บทความ
ศิลปะกับมุมมองทางสังคม
ศิลปะกับมุมมองทางสังคม สุชาติ สวัสดิ์ศรี
หัวข้อศิลปะกับสังคม ถ้าจะเอ่ยถึงจุดก่อเกิดของคำว่าศิลปะมาจากไหน ผมเข้าใจว่า ถ้อยคำ มาภายหลัง แต่ เสียง ที่ไม่เป็นถ้อยคำมาก่อนภาษาที่เป็นถ้อยคำ นักปรัชญาคนหนึ่งชื่อ โชเปนเฮาเออ เคยกล่าวว่า ศิลปะทุกประเภทได้รับความบันดาลใจมาจากดนตรี คือมาจากเสียง เห็นได้ชัดคือเสียงกลอง เสียงกลองเป็นเสียงสากลที่ง่ายที่สุด และมีความหมายเร็วที่สุด เสียงกลองนี่จะรู้เลยว่ามีความหมายอย่างไร ตีเบาตีค่อยตีหนักตีกระชั้นมีความหมายต่างๆ ที่เข้าใจกันทันที ต่อมาจึงมีเสียงอื่นๆ มาประสานให้กลมกลืน และซับซ้อนมากขึ้น กล่าวสรุป เสียงจึงเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่เป็นอิสระที่สุดในความหมายของศิลปะ เนื่องจากมันเป็นสื่อที่ศิลปินใช้เร้าผู้ฟังโดยตรง ถ้าเป็นอย่างอื่น เช่น วรรณกรรม เราต้องอาศัยภาษาที่เป็นถ้อยคำต่างๆ หรือทางด้านละครก็ต้องมีการประสานงานกันหลายอย่าง ภาพยนตร์ก็เช่นกัน ต้องเอาศิลปะหลายแขนงมารวมกัน อันนี้ก็ว่ากันตามที่ฝรั่งเขาว่าไว้ เมื่อพิจารณาตามหัวข้อ ผมจึงอยากขอพูดกว้างๆ ไว้ก่อน เพราะหัวข้อกว้างเหลือเกิน
ศิลปะกับสังคม มุมมองเป็นอย่างไร คำว่าศิลปะ ผมเคยถามตัวเองว่าเป็นมาอย่างไร มาจากไหน มาจากชื่อ ศิลป์ พีระศรี หรือมาจากไหน หนังสือบางเล่มได้ให้การว่า น่าจะมาจากคำว่า สิบ สิปปะ หรือที่เรียก ช่างสิบหมู่ คือ สมัยก่อนมีหลักฐานว่ามีบรรดาช่างที่เรียกกันว่า สิบหมู่ ความจริงแล้ว ฝีมือทางชั้นเชิงช่างของไทยนั้นมีมากกว่าสิบ แต่ทำไมเรียกกันแค่สิบหมู่ก็ไม่ทราบ คำว่าช่างหรือชั้นเชิงช่างแต่โบราณนั้นมีมากกว่าสิบอย่างแน่นอน เมื่อมาติดอยู่แค่ สิบ หรือ สิปปะ สอเสือสระอิปอปลาสระอะ ดังนั้นก็เลยสันนิษฐานว่ามันน่าจะเป็นที่มาของคำว่า ศิลปะ คือ คำว่า สิปปะ อาจจะเพี้ยนมาเป็นคำว่า สิลปะ โดยมีรากเหง้าเกี่ยวข้องกับชั้นเชิงช่างโบราณทั้งสิบ หรือที่เรียกว่า สิบหมู่ ดังนั้นคำว่า สิปปะ หรือ สิลป หรือ ศิลป จึงมีมาก่อนชื่อ ศิลป์ พีระศรี
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งของผมเอง ผมคิดเอาเองว่า ศิลปะ นั้น เป็นไปได้ไหมที่จะมาจากคำว่า ศีล หรือ ศีละ ศีละก็คือวัตรปฏิบัติ ผู้ใดรับศีลผู้นั้นก็รับศิลปะ คือเป็นวัตรปฏิบัติที่จะผูกพันตัวเองเข้ากับความพึงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นการตีความลากข้างของผมเอง คือ ศิลปะ อาจจะมาจากคำว่า ศีละ นี่ก็ได้กระมั่ง การรับศิลปะสำหรับผมก็เหมือนกับการรับศีลอย่างหนึ่ง หมายถึงเวลาเรารับศีลจากพระ เรารับได้แค่ไหน เราก็พยายามทำวัตรปฏิบัติโดยมีความผูกพัน และไม่หลอกตัวเองในสิ่งที่เรารับได้แค่นั้น เพราะฉะนั้น ผมจึงวางความหมายของคำว่าศิลปะไว้ในฐานะที่เป็นอุดมคติ
ความหมายของคำว่า ศิลปะ เคยมีผู้ให้คำจำกัดความไว้มากมาย ในหนังสือพจนานุกรม สะกดให้ถูก ของอบ ไชยวสุ ท่านให้การอธิบายคำว่าศิลปะ ว่าหมายถึง ฝีมือ การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าชื่นชม และเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ซึ่งในลักษณะนี้ก็ถือเป็นการให้คำจำกัดความที่เรียกว่า อุดมคติ ไปในตัว หรือในหนังสือ พจนานุกรมเรื่องศิลปะสังเคราะห์ ของศิลป์ พีระศรี อาจารย์ศิลป์คงจะเป็นผู้เขียน แต่พระยาอนุมานราชธนเป็นผู้แปล คำว่าศิลปะก็มีความหมายไปอีกแบบหนึ่ง คือ ศิลปะนั้นหมายถึง ความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด หมายความว่า ไม่ว่าจะตัดเสื้อ ปลูกต้นไม้ สร้างบ้าน ล้วนถือเป็นศิลปะในความหมายอย่างกว้างขวางทั้งสิ้น นอกจากจะเป็นงานอันเกิดจากความพากเพียรด้วยมือและความคิดแล้ว ความหมายของคำว่า ศิลป์ ที่อาจารย์ศิลป์กับพระยาอนุมานราชธนได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ก็คือ ท่านบอกว่า ยังต้องมีความพวยพุ่งทางวุฒิปัญญาและมีความรู้สึกทางใจอีกด้วย ท่านใช้คำว่า เป็นความรู้สึกบันเทิงใจทางสุนทรียภาพ คือ ศิลปะนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความงาม ซึ่งเรื่องนี้ก็มีทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์อธิบายกันไปต่างๆ เช่น ความงามหมายถึงอะไร มาตรฐานของความงามคือแบบไหน ความน่าเกลียดถือเป็นความงามได้หรือไม่ เป็นต้น สำหรับผม ผมคิดว่าศิลปะคือความผูกพันที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมต่างๆ ในแง่จิตวิญญาณ ไม่ว่าจะรับรู้ศิลปะในเชิงใด ผมมีความรู้สึกว่า มันน่าจะเป็นในระดับเดียวกับศาสนา คือมันมีอุดมคติในตัวมันเอง เรื่องของสุนทรียภาพ เรื่องของความงามทั้งหลาย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับอุดมคติของความเป็นมนุษย์ ถ้าความงามไม่ว่าในแง่มุมใดๆ สามารถเชื่อมโยงกับอุดมคติของความเป็นมนุษย์ได้ฉันใด ศิลปะในแง่มุมต่างๆ ก็สามารถเชื่อมโยงกับอุดมคติของความเป็นมนุษย์ได้ฉันนั้น หมายความว่า ศิลปะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่แตกต่างไปจากความศรัทธาทางศาสนา ถ้ามองกันในแง่นี้เรื่องต่างๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในชั้นเชิงนี้ ศิลปะก็คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะตีความชั้นเชิงของศิลปะในระดับใด ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด คำถามที่มักถามกันเสมอก็คือ ศิลปะนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้สิ่งใด รับใช้ใคร เพื่ออะไร
สำหรับผมการถกเถียงกันถึงคำว่า เพื่ออะไร นั้นมีข้อยุติแล้ว ในภาพรวมกว้างๆ ผมเข้าใจว่าศิลปะนั้นมันรับใช้ตัวของมันเอง ในแง่การทำงานของศิลปินแต่ละคน ศิลปะต้องมาจากความพวยพุ่งทางวุฒิปัญญาและความรู้สึกทางใจของศิลปินเป็นประการแรก ส่วนที่ว่าต่อมาจะไปรับใช้ใคร หรือเพื่ออะไร ผมว่าเป็นสิ่งที่ตามมาภายหลัง ศิลปะจะเพื่ออะไรก็ตาม ถ้าหากศิลปะนั้นไม่มีชีวิต ศิลปะนั้นก็ไม่มีพื้นที่ที่จะรับใช้อะไรทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์ศิลปะในบ้านเรายังไม่มีภาพรวมที่ทำให้มองเห็นความเป็นมา และมีบทสรุปชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ศิลปะของทางตะวันตกแล้ว เราจะเห็นว่าของเขาจัดเป็นระบบ และมีข้อมูลชั้นต้น ชั้นสอง ชั้นสาม ให้ศึกษารับรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวไม่ว่าจะเป็นสมัยเก่าหรือสมัยใหม่ แต่ของเรา เก่าก็ยังไม่เป็นระบบ ส่วนใหม่ก็กระจัดกระจายกันไปแบบตัวใครตัวมัน โดยมีคำว่า ใจรัก มาหล่อเลี้ยงให้หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เราไม่มีระบบในแง่การจัดหมวดหมู่ที่จะเชื่อมโยงกันให้เห็นภาพรวมทั้งหมด เอาแค่หอศิลป์ระดับชาติ หรือแม้แต่หอสมุดแห่งชาติก็มีปัญหา ทั้งในแง่นโยบายและตัวบุคคล ว่าไปแล้วโรงอาบอบนวด หรือร้านคาราโอเกะ ยังมีระดับของการจัดหมวดทางรสนิยมให้เห็นมากกว่าเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นว่าเป็นศิลปะมาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน ดนตรี หรือวรรณคดี ผมเข้าใจว่าศิลปะในอดีตนั้นมีลักษณะที่รับใช้สิ่งที่เรียกว่าอุดมคติมากกว่าศิลปะในปัจจุบัน อุดมคติในที่นี้ อาจหมายถึง สวรรค์ โลกหน้า พระมหากษัตริย์ หรือพุทธศาสนา หรืออะไรก็แล้วแต่ เห็นได้ชัดว่ามันถูกตีความเอาไปรับใช้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ศิลปะถูกมองว่าเป็นตัวสินค้าที่จะนำไปบริโภค ศิลปะตกอยู่ในวงล้อมของรสนิยมแบบคนชั้นกลาง เหมือนที่ครั้งหนึ่งศิลปะตกอยู่ในวงล้อมของกษัตริย์หรือบรรดาขุนนางผู้มีอำนาจ ศิลปะในปัจจุบันคือการบริโภคทางรสนิยมที่ถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมและทัศนคติต่างๆ ร้อยแปด ศิลปะกลายเป็นของโชว์ประเภทหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับเงินและการศึกษา
ฉะนั้นสรุปภาพกว้างๆ ของศิลปะจึงเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างแน่นอน แต่จะเกี่ยวข้องหรือมีความผูกพันในเชิงอุดมคติมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ยังมีปัญหา รายละเอียดการทำงานศิลปะในแต่ละสาขานั้น เมื่อพูดถึงศิลปะสมัยใหม่ หรือศิลปะที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น ผมเข้าใจว่ามันมิได้เป็นมรดกของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งโดยเฉพาะอีกต่อไป ศิลปะไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่วัง แม้ในปัจจุบันจะมีภาพออกมาว่าอยู่ที่พ่อค้า แต่พ่อค้าก็มิได้มีอยู่กลุ่มเดียวพวกเดียว พ่อค้าก็มีรสนิยมต่างๆ กันไป สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน ศิลปะจึงแตกตัวไปหลายอย่าง และก็มีหลายสาขา มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อย่างที่บอกว่า ศิลปะนั้นส่องทางให้กัน ศิลปะกับสังคมปัจจุบันไม่มีการจำกัดทางรสนิยม คือมันไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งทั้งในเรื่องรูปแบบและเนื้อหา ผมไม่อยากเรียกว่ามันเป็นประชาธิปไตยทางศิลปะ แต่ก็ดูเหมือนมันเป็นเช่นนั้น จนบางครั้ง บางยุค จะกลายเป็นอนาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นคำว่าศิลปะรับใช้อะไร เพื่อใคร จึงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตีความของปัจเจกไม่ใช่ของรัฐ
ในฐานะปัจเจก ศิลปะไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตาม มันต้องมีชีวิตเสียก่อน ถ้าศิลปะมีชีวิต มันก็สามารถนำไปรับใช้หรือไปสัมพันธ์กับสังคมหรือผู้คนระดับต่างๆ ได้อย่างมีชีวิต หมายความว่า การนำเสนอทางศิลปะนั้นต้องครองใจคนและข้ามแดนไปในลักษณะที่เป็นสากลได้ คำว่า สากล ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึง ฝรั่ง แต่หมายถึง มนุษย์ และความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าดูหนังสักเรื่อง อ่านหนังสือสักเล่ม หรือฟังเพลงสักเพลง ถ้าหากศิลปะในนั้นมีชีวิตมันก็จะเข้ามากระทบใจเราทันที มันเป็นสากลได้ก็เพราะมันมีชีวิต นี่คือการตีความเชิงปัจเจกของผม ศิลปะนั้นเป็นธาตุกลางๆ ที่สามารถผสมกับธาตุอื่นได้ทุกธาตุ มันเป็นธาตุกลางๆ ที่สามารถก้าวเข้าไปหาจิตใจของผู้เสพได้ทุกกลุ่ม ทุกประเภท ถ้าหากศิลปะมีธาตุอย่างที่ว่านี้จริง ตรงนั้นแหละครับที่ผมเข้าใจว่า คือ สากล คือมันจะข้ามพรมแดนทางจิตวิญญาณไปรับใช้อะไรก็ได้ในทุกเงื่อนไข ศิลปะไม่ขึ้นกับรสนิยมเบ็ดเสร็จของใครทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่เกี่ยวกับพรมแดน ผมเข้าใจว่าผู้สร้างงานศิลปะคือผู้สร้าง จิตวิญญาณร่วม ของบางสิ่งบางอย่างให้กับมนุษยชาติ เขาจะคิดอะไร อย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาคิดขึ้นมาทำไม การทำงานศิลปะนั้นต้องเริ่มต้นมาจากข้างใน ศิลปะเป็นเรื่องข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก มันคือปัจเจกของเขา เพราะฉะนั้นผมจึงมีข้อถกเถียงมาหลายยุคหลายสมัยเวลาเราถกเถียงกันถึงเรื่องศิลปะคืออะไร ศิลปะเพื่ออะไร
ศิลปะเพื่ออะไร ศิลปะเพื่อศิลปะ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใด ยุคสมัยใด สำหรับผมสรุปลงตัวแล้วว่าจะต้องมองจากข้างในก่อนมองจากข้างนอก คติว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ว่าไปแล้วก็เป็นการรับแบบมาจากข้างนอก เช่นเดียวกับคติ ศิลปะเพื่อศิลปะ ก็รับแบบมาจากข้างนอกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่การเมืองหรือทฤษฎีทางศิลปะ ในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมา แนวความคิดเรื่องทฤษฎีทางศิลปะของเราน่าจะมีความหลากหลาย และมีชีวิตมากกว่านี้ แต่ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรไปมากไปกว่า อัศนีย์ พลจันทร์ บรรจง บรรเจิดศิลป์ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ หรืออะไรแค่นี้ ทั้งที่น่าจะศึกษาลงไปว่าบุคคลเหล่านี้ได้ความคิดมาจากไหน แค่ไหน แบบไหน หยุดนิ่งอยู่กับที่หรือว่าคลี่คลายไปทางใด ตอลสตอย เลนิน สตาลิน ทร็อตสกี้ เมาเซตุง โครเช่ เฮอร์เบิร์ต รีด ฯลฯ คำว่าศิลปะในกลุ่มตระกูลเพื่อชีวิตตามความหมายที่เห็นและเป็นจริงในบ้านเรา ในทางทฤษฎีแล้วถือว่าหยุดนิ่ง แต่ในแบบที่เป็นแบบไทยๆ ผมว่าปรับประยุกต์ไปรับใช้ทุนนิยมได้อย่างหน้าชื่นตาบาน จาก Socialist Realism ที่ยังไม่ลงตัวในแง่ทฤษฎี กลายมาเป็น Capitalist Realism แบบไทยๆ ได้อย่างลงตัว ทั้งในแง่ทฤษฎีและการปฏิบัติ ลักษณะแบบนี้ฝรั่งเองก็งง เวลามาศึกษาเรื่องวรรณกรรมหรือทัศนศิลป์ในบ้านเราเขามักจะถามอยู่สองคำ คือ น้ำเน่า กับ เพื่อชีวิต หมายถึงอะไร แค่ไหน น้ำเน่าเป็นเพื่อชีวิตได้หรือไม่ เพื่อชีวิตเป็นน้ำเน่าได้หรือไม่ เมื่อฝรั่งถามว่าน้ำเน่ามีคำอธิบายอย่างไร ภาษาไทยก็มีคำอธิบายอยู่มากมายที่ตีความเข้ากับคำว่าน้ำเน่าได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพาฝัน เรื่องหลบหนีความจริง เรื่องนิยายครอบครัว เรื่องลึกลับตื่นเต้น เรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมส่วนตัว หรืออะไรต่างๆ ประมาณนี้ ถือเป็นเรื่องน้ำเน่าทั้งสิ้น ฝรั่งก็ยังไม่เข้าใจ เพราะที่เขาเข้าใจนั้นมันคือเรื่องแบบเมโลดรามาเท่านั้น และเมโลดรามาหลายเรื่องนั้นเขาก็ไม่ถือว่าเสียหาย เช่น โรเมโอ-จูเลียต เป็นต้น เขาคิดว่าของเรานั้นน่าจะมีระบบความเป็นมา เช่น อันนี้เป็นคลาสสิก เป็นนีโอ-คลาสสิก เป็นโรแมนติก เป็นเรียลลิสม์ แล้วถึงจะเป็นโซเชียล เรียลลิสม์ คือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีความเกี่ยวข้องกันและสามารถอธิบายได้ถึงความแตกต่าง แต่ของเรานี่ ไม่ว่าจะอยู่ในตระกูลเพื่อชีวิต หรือน้ำเน่า ต่างก็มีความหมายไปในลักษณะที่ดิ้นได้ทั้งสิ้น น้ำเน่าก็ดิ้นได้ เพื่อชีวิตก็ดิ้นได้ ไม่มีที่ไหนในโลกที่คำว่าเพื่อชีวิตยังทำมาหากินได้หลังจากที่โซเวียตล่มสลายไปแล้ว แต่ก่อนนี้ ทฤษฎีที่เราอ่าน คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ในความหมายของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือความหมายของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ มันลงตัวแบบกว้างๆ ว่าหมายถึงรูปแบบเนื้อหาที่เรียกกันว่า Social Realism และหากเอาให้ชัดหน่อยก็คือ Socialist Realism
ปัจจุบันสังคมไทยเลิกพูดถึงคำว่าโซเชียลลิสต์แล้ว แต่คำว่า เพื่อชีวิต กลับยังอยู่ โดยมีความหมายดิ้นได้ไปต่างๆ ไม่ว่าผับเพื่อชีวิต คาราโอเกะเพื่อชีวิต หรืออะไรก็แล้วแต่ คำว่า เพื่อชีวิต แบบไทย-ไทย มีชีวิตในความหมายใหม่ ที่ทำให้ทฤษฎีทางตะวันตกต้องอับจน ส่วนคำว่า น้ำเน่า ก็เช่นกัน จะหมายถึงโรแมนติก หมายถึงโซพโอเปร่า หมายถึงเมโลดรามา ก็ไม่มีอะไรชัดเจนเหมือนกัน คำว่าน้ำเน่าแบบไทย-ไทย เวลาฝรั่งมาศึกษาวรรณกรรมไทยจึงต้องเรียกทับศัพท์ หรือที่ตลกมากขึ้นก็คือแปลเป็นภาษาฝรั่งว่า Dirty Water Literature อะไรไปโน่น
ปัจจุบันถ้าจะมีข้อปุจฉากัน คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต หรือ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ไม่ว่าจะเข้าใจกันมาแบบไหน ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะศึกษากันแบบวิชาการ คำว่า เพื่อชีวิต สร้างความก้าวหน้า หรือความล้าหลังให้กับพัฒนาการทางศิลปะวรรณกรรมมากน้อยแค่ไหน คำถามในลักษณะนี้ควรจะศึกษากันอย่างตรงไปตรงมา โดยยึดอิงเอกสารชั้นต้นไว้ให้มากที่สุด เนื่องในโอกาส ๒๕ ปี ๖ ตุลา คำว่า เพื่อชีวิต สำหรับผมไม่น่าจะใช่แง่มุมประเภท จากวนาถึงนาคร อีกต่อไปแล้ว แต่ควรจะมีคำถามใหม่ๆ เพื่อหาคำตอบใหม่ๆ เกี่ยวกับคำว่าศิลปะวรรณกรรม และสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจำเค้าเดิมไม่ได้ ที่หลายท่านได้พูดไปแล้ว มีอยู่ข้อหนึ่ง คือ ผมไม่ได้มาเป็นโจทก์หรือจำเลยที่จะตอบว่าศิลปะต้องรับใช้อย่างนั้น อย่างนี้อีกแล้ว ดังนั้นผมจึงพูดว่าศิลปะรับใช้ตัวของมันเอง จะรับใช้อะไรได้แค่ไหนก็เป็นเรื่องของพื้นที่และบุคคลที่ศิลปะเข้าไปเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์เรื่องศิลปะกับสังคม จึงเป็นเรื่องความหมายของพลังทางปัญญา ถ้าศิลปะนั้นสามารถรับใช้ตัวของมันเองอย่างมีความหมาย มีคุณค่า มีศักยภาพ หรือมีอะไรก็แล้วแต่ มันก็น่าจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้เสพ ไม่ว่าจะเป็นพลังทางอารมณ์ พลังทางความคิด พลังทางอุดมคติ การเก็บรับความประทับใจเรื่องศิลปะในทุกๆ สาขาของศิลปะนั้น ถือเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม ผมเข้าใจว่าบางทีเราสร้างความสับสนโดยคิดว่าศิลปะนั้นต้องเกิดมาเพื่ออรรถประโยชน์บางสิ่งบางอย่าง สำหรับผมอาจไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ เพราะศิลปะไม่ใช่สูตรทางคณิตศาสตร์ ศิลปะไม่ใช่หนึ่งสองสามสี่ห้า ศิลปะไม่ใช่สูตรสำเร็จ และสังคมก็เช่นเดียวกัน สังคมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ย่อมสร้างศิลปะให้มีพื้นที่อันหลากหลาย รูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายนั้น ผมคิดว่ามีคำตอบอยู่ข้อเดียว คือ พลังสร้างสรรค์ของความเป็นปัจเจกที่หลากหลาย แต่ในท่ามกลางความหลากหลายนั้นเราทุกคนก็น่าจะรู้ว่าต้นข้าวนั้นแตกต่างจากหญ้าคา รูปแบบและเนื้อหาที่จะเหมาะกับการปรับใช้อย่างนั้นอย่างนี้ บางทีขึ้นอยู่กับสติปัญญาของการรู้เท่าทันเหมือนกัน ศิลปะจะเพื่ออะไรนี่ผมเข้าใจว่าต้องมีฐานข้อมูลที่เข้มแข็งมากพอ แล้วก็ต้องยืนอยู่ในบริบทของสังคมที่เป็นจริงด้วย เท่าที่ผ่านมา คติในทางทฤษฎี ศิลปะเพื่อศิลปะ ศิลปะเพื่อชีวิต เราก็เอามาจากข้างนอก และเอามาแบบคับแคบโดยใช้ การเมือง เป็นตัวนำ ไม่ใช่ใช้ สังคม เป็นตัวนำ เรายังไม่มีการศึกษาในแง่ข้อมูลอย่างเป็นระบบมากพอ ว่ามันเริ่มต้นและคลี่คลายมาอย่างไร ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพชัด ผมจึงขอเริ่มต้นจากตัวเองว่า ผมเติบโตมาจากรสนิยมแบบน้ำเน่า
ชีวิตวัยเด็กของผม การเติบโตของผมคงจะไม่ผิดไปจากลูกชาวบ้านในรุ่นอายุเท่าผมที่โตมากับรสนิยมแบบตลาด เริ่มต้นจากหนังไทยประเภท หนึ่งต่อเจ็ด หรือ บ้านทรายทอง อะไรทำนองนี้ พูดง่ายๆ คือเป็นรสนิยมในลักษณะที่เราเรียกว่า น้ำเน่า ในแง่การอ่านก็เช่นกัน รสนิยมการอ่านที่ถือว่าเป็นเรื่องขวัญใจประชาชนในยุคนั้น ได้แก่ ไม้ เมืองเดิม ส.บุญเสนอ ป.อินทรปาลิต อรวรรณ ไม่ใช่ ศรีบูรพา มจ.อากาศดำเกิงฯ ดอกไม้สด ผมเติบโตทางการอ่านมาแบบตลาด ถ้าผมไม่มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย บางทีชีวิตผมอาจมีความสุขอยู่กับนิตยสารประเภทบางกอก หรือ สกุลไทย ในเวลาต่อมาก็เป็นได้ ในทางทัศนศิลป์ ผมก็ว่าผมเติบโตมาจากรูปวาดของ เหม เวชกร ที่ศาลาวัด ตามแม่ไปวัดก็มักจะเห็นรูปพวกนี้ เขียนเรื่องไตรภูมิ เขียนเรื่องชาดก ชอบดูนักเวลาเห็นรูปคนปีนต้นงิ้ว เพราะฉะนั้น ถ้าผมไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย บางทีผมอาจจะมีความสุขอยู่กับการอ่าน การดู การเสพในระดับแบบนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เมื่อมีโอกาสได้ลัดเวลาบางอย่าง รสนิยมแบบนักศึกษาปัญญาชนในมหาวิทยาลัย (ยุคนั้น) จึงเกิดขึ้น โดยมีหนังสือในห้องสมุดเป็นศูนย์กลางอย่างใหม่ และมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ค่อยๆ บอกให้นับถือฝรั่งมากขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้เรื่องรสนิยมแบบตะวันตก ได้ทำให้การรับรู้ของผมหักมุมไปเหมือนกัน แทนที่จะดูหนังไทย หรืออ่าน มนัส จรรยงค์ อย่างมีความสุข ก็เกิดความรู้สึกว่ายังมีหนังของโกดาร์ด เฟลินี่ เบิร์กแมน และเมื่อเข้าห้องสมุดก็ได้ค้นพบโลกใหม่ที่ไปไกลกว่าโลกของ ป.อินทรปาลิต นอกจากจะได้ค้นพบโลกของ ศรีบูรพา เสฐียรโกเศศ ส.ธรรมยศ จิตร ภูมิศักดิ์ น. ณ ปากน้ำ เพิ่มเข้ามาแล้ว ยังมีโลกของโมปัสซังต์ เฮมมิงเวย์ โฟลแบร์ ซาร์ตร์ กามู กอร์กี้ แวนโกะห์ บีโธเฟ่น เพิ่มเข้ามาด้วย
ผมมองดูกระบวนการรับรู้ในช่วงเวลาผ่านมาเมื่ออายุมากขึ้น และคิดว่ากระแสนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสแบบใด ไม่ว่าแบบฝรั่ง-แบบไทย แบบไฮอาร์ต-โลว์อาร์ต แบบป็อป-คลาสสิก แบบน้ำเน่า-เพื่อชีวิต ผมว่าถ้าเราใช้วิธีมองศิลปะ โดยมีเส้นแบ่งกั้น เราก็จะได้คำอธิบายแบบเส้นแบ่งกั้น โดยมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของมันที่มีต่อผู้คนระดับต่างๆ ถ้าหากขาดข้อมูลรอบด้านและยังคับแคบอีกด้วย เราก็จะมองไม่เห็นอะไรมากนักเกี่ยวกับศิลปะและสังคม ยิ่งในบ้านเราขาดคนที่จะอธิบายให้เห็นว่า งานของ ป.อินทรปาลิต นั้นก็มีความหมายในเชิงสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยอะไรต่างๆ และงานแบบปีศาจ กับคำขานรับ ก็มีความหมายตามแบบของมัน ไม่มีทั้งระดับต่ำระดับสูง มีแต่ระดับที่มีความหมายในตัวของมันเอง ถ้าหากมันเป็นงานศิลปะที่มีชีวิต ศิลปะนั้นๆ ก็จะรับใช้ตัวของมันเอง แล้วแต่บริบทที่มันสะท้อนให้เห็นถึงความหมายระดับต่างๆ ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงไม่ได้มองศิลปะและสังคมตามแบบ เมื่อค้นพบหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิต ของจิตร ภูมิศักดิ์ ครั้งแรกแล้วเกิดตื่นเต้นว่าได้พบคำตอบอีกต่อไป ความคิดประเภทไม่เป็นเช่นนั้นก็ต้องเป็นเช่นนี้ บัดนี้ได้จบลงแล้ว ถ้าจิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีชีวิตอยู่ ผมคงมีปัญหาอยากถามเขาอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน เป็นต้นว่า เขาจะเขียน ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ภาค ๒ ในแง่ทฤษฎีสังคมการเมืองแบบไหน ปัจจุบัน ศิลปินของเรายังเผชิญ โรคประจำศตวรรษ ในแบบใด นี่เป็นเรื่องที่ผมอยากรู้ในแง่ทฤษฎีทางศิลปะ จิตร ภูมิศักดิ์ จะไปสายไหน วิชาการ หรือการเมือง หรือเขาจะพัฒนาทฤษฎีศิลปวรรณกรรมขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างใหม่ของสังคมไทย
นี่คือความคิดที่พยายามเข้าใจปรากฏการณ์ใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังถือคติเหมือนเดิม เมื่อผมทำงานทางศิลปะ ผมจะถอดคำว่า เพื่อ ออกไป ผมคิดว่า ศิลปะนั้นเป็นอาภรณ์ของศิลปิน ถ้าหากศิลปะไม่ใช่อาภรณ์ของศิลปิน เขาผู้นั้นก็ไม่น่าจะใช่ศิลปิน คำนี้เป็นคติของ กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน ที่เคยถูกมองว่าอยู่ในฝ่าย ศิลปะเพื่อศิลปะ และในแง่ประวัติวรรณกรรมมักจะถูกมองว่าเป็นพวกตรงข้ามกับสาย ศิลปะเพื่อชีวิต สำหรับผม ผมคิดว่าเป็นคำที่สวยมาก กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น ผมคิดว่าเป็นพวกที่ถือคติ ศิลปะส่องทางให้กัน มานานแล้ว โดยมีแนวคิดที่จะให้คนทำงานศิลปะหลายสาขามาร่วมมือกัน และบางครั้งยังทำงานข้ามสาขาไปพร้อมกันด้วย สด กูรมะโรหิต จำรัส เกียรติก้อง เหม เวชกร วรรณสิทธิ์ ปูคะวณัช แสงอรุณ รัตกสิกร ร.บุนนาค อมราวดี อุษณา เพลิงธรรม ฯลฯ ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งในความเป็นมาลึกๆ ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่อยู่คนละทรรศนะกับฝ่ายบรรจง บรรเจิดศิลป์ อัศนีย์ พลจันทร์ สุภา ศิริมานนท์ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ และเคยถูกมองว่าเป็นฝ่ายขวา ฝ่ายศิลปะเพื่อศิลปะ ทั้งที่คำว่า ศิลปะคืออาภรณ์ของศิลปิน นั้นน่าจะถูกมองในแง่อุดมคติมากกว่าในแง่การเมือง ตรงนี้หมายความว่าในขั้นตอนของศิลปะนั้น เรามีผู้สร้างและผู้เสพระดับต่างๆ แต่ทว่าเราค่อนข้างขาด ผู้สืบทอด ที่จะทำหน้าที่เป็นคล้ายสะพานเชื่อมต่อ ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยมีพลังอธิบายในแง่มุมมองของศิลปะกับสังคมอย่างหลากหลายรอบด้าน เราขาดจุดรวมศูนย์ทางศิลปะ เราขาดการสานต่อกับรากเหง้าดั้งเดิม การพิจารณายกย่องให้ใครเป็น ศิลปินแห่งชาติ จึงดูเหมือนเป็นแค่รางวัลระดับราชการที่จะให้แก่ใครอย่างไรก็ได้ โดยขาดความจำได้ถึงรากเหง้าที่มีข้อมูลรองรับ ดังนั้น เมื่อขาดความจำได้ตรงนี้ เราก็เริ่มดูถูกตัวเอง บวกกับครูอาจารย์ก็ไม่ได้ทำงานในฐานะผู้สืบทอดที่จะให้ความหมายกับเราอย่างต่อเนื่อง ขาดระบบการจัดเก็บฐานข้อมูล ขาดระบบหนังสือสานต่อหนังสือ ขาดระบบการส่งเสริมสนับสนุนที่จะแยกต้นข้าวออกจากต้นหญ้าคา สิ่งที่เป็นรากเหง้าของเราที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราได้ผ่านอะไรมาบ้าง เรามีอะไร เราอยู่ตรงไหน เราจะไปไหน ผมว่าเราไม่มีตรงนี้ กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ในฐานะผู้สืบทอด ไม่ได้ทำให้เราศรัทธาเชื่อมั่นในคำว่า ศิลปวรรณกรรม แต่ประการใด กระบวนการของงานสร้างสรรค์ที่ถือว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าจะในชั้นเชิงไหน ผมว่ามันมีอยู่ ๓ กระบวนการที่ต้องไปด้วยกัน คือ กระบวนการของผู้สร้าง หมายถึง บรรดาศิลปินผู้สร้างงานแต่ละสาขา แต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่ออะไร หรือยังคิดไม่ออกว่าจะรับใช้ใคร จะเขียนแบบไหน อย่างไร ผมว่าเรื่องนั้นเป็นสิทธิ์ของผู้สร้างแต่ละคน ทุกยุคทุกสมัยมีตัวตายตัวแทน มีตัวเก่าตัวใหม่ มีประเด็นทั้งที่ย่ำรอบเดิม และที่ริเริ่มทดลองขึ้นใหม่ ความคิดเก่าอาจหวนกลับมาอีก ความคิดใหม่อาจโดนท้าทาย ทั้งหมดคือกระบวนการของผู้สร้าง
กระบวนการที่สองที่ตามมาและเป็นกระบวนการที่มีเป็นปฏิสัมพันธ์กับผู้สร้างโดยตรง คือ กระบวนการของผู้เสพ หมายถึงผู้อ่าน หมายถึงผู้รับ เป็นเครื่องรับระดับต่างๆ ซึ่งในทางนามธรรมแล้วถือว่าเป็นความเข้มแข็งหรืออ่อนแอทางวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม กระบวนการนี้หมายถึงคุณภาพทางรสนิยมของผู้คนระดับต่างๆ ทั้งกระบวนของผู้สร้าง และผู้เสพ ผมถือเป็นเรื่องเชิงปัจเจก แต่ทว่ากระบวนที่เกี่ยวกับคุณภาพเชิงสังคมโดยตรงนั้น คือ กระบวนการที่สาม ผมอยากขอเรียกว่าเป็นกระบวนการของผู้สืบทอด ณ ที่นี้ผมหมายถึงองค์รวมทางการศึกษาและองค์รวมทางความรู้ต่างๆ หมายถึงปรัชญาที่เป็นวิถี และหมายถึงนโยบายที่เป็นวิธี หมายถึงกระบวนการเรียนการสอน หมายถึงสถาบันทางภาษาและวรรณกรรม หมายถึงการผลิตหนังสือ สำนักพิมพ์ บรรณาธิการ นักวิจารณ์ ครูบาอาจารย์ หอศิลป์ ผู้สื่อข่าวศิลปวรรณกรรม ฯลฯ การสืบทอดเหล่านี้ มีการรับรู้และส่งทอดอย่างมีศักยภาพเพียงใดหรือไม่ มีศูนย์กลางของระบบฐานข้อมูลอย่างเห็นภาพรวมหรือไม่ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุน และสามารถสะสมไว้เป็น ทุนทางวัฒนธรรม ให้คนรุ่นต่อไปแบบไหน อย่างไร เพราะสังคมไทยขาดความเข้มแข็งในกระบวนการของ ผู้สืบทอด ดังนั้นจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ นับหนึ่ง กันเรื่อยมา และยังมีผลกระทบทำให้กระบวนการของทั้งผู้สร้างและผู้เสพขาดความเข้มแข็งมั่นคง รากเหง้าสั่นคลอน ทำให้รากใหม่เกิดภาวะ หยุดนิ่งอยู่ที่เดิม และไม่รู้ที่มาที่ไปของ ชีวิตทางวัฒนธรรม ทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณ
กระบวนการทั้ง ๓ นี้ ผมไม่ห่วงเรื่องผู้สร้างแต่ประการใด ใครจะสร้างอะไร จะรับใช้ใคร จะน้ำเน่าหรือเพื่อชีวิตไม่ว่ากัน ส่วนผู้เสพก็เช่นกัน สังคมเป็นอย่างไรผู้เสพก็เป็นอย่างนั้น ผู้สร้างและผู้เสพไม่ว่าประเภทไหน ระดับใด ล้วนสะท้อนคุณภาพของสังคมประเภทนั้น สิบสี่ตุลา หกตุลา อาจมีงานศิลปะที่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ปัจจุบันแม้งานจะคิขุอะโนเนะแค่ไหน แต่มันก็สะท้อนบางสิ่งของสังคมไทยปัจจุบันให้เราเห็นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผมไม่ห่วงผู้เสพ แต่ห่วงผู้ออกมาทำหน้าที่สืบทอดมากกว่า ห่วงกรมศิลปากร สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ สถาบันทางศิลปะวรรณกรรมต่างๆ สำนักพิมพ์ การเรียนการสอน การวิจัย การวิจารณ์ ฯลฯ ผมห่วงตรงนี้ว่ายังไม่ค่อยเข้มแข็ง และที่ตั้งโจทก์ว่า ศิลปะกับมุมมองทางสังคม ผมก็เห็นมีปัญหาอยู่ตรงเรื่อง การสืบทอด ที่ดูเหมือนต้องนับหนึ่งกันอยู่เรื่อย ยกตัวอย่างเช่น นักวิจารณ์และนักวิจัยในฐานะผู้สืบทอด ยังมีไม่พอที่จะสานต่อรากเหง้าอดีตกับปัจจุบัน และที่มีก็ยังไม่ค่อยเห็นความเข้มข้นมากนัก ผู้สืบทอด ในบทบาทต่างๆ ทางศิลปะวรรณกรรมเท่าที่เห็น ผมคิดว่ามีสภาพเป็นเหมือน ไม้ประดับ มากกว่าเป็นไม้ยืนต้นที่หยั่งรากลึก
บ้านเรานั้นถ้าหากมีหนังสือในเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาเล่มหนึ่ง แล้วมีนักวิจารณ์ร้อยคนรุมวิจารณ์ ผมถือว่าหนังสือเล่มนั้นพบความสำเร็จ ไม่ใช่เป็นความสำเร็จแบบ สร้างภาพ แต่เป็นความสำเร็จในแง่ที่จะแสดงศักยภาพของ ผู้สืบทอด ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด เนื่องจากพวกเขาคือผู้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าหรือศักยภาพของงานสร้างสรรค์ชิ้นนั้นว่ามีอยู่จริง หรืองานอื่นๆ อย่างเช่นหนังสือเก่าหายาก เมื่อวันหนึ่งมีผู้ค้นพบ อย่างเรื่อง ความไม่พยาบาท ของ ครูเหลี่ยม ที่ว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกของไทย ข้อมูลนี้จริงเท็จอย่างไรจนป่านนี้ก็ยังไม่เห็นมีการประเมินค่ากันในแง่วิชาการ สมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนผมทำเป็นแสร้งบอกว่า ความไม่พยาบาท ไม่มีอยู่จริงหรอก ต้นฉบับอยู่ที่ไหน หอสมุดแห่งชาติไม่เห็นมีหนังสือที่เป็นฐานหลักของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่เล่มนี้ ดังนั้น โกหกหรือเปล่าที่อ้างกันมาเรื่อยๆ แต่วันดีคืนดีมันก็โผล่ขึ้นมาดื้อๆ ว่ามีอยู่จริง เมื่อโผล่มาแล้ว แทนที่ผู้สืบทอดในสังคมวรรณกรรมนี้จะให้ความสนใจอย่างจริงจัง เรื่องที่เห็นและเป็นอยู่ก็กลับเป็นเพียงแค่สำนักพิมพ์สองแห่งทะเลาะกัน แทนที่ครูบาอาจารย์จะช่วยกันประเมินคุณค่าว่าผลงานของ ครูเหลี่ยม เป็นอย่างไร มีความคิดขบถต่อกลุ่ม แม่วัน ครูเทพ อย่างไร เป็นนักเรียนนอกทุนหลวงรุ่นแรกของไทยที่ไปอังกฤษแต่ต่อต้านค่านิยมวิคทอเรียจริงหรือไม่ แม่วัน แปล ความพยาบาท ของแมรี่ คอเรลลี่ แต่ ครูเหลี่ยม กลับบอกว่าฉันจะเขียนเอง และของฉันไม่พยาบาทด้วย แกพยาบาท แต่ฉันไม่พยาบาท เรื่องนี้น่าจะมีการพูดคุยกันในฐานะผู้สืบทอด เพราะเป็นการค้นพบในแง่ประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ แต่ ผู้สืบทอด ของเรากลับเงียบเฉย ไม่รู้เรียนวรรณกรรมไทยสมัยใหม่กันไปทำไม วรรณกรรมเก่าสมัยใหม่หลายต่อหลายเล่มของเรายังรอคอยการค้นพบอีกมาก และยังรอผู้สืบทอดมาให้ความหมาย แต่ผู้สืบทอดในบ้านเรารู้สึกจะล้มเหลว เหมือนภาพเขียนหรืองานประติมากรรมสมัยใหม่ที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีแหล่งกลางในการเก็บรักษาอย่างเป็นทางการ ยังไม่มี หอศิลปะ ระดับ แห่งชาติ อย่างเป็นจริงเป็นจัง มีแต่ หอศิลป์ ระดับราชการที่ทำงานกันไปแบบคิวใครคิวมัน ไม่มีวิสัยทัศน์ในเชิงโครงสร้างระยะยาว เรื่องหนังไทยนั้นผมว่ายังโชคดีอยู่บ้างที่มีคนชื่อ โดม สุขวงศ์ ถ้าไม่มีคนชื่อโดม หนังไทยคงจะกลายเป็นฝุ่นไปแล้วไม่รู้เท่าไร บทบาทของโดม คือ บทบาทของผู้สืบทอดที่เป็นตัวอย่างมาจากใจรักสมัครเล่น แต่ทว่าจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งก็คล้ายบทบาทของบรรณารักษ์ที่ต้องทำตัวเป็นคล้ายพระเจ้า เก็บ