บทความ

การกอบกู้อัตลักษณ์ชนบทใต้ในเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้

by Pookun @February,26 2007 22.34 ( IP : 222...14 ) | Tags : บทความ

การกอบกู้อัตลักษณ์ชนบทใต้ในเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้ วิมลมาศ ปฤชากุล*

บทคัดย่อ บทความเรื่อง “การกอบกู้อัตลักษณ์ชนบทใต้ในเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้” มุ่งค้นหาว่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในนามของการพัฒนาซึ่งทำให้ท้องถิ่นภาคใต้ตอนกลาง คือจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา สูญเสียความมั่นใจ  เพราะอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่เคยทำให้ชุมชนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองเปลี่ยนไปนั้น นักเขียนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นปัญญาชนที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจน ได้นำเสนอภาพแห่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม    เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ได้เข้ามาทำลาย “รากเหง้า” ดั้งเดิมของชุมชนลงไป  พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ได้ใช้เรื่องสั้นเป็นเครื่องมือในการกอบกู้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับอดีตหรือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านขึ้นมาใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสำนึกใน “ความเป็นชนบทใต้” ร่วมกัน

ความนำ
อัตลักษณ์ (Identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า  “ฉันคือใคร” ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น  โดยผ่านการมองตนเอง  และการที่คนอื่นมองเรา    อัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) ในตัวเราและพื้นฐานของการเลือกบางอย่างนั่นคือเราจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่เราเลือก  ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ  การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนกับกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร  และ “ฉันเป็นใคร” (พิศิษฎ์ คุณวโรตม์,2546:306-307)
บทความนี้สนใจศึกษาวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นภาคใต้ที่แสดงอัตลักษณ์พื้นถิ่นภาคใต้ตอนกลางบริเวณ 3 จังหวัดรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา คือนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522-2545 และเห็นว่าหากจะใช้กระบวนทัศน์แบบหลังอาณานิคม ในการมองวรรณกรรมประเภทนี้ จะเป็นการเปิดเผยแง่มุมใหม่ในการศึกษาวรรณกรรมไทย นอกจากนั้นกระบวนทัศน์นี้ยังก่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าในความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกด้วย

อัตลักษณ์ชนบทใต้และความเปลี่ยนแปลง เมื่อกล่าวถึงอัตลักษณ์ของชนบทใต้ สิ่งที่สังคมไทยรับรู้ก็คือสภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับดี เพราะทรัพยากรในท้องถิ่นที่อุดมสมบูรณ์  ผู้คนมีนิสัยนักเลง  ไม่ยอมใคร ยอมหักไม่ยอมงอ ให้ความสนใจเรื่องการเมืองอย่างใกล้ชิด คนในท้องถิ่นเองก็ดูเหมือนตระหนักถึงอัตลักษณ์เหล่านี้อยู่ไม่น้อย ดังที่ผู้ศึกษาพบว่างานวิจัยเกี่ยวกับคตินิยมของคนใต้ของนักวิชาการท้องถิ่นจำนวนมากต่างให้ข้อสรุปตรงกันว่าชาวใต้ภาคภูมิใจและเชื่อว่าอัตลักษณ์เหล่านั้นคือตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาจากผลงานวรรณกรรมของนักเขียนซึ่งเป็นชาวใต้และใช้ชีวิตอยู่ในท้องถิ่นเอง  เสียงสะท้อนประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากผลงานเหล่านี้ก็คือ อัตลักษณ์ของชนบทใต้ได้ถูกทำให้สลายลงแล้วตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 ซึ่งสังคมไทยได้พัฒนาประเทศไปตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ หลังจากนั้นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงกับนิยามความหมายของชนบทใต้อยู่ทุกขณะ
จากลักษณะนิสัยของความเป็นนักเลง ยอมหักไม่ยอมงอ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ดังกล่าวนี้ของคนใต้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปด้วยการใช้อุปนิสัยนี้ปวารณาตัวเองเป็น “เจ้าพ่อ” หรือ “มือปืนรับจ้าง” ความสนใจใคร่รู้เรื่องการเมืองอย่างใกล้ชิด เปลี่ยนแปลงไปเป็นความภักดีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองในแนวทางของการอนุรักษ์นิยม จนทำให้นักการเมืองภาคใต้กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาสังคมภาคใต้ไปในที่สุด ผลงานของนักเขียนภาคใต้เหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่อัตลักษณ์ของความเป็นดินแดนที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในเชิงมหภาค ความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ก็หดหายไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งคนในท้องถิ่นไม่อาจเปลี่ยนแปลงสำนึกได้ทันท่วงทีว่าพวกเขาต้องประสบกับปัญหาความยากจนมาอย่างยาวนานแล้ว ปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ดังกล่าวประกอบด้วยอะไรบ้าง ผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้ได้ฉายภาพไว้หลายประการด้วยกัน คือ การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่หยิบยื่นมาจากส่วนกลาง ในนามของวาทกรรมการพัฒนา
1.การศึกษา
ในประวัติศาสตร์สังคมภาคใต้ ค่านิยมในการศึกษานั้นแพร่หลายมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี ก่อนการเกิดขึ้นของการศึกษาสมัยใหม่ตาม พระราชบัญญัติการประถมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2464 นั้น การศึกษายังคงสัมพันธ์อยู่กับชุมชนท้องถิ่นอย่างไม่อาจแยกออก เพราะมีช่องทางเดียวเท่านั้น คือการศึกษาทางธรรมในวัด ซึ่งทำหน้าที่ผลิตพระสงฆ์และปัญญาชนออกมารับใช้ชุมชน  แต่ภายหลังการศึกษาสมัยใหม่ลงหลักปักฐานแข็งแรงมากขึ้น อุดมการณ์ผลิตคนเพื่อเข้ารับราชการของการศึกษาแนวนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสำนึกของคนใต้ให้มุ่งสู่การศึกษาเพื่อที่จะรับราชการ ที่สำคัญการศึกษาสมัยใหม่ดึงคนออกจากท้องถิ่น ทำให้พวกเขาค่อยๆ รู้สึกแปลกแยกกับอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตัวเอง ท้องถิ่นจึงกลายเป็นพื้นที่ที่คนใต้รุ่นใหม่พยายามหลีกหนี
สำนึกที่การศึกษาทำให้คนใต้แปลกแยกกับตัวตนดั้งเดิมดังกล่าวนี้ นักเขียนคนหนึ่งเรียกว่า “ความงดงามที่ชั่วร้าย” (บัตรเชิญ:151)  เพราะมันทำให้อุดมการณ์ของผู้คนหลุดออกไปจากความสัมพันธ์กับท้องถิ่น
การครอบงำของอุดมการณ์การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพตัวเองมุ่งสู่การงานราช การดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อชาวใต้อย่างลึกล้ำ พ่อแม่ถึงกับยินยอมอดอยากทุกข์ยาก ขายวัวขายควายซึ่งเป็นทุนสำหรับอาชีพดั้งเดิมส่งเสียให้ลูกหลานได้รับการศึกษา บ้างก็ยอมกู้หนี้ยืมสิน ยอมจ่ายดอกเบี้ย(คำสารภาพจากห้องแคบ:104) พ่อแม่เหล่านี้ก็เริ่มรู้สึกแปลกแยกกับตัวตนของตัวเองแล้วเช่นกัน จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อลูกหลานของตัวเองจะได้ไม่ต้องทำนาหรือประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่น
ความเปลี่ยนแปลงในคตินิยมเรื่องการศึกษานี่เองที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญให้บทบาทของวัดกับชุมชนเริ่มน้อยลงไปด้วย ชุมชนเริ่มแยกวัดออกไป พร้อมกันนั้นวัดก็แยกตัวเองออกไปด้วย กลายเป็นสถานที่ที่ไม่ต่างอะไรกับ “บ้านพระ” พระและเด็กวัดกลายเป็นอาชีพหนึ่ง ผู้ทุกข์ยากซึ่งเคยสามารถใช้วัดเป็นที่พึ่งสุดท้ายจึงไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงให้แก่ชาวบ้านได้อีกต่อไป คนเหล่านี้จึงต้องกลายเป็นคนจรจัด ดังในเรื่องสั้น “ถิ่นนี้คือแหลมทอง ต๊ะติ๊งหน่อง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย” ที่ให้ภาพเด็กชายจรจัดริมทางรถไปกลุ่มหนึ่งที่นั่งมองพระฉันอาหารอย่างหิวกระหาย แต่ก็ไม่ได้กินเพราะพระและเด็กวัดเก็บไว้หมดสิ้น (ประมวล มณีโรจน์:55) 2.เศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาที่เน้นไปที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมทำให้วิถีการผลิตและความเป็นอยู่ของชาวใต้เปลี่ยนแปลงไป ในเรื่องสั้นที่นำมาศึกษาได้สะท้อนถึงปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน และครอบคลุมวิถีการผลิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวใต้ อันได้แก่ การเพาะปลูก และการทำประมง  ดังเช่น กล่าวถึงทุ่งระโนดที่เคยเป็นผืนนากว้างใหญ่ที่ผลิตข้าวเลี้ยงภาคใต้มาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ก็เริ่มหมดสิ้นศักยภาพ เมื่อมีปัญหาขาดแคลนน้ำเพาะปลูก (รูญ ระโนด, 2540: 25) ทะเลสาบสงขลาที่เคยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่อาจเป็นที่พึ่งของชาวใต้ตอนกลางได้อีกต่อไป
ผลจากความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรดังกล่าวนี้เอง ทำให้ทรัพยากรในชุมชนไม่สามารถเป็นที่พึ่งของชาวใต้ได้อีกต่อไป ขบวนอพยพออกสู่เมืองใหญ่เช่น กรุงเทพฯ หาดใหญ่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี จึงเกิดขึ้นเรื่อยมาโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 2520-2530 (ถนนนี้กลับบ้าน:106,รถไฟที่ผ่านเลย:116) บ้างก็เปลี่ยนอาชีพจากชาวนาไปเป็นชาวสวน แปลงที่นาไปเป็นที่สวน เช่น สวนเงาะ ทุเรียน มังคุด (คนเลื่อยไม้:61) แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก  เพราะต้องประสบปัญหาในเรื่องราคาอีก


3.เทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์ท้องถิ่นใต้เนื่องจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีได้ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้จำนวนหนึ่งเช่นกัน โดยนักเขียนทุกคนเห็นว่า เทคโนโลยีซึ่งเป็นรูปธรรมของวาทกรรมความทันสมัยที่เข้ามาพร้อมๆ กับวาทกรรมการพัฒนานั้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการสลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ลงไป เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ที่เป็นช่องทางในการปลูกฝังจิตสำนึกของ “ความเป็นอื่น” ให้แก่เด็กๆ ชาวใต้ เปรียบเสมือน “ศาสดาองค์หนึ่ง” ที่บ่อนทำลาย “ความเชื่อดั้งเดิม” หรือตัวตนของคนใต้  ดังในเรื่อง “แม่มดในหุบเขา”(กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, 2539) เทคโนโลยีจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นตัดขาดจากอดีต และรับเอาความเป็นอื่นเข้าไปในตัวเอง  ความแพร่หลายของโทรทัศน์ในท้องถิ่นภาคใต้ในทัศนะของนักเขียนจึงเหมือนกับความแพร่ หลายของความเป็นอื่นที่บ่อนทำลายสำนึกจิตวิญญาณภาคใต้ลงไป จะเห็นได้ว่าแม้เพียงปัจจัย 3 ประการนี้เท่านั้น เราก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่เป็นไปในระดับลึกและครอบคลุมทั้งหมดของชนบทใต้ ตั้งแต่จิตสำนึก อุดมการณ์ วิถีเศรษฐกิจ และความเชื่อ อัตลักษณ์ชนบทใต้ถูกวาทกรรมการพัฒนาทำให้เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะแยกกันไม่ออกกับคนในภาคอื่นๆ ของประเทศ เพราะต่างก็ประสบปัญหา กลายเป็นคนชายขอบของวาทกรรมการพัฒนาไปเหมือนกัน คนชายขอบเหล่านี้ประสบปัญหาความยากจน ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มั่นใจ และไม่มีฐานทางทรัพยากรที่พอเพียงสำหรับการยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงด้วยลำแข้งของตัวเองเหมือนในอดีต  ภาคใต้ตอนซึ่งกลางเคยเป็นสังคมเกษตรที่สามารถยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ก็เริ่มเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ความเป็นนักเลงหรือคนกล้าได้กล้าเสีย ถูกให้คำนิยามใหม่จากรัฐกลายเป็น “โจรผู้ร้าย” หรือ “อันธพาล” ขณะที่คนใต้เองก็ใช้อัตลักษณ์เหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น มีการเล่นพรรคเล่นพวก สร้างอิทธิพล และก่อปัญหาอาชญากรรม อาชีพใหม่ที่ชายหนุ่มในภาคใต้ตอนกลางจำนวนหนึ่งยึดก็คือ “มือปืนรับจ้าง” ดังที่ปรากฏในเรื่องสั้น “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” และ “เกินกว่าที่หลงเหลือ” ของประมวล มณีโรจน์  บ้างก็ก่ออาชญากรรมอย่างไม่มีเหตุผล ดังในเรื่องสั้น “ความตกต่ำ” ของ ไพฑูรย์ ธัญญา ที่กล่าวถึงผู้นำหมู่บ้านที่ใช้อิทธิพลทำร้ายคนอื่น ใช้ปืนข่มขู่ชาวบ้าน และ “บัตรเชิญ” ของอัตถากร บำรุง ที่กล่าวถึงเหตุฆ่ากันตายในวงเหล้าด้วยเหตุเพียงผู้ตายรินเหล้าแล้วกินไม่หมด

กระบวนการการกอบกู้อัตลักษณ์ ในผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้ที่นำมาศึกษาครั้งนี้นั้นนอกจากพวกเขาจะได้กล่าวถึง อัตลักษณ์และความเปลี่ยนแปลงแล้ว  การกอบกู้หรือการสร้างอัตลักษณ์ก็เป็นอีกท่าทีหนึ่งที่ตัวบทเรื่องสั้นได้ส่งสารออกมา
การกอบกู้หรือการสร้างอัตลักษณ์นั้นเป็นปฎิกริยาตอบโต้ของนักเขียนที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดขบวนการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของพวกเขา  ในเวทีนี้นักเขียนได้ใช้เครื่องมือในการกอบกู้อัตลักษณ์หลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะการรื้อฟื้นอดีตหรือประวัติศาสตร์ผ่านการเล่าเรื่อง การตอกย้ำถึงเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิม โดยการใช้ภาษาในการสื่ออารมณ์หรือความหมายเฉพาะในบทสนทนา 1.ฟื้นชีวิตประวัติศาสตร์ ประมวล มณีโรจน์ เป็นนักเขียนคนสำคัญที่พยายามฟื้นฟูเรื่องเล่าดั้งเดิมของท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นการครอบงำ และเป็นเครื่องมือในการกอบกู้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นใต้  ในเรื่อง  “อานารยธรรม”  เขาเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสที่เข้ามาครอบงำชนกลุ่มน้อย โดยเล่าย้อนไปตั้งแต่การต่อสู้ของราชตระกูลลาวในรัชสมัยของเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรแห่งแคว้นจำปาศักดิ์ที่ต่อสู้กับชนชาติข่าจากขุขันธ์และปทายสมันต์ เรื่อยมาจนถึงสมัยขององค์แก้วที่ต่อสู้กับชาวฝรั่งเศส จนเป็นที่มาของวีรกรรมที่ไม่อาจลบเลือนของชาวลาวเทิง เรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวลาวเทิงเท่านั้น  แต่เป็นการนำประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวลาวเทิงมา ”ย้อนย้ำ” ให้คนตระหนักรู้ถึงภัยที่เคยมาเยือนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเขาเห็นว่าการหลงลืมประวัติศาสตร์ทำให้สังคมไม่มีบทเรียน (อานารยธรรม:หน้า 29)  ด้วยเหตุนี้ ในความต้องการกอบกู้อัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้ เรื่องสั้นจำนวนหนึ่งของประมวล จึงพยายามนำเสนอประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตที่น่าภาคภูมิใจของภาคใต้ขึ้นมานำเสนอ เช่น ในเรื่อง “ประกายไฟในความมืด” เรื่อง “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” เป็นต้น โดยเรื่องหลังนั้นประมวลต้องการให้ผู้อ่านหันกลับไปรำลึกถึงเมืองสงขลาที่เคยรุ่งเรืองมาแต่โบราณ  เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ประมวลใช้สำหรับนำพาผู้อ่านกลับไปสู่คุณค่าและตัวตนของชนบทในอดีต  ข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านี้ ด้านหนึ่งก็แสดงถึงสัจจะสังคมที่ย่อมมีความขัดแย้ง การสูญเสีย การทำลายล้าง และการเกิดใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การนำเสนอประวัติศาสตร์ของชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลาเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ    ล่าฝัน บารนี  ชายหนุ่มเล่าเรื่องราวของเมืองสงขลาตั้งแต่สมัยอยุธยา เริ่มโดยการยกตำนานวีรบุรุษประจำถิ่น ‘หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ ที่คนในชุมชนยังคงศรัทธาอย่างเหนียวแน่น (บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน:139) หรือ เรื่องราวสงครามที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างรัฐบาลกลางในสมัยรัตนโกสินทร์กับสุลต่านสุไลมานชาร์ผู้ครองนครสงขลา (บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน:หน้า 144) แต่ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้ชนะสำหรับประมวลแล้วไม่ว่าสงครามระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า (สงครามกรุงทรอย) หรือสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ต่างก็สร้างความพินาศให้แก่มนุษย์พอๆ กัน การเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เป็นการเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน  ประมวลเห็นว่าสงครามของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกำลังรุกรานเราอยู่  ล่าฝันเป็นตัวแทนของคนที่กำลังทำสงครามอยู่ในโลกของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  ประมวลทำให้เห็นว่ามันไม่ได้แตกต่างไปจากสงครามที่เคยทำลายล้างสงขลามาเมื่อครั้งอดีตแต่อย่างใด  และดูเหมือนว่ามันจะทวีความหฤโหดมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นการทำลายล้างตั้งแต่รากเหง้าทางวัฒนธรรม  เกิดปัญหาคนพลัดพรากจากบ้านเกิด  หลายคนต้องไร้ที่อยู่ที่ทำมาหากิน  และหลายคนต้องหาเลี้ยงชีพด้วยความตายของ ‘คนอื่น’ ในนามของ “มือปืน”
การหยิบยกประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ขึ้นมานำเสนอ แสดงให้เห็นว่านักเขียนยอมรับว่าความขัดแย้ง/สงครามในรูปแบบต่างๆ นั้นเป็นสัจจะของมนุษย์โลก สงครามทุนนิยมระหว่างบริษัทข้ามชาติกับบริษัทของคนท้องถิ่นรุ่นใหม่ก็เช่นเดียวกัน โดยความหมายและเป้าหมายแล้วมันไม่แตกต่างอันใดกับสงครามในประวัติศาสตร์เพราะมุ่งสู่การยึดครองเช่นกัน เพียงแต่รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น การยอมรับเช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่านักเขียนพยายามที่จะรื้อฟื้นความหมายของชุมชนลุ่มทะเลสาบขึ้นมาใหม่ด้วยการรอมชอมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนโดยการกระทำของทุนนิยมว่า  หากเราเรารู้เท่าทัน  เราก็สามารถดำรงอยู่ในโลกของทุนนิยมได้ 2.ทรัพยากร : ความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ
ตัวตนของชนบทภาคใต้บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาที่เด่นชัดและแตกต่างกับชุมชนอื่นๆ ในภูมิภาคอื่นก็คือสัญลักษณ์ของพืชพันธุ์เฉพาะถิ่น ตลอดจนวิถีการผลิตและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากพืชพันธุ์เฉพาะถิ่นเหล่านั้น  กล่าวเฉพาะผลงานเรื่อง “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวที่น่าสนใจ ประมวลให้ “ไม้ไผ่” และ “ตาลโตนด” เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเฉพาะถิ่นที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน และให้ “ข้าว” เป็นผลิตผลของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ดินจนกระทั่งส่งผลให้ชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลามีบทบาทเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคใต้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรัพยากรเหล่านี้เอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวชนบทลุ่มทะเลสาบสงขลามาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะไม้ไผ่และตาลโตนดนั้นได้ก่อให้เกิดวิถีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เกิดวัฒนธรรมตาลโตนดทั้งในลักษณะของวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนผลผลิต วัฒนธรรมการก่อสร้างบ้านเรือนที่มีไม้ไผ่กับตาลโตนดเป็นวัสดุสำคัญที่สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่เสา คาน กระดาน กระทั่งรั้วบ้าน
วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ทำหน้าที่ “แยก/จำแนก” ชาวลุ่มทะเลสาบสงขลาออกมาจากคนกลุ่มอื่นๆ คนลุ่มทะเลสาบสงขลาสำนึกถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับคนกลุ่มอื่นๆ โดยใช้วัฒนธรรมไม้ไผ่กับตาลโตนดเป็นเกณฑ์หนึ่ง ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดวัฒนธรรมต่างๆ แล้ว ยังส่งผลถึงความสามารถพึ่งพาตัวเองในทางเศรษฐกิจของชุมชนแถบนี้อีกด้วย
ทรัพยากรเฉพาะถิ่นจึงเป็นบ่อเกิดของวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่นและความสามารถพึ่งตนเองของท้องถิ่นซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้ส่งผลต่อความมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในที่สุด  สิ่งเหล่านี้ประมวลขับขึ้นมาให้โดดเด่น นัยหนึ่งเพื่อหวนหาคุณค่าแห่งอัตลักษณ์เหล่านั้น  อีกนัยหนึ่งก็เพื่อสร้างเป็น “ภาพเปรียบเทียบ” กับอัตลักษณ์หรือตัวตนใหม่ๆ ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นคุณค่าที่แท้จริง (หรือคุณค่าที่ควรจะเป็น) ก่อนที่เขาจะนำพาผู้อ่านไปสู่ประเด็นที่ท้าทายว่าชุมชนท้องถิ่นควรไขว่คว้า หรือควรปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถคงอัตลักษณ์ของตนอยู่ได้ท่ามกลางการเบียดขับของอัตลักษณ์นำเข้า (จากทุนต่างชาติ/จากรัฐส่วนกลาง) นอกจาก ประมวล มณีโรจน์ แล้ว นักเขียนอีกส่วนหนึ่งใช้ภาพชาวนาซึ่งมีวิธีคิดแบบดั้งเดิม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชรา) สะท้อนภาพวิถีซึ่งผูกพันกับการเกษตรอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น ในเรื่อง “สะพานขาด" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ให้ภาพของชาวนาชราที่หวงแหนข้าวกล้าอย่างชนิดที่พร้อมจะแลกด้วยชีวิต
วิธีการสร้างภาพเชิงโรแมนติกเมื่อตัวละครคำนึงถึงภาพของทรัพยากรที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีตก็เป็นอีกกลวิธีหนึ่งในการเล่าเรื่องเพื่อกอบกู้อัตลักษณ์ ดังเช่น การให้ภาพความสนุกสนานของเด็กๆ ในท้องนา ภาพดังกล่าวนี้ นอกจากสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความสุขแห่งวิถีเกษตรแล้ว ยังเป็นการกลวิธีหนึ่งในการสร้างภาพฝันให้เกิดขึ้น เพื่อทำให้อัตลักษณ์แห่งความเป็นสังคมเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนรอบลุ่มทะเลสาบหวนกลับคืนมาอีกด้วย
3.วิถีวัฒนธรรม เมื่อพิจารณาโดยผิวเผินอัตลักษณ์ของภาคใต้มีความย้อนแย้งกันไม่น้อยโดยเฉพาะวิถีของความเป็นนักเลง วิถีโจร และความยึดมั่นในศาสนา อย่างไรก็ดี นักเขียนชาวใต้ก็พยายามที่จะเชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัจจัยที่ดูย้อนแย้งกันเหล่านี้มีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของภาคใต้ตอนกลางไปในที่สุด กล่าวคือ ในอดีตนั้นวิถีนักเลงและวิถีโจรในภาคใต้ตอนกลางนั้นถูกควบคุมโดยความเชื่อในศาสนา ทำให้เป็นนักเลงและโจรที่มีจรรยา โดยให้การปกป้องชุมชนจากอำนาจรัฐและอำนาจอิทธิพลที่ไม่เป็นธรรม  เหตุดังนั้น ความคิดเกี่ยวกับความเป็นนักเลงหรือความเป็นโจร ในความเห็นของนักเขียนท้องถิ่นกลุ่มนี้จึงสามารถอธิบายได้ อัตลักษณ์ของความเป็นนักเลงนั้นกลายเป็นวิถีวัฒนธรรมซึ่งชาวท้องถิ่นด้วยกันยอมรับเป็นอย่างดี
คำอธิบายชุดนี้ นอกจากเพื่อการตอบโต้วาทกรรมนิติศาสตร์ที่มอง “นักเลง” ในภาคใต้ว่าเป็น “โจร” แล้ว ในอีกนัยยะหนึ่งยังเป็นการให้คำอธิบายแก่คนรุ่นใหม่ซึ่งใช้ตีความความเป็นนักเลงหรือความเป็นคนใต้กล้าได้กล้าเสียผิดพลาด (ดังพวกที่ไปเป็นมือปืนรับจ้าง หรือพวกที่ฆ่าผู้อื่นเพราะเหตุ

ไม่พอใจเพียงเล็กน้อย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) ให้กลับมาเข้าใจนิยามที่แท้จริง เพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่ว่า  การเป็นนักเลงต้องกล้าหาญ  เข้มแข็ง  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า 4.ภูมิปัญญาดั้งเดิม การรื้อฟื้นภูมิปัญญาชาวบ้านด้านต่างๆ ขึ้นมาก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการกอบกู้อัตลักษณ์ท้องถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา  ภูมิปัญญาเหล่านี้ผูกพันทั้งภูมิปัญญาจากประสบการณ์ ความเชื่อในพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ และประเพณีท้องถิ่น ดังเช่นการบอกเล่าเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในเรื่องสั้น “สำหรับความทะเยอทะยาน” ของประมวล มณีโรจน์ ภูมิปัญญาชาวใต้ที่นักเขียนหยิบยกขึ้นมาขับเน้นเพื่อแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นใต้ยังมีภูมิปัญญาด้านการสังเกตธรรมชาติ ภูมิปัญญาเหล่านี้สามารถทำให้คนกลายเป็นที่เชื่อถือและยำเกรงของผู้อื่นในท้องถิ่น ในกระแสของวรรณกรรมไทย ความเชื่อเหล่านี้เคยเป็นสิ่งที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตซึ่งเติบโตในช่วงทศวรรษที่ 2500-2510 ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น การที่นักเขียนชาวใต้ซึ่งสร้างผลงานตั้งแต่ช่วง 2520 หยิบยกเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ขึ้นมาอภิปราย และขัดเน้นให้เห็นถึงผลและคุณค่าต่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านแสดงให้เห็นว่าเป็นกระแสของการตอบโต้กับแนวคิดหลักในวรรณกรรมส่วนกลางโดยตรงอย่างหนึ่ง การตอบโต้ดังกล่าวนี้เมื่อมองในแง่มุมของกระแสวรรณกรรมไทย จะพบว่าเป็นการดิ้นรนเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของวรรณกรรมท้องถิ่น  และถ้ามองในด้านเนื้อหาก็จะพบว่าเป็นการโหยหาถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ถูกทำให้เลือนหายไปแล้วอีกด้วย

บทสรุป ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า “อำนาจวรรณกรรม” กำลังจะเสื่อมสลายไปแล้วในโลกยุคหลังสมัยใหม่ แต่เห็นได้ว่ากลุ่มนักเขียนชาวลุ่มทะเลสาบสงขลายังคงมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อฉายภาพการสลายและเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของพวกเขา พร้อมกันนั้นก็พยายามกอบกู้อัตลักษณ์เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ โดยการใช้ความสามารถทางวรรณกรรมมาเป็นเครื่องมือ  นั่นก็คือการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้านต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ทรัพยากร วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาขึ้นมาผสมผสานกันบนพื้นที่ที่เรียกว่า “วรรณกรรม” แล้วใช้ศิลปะการเล่าเรื่องนำผู้อ่านไปพบกับเนื้อหา เรื่องราว ทัศนคติ ค่านิยม ความใฝ่ฝัน เพื่อชี้ชวนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตน  กระแสการนำเสนอเรื่องราวในลักษณะนี้ แม้จะหาได้ยากในหมู่นักเขียนรุ่นใหม่ และนักเขียนภาคกลาง แต่ถือเป็นกระแสหลักของการสร้างสรรค์วรรณกรรมภาคใต้จนถึงปัจจุบัน  เรื่องสั้นของนักเขียนชาวลุ่มทะเลสาบจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งกำลังตั้งคำถามถึงกระแสของความเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นในสังคมไทยที่กำลังถูกทำให้กลมกลืนกลายเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันทุกภูมิภาค

        <br />



บรรณานุกรม ภาษาไทย กนกพงศ์    สงสมพันธ์.  สะพานขาด.  พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพฯ : นาคร,  2539. _______.  แผ่นดินอื่น.  กรุงเทพฯ :นาคร,  2539. เกษม  จันทร์ดำ. นาฬิกาไม้.  สงขลา : ประภาคาร,  2534. คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ    สาขาสังคมวิทยา      สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประเด็นการก่อตัวและการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มใหม่ๆทางสังคม.  ณ  โรงแรมมิราเคิล  แกรนด์  คอนแวนชั่น  วันที่  15-16  ธันวาคม  2543.
คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ    และ สำนักศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.  ห้องความเป็นปักษ์ใต้.  การประชุมทางวิชาการและเสนอผลงานวิจัย  “พลังสังคมไทยในทศวรรษหน้า : ทางเลือกกับความเป็นจริง”  ณ  อาคารเรียนรวม 5  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  วันที่ 30-31  สิงหาคม  2546.
จรูญ  หยูทอง.  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้ที่ปรากฏใน เรื่องสั้นของนักเขียนกลุ่มนาคร. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  สงขลา, 2543. ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร.  วาทกรรมการพัฒนา.  กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2543.
ตรีศิลป์  บุญขจร.  นวนิยายกับสังคมไทย พ.ศ.2475-2500.  กรุงเทพฯ : บางกอกการพิมพ์,
2523. นิธิ  เอียวศรีวงศ์ และคณะ.  มองอนาคต : บทวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางสังคมไทย.
กรุงเทพฯ :  มูลนิธิภูมิปัญญา , 2538.
ปริตตา  เฉลิมเผ่า  กออนันตกูล (บรรณาธิการ).  เจ้าแม่  คุณปู่  ช่างซอ ช่างฟ้อน  และเรื่อง อื่นๆว่าด้วยพิธีกรรมและนาฎกรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร,  2546. ________.(บรรณาธิการ). ชีวิตชายขอบ ตัวตนกับความหมาย. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินทร,  ม.ป.ป.. ประมวล  มณีโรจน์.  บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน.  กรุงเทพฯ : นาคร,  2542. ________.  ว่าวสีขาวกับผองปีกแห่งความหวัง.  สงขลา : ประภาคาร,  2532. ________.  หมู่บ้านวิสามัญ.  สงขลา : ประภาคาร,  2532. ________. (และคณะ). เอกสารประกอบการศึกษารวมกลุ่ม วรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยก้าวเดิน ที่สับสนและการแสวงหา.    กลุ่มนาคร,  2528.
ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี (บรรณาธิการ).  อัตลักษณ์    ชาติพันธุ์    และความเป็นชายขอบ.
กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร,  2546. พนม  นันทพฤกษ์.  ยืนต้านพายุ.  กรุงเทพฯ : ทักษิณาบรรณ,  2524. พัฒนา    กิติอาษา. ท้องถิ่นนิยม.  กรุงเทพฯ : นักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,  2546. พิเชฐ แสงทอง.  ตัวตนของคนใต้ : ประวัติศาสตร์และภูมิวิถีกวีนิพนธ์. เอกสารประกอบการ สัมมนาเรื่อง กวีและกวีนิพนธ์ภาคใต้:เมื่อก่อน เมื่อนี้และวันพรุ่ง  ณ สถาบันทักษิณคดี ศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.  วันที่  4-6 กันยายน 2546. ________. “ความเลื่อนไหลของกลุ่มนาคร” . ใน วารสารขี้ไต้  สถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช.
ฉบับเดือนพฤศจิกายน  2546,  หน้า  37-43. พิศิษฎ์  คุณวโรตม์. “อัตลักษณ์และกระบวนการต่อสู้เพื่อชีวิตของผู้ติดเชื้อHIV”.  อัตลักษณ์
ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร, 2546:306- 307. ไพฑูรย์    ธัญญา.  โบยบินไปจากวัยเยาว์ . พิมพ์ครั้งที่  5.  กรุงเทพฯ : นาคร,  2541. ________.  ถนนนี้กลับบ้าน . พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : นาคร,  2536. ________.  ก่อกองทราย.  พิมพ์ครั้งที่  23.  กรุงเทพฯ : นาคร,  2539 ยงยุทธ  ชูแว่น.(บรรณาธิการ)  โลกของลุ่มทะเลสาบ.  กรุงเทพฯ : นาคร,  2541.             .การเคลื่อนเปลี่ยนของคตินิยมในบริเวณสามจังหวัดรอบทะเลสาบสงขลา
พ.ศ. 2504-2529 : ศึกษาจากงานวรรณกรรม.  สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ,  2529. ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้.  โลกทรรศน์ไทยภาคใต้.  สงขลา : มหาวิทยาลัยศรี นครินทรวิโรฒ,  2521. สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  พื้นบ้านพื้นเมือง-ถิ่นไทยทักษิณ.   กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ๊นติ้งกรุ๊พ,  2534. สุธิวงศ์  พงษ์ไพบูลย์.  โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา. กรุงเทพฯ
: สำนักงานกองทุนการสนับสนุนการวิจัย,  2544. ________.“ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสงขลากับต่างเมืองที่ส่งผลต่อผู้คนและวัฒนธรรม ในท้องถิ่น”  ในการสัมมนาทางวิชาการสงขลาศึกษา : ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองสงขลา,  หน้า 133-140.  สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2535. สุริชัย  หวันแก้ว.  กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ.  กรุงเทพฯ : สำนักคณะกรรมการวิจัย แห่งชาติ,  2546. อมรา พงศาพิชญ์.ความหลากหลายทางวัฒนธรรม(วิธีวิทยาและบทบาทในประชาสังคม).
พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2545. _______.  วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2541. อมรา ศรีสุชาติ. สายรากภาคใต้:ภูมิลักษณ์ รูปลักษณ์ จิตลักษณ์. กรุงเทพฯ : สำนักงาน กองทุนการสนับสนุนการวิจัย,  2544. อภิญญา  เฟื่องฟูสกุล.  อัตลักษณ์.  กรุงเทพฯ: สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,  2546 อรัญ  คงนวลใย.  การศึกษาโลกทรรศน์ที่ปรากฏในเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้ที่ได้รับ รางวัลเรื่องสั้นดีเด่น.  ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนคริน-  ทรวิโรฒ  สงขลา, 2537. อัตถากร  บำรุง.  พันธ์พื้นเมือง.  กรุงเทพฯ : นาคร,  2541. _______.  ฝั่งฝันแห่งความรัก.  สงขลา : ประภาคาร,  2534. อาคม  เดชทองคำ.  หัวเชือกวัวชน.  กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543. ภาษาอังกฤษ Ania  Loomba.  Colonialism/Postcolonialism. Newyork : Routledge, 1998. Bill Ashcroft, Gareth  Griffiths, and  Helen  Tiffin.  The  Empire  Writes  Back.
Newyork : Routledge, 1989. Edward  W.  Said.  Orientalism.    Newyork : Random  House, 1978. _______.  Culture  and  Imperialism. Newyork : Random  House, 1993. Frantz  Fanon.  The  Wretched  of  the  Earth.  Newyork : Grove  Press, 1963.

แสดงความคิดเห็น

« 8134
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ