บทความ

การเดินทางจากจักรวาลสู่เม็ดทราย ของ ประกาย ปรัชญา

by Pookun @February,26 2007 22.17 ( IP : 222...14 ) | Tags : บทความ

การเดินทางจากจักรวาลสู่เม็ดทราย ของ ประกาย ปรัชญา - เขี้ยว คาบจันทร์ สัมภาษณ์, ภาคภูมิ จิตอารี เรื่อง, ชัยพร อินทุวิศาลกุล ภาพ -

พ.ศ. 2521 ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของกระแสวรรณกรรมไทยเพื่อชีวิต บทกวี “ศรัทธาสีขาว” ของนักเรียนชายชั้น ม.ศ. 1 ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารการเมือง มาตุภูมิ นั่นคือการปรากฏตัวต่อโลกวรรณกรรมเป็นครั้งแรกของ “กวีรุ่นเยาว์” ผู้ซึ่งต่อมาไม่นานได้รับการชื่นชมกล่าวขวัญถึง จนกระทั่งถูกจับตามองและคาดหวังว่าจะเป็นอนาคตของวงการกวี ณ เวลานั้น ล่วงสู่ปี พ.ศ. 2548 เกือบสามสิบปีผ่านไปกับการเดินทางยาวไกลในสายธารวรรณกรรม จากเด็กน้อยคนนั้น บัดนี้คือกวีหนุ่มใหญ่ ประกาย ปรัชญา ยังคงฉันทะต่อบทกวีอย่างไม่รู้เสื่อมคลาย ตัวเขาและบทกวีต่างเสาะแสวงและกล่อมเกลาซึ่งกันและกัน จากโลกภายในสู่โลกภายนอก สุขและทุกข์ งดงามและหม่นมัว สงบนิ่งและ เปลี่ยนแปร ล้วนขัดเกลาจิตวิญญาณและตัวตนของกวีคนหนึ่ง ให้ชัดเจน...ให้ยิ่งชัดเจน ชลบุรี, แดดบ่ายเดือนเมษายนเริงแรงเมื่อเราเดินทางมาถึง บ้านของกวีหนุ่มตั้งอยู่ในทำเลเงียบสงบซึ่งไม่ห่างไกลจากถนนใหญ่นัก บ้านสองชั้นสีเขียวอ่อนหลังนี้ดูอบอุ่นน่ารัก เช่นเดียวกับรอยยิ้มและอัธยาศัยของเจ้าของซึ่งออกมาต้อนรับถึงหน้าบ้าน ลมทะเลโชยเฉื่อย ติดตามเราเข้ามาภายในบ้าน จักรยานสองคันยืนหลบแดดเคียงกันอยู่ใต้เงาหลังคา ต้นไม้ใหญ่น้อยหลายต้นเพิ่งปลูกลงดิน ภายในบ้านตกแต่งอย่างเรียบง่าย ตู้ โต๊ะ เก้าอี้และเครื่องเรือนน้อยชิ้นพอเหมาะแก่ความจำเป็นในการดำรงชีวิต เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสมถะสันโดษของผู้อยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน ประกาย ปรัชญา เป็นชาวชลบุรีโดยกำเนิด เติบโตมาในครอบครัวชาวจีน ซึ่งมีอาชีพทำการค้าและมีฐานะมั่นคง แม้ว่าประกายจะเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน แต่ความสนใจในด้านกาพย์กลอนของเขาหาได้หลากไหลผ่านมาทางระบบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย หากแต่เป็นเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีคนทรราชย์ใช้อำนาจอยุติธรรมล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังให้เกิดความโศกสลด สั่นไหวในหัวใจของคนไทยผู้รักความเป็นธรรมทุกคน และไม่เว้นแม้แต่กับเด็กชายปรัชญาในวัยเพียง 12 ปี หยาดเลือดผู้บริสุทธิ์ได้อาบชโลมหัวใจ จุดดวงไฟแห่งการแสวงหาสัจธรรม จุดดวงไฟให้หัวใจกวีฉายประกายโชติ ช่วงขึ้นนับแต่นั้น...

ศรัทธาสีขาว โชนไฟฝันอันเพริศพราวดับร้าวฉาน เพื่อสิทธิ – สันติภาพนานตราบนาน แย้มมุมม่าน ณ น่านฟ้าเหนือนาคร ศรัทธาสีขาว คืนจากพรากจากถนนสายนั้น/2526

วันหนึ่งเด็กชายปรัชญาได้อ่านบทกวีของวิสา คัญทัพ โดยบังเอิญ เขายังจำถ้อยวลีในบทกวีนั้นได้ว่า “คือดาวที่วาววามอันทอดดวงเอื้อปวงชน” ซึ่งต่อมาบทกวีชิ้นนี้ก็คือเพลงร้อยดาวของวงคาราวานนั่นเอง เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้พบได้เสพ หลังจากนั้นเขาจึงใฝ่หาบทกวีในแนวเดียวกันนี้มาอ่าน ได้อ่านผลงานของกวีอีกหลายคน เช่น รวี วีรตุลย์ สถาพร ศรีสัจจัง จนในที่สุดเขาก็รู้สึกอยากจะเขียน และในปี พ.ศ. 2521 บทกวีที่ชื่อ ศรัทธาสีขาว ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารมาตุภูมิ เป็นการตีได้พิมพ์บทกวีครั้งแรกในชีวิตของเด็กชายปรัชญา บรรยากาศวงวรรณกรรมในขณะนั้นมีกลุ่มมากมาย มีกวีเด่น ๆ เช่น คมทวน คันธนู คมสัน พงษ์สุธรรม (เสียชีวิตแล้ว) สำราญ รอดเพชร ญิบ พันจันทร์ เป็นต้น เหล่านี้คือกลุ่มคนเขียนบทกวีที่เด็กชายปรัชญารู้สึกนับถือ ติดตามอ่านด้วยความหลงใหล ทำให้ภายในของเขาปั่นป่วน เป็นเวลาที่เขาไม่เคยสงสัยคุณค่าใด ๆ ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เขาเขียนบทกวีเพื่อชีวิตจนกระทั่งสำราญ รอดเพชรเขียนจดหมายไปที่โรงเรียนเพื่อชี้แนะ เนื่องจากมีภาพลักษณ์ของคนหัวรุนแรงก้าวร้าวตั้งแต่เด็ก เขาคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายซ้ายในโรงเรียน และเวลาอยู่ในโรงเรียนเขาก็ได้รับฉายาว่า “ไอ้หัวแดง” เด็กชายปรัชญากลายเป็นเด็กที่โรงเรียนเอือมระอา แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มีบทกวีเป็นเครื่องคุ้มครอง เนื่องจากเป็นผู้เข้าร่วมในกิจกรรมระหว่างโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เช่น การแข่งขันกลอนสด การแข่งขันโต้วาที เขามักจะเป็นตัวยืนถูกส่งไปประกวด และก็มักจะชนะนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนอยู่เสมอ นอกจากนี้แล้ว การที่สามารถตีพิมพ์บทกวีในนิตยสารการเมืองได้ตั้งแต่ยังเป็นเพียงนักเรียน ก็ทำให้ทางโรงเรียนภูมิอกภูมิใจถึงขนาดนำบทกวี ของเขาขึ้นบอร์ดให้นักเรียนดู เด็กชายปรัชญาจึงเป็น “ไอ้หัวแดง” ที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยในโรงเรียนจนกระทั่งจบการศึกษา พร้อมกับมีรวมบทกวีเล่มแรกกับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ซึ่งก็คือ คืนจากพรากจากถนนสายนั้น เป็นบทกวีที่เขาเขียนระหว่างเรียน ม.ศ. 1 ถึง ม.ศ. 5 สำหรับประกาย ปรัชญา เหตุการณ์ 6 ตุลา มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเขาอย่างยิ่ง เริ่มจากบทกวีเพียงบทเดียว นำเขาไปสู่การรู้เห็นการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนผู้บริสุทธิ์ และนำความสนใจของเขาไปสู่กระบวนการทางการเมืองในที่สุด ในชีวิตของเขามีอาจารย์คนสำคัญก็คือ ประเสริฐ วีระกุล อาจารย์คนนี้ได้เปิดโลกทางการเมือง เปิดโลกการอ่านที่ กว้างไกลให้กับเขา หลังจากนั้น การอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต และการศึกษาทฤษฎีทางการเมืองและสังคมที่แพร่หลายในเวลานั้นก็กลายเป็นกิจกรรมหลักของเขา เป็นสิ่งที่ทำให้เขาผิดแปลกไปจากเด็กวัยรุ่นธรรมดา ต่อมาประกาย ปรัชญาได้ร่วมกับเพื่อนนักเขียนรุ่นเดียวกัน แก้ว ลายทอง สมพงษ์ ทวี รักษ์ มนันยา วิมล ไทรนิ่มนวล และอีกหลายคน ก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรม “เพลิงธรรม” โดยเริ่มต้นจากแก้ว ลายทอง เขียนจดหมายมาถึง เพราะได้อ่านบทกวีของเขาในนิตยสาร เมื่อติดต่อพบปะกัน ก็เริ่มคิดหาทางรวมตัวกัน ในเวลาเดียวกัน วงวรรณกรรมขณะนั้นก็ปรากฏกลุ่มวรรณกรรมของคนรุ่นใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางใต้มีกลุ่มนาคร นำโดย ประมวล มณีโรจน์ ทางอีสานมีกลุ่มลำน้ำมูล ทางเหนือมีลมเหนือ ดาวเหนือ กลุ่มวรรณกรรมต่าง ๆ เริ่มทำกิจกรรมร่วมกัน ทำนิตยสารร่วมกัน มีการเสวนาวรรณกรรมอย่างคึกคัก และจะมีการเสวนาใหญ่ปีละครั้ง เนื่องจากเวลานั้นเขาเป็นเด็กที่หัวยังเกรียนอยู่ จึงได้รับฉายาว่า “กวีรุ่นเยาว์” “ในเวลานั้นที่ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะมีวารสารโรเนียวชื่อ มุมกลับ แม้จะเป็นโรเนียวนะ แต่มีความคึกคักมาก เนื้อหามีความเข้มข้นหลากหลาย มีเรื่องสั้น มีบทกวี มีสัมภาษณ์นักเขียน กวี มีวิจารณ์ หนังสือ มุมกลับ นี่จะเป็นแหล่งรวมกวี นักเขียนร่วมสมัยในยุคนั้น ตัวจักรสำคัญที่ทำนิตยสารเล่มนี้น่าจะเป็นนิรันดิ์ศักดิ์ บุญจันทร์ และที่นั้นก็คือแหล่งพบปะให้ได้รู้จักกันหลายคน เช่น แดนอรัญ แสงทองซึ่งในขณะนั้นคือ มายา มี ปะการัง ซึ่งเป็นกวีโรแมนติก ถือว่าโดยภาพรวมสนุกสนานมาก มีความเป็นมิตรต่อกัน เริ่มต้นจากการอ่านเนื้องานซึ่งกันและกัน พอพบกันก็แทบจะโผเข้ากอดกัน ประกอบกับยุคนั้นจะมีการเสวนาวรรณกรรมครั้งใหญ่ เมื่อก่อนมักจัดที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ถนนราชดำเนิน ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็ดูว่าใครเป็นเจ้าภาพ อย่างที่พิษณุโลกก็เป็นเวียง-วชิระ ทางเชียงใหม่ก็ อ้ายแสงดาว ทางอีสานก็พวก ฟอน (ฟ้าฟาง) หรืออีกหลาย ๆ คน คือมีการอำนวยความสะดวกให้ได้พบกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน บรรยากาศการเขียน การลงตีพิมพ์ การอ่านมีความคึกคักสูง มีกลุ่มวรรณกรรมเป็นหลักอยู่ทุกภาค แล้วก็ประสานกัน มีกิจกรรม มีความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างคนเขียนหนังสือด้วยกัน” เขาย้อนความเล่าบรรยากาศในยุคตื่นตัวทางการเมืองของคนวรรณกรรม

หลังจากจบชั้นมัธยม นายปรัชญาจึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการทำตามความต้องการของพ่อที่อยากให้ลูกเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ประกาย ปรัชญา เป็นเด็กที่มีความแปลกแยกกับครอบครัวตั้งแต่เล็ก ดังที่เขา เล่าให้ฟังว่า “เวลาครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน ผมมักไม่ค่อยอยู่ในจุดนั้น อยู่กับครอบครัวเราก็แปลกแยก เราไม่มีความสุข เวลาไปโรงเรียน เราก็แปลกแยก ไม่มีความสุข เราต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร เป็นภาวะที่เราเคว้งคว้างหาหนทางบางอย่างอย่างทุกข์ระทม จนกระทั่งเกิดเหตุ การณ์ 6 ตุลาคม ผมถึงโพล่งคำนั้นออกไปว่า ทันทีที่ศพแรกของผู้บริสุทธิ์ ล้มคว่ำลง ผมก็เกิดขึ้น และนั่นเป็นภาวะหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งกับชีวิตในขณะนั้น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต่อมาชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ความกล้าที่จะปฏิเสธ กล้ามากพอที่จะเลือกบางสิ่งบางอย่างโดยที่มันมีการคัดค้านจากครอบครัว” ประกาย ปรัชญา เข้าเรียนในคณะบริหารธุรกิจเพียงแต่ในนาม เขาใช้ชีวิตอยู่ในรามคำแหง และได้พบกับนักเขียนร่วมรุ่นอีกคน ซึ่งก็คือเสี้ยวจันทร์ แรมไพร ประกายได้เช่าหอพักเล็ก ๆ อยู่แห่งเดียวกับเสี้ยวจันทร์ เวลาไม่มีเงินเขาจะหุงข้าวจากห้องพักไปนั่งกินกับน้ำซุปไก่ต้มฟัก (ฟรี) ที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย “ก็หาถ้วยเตรียมไป ไปตักเอากระดูกไก่ให้มากที่สุด ตักฟักให้มากที่สุดแล้วมานั่งกิน แล้วเวลามีค่าเรื่องอย่างที่สยามนิกร สยามใหม่ ในยุคนั้น ค่าบทกวีประมาณ 80 บาท ไปรับเงินทีก็ถือว่าโอ้โฮ! เราร่ำรวยมาก แต่ผมมีประสบการณ์เจ็บปวดอยู่เรื่องหนึ่งกับการไปรับค่าเรื่อง มีอยู่ครั้งหนึ่ง บทกวีตีพิมพ์ ก็ประมาณ 1-2 อาทิตย์ถึงจะไปรับค่าเรื่องได้ เช้าผมออกมาโดยไม่มีตังค์ติดตัวเลย ก็ใช้วิธีโหนรถเมล์ป้ายเดียวแล้วลงก่อนที่กระเป๋ารถเมล์จะมาเก็บเงิน ใช้วิธีต่ออย่างนี้หลายชั่วโมงจนไปถึงสำนักงานของนิตยสาร สยามใหม่ ใกล้ ๆ ราชดำเนิน พอเข้าไปที่ฝ่ายบัญชีปรากฏว่ามีลายเซ็นใครก็ไม่ทราบ มารับค่าเรื่องของเราแล้ว...คงจะเป็นเพื่อนที่แสนดีคนใดคนหนึ่ง” เป็นสีสันชีวิตที่เขาเล่าให้ฟัง “มีรายได้จากการเขียนบทกวีมาตลอด เป็นบทกวีที่...สมมุติเราผ่านไปเห็นไฟไหม้ เราก็คิดแล้ว...นี่เผาไล่ที่ คนจนจะไปอยู่ที่ไหน เห็นคนตกยาก นอนอยู่ที่สนามหลวงก็คิด...นี่รัฐไม่ดูแล ช่วงเวลาอย่างนั้นบทกวีเพื่อชีวิตมันไม่ยากที่จะผลิตออกมา เพราะมันไม่ได้เกิดการตั้งคำถาม ไม่เกิดการเสาะค้นให้ลึกซึ้งลงไปจากภาพผิวเหล่านั้น ช่วงเวลาอย่างนั้นผมเขียนบทกวีได้สม่ำเสมอ ค่าบทกวีล้วน ๆ นี่ก็พออยู่ได้นะ อาจเพราะผมไม่ใช่คนที่ใช้เงินมากมายอะไร” นอกจากบทกวีแล้ว เวลานั้นประกายยังมีรายได้จากการเขียนบทวิจารณ์ดนตรี และจากการเขียนเพลง “ผมเคยเขียนเพลงอยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็จะร่วมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน ทำเป็นเมโลดี้ไกด์เพื่อไปเสนอบริษัทเทป แต่ส่วนตัวผมเองแต่งเพลงค่อนข้างเป็นป๊อป ป๊อปในสมัยนั้นนะ เช้านี่ก็ออกไปแล้ว ไปไหนดี อีเอ็มไอ อะโซน่า เพลงละ 2 พันบาท ขายได้ 3 เพลงก็ไปเลย... เชียงใหม่” ประกาย ปรัชญา ยังชีพจากงานเขียนที่หลากหลาย แม้แต่เรื่องสั้นเขาก็เคยส่งไปลงนิตยสารการเมืองชื่อ เศรษฐกิจ ในช่วงที่ฝืดเคืองจริง ๆ ก็ได้ฝากท้องไว้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงวรรณกรรม ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพของการอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของสังคมวรรณกรรมเวลานั้น “เราเช่าหอพักเดือนละไม่กี่ร้อย เรื่องการกินอยู่เราไม่ต้องห่วง เราไปฝากท้องกับเพื่อน กับมิตรผู้ใหญ่ เช่น ไปหาพี่ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ไปหา พี่หน่อย-คมทวน คันธนู แกรู้เลยเราไม่มีตังค์ ก็พาเราไปกิน พี่หน่อยก็ไม่มีตังค์ แต่แกมีเครดิตไง แกก็บอกเจ้าของร้าน...เซ็นไว้ พี่หน่อยเป็นคนที่น่ารักมาก แล้วถามว่ามีความกังวลกับอนาคต กับการมีชีวิตอยู่ในวันข้างหน้ามั้ย บังเอิญจริง ๆ ที่ไม่ได้คิดเรื่องอย่างนี้ ผมพอใจอย่างนี้ก็ดำเนินชีวิตไปจนวันนี้อายุ 40 ผมก็คิดว่าก็อยู่รอดมาได้ หรือถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนจริง ๆ ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็จะมีเพื่อนฝูงจุนเจือ ให้เบิกค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้า ซึ่งคนที่คอยดูแล คอยเอื้อเฟื้อสิ่งนี้มาอย่างยาวนานก็คือ เวียง-วชิระ บัวสนธ์” ประกาย ปรัชญา มีผลงานบทกวีรวมเล่มมาแล้วทั้งสิ้น 6 เล่มได้แก่ คืนจากพรากจากถนนสายนั้น (2525) โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า, สวนดอกเมฆ (2530) โดยสำนักพิมพ์คำเฉลียว, มหาคีตาลัย (2534) และ แสงเงาและ เปลือกหอย (2535) โดยสำนักพิมพ์นกสีเหลือง, แม่น้ำของละอองฝน (2539) โดย แพรวสำนักพิมพ์ และ สองทศวรรษ (2542) โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ถ้าบทกวีเป็นสภาวะหนึ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากใครคนนั้นจะเปิดจิตใจรับรู้ถึงความงดงามอันละเอียดอ่อนซึ่งเร้นอยู่ในปรากฏการณ์สามัญแห่งชีวิต กวีก็คือผู้มองเห็น ผู้จดจารบันทึก ผู้เผื่อแผ่มวลภาวะอันงดงามนั้นแด่คนอื่น บทกวีแต่ละบทล้วนเกิดจากการใส่ใจอย่างแรงกล้า สั่งสมบ่มเพาะ สงสัยใคร่ครวญ ไตร่ตรองพิจารณาจนกระทั่งตกผลึกความคิด ความรู้สึก ออกมาเป็นเนื้อหาอันเปี่ยมด้วยพลังเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา บทกวีของประกาย ปรัชญาเองก็เช่นกัน บทกวีที่ถูกเขียนขึ้นแต่ละบทในแต่ละช่วงกาลสถาน ย่อมมีที่มาจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างกัน เช่นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การดำรงชีวิต การเสพซับวรรณกรรมของนักเขียนคนอื่น การเคลื่อนผ่านทางความคิด และที่สำคัญคือการเป็นผู้เสาะแสวงหาสิ่งจริงแท้อยู่ตลอดเวลา

ด้วยรักแหละโลกจะลุอุษา ณ ทิวาอันลาวัณย์ ผ่านพ้นอนารยอธรรม์ เพราะโลกร่วมฤดีเดียว ด้วยรักจักมอบแด่มวลมนุษย์/ สวนดอกเมฆ/2530

บทกวีเล่มที่สอง “สวนดอกเมฆ” นับเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญจุดหนึ่งของประกาย ปรัชญา ในเวลาที่บทกวีมียอดขายไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องสั้น หรือนิยาย และประกายก็ถูกหมายตาให้เป็น “กวีเพื่อชีวิต” รุ่นใหม่ที่มีอนาคตไกล หากวันนั้นประกาย ปรัชญาได้เพียงแต่ลุ่มหลงในคำสรรเสริญเยินยอ กับคำว่า “กวีเพื่อชีวิตอนาคตไกล” วันนี้ย่อมไม่มีประกาย ปรัชญาอย่างที่เราเห็น ในเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มพลิกเปลี่ยน อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มถดถอย ผู้คนทยอยออกจากป่ากลับคืนมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา ชาติไทย” เป็นเวลาที่สังคมวรรณกรรมเริ่มตั้งคำถามกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยมี โลกหนังสือ ของสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นป้อมปราการสำคัญ ช่วงเวลานั้นประกาย ปรัชญาก็ตื่นขึ้นอีกครั้ง “มันคือช่วงเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่ง จากที่พบว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตคือหนทางที่ถูกต้อง 6 ตุลา คือคำตอบของสัจจะ สวนดอกเมฆ ก็เหมือนการฉุกใจ คิดขึ้นมาเล็กน้อยว่ามันอาจจะไม่ใช่ หรือแม้มันใช่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของโลกนี้ มันยังมีสงครามภายในตัวตนของมนุษย์ด้วย ไม่เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำจากอำนาจรัฐ มันยังมีสภาวะอลหม่านมโหฬารอยู่ในตัวคน ๆ หนึ่งด้วย เป็นรัก โลภ โกรธ หลง อะไรก็ตาม คือมันจะมีอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นจริงน้อยไปกว่าสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง การเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม มันเหมือนเราได้มองเห็นไปในอีกอาณาเขตหนึ่ง พ้นจากนี้ยังมีสิ่งอื่น” นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักให้ “กวีเพื่อชีวิตดาวรุ่ง” ได้พบกับ ‘เส้นทางอื่น’ จากวันนั้นเขาตั้งต้นเดินไปบนทางเส้นใหม่นี้ด้วย “สวนดอกเมฆ” เดินเท้าทางไกลผ่าน “มหาคีตาลัย” ผ่าน “แสงเงาและเปลือกหอย” จนมาถึงอีกซีกโลกที่ “แม่น้ำของละอองฝน” “ยิ่งเมื่อย้อนไปสำรวจร่องรอยทางความคิดของเขาระเรื่อยมา ก็จะ เห็นชัดเจนว่าประกายมีปรารถนาอันแรงกล้ามาแต่แรกที่จะเห็นผู้คนส่วนใหญ่ในแดนดินถิ่นนี้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะเชื่อมั่นในตอนนั้นอยู่มากว่าอำนาจรัฐเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งที่จะเกื้อกูล-กีดกันในกรณีนี้ แต่ต่อมาเขาก็เรียนรู้เพิ่มเติมว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกไม่น้อย ที่ทรงความสลักสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากันในอันจะส่งผลให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี กระทั่งมากกรณีก็มิได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติทางการเมืองด้วยซ้ำ ทว่าขึ้นอยู่กับหนทางอย่าศึกสงครามในใจให้ได้ข้อยุติถาวรเป็นการสำคัญนั่นต่างหาก “จึงไม่แปลกใจแต่ประการใดที่จะได้พบว่าประกาย ปรัชญาหันมาใส่ใจต่อปัญหาในเชิงปัจเจกนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดกรณี ‘ป่าแตก’ อันถือว่า เขาได้แสดงระบบคิดที่มีความเป็นตัวของตัวเองให้เห็นเด่นชัดเป็นก้าวแรก ๆ... “...เขาคล้ายกำลังหาวิธีส่งคืนเสรีภาพทางความคิดให้เป็นสิทธิของผู้อ่านอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เห็นจากการเฉลี่ยน้ำหนักระหว่างสารสองชั้น แบบไม่ เน้นด้านใดเป็นพิเศษเหมือนที่ผ่านมา นั่นย่อมขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้เสพที่จะพบกับสารัตถะของสารชั้นใด กระทั่งว่ามิได้มีความสลักสำคัญเหนือกว่ากัน หรือจะพูดว่าเขาหาทางลดทอนฐานะมัคคุเทศก์ของตนลงก็คงไม่ผิด” เป็นบางส่วนจากคำนำของวชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการผู้พิมพ์หนังสือ สองทศวรรษ ต่อการก้าวย่างของประกาย ปรัญาในท้ายที่สุด เกือบสามสิบปีที่ประกาย ปรัชญา เขียนบทกวี และได้ใช้การเขียนบทกวีนี้เป็นหนทางในการดำเนินชีวิตของตน เวลาเกือบสามสิบปีคงทำให้ประกายได้ผ่านช่วงเวลาทางวรรณกรรมที่หลายหลาก ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งกับสังคมวรรณกรรม และบทกวีของเขาเอง ประกาย ปรัชญา เป็นกวีที่ทำงานต่อเนื่องมาตลอดจนถึงวันนี้ และ บทกวีของเขาก็ได้รับความนิยมไม่น้อยในหมู่กวีรุ่นหลัง จาก “กวีเพื่อชีวิต” ในวันนั้น จนเมื่อสภาพแวดล้อมของสังคมวรรณกรรมคลี่คลายไป ประกาย ปรัชญาในวันนี้กลับกลายเป็นผู้ถูกวิจารณ์ว่า “เป็นหัวขบวนของปัจเจกนิยมพาฝัน” ซึ่งแทบจะเป็นสิ่งที่อยู่คนละขั้วกับฐานะแรกเริ่ม อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเขาจะถูกขนานนามใด สิ่งที่ควรสนใจก็คือประกาย ปรัชญายังคง “เขียน” และ “อ่าน” บทกวีมาโดยตลอด และในความเห็นของผู้ที่ยัง “อ่าน” บทกวี (เน้นว่า “อ่าน” ไม่ใช่ “ดู” หรือ “มอง”) บทกวีของประกาย ปรัชญายังคงมี “ลมหายใจ อยู่” และหายใจอย่าง “มีชีวิต” ยิ่ง

ซวดเซ ซูบโซ โกโรโกโรค คงยืนคงโยกสะโผกผาย ผายเพียงโครงผ่ายผอม! ยอมตาย! เหยียดยั่วเหยียดย้าย ส่ายซากส่ายซ้ำ

กร้าวกระไรเลย กะเทยเฒ่า แกร่งกระไรเล่า กายเก่าคร่ำ กับชุดสาวชาวเกาะ โอ้เคราะห์กรรม กลับซุกหัวลงต่ำ ซ่อนน้ำตา ลานฝุ่นลม/สองทศวรรษ สิงหาคม พ.ศ. 2540

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เดินออกจากเส้นทางของ “เพื่อชีวิต” ช่วงนั้นโลกหนังสือเขาจะตั้งคำถามกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตสูงมาก เข้มข้นมาก แล้วเริ่มจะมีปัญญาชนทยอยออกจากป่าซึ่งก็ทำให้เราคลอนแคลนไป การตั้งคำถามต่อ พคท. หรือกระทั่งทฤษฎีมาร์กซิสมันก็เริ่มมาแล้ว เต๋า-เซนก็เริ่มมาเหมือนกัน ขณะเดียวกันการอ่านก็ทำให้เราไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ทางความคิด พื้นที่ใหม่ ๆ ของการตั้งคำถาม ช่วงนั้นงานผมจะลดน้อยลง จนกระทั่งมาเป็นบทกวีในรวมเล่ม สวนดอกเมฆ มันเริ่มจะมาพูดถึงภาวะ ปัจเจกมากขึ้น พูดถึงความคลุมเคลือบางอย่าง มันคือช่วงเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่ง จากที่ผมพบว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตคือหนทางที่ถูกต้อง สวนดอกเมฆ ก็เหมือนกับการฉุกคิดว่ามันอาจไม่ใช่ หรือแม้มันใช่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดของโลกนี้ มันยังมีสงครามในตัวตนของมนุษย์ด้วย มันมีสภาวการณ์อลหม่านมโหฬารอยู่ในตัวคนคนหนึ่งด้วย เป็นรัก โลภ โกรธ หลง หรืออะไรก็ตาม มันเป็นผลมาจากการที่เราเริ่มสงสัยคุณค่าดั้งเดิม คือแทบจะไปอยู่อีกด้านหนึ่งของ ความเชื่อดั้งเดิม ผมก็จะเป็นพวกอภิปรัชญา พวกเชื่อในปัจเจกบุคคล พวกที่เชื่อว่าความรักแก้ปัญหา ไม่ใช่ลัทธิหรือกระบวนการความคิดใด ๆ เป็นช่วงที่ ลุ่มหลงบทกวีของฐากูร สังเกตกลอนเปล่าใน สวนดอกเมฆ จะมีอิทธิพลการเขียนในท่วงทำนองแบบฐากูรเยอะมาก ในแง่ของการเสพวรรณกรรมหรือบทกวี ผมเปลี่ยนไป ถือได้ว่าออกห่างมาจากบทกวีเพื่อชีวิต ปรัชญาของกฤษณ มูรติมีอิทธิพลต่อผม เรียกว่ามันเหมือนกับการสั่นสะเทือนชีวิตมากกว่า เพราะผมว่าผมก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะว่าผมไม่เชื่อแล้วไง เราไม่เชื่อสิ่งไหนมันก็โรยราไปเอง ผมเชื่อว่าด้านในนั้นเป็นจริงกว่า เพราะเหตุว่ามันไม่ถูกผูกเงื่อนอยู่กับกระแสกับสถานการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์อาจมาประเดี๋ยวประด๋าว กระแสสังคมนิยมในยุโรปก็ล่มสลายกันเห็น ๆ ในขณะเดียวกันผมพบว่าด้านในของคน คุณภาพจิตใจ คุณภาพของอารมณ์ความรู้สึกและกระทั่งความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ ในระนาบที่มันมากขึ้น มันจะจริงแท้กว่า มันยั่งยืนกว่า และท้ายสุด มันจะส่งผลต่อการอยู่ร่วม เพราะผมมองว่าสังคมคือความสัมพันธ์ ถ้าเราเป็นผู้ให้ความสัมพันธ์ที่ดีมันไม่เพียงแก้ไข แต่มันยังหยั่งรากบางอย่างที่จะทำให้เกิดความสร้างสรรค์งอกงามในความสัมพันธ์ซึ่งก็คือสังคม ในขณะที่การต่อสู้ทุกรูปแบบ ผมมองว่ามันก็มีผลประโยชน์ของฝักฝ่าย ยังมีการแสวงหาอำนาจ เหมือนกับสังคมของจีนถูกปฏิวัติโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อต้านอำนาจรัฐเก่า แต่ต่อมาก็มีกลุ่มที่มาต่อต้านอำนาจรัฐซ้อนเข้าไป แล้วเขาก็ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง ผมมองว่ามันเป็นวัฏจักรที่ท้ายที่สุดมันจะเคลื่อนอยู่อย่างนี้ แล้วมันไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จากนั้นก็หันมาสนใจปรากฏการณ์เล็ก ๆ ? มันเริ่มจะเห็นเค้าลางจาก สวนดอกเมฆ เริ่มจะเขียนถึงปัจเจกบุคคล แต่อาจจะเป็นชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคมอยู่ ณ วันนี้ผมเขียนถึงใครก็ได้ โดยไม่มีภูมิหลัง ไม่มีชนชั้นสังกัดหรือว่าปมปัญหาภายนอกชีวิตของเขามากำหนด ผมเขียนถึง...เรียกว่า ปัจเจกบุคคลแล้วกัน ตอนที่เขียนบทกวีเพื่อสังคม เพื่อการเมืองในยุคเริ่มต้นนั้น ต้องยอมรับว่าเนื่องจาก ว่าผมไม่เกิดความสงสัย คิดว่าครรลองนั้นถูกต้องถ่องแท้ ทีนี้พอเราเริ่มสงสัย ก็คิดว่าเมื่อสิ่งหนึ่งมันรั่วมันไหลออกไป เราก็เติมอีกสิ่งหนึ่งเข้าไป ผมคิดว่าด้านกลับของมวลรวมก็คืออนุภาค คือ ปัจเจกบุคคล ผมคิดว่ามันเป็นเหตุผลในกันและกัน พอไม่เขียนถึงสิ่งที่เป็นภาพรวม ผมก็เข้าหาเรื่องราวจำเพาะ จริง ๆ แล้วเลิกให้ความสนใจกับเรื่องใหญ่หรือเลือก ที่จะไม่เขียนถึง แต่ยังคงให้ความสนใจกับเรื่องใหญ่อยู่? ผมคิดว่าเรื่องของมนุษย์ คน ๆ เดียวนะ มันบอกถึงมนุษย์โดยรวม เรื่องใหญ่ของผมในวันนี้ไม่ใช่การเมือง เรื่องของคน ๆ หนึ่งก็คือเรื่องของมนุษยชาติด้วย ผมคิดว่าผมกำลังตั้งข้อสังเกตต่อสภาวะของมนุษย์ แล้วคิดว่าที่ผมเขียนถึงแม่บ้านสักคนหนึ่ง คือผมกำลังพูดถึงสภาวะของมนุษย์ด้วย ผมคิดว่างานของผมอยู่ในจุดนี้ ในขณะนี้

ครามฟ้า! ถลาแตะมิติคราม ปะเหลาะตามเกาะครามเที่ยว เขียวใบ! ไถลแผละระดะเขียว จิตกรำเสาะสำราญ

เร่งเข็น มิเห็น ณ ระยะฟ้า เถอะจ้ะช้า... พยาบาล ช่างหมอจะรอ จะอวสาน สติพัง และทั้งเพ บนเตียงเข็น – กลางสายระโยงระยาง ปัจจุบัน

หมายความว่าทุกวันนี้หมดความสนใจโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่อยู่ข้างนอก ไม่นะ ผมก็ยังติดตามดูอยู่ รัฐบาลของเราหรือ กระทั่งฝ่ายค้าน หรือปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโลกนี้ จลาจลที่อิรัก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยธรรมชาติ ผมคิดว่าเราต้องอยู่ร่วมโดยความจำเป็นกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แล้วมันเชื่อมโยงกัน ศพหนึ่งที่อิรักมันก็สั่นสะเทือนมาถึงเรา เพราะว่าเราอยู่ร่วมโลกนะ แต่ผมอาจคาดหวังมากกว่านั้น แล้วสิ่งที่ผมคาดหวังมันไม่อาจแก้ไขได้ด้วยอเมริกา ด้วยรัฐบาลอิรัก หรือรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย มันเลยก้ำกึ่งอยู่ที่ว่าไม่สนใจ หรือโดยแท้แล้วผมได้มองข้ามไอ้กลไกการแก้ไขอย่างนี้ไปแล้ว ผมไม่เห็นว่ามันจะนำไปสู่การแก้ไขที่แท้จริง คือไม่ใช่ว่าผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของหน่วยใหญ่ของโครงสร้างใหญ่มันไม่มีผลนะ มันมีสิ อย่างน้อยเราก็เห็นว่าการเมืองในบ้านเรามันก็พัฒนาขึ้น ชาวบ้านตาดำ ๆ อาจมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการใหม่ ๆ ผมเห็นแล้วก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่อาจเป็นคำตอบหรือปลายทางที่สวยสดงดงามโดยตัวมันเองได้ ทุกวันนี้เขียนบทกวีเพราะอะไร เพราะเห็นว่ากวีนิพนธ์เป็นความงามสูงสุดประการหนึ่งของมนุษย์ ความงามซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบด้วย เพราะผมเชื่อในอำนาจกล่อมเกลาของบทกวี เชื่อว่ามันมีอำนาจที่ดีงาม ผมเองไม่เพียงเขียน ผมอ่าน ผมเสพ เพราะฉะนั้นผมมีชีวิตอยู่กับกวีนิพนธ์ไม่เพียงในฐานะคนสร้างงาน แต่ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งได้มองเห็น ซึ่งได้เคารพต่อคุณค่าความงามสูงสุดประการนี้ หวั่นไหวสั่นคลอนบ้างไหมต่อการเขียนบทกวีในขณะที่แทบไม่มีคนอ่านบทกวีอีกแล้ว เมื่อช่วงวัยเด็กหนุ่ม ช่วงนั้นผมมาในลักษณะที่ถูกกล่าวขวัญถึง กวีรุ่นพี่ที่เราให้ความเคารพนับถือก็มีสุ้มเสียงในทางบวกกับผม มองว่าเป็นความหวังของวงการกวี ผมก็เริ่มมีอัตตา มีอหังการแล้ว แต่ต่อมาสิ่งเหล่านี้คลี่คลายไป เราก็เขียนกวีไป อ่านกวีไป เพราะผมเป็นคนนอกนะ ไม่ใช่คนในวงวรรณกรรมเสียทีเดียว ช่วงที่ผมเขียนบทกวีอยู่ในไรเตอร์ ผมไม่มีสังคมวรรณกรรม ผมอาจมีเพื่อนบางคนอย่าง เวียง-วชิระ สุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ แต่ก็คือในมิติของความเป็นเพื่อน แต่กับลมหายใจของแวดวงวรรณกรรม ผมอยู่ห่าง คิดแต่ว่าชิ้นนี้เราไม่พอใจ ชิ้นนี้เราค่อนข้างชอบนะ มันก็ไม่มีอัตตา แต่จะบอกว่าเรารู้สึกด้อยค่า มันก็ไม่ใช่ เราก็รู้สึกว่าอยากตั้งใจทำงานที่ดี แต่มันจะไม่เหมือนกับช่วงวัยรุ่นที่เรารู้สึก เฮ้ย! เราคือใคร...มันไม่มี ก็ดำเนินสภาวการณ์อย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนวาดได้ซีไรต์แล้วเราก็เป็นผู้ช่วย คอยติดตามไปอำนวยความสะดวก เป็นธุระต่าง ๆ นานาให้เขาตามสถาบัน การศึกษา ช่วงปีที่ผ่านมาผมได้พบความจริงจากการออกไปพบปะโลกภาย นอก ผมพบว่าเออ ผมเขียนลงในมติชนสม่ำเสมอ เคยมีบทกวีตีพิมพ์ประจำในไรเตอร์ มีรวมเล่มมาหลายเล่ม คิดว่ามีมวลรวมความเป็นกวีนิพนธ์ของตัวเองอยู่ในระดับหนึ่ง มีที่ทางในแวดวงวรรณกรรม แต่ในโลกภายนอกที่เป็นจริงแล้ว ผมไม่มีอยู่ ประกาย ปรัชญาไม่มีตัวตน มันก็มีแต่ซีไรต์ใหม่ ซีไรต์เก่า ก็ว่ากันไป การเสพซับวรรณกรรมกว้างไกลแค่ไหนผมไม่รู้นะ แต่รู้ว่าบทกวีของประกาย ปรัชญานี่มันคงถูกเสพซับโดยปัจเจกบุคคลไม่กี่คน และแน่นอนมันไม่ได้ก้องกังวานออกไป มัน ไม่ได้แพร่ขยายออกไปในกลุ่มคนที่เขา ก็อ่านหนังสือไง อย่างน้อยเขาก็อ่านวรรณกรรมซีไรต์ เขาก็จัดกิจกรรมการเขียนการอ่าน เชิญนักเขียนมาพูด นักเรียน นักศึกษาก็มาเล็คเชอร์ อาจารย์ ภาษาไทย บรรณารักษ์ห้องสมุด หรือ อาจารย์ที่สอนวิชาวรรณกรรมก็มาร่วมพูดคุย แต่มันไม่ปรากฏว่ามีประกาย ปรัชญาอยู่ในความรับรู้ของเขา ผมเริ่มคลอนแคลนคล้าย ๆ กับว่า เฮ้ย! เขียนอะไรอยู่ มันมีคนอ่านมั้ย แล้วก็รู้สึกว่าเขียนหนังสือมา 20 กว่าปี 26-27 ปี มันไม่มีแรงกระเพื่อมใด ๆ กับโลกใบนั้นนะ แต่ยังไงก็ตาม ผมพบความงามอย่างยิ่ง ผมพบผู้อ่านของผมเอง เป็นผู้อ่านที่ซื้อหนังสือของผมไว้แล้ว โดยมันไม่ได้ถูกกำกับด้วยจุดขายใด ๆ เลย ในขณะที่ความสนใจทั้งหมดพุ่งไปที่เดือนวาด ก็มีนักศึกษาเข้ามาทักทาย มาแนะนำตัว แล้วสามารถท่องบทกวีของเราได้อย่างซาบซึ้ง หลายบทเราจำไม่ได้แล้ว แต่เขาก็ยังคงท่อง ยังคงตามงานของเราอยู่ ในผู้คนที่สับสนอลหม่าน ผมพบว่าสองคนก็พอ... แม้นไม่มีสักคนผมก็ยังเขียน ถามถึงความคลอนแคลน ผมมีนะ เพราะว่า พอไปอยู่ในความอลหม่าน สถานะตัวเองมันก็ซวดเซไปเลย ประสบการณ์จากที่คนใกล้ตัวได้รางวัลซีไรต์เป็นอย่างไรบ้าง มันทำให้เกิดการเสพวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลนี้เพียงเล่มเดียวต่อปี ในหมู่นักอ่านทั่ว ๆ ไป คือ ถ้ามองในแง่อุดมคติแล้วนี่เป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้า แต่ในความเป็นจริงนะ เหมือนกับที่พูดกันตลอดว่าซีไรต์มันทำให้คนอ่านหนังสือเล่มเดียวต่อปี ผมพูดจากประสบการณ์ที่ไปคลุกคลีนะ ไม่ได้พูดจากโลกส่วนตัวแล้ว ผมว่าก็ยังดีกว่าไม่ได้อ่านสักเล่ม ครั้งหนึ่งผมก็เคยรู้สึกว่า โอ้โฮ เลวร้ายนะ มันบิดเบี้ยวทำให้เกิดการอ่านหนังสือเล่มเดียว ขณะที่วรรณกรรมคุณภาพที่ไม่ได้รางวัลซีไรต์หรือไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับรางวัลซีไรต์ ก็ถูกนำเสนอออกมาให้ศึกษาให้อ่าน ให้เสพซับ แต่มันถูกปฏิเสธไป เพราะฉะนั้นมันบิดเบือนมันเลวร้าย แต่หลังจากที่ไปอยู่ในบรรยากาศใกล้ชิดผมพบว่ามันจะเลวร้ายกว่านี้อีกถ้าไม่ได้ถูกส่งออกไปสักเล่มหนึ่ง นี่ข้อเท็จจริงนะ ไม่ใช่ว่ามันควรจะเป็น ยืนยันว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้หรอก...แต่มันเป็นไปแล้ว ถ้าสมมุติเราค้นพบอีกครั้งว่าบทกวีของเราไม่มีใครอ่านอีกแล้ว ยังจะเขียนอยู่ไหม แน่นอน ผมเขียน เพราะเข้าใจแล้วว่าโลกภายนอกคืออะไร คือเราเข้าใจหลังจากที่เราเคยคิดว่าเราเข้าใจไง เมื่อก่อนเราตีความมันไปต่าง ๆ นานา เป็นทฤษฎีในความคิดของเรา เราก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หลังจากที่เราก้าวเข้าไปในปริมณฑลของความสับสนอลหม่านของสิ่งต่าง ๆ ที่โดยแท้มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดทั้งหมด มันเป็นอะไรที่น่าตะลึงมาก แต่ก็นั่นแหละ มันก็ดีที่เราได้ออกไปสักครั้งหนึ่ง เมื่อเราถอยห่างออกมา แน่นอนมันไม่ใช่ท

แสดงความคิดเห็น

« 8134
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ