ์ แช่มสนิท จากโครงการสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงทัศนคติในเชิงมานุษยวิทยาในบริบทของเพศสภาพว่า การมองเพศสภาพนั้นไม่ได้มีเพียงมุมมองเดียว การศึกษาเพศสภาพในอุษาคเนย์มีความหลากหลาย แต่ก็มีการพยายามหาภาพรวมซึ่งมองว่าสังคมแห่งเพศในดินแดนเอเชียอาคเนย์นี้มีความเท่าเทียมกันค่อนข้างสูงในบางเรื่อง มีไม่น้อยที่ต้องพึ่งพาอาศัยหรือเกื้อกูลกันระหว่างเพศ และมีมากที่กระทำกิจกรรมเคียงบ่าเคียงไหล่กัน
เช่นในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยเช่นงานด้านเกษตรกรรม ที่เราจะพบทั้งหญิงชายออกไปทำนาด้วยกัน เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว จนเกิดเพลงเกี้ยวกัน เช่น เพลงเกี่ยวข้าวเป็นต้น
แต่ในแง่ของความเชื่อด้านศาสนา อ.วราภรณ์ค่อนข้างเห็นด้วยกับประเด็นของผศ.ธเนศที่เห็นว่าเพศหญิงมีสถานะที่ด้อยกว่าเพศชายอยู่ เพราะเพศหญิงมีความเย้ายวนจิตวิญญาณของเพศชาย ผู้หญิงมีประจำเดือนที่ทำให้ของขลังหรือวิทยาคมของชายเสื่อม ซึ่งผลจากวาทกรรมดังกล่าวนั้นทำให้สังคม โดยเฉพาะสังคมไทยมีค่านิยมควบคุมอิสระของเนื้อตัวร่างกายสตรีให้มิดชิดเรียบร้อยมิให้อุจาดปลุกกำหนัดเพศชาย
อย่างไรก็ตาม อ.วราภรณ์ยังได้ชี้ประเด็นที่น่าขบคิดถึงการกระมิดกระเมี้ยนของรัฐไทยที่มีต่อการคุมกำเนิดของสาวโสดหรือสาวรุ่น ว่าเป็นการไม่ครอบคลุมหรือเป็นการ ตกหลุม ของวาทกรรมแห่งเพศสภาพนั่นเอง
-2-
เพศหญิงเป็นใหญ่ในหลายมิติ
รศ.ปราณี วงศ์เทศ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กลับมองว่าความเข้าใจในเพศสภาพของสังคมภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่นิยมแบ่งเพศทางสภาพภายนอก ซึ่งคนในดินแดนอุษาคเนย์ส่วนใหญ่จะมองว่าหญิงและชายนั้นคล้ายคลึงกัน ลักษณะสภาพทางกายภาพไม่ต่างกันมากนัก แต่จะแยกเพศสภาพตามกิจกรรมที่ทำ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความเชื่อหรือศาสนามากกว่า
และในบางความเชื่อนั้น ผู้หญิงดูจะมีอิทธิพลมากกว่าด้วยซ้ำ เช่นในเรื่องของการถือผีฟ้า ที่ต้องใช้สตรีในการติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษตามความเชื่อ เป็นต้น
ด้านอ.วิโรจน์ ในฐานะของทั้งผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนและในฐานะของที่ปรึกษาชมรมฟ้าสีรุ้งได้เสนอแนวคิดของวิจารณญาณในการแก้ไขปัญหาของผู้หญิงด้วยการนำตำนานเทพเจ้าในความเชื่อของพราหมณ์กรณีที่พระศิวะได้ให้พรนางอสูรว่าหากถูกทำร้ายจนโลหิตตกถึงพื้น ก็จะเกิดชีวิตอสูรขึ้นมาใหม่ เมื่ออสูรตนนั้นออกอาละวาดจนเป็นที่เดือดร้อน ก็ร้อนถึงพระแม่อุมาพระชายาของศิวเทพ จึงได้อวตารในภาคของเจ้าแม่กาลีไปปราบอสูรด้วยการตวัดลิ้นรับเลือดของนางอสูรมิให้ตกลงพื้น จนปราบอสูรได้ในที่สุด และด้วยอารามดีใจของพระแม่อุมาในร่างอวตารของเจ้าแม่กาลี นางได้เต้นรำฉลองชัยชนะในครั้งนี้ แต่ด้วยตบะอันแรงกล้าทำให้โลกสะเทือนเลื่อนลั่น พระศิวะเห็นท่าไม่ดีขึ้นยอมนอนเอาพระอุระรองบาทเจ้าแม่กาลีเป็นการช่วยโลกเอาไว้
ในประเด็นความเชื่อนี้ อ.วิโรจน์แสดงถึงทัศนคติการช่วยแก้ปัญหาของผู้หญิงที่ผู้ชายไปก่อนขึ้นเอาไว้ เพศชายแม้จะถือเป็นชนชั้นทางเพศที่สูงที่สุด แต่เมื่อถึงคราววิกฤตที่ผู้ชายมิอาจแก้ปัญหาได้ ก็จะต้องร้อนถึงผู้หญิงที่จำเป็นต้องช่วยแก้ และถึงตอนนั้นเพศชายก็สามารถยอมอยู่ใต้ฝ่าเท้าสตรีได้เช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนและในฐานะของที่ปรึกษาชมรมฟ้าสีรุ้งกล่าวต่อไปอีกว่า แม้ในประวัติศาสตร์จีนเอง เพศหญิงจะเป็นเพศที่มีไว้เพื่อรองมือรองเท้าเพศชายจนถึงขนาดที่มีคำพูดว่า อันสตรีนั้นเมื่ออยู่ในเรือนจำต้องเดินตามพ่อ เมื่ออยู่นอกเรือนจำต้องเดินตามผัว และเมื่อผัวตายจำต้องเดินตามลูก ซึ่งเหล่านี้เป็นคำสอนที่ฝังหัวสตรีหลังม่านไม้ไผ่มายาวนานนับพันปีก็ตาม ยังคงมีนางพญาหงส์ที่ผงาดง้ำเหนือแผ่นดินใหญ่อยู่ไม่น้อย เช่นบูเช็คเทียน ซูสีไทเฮา หรือกระทั่งนักรบหญิงผู้อยู่ในบทเพลงพื้นบ้านเก่าแก่อย่างมู่หลาน หรือจารนารีคนแรกที่ยอมพลีพรหมจรรย์เพื่อบ้านเมืองอย่างไซซี ซึ่งสตรีเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะยอดหญิงอย่างเต็มภาคภูมิ
-3-
เพศที่ 3 เพศที่ซ่อนเร้น
แต่ถึงแม้ว่าเพศหญิงถูกบีบกดเป็นอย่างมากในภูมิภาคนี้ ก็ยังคงมีอีกเพศที่ถูกดูถูกเหยียดหยามและถูกมองในแง่ลบมากกว่าเพศหญิง นั่นก็คือเพศที่สาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเพศที่สามทั้งชายรักชายและหญิงรักหญิง ล้วนแล้วมิใช่ของใหม่ในสังคมในภูมิภาคนี้เลย แต่ตรงข้ามกลับมีมาช้านานแล้วอย่างเงียบๆ และอย่างที่สังคมพยายามจะเมินเฉยทำเป็นไม่รับรู้
ในยุคปลายศตวรรษที่19 ที่คนผิวขาวเดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกพร้อมด้วยแนวคิด รักร่วมเพศ ทำให้ค่านิยมการเป็นโฮโมเซ็กชวลและการประกอบกามกิจทางเวจมรรค (ทวารหนัก) เริ่มเป็นที่รู้จักในดินแดนอุษาคเนย์ และด้วยอำนาจทางการเมืองและการทหารของมหาอำนาจการล่าอาณานิคมทางตะวันตก ทำให้ประเทศในอาณัติอย่างจีนหรือญี่ปุ่นก็จำเป็นจะต้องรับจารีตรักร่วมเพศของตะวันตกด้วย ซึ่งเจ้าของประเทศเองได้ดูถูกการกระทำอันวิปริตเช่นนี้และฝังหัวเอาว่าเป็นความผิดจารีตจากอารยธรรมของตะวันตกซึ่งเป็นศัตรู ดังนั้น การรักร่วมเพศและการประกอบกามกิจทางเวจมรรคอันแพร่หลายมาจากประเทศของศัตรูที่มาล่าดินแดนของตน จึงกลายเป็นความชั่วช้าโดยสมบูรณ์แบบในการทอดสายตาของสังคมอุษาคเนย์
ในขณะเดียวกัน สถานะของเพศสภาพความเป็นหญิงรักหญิงเอง ก็ถูกดูถูกจากสังคมเช่นกัน อาทิสังคมสยามสมัยโบราณที่ปรากฏการณ์ เล่นเพื่อน หรือการมีความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงตามนัยของเลสเบี้ยนนั้น มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ กามชีพของหญิง ของโกศล กมลาภิรมย์ ว่า การทำแก่ตนเองก็ดี การเล่นเพื่อนก็ดี เป็นการกระทำที่แสลงอย่างร้ายต่อความเจริญอันสมบูรณ์ของชีวิต และ หญิงสาวผู้ที่ชอบทำแก่ตนเองหรือชอบเล่นเพื่อนเนืองๆ ย่อมมีลักษณาการอันน่าเกลียดชัง ดังนี้แล้วจึงพอที่จะสรุปเอาได้ว่าความหลากหลายทางเพศ ที่มีมากกว่าหญิงและชายนั้น ไม่ใช่ของใหม่ในสังคมตะวันออกเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นของเก่าแก่ที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีการพูดอ้างถึงหรือศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.วิโรจน์ได้ทิ้งท้ายเอาไว้อย่างน่าคิดว่า ทุกวันนี้ในเรื่องของผู้หญิง ก็มีการดันเป็นวาระแห่งชาติ กระทั่งเรื่องของโสเภณีเป็นวาระแห่งชาติแล้ว เหลือแต่เพียงเรื่องของเพศที่สามเท่านั้นที่ยังรอความหวังจากวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เพราะในทุกวันนี้โลกแห่งเพศสภาวะได้เปิดกว้างและหลากหลายมากขึ้นแล้ว