บทความ
ต้นสายธารขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ
Northern students' memo about the Thai October politic movement histories
ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวอันเนื่องมาแต่เหตุการณ์เดือนตุลา ๒๕๑๖ และเดือนตุลา ๒๕๑๙ จาก ความทรงจำ ของ เพื่อนพ้องน้องพี่ นักศึกษากรรมกรชาวนาและ พี่น้องชนชาติบนดอยสูง เขตภาคเหนือตอนบน
ต้นสายธารขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ
... โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง
สำหรับผู้ที่มิได้ร่วมในขบวนการ 14 ตุลา หรือเป็นคนเดือนตุลาแล้ว น้อยนักที่จะทราบถึงบทบาท ความเป็นมา ตลอดจนการเคลื่อนไหวผลักดัน อุดมการณ์เดือนตุลา ของกลุ่มนักศึกษาภาคเหนือ โดยเฉพาะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยในภูมิภาค ที่พัฒนาจนกลายเป็นขบวนการ เข้าร่วมต่อสู้กับเกษตรกร ชาวนาภาคเหนืออย่างใกล้ชิดในห้วงปี 2517-2524
ทั้งนี้เนื่องเพราะข่าวสารทั่วไปฉายอยู่ตรงบทบาทความเคลื่อนไหวของนักศึกษา ปัญญาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นโฟกัสสำคัญ
ก่อนนี้ นอกเหนือไปจากข่าวสาร ความเคลื่อนไหวรายวันผ่านสื่อมวลชนในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ที่พอทำให้สาธารณชนรับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่บ้าง เห็นจะเป็นหนังชื่อ ขบวนการนักศึกษาไทย : จากอดีตถึงปัจจุบัน ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2517 โดย วิทยากร เชียงกูล เป็นบรรณาธิการ มี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ วิสา คัญทัพ เป็นผู้เขียนร่วม และตีพิมพ์เป็นครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ.2546 ในชื่อ ขบวนการนักศึกษาไทย จาก 2475 14 ตุลาคม 2516
เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวสั้นๆ ถึงความเคลื่อนไหวในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งว่า หนังสือเล่มละบาทเติบโตในภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วลัญชทัศน์ โดยมี นิสิต จิรโสภณ กับเพื่อนเป็นผู้จัดทำ ฉบับแรกว่าด้วยมนุษย์และปัญหา ก่อนจะตามมาด้วยฉบับที่อื้อฉาวคือฉบับภัยเขียว ซึ่งตอบโต้กับการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม ประภาส ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2514 พร้อมบทความบางส่วนในวลัญชทัศน์ประกอบ
มาภายหลัง ช่วงไม่กี่ปีนี่เอง ที่เริ่มมีบันทึก ข้อเขียนบทความ วิทยานิพนธ์เอ่ยอ้าง กล่าวถึงบทบาท ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาภาคเหนือออกมามากขึ้น กระนั้นก็ตามเนื้อหาที่พาดพิงถึงก็ยังเป็นเพียงเรื่องราวประกอบบางประเด็น เฉพาะกรณีเท่านั้นเอง ดังเช่น
...พอสายหน่อย มีกลุ่มนักศึกษาเชียงใหม่มาหาเพื่อพบปะคุยด้วย เขาแนะนำตัวเองว่าชื่อ นิสิต จิรโสภณ, สถาพร ศรีสัจจัง มาพร้อมเพื่อนหลายคน เขากำลังจัดตั้งกลุ่มนักศึกษาเชียงใหม่ที่มีชื่อว่า กลุ่ม วลัญชทัศน์ และกลุ่มวลัญชทัศน์นี่เอง ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหัวหอกขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่... ซึ่งเป็นความในหน้า 88-89 ของหนังสือชื่อ บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เรื่อง บอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16 ผลงานของ ธัญญา ชุนชฎาธาร จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2546 เล่าถึงการเข้าร่วมประชุมสัมมนาเรื่อง อุดมคติของคนหนุ่มสาว ซึ่งจัดโดยชมรมปริทัศน์เสวนา ในช่วงปลายปี 2514 ที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่
หรือ หนังสือชื่อ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นของ ประจักษ์ ก้องกีรติ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงวาทกรรม ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในภาคเหนือว่า ในต้นปี 2516 กลุ่ม แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มละบาทเล่มหนึ่งโดยมี ชุมนุมวรรณศิลป์ เชียงใหม่ เป็นเจ้าของ จุดประสงค์เพื่อนำไปแจกแก่ผู้เข้าฟังการแสดงดนตรีของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่จัดโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อหาข้างในเป็นการต่อต้านการเข้ามาตั้งฐานทัพ และพฤติกรรมของสหรัฐฯ ในไทยอย่างรุนแรง ดังข้อเขียนที่ตั้งชื่ออย่างดุเดือดว่า กลับรูของเจ้าเถิด มะริกันเอ๋ย...
และ จากหนังสือชื่อ เส้นทางชาวนาไทย จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงานโครงการเส้นทางชาวนาไทย เมื่อปี 2542 เพื่อรำลึก 25 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ระบุว่า
อาจกล่าวได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองภายหลังเหตุการณ์ 13 ตุลาคม 2516 เปิดโอกาสอย่างมากให้ชาวนามีความตื่นตัวทางความคิด มองเห็นปัญหาของตน มีจิตสำนึกในการต่อสู้ อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยหนึ่งที่มิอาจมองข้ามไปได้ต่อพัฒนาการในการต่อสู้ของชาวนาจนถึงขั้นสามารถรวมตัวขึ้นกันเป็นสหพันธ์ฯ ก็คือ บทบาทของนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการออกไปสู่ชนบทของนักศึกษาภายใต้โครงการ เผยแพร่ประชาธิปไตย การดำเนินงานลงสู่ฐานประชาชนของสหพันธ์นักศึกษาเสรี หรือกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษาภาคเหนือ โดยเฉพาะ โครงการชาวนา ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยภาคเหนือ
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ความสำเร็จในการรณรงค์เผยแพร่กิจกรรมของสหพันธ์ได้ขยายออกไปในหมู่ชาวนา จนกระทั่งสหพันธ์มีสมาชิกนับได้ถึง 1 ล้าน 5 แสนครอบครัวทั้งประเทศ หรือนับเป็นแสนครอบครัวในเขตสี่จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง นักศึกษาก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้
ทั้งๆ ที่เรื่องราวของบวนการนักศึกษาภาคเหนือ หรือในกรอบที่แคบกว่า คือเฉพาะขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นนาฏกรรม ก่อตัวเคลื่อนไหวอยู่ยาวนานกว่าทศวรรษเลยทีเดียว มีประวัติศาสตร์พัฒนาการ การต่อสู้ของตัวเองตั้งแต่ในช่วงปี 2514 กระทั่งถึงปี 2524 ที่ถือเป็นห้วงล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
และการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาภาคเหนือหลายกรณี ได้ส่งผลสะเทือนระดับชาติเลยทีเดียว
การก่อตัว
ขบวนการนักศึกษาภาคเหนือน่าจะเริ่มก่อตัว จุดประกายขึ้นมาใกล้เคียงไล่เรียงตามหลังนักศึกษาในส่วนกลาง-กรุงเทพฯ ไม่ช้าไม่นาน คือ ระหว่างปี 2512-2513 ภายใต้บรรยากาศผ่อนคลายทางการเมือง อันเนื่องมาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปีถัดไป หลังจากยกร่างกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2502 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ก่อนจะขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในนาม กลุ่มวลัญชทัศน์ ราวกลางปี 2514
ทั้งนี้ บรรยากาศ สภาพความเป็นไปของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หาได้ผิดแปลกแตกต่างไปจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นใด ที่ถูกครอบงำโดยระบบโซตัส กิจกรรมเชียร์ การว้ากรุ่นน้อง ความสนุกสนานเพลิดเพลินควบคู่ไปกับการร่ำเรียนตำรับตำรา เพื่อหวังปริญญาบัตรเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัววงศ์ตระกูล และเป็นใบเบิกทางไต่เต้าเป็นเจ้าคนนายคน อันเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยปราศจากข้อสงสัย คำถามใดๆ
ขณะที่ส่วนกลาง-กรุงเทพฯ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ (2506-2512) และสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ ได้ทำหน้าที่ปลุกเร้า กระตุ้นปัญญาชน นิสิตนักศึกษาอย่างเงียบๆ จนเกิดเครือข่ายทางปัญญาตามมา
วารสารยูงทอง ฉบับวันสถาปนา ปี 2511 วิทยากร เชียงกูล ได้ตั้งคำถามถึงระบบมหาวิทยาลัยไทย ผ่านบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน อันโด่งดังว่า
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
ตามด้วยการประชดประชันสังคมมหาวิทยาลัยผ่าน กูเป็นนิสิตนักศึกษา ของ สุจิตต์ วงศ์เทศ ในปี 2512
พัฒนาการของกิจกรรม ความเคลื่อนไหวทางปัญญาภายหลังบรรยากาศผ่อนคลายทางการเมือง ทำให้เครือข่ายทางความคิดทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยงอกเงยขยายตัว กลุ่มอิสระ ชมรมต่างๆ มากมายทยอยกันเปิดตัวปรากฏอาวุธทางปัญญา สิ่งพิมพ์ออกมาหลากหลาย มีการนำอุดมการณ์ความคิด ทฤษฎีทางการเมือง-เศรษฐกิจสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ ทฤษฎีการเมือง ศิลปวรรณกรรม เพื่อชีวิตของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคปี 2490-2500 กลับมาเผยแพร่อีกครั้ง
เกิดกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม-ฐานทัพสหรัฐ พร้อมศัพท์แสง คำว่า ซ้ายใหม่
ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2512 นักศึกษาผู้สนใจด้านวรรณกรรม ในชมรมวรรณศิลป์ได้รวมตัวในนามกลุ่มหนุ่มที่ราบอิงดอย เช่น สุภาพ คลี่ขจาย, ธงชัย สุรการ, สุเมธ แสงนิ่มนวล, สถาพร ศรีสัจจัง ฯลฯ ร่วมกันทำหนังสือ เจ้าชื่อทองกวาว โดยเนื้อหาสาระนอกจากจะเป็นพวกที่เรียกว่าสายลม แสงแดดแล้ว เริ่มมีการให้ความสนใจปัญหาทางสังคมบ้าง เช่น ความฟอนเฟะทางวัฒนธรรม อันเป็นผลพวงมาจากฐานทัพสหรัฐในประเทศไทย มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบมหาวิทยาลัยบ้าง แต่ก็ไม่มีความชัดเจนอะไรมากมายนัก
ระหว่างปี 2512-2513 ความเคลื่อนไหวทางปัญญาจากส่วนกลาง-กรุงเทพฯ เริ่มแผ่เงา แทรกซึมเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บ้างแล้ว ปลุกเร้าให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งซึ่งแม้จะน้อยมากได้สนใจปัญหาสังคม-การเมือง โดยคนเหล่านี้มักจะอยู่ในชมรมอาสาพัฒนา กิจกรรมการออกค่ายทำให้ได้สัมผัสชนบท เห็นปัญหาความยากจน ความแตกต่างระหว่างเมือง-ชนบท
กำเนิดกลุ่มวลัญชทัศน์
ขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ หรือแคบลงไปกว่านั้นก็คือขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจริงจังเอาก็ในปี 2514 มี นิสิต จิรโสภณ นักศึกษาปี 4 คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ เป็นหัวขบวนนำขับเคลื่อนกลุ่ม วลัญชทัศน์ ขึ้นมาให้เป็นที่รู้จัก โดยผู้ร่วมก่อการประกอบด้วย สถาพร ศรีสัจจัง, สุรเจตน์ (น้อยพันธุ์) ธรรมธำรง, นิติธารก์ มานะทัต, สงวน พิศาลรัศมี, ธงชัย (มนะสุรการ) สุรการ, สินสมุทร วรรณรัตน์, วัฒนา สุกัณศีล
การก่อตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นฐานที่มาของขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ ที่เป็นรูปธรรมคือกลุ่มวลัญชทัศน์ ๆ เกิดจากการที่นักศึกษารัฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่าเขาควรทำอะไรบางอย่างที่เป็นการตอบคำถามว่าเขาสนใจปัญหาสังคม ผู้นำในกลุ่มนี้ที่สำคัญมากๆ ที่ผมจำได้คือ นิสิต จิรโสภณ ซึ่งภายหลังก็มาเป็นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมคนสำคัญที่สุดของภาคเหนือ และเข้าไปมีบทบาทในส่วนกลาง มีบทบาทเคลื่อนไหวในระดับประเทศ ทั้งในทางแจ้งและทางลับ สถาพร ย้อนความหลังให้ฟัง
สถาพร ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในร้อยผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อต้นปี 2514 นิสิต กับพวกได้มาเชิญตัวเอง ซึ่งมีผลงานเขียน ลงตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์และหนังสืออื่นๆ มาก่อนแล้วเข้าร่วมจัดทำหนังสือชื่อ วลัญชทัศน์ โดยเล่มแรก เป็นฉบับว่าด้วย มนุษย์และปัญหา
ตามมาด้วยฉบับ ภัยเขียว ที่ สถาพร เห็นว่าเป็นการตีแสกหน้ารัฐบาลเผด็จการทหารโดยตรง ผมเชื่อว่าวลัญชทัศน์ฉบับภัยเขียวน่าจะเป็นเอกสารฉบับแรกๆ ที่พูดถึงทหารโดยตรง ว่าเป็นภัยที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือตอนนั้น ไม่มีใครกล้าพูดถึงมาก่อน
วลัญชทัศน์ฉบับภัยเขียวได้ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ตอนหนึ่ง เมื่อพูดถึงการก่อกำเนิดของขบวนการนักศึกษาไทยเลยทีเดียว
ก่อนหน้านั้น วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้ตีพิมพ์ฉบับภัยเหลืองวิพากษ์วิจารณ์การรุกรานทางเศรษฐกิจของจักรวรรดิญี่ปุ่น ขณะที่ กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออก ภัยขาวโจมตีจักรพรรดินิยมอเมริกาในช่วงต้นเดือน มีนาคม 2514
วลัญชทัศน์ ฉบับแรก ประจำเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ระบุคณะผู้จัดทำประกอบด้วย นิติธารก์ มานะทัต, ทรงวิทย์ ศรีอ่อน, นิสิต จิรโสภณ, สุรเจตน์ น้อยพันธุ์
เนื้อหาภายในไล่เรียงตั้งแต่ โศลกดำ โดย ศรีตรัง, จดหมายถึงคนหนุ่มสาวผู้เฉยเมย โดย สิริพร หนูแก้วขวัญ, ขบวนการนักศึกษา โดย ชัชวาล นิลประยูร, นครในฝัน (ดีและร้าย) โดย ดร.บรรพต วีระสัย, คำจากใจ แด่โกมล และ รัตนาบทอาลัยแด่ กวี และนักปฏิวัติ โดย สถาพร ศรีสัจจัง, ฐานาและบทบาททางการเมืองของนักศึกษา โดย วิทยากร เชียงกูล, อนิจจาบ้านกู โดย กรอัตถ์, เฮเกลและมากซ์กับการศึกษาประวัติศาสตร์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, ซ้ายใหม่อีกครั้ง โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ประชาธิปไตยที่ข้าพเจ้าเห็นในปัจจุบัน โดย ชวลิต ศิริภิรมย์, นโยบายต่างประเทศของไทย โดย ณัฐ ชพานนท์, มาร์กซีส : แนวคิดสำหรับซ้ายใหม่ โดย? และวุฒิสภาแบบไทยๆ โดย ชวน หลีกภัย
ส่วน วลัศชทัศน์ ฉบับภัยเขียว ประจำเดือนกันยายน-พฤศจิกายนอันเป็นฉบับที่สองตามมา ระบุคณะผู้จัดทำคือ นิติธารก์ มานะทัต, มานิต วรหาญ, นิสิต จิรโสภณ, สุรเจตน์ น้อยพันธุ์
ภายในมีเนื้อหา ประกอบด้วย ในกระบอกมีลูกปืน โดย พิสิฐ เจริญพันธ์, ทหารกับปัญหาการเมืองของไทย โดย ภัทร, เกร็ดการเมืองจากอดีต, โศลกมืดจากภูเขาบรรทัด โดย สถาพร ศรีสัจจัง, อำนาจส่วนเกินของทหาร โดย กอบเกื้อ สุวรรณทัต, ทหารกับการเมือง โดย อนันต์ สายศิริวิทย์, ภัย โดย นักเขียนอิสระ มช., ทหารและการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา โดย ดร.บรรพต เทศกาล, ทหารกับการเลือกตั้ง โดย ช.นิล์ป, A TALE OF A MODERN UTOPIA โดย LEO PRASIT, คำอภิปราย : บันทึกจากสภา โดย หลวงประกอบนิติสาร, กลุ่มผู้นำทางการเมืองและทางทหาร โดย จอมพล พร้อมเพรียงพันธ์, ขบวนการกองโจร โดย กองอัตถ์, ยุคมืด โดย อาคม สุวรรณพ และ นิสิตนักศึกษากับรัฐบาลสยาม โดย สุเมธ แสงนิ่มนวล
พลิกไปภายใน จะเห็นเนื้อหาอันดุดัน เช่น หน้าหนึ่งตีพิมพ์ภาพจอมพลประภาส จารุเสถียร พุงยื่นยืนวันทยหัตถ์บนรถตรวจพลสวนสยาม รับการเคารพจากกองทหาร โดยบรรยายเบื้องล่างว่า
กองทัพเดินได้ด้วยท้อง เป็นความจริงสำหรับนโปเลียนและประเทศฝรั่งเศสในยามนั้น หรือมากประเทศที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน ...กองทัพไทยปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมิได้ปฏิเสธเป็นอย่างอื่น!
แต่ท้องที่ทำให้กองทัพ เดิน กลับมิใช่ของข้าทหารทั้งปวง หากเป็นของขุนทหารเพียงไม่กี่นาย ซึ่งซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังกองทัพไทยในยามศึก... ขณะเดียวกันจะเขย่งยืนออกมาเบื้องหน้าในยามสงบ!
ในที่นี้ ท้อง เห็นจะกินความเพียง พุง ที่ยื่นล้ำออกมาจนมองไม่เห็นหัวแม่เท้า และเป็นพุงที่เลี้ยงไว้ด้วยอามิสอันเป็นผลได้ของอำนาจที่ฉกฉวยเอามาจากผู้คนปราศจากอาวุธ
ผู้คนที่กำลังเรียกหาความร่มเย็นให้แก่ชีวิต!
นี่เป็นโอกาสของขุนทหารที่นำกองทัพเดินออกมาจากที่ตั้งเพื่อหยิบยื่นความร่มเย็น ซึ่งเคลือบความเดือดร้อนไว้ภายใน
คนที่กล่าวว่า แม้นชาติขาดทหารเกรียงไกร ประชาไทยจะสุขได้ดังฤา นั้นก็คือคนเหล่านี้
นี่คือคำข่มขู่!
และลำเลิกในความเกรียงไกรของกองทัพแห่งโบราณสมัย ซึ่งเป็นไปไม่ได้อีกในปัจจุบัน
ตราบใดที่ขุนทหารของสยามประเทศยังห่วงใยในท้องแห่งตน
ยิ่งกว่าท้องของกองทัพและประเทศชาติ
วลัญชทัศน์ฉบับภัยเขียว กลายเป็นเรื่องฮือฮาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภัยเขียว ก็สำแดงฤทธิ์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เมื่อหนังสือถูกสั่งเก็บภายในเวลาอันรวดเร็ว คณาจารย์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยถูกบีบให้ออกมาเผชิญหน้ากับคณะผู้จัดทำ
แตกหน่อก่อผล
สถาพร เล่าว่า ภายหลังการออก วลัญชทัศน์ ฉบับแรกแล้ว ได้มีการพูดคุยกันว่าน่าจะมีการเสวนาทางความคิดขึ้น โดยเชิญอาจารย์ที่มีความตื่นตัวทางความคิดมาสนทนาเดือนละคน โดยใช้สนามหญ้าหน้าที่ตั้งสโมสรนักศึกษาที่เรียกว่ายูเนียนเป็นแหล่งเสวนา โดยปักป้ายว่า กลุ่มวลัญชทัศน์เสวนา
นำไปสู่สถานะของกลุ่ม วลัญชทัศน์ อย่างเป็นทางการ
อาจารย์ที่มีความตื่นตัวทางความคิดในขณะนั้น ได้แก่ จอมพล พร้อมเพรียงพันธ์, ฉลาดชาย รมิตานนท์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ
การทำหนังสือก็ดี การจัดเสวนาก็ดี แม้ภาพของกลุ่ม วลัญชทัศน์ จะถูกมองเป็นพวกกบฏ พวกศิลปิน ตัวประหลาดในมหาวิทยาลัย ภายใต้ความเป็นจริงที่นักศึกษาซึ่งสนใจปัญหาบ้านเมืองยังมีน้อยเต็มทีนั้น ขณะเดียวกันกลับไปกระตุ้นความสนใจ ของ นักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในปีการศึกษา 2514 อย่าง ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, ชาญชัย สงวนวงศ์ ฯลฯ ดึงดูดคนเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ตามด้วย เกษตร ศิวะเกื้อ สืบทอดไปยังนักศึกษารุ่นต่อไป ได้แก่ ปาลรัฐ มนูรัษฎา, ชาตรี หุตานุวัตร, พรเลิศ กองแสง, และ ไกรวุฒ ศิรินุพงศ์ ฯลฯ ในภายหลัง
ซึ่งต่อมา ผดุงศักดิ์-ชาญชัย-เกษตร-ปานรัฐ-ไกรวุฒ นี่เองจะเข้ามาสานต่อภารกิจ รับช่วงแทนรุ่นพี่ กลุ่มผู้ก่อการซึ่งทยอยกันสำเร็จการศึกษากันตั้งแต่ปี 2515 พัฒนาเติบใหญ่ กลายเป็น แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แกนนำในการเคลื่อนไหวนักศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยครูหรือวิทยาลัยเทคนิค หรือแม้กระทั่งเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ทั้งหมดมี นิสิต จิรโสภณ เป็นต้นแบบ แกนหลักในการขับเคลื่อน
ย้อนกลับมาที่กลุ่มวลัญชทัศน์อีกครั้ง สถาพร เล่าว่า กลุ่มวลัญชทัศน์แรกๆ นั้นก็ยังสับสน อยู่ในช่วงแสวงหากัน ในกลุ่มเองความตื่นตัวก็มีต่างระดับ จำได้ว่าเคยขึ้นดอยกันหลายครั้ง ทั้งดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์หรือคราวหนึ่งก็ขึ้นไปกิน-นอนอยู่ที่วัดผาลาด ไปปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน นิสิต เองก็บวชเรียนจำพรรษาอยู่ที่นั่น หรือจัด วลัญชทัศน์สัญจร ไปเยี่ยม คำรณ คุณะดิลก สมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ที่ไปเป็นครูอาสา ทำโรงเรียนชุมชนอยู่ที่แม่กลาง ดอยอินทนนท์
ขณะที่ คำรณ คุณะดิลก ฟื้นความทรงจำว่า ภายหลังทำละคร เรื่องอวสานเซลส์แมน เสร็จก็รู้สึกไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ แล้ว อยากไปต่างจังหวัด ก็เลยขึ้นไปทำโรงเรียนกับพวกม้งพวกกะเหรี่ยง คนเดียวสอนหนังสือทั้งชั้น 40-50 คน ซึ่ง นิสิต, สถาพร พวกทำค่ายอาสาอะไรเหล่านั้นก็ได้ขึ้นไปพบปะพูดคุย ตอนหลังก็มีวลัญชทัศน์ที่จบแล้วไปช่วยสอนอีกคนคือ สงวน พิศาลรัศมี อยู่ได้หนึ่งปี หัวหน้าพรรควิชาการสื่อสารมวลชน มช. ก็มาชวนไปสอนละครก็โอเค พอลงมาทำงานปี 15 ก็ทำเวิร์กชอปละครเกี่ยวกับปัญหาชนบท ปัญหาความยากจนของชาวนา คือเป็นละครแบบง่ายๆ ต่อมาก็กลายเป็นต้นแบบละครตามม็อบของนักศึกษาในยุคต่อมา
การรัฐประหารตัวเองของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 กระแสความเคลื่อนไหวทางปัญญาภายนอกประการหนึ่ง กับปัจจัยภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง บทบาทของกลุ่มวลัญชทัศน์ที่มีทั้งความเร่าร้อน มุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง เป็นกบฏต่อต้านระบบ ตัวประหลาดในขณะเดียวกันอีกประการ ทำให้เกิดการตอบรับอย่างเงียบๆ ขยายตัวซึมลึกลงไปเรื่อยๆ
พฤติกรรมกบฏ ต่อต้านท้าทายระบบที่มีการเล่าขานกัน ได้แก่การที่ สถาพร ศรีสัจจัง เดินตีนเปล่าจากหอพักเข้าห้องเรียน ด้วยเหตุมีประกาศห้ามสวมแตะขึ้นห้องเรียน หรือ การที่ นิสิต จิรโสภณ ไปประกาศหน้าห้องประชุมเชียร์ว่า น้องนักศึกษาใหม่มีสิทธิที่จะเข้าห้องเชียร์หรือไม่เข้าห้องเชียร์ก็ได้ เป็นผลทำให้นักศึกษาใหม่ปี 1 หลายคนผละออกมา การยื่นญัตติเข้าสภาองค์การนักศึกษาที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ นักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์เป็นประธาน สอบถามว่าการเชียร์เป็นหน้าที่หรือเป็นแค่ชมรม โดยผลสรุปออกมาว่า การเชียร์เป็นเรื่องของชมรมที่ไม่สามารถบังคับนักศึกษาได้
ซึ่งกรณีการเชียร์อันเป็นหัวใจหนึ่งของระบบโซตัสนี้ กลุ่มวลัญชทัศน์ ได้ส่ง สมปอง จุลละทรัพย์ หลานชาย พล.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เข้าไปเป็นประธานชมรมเชียร์ โดยมีนโยบายสำคัญคือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเชียร์ ซึ่งก็ได้รับเลือก ดังนั้น นาทีแรกที่นักศึกษาน้องใหม่เข้าห้องเชียร์ก็จะได้รับบทกวี ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล ไปอ่านกัน
หรือ เรื่องราวความรู้สึกอัปยศอดสูต่อระบบการศึกษาไทยกับศาลพระภูมิหน้ามหาวิทยาลัย มีการท้าทายแสดงความกล้าหาญกันด้วยการไปหยิบช้างที่นักศึกษานำมาบนบานกลับบ้าน เอาพวงมาลัยศาลพระภูมิไปเที่ยวไล่คล้องคอส่งเพื่อนกลับภูมิลำเนาในช่วงปิดเทอม
ที่ร่ำลือกัน กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต คือ กรณี นิสิต จิรโสภณ, สมปอง จุลละทรัพย์ และ ผดุงศักดิ์ พื้นแสน ในอารมณ์ฮึกเหิมจากเครื่องดองของเมาร้านเหล้าหน้ามอ ระหว่างเดินกลับหอพักผ่านศาลพระภูมิหน้ามหาวิทยาลัย ความคิดอันเป็นวิทยาศาสตร์ก็สั่งการให้เดินปรี่เข้าไปฉี่ใส่ศาลพระภูมิ ยามเข้ามาห้ามปรามก็คว้าช้างขึ้นมาเขวี้ยง กระชากพวงมาลัยกระจุยกระจาย ท้าทายความเชื่องมงาย
ผลก็คือ ทั้งสามถูกมหาวิทยาลัยมีคำสั่งภาคทัณฑ์ แม้ ตุลาการนักศึกษา จะรับฟังเหตุผล เสนอให้ลงโทษตักเตือนเท่านั้นเป็นพอก็ตาม
ผมคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่อาจดูไม่ดีในวันนี้ แต่วันนั้นมันไม่มีทางเลือกออก มหาวิทยาลัยสอนวิทยาศาสตร์ แต่กลับไปสร้างศาลพระภูมิเอามาหลอกล่อนักศึกษา เอาช้าง เอาม้า เอาพวงมาลัยมาไหว้ บูชา เรารู้สึกว่ามันเป็นตัวแทนความอัปยศในความรู้สึกของเราตอนนั้น ก็ท้าทายกันว่าจิตใจมึงว่าใช้ได้หรือไม่ เป็นวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์ อะไรประมาณนี้ สถาพร อรรถาธิบาย
และนี่เองที่นอกเหนือไปจากนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางความคิดแล้ว กลุ่มวลัญชทัศน์ยังได้แนวร่วมจากกลุ่มนักศึกษาที่มีลักษณะเสรี บรรดาคอเหล้าสุราอีกด้วย ซึ่งคนเหล่านี้ภายหลังได้พลิกผันตัวเองเป็นการ์ด คอยรักษาความปลอดภัยให้เมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือที่มีลักษณะศิลปินก็จะเข้าไปมีบทบาท ร่วมเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม
พ.ศ.2515 ถือเป็นก้าวสำคัญของ กลุ่มวลัญชทัศน์ ในการพัฒนาไปเป็นองค์กรเคลื่อนไหวระดับภาคเหนือ หรือระดับประเทศ เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวซึ่งกันและกันกับองค์กรนักศึกษาในส่วนกลาง-กรุงเทพฯ
ก่อนนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดกันบ้างแล้ว โดยปลายปี 2514 ชมรมปริทัศน์เสวนา ที่มี ส.ศิวรักษ์ อยู่ข้างหลังได้จัดสัมมนาเรื่อง อุดมคติของคนหนุ่มสาว ที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักศึกษา นักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งครั้งนั้นเอง นิสิต จิรโสภณ และพวก ได้มาพบปะสนทนากับผู้เข้าร่วมสัมมนากลายเป็นสายสัมพันธ์ต่อกัน
ในช่วงไล่เลี่ยกันนี้ อรรถวิบูล ศรีสุวรนันท์ นักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม เล่าว่า ตอนนั้นกลุ่มอิสระ ชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือออกมาเผยแพร่ความคิด โดยจำหน่ายเล่มบาท หาทุนรอนไปในตัว เรียกกันว่า หนังสือเล่มละบาท ก็ได้นำหนังสือเหล่านี้ขึ้นมาขายถึงเชียงใหม่ โดยมาพักอยู่กับพี่ชายซึ่งเป็นอาจารย์ ทำให้มีโอกาสรู้จักกับ นิสิต, สถาพร, คำรณ ฯลฯ
สายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน โดย นิสิต จิรโสภณ เป็นคนเชื่อมต่อ ทำให้กลุ่มวลัญชทัศน์สามารถขับเคลื่อน สอดรับกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาส่วนกลางได้ในเวลาต่อมา เช่น เมื่อ ธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปลุกกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ที่เชียงใหม่ก็มีการเคลื่อนไหวในประเด็นเดียวกัน
นิสิต จิรโสภณ น่าจะเริ่มเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาส่วนกลาง-กรุงเทพฯ ในช่วงนี้ โดยเคยลงหนุนช่วยเคลื่อนไหวถึงภาคใต้ ซึ่ง จรัล ดิษฐาอภิชัย บันทึกเอาไว้ในหนังสือ ก่อนจะถึง 14 ตุลา รำลึกในโอกาส ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองวงกว้าง ผมยังเกาะอยู่กับกลุ่มนักศึกษาอิสระและมูลนิธิโกมล คีมทอง เช่นเดิม มูลนิธิโกมลไปจัดนิทรรศการและอภิปรายสัมมนาที่ไหน ผมก็ไปช่วยทำ เช่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งการอภิปรายครั้งนั้นมี นิสิต จิรโสภณ ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดทำหนังสือ ภัยเขียว ของกลุ่มวลัญชทัศน์ไปร่วมด้วย
น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นห้วงปลายปี 2515 ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อต้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ว่าด้วย คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ ลงวันที่ 12 ธันวาคม เดินขบวนไปประท้วงหน้าสนามเสือป่ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการตุลาการหรือ กต. และกรรมการตุลาการอีก 8 คน ให้มาจากการคัดเลือกของผู้พิพากษา 4 คน และรัฐมนตรีเลือกอีก 4 คน จากที่เดิมที่ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน กต.
นักศึกษาเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซงฝ่ายตุลาการชัดแจ้ง
ครั้งนั้น กลุ่มวลัญชทัศน์ก็ได้ร่วมเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกัน โดยวันที่ 13 ธันวาคม ได้รวมตัวไฮปาร์กโจมตีรัฐบาล ที่หน้าสโมสรนักศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมไปชุมนุมนับพันคน (ไทยรัฐรายงานว่ามียอดสูงถึง 6 พันคน) ก่อนจะนำขบวน เดินไปประท้วงที่สนามหน้าศาลจังหวัด ซึ่งถือเป็นการเดินขบวนออกนอกสถานศึกษาครั้งแรก ของจังหวัดเชียงใหม่
การเดินขบวนครั้งดังกล่าว ถือเป็นการทดสอบพลัง ความเข้มแข็งของกลุ่มวลัญชทัศน์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อเกิดประเด็นระดับชาติคราใด ก็จะปรากฏการเคลื่อนไหวของกลุ่มวลัญชทัศน์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคราวไป จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาขึ้น คนเหล่านี้ก็ได้เข้าไปร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยเคียงบ่าเคียงไหล่นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วประเทศ
หลายคนลงไปร่วมชุมนุมยังลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลยทีเดียว
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กลุ่มวลัญชทัศน์ก็พัฒนา แปรเป็นขบวนการนักศึกษาที่เข้มแข็ง กลายเป็นแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว สามารถยึดกุมมวลชนทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและภายนอก ทั้งที่เป็นนักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยครู วิทยาลัยเทคนิค จนแม้กระทั่งประชาชน เกษตรกรชาวนาชาวไร่ได้ นำไปสู่การเคลื่อนไหวระดับชาติตามมา
ตัวอย่างอันสะท้อนถึงความเข้มแข็ง มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่กล่าวขาน ยอมรับจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้เห็นจะเป็น การเคลื่อนไหวของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ จนเกิด โครงงานชาวนา ขึ้นมาปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยตรง
คำรณ คุณะดิลก ประเมินว่า ขบวนการนักศึกษาภาคเหนือเป็นขบวนการเรียลลิสติก ไม่ใช่พวกโรแมนติก มันมีพวกโรแมนติกเข้าป่าเยอะ ภาคเหนือนี่มันใกล้ชิดกับชาวนามาก เขาออกทำงานชนบท เขาเห็นปัญหาจริงๆ และเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงมาก่อน ซึ่งต่างจากพวกข้างในซึ่งสายจัดตั้งมันปัญญาชน แต่จัดตั้งทางนี้มันไม่เหมือนกัน สายทางนี้จึงเป็นนักรบเยอะ ไม่ใช่ปัญญาชน
ต่อสู้เคียงคู่ประชาชน
สำหรับแนวความคิดที่จะก้าวเข้าไปเคลื่อนไหวเกษตรกร ชาวนานั้น สถาพร ศรีสัจจัง ระบุว่าในวันรับปริญญาของนักศึกษาเมื่อปี 2515 ซึ่งสมาชิกรุ่นแรกๆ ของกลุ่มวลัญชทัศน์ทยอยกันสำเร็จการศึกษานั้น ได้มีการรวมตัวพบปะพูดคุย สรุปทิศทางกันว่าควรจะมีการเคลื่อนไหวชาวนา เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ เพราะชาวนาในภาคเหนือเสียเปรียบมาก
ปี 2517 แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่จึงจับประเด็น เข้าไปเคลื่อนไหวในเรื่องของค่าเช่านา หรือที่รู้จักกันในนามของกรณี ค่าเช่านาแบ่งกึ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศที่ปรากฏการลุกฮือของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ทั้งนี้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2493 คุ้มครองการเช่านาให้กับเกษตรกรเฉพาะภาคกลางมิได้ครอบคลุมถึงภาคเหนือ ชาวนาภาคเหนือจึงถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยมีการเรียกเก็บค่าเช่านาสูงถึง 2 ใน 3 ของผลผลิต
ผลจากการต่อสู้ครั้งนั้น ทำให้สภานิติบัญญัติ ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 โดยให้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2493 มีผลครอบคลุมเกษตรกรภาคเหนือด้วย หรือให้เจ้าที่ดินได้ผลตอบแทนจากผู้เช่านาโดยแบ่งผลิตกันคนละครึ่ง
กรณีดังกล่าว ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับเจ้าที่ดินทวีความรุนแรงขึ้น มีการหลบเลี่ยงปฏิเสธการเช่า หรือเปลี่ยนผู้เช่ารายใหม่ ตามมาด้วยการล่าสังหารผู้นำเกษตรกร ชาวนา รวมถึงนายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวไร่ภาคเหนือ ที่ถูกสองคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตที่บ้านตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2518
นอกเหนือไปจากปัญหาค่าเช่านาแล้ว นักศึกษาภาคเหนือยังเข้าไปร่วมต่อสู้กับประชาชนในกรณีเหมืองแม่วะ จังหวัดลำพูน และเหมืองแม่เลียง จังหวัดลำปาง ซึ่งทั้งสองเป็นกรณีเหมืองแร่สร้างผลกระทบ ทำความเดือดร้อนให้กับคนท้องถิ่น นำไปสู่คำสั่งปิดเหมืองในที่สุด
ปัญหาทั้