บทความ
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเทือกเขาบรรทัด
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเทือกเขาบรรทัด
ชุมชนเทือกเขาบรรทัด: การต่อสู้ของชุมชนกับนายและรัฐสมัยใหม่
ปริญญา นวลเปียน
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
"ชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด: การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุดของชุมชนกับรัฐ"
กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของสภาพภูมิวัฒนธรรมศาสตร์อันมีลักษณะเฉพาะ
โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาบรรทัด ที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง
และการลุกเข้ามาของวัฒนธรรมนาย ตลอดรวมถึงข้าราชการ
และการจัดการทรัพยากรของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยใหเข้าใจเหตุการณ์ปัจจุบัน
midnightuniv@gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๕๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด: การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุดของชุมชนกับรัฐ
ปริญญา นวลเปียน : อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี
(ปรับปรุงจากบทความของผู้เขียนเรื่อง "ชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลากับมโนทัศน์เรื่องความเป็นอิสระจากรัฐ: ภาพสะท้อนจากวิถีการผลิตของชุมชนเชิงเขาบรรทัดช่วงทศวรรษ 2440-2520" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "พลังทางสังคมไทยในทศวรรษหน้า: ทางเลือกกับความเป็นจริง" จัดโดยสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 30-31 สิงหาคม 2546)
1. ความนำ
"เทือกเขาบรรทัด" หรือรู้จักกันในชื่อทางภูมิศาสตร์ว่าเทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดยาวเป็นระยะทางราว 300 กิโลเมตร ลงไปจนจรดเทือกเขาสันกาลาคีรีในจังหวัดสงขลา แบ่งกั้นพื้นที่ภาคใต้ตามแนวทิศเหนือ-ใต้ออกเป็นฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) และตะวันตก (ฝั่งอันดามัน/มหาสมุทรอินเดีย) สภาพภูมิศาสตร์ของเทือกเทือกเขาบรรทัดที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 1,800 เมตร ("เขาหลวง" ในจังหวัดนครศรีธรรมราช) 1,200 เมตร ("เขาเจ็ดยอด" ในจังหวัดพัทลุง) และ 800 เมตร ("เขาน้ำค้าง" ในจังหวัดสงขลา) ไม่เพียงแต่เป็นปราการขนาดใหญ่มหึมาคอยกีดขวางกระแสลมมรสุมจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรเท่านั้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ป่าฝนอันอุดมสมบูรณ์ก็ยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำคลองที่ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ราบ ก่อนสิ้นสุดลงยังจุดใดจุดหนึ่งของมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทะเลสาบสงขลาพื้นที่ขนาด 1,040 ตารางกิโลเมตร (กว่าหกแสนไร่) ก็เกิดขึ้นจากน้ำจืดจากสายน้ำลำคลองนับร้อยสายที่ไหลลงจากเทือกเขาบรรทัด ผสมผสานกับน้ำเค็มจากแรงหนุนของมหาสมุทรฝั่งอ่าวไทย จนเกิดเป็น "ทะเล 3 น้ำ" คือน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย (1)
นอกเหนือจากนั้น เทือกเขาบรรทัดยังโอบกอดเอาผู้คนเข้าไว้ด้วยความอุดมสมบูรณ์อันหลากล้น กล่าวได้ว่าในทุกพื้นที่ราบกลางหุบเขา จะประกอบด้วยชุมชนขนาดใหญ่น้อย สลับกับเรือกสวนไร่นาเขียวขจีของชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดเรียงรายกันอยู่ทั่วไปทั้งสองฟากฝั่งทะเล กล่าวเฉพาะชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยท้องถิ่นที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และฐานทรัพยากรร่วมกัน หากมองข้ามขอบเขตของหน่วยการปกครองที่รัฐกำหนดขึ้นในภายหลังแล้ว ก็สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ร่วมกันของชุมชนในพื้นที่จังหวัดพัทลุงทั้งหมด กับบางส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลาได้อย่างน่าสนใจ (2)
ท้องถิ่นบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาดังกล่าวนี้ จะหมายรวมถึงชุมชนทำประมงหรือ "หมู่เล" จากพื้นที่รายรอบทะเลสาบสงขลา "หมู่ทุ่ง" ที่เป็นชุมชนชาวนาในพื้นที่ราบที่อยู่รอบนอกออกไปทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาคือเขตจังหวัดพัทลุง และชุมชนชาวนาทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบในเขตจังหวัดสงขลา เช่น ระโนด สะทิงพระ สำหรับ "หมู่เหนือ" คือชุมชนชาวไร่-ชาวสวนที่อยู่ทางต้นน้ำหรือเหนือสายน้ำลำคลองขึ้นไป ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด ซึ่งอยู่ทางฟากตะวันตกของทะเลสาบสงขลา
กล่าวได้ว่าชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ในชุมชนบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว หากแต่ต้องพึ่งพากันเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างชุมชนของ "หมู่เหนือ" ที่มีพืชไร่และของป่า "หมู่ทุ่ง" ที่มีข้าวอุดมสมบูรณ์ และ "หมู่เล" ที่มีทรัพยากรจากทะเลสาบอยู่ตลอดเวลา จนก่อให้เกิดความเป็นท้องถิ่นของบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาในที่สุด
นอกเหนือจากชุมชนดังกล่าวไม่เพียงแต่จะไม่สามารถตัดขาดตัวเองออกจากระบบเศรษฐกิจภายนอกได้เท่านั้น แต่ยังถูกโยงใยไว้ด้วยอำนาจรัฐในลักษณะต่างๆ นับตั้งแต่อำนาจรัฐในท้องถิ่นในอดีต โดยเฉพาะในสมัยของการรวมศูนย์อำนาจรัฐเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐสามารถใช้กลไกอำนาจรัฐในการควบคุมสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านกลไกทางอำนาจรัฐที่ซับซ้อน ไม่เพียงแต่รัฐสามารถสร้างระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีเพียงครูในโรงเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงใช้การสาธารณสุขสมัยใหม่ และพระภิกษุในพุทธศาสนาเข้ามารับใช้อุดมการณ์ต่างๆ ของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้กลไกทางอำนาจ ผ่านทางบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองและฝ่ายปราบปราม โดยชาวบ้านเรียกว่า "นาย" ด้วยความคุ้นเคยในฐานะของผู้กระทำ และมองเห็นอำนาจรัฐผ่านทางตัวตนของ "นาย" เหล่านี้มาโดยตลอด
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงบริบทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ ผ่านทางพฤติการณ์ของ "นาย" หรือเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐทางด้านการปกครองและปราบปรามฝ่ายหนึ่ง กับชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำจากการใช้อำนาจรัฐ และในขณะเดียวกัน ก็มีบทบาทต่อต้านหรือตอบโต้การใช้อำนาจรัฐของ "นาย" ตลอดช่วงเวลายาวนานกว่าศตวรรษ ภายหลังการก่อตัวของรัฐชาติสมัยใหม่ของไทยเป็นต้นมา
2. ชุมชนดั้งเดิมในรัฐ (ชาติ) สมัยใหม่: "นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา"
หมู่บ้านดั้งเดิมในชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ต่างตั้งอยู่บนเส้นทางตัดข้ามเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ฝั่งคาบสมุทรอ่าวไทยและคาบสมุทรอันดามัน ที่มีอยู่หลายเส้นทางด้วยกัน มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าหลายหมู่บ้านต่างเติบโตขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่มานับตั้งแต่ช่วงกลางสมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย เช่น บ้านนา บ้านกงหรา บ้านตะโหมด และบ้านชะรัด เป็นต้น โดยสามารถพิจารณาถึงความเก่าแก่ของชุมชนเหล่านี้ได้ จากอายุของพระพุทธรูปและวัดในชุมชน สำหรับหมู่บ้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งแยกครัวเรือนออกมาแสวงหาที่ดินทำกินเพิ่มเติม และการอพยพเพื่อหนีโรคระบาด (ไข้น้ำ) เช่น บ้านคลองหวะหลัง บ้านไร่เหนือ บ้านตะแพน และบ้านในตระ เป็นต้น จากการตรวจสอบด้วยคำบอกเล่าทำให้ทราบได้ว่าหมู่บ้านดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 130 ปี มาแล้วทั้งสิ้น
ในกรณีของความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงเดิม กับชาวบ้านในชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด ยังมีความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากเรื่องทางการเมือง เช่น หมู่บ้านดั้งเดิมคือบ้านชะรัด เป็นชุมชนชาวมุสลิมก็มีความผูกพันเป็นเครือญาติกับกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงเดิม ในสายตระกูล "ณ พัทลุง" ซึ่งเชื่อกันว่า "ทวดโหม" (ตาตุ่มมะระหุ่ม) คือบรรพบุรุษของชาวบ้านชะรัดและสายตระกูล "ณ พัทลุง" เคยอยู่ในฐานะหนึ่งใน 11 เมืองขึ้นของเมืองพัทลุง คู่กับเมืองปะเหลียน กำแพงเพชร จะนะ เทพา สงขลา สทิง พิพัทสิงค์ ระโนด ปราณ และศรีชะนา (3)
กลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงเดิมยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับชุมชนบ้านตะโหมด ที่อยู่บนเส้นทางตัดข้ามคาบสมุทรไปถึงเมืองปะเหลียนและเมืองไทรบุรี โดยชาวบ้านตะโหมดดั้งเดิมเคยนับถือศาสนาอิสลาม ก่อนที่จะเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ตามฝ่ายผู้ปกครองเมืองพัทลุง ด้วยแรงบีบคั้นทางการเมืองเรื่อง "พุทธ" คือ "ไทย" ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี (4) จนเป็นเหตุให้ผู้ที่ยังยึดมั่นในศาสนาอิสลามอีกกลุ่มหนึ่ง ต้องโยกย้ายออกจากบ้านตะโหมดไปสร้างชุมชนใหม่ทางตอนใต้ลงไป (5) ในขณะที่ชุมชนชาวพุทธในบ้านกงหราและบ้านนา สายตระกูลใหญ่ๆ ของชุมชนทั้งสอง ต่างก็มีการผูกสัมพันธ์อยู่กับฝ่ายผู้ปกครองเมืองพัทลุงเดิมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้โดยการเป็น "ดอง" ผ่านทางการแต่งงาน ซึ่งมีผลให้ต้องผูกพันเสมือนเป็นเครือญาติกันอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน (6)
ความสัมพันธ์แบบเครือญาติในลักษณะเหล่านี้ น่าจะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางการเมืองของฝ่ายผู้ปกครองเมืองพัทลุงเดิมในแง่ของความจงรักภักดี ในขณะเดียวกันก็มีผลให้ความสัมพันธ์แบบนายกับไพร่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าชุมชนจะสามารถปลดแอกตัวเองจากอำนาจรัฐได้ ด้วยการอาศัยความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมเหล่านั้น กล่าวคือ ภาระหน้าที่ของราษฎรในบริบทของความสัมพันธ์กับรัฐภายใต้ระบบสังคมบรรณาการ (tributary society) (7) ก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ นับตั้งแต่การเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วยที่เป็นของป่า เช่น น้ำผึ้งป่า น้ำมันยาง หวาย และอาจรวมถึงไม้เนื้อดีต่างๆ แก่ทางเมืองพัทลุงมาโดยตลอด
ความยากลำบากของชาวบ้านยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออำนาจรัฐศูนย์กลางเริ่มผ่อนคลายระบบไพร่ลง แต่หันมาใช้นโยบายเรียกเก็บค่ารัชชูปการเป็นเงินภาษีรายหัว จากผู้ชายที่มีครอบครัวในช่วงก่อนเริ่มการรวมศูนย์อำนาจรัฐเข้าสู่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ไม่นานนัก (8) เงินค่ารัชชูปการที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามของ "ภาษี 4 บาท" ได้สร้างภาระให้กับครัวเรือนอย่างหนัก เนื่องจากรายได้ในรูปของเงินตราจะได้มาจากการค้าขายเท่านั้น
ถึงแม้ว่าชาวบ้านในลุ่มทะเลสาบสงขลาโดยทั่วไป อาจจะคุ้นเคยกับการค้าขายผ่านระบบเงินตรา อย่างน้อยก็ในตลาดนัดและการค้าขายกับชาวจีน แต่รายได้ดังกล่าวน่าจะเพียงพอสำหรับการซื้อหาสินค้าจากต่างชุมชนเท่านั้น เงินทองสำหรับซื้อหาสินค้ามาบริโภคในชีวิตประจำวัน และเงินค่าภาษีในแต่ละปีของชาวบ้าน จึงได้มาจากการขายสัตว์เลี้ยงของครัวเรือน ก็คือวัวควายและ "หมูขี้พร้า" หรือสุกรพันธุ์ดั้งเดิม ชาวบ้านมักจะต้อนสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไปขายกันถึงต่างเมือง เช่น พวกผู้หญิงจากบ้านกงหรา และบ้านนา จะรวมตัวกันต้อนหมูขี้พร้าของตนเองและของญาติในหมู่บ้าน เดินทางข้าม "เขาพับผ้า" ข้ามไปขายถึงตลาดเมืองตรัง โดยใช้เชือกผูกขาหมูขี้พร้าทุกตัวเข้าด้วยกันให้พอเดินเรียงแถวกันได้ ก่อนนำเงินที่ได้ซื้อหาสินค้าประเภท เคอย (กะปิ) เกลือ และของจำเป็นในชีวิตประจำวันจากตลาด และเก็บออมเงินบางส่วนที่เหลือเอาไว้
จากความจำเป็นในการใช้เงินตราและการจ่ายภาษีในกลุ่มชายฉกรรจ์อย่างถ้วนหน้า ทำให้กลุ่มซึ่งไม่สามารถหาเงินค่าภาษีมาจ่ายได้ จำเป็นต้องออกลักวัวควายและปล้นทรัพย์สินของคนที่พอมีพอกินในถิ่นบ้านอื่นกันอยู่เรื่อยๆ เหตุผลจากความจำเป็นเฉพาะหน้าเมื่อผนวกกับ "วัฒนธรรมโจร" ของคนในพื้นที่ (9) ทำให้เกิดคดีลักปล้นอยู่ทั่วไปในชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดและบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา สำหรับวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เองหรือได้มาจากการลักปล้นของผู้อื่นก็ดี ส่วนหนึ่งมีการต้อนไปขายถึงเมืองไทรบุรี ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในเวลานั้น ซึ่งจะต้องผ่านด่านเก็บภาษีของทางการที่ตั้งอยู่ในช่องเขาข้ามเทือกเขาบรรทัด ปรากฏว่าในช่วงปี พ.ศ. 2439 มีวัวควายจากเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ผ่านเข้าเมืองไทรบุรีจากด่านทางนี้ถึงเกือบ 8,000 ตัว นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ทางราชการยังเก็บเงินภาษีได้เป็นเงินเกือบ 3,500 บาท
แม้กระนั้นก็ปรากฏว่ามีคนที่ค้างจ่ายภาษีในแต่ละปีอยู่เป็นจำนวนมาก จนทางการต้องเกณฑ์คนเหล่านี้ไปใช้แรงงานแทนเงินอยู่เสมอ โดยเฉพาะการขุดถนนตามทางพลีเส้นตัดข้ามคาบสมุทรสายเมืองพัทลุง-ตรัง ผ่านทาง "เขาพับผ้า" บนเทือกเขาบรรทัด ซึ่งชาวบ้านเคยเรียกว่า "ถนนเจ้าคุณเทศาฯ" ก็เกิดขึ้นจากแรงงานของผู้ค้างจ่ายค่าภาษีดังกล่าว
สำหรับภาพรวมโดยทั่วไปจากการขูดรีดภาษีราษฎรอย่างหนักในช่วงเวลาหลายปี และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคสมัยการสร้างรัฐชาติ ได้ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นของชาวบ้าน ในลักษณะของการต่อต้านอำนาจรัฐหรือ "กบฏชาวนา" ทางภาคเหนือและภาคอีสานขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2430 เป็นต้นมา (10) แต่ในพื้นที่บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาที่เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลนครศรีธรรมราช ที่ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นไปโดยสงบ ดังความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลถึงรัชกาลที่ 5 ในช่วงเวลาดังกล่าว ความว่า
"(ในมณฑลนครศรีธรรมราช-ผู้เขียน) เมื่อก่อนการจัดการเทศาภิบาล โจรผู้ร้ายก็อยู่ข้างจะมีเนืองๆ แลผู้คนมักจะอพยพออกไปอยู่หัวเมืองแขกไม่ใคร่ขาด ตั้งแต่จัดตั้งอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วางการปกครองตามแบบใหม่ใช้คนที่พอจะวางใจได้เป็นนายอำเภอ โจรผู้ร้ายก็เงียบสงบไป การที่ผู้อพยพก็มิได้มีดังแต่ก่อนและได้ความรู้เปนแน่นอนว่า ราษฎรในมณฑลนี้เปนคนที่บังคับบัญชาว่ากล่าวได้ อย่างง่ายที่สุดไม่มีความลำบากแก่การที่จะจัดการอย่างใด" (11)
ต่อเมื่อช่วงทศวรรษ 2460 ชุมชนทางทุ่งราบตอนกลางของลุ่มทะเลสาบสงขลาจึงเกิด "ชุมโจร" ขึ้นในตำบลควนขนุน และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลไปจนถึงชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด ทางแถบบ้านตะแพน บ้านเขาปู่-เขาย่า กล่าวได้ว่า พวกเขาสามารถพัฒนาเครือข่ายจากความสัมพันธ์แบบ "ไอ้เกลอ/ไอ้เฒ่า" ขึ้นเป็นชุมโจรขนาดใหญ่ อยู่ภายใต้การนำของ "รุ่ง ดอนทราย" และสืบต่อมาเป็น "ดำ หัวแพร" ออกปล้นชิงทรัพย์สินของผู้มีอันจะกินในชุมชนชาวนาทางตอนกลางของลุ่มทะเลสาบสงขลา
ผู้นำชุมโจรดังกล่าวใช้ชื่อจัดตั้งกันเป็น "ท่านขุน" ต่างๆ เลียนแบบคนของรัฐ และท้าทายอำนาจรัฐด้วยการประกาศไม่ยอมเสียภาษีใดๆ แก่ทางการ บางครั้งก็รวมตัวกันบุกโจมตีโรงพักจนตำรวจในพื้นที่ต้องอกสั่นขวัญแขวน แต่ที่สุดแล้วชุมโจรก็ถูกปราบปรามอย่างหนักจากกองกำลังตำรวจภูธรประจำมณฑล นำโดยพันตำรวจพระวิชัยประชาบาล จนชุมโจรล่มสลายและ "ดำ หัวแพร" ก็ต้องจบชีวิตลงด้วยปืนของตำรวจ (12)
ผลกระทบสำคัญประการหนึ่งภายหลังจากการปราบปรามชุมโจร ก็คือในปี พ.ศ. 2467 มีการโยกย้ายที่ว่าการอำเภอจากควนพนางตุง ในชุมชนทะเลน้อย ซึ่งเป็นชุมชน "หมู่เล" ริมทะเลสาบสงขลา มาตั้งเป็นอำเภอควนขนุนที่ในเขตของ "หมู่ทุ่ง" ชุมชนชาวนา เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปราบปรามบรรดากลุ่มโจรต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง ในปีเดียวกันยังได้มีการโยกย้าย "ที่ว่าการเมืองพัทลุง" จากตำบลลำปำ ซึ่งอยู่ในเขตชุมชน "หมู่เล" ริมทะเลสาบสงขลา มาตั้งตำบลคูหาสวรรค์ซึ่งอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายใต้ และเป็นพื้นที่ในเขตของชุมชนชาวนา เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับศูนย์กลางการปกครองเมือง และยังเป็นการลดบทบาทของฝ่ายผู้ปกครองเมืองพัทลุงเดิม ซึ่งถูกเพ่งเล็งว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มโจรท้องถิ่นในเมืองพัทลุงด้วยเช่นเดียวกัน (13)
3. วัฒนธรรมอำนาจแบบยอมจำนน: "นายเมา นายถีบเรา- เราเมา นาย (ก็) ถีบเรา"
ภายหลังการสิ้นสุดยุคของชุมโจรขนาดใหญ่ในลุ่มทะเลสาบสงขลา และมีการลดบทบาทกลุ่มผู้ปกครองเดิมในเมืองพัทลุงลง ไม่นานนักก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญขึ้นภายในศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2475 อาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของการนำรัฐไทยไปสู่ภาวะความทันสมัย แต่มีกลุ่มข้าราชการเป็นผู้ก่อการแทนที่จะเป็นฝ่ายเจ้านายอย่างแต่ก่อน และผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้นำไปสู่การลดบทบาทและอำนาจของทางฝ่ายเจ้านายลง พร้อมกับการขยายบทบาทของข้าราชการให้กว้างขวางออกไป สำหรับการครอบงำและควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในสังคม กล่าวคือ รัฐในยุคนี้ได้อาศัยกลไกที่หลากหลายรูปแบบของระบบราชการ เข้าไปกำหนดสังคมได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนเชิงเขาเทือกบรรทัดนั้น ความยากลำบากของเดินทางยังเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาตามแนวนโยบายของรัฐ เส้นทางสัญจรของคนในพื้นที่ก็คือ "ทางพลี" อันหมายถึงทางสาธารณะ ซึ่งมักเกิดขึ้นเองจากการใช้เดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประจำเท่านั้น ทางพลีดังกล่าวจะมีอยู่สองลักษณะคือ
- ทางพลีที่ทอดขนานไปกับทิวเทือกเทือกเขาบรรทัดในแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นเส้นทางของความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรม ที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ของชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด และ
- ทางพลีเส้นทางในแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก เช่นเดียวกับเส้นทางสัญจรตามสายน้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชนในบริเวณเชิงเทือกเขาบรรทัด กับชุมชนภายนอกอื่นๆ เช่น ชุมชนชาวนาและชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเลสาบสงขลา มักจะใช้เพื่อตอบสนองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐ เช่น การเสียภาษี การเกณฑ์แรงงาน และการติดต่อราชการอื่นๆ
ทางพลีทั้งสองลักษณะจึงมีอยู่เป็นระยะๆ กล่าวเฉพาะทางพลีในแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้สำหรับติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดกับชุมชนภายนอก บางเส้นทางได้ถูกขยับขยายและปรับปรุงให้ดีขึ้นในเวลาต่อมา รวมทั้งการพัฒนาให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของรัฐในช่วงระหว่างทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จุดสิ้นสุดของทางพลีลักษณะนี้มักจะสิ้นสุดลงที่ตลาดนัด อันเป็นสถานที่นัดพบเพื่อจับจ่ายสินค้าของผู้คนจากชุมชนต่างๆ ของลุ่มทะเลสาบสงขลาในอดีต ซึ่งโดยปกติแล้ว ในตลาดจะไม่มีการแลกเปลี่ยนกันโดยตรง อย่างน้อยก็ได้รับการยืนยันว่านับเป็นเวลายาวนานกว่า 70-80 ปีมาแล้ว ที่ในตลาดนัดจะต้องซื้อขายสินค้ากันด้วยเงินตราเท่านั้น (14)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวเรื่องราวเกี่ยวกับโจรยังไม่ได้จางหายไป ด้วยการที่ชาวบ้านต่างให้ความหมายว่า วิธีโจรคือวิถีวัฒนธรรม และเป็นทางหาเลี้ยงชีพของลูกผู้ชายด้วยเหตุผลว่า "ไม่ลักจ่ายไหร" (15) ทำให้การลักปล้นยังคงมีอยู่อย่างเป็นปกติในบริเวณนี้ และมีการปราบปรามโจรผู้ร้ายทางแถบนี้โดยตำรวจภูธรขึ้นอีกครั้ง ในช่วงของทศวรรษ 2480 จนนำไปสู่เรื่องเล่าราวตำนานเกี่ยวกับ "ขุนพันธุ์ดาบแดง" อยู่ทั่วไปในกลุ่มคนยุคนั้น
แต่โดยทั่วไปแล้วอำนาจของ "นาย" ก็จะยังคงกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะในเมือง ส่วนในชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดนั้น บรรดา "นาย" ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกทางด้านอำนาจและการปกครอง จะเดินทางไปถึงต่อเมื่อจำเป็นหรือเมื่อมีคดีความสำคัญเกิดขึ้น หรือเมื่อต้องเข้าไปตั้งกองเร่งรัดเก็บภาษีต่างๆ บ้าง ซึ่งชาวบ้านต้องต้อนรับขับสู้กันอย่างดีที่สุด นอกเหนือไปจากนี้แล้วการปกครองและดูแลราษฎรก็อยู่ในอำนาจของกำนันและผู้ใหญ่บ้านในท้องที่จะจัดการเอาเอง ประมาณปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จะพบว่าทางการได้ส่งตำรวจตำบลเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยถึงในตำบลและหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเมื่อเข้าพื้นที่ตำรวจเหล่านี้ก็มักจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านของกำนัน และคบหาอยู่กับพวกนักเลงโตหรือกลุ่มนักเล่นพนัน ภาพลักษณ์ของบรรดาตำรวจตำบลจึงไม่สู้ดีนัก เช่น ชาวบ้านในชุมชนได้ทบทวนความหลังให้ฟังว่า "จ่าเกลี้ยงมาอยู่ชนแต่ไก่ ถือปืนสั้นอยู่กระบอกหนึ่ง มีลูกน้องสองคนถือปืนคาร์บิน ด้น (ดุ) ทั้งเพแหละ" (16) พฤติการณ์ของ "นาย" ในท่วงทำนองดังกล่าวก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในกลุ่มชาวบ้าน และไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจแสดงออกได้มากไปกว่าที่ต้องถือตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่เดิม กล่าวคือ ถ้าหากว่า "นาย" มาถึงเรือนชานบ้านใด เจ้าบ้านจะต้องให้การดูแลอย่างดีที่สุด เช่น การหามะพร้าวอ่อนมาต้อนรับ และหากถึงมื้ออาหารก็ควรจัดเตรียมสำรับกับข้าวอย่างดี ด้วยการจับเป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้มาทำแกงให้ "นาย" กินเป็นสำรับเท่านั้น
- เมื่อชุมชนลุกขึ้นสู้: "ไม่รบนาย ไม่หายจน"
จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2505 แนวคิดเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ค่อยๆ แพร่เข้ามาในชุมชนชาวนาบ้านเขาเจียกและบ้านสังแกระ จนสามารถอาศัยแกนนำที่เป็นชาวบ้านจากบ้านเขาเจียกกลุ่มหนึ่ง ออกไปเผยแพร่แนวความคิดสู่ชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด โดยเริ่มขึ้นที่บ้านนาเป็นเป้าหมายแรก เนื่องจากเล็งเห็นว่า สภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นฐานในการเผยแพร่เข้าสู่หมู่บ้านอื่นๆ ต่อไปได้ ชาวนาจากบ้านเขาเจียกก็ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งแกนนำขึ้นในบ้านนาเพียงชั่วเวลาไม่นานนัก ก่อนที่จะค่อยๆ แพร่กระจายออกไปสู่หมู่บ้านอื่นในเวลาต่อมา กล่าวกันว่าในส่วนของเนื้อหาที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้ในการสร้างแนวร่วมที่เป็นชาวบ้านอย่างได้ผลที่สุดก็คือ "ปลุกระดมให้คนเกลียดนาย" (17) เมื่อเหตุการณ์ "เสียงปืนแตก" เกิดขึ้นครั้งแรกในลุ่มทะเลสาบสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2507 (18) ที่บ้านควนปลง หมู่บ้านชาวนาใกล้ตัวเมืองพัทลุง เกิดขึ้นมาจากกลุ่ม "ลักเลง" หรือนักเลงที่เป็นแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ตัดสินใจ "ยิงนายเอาปืน" ก่อนหลบหนีขึ้นสู่เทือกเขาบรรทัด เข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นชาวนาบ้านเขาเจียก บ้านสังแกระ และบ้านนา ซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก และเคลื่อนไหวขยายมวลชนอยู่ในหมู่บ้านของตนเองเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเปิดฉากการใช้อาวุธต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐแล้ว กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและตรัง ก็ยังคงมีตัวเลขอยู่ประมาณ 100 คน และก็ต้องถูกติดตามและกดดันอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นยังมีการส่ง "นาย" ไปข่มขู่ครอบครัวที่มีสมาชิกเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือชาวบ้านเรียกว่า "เข้าป่า" บีบบังคับไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นอย่างเด็ดขาด
แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็กลับขยายมวลชนในเขตชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมที่ยึดมั่นอยู่ในสังคมเครือญาติของชุมชน ซึ่งโยงใยไปถึงความสัมพันธ์ในแบบ "เกลอ" และ "ดอง" ทำให้การ "จัดตั้ง" สามารถขยายออกไปได้อย่างน่าพอใจ และด้วยการแสดงออกที่เป็นมิตรกับชาวบ้าน มีการพูดจาที่ดี ให้การช่วยเหลือแรงงาน รวมทั้งการใช้นโยบายปราบโจรที่ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอย่างเด็ดขาด โดยการติดตามผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว และยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ การว่ากล่าวตักเตือนในครั้งแรก แต่หากพบว่ายังมีความประพฤติเป็นโจรอีกก็จะถูกสังหารทิ้ง เพียงเวลาไม่นานนักในหมู่บ้านต่างๆ ที่อิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าไปถึง ก็แทบไม่ปรากฏแม้กระทั่งการลักเล็กขโมยน้อยขึ้นเลย ในขณะที่ฝ่าย "นาย" ก็ไม่ละความพยายามในการปราบปราม ชาวบ้านที่ต้องสงสัยว่าให้ความร่วมมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จะถูกรายงานพฤติกรรมจากผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) รวมถึงสายลับที่เป็นชาวบ้าน และหน่วยสืบราชการลับที่ปลอมตัวเข้ามาอยู่อาศัยหางานทำในหลายหมู่บ้าน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2512 กองกำลังของทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการขึ้นในหมู่บ้านของชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดหลายจุดด้วยกัน มีชาวบ้านจำนวนมากถูกนำตัวเข้าไปสอบสวนภายในค่ายเหล่านี้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ชาวบ้านบางส่วนที่ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ค่ายเกาะหลุง" ในตำบลบ้านนา และ "ค่ายท่าเชียด" ในตำบลตะโหมด หายสาบสูญไปเป็นจำนวนมาก
ในช่วงแรกๆ เจ้าหน้าที่จะอธิบายกับญาติพี่น้องและครอบครัว ที่ไปสืบถามข่าวคราวว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านไปแล้ว และอาจจะแสดงความแปลกใจให้เห็นเมื่อได้รับการยืนยันว่ายังกลับไปไม่ถึงบ้าน แต่ในช่วงหลังจากนั้นเมื่อมีชาวบ้านหายสาบสูญภายหลังการถูกจับมากขึ้น ข่าวคราวเกี่ยวกับการฆ่าและเผาลงถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ที่เรียกว่าการฆ่าลง "ถังแดง" ซึ่ง "นาย" ได้กระทำกับชาวบ้านที่ถูกจับตัวไป จึงเริ่มแพร่กระจายไปทั่วทุกหมู่บ้านในชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัด ในขณะที่ทุกๆ วันจะมีข่าวคราวการจับชาวบ้านไปลง "ถังแดง" ให้ได้รับรู้กัน (19) ผลของการเข่นฆ่าครั้งใหญ่กรณีถังแดง ไม่เพียงทำให้เกิดความหวาดกลัวไปทั่วพื้นที่นั้น แต่ยิ่งเพิ่มความเกลียดชัง "นาย" ให้กับชาวบ้านในชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะญาติพี่น้องและครอบครัวของผู้ถูกกระทำทารุณกรรม ผลักดันให้ชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเป็นแนวร่วมและคนหนุ่มสาวจำนวนมากหลั่งไหลขึ้นสู่ภูเขาจับอาวุธสู้รบในนามของทหารป่า บางครอบครัวถึงกับเข้าป่ากันทั้งพ่อแม่และลูกเล็กเด็กแดง จนกองทัพปลดแอกประชาชนในเขตเทือกเขาบรรทัดมีจำนวนหลายพันคน
วลีที่ว่า "ไม่รบนาย ไม่หายจน" ถูกเปล่งขึ้นมาและถูกขานรับไปทั่วเทือกเขาบรรทัด จากการต่อต้าน "นาย" ก็กลายเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ จนเป็นสงครามซึ่งกินเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ ภายในสมรภูมิการสู้รบที่เป็นหมู่บ้านของพวกเขาเอง
กล่าวได้ว่าตลอดช่วงเวลาอันยาวนานของการต่อสู้ ความพยายามของฝ่ายอำนาจรัฐในการเอาชนะสงครามกับฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวไร่ชาวนาของฝ่ายคอมมิวนิสต์ นอกเหนือจากการทุ่มเทเจ้าหน้าที่และยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่างมากมายเข้าปราบปรามตลอดเวลา ฝ่ายอำนาจรัฐยังพยายามช่วงชิงมวลชนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ในด้านอื่นๆ เช่น การขยายบริการไฟฟ้า และการพัฒนาการคมนาคม มีการเปลี่ยนทางพลีเป็นถนนและปรับปรุงเป็นทางราดยางมะตอยในเวลาต่อมา รวมทั้งปรับปรุงสะพานไม้ซุงเป็นคอนกรีต ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ในการเดินทางของชาวบ้านในชุมชนเท่านั้น แต่ฝ่ายอำนาจรัฐถือว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายทางความมั่นคงเป็นสำคัญ
นอกเหนือจากนั้น ยังมีการปรับปรุงการศึกษา การปกครอง และการสาธารณสุข ขยายจำนวนโรงเรียนประถมศึกษา การจัดตั้งโรงเรียนมัธยม ขยายเครือข่ายสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการยกฐานะตำบลในชุมชนเชิงเทือกเขาบรรทัดเป็นกิ่งอำเภอและอำเภอในภายหลัง เช่น ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมามีการยกฐานะตำบลต่างๆ ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ เช่น กงหรา ศรีบรรพต รัตภูมิ และตะโหมด
นอกเหนือจากนั้นเพื่อให้สามารถแย่งชิงมวลชนมาจากการแพทย์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามของ "หมอป่า" ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการรักษาชาวบ้านแทนหมอพื้นบ้านในเขตเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงเร่งขยายบริการอนามัยชุมชนเข้าไปในหลายพื้นที่ รวมทั้งก่อตั้งโรงพยาบาลชุมชนขึ้นในเขตพื้นที่การปกครองใหม่ดังกล่าวด้วย - ความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากร: อย่าปล่อยให้ชุมชนไม่มีที่ยืนในพื้นที่ของตนเอง การต่อต้านอำนาจรัฐของชาวบ้านทั้งที่ปรากฏในลักษณะเฉพาะตัว ในกรณีของยุคโจรและชุมโจร และในยุคสมัยของการร่วมกัน "รบนาย" ในนามของขบวนการเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ นับเป็นปฏิกิริยาที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ควบคู่กันของอำนาจและการต่อต้าน (20) ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในขอบข่ายของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐในปัจจุบัน มิได้เป็นเรื่องของการกดขี่ขูดรีดและความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในรูปแบบเดิมๆ แต่เป็นประเด็นของการแย่งชิงทรัพยากร เช่นเดียวกับในอีกหลายชุมชนของสังคมไทย สำหรับปัญหาที่นำเสนอโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (21) สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากร ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ นับตั้งแต่หลังยุคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างรัฐกับชาวบ้านในปัจจุบัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่แก่ฝ่ายอำนาจรัฐอย่างแทบจะสิ้นเชิง อันเป็นผลจากการที่รัฐเป็นฝ่ายผู้ยึดถือกฎหมาย และดูเหมือนใช้บทบาทของตัวกลางในฐานะผู้ควบคุมการใช้ทรัพยากรแทนสังคมโดยรวม ในขณะที่ชุมชนไม่มีทางเลือกอื่นใดมากนัก นอกจากการยอมจำนนต่อกฎหมายที่ "นาย" กำหนดขึ้น หรือการเรียกร้องด้วยการชุมนุมหรือการเดินขบวน ซึ่งเ