บทความ
แม่ชี : โลกของผู้หญิงที่ถูกลืม
แม่ชี : โลกของผู้หญิงที่ถูกลืม
หากพุทธศาสนาซึ่งถือได้ว่า เป็นพื้นที่ของผู้ชาย แล้ว นักบวชหญิงที่เราเรียกกันว่าแม่ชี จะต้องประสบกับสถานการณ์เช่นไร ท่ามกลางวาทกรรมทางพุทธศาสนา หลักคิด ปรัชญา ความเชื่อที่กีดกันผู้หญิงออกไปจากปริมณฑลทางศาสนา คุณลัดดาวัลย์ ต๊ะมาฟู นักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนใจประเด็นศึกษานี้ ดังนั้น ในวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงจัดบรรยายเรื่อง แม่ชี : โลกของผู้หญิงที่ถูกลืม เพื่อตอบคำถามสังคมต่อประเด็นดังกล่าว
แนวคิดเรื่องพื้นที่ (Space) และอัตลักษณ์ (Identity) คุณลัดดาวัลย์กล่าวว่า การศึกษาเรื่อง แม่ชี : โลกของผู้หญิงที่ถูกลืม ใช้มโนทัศน์เรื่องอัตลักษณ์การต่อต้าน และพื้นที่ที่สาม เพื่อทำความเข้าใจแม่ชี ในฐานะนักบวชหญิง ซึ่งพื้นฐานสังคมก่อนบวช และประสบการณ์ทางจิตวิญญาณแตกต่างกันจะนิยามตนเองอย่างไร ในมิติที่ผสมผสานมิติทางวัฒนธรรม และชีวิตทางสังคมอันเป็นทุนเดิมก่อนบวชเข้ากับประสบการณ์ทางศาสนาที่ได้รับในภายหลังอย่างไร
หากพิจารณาพื้นที่ดังกล่าวในมิติที่เชื่อมโยงกัน กล่าวคือ พื้นที่ทางกายภาพ (Physical Space) ด้านหนึ่งคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์จริงๆ เช่นวัด ชุมชน สำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรม ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ทางกายภาพยังรวมถึงร่างกายมนุษย์ ดังนั้น การจัดพื้นที่ทางกายภาพ นอกจากจะพิจารณาถึงการจัดแบ่งพื้นที่ในวัดแล้ว คุณลัดดาวัลย์ยังหมายถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทางกายภาพแบบอื่นๆ เช่นการควบคุมการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ของร่างกาย ซึ่งพื้นที่ทั้งสองส่วนดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากการควบคุมกายของนักบวชหญิงให้อยู่ภายใต้ขอบเขตทางภูมิศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งก็คือ การกำหนด หรือการจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรหรือโอกาสต่างๆทางศาสนา
สำหรับ พื้นที่ทางสังคม (Social Space) เป็นพื้นที่ของประสบการณ์ภายใน ที่เป็นการรับรู้ที่นักบวชหญิงมีต่อตัวเอง ซึ่งเชื่อมโยงกับการจัดความสัมพันธ์ หรือการจัดระยะห่างระหว่างนักบวชหญิงกับกลุ่มต่างๆทางสังคม อาทิ พระ ฆราวาส นักบวชหญิงด้วยกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดระยะทางกายภาพ และการจัดระยะความสัมพันธ์ทางสังคม นักบวชหญิงในฐานะที่เป็นตัวแสดงหนึ่งย่อมมี ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ทั้งรุกและรับ (Politics of Mobility and Access) เพื่อเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เช่น โอกาสของการศึกษาธรรม สถานภาพ และสิ่งอื่นใดที่สนับสนุนการใช้ชีวิตนักบวช
พื้นที่สุดท้ายคือ พื้นที่ภายในของปัจเจก หรือ พื้นที่ในมิตินามธรรม (Mental Space) หรือ พื้นที่ในมิติจิตวิญญาณ (Spiritual Space) คุณลัดดาวัลย์กล่าวว่า การควบคุมกายไม่ได้หมายถึงการก้าวล่วงเข้าไปถึงพื้นที่ภายในจิตใจของปัจเจก ซึ่งเท่ากับว่าแยกใจกับกายออกจากกันอย่างเด็ดขาดโดยมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งในมิติทางพุทธศาสนา ดังนั้นพื้นที่ในมิตินามธรรม จึงเป็นวิธีคิดและความรู้สึกในจิตใจที่ไม่อาจแยกออกจากมิติรูปธรรมที่เป็นเรื่องของการจัดการพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หรือร่างกาย
พื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ จึงเชื่อมโยงกันและกันทั้งในทางหนุนเสริม และขัดแย้งกัน นักบวชหญิงจึงเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องต่อรองกับตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ความอึดอัดใจจากความคลุมเครือระหว่างการเป็น หรือไม่เป็นนักบวชเกิดขึ้นได้ในระดับที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นมิติประสบการณ์ในพื้นที่สาธารณะ
แนวคิดเรื่องการต่อต้าน (Resistance) และพื้นที่ที่สาม (Third Space)
การกระทำและปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของนักบวชหญิงในสถานการณ์ต่างๆ สามารถศึกษาผ่านมโนทัศน์เรื่องการต่อต้าน (Resistance) ประเด็นนี้จะช่วยสลายความขัดแย้งระหว่างแนวคิดที่ให้ความสำคัญแก่โครงสร้างและแนวคิดที่เน้นปัจเจก การต่อต้านของนักบวชหญิงจึงไม่ใช่การสร้างสถาบันศาสนาของผู้หญิงขึ้นมาใหม่ หรือการถอยห่างจากโครงสร้างอำนาจของศาสนาแบบชายสู่วิถีแบบปัจเจก การต่อต้านจึงอยู่ในพื้นที่อำนาจเดิมแต่ประดิษฐ์หนทางการแทรกตัวไปมาในสูญญากาศของอำนาจที่ครอบงำอยู่ ซึ่งทำให้เห็นมิติที่สร้างสรรค์การต่อต้าน
มโนทัศน์เรื่อง พื้นที่ที่สาม (Third Space) เป็นความพยายามที่จะทำให้การต่อต้านก้าวข้ามพ้นการคิดแบบแบ่งขั้นตรงข้าม ซึ่งมักแบ่งแยกขั้วว่า Space of Domination เป็นพื้นที่หนึ่ง และ Space of Resistance เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่แยกต่างหาก อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ที่สาม ก็คือ การปฏิเสธที่จะหยุดนิ่งหรือลงหลักปักรากกับการนิยามความหมาย หรืออัตลักษณ์ใดๆอย่างลงตัว ในที่นี้หมายความว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องสร้างศาสนาใหม่ของตนเอง แม้ว่าพุทธศาสนาเชิงโครงสร้างที่เป็นอยู่จะเอื้ออำนวยต่อสถานภาพความเป็นนักบวชก็ตาม เพราะพื้นที่ของอำนาจสามารถเลื่อนไหลและทำให้เกิดช่องว่างที่ปัจเจกสามารถเคลื่อนไหวในระหว่างพื้นที่ของอำนาจนั้นๆ ในแง่นี้ทั้งอำนาจและการต่อต้านจึงไม่ได้เป็นอิสระจากกันและกัน การต่อต้านจึงหมายถึง การไม่ยอมถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดให้ (Dislocation) ซึ่งมียุทธศาสตร์หลายแห่ง
การปฏิบัติธรรมและการเปลี่ยนแปลงตัวตนในระดับลึก (Self Transformation)
คุณลัดดาวัลย์เจาะจงเลือกกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มแม่ชีวิทยาลัยซึ่งทำงานด้านการพัฒนาสังคม โดยเน้นการให้การศึกษากับแม่ชี ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นแม่ชีที่สังกัดวัดเน้นการปฏิบัติ คุณลัดดาวัลย์ได้สันนิษฐานบนความแตกต่างเบื้องต้นนี้ว่า แม่ชีทั้งสองแบบให้คุณค่ากับการปฏิบัติแตกต่างและเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ประเด็นการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติแม่ชีทั้งสองกลุ่มต่างตระหนักดีกว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องที่แม่ชีละเลยไม่ได้ ดูเหมือนว่าทั้งสองกลุ่มมีจุดเหมือนตรงที่ยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองระดับลึก ซึ่งเป็นจุดเหมือนของแม่ชีสองกลุ่มที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากประสบการณ์ปฏิบัติธรรม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นสองระดับ การพูดถึงประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ทำให้แม่ชีผู้ปฏิบัติปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งการปฏิบัติธรรมของแม่ชีเพื่อยกระดับจิตวิญญาณส่วนตน และการปฏิบัติธรรมเพื่อเปลี่ยนตนเองและสังคม ซึ่งส่วนที่แม่ชีทั้งสองกลุ่มมองต่างกันคือ การปฏิบัติที่เน้นการเปลี่ยนแปลงวงกว้างและการเปลี่ยนแปลงแต่ละปัจเจก
การปฏิบัติธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองด้านในนั้น แม่ชีในกลุ่มที่สังกัดวัดปฏิบัติมองว่าการเปลี่ยนแปลงในตัวแต่ละปัจเจก เกิดจากการขัดเกลาจิตใจที่หยาบให้ละเอียดขึ้นด้วยการปฏิบัติธรรม ทำให้ปัจเจกเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากผู้ปฏิบัติแต่ละคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ และผู้ปฏิบัติเหล่านั้นยังชักชวนคนใกล้ชิดมาปฏิบัติด้วย ค่อยขยายจากปัจเจกสู่ปัจเจก ซึ่งแม่ชีกลุ่มนี้มองสังคมเหมือนมัดก้านไม้ขีด เมื่อแต่ละปัจเจกพัฒนาตัวเองในทางที่ดีขึ้น ย่อมทำให้สังคมดีตามไปด้วย ในขณะที่การปฏิบัติแบบกลุ่มแม่ชีที่สังกัดวิทยาลัย กลับมองว่าการปฏิบัติต้องเน้นการเปลี่ยนแปลงวงกว้าง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแต่ละปัจเจก แม่ชีในกลุ่มนี้เน้นการปฏิบัติธรรมไปกับการศึกษาวิชาทางโลก เนื่องจากการปฏิบัติธรรมจะทำให้ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น
ความเป็นนักบวชของแม่ชี และปัญหาทางสองแพร่ง (Dilemma) ของแม่ชี ถึงแม้ว่าการบวชของแม่ชี เป็นการรักษาศีล 8 ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าแม่ชีก็คืออุบาสิกาคนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง แม่ชีกลับมีความแตกต่างจากอุบาสิกา โดยเฉพาะการแต่งกาย การปลงผม และการรักษาศีล 8 ของแม่ชีจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่อุบาสิกาอาจจะเข้าๆออกๆ สำหรับตัวแม่ชีแล้ว แม่ชีถือว่าตัวเองเป็นนักบวช เพียงแต่ไม่ผ่านขั้นตอนการบวชอย่างเป็นทางการ และเนื่องจากกรมการศาสนาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ได้ระบุสถานภาพของแม่ชีออกมาให้ชัดเจนว่าเป็นอะไรกันแน่
เนื่องจากความคุลมเครือของสถานภาพความเป็นนักบวชของแม่ชี ทำให้เกิดการตีความที่หลากหลายทั้งจากสถาบันพุทธศาสนา หน่วยงานรัฐ ซึ่งกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ถกเถียงอย่างไม่มีวันจบสิ้น แม่ชีจากวัดอริยธรรม และวัดธรรมรัศมีให้น้ำหนักในการปฏิบัติธรรมของสมาชิกค่อนข้างมาก ดังนั้นการเรียกร้องตำแหน่ง หรือสถานะของตัวแม่ชีจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แม่ชีส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าสถานะของตนเองตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว แม่ชีไม่ได้มีหน้าที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ถ้ามีการเรียกร้องก็แสดงว่ามีกิเลส มีความอยาก ซึ่งถือเป็นการยึดติด ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่แม่ชีควรจะดำเนินในชีวิตประจำวัน
ในแง่ทางการศึกษา แม่ชีสงฆ์ เป็นคำนิยามที่สะท้อนถึงโครงการทางการศึกษา และระบบที่สนับสนุนแม่ชีมากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน กล่าวคือแม่ชีในปัจจุบันจะได้รับการศึกษาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางการศึกษา และฐานะของแม่ชีแต่ละรูป ดังนั้นการเกิดขึ้นของ เถรีวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาของแม่ชีมุ่งให้ความรู้แก่แม่ชีอย่างเป็นระบบ รวมถึงรับรองคุณวุฒิทางการศึกษาแก่แม่ชี สิ่งนี้เป็นวิถีทางพัฒนาแม่ชีซึ่งจะทำให้สังคมเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อแม่ชี การพัฒนาบทบาทของแม่ชีทางด้านการศึกษา นอกจากจะทำให้สถานภาพของแม่ชีดีขึ้นแล้ว ยังจะช่วยบรรเทาความเชื่อที่มีอคติ เช่นการใส่บาตรหรือทำบุญใดกับแม่ชีจะไม่ได้บุญเท่ากับพระสงฆ์ รวมถึงการปรนนิบัติดูแลสงฆ์ ทั้งๆที่ไม่มีการระบุไว้ในแม่ชีธรรมวินัย แต่เป็นเพียงความเคยชิน และธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ
จากการศึกษาพบว่าการนิยามความเป็นนักบวช ซึ่งมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน 2 แนวทางข้างต้น เกิดจากอิทธิพลของอุดมการณ์ขององค์กร การนิยามแต่ละแบบขึ้นอยู่กับเบ้าหลอมของบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งหวังจะพัฒนาแม่ชีให้เป็นผู้นำการพัฒนาสังคม ควบคู่กับการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ในขณะที่อีกกลุ่มหวังเพียงทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ ภาวะอึดอัดทำให้นักบวชหญิงหาทางออกทั้งแบบปฏิเสธโลกภายนอกโดยหันหน้าเข้าการปฏิบัติเพียงอย่างเดียว อีกด้านคือการออกมาเคลื่อนไหวผลักดันสถานภาพทางกหมาย สร้างการยอมรับของสังคม และสร้างแนวร่วม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัญหาเฉพาะที่นักบวชหญิงต้องเผชิญ นั้นคือ การหา จุดลงตัว จะทำอย่างไรที่จะต้องให้น้ำหนักกับมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมไปพร้อมๆกันโดยมิให้เป้าหมายทั้งสองนี้ขัดแย้งกัน เพื่อให้พ้นข้อครหาว่ายังติดข้องกับโลก ยังไม่ละวางจากการยุ่งเรื่องทางโลก หรืออาจถูกมองว่าละเลยมิติทางสังคมไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง
สรุป คุณลัดดาวัลย์ สรุปปิดท้ายว่า การนำเสนอเรื่องราวของแม่ชี อาจเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนาของใครหลายๆคน เพราะในสังคมยังคงมองแม่ชีในลักษณะการดูแคลน ชุมชนของแม่ชีเหมือนบ้านพักคนชรา สังคมที่ขาดจิตใจเกื้อกูล มุมมองทางวัฒนธรรมที่ปิดตายว่าผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีไม่ได้ ถึงบวชเป็นแม่ชีก็ไม่นับว่าเป็นนักบวช คุณลัดดาวัลย์ตั้งคำถามว่า แล้วอะไรที่จะเป็นฐานรองรับผู้หญิงที่สนใจใฝ่ปฏิบัติธรรม หากสังคมยังยินดีกับการมีอยู่ของนักบวชหญิงในฐานะคนชายขอบของพระพุทธศาสนา