บทความ
เรื่องสั้นไทยในศตวรรษใหม่
เรื่องสั้นไทยในศตวรรษใหม่ จากทัศนะของนักวิชาการและนักเขียนชั้นนำของเมืองไทย
รศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ นักวิชาการวรรณกรรม " เท่าที่ผ่านมา พอจะมองถึงความชัดเจนของเรื่องสั้นในศตวรรษหน้า ก็ต้องมีพัฒนาการในด้านรูปแบบ เนื้อหา วิธีการนำเสนอเรื่อง วิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่มากขึ้น เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมในแง่มุมต่างๆ ปัญหาเศรษฐกิจคงจะเป็นเรื่องใหญ่กลายเป็นวัตถุดิบให้แก่นักเขียน อีกด้านเป็นส่วนกระทบด้านความล่มสลายในเชิงวัฒนธรรมที่มีมากขึ้น อีกส่วนก็คือการค้นหาความหมายในแง่ความเป็นมนุษย์ เข้าไปถึงความหมายของตัวตนจะมีปรากฏในงานเขียนมากขึ้น กลับมามองในเรื่องของมนุษย์นิยม ปัจเจกบุคคลความเป็นมนุษย์ข้างในมากขึ้น รุ่นใหม่จะมีกรรมวิธีอื่นๆมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีการใชคอมพิวเตอร์กันมาก ก็เลยใช้ความสามารถทางด้านกราฟฟิกมาใช้ในการเล่าเรื่องเยอะขึ้น .... เรื่องสั้นไทยค่อนข้างสดใสเรื่องสั้นเราจะมองเห็นรูปแบบเนื้อหา วิธีคิด วิธีนำเสนอ ที่ค่อนข้างชัดเจนมาก มันมีทิศทางที่ไปได้ไกล มีหลายคนที่ขยันทำงานเทคนิคใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ทดลองงานใหม่ๆมาตลอด ก็มีหน้าจับตามอง กลุ่มช่อการะเกดจะเป็นกลุ่มที่รับไม้และส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังๆ ได้อีกเยอะเลย สดใสสบายใจได้ "
วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนแห่งยุคสมัย และนักเขียนรางวัลซีไรท์ประจำปี ๒๕๔๐
" ผมคิดว่าเรื่องสั้นไทยในศตวรรษหน้า หน้าจะมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น เพราะว่ากระแสของโลกบังคับให้เป็นอย่างนั้น ถ้ามองในแง่ของเชิงธุรกิจต่างๆในศตวรรษหน้า โลกมันจะเป็นใบเดียวกันมากขึ้นจะทำให้มุมมองของเขามันกว้างขึ้น ก็จะมีนักเขียนใหม่ๆเกิดมา ทิศทางมันก็จะเปลี่ยนไปเอง ผมมองในลักษณะที่ว่าทิศทางของเรื่องสั้นมันมีผลมาจากสังคม สภาพเศรษฐกิจ ในปัจจุบันนี้จะเห็นภาพแปลกๆ ที่เกิดมากขึ้น กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ส่วนรูปแบบการทดลองแล้วแต่ใคร ซึ่งมันไม่ใช่หัวใจของการเขียนเรื่องสั้น เป็นเพียงแต่ขบวนการหรือวิธีการเขียนเท่านั้นเอง
....ก็อาจพูดไม่ได้เต็มปากว่า เรื่องสั้นไทยอนาคตสดใส แต่ก็ถือว่าไม่เลวนักทีเดียว มีพัฒนาการอยู่บ้าง ไม่ย่ำอยู่กับที่ ผมว่ามันยังมีอนาคตอยู่ ไม่ถึงกับตายไปทีเดียว "
สมพงษ์ ทวี หรือ ดอกไม้ดำ นักเขียน,กวี และเป็นนักวิจารณ์ปากกาคม " ในแง่ของรูปแบบเรื่องสั้นมีพัฒนาการค่อนข้างสูง แต่โดยเนื้อหาเป็นพัฒนาการค่อนข้างต่ำ ในยุคสมัยปัจจุบันหรืออาจก้าวข้ามไปในศตวรรษหน้า ผมว่าเรายังเวียนว่ายในความหมายของคำว่า รูปแบบนิยมทางด้านเรื่องสั้นเป็นส่วนใหญ่ นวัตกรรมทางวรรณกรรมคือการสร้างคือการสร้างสิ่งใหม่ ในความหมายของผมต้องใหม่ทั้งโครงสร้าง ใหม่ทั้งขบวนการ แต่ว่าที่เป็นอยู่มันใหม่เพียงบางส่วน เป็นการสร้างจากการถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมเท่านั้นเอง ตัวนักเขียน คนทำงานศิลปะที่ทำงานขึ้นมา จริงๆแล้วไม่ได้มีความคิดเชิงขบถที่จะหลีกหนีความซ้ำซากจำเจเก่าๆทั้งโดยรูปแบบและเนื้อหา ศิลปวรรณกรรมมันเหมือนกับไม้ล้มลุก ในศตวรรษใหม่ก็ยังสดใสอยู่ ผมเชื่อมั่นว่าศิลปกรรมทั้งปวงไม่มีวันตาย ....แต่จะคลี่คลายไปอย่างไร มันเป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องของเราที่เราจะต้องเฝ้ามองกันต่อไป "
จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรม ดีกรีรางวัล ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ " เรื่องสั้นยุคนี้ คนที่เขียนส่วนใหญ่เป็นคนในรุ่นหนุ่มสาวอยู่ในช่วง ๒๕-๓๕ ปีประมาณนั้น ส่วนรุ่นใหญ่ๆจะเขียนงานน้อยลง นักเขียนรุ่นใหม่จะมีลักษณะหนึ่งที่เห็นว่าวิธีการเล่าเรื่องจะไม่เหมือนนักเขียนรุ่นก่อนค่อนข้างจะมีการซ่อนรหัสบางอย่างไว้ในเรื่องสั้น พออ่านแล้ว บางทีคนอ่านเข้าใจไม่ได้ ไม่สามารถแกะรหัสของคนเขียนออกว่าเขาพูดถึงอะไร มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ยากที่จะสื่อกับคนอ่าน ซึ่งมองได้สองอย่าง ข้อดีคือเป็นสีสันที่แปลกใหม่ ดูแล้วน่าสนใจ ถ้ามองอีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มหรือเปล่า คนส่วนใหญ่อาจจะไม่สนใจตรงนื้ และบางครั้งในความที่เป็นคนหนุ่มสาว มุมมองความคิดก็ยังไม่ได้แหลมคมเท่าไหรนัก คืออยากเห็นนักเขียนที่เป็นนักเล่าเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้ทุกคนที่เขียนอยู่ ผมมีความรู้สึกว่าเป็นนักคิดหมดเลย ยังไม่สามารถถ่ายทอดความคิดผ่านในการเล่าเรื่องให้หน้าสนใจได้เท่าไรนัก หรือว่ามันติดอยู่กับรหัสอะไรบางอย่างที่ทำให้เรื่องง่ายๆ เล่าด้วยวิธีการง่ายๆบางทีมันได้ผลมากกว่า กลายเป็นมาดัดมาแปลงใช้ในรูปแบบที่ยาก ทำให้คนอ่านไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อออกมาได้ ทำให้สื่อสารไม่สัมฤทธิผล ....ในก้าวต่อไปยังไม่แน่ใจ แต่เท่าที่มองนักเขียนรุ่นนี้อาจจะโตขึ้น พบอะไรมากขึ้นในการสื่อสาร แต่ตอนนี้เขาสามารถสื่อสิ่งที่อยู่ในใจไปให้ได้สมบูรณ์หรือยัง พวกเขาน่าจะเติบโตขึ้นในศตวรรษใหม่ต้องรอคอยดูกัน "
เรืองเดช จันทรคีรี ผู้จัดการสำนักช่างวรรณกรรม และคลุกคลีกับช่อการะเกดมาเกือบสิบปี " ปัญหาที่ผมอ่านเรื่องสั้นระยะหลังๆ ทั้งที่รู้ว่าแก่นเรื่องดี ธีมดี แต่อ่านแล้วอึดอัด น่าเบื่อ ยืดเยื้อ ผมเชื่อว่าเรื่องสั้นต้องอ่านจบภายในหนึ่งชั่วโมง คนอื่นไม่ทราบ แต่ผมมีปัญหา ในยุคใหม่งานวรรณกรรมต้องเป็นงานสื่อสารมวลชนชนิดหนึ่งที่เราจำเป็นต้องสื่อไปถึงคนอ่าน นักเขียนต้องคำนึงถึง มีเนื้อหาแบบนี้จะมีรูปแบบการนำเสนออย่างไรคนจึงจะรับ ผมให้ความสำคัญของรูปแบบมากกว่าเนื้อหา เรื่องสั้นในศตวรรษใหม่เล่าเรื่องได้น่าอ่าน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรื่องสั้นมาทุกศตวรรษ ปัญหาอยู่ที่รูปแบบเพียงคุณจะเขียนอย่างไรให้น่าอ่าน นำเสนอสิ่งที่ต้องการให้สะท้อนออกไป แค่เสนอในรูปแบบเรียลลิสติกอาจจะไม่พอเสียแล้วในศตวรรษหน้า ต้องมีอะไรหลายๆอย่าง นักเขียนเมื่อผ่านเวลาไปต้องขึ้นมาเป็นตัวจริง มีพัฒนาการมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศของตนได้ มีความเชี่ยวชาญจนถึงขั้นเป็นมืออาชีพในแนวทางของตัวเอง คำถามที่ อ.ธเนศ เวศร์ภาดา ที่บอกว่าเรื่องสั้นของไทยนั้นคึกคัก แล้วคึกคักในส่วนไหน เรื่องสั้นที่เคยเป็นเครื่องมือสำหรับการอ่าน เพื่อความรื่นรมย์ แต่เดียวนี้คนอ่านจำกัดมาก เพราะอ่านแล้วเครียดเกินไปควรจะมีเรื่องสั้นอ่านแล้วสนุกสนาน อยากให้มีคนอ่านกว้างขึ้น แทนที่จะเขียนกันเองอ่านกันเองในวงวรรณกรรม ต้องยอมรับความจริงว่าตลาดมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันคิด ห้ามดูถูกคนอ่านโดยเด็ดขาด เราจะนำเสนอให้เขาอ่านได้อย่างไร นักเขียนกำลังตกอยู่ในวังวนตัวเอง ยิ่งในยุคข่าวสาร การโฆษณาในศตวรรษใหม่ ถ้าทะลุออกมาไม่ได้ก็จบ ยอมรับความจริงให้มากขึ้น ....อย่าคิดว่านักเขียนเป็นอาชีพศักดิ์สิทธิ์เป็นศิลปิน นักเขียนต้องเป็นคนธรรมดาที่เขียนหนังสือเพื่อเป็นอาชีพแล้วสื่อสารกับคนอื่นให้ได้ ถ้าสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ก็จบ คุณก็ไม่เหมาะเป็นนักเขียนแล้วในยุคสมัยใหม่ "
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน คอลัมนิสต์ ที่คร่ำหวอดในวงการวรรณกรรมช่ำชองมากว่าครึ่งชีวิต " เรื่องสั้นไทยในศตวรรษใหม่ต้องจับเลือดเนื้ออารมณ์ของยุคสมัยให้ได้ แสดงออกอย่างมีวรรณศิลป์ แต่ต้องมีสาระ ผมไม่เชื่อว่าเรื่องสั้นคือการอธิบายปรัชญาอย่างเข้มงวด ภาวะที่เป็นอยู่ปัจจุบันนักเขียนเรื่องสั้นไทยยังไม่มีอะไรออกมาชัดเจนเลย มันปานประหนึ่งว่าไม่รู้จะไปทางไหนกัน เอาอย่างไรกันดี ไม่รู้จะเขียนแนวไหน นักเขียนต้องมีความชัดเจนในแง่การเล่าเรื่องมีเทคนิคและสาระพอสมควร โลกจะเชื่อมโยงแค่ไหนก็แล้วแต่ เรื่องมันก็ยังเป็นความเป็นสากลของมนุษย์ถ่ายทอดออกมาอย่างมีเทคนิคมีศิลปะที่ไม่ซ้ำซากไม่ล้าสมัย สะท้อนออกมาในลักษณะของเรื่องสั้นได้อย่างไร ....ผมเชื่อว่าในศตวรรษหน้าก็ยังไม่หยุดนิ่งแต่มองไม่เห็นชัดเจนตอนนี้เท่านั้นเอง "
อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนรางวัลซีไรท์ ประเภทเรื่องสั้นไทยคนแรก ปัจจุบันมุ่งไปเอาดีทางเขียนบทโทรทัศน์
" เรื่องสั้นในศตวรรษใหม่ก็ต้องเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม บ้านเมือง ผ่านมุมมองของนักเขียน ประเด็นเนื้อหาที่อิงเน้นหนักเรื่องของสภาพแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนจะมีสูงขึ้น ที่ผ่านมาก็เริ่มมีเรื่องสั้นในลักษณะนี้อยู่ แต่ว่ายังไม่มีเรื่องที่ถึงจุดที่สมบูรณ์ในการแสดงออกทางศิลปะ มีแนวโน้มไปทางนั้นแต่จะถึงจุดสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อนักเขียนได้สะสมศิลปะการเขียน การมองโลก ประสบการณ์ชีวิตอย่างช่ำชอง ก็จะเกิดนวัตกรรมที่ดีขึ้นในศตวรรษใหม่ เกิดกองทัพความเคลื่อนไหวที่จะหาจุดสมบูรณ์ทั้งนักเขียนเก่าและใหม่ ต้องทดลองงานใหม่ๆ กัน ที่ลองอ่านดู ปัจจุบันอาจจะซ้ำซากน่าเบื่อ
....แต่มันก็เป็นยุคของคนใหม่ๆ อนาคตที่รออยู่ความสดใสต้องมีอยู่อย่างแน่นอน วรรณกรรมไม่มีทางที่จะขาดหายหรือล่มสลาย จะมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาพัฒนางานเขียนผ่องถ่ายซึ่งกันและกัน "
สกุล บุณยทัต นักวิชาการทางการละครจากรั้วศิลปากร " มุมมองของคนในปัจจุบันก็ต้องอยู่ในภาวะที่ซับซ้อนพอสมควร เพราะฉะนั้นโครงสร้างของเรื่องสั้นที่เป็นเป็นมาต้องมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร ความหมายของคำว่าเรื่องสั้นนั้นมีความหมายเปลี่ยนไป มันต้องมีรูปแบบและเนื้อหาที่ไปกันได้ ไม่จำกัดอยู่แค่ภาษาถ้อยคำที่เหมือนเดิม ปัจจุบันต้องหักมุมทางความคิดกันแล้ว มีการแสดงชีวทัศน์และโลกทรรศน์ค่อนข้างมากมันเป็นระยะของการทดลอง นักเขียนเรื่องสั้นของไทยยุคนี้ แต่ละคนต่างมีแนวทางของตัวเอง มีรูปรอยทิศทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ละคนไม่ได้ย่ำอยู่บนคำสอนเก่า ความลงตัวไม่ได้ง่ายและงามอย่างสมัยก่อน ขอให้ทำตรงนั้นอย่างเชื่อมั่นและเข้าใจ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่จะพิสูจน์กันต้องหาความสมดุลและดุลยภาพของของงานที่สร้างขึ้น การเป็นนักเขียนปัจจุบันจำเป็นต้องเป็นนักสังเกตการณ์ นักค้นหารูปแบบและสไตล์ของตัวเองเป็นผู้แสวงหาหนทางอะไรสักอย่าง ถึงได้มีรูปรอยสไตล์แปลกๆต่างๆ ให้มาอ่านกัน ....นักเขียนก้าวล้ำไปกว่ากรรมการตัดสินรางวัลหรือนักวิจารณ์จะตามทันเสียแล้ว นั้นเป็นความจริงหรือเปล่า นี่เป็นคำถาม? "