บทความ
อิทธิพลและผลกระทบของวรรณกรรมต่อสังคม
อิทธิพลและผลกระทบของวรรณกรรมต่อสังคม
เนื่องจากบทบาทของวรรณกรรมที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือผลกระทบทางด้านสังคม มีนักคิดนักเขียนทางด้านวรรณกรรมส่วนใหญ่ได้เน้นผลกระทบทางด้านนี้มาก เพราะถือว่าวรรณกรรมที่ดีจะต้องส่งผลต่อสังคมไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะผลกระทบหรืออิทธิพลทางด้านสังคม ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นไว้หลากหลายดังนี้คือ
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่องนักเขียนหนุ่ม ( อ้างถึงใน Spender 2518 : หน้าคำนำ ) ว่า ความเป็นจริงในวรรณกรรมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของต่างชาติหรือของไทยเองก็ตาม ปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ วรรณกรรมเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพทางสังคมและเป็นดัชนีชี้แนวของกระบวนการทางวัฒนธรรม ตลอดจนเสนอให้เห็นการยึดถือคุณค่าต่างๆของคนในสังคมแต่ละยุคสมัย ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เราได้จากคนอ่านและคนเขียน และถ้าหากจะมีความจริงที่นอกเหนือไปจากนี้อีกประการหนึ่งก็ คือ วรรณกรรมเป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้เราเห็นความจริงจังของคนในชาติ หรือความฟุ้งเฟ้อของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ว่ากลุ่มสังคมใดจะใช้กระจกเงาบานไหนออกมาฉาย ดังนั้นท่าทีและแนวโน้มของวรรณกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนย่อมมีอิทธิพลเกี่ยวข้องกัน และย่อมขึ้นอยู่ว่าบรรดาผู้มีส่วนสร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรมทั้งหลาย ( ณ ที่นี้หมายถึงงานเขียนทั่วไปทั้ง ร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยเน้นเฉพาะ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทละคร ) จะพยายามเพียงใดที่จะยกวรรณกรรมขึ้นไว้เป็นสื่อของการรับใช้สังคม หรือเหยียบย่ำสังคมให้ต่ำทรามลง
เจตนา นาควัชระ ( 2521 : 13 - 17 ) ได้เสนอว่า วรรณกรรมเป็นสิ่งผูกพันกับสังคม และเป็นสมบัติร่วมของทุกยุคทุกสมัยทุกถิ่น การศึกษาวรรณกรรมจึงต้องควบคู่กับสังคม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรม ผู้ประพันธ์ได้แสดงความคิด ปรัชญา ตลอดจนความจริงในสังคมด้วยความสนใจและความรับผิดชอบ วรรณกรรมจึงมีอิทธิพลต่อสังคม รวมทั้งพลังในสังคมมนุษย์ด้วย
ส่วนเสนีย์ เสาวพงศ์ ( อ้างถึงใน รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ม.ป.ป. : 15 - 16 ) ได้เสนอข้อคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมกับสังคมว่า เบื้องหลังปากกาที่สร้างงานเขียนหรือวรรณกรรม ก็คือผู้เขียนหรือนักประพันธ์ และเบื้องหลังนักประพันธ์ก็คือสังคม นั่นก็คือความเป็นจริงของวรรณกรรมทุกเล่มที่มีทัศนะของผู้เขียนสอดแทรกในงานของเขา พร้อมๆกับการถ่ายทอดประสบการณ์ของชีวิตของสังคมในงานเขียนของเขาแต่ละชิ้น ภาพของสังคมปรากฏในวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เป็นการมองภาพชีวิตในแต่ละบรรทัดของวรรณกรรมเล่มนั้นๆ (between the lines ) ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของพระมหากุเทพ ใสกระจ่าง ( 2521 : 1 , 13 ) ที่กล่าวว่า วรรณกรรมเป็นผลผลิตทางปัญญา ที่เน้นคุณค่าของชีวิตที่ดีงาม วรรณกรรมของคนกลุ่มใดย่อมสะท้อนชีวิตและแนวความคิดของคนกลุ่มนั้น ดังคำกล่าวที่ว่า เบื้องหลังวรรณกรรมทุกเล่มคือมนุษย์ เบื้องหลังมนุษย์คือเผ่าพันธุ์ และเบื้องหลังเผ่าพันธุ์คือสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสังคมซึ่งมีอิทธิพลต่อวรรณกรรม ดังนั้นการศึกษาวรรณกรรมจึงมิใช่แต่เพียงการอ่านตำราอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการศึกษาภาวการณ์ทางสังคมด้วย หรือแม้แต่ความคิดเห็นของพลศักดิ์ จิรไกรศิริ ( 2521 : 105 ) กล่าวว่าวรรณกรรมเป็นผลงานการสร้างสรรค์ทางความคิดของมนุษย์ในยุคหนึ่งยุคใด และความคิดของมนุษย์นั้นก็ถูกกำหนดโดยสภาพทางวัตถุในขณะนั้น สภาพทางวัตถุในที่นี้ก็คือระบบสังคมของมนุษย์นั่นเอง ทีปกร( 2521 : 35 ) กล่าวสนับสนุนว่าแหล่งกำเนิดอันแท้จริงของวัตถุดิบที่มนุษย์นำมาสร้างเป็นงานวรรณกรรมนั้น มาจากความจัดเจนในการต่อสู้ของมนุษย์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม วรรณกรรมจึงไม่เพียงแต่เป็นผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิตทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม หากยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มความคิดที่ตนสังกัดอยู่ด้วย
สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ ( 2520 : 48 -49 ) กล่าวเสริมว่า วรรณกรรมเป็นผลงานของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นที่เก็บรวบรวมความคิด ความเป็นอยู่ และลักษณะสภาพต่างๆของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไว้ด้วยกัน วรรณกรรมจึงกลายเป็นหนังสือที่สามารถสะท้อนสภาพสังคมได้ สังคมของผู้แต่งหนังสือมีธรรมชาติเช่นไรวรรณกรรมก็มีธรรมชาติเช่นนั้น สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปตามเหตุการณ์อย่างไร วรรณกรรมก็กล่าวถึงเหตุการณ์อย่างนั้น เช่น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ มีผลทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมประพฤติปฏิบัติตนต่างๆกัน หรือบางครั้งก็ออกมาในรูปเดียวกัน บางครั้งก็ขัดแย้งกัน บางครั้งก็กลมกลืนกัน ผู้แต่งหนังสือที่ช่างสังเกตก็จะเลือกหาเหตุการณ์เรื่องราวจากความเป็นไปในสังคมมาผูกเป็นเรื่องขึ้น โดยตั้งจุดประสงค์ไว้ต่างๆกัน บางคนผูกเรื่องขึ้นเพื่อรายงานเหตุการณ์แต่เพียงอย่างเดียว บางคนก็ชี้ให้เห็นลักษณะที่ขัดแย้งต่างๆเพื่อเตือนสติคนในสังคม
สำหรับ ตรีศิลป์ บุญขจร ( 2523 : 6 - 10 ) กล่าวว่า วรรณกรรมย่อมสัมพันธ์กับสังคม วรรณกรรม สะท้อนประสบการณ์ชีวิตในยุคสมัยไม่ว่าจะจงใจสะท้อนสังคมหรือไม่ก็ตาม นักวิจารณ์บางคนจึงกล่าวว่า วรรณกรรมเป็นคันฉ่องแห่งยุคสมัย เนื่องจากเป็นภาพถ่ายชีวิตของยุคสมัยนั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมมี 3 ลักษณะดังนี้คือ
1. วรรณก7รรมเป็นภาพสะท้อนของสังคม ซึ่งการสะท้อนสังคมของวรรณกรรมมิใช่เป็นการสะท้อนอย่างบันทึกเหตุการณ์ทำนองเอกสารประวัติศาสตร์ แต่เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ของ
ผู้เขียนและเหตุการณ์หนึ่งของสังคม วรรณกรรมจึงมีความเป็นจริงทางสังคมสอดแทรกอยู่ นักเขียนบางคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างมาก เขาจะสะท้อนความปราถนาที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น วรรณกรรมของเขาฉายให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นอุดมการณ์ทางสังคมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้
2. สังคมมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมหรือต่อนักเขียน ซึ่งนักเขียนอยู่ในสังคมย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคมทั้งด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ปรัชญาและการเมือง สภาพการณ์ของปัจจัยเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งกำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเขา การพิจารณาอิทธิพลของสังคมต่อนักเขียน ควรให้ความสนใจว่านักเขียนได้รับอิทธิพลจากสังคมมาอย่างไร และเขามีท่าทีสนองตอบต่ออิทธิพลเหล่านั้นอย่างไร
3. วรรณกรรมหรือนักเขียนมีอิทธิพลต่อสังคม นักเขียนที่ยิ่งใหญ่นอกจากมีความสามารถในการสร้างสรรค์วรรณกรรมให้มีชีวิต โน้มน้าวจิตใจผู้อ่านแล้ว ยังเป็นผู้มีทัศนะกว้างไกลกว่าคนธรรมดา สามารถเข้าใจโลกและมองสภาพความเป็นจริงได้ลึกกว่าคนทั่วไปมองเห็น ด้วยทัศนะที่กว้างไกลและลุ่มลึก ภาพที่เขาให้จึงเป็นจริงยิ่งกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่จึงเป็นอมตะ เพราะไม่เพียงแต่จะเสนอภาพปัจจุบันอย่างถึงแก่นของความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังคาดคะเนความเป็นไปในอนาคตได้อีกด้วย
ดังนั้นอิทธิพลของวรรณกรรมต่อสังคม อาจเป็นได้ทั้งในด้านอิทธิพลภายนอก เช่น การ แต่งกาย หรือการกระทำตามอย่างวรรณกรรม เช่น หญิงไทยสมัยหนึ่งนิยมถักหางเปีย นุ่งกางเกงขาสั้นเหมือน " พจมาน " ในเรื่องบ้านทรายทอง หรือย้อมผมสีแดงเหมือน " จอย " ในเรื่องสลักจิต เป็นต้น และอิทธิพลทางความคิด การสร้างค่านิยม รวมทั้งความรู้สึกนึกคิด ดังเช่น หนังสือเรื่อง " The Social Contract " ของจัง จาคส์ รุสโซ ( Jean Jacques Rousseau ) พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1762 เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฏีทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญ เรียกว่า " เจตนารมณ์ทั่วไป ( General Will ) " เน้นเรื่องเสรีภาพและสิทธิของมนุษยชาติ ก็คืออำนาจอธิปไตยนั่นเอง ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญยิ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้มีส่วนก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียกร้องอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 - 1792 และอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องทฤษฏีสัญญาประชาคม ( Social Contract Theory ) ซึ่งมีนักวิชาการได้นำมาอ้างอิงอยู่เสมอ หลังจากนั้นก็มีวรรณกรรมอีกหลายเล่ม ได้อิทธิพลและสนับสนุนการปกครองตามแนวคิดของรุสโซ เช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ ( John Stuart Mill ) นักเศรษฐศาสตร์และนักคิดชาวอังกฤษ ได้เขียนหนังสือ เรื่อง on Liberty โดยเน้นว่ารัฐบาลที่ดีต้องให้เสรีภาพแก่ประชาชน
หรือความคิดของ จอห์น ล้อค ( John Lock ) ในผลงานชื่อ Two Treatise of Government ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักปฏิวัติชาวอเมริกัน ดังจะเห็นจากคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา ดูเหมือนว่าจะลอกข้อความในหนังสือเล่มนี้มาทั้งหมด จะแตกต่างกันเพียงมีการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์บางคำเท่านั้น ( พลศักดิ์ จิรไกศิริ 2522 : 148 - 149 )
หนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่มีอิทธิพลไปในหลายประเทศทั่วโลก นั่นก็คือ หนังสือเรื่อง Das Kapital ( Capital ) เขียนโดยคาร์ล มาร์กซ์ ( Karl Marx ) ซึ่งเป็นนักการเมืองและนักปรัชญาชาวเยอรมัน ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ในปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อเผยแพร่ความคิด อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ของมาร์กซ์ หรืออุดมการณ์มาร์กซิสต์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง วลาดิมิร์ เลนิน ( Vladimir Lenin ) อดีตผู้นำของรุสเซียได้นำอุดมการณ์ มาร์กซิสต์มาใช้ปกครองประเทศ ทั้งยังเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการปฏิวัติบอลเชวิค ( Bolshevist Revolution ) ในรุสเซีย เมื่อ ค.ศ. 1917 และมีผลต่อการเมืองในประเทศจีนมาก ถ้าการปฏิวัติในรุสเซียไม่ประสบผลสำเร็จ การก่อกำเนิดของลัทธิมาร์กซ์ในประเทศจีนและประเทศต่างๆ คงล่าช้าไปกว่าความเป็นจริงอีกหลายปี หลังจากนั้นก็มี เจ. วี. สตาลิน ( J. V. Stalin ) และนิกิตา ครุสชอฟ ( Nikita Khrushchev ) เป็นผู้สานต่อ หรือแม้แต่ประธานาธิบดีซูการ์โน ( Sukarno )ของอินโดนีเซียได้นำอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาผสมผสานกับนโยบายชาตินิยม ( Nationalism ) ตามหลักศาสนาอิสลาม เรียกอุดมการณ์นี้ว่า ปัญจศิลา ( PantjaSila ) จึงกล่าวได้ว่าแนวความคิดของมาร์กซ์มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนเกือบทั้งโลก แม้ว่ามาร์กซ์ได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้วก็ตาม แต่ความคิด และอุดมการณ์ของเขายังคงมีอยู่ พร้อมกับได้รับการนำมาตีความใหม่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคมและแต่ละประเทศ
หรือแม้แต่หนังสือเรื่อง Animal Farm ของยอร์จ ออร์เวลล์ ( George Orwell ) ในราวต้นศตวรรษที่ 19 ได้เขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนระบบการปกครองแบบเผด็จการภายใต้การนำของสตาลิน
ผู้เป็นแรงสำคัญคนหนึ่งในการปฏิวัติของพวกบอลเชวิค ( Bolsheviks ) ในปี ค.ศ.1917 ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ที่ได้วางไว้อย่างสวยงามอาจถูกนำมาเป็นเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มได้ จึงสะท้อนให้โลกได้รับรู้ว่า แม้ในรุสเซียเองก็ยังไม่มีความเสมอภาค ทั้งๆที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องเรื่องความเสมอภาค อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้จึงมีผลต่อการต่อต้านระบบเผด็จการมาก นับเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง และได้มีผู้นำไปแปลเป็นภาษาต่างๆเผยแพร่ทั่วโลก ( นวลจันทร์ รัตตากร 2526 : 59 - 61 ) มีนักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือที่ดีและประสบผลสำเร็จมากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆของ ยอร์จ ออร์เวลล์ ที่ได้เขียนขึ้น เป็นความคิดนอกแบบของบรรดาสัตว์ต่างๆในฟาร์มสัตว์ คิดโค่นผู้เป็นนาย ก่อการปฏิวัติขึ้น ขับไล่ผู้เป็นนายออกไป ดำเนินการปกครองและการงานภายในฟาร์มกันเอง การงานทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ประสบผลสำเร็จ ผู้ตั้งตนเป็นเจ้าคือหมูผู้ซึ่งบรรดาสัตว์ทั้งปวงถือว่าเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม ฉลาดกว่าสัตว์อื่นๆ แต่สุดท้ายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ( ภาษาไทยชื่อ ฟาร์มสัตว์ แปลโดย สายธาร )
หรือแม้แต่ผลงานหลายๆเล่มของวอลแตร์ ( Voltaire ) ซึ่งผลงานของเขามีส่วนต่อการปฏิวัติในฝรั่งเศส ได้ชื่อว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปสมัยนั้น และเป็นนักประพันธ์ที่เขียนเรื่องได้ไพเราะ วอลแตร์ต้องเข้าคุกบาสตีลล์หลายครั้งและเคยถูกขับไล่ออกนอกประเทศเพราะข้อเขียนของเขา แต่ประชาชนในอังกฤษและต่างประเทศยกย่องเทิดทูนวอลแตร์ เห็นว่าผลงานของเขาถูกต้อง ในที่สุดชาวฝรั่งเศสก็รับเขากลับประเทศ และจัดงานฉลองต้อนรับวอลแตร์ที่ประตูชัยฝรั่งเศสอย่างมโหฬาร วอลแตร์เขียนนวนิยาย บทละคร และโคลงกลอนต่างๆมากกว่า 50 เรื่อง แต่เรื่องที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดคือเรื่อง ก็องดิดด์ ( Candide ) ( แปลเป็นภาษาไทยโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ) เป็นนวนิยายอมตะที่นักภาษาศาสตร์ของฝรั่งเศสยกย่องว่าเป็น " นวนิยายตัวอย่าง " ที่เขียนอย่างง่ายๆ สละสลวยดีเยี่ยมและเป็นวรรณกรรมที่มีค่าคู่โลกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็องดิดด์ มีความหมายว่าเชื่อง่าย ซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ เปิดเผย อ่อนต่อโลก วอลแตร์เล่าเรื่องให้ก็องดิดด์เป็นพระเอก ชะตากรรมของพระเอกผู้นี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ตลอดเรื่องอ่านสนุก เต็มไปด้วยปรัชญาชวนคิด การเสียดสี อารมณ์ขันลึกๆไปจนกระทั่งความเจ็บปวดรวดร้าวของความเป็นมนุษย์ จากบันทึกของผู้แปล ( วัลยา วิวัฒน์ศร อ้างถึงใน วอล์แตร์ 2542 : คำนำ ) ได้กล่าวว่า ปรัชญานิยายเรื่อง ก็องดิดด์นี้ วอล์แตร์ เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1758 เพื่อตอบคำถามเรื่องความเป็นไปในโลกนี้ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติและ จากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน เขาควรจะไว้วางใจในความเชื่อที่มีอยู่ ความเชื่อถือในสถาบันต่างๆที่เป็น องค์ประกอบหลักของสังคมของเขาต่อไปหรือไม่ เขาควรจะเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ และหวังจะรังสรรค์ผืนแผ่นดินและสังคมขึ้นใหม่หรือไม่ วอล์แตร์จึงเสนอปัญหาด้วยวิธีการเสียดสีแบบชวนขัน ตีแผ่สังคมฝรั่งเศสและชาติต่างๆในยุโรปตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงสมัยที่วอล์แตร์มีชีวิตอยู่ หรือเรื่องอื่นๆของวอล์แตร์ เช่น เรื่อง Letters Philosphiques ซึ่งถือเป็นหนังสือปรัชญาเล่มสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง และเรื่อง Letters on the English เป็นหนังสือที่นักการเมืองและนักปฏิวัติยังอ่านกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
หรือแม้แต่การเรียกร้องอิสรภาพหรือเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ โดยมีบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในการเรียกร้องคือ คานธี ซึ่งได้สร้างแนวทางในการเรียกร้องใหม่เรียกว่า " สัตยาเคราะห์ " หรือ Truth Force ( พลังแห่งสัจจะ ) นั่นก็คือเน้นเรื่องสัจจะกับเรื่องอหิงสา หรือความไม่รุนแรง โดยคานธี ได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือหลายเล่ม ดังต่อไปนี้คือ เล่มแรกคือเรื่อง ภควัทคีตา เป็นคัมภีร์เก่าแก่ของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทภารตยุทธ อันเป็นสงครามระหว่าง พวกปานฑพ กับพวกเการพ อรชุน ซึ่งเป็นพวกปานฑพหรือฝ่ายคนดี ต้องต่อสู้กับญาติพี่น้องของตนเองซึ่งอยู่ฝ่ายอธรรม อรชุนลังเลที่จะรบด้วยการยิงธนูไปสังหารญาติพี่น้องของตนเองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม พระกฤษณะซึ่งเป็นสารถีให้กับอรชุน จึงอธิบายสัจธรรมให้อรชุนเข้าใจ เรื่องต่อมาคือ The Kingdom of God is Within You ( อาณาจักรของพระเป็นเจ้าอยู่ในตัวท่าน ) ของตอลสตรอย ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1893 คานธี ได้กล่าวว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้ได้รักษาข้าพเจ้าจากความสงสัยทั้งมวล และทำให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ศรัทธาในอหิงสาที่แท้จริง เล่มต่อมาคือ บทกวีของ Shelly โดยเฉพาะบทกวีชื่อ The Mask of Anarchy ( หน้ากากอนาธิปไตย ) ซึ่งได้เขียนว่า " ด้วยการประสานแขนทั้งสอง และด้วยสายตาอันมุ่งมั่น ด้วยความกลัวเพียงเล็กน้อย และประหลาดใจเพียงบางเบา จงจ้องดูพวกเขาในขณะที่พวกเขาสังหาร จนกว่าความเกรี้ยวโกรธของคนเหล่านั้นจะเหือดหายสิ้น " สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีผู้เขียนจดหมายมาถามคานธีว่า จะทำอย่างไรกับศัตรูแบบฮิตเลอร์ คานธีตอบว่า " เราก็จะต้องมากอดอกยืนดู แล้วถ้าเขาจะใช้ปืนใหญ่ถล่มก็ปล่อยให้เขายิง จนกว่าเราจะเรียกร้องหรือจะดึงเอาความสงสารเห็นใจจากฝ่ายนั้น ออกมาได้ " ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำพูดเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากบทกวีของ Shelly นั่นเอง หนังสืออีกเล่มก็คือ Unto This Last ของ John Ruskin เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1826 ประกอบด้วยบทความยาว 4 บทความรวมกัน จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้เป็นการหาคำนิยามในเชิงตรรก ของคำว่า ความมั่งคั่ง ( Wealth ) ซึ่งตามความหมายที่แท้จริงมิได้หมายถึงอำนาจในทางทุนหรือทุนนิยม ที่จะบังคับคนให้ทำงานให้แก่ตนได้ หากหมายถึงชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ประเทศที่ร่ำรวยมั่งคั่งคือประเทศซึ่งคนในประเทศมีความสุขมากที่สุดนั่นเอง Ruskin ได้โจมตีระบบเศรษฐกิจแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นระบบธุรกิจที่เน้นการแข่งขันในทุกๆวิถีทาง และได้เรียกร้องว่ามนุษย์มิใช่เครื่องจักร และเสนอแนะว่าสวัสดิการของรัฐและสังคมนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็จำเป็นต้องมีระบบเศรษฐกิจ ซึ่งได้ดุลยภาพและนำมาปฏิบัติจริงได้ และมีรากฐานอยู่บนศีลธรรมผสมกับปรัชญาชนิดที่ประสานร่วมมือกัน และเล่มสุดท้ายเป็นงานเขียนของ Henry David Thorean ได้เขียนบทความชื่อ on Civil Disobedience ( ว่าด้วยการดื้อแพ่ง ) ราว ค.ศ. 1849 ซึ่งคานธีได้นำมาใช้ว่า Civil Resistance ( การต่อต้านของพลเมือง )
( ชัยวัฒน์ สถานันท์ 2528 : 30 - 33 )
โรเบิร์ต บี ดาวน์ส ( Downs 1978 ) ได้กล่าวถึงหนังสือที่มีอิทธิพลต่อสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกไว้ในหนังสือ Books that Changed the World ซึ่งนอกจากหนังสือเรื่อง Das Kapital ของ คาร์ล มาร์กซ์ ดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีหนังสือที่สำคัญอีกหลายเล่ม จะขอยกตัวอย่างบางเล่มที่เด่นๆดังต่อไปนี้คือ
1. Mein Kampt เขียนโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์( Adolf Hitler ) ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ทางการเมืองของชาวเยอรมัน และมีบทบาทในการสร้างทัศนคติของชาวเยอรมันเป็นอย่างมาก เช่น การกำจัดชาวยิว และสงครามโลกครั้งที่ 2
2. The Communist Manifesto เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรดริค เองเกลส์ ( Karl Marx and Friedrich Engles ) เป็นหนังสือที่สำคัญและมีอิทธิพลเช่นเดียวกับหนังสือเรื่อง Das Kapital
3. An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations เขียนโดย อดัม สมิธ ( Adam Smith ) เป็นตำราที่ช่วยเผยแพร่ลัทธิทุนนิยมไปทั่วโลกเช่นกัน
4. The Prince เขียนโดย นิโคโล แมคเคียเวลลี่ ( Niccolo Machiavelli ) เป็นหนังสือทางด้านการเมืองที่สำคัญ โดยผู้เขียนได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนที่จะชี้ให้เห็นถึงนักการเมือง ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของเจ้าเล่ห์ เจ้าเพทุบาย ผู้หลอกลวง ไร้ศีลธรรม หรือไม่มีคุณธรรม และสุดท้ายแสดงให้เห็นว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตนเองทั้งสิ้น หนังสือเรื่องนี้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1513 แต่ยังไม่ได้รับการจัดพิมพ์ จนปี ค.ศ. 1532 ถึงได้จัดพิมพ์และหลังจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา นิโคโล แมคเคียเวลลี่ ก็เสียชีวิต หนังสือเรื่องนี้เป็นคู่มือสำหรับ กษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองนคร ( หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นคู่มือของผู้ปกครองแบบเผด็จการ ) ที่แนะนำเจ้าผู้ครองนครว่า ทำอย่างไรจึงจะได้รับหรือสร้างพลังอำนาจ ซึ่งเป็นพลังอำนาจที่มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเป็นกฏที่ผู้เขียนได้วางไว้เป็นหลักสากลว่า จะต้องมี
การเมืองที่เหมาะสม
5. Uncle Tom's Cabin เขียนโดย แฮเรียต บีชอร์ สโตร์ ( Harriet Beecher Stowe ) เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลมากในยุคก่อนสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา หนังสือเล่มนี้ขายดีนับเป็นล้านๆเล่ม แปลออกเป็นภาษาต่างๆหลายภาษา ( ภาษาไทยชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม แปลโดย อ. สนิทวงศ์ ) โดยผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นภาพชีวิตทาสนิโกร ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สลดใจ และมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้มีการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ( Abraham Lincoln ) ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้เกิดแรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่องชีวิตของทาสผิวดำผ่านตัวละครที่ชื่อ ลุงทอม จึงทำให้การเลิกทาสเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ชาร์ลส์ ซัมเนอร์ ( Charles Sumner ) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า " นักเขียนสตรีตัวเล็กๆคนนี้ เป็นผู้เขียนหนังสือที่ทำให้เกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ ถ้าหากไม่มีหนังสือเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม ลินคอล์น อาจไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ได้ " คริค มอนโร ( Kirk Monroe ) ได้กล่าวว่า " สโตร์ มิใช่เป็นนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกเท่านั้น แต่ยังได้สร้างผลงานให้ชาวอเมริกันได้รับรู้ ในช่วงจุดวิกฤตประวัติศาสตร์ของพวกเขา ผลงานของเธอมีอิทธิพลอย่างมากต่อใครหลายๆคน และที่สำคัญมิใช่มีส่วนให้เกิดการเลิกทาสผิวดำเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดมีการเลิกทาสสำเร็จในใจของใครก็ตามที่อ่านหนังสือเธอ " พร้อมกันนี้งานเขียนของเธอยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นหลัง เช่น Serah Orne , Jewett Mary และ Wilkine Freeman
6. The Republic เขียนโดย พลาโต้ (Plato) หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียง มีอิทธิพลและมีผู้อ่านอย่างกว้างขวางเป็นการบรรยายถึงรัฐในอุดมคติ (utopia) นั่นก็คือ รัฐก็คือคน, คนเป็นอย่างไร รัฐก็เป็นอย่างนั้น รัฐประกอบขึ้นด้วยธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งอยู่ในรัฐและเราจะทำให้มนุษย์เป็นคนดีได้อย่างไร ซึ่งใครที่ต้องการเป็นนักเารเมืองจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เอ็มเมอร์สัน นักปราชญ์ของอเมริกันกล่าวว่า "พลาโตคือนักปราชญ์ และปรัชญาก็คือพลาโต" หรือแม้แต่ โอมาร์ คัยยาม ที่กล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน ยังกล่าวว่า "จงเผาหนังสือเสียให้หมด เพราะสิ่งที่มีค่านั้นมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว" ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญทั้งในด้านปรัชญา รัฐศาสตร์ กฎหมาย การศึกษาและวรรณคดี
พร้อมวันนี้ก็ยังกล่าวถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เช่น นิทานของอีสป (Aesop : Fables) , อีเลียต และโอเดสสี (Iliad , Odyssey) เขียนโดย โฮเมอร์ (Homer) , Common Sense เขียนโดย โธมัส เพน (Thomas Paine) , Politics เขียนโดย อริสโตเติล (Aristotle) , Origin of Species เขียนโดย ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และ Principia Mathematica เขียนโดย เซอร์ไอเซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) เป็นต้น
หรือแม้แต่ปัจจุบันในสังคมสารสนเทศ ใคร ๆ ก็รู้จักคำว่าไซเบอร์ (Cyber) อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กหรือระบบอินเทอร์เน็ต แล้วยังมีการใช้คำนี้หลากหลาย เช่น Cyberspace , Cyber Caf? , Cyberporn หรือ Cybersex เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่า ไซเบอร์สเปช เป็นคำที่นำมาใช้ ซึ่งมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง นิวโรแมนเซอร์ (Nevromancer) ของวิลเลี่ยม กิบสัน (Willian Gibbson) นวนิยายเรื่องนี้ กล่าวถึง โลกอนาคตที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก โดยพระเอกของเรื่องชื่อ "เคส" เป็นแฮ็กเกอร์ (Hacker) ตัวฉกาจถูกว่าจ้างให้เข้าไปแฮ็กเครื่องคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ชื่อว่านิวโรแมนเซอร์ สุดท้ายเคสก็ทราบความจริงว่าผู้ที่อยู่บงการเบื้องหลังคำสั่งแฮ็กในครั้งนี้ไม่ใช่คน แต่เป็นคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์อีกเครื่องหนึ่ง ที่ทำงานร่วมกับนิวโรแมนเซอร์มาก่อนชื่อ วินเทอร์มิวต์ (Wintermute) ที่ฉลาดจนถึงขั้นมีความรู้สึกเป็นตัวตนและเริ่มเหม็นหน้าเพื่อนของมันเอง คำว่า ไซเบอร์สเปช ในเรื่องนี้หมายถึง โลกที่อยู่ภายใน "นิวโรแมนเซอร์" และ "วินเทอร์มิวต์" นั่นเอง (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ. 2543 : 18 - 19)
จากตัวอย่างที่กล่าวมา ได้แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมมีอิทธิพลและผลกระทบต่อสังคมเช่นไร วรรณกรรมมีส่วนอย่างมากที่จะให้แนวความคิด สร้างพลัง ให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความคิด และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในระดับสังคมของผู้อ่าน ประเทศ และโลก วรรณกรรมจึงผูกพันกับสังคมอย่างแนบแน่น และมีบทบาทที่สำคัญในการชี้นำแนวทางให้กับคนในสังคมตลอดมา
ที่มา : พงษ์ศักดิ์ สังขภิญโญ