บทความ
กล้วยหอมในร้านเคเอฟซี : งานเขียนเพื่อชีวิต การเมืองยังไม่ตาย
กล้วยหอมในร้านเคเอฟซี : งานเขียนเพื่อชีวิต การเมืองยังไม่ตาย
ข้าพเจ้าได้อ่านได้เห็นตามเว็บบอร์ด หรือแม้แต่การนั่งเสวนากับมิตรสหายไถ่ถามถึงงานเขียนแนว เพื่อชีวิต-การเมือง ว่า งานเขียนประเภทนี้ตายไปแล้วหรือ? ใครหลายคนฟันธงไปว่านิ่งและถึงขนาดกล่าวว่างานลักษณะนี้ได้ตายไปแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังไม่เชื่อนัก เหตุเพราะเรื่องสั้นต่างๆ ที่มีให้อ่านอยู่ตามหน้านิตยสารนั้นก็ล้วนแต่ถ่ายทอดมาจากชีวิตสามัญชนเดินดินกินข้าวแกงทั้งสิ้น และหลายเรื่องก็เป็นงานที่สะท้อนการต่อสู่ระหว่างสังคมชนบทกับผู้ปกครอง หรือแม้แต่ระหว่างสังคมด้วยกันเอง งานเขียนในลักษณะนี้จึงเข้าข่ายจัดอยู่ใน งานวรรณกรรมเพื่อชีวิต ทั้งสิ้น
กร ศิริวัฒโณ นักอ่านรุ่นเก่าหรือกลางเก่ากลางใหม่ไม่มีใครที่ไม่รู้จักนักเขียนใต้นามนี้ โดยเฉพาะช่วงหลังๆ มานี่ นักเขียนนามนี้มีความผูกพันกับ รางวัลพานแว่นฟ้า เป็นอย่างดี เพราะเรื่องสั้นและบทกวีผ่านเข้ารอบสุดท้ายคว้ารางวัลชมเชยแทบจะทุกปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา
อันที่จริงนักเขียนนามนี้เริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ บทกวี ที่รัก...หนาวนี้มีบ้างไหม และเรื่องสั้นชื่อ หมูเถื่อน เป็นบทกวีและเรื่องสั้นที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในชีวิต และตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมาเรื่องสั้น บทกวี หรือหนังสือของเขาก็ได้รับรางวัลจากสมาคมและเวทีการประกวดต่างๆ มาไม่น้อยกว่าสิบรางวัล งานเขียนส่วนใหญ่เน้นหนักไปทางเพื่อชีวิต และการเมืองเป็นหลัก กระทั้งในปี ๒๕๔๓ ก็ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดสุราษฏร์ธานี สาขาวรรณศิลป์
รวมเรื่องสั้น กล้วยหอมในร้านเคเอฟซี เป็นรวมเรื่องสั้นล่าสุดที่เพิ่งออกมา มีเรื่องสั้นอยู่ทั้งหมด ๑๐ เรื่อง เกือบทุกเรื่องนำเสนอในรูปแบบ งานเขียนเพื่อชีวิต-การเมือง ทั้งสิ้น อีกทั้งในเล่มก็มีเรื่องสั้นอยู่ประมาณ ๓ เรื่องที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลพานแว่นฟ้าซึ่งได้รับรางวัลชมเชย
ด้วยฝีไม้ลายมือของผู้เขียนซึ่งมีรางวัลเป็นเครื่องการันตีผสมกับมีประสบการณ์ทางการเขียนมายาวนาน รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็จึงอ่านง่ายไม่มีโครงเรื่องที่สลับซับซ่อนอะไรนัก แม้ผู้เขียนจะเขียนโดยอาศัยงานเขียนแนว สัญลักษณ์ (symbol) บ้างบางเรื่อง เช่นเรื่อง ฮัลโหล...! โดยนำเอาฟองสบู่ที่ลูกสาวเล่นแทนนโยบายของรัฐบาล หรือ ไก่ลงร้าน โดยเอาไก่สองตัวที่ปลีกตัวจากแม่ไปหากินแทน ส.ส. และเรื่อง ดูมันทำ นำเอาสุนัขสองตัวที่กำลังกระทำชำเราอย่างผิดที่ผิดทาง แทนนโยบายของรัฐ ผู้เขียนก็ทำให้ผู้อ่านอ่านแบบไม่ต้องปวดหัวตีความอะไรนัก ยกเว้นแต่เรื่องการบรรยายสิ่งของที่ผู้อ่านไม่มีประสบการณ์ร่วมเพียงเรื่องเดียวนั้นก็คือเรื่อง ปริศนาล้ำลึก แม้ผู้เขียนจะบรรยายของเล่นชิ้นนั้นอย่างละเอียด (มีภาพวาดประกอบ) แต่ผู้อ่านซึ่งไม่เคยได้สัมผัสจับต้องสิ่งนั้น ก็พอทำให้ผู้อ่านเสียอรรถรสในการอ่านได้พอสมควร ทว่าโดยรวมแล้วสามารถกล่าวได้ว่า งานเขียนชุดนี้ค่อนข้างจะเรียบง่ายไม่หวือหวาเท่าไรนัก อ่านแล้วก็ไม่ได้ติดใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากแต่เรื่องราวทั้งหมดสอดร้อยกันเป็นเอกภาพทั้งชุด แกนหลักก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ที่สร้างปัญหาให้แก่สังคม และผู้คนในชนบท เมื่ออ่านจบแล้วก็ทำให้คิดได้ว่า ปัญหาเรื่องนักการเมืองกับผู้คนในประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นชนบทนั้น สิบปีที่แล้วมาเป็นอย่างไร ณ ปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยน ชาวบ้านก็ล้วนแต่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนเมื่อสิบ ยี่สิบปีก่อน หากแต่ความรุนแรงอาจแตกต่างกันไป โดยปัจจุบันรัฐบาลสร้างปัญหาให้ชาวบ้านโดยใช้นโยบายเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ขายฝัน และหลอกลวง ดังจะเห็นได้จากที่ผู้เขียนสรุปในเรื่อง ปริศนาล้ำลึก ว่า ต้องลวงให้หลง และหลอกให้รอคอย (เรื่องปริศนาล้ำลึก หน้า ๑๐๖) และให้ชื่อนโยบายนี้ว่า ประชานิยม หรือแม้แต่นโยบายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ใครหลายคนมองว่าดี (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งหลาย) ก็เช่นกัน หากแต่กับระดับชาวบ้านนั้นก็ยังถูกเรารัดเอาเปรียบอยู่ เช่นเรื่อง ไม่แน่ ที่เฒ่าเทพถูกนายก อบต. หลอกให้ว่าอย่าเพิ่งเก็บข้าวที่ออกรวงเหลืองอร่ามไปทั่วทุ่งเกือบสิบไร่ เพียงเพราะเฒ่าเทพมีอาชีพเป็นชาวนาแทบจะคนเดียวในอำเภอ นาของเฒ่าเทพจึงถูกเลือกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายจากไป ข้าวในนาของเฒ่าเทพก็หัก นำไปขายก็ไม่ได้ราคา แต่กระนั้นทุกคนในครอบครัวก็หวังว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะหยิบยืนเงินทองให้บ้าง ทว่าสุดท้ายก็ไม่ได้แถมยังต้องเสียเงินซื้อน้ำแข็ง น้ำอัดลมต้อนรับนักท่องเที่ยวฟรีๆ อีก
ไม่เพียงผู้เขียนจะวิพากษ์นโยบายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบกันเองระหว่างชาวบ้านซึ่งยังคงมีให้เห็นอยู่ เช่นเรื่อง กล้วยหอมในร้านเคเอฟซี หรือการกระทบกระแทกระหว่างชาวบ้านอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล เช่นเรื่อง ผักชี-ชีช้ำ ตลอดจนปัญหาของปัจเจกชน อย่างเช่นเรื่อง สะพานหิ่งห้อย สวนทาง และ คำถามกลางป่า
เมื่อมองผ่านงานชุดนี้จึงทำให้มองเห็นภาพผู้คนในชนบทว่า ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลเอารัดเอาเปรียบอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะประโคมข่าวถึงการกินดีอยู่ดีของชาวชนบทอย่างไร นั้นก็ยังเป็นเพียงชาวบ้านส่วนน้อย และส่วนน้อยนั้นมีแนวโน้มที่มีฐานอิงอยู่กับผลประโยชน์ของรัฐ ฉะนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถบอกได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่สุขสบายแต่อย่างใด
เมื่อข้าพเจ้าอ่านงานชุดนี้จบ ก็สามารถยืนยันได้ว่างานเขียนในลักษณะ เพื่อชีวิต-การเมือง ยังไม่ได้ตายไปจากแวดวงวรรณกรรมของประเทศไทย หากแต่สถานการณ์การเมืองและปัญหาที่เปลี่ยนไป ทำให้นักเขียนต้องขบคิดปมปัญหาในเชิงนโยบาย (ที่ถูกล่อลวงว่าดี) แล้วนำมาวิเคราะห์ วิพากษ์ และวิจารณ์ กระเทาะเปลือกจนเห็นแก่นแท้ ให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงผลดี-เสียของการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นงานหนักของนักเขียนแนว เพื่อชีวิต-การเมือง ในยุคนี้จึงตกที่การขบคิดและตีแผ่ปัญหาออกมาให้ได้ อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้น
ข้อมูลของหนังสือ
ชื่อ กล้วยหอมในร้านเคเอฟซี
เขียนโดย กร ศิริวัฒโน
ราคา ๑๒๐ บาท
จำนวน ๑๖๘ หน้า
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ นาคร
พิมพ์ครั้ง เมษายน ๒๕๕๐
หมายเลขมาตราฐานประจำหนังสือ ๙๗๘-๙๗๔-๗๐๓๒-๗๘-๙