บทความ
สายธาร ตำนานศิลป์ : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย
สายธาร ตำนานศิลป์ : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย โดย วงศ์ไหม เมืองล้านนา
ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวในวงวรรณกรรมไทย นักคิดนักเขียนที่เริ่มปรากฏแนวทางในการพยายามค้นหา คำตอบเกี่ยวกับศิลปะเพื่อมหาชนนั้น คงต้องจดจำและจารึกชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ว่าเป็นท่านหนึ่งที่บุกเบิกกรุยทางไว้เป็นเบื้องต้น งานประพันธ์เรื่อง สงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา ได้เปิดมิติใหม่แห่งพรมแดนวรรณกรรมไทยให้กว้างไกลออกไป ถือได้ว่าเป็นปฐมบทแห่งงานวรรณกรรมจรรโลงสังคมที่ยั่งยืนยงเป็นอมตะเรื่อยมา
สถานการณ์ในช่วงระยะต่อมาของสังคมไทย เป็นตัวเอื้อให้เกิดนักคิดนักเขียนที่ขานรับแนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนอย่างเป็นระลอกคลื่น ไม่ว่าจะเป็น ศรีอินทรายุทธ โยธิน มหายุทธนา ประไพ วิเศษธานี นายผี อัศนี พลจันทร์ นายสาง เปลื้อง วรรณศรี อิศรา อมันตกุล ศรีรัตน์ สถาปวัฒน์
ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เสนอความรักใหม่ที่ไม่คับแคบ คือ ความรักที่มอบให้แก่มหาชนผู้ทุกข์ยากของแผ่นดิน
สุภา ศิริมานนท์ นักคิด นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ ผู้แปลผลงาน แคปปิตอลลิซม์ ของ คาร์ล มาร์ก เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันตอกย้ำให้แนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อสังคม ได้ยืนเด่นในบรรณพิภพของวงการน้ำหมึกไทยอย่างมั่นคงยิ่ง
โดยเฉพาะ ชีวิตกับความใฝ่ฝัน ของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ นับเป็นงานประพันธ์ชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่มีผลกระทบกับความคิดของปัญญาชนอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ บรรจง บรรเจิดศิลป์ ยังได้เสนอ บทความวิเคราะห์วรรณกรรม ซึ่งนับเป็นแนวคิดสำคัญ ซึ่งว่าด้วยการที่จะเป็นนักประพันธ์ที่ดีของประชาชนได้นั้น จะต้องมีนักวิจารณ์วรรณกรรมที่สามารถชี้แนะปกป้องการสะท้อนอารมณ์และความคิดที่เป็นจริงของประชาชนทางศิลปะการประพันธ์ได้อย่างถูกต้องและก้าวหน้า
จะเห็นได้ว่า ระลอกคลื่นความคิดที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเพื่อมหาชนนั้น ในวงวรรณกรรมได้เกิด นักคิด นักเขียนที่ยึดมั่นกับทัศนะใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็หยุดอยู่เพียงประตูแห่งงานประพันธ์ เท่านั้น ความคิดเรื่องศิลปะเพื่อคนส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถฝ่าพรมแดนเข้าไปสู่สำนึกของผู้คนที่อยู่ในวงการศิลปกรรมไทยได้
ตราบจนปี พ.ศ.2498 นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของวงการศิลปะสร้างสรรค์ของไทย เมื่อบทวิเคราะห์วรรณกรรมที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ เคยเสนอไว้ ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ได้เกิดนักวิจารณ์ การประพันธ์ นักศิลปวัฒนธรรม นักประพันธ์ และกวี คนสำคัญของแนวทางศิลปะสร้างสรรค์ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ทรงอานุภาพยิ่ง เขาคนนั้นคือ จิตร ภูมิศักดิ์
ระยะนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาอังกฤษให้นักศึกษา คณะสถาปัตย กรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จิตร ภูมิศักดิ์ ได้นำความคิดเข้าไปสะกิดอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในนั้นด้วย ทัศนะที่ว่าด้วยศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนจึงได้รับการเผยแพร่เข้าสู่นักศึกษาคณะ สถาปัตยกรรม และกระจายสู่นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นับได้ว่าแนวคิดเรื่อง ศิลปะทั้งผองต้องเพื่อผองชน ได้พุ่งสู่วงการศิลปกรรมโดยตรงในช่วงนี้เอง
เป็นประเพณีของนักศึกษาศิลปากร ที่นักศึกษาปีที่สอง จะต้องมีหน้าที่รับน้องใหม่ และจัดทำหนังสือศิลปะฉบับรับน้อง เวลานั้นหนังสือศิลปะของนักศึกษาศิลปากรจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากบุคคลทั่วไปเพราะมักมีสิ่งแปลกใหม่มานำเสนออยู่ทุกปี ไม่ซ้ำซากจำเจ และแล้วหนังสือที่ทุกคนรอคอยก็สำเร็จเป็นรูปเล่ม แน่ละ มันเป็นความแปลกใหม่ที่ฉีกตัวเองออกไปจนบุคคลทั่วไปไม่สามารถคาดเดาได้ หนังสือศิลปะฉบับรับน้องใหม่เล่มนั้นหน้าปกเขียนว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ภายในเล่มมีบทความของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา ทีปกร และมีบทความของ เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน ซึ่งเสนอความเห็นว่า ศิลปะนั้นควรจะเพื่อชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขององค์การยูเนสโกในช่วงนั้นพอดี ที่ประกาศให้ศิลปะมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง แต่หนังสือศิลปะฉบับรับน้องใหม่เล่มนี้ยังไม่ทันได้เผยแพร่ก็ถูกกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยนำไปทำลายจนเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์ นับเป็นครั้งแรกที่แนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชน ก่อให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวในหมู่นักศึกษาศิลปากร ซึ่งเท่ากับว่าแนวทางศิลปะแบบก้าวหน้าสามารถแทรก ตัวเองเข้าไปในวงการศิลปกรรมแล้ว ความคิดที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นำไปหว่านกล้าลงในหมู่นักศึกษาศิลปากรได้ฝังตัวรอคอยการเจริญเติบโตในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ.2500 สถานการณ์ทางการเมืองไทยพลิกผันปรวนแปรไป จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยจังหวะที่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ใช้เล่ห์กลจัดให้มีการเลือกตั้งสกปรกขึ้นจนเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาว กระทำรัฐประหารนำกำลังทหารยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุบสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอ้างว่าฉบับเดิมไม่ เหมาะสม ตั้งคณะปกครองเผด็จการสมบูรณ์แบบขึ้นแทน ออกคำสั่งบังคับใช้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจตนเองและบริวารอย่างกว้างขวางที่สุดพร้อมกับตั้งรัฐบาลหุ่นเอาไว้ ครั้นถึงปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารซ้อนอีกครั้งและคราวนี้อำนาจเบ็ดเสร็จได้ตกอยู่ในมือตนเองอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ต้องผ่านมือผู้อื่นเหมือนการทำรัฐประหารคราวก่อน ความเป็นผู้เผด็จการสำแดงออกชัดเจนเมื่อมีการประกาศใช้คำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 เปรียบเสมือนอาวุธร้ายซึ่งอยู่ในมือมารที่ใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารกวาดล้างทำลาย ปัญญาชน นักคิด นักเขียน นักการเมือง และผู้รักประชาธิปไตยที่มีบทบาทรับใช้ประชาชนอย่างรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนยังผลให้ปัญญาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยก้าวหน้าถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก ที่หนีรอดก็หลบเร้นซ่อนตัวลี้ภัยในต่างแดน ในจำนวนนี้นักคิด นักเขียน แนวศิลปะเพื่อมหาชนย่อมไม่พ้นชะตากรรมเช่นกัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปลื้อง วรรณศรี อิศรา อมันตกุล จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมผู้อื่นจำนวนมาก สภาพการที่มืดมนเช่นนี้ทำให้แนวทางศิลปะเพื่อผองชน ต้องสะดุดหยุดชะงักลง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเน้นนโยบายความเป็นจักรพรรดินิยมแผ่ขยาย อิทธิพลเข้าครอบงำประเทศต่างๆ ที่อ่อนแอกว่า โดยใช้กำลังทหารและความทันสมัยเรื่องพัฒนากำลังรบเป็นเครื่องมือสำคัญในการรุกรานเพื่อที่จะตักตวงเอาทรัพยากรและผลประโยชน์ไปสู่ประเทศของตน เริ่มด้วยการแผ่อำนาจส่งเจ้าหน้าที่และทหารเข้าไปรบในคาบสมุทรเกาหลี ผู้นำรัฐบาลไทยก็เริ่มผูกติดพัวพันกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นถึงกับส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วย การพัฒนาประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการเงินจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยผู้นำไทยนำงบประมาณและความช่วยเหลือเหล่านั้นเข้ากระเป๋าตนเองและพวกผองกันอย่างถ้วนหน้า ขณะที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้อภิสิทธิตอบแทนต่างๆ ทัศนะการมองประชาชนที่ร้องหาความเป็นธรรมในชนบทว่าก่อความวุ่นวายกระด้างกระเดื้องและจบลงด้วยมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คือ การประทับตราที่รัฐบาลเผด็จการในช่วงนั้นมอบให้กับประชาชน
เกิดสงครามเวียดนาม ประมาณปี พ.ศ.2504 สหรัฐอเมริกาแสดงตนเป็นจักรพรรดินิยมส่งกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย กระจายอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่นที่ อู่ตะเภา สัตหีบ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี การส่งทหารอาวุธยุทโธปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญทางทหารเข้ามาในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อใช้ฐานทัพในประเทศไทยบางส่วนเป็นขุมกำลังปราบปรามการต่อสู้เรียกร้องเอกราชและความเป็นธรรมของประชาชนในอินโดจีน รัฐบาลเผด็จการทหารไทยยินยอมพร้อมใจให้สหรัฐอเมริกาใช้ดินแดนภายในประเทศไทยเป็นแหล่งพักพิงเพื่อที่จะเข้าไปรุกรานเข่นฆ่าประชาชนประเทศเพื่อนบ้านนโยบาย ที่สอดรับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารไทยกับสหรัฐอเมริกา คือ การปลุกกระแสต่อต้านคอมมิว นิสต์และความคิดสังคมนิยม ใช้การโฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชและความเป็นธรรมของเพื่อนบ้านให้กลายเป็นเรื่องคอมมิวนิสต์จะเข้ามารุกรานเขมือบกลืนประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลเผด็จการทหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สนองตอบพร้อมยอมศิโรราบให้สหรัฐอเมริกามากเท่าใด การปราบปรามผู้รักชาติรักประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้าย่อมมีมากขึ้นเท่านั้นเป็นเงาตามตัว
ในด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนไทย การเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปัญหาเมียเช่า โสเภณี ปัญหาเด็กลูกครึ่งไทยอเมริกา แหล่งเริงรมย์มั่วสุมจำนวนมากตามวิถีวัฒนธรรมฉาบฉวยแพร่ระบาด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
การได้รับสิทธิพิเศษของทหารและเจ้าหน้าที่อเมริกันบนผืนแผ่นดินไทย นานวันเข้าย่อมเกิดคำถามขึ้นในใจประชาชนเจ้าของประเทศที่รู้เห็นพฤติกรรมอันไม่ชอบธรรมว่า ระหว่างสหรัฐอเมริกาที่ส่งกำลังมาตั้งฐานทัพกับประชาชนที่เรียกร้องเอกราชในอินโดจีน ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายรุกราน?
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้คุมอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จอยู่ในตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง การทหารถึงแก่กรรมคาตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2506 อำนาจเผด็จการตกไปอยู่ในมือของพลเอกถนอม กิตติขจรและคณะซึ่งอยู่ในโครงสร้างที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำหนดไว้ให้เป็นทายาทสืบต่อเต็มรูปแบบ การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับทัศนะของคณะเผด็จการทหารซึ่งเห็นชอบและแต่งตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครั้งยึดอำนาจใหม่ๆ และใช้เป็นข้ออ้างประการหนึ่งในการล้มรัฐธรรมนูญฉบับเก่าว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมไม่สอดคล้องกับประเทศไทยนั้นยังคงดำเนินต่อไป นับเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานฉบับหนึ่งของโลก
กระแสของศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนที่หยุดชะงักตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เริ่มปรากฏให้เห็นประปราย เช่น งานประพันธ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ส่งออกมาจากคุกลาดยาวและลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์รายวันในนามปากกาของ กวี ศรีสยาม กวี ศรีประชา เป็นต้น ได้เสนอบทกวีการเมืองที่เปรียบเทียบเสียดสีกระชากหน้ากากนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้ยืนเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยากยอมตกเป็นเครื่องมือให้อำนาจเผด็จการพร้อมกับชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของผู้คนในชนบทโดยเฉพาะชาวนา ซึ่งทำหน้าที่ปลูกข้าวให้คนทั้งแผ่นดินบริโภค แต่ตัวเองกลับไม่ได้รับการเหลียวแลมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างพลเมืองชั้นสอง เช่น ตอนหนึ่งของบทกวีที่กลายเป็นอมตะลือลั่นในเวลาต่อมา เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน ข้าวนี้นะมีรส ให้คนชิมทุกชั้นชน เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน
หลังจากถูกสกัดกั้นมาเป็นเวลานาน แนวทางศิลปะเพื่อมหาชนได้รับการจุดประกายอีกครั้ง เมื่อปัญญาชน นักคิด นักเขียน ที่ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ได้รับการปล่อยและยกฟ้องเพราะไม่มีความผิด
ในวงการศิลปะกรรมเริ่มมีการพูดถึงแนวทางศิลปะสร้างสรรค์จากปากต่อปากสู่วงสนทนาเป็นกลุ่มย่อย ศิลปินอิสระบางท่านที่มีพื้นฐานครอบครัวจากชาวชนบทและสนใจปัญหาบ้านเมือง ซึมซับแนวทางศิลปะก้าวหน้ามากขึ้น
หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากคุกลาดยาวโดยปราศจากความผิดแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ได้นำผลงานชิ้นสำคัญทางวิชาการที่ค้นคว้าในเรือนจำระหว่างถูกจับคุมไปฝากไว้ที่ สุภา ศิริมานนท์ เพื่อหาโอกาสเผยแพร่ต่อไป ส่วนตัวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตัดสินใจเดินทางสู่ชนบท ผลงานสำคัญชิ้นนั้นคือ ความเป็นมาของคำว่า สยาม ไทย ลาว และลักษณะของชนชาติ
ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการได้เพิ่มงบประมาณในการปราบปรามคอมมิวนิสต์และเพิ่มกำลังการกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับตนสูงขึ้น โดยอ้างสถานการณ์ที่ทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2508 ที่บ้านนาบัว อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นเงื่อนไขอันชอบธรรม เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2509 จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้จุดประกายไฟ ศิลปะเพื่อชีวิต ถูกยิงเสียชีวิตทางภาคอีสานของประเทศไทย ภายใต้การปกครองที่เผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ประชาชนไม่สามารถเรียกร้องหาประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรมให้กับสังคมและตัวเองได้ การถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ พร้อมการสวมปลอกคอให้เป็นผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันกระแสใต้ดินทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์การเป็นเผด็จการของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรอย่างเผ็ดร้อน กระบอกเสียงที่ทิ่มแทงรัฐบาลโดยตรงก็คือ วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เปิดโปงพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลต่างๆ ของผู้ครองอำนาจอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตรึงเครียด รัฐธรรมนูญที่คณะเผด็จการตั้งกรรมาธิการขึ้นร่างก็ประกาศใช้โดยใช้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะใช้เวลาในการร่างยาวนานแล้วยังขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งอีกด้วย เพราะได้คงบัญญัติมาตรา 17 แห่งคณะปฏิวัติที่ให้อำนาจหัวหน้ารัฐบาลตัดสินปัญหาด้วยวิธีเผด็จการแต่ผู้เดียว นำมาใส่ไว้ในมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างเสร็จและประกาศใช้
หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 กระแสทางการเมืองที่เคยปิดได้เปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ปัญญาชน นักคิด นักเขียน แนวศิลปะสร้างสรรค์สังคมก็เริ่มเปิดตัวสู่สังคมสู่ประชาชน การห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ปัญหาคอรัปชั่นโกงกินอย่างมหาศาลในวงการข้าราชการ การยินยอมให้ต่างชาติ คือ สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศรุกรานเพื่อนบ้านชาวอินโดจีน รวมไปจนถึงการส่งททหารไทยเข้าไปร่วมรบทำสงครามเวียดนาม เหล่านี้เป็นเนื้อหาที่ผู้รักความเป็นธรรมรักประชาธิปไตยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหนักขึ้นยิ่งเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียรและคณะกลับมาเป็นรัฐบาลเลือกตั้งผู้แทนราษฎร คำครหาติเตียนถึงความไม่ชอบมาพากลก็เพิ่มเป็นเท่าทวี
ในสถานการณ์ขณะนั้น วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ นับว่ามีบทบาทชี้นำความคิดของผู้รักความเป็นธรรมได้ดียิ่งจนเกิดปรากฏการณ์ขึ้น สำหรับหมู่ปัญญาชนรุ่นใหม่ คือการเกิดกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่ถกกันถึงสาระว่าด้วยปัญหาสังคมและมูลเหตุแห่งความไม่เป็นธรรม กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเหล่านี้ได้แก่ กลุ่มสภาหน้าโดมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มวลัญชทัศน์ของนักศึกษาเชียงใหม่ กลุ่มกิจกรรมในรามคำแหง กลุ่มสภากาแฟของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สำคัญคือการจัดตั้ง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศที่ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมในส่วนกลางเพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมทางสังคม
วรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักคิกนักเขียนคนสำคัญในอดีตได้ถูกนำพิมพ์เผยแพร่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
และแล้วจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ทำในสิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยทำมาก่อน นั่นคือการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎร ประกาศใช้กฎอัยการศึก คณะทหารเข้าคุมชะตากรรมบ้านเมืองสมบูรณ์แบบ จะแตกต่างกันก็ตรงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารกับผู้อื่น แต่จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ทำรัฐประหารกับรัฐบาลที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลอยู่ บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความมืดมนทางสิทธิเสรีภาพอีก ขณะเดียวกัน การเรียนรู้บ่มเพาะตนเองของขบวนการศึกษาได้เติบโตพร้อมที่จะเป็นพลังเข้าตรวจสอบปัญหาในสังคมมากขึ้น
หลังจากมรณกรรม งานประพันธ์ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการพิมพ์เผยแพร่อีกใน ปี พ.ศ.2515 และครั้งนี้มีผลกระทบอย่างยิ่งกับความคิดอารมณ์ความรู้สึกบางส่วนของผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปกรรมโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เทคนิคโคราช และที่เพาะช่าง ในวงวรรณกรรมเกิดการรวมตัวของนักเขียนรุ่นใหม่ ใช้ชื่อว่า กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว รวมตัวกันหลวมๆ ถกปัญหาการสร้างงาน การคลี่คลายงานวรรณกรรมพร้อมกับวิจารณ์บ้านเมืองไปด้วยเป็นการภายใน
ที่เพาะช่าง ก่อนปี พ.ศ.2516 การกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของ กมล ทัศนาญชลี นักศึกษารุ่นพี่ที่ไปอยู่อเมริกาได้นำผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะของเขากลับมาแสดงที่เพาะช่างมีส่วนสร้างมิติแห่งความหลากหลายต่อวงการศิลปะสากลบ้านเราในสังคมยุคนั้นไว้พอสมควร เช่น ปัญหาสงครามอินโดจีน ปัญหาของประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา เมื่อไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาสภาพสังคมใหม่ที่พบเห็น ผนวกความรับรู้การสร้างเทคนิคเพิ่มเติม กมล ทัศนาญชลี ได้ทดลองงานศิลปะแนวใหม่อย่างไม่ย่ำอยู่กับที่ เช่น เทคนิคสื่อผสม งานเหล่านี้นักศึกษาเพาะช่างได้ซึมซับเอาไว้บ้างไม่มากก็น้อย
ในเวลาต่อมานักศึกษาเพาะช่างถูกปลุกสำนึกไปสู่ทางเดียวกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ข่าวลือสะพัดที่ว่า พันเอกณรงค์ กิตติขจร เลขาธิการ กตป. ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้มีพ่อเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการพื้นที่อาคารโรงเรียนเพาะช่างทำเป็นสมาคมศิษย์เก่านักเรียนสวนกุหลาบฯ ย้ายโรงเรียนเพาะช่างไปอยู่แหล่งอื่นซึ่งห่างไกล การรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างคณาจารย์ นักศึกษาศิษย์เก่าเพาะช่างจึงเกิดขึ้นอย่างเหนียวแน่น โดยมีสภานักศึกษาเพาะช่างยุคของ ผดุง พรหมมูล เป็นประธานรับบทแกนนำด้วยสำนึกร่วมกันเพื่อรณรงค์คัดค้านกรณีจะถูกยึดเอาที่ตั้งสถาบันการศึกษาศิลปะอันยาวนาน นั่นเป็นกรณีหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้นักศึกษาศิลปะหวนเข้าตรวจสอบปัญหาภายในสถานการศึกษา พร้อมกับเปิดโลกทัศน์มองปัญหาสังคมภายนอกด้วย
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ความคิดก้าวหน้าและเรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สำนึกของคณาจารย์และนักศึกษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความขัดแย้งในเวทีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งให้คณาจารย์และนักศึกษาศิลปกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มจับตาตรวจสอบกระบวนความคิดทางศิลปะเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินนอกระบบ ผู้ศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองซึ่งเป็นผู้ที่ดีดตัวเองอยู่นอกการประชันขันแข่ง ได้สร้างผลงานศิลปกรรมและวรรณกรรมที่มีสาระสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์สังคม นับเป็นศิลปินที่บุกเบิกงานแนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนอย่างต่อเนื่องท่านหนึ่งรวมถึงงานของ สมชัย หัตถกิจโกศล ที่แสดงออกด้วยการกระทบกระเทียบสังคมบ้านเมืองโดยซ่อนเร้นเนื้อหาแห่งการวิจารณ์ไว้ในเชิงสัญญลักษณ์
ระยะเวลานั้นขบวนการนักศึกษาได้เติบโตขึ้น การตรวจสอบปัญหาในสังคมมุ่งไปสู่ภัยร้ายที่เข้ามาครอบงำชาติทางด้านเศรษฐกิจทุกรูปแบบ กระแสการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นโดยการนำของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งมี ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการเริ่มอย่างกว้างขวางนับเป็นปรากฏการณ์ที่พัฒนาไปสู่คุณภาพของขบวนการนักศึกษา คำขวัญที่ว่า งดใช้สินค้าญี่ปุ่น หันกลับมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ขจรขจายไป แฟชั่นนำผ้าดิบไม่ฟอกมาตัดเสื้อแทนผ้าโทเรฯ ซึ่งเป็นของนายทุนญี่ปุ่นเริ่มแพร่เข้ามาในรั้วสถาบันศิลปะแล้ว
ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเทคนิคโคราช นครราชสีมา การตื่นตัวต่อปัญหาบ้านเมืองมีมากขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์และนักศึกษาศิลปะหันมาให้ความสนใจแนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อสังคม มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นต่อเหตุการณ์ทางสังคมจากบุคคลหลากหลายวิชาชีพ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการเกิดศิลปะเพื่อชีวิตของศิลปินสาย อิสานโคราช
ที่เพาะช่าง แนวความคิดใหม่ที่แพร่กระจายทำให้นักศึกษาผู้สนใจแสวงหา เปิดโลกทัศน์กว้างรับทัศนะของศิลปินนอกระบบ บ้านของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่ถนนตากสิน บ้านของ ประเทือง เอมเจริญ ที่บางแค เกาะเสม็ด ที่ชาญ อาศรม อาศัยศึกษาจากธรรมชาติรวมถึงศิลปินอิสระอื่นๆ อีกมากมาย เป็นแหล่งต้อนรับนักศึกษาเพาะช่างส่วนหนึ่ง พร้อมกันนั้นการศึกษาปรัชญาชีวิต ปรัชญาสร้างงานศิลปะก็มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น
ขณะที่แนวคิดต่อระบบสังคมของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยขยายขอบเขตก้าวไกลไปสู่ปัญหาการเมืองการปกครองที่ปราศจากประชาธิปไตย นักศึกษาศิลปะส่วนหนึ่งได้ก้าวขานรับความคิดนั้นอย่างมีพัฒนาการ
การเคลื่อนไหวเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีข้าราชการผู้ใหญ่บางคนนำเฮลิคอปเตอร์พานักแสดงไปล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนจนเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเป็นเรื่องอื้อฉาว การเคลื่อนไหวของขบวนการ นักศึกษากรณีลบชื่อนักศึกษารามคำแหง โดย ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีฯ จนเกิดการชุมนุมยืดเยื้อที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และยุติลงด้วยการที่ขวนการนักศึกษา ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จและประกาศใช้ในหกเดือน เมื่อเดือนมิถุนายน 2516 เหล่านี้นับเป็นจังหวะก้าวให้นักศึกษาได้รับรู้ปัญหาและก้าวเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น
จนถึง ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 นักศึกษา ประชาชน กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าสนใจปัญหาบ้านเมือง จำนวน 100 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร เพราะไม่มีทีท่าว่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จัดให้มีการเลือกตั้ง นักศึกษาประชาชนได้ออกแจงแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่อนุสาวรีย์ทหารอาสาฯ มุมสนามหลวงตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ ไปบางลำภู ประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลเผด็จการถนอม ได้จับกุมตัวผู้แจกแถลงการณ์จำนวน 11 คน ในข้อหา มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เวลาต่อมาได้จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน นำไปควบคุมตัวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน โดยนำไปรวมกับผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ และผู้ต้องหาเนรเทศ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านการจับกุมจากนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศในเวลาต่อมา การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คน ก่อตัวขึ้นทีละน้อยที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการนำของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งมี พีระพล ตริยะเกษม เป็นนายกองค์การฯ, ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เข้ารับบทบาทการนำชุมนุมในเวลาถัดมาที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน จากทั่วทุกสารทิศร่วมชุมนุมสนับสนุน จากจำนวนพันเป็นหมื่นคน, หลายหมื่นคน และเป็นแสนคน นักศึกษาศิลปะเพาะช่างโดยการนำของสภานักศึกษามี ไชยยันต์ ศรีประทักษ์ เป็นประธานฯ ได้ประกาศจุดยืนเด่นชัดนำนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมให้ปล่อยตัวผู้จับกุมทั้ง 13 คน และเรียกร้องให้รัฐบาลคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน จัดให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็ว
สโมสรนักศึกษาศิลปากรได้ประกาศตัวเข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการด้วยการ์ตูนการเมืองเสียดสีผู้นำเผด็จการถูกนำไปติดรอบกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากรด้านถนนมหาราช
เวลาเที่ยงวันของวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2516 สมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ภายในเวลา 24 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะใช้มาตรการขั้น เด็ดขาด เมื่อครบเวลาตามกำหนดไม่มีคำตอบจากรัฐบาล การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ดำเนินขึ้น
เมื่อเวลาหลังเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขบวนการนักศึกษาประชาชนหลายแสนคนเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางประตูท่าพระอาทิตย์มุ่งสู่ถนนราชดำเนินกลาง นักศึกษาศิลปะได้เกาะติดรถบัญชาการของขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยไปอย่างกระตือรือร้น จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ขบวนหยุดเพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาลและจากตัวแทนนักศึกษาที่ไปเจรจากับทางฝ่ายรัฐบาล จนเวลาประมาณ 17.00 น. เมื่อยังไม่ได้รับการติดต่อกับตัวแทนนักศึกษาที่ไปเจรจากับฝ่าย รัฐบาล เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงตัดสินใจเคลื่อนขบวนต่อ มุ่งไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ช่วง กลางดึก เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคลื่อนขบวนไปสู่ถนนหน้าสวนจิตรลดาด้านตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิตเขาดินวนาเพื่อเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง เมื่อ ธีรยุทธ บุญมี หนึ่งใน 13 คน ที่ถูกทางรัฐบาลจับตัวไป ได้ฝ่าฝูงชนเข้าไปยังรถบัญชาการเพื่อพบ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชี้แจงให้เข้าใจว่าตนและพวกที่ถูกจับทั้ง 13 คน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ทั้งหมดเดินทางเข้าเฝ้าในสวนจิตรฯ และออกมาประกาศเลิกชุมนุมในเวลาเช้ามืดของวันใหม่
รุ่งอรุณของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่กำลังสลายตัว บางส่วนเดินทางกลับทางด้านสี่แยกราชวิถี บางส่วนยังวิพากษ์วิจารณ์การยอมสลายการชุมนุมอย่างง่ายดายโดยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ทางรัฐบาลจะทำตามคำขอให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง นักศึกษาศิลปะ ส่วนหนึ่งที่เกาะติดรถบัญชาการนำขบวนมาตั้งแต่ต้น ยังถกเถียงและไม่เห็นด้วยกับการรีบสลายขบวนชุมนุมอยู่นั้นเอง เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ตำรวจคอมมานโด ภายใต้การนำของ พลตำรวจโทมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ได้ปิดกั้นสี่แยกราชวิถี ไม่ให้ผู้คนผ่านอย่างเด็ดขาด ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้น เมื่อมีคำสั่งให้ลงมือปราบอย่างรุนแรง ตำรวจหน่วยคอมมานโดได้ลงมือบุกตะลุยฟาดด้วยกระบองและยิงด้วยแก๊สน้ำตา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ซึ่งมีแต่สองมือเปล่าก็ถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด เด็กนักเรียนหญิงโรงเรียนพาณิชย์นักศึกษาประชาชนถูกตีตกคูน้ำข้างสวนจิตรฯ และเขาดิน พวกนักเรียนอาชีวะและนักศึกษาศิลปะได้กรูกันสกัดด้วยก้อนหิน อิฐ ไม้ ขวดแก้ว เพื่อช่วยเด็กและผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บออกมา ผู้บาดเจ็บเลือดแดงฉานถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยนำเข้าทางสวนสัตว์ดุสิตฯ ไปออกประตูด้านรัฐสภา นักเรียนอาชีวะ-นักศึกษา-ประชาชนได้ออกกระจายข่าวไปทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปากคลองตลาด ท้องสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วงเวียนใหญ่ ศิริราช สี่แยกบ้านแขก ฯลฯ
หน้าประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก การลุกขึ้นสู้ต่อต้านการกระทำอันป่าเถื่อนของรัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้สวมจิตใจสู้อย่างไม่กลัวตายโดยปราศจากอาวุธ ในขณะที่ฝ่ายปราบปรามได้ใช้กำลังอาวุธทุกรูปแบบ นำทหารตำรวจเคลื่อนรถถังเฮลิคอปเตอร์ อาวุธสงครามสาดกระสุนเข้าสังหารประชาชน หนำซ้ำยังออกข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงทางกรมประชาสัมพันธ์ ยิ่งทำให้นักศึกษา-ประชาชนทั่วไปเคียดแค้นชิงชังรัฐบาลมากขึ้นเป็นลำดับ ได้รวมตัวกันบุกพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงบิดเบือนให้กับรัฐบาลและสามารถเผาสำนักงานสลากกินแบ่ง เผาตึกสำนักงาน กตป. (กองติดตามผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งมีพันเอกณรงค์ กิตติขจร) เป็นเลขาธิการได้สำเร็จ ทั่วท้องถนนราชดำเนินกลางหนุนเนื่องไปด้วยนักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ทั้งที่ทางอำนาจรัฐเผด็จการได้ประกาศให้สลายการชุมนุมมิฉะนั้นจะปราบรุนแรงเพิ่มขึ้