บทความ
โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน
นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538
โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน
เรื่อง : พจน์ กริชไกรวรรณ
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ "โกมล คีมทอง" คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในปัจจุบันน้อยคนนักที่จะทราบว่าเขาเป็นใคร และยิ่งมีคนน้อยกว่านี้มากนักที่จะรู้ว่าเขาเคยทำเคยสร้างอะไรมาบ้าง
หากเป็นคนที่อายุ ๔๐ กว่าขึ้นไป อาจเคยได้ยินได้ฟัง หรือจำได้ว่า เมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว มีข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่งที่โด่งดังมาก เกี่ยวกับบัณฑิตหนุ่มสาวจากจุฬาฯ สองคน ถูกยิงเสียชีวิตขณะอุทิศตนเป็นครูเข้าไปตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ แก่เด็กในท้องถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คนหนึ่งนั้นคือ โกมล คีมทอง อีกคนเป็นเพื่อนสาวของเขาที่ชื่อรัตนา สกุลไทย
ความน่าสนใจของชายหนุ่มคนนี้อยู่ตรงที่ว่า เขาเป็นคนหนุ่มที่ไม่เคยลังเลใจในการประกาศปณิธานแห่งชีวิตของตนว่า "จะขอเป็นครูตราบชั่วชีวิต" ตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อยและยังศึกษาอยู่ ทั้งที่ด้วยโอกาสของเขาหลังจากจบการศึกษาแล้ว สามารถไต่บันไดทางการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเสาะหาอาชีพที่ทำให้สถานภาพทางสังคม และเศรษฐกิจของเขาดีขึ้น ได้โดยไม่ลำบากนัก ตามอย่างเพื่อนนิสิตนักศึกษาทั่วไปในสมัยนั้น
ใครคือ "โกมล คีมทอง"
โกมลคือชื่อของคนหนุ่มแห่งลุ่มน้ำลพบุรี ตามทะเบียนนิสิตของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีหลักฐานเป็นลายมือของโกมลเองว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นบุตรของนายชวน คีมทอง กับนางทองคำ คีมทอง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
โกมลมีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด ๕ คน เป็นชายทั้งสิ้น คนโตชื่อโอภาส สิ้นชีวิตเมื่อมีอายุได้ ๓ เดือน คนที่ ๒ คือโกมล คนที่ ๓ ชื่อด้วง สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ ๑ ขวบ คนที่ ๔ สิ้นชีวิตเสียแต่เมื่อยังไม่ได้ตั้งชื่อ คนที่ ๕ ชื่อนิพนธ์ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ และบวชเป็นพระ (ปี ๒๕๔๐) สมัยเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ต่อมาลุงกับป้าขอตัวไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก
เด็กชายโกมลใช้ชีวิตวัยเด็กและได้รับการศึกษาขั้นต้นจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และมาต่อที่โรงเรียนบ้านหมี่วิทยาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ สอบไล่ได้ ๘๗ เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นได้มาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยอาศัยอยู่กับบ้านญาติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาว ในเขตบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ แผนกศิลปะ เมื่อปี ๒๕๐๙ สอบไล่ได้ ๗๒.๗๐ เปอร์เซ็นต์ และในสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นนั้น เขาเคยทำกิจกรรมด้านหนังสือมาบ้าง เนื่องจากเรียนมาทางสายศิลปะ และมีแววทางด้านการขีดเขียน ส่วนกิจกรรมด้านอื่นๆ ไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็น
จากรั้วชมพู-ฟ้า มายังรั้วชมพู-เพลิง
โกมลสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สองแห่ง คือที่คณะนิติศาสตร์ (บางคนว่า คณะรัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยที่ค่านิยมในสมัยนั้น เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาที่เรียนทางด้านสายศิลปะหรืออักษรศาสตร์ จะเลือกคณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนคณะครุศาสตร์เป็นอันดับถัดมา
ชมพู คือสีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
เพลิง คือสีของคณะครุศาสตร์ (ซึ่งเปรียบดั่งเพลิงเผาผลาญความไม่รู้ และส่องปัญญาให้แก่เยาวชน)
แต่โกมลเลือกที่จะเป็นครูมากกว่าเป็นหมอความ
ยุคสมัยที่โกมลเข้ามาเป็นนิสิตโก้เก๋ที่จุฬาฯ นั้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร กิจกรรมของเหล่าปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยจึงมีแต่เรื่องการเชียร์ การแข่งขันกีฬา (ซึ่งมักแถมการยกพวกตีกัน) การจัดงานเต้นรำ การดูภาพยนตร์ ส่วนกิจกรรมประเทืองปัญญาก็เพิ่งเริ่มได้ไม่นานนัก การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทเริ่มเป็นที่นิยม โดยบางคนมองว่าเป็นเรื่องแฟชั่น แหล่งเที่ยวของวัยรุ่นคือตามโรงภาพยนตร์ ขณะที่สยามสแควร์ยังไม่แจ้งเกิด หนุ่มสาวอาศัยงานบอลล์เป็นที่พบปะ นักร้องที่ชื่นชอบก็เป็นพวกฝรั่งตะวันตก
ท้ายสุด โกมลจบชั้นอุดมศึกษาจากคณะครุศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา เอกวิชาสังคมศึกษา โทภาษาฝรั่งเศส ในปีการศึกษา ๒๕๑๒
คุณแม่ของโกมลเล่าว่า ชีวิตในวัยเด็กของเขาก็เหมือนกับเด็กผู้ชายไทยธรรมดาที่เรียบร้อย ว่าง่าย เชื่อฟังพ่อแม่ แต่ที่จะมีลักษณะพิเศษอยู่บ้างก็ตรงเป็นเด็กช่างคิดช่างฝัน ค่อนข้างเงียบขรึม และความเป็นคนช่างคิดนี้ก็เริ่มปรากฏ และเป็นที่ชัดแจ้งแก่ทุกคนเมื่อมาใช้ชีวิตในคณะครุศาสตร์
โกมลเติบโตขึ้นมาเป็นชายหนุ่มร่างสันทัด ใบหน้าคมสัน ผิวค่อนข้างคล้ำ มีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ เชื่อมั่นในตนเอง พร้อมๆ กับมีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ ยึดมั่นในหลักการ และมีความเป็นตัวของตัวเอง จึงมีผู้ใหญ่หลายท่านให้ความเอ็นดูต่อเขา
บุคลิกของโกมลที่เพื่อนบางคนสะท้อนให้เห็น คือ ใบหน้าของเขาจะระบายด้วยรอยยิ้มน้อย ๆ ชอบสวมเสื้อแขนยาว เดินเร็ว ชอบหอบแฟ้มสีน้ำตาลหม่นเล่มโตๆ เดินไปไหนต่อไหน ชอบเข้าไปนั่งในห้องสมุดอยู่เสมอ ชอบจดคำบรรยายในกระดาษพิมพ์ดีด ให้ความเป็นกันเองกับเพื่อน มีจิตใจโอบอ้อมอารี ชอบซักถาม ไม่พูดเรื่องของตนเอง แต่ชอบคุยเรื่องมีสาระ ชอบถกเถียง ชอบคุยกับผู้ใหญ่ ชอบเอาข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาบอก เป็นคนอ่อนโยน เฉียบ แต่ดื้อดันและซน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพยายามนำความคิดนั้นมาทดลองปฏิบัติ รวมถึงมีความมุ่งมั่นศรัทธาในวิชาชีพครูอย่างแท้จริง
น้องใหม่ หน้าที่ใหม่
การแสดงออกของโกมลเมื่อเริ่มเข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ในปี ๒๕๐๙ นั้น ดูจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษให้แลเห็นเด่นชัดมากนัก นอกไปเสียจากความกระตือรือร้นในความเป็นครูมากกว่าคนอื่น ๆ เขายังคงมองกิจกรรมในคณะฯ และในจุฬาฯ อยู่อย่างห่างๆ ให้ความสนใจกับชุมนุมภาษาไทยที่ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (ปัจจุบันคือคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ) ทำงานอยู่ ไพฑูรย์เป็นเพื่อนรุ่นพี่ และเป็นผู้ชักชวนให้เขามารู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้เขายังสนใจทำหนังสือกับเพื่อนรุ่นเดียวกันจากคณะต่าง ๆ คือหนังสือ น้อง ๐๙ (บางคนว่า อนุสารวรรณศิลป์ จุฬาฯ) นำมาขายแก่บรรดานิสิตที่หน้าจุฬาฯ โดยเนื้อหาในนั้น ได้ตีพิมพ์ "จดหมายถึงพ่อคิด" ซึ่งอาจถือได้ว่างานชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เขียนเล่าประสบการณ์ในชีวิตมหาวิทยาลัย
เมื่อได้อ่านสมุดบันทึกประจำวัน ปี ๒๕๑๐ หรือ อนุทิน ๒๕๑๐ ของโกมลจะพบว่า เขาสนใจเรียนภาษาฝรั่งเศสและสังคมศึกษามาก ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้การท่องจำมากทั้งคู่ นี้ทำให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมนุมสังคมศึกษาของคณะตั้งแต่อยู่ปี ๑ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการชุมนุมชุดใหม่ในปลายปีการศึกษานั้น เขากลับพลาดตำแหน่งรองประธาน รวมถึงตำแหน่งหัวหน้าชั้นปีที่ ๒ โดยที่ความขยันขันแข็งในการเรียน ความใฝ่รู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงงานทางด้านหนังสือ ก็เริ่มส่อแววให้เห็นได้ตั้งแต่ปีแรกนี้
จนกระทั่งหยุดภาคเรียนในเทอมปลาย (พฤษภาคม ๒๕๑๐) โกมลได้ไปร่วมค่ายอาสาพัฒนานิสิตนักศึกษาไทย-อิสลาม ที่ค่ายบ้านทอน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือว่าเป็นการไปค่ายครั้งแรก และที่ปัตตานี ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (อดีตประธานรัฐสภา) รุ่นพี่คณะครุศาสตร์เป็นผู้อำนวยการค่าย เขาเองรับหน้าที่ช่วยงานด้านวิชาการให้แก่ค่ายนี้ เขาจึงได้ไปรู้ไปเห็นวิธีการจัดและดำเนินการค่าย ทำให้ในเวลาต่อมา โกมลได้เข้าไปร่วมและจัดกิจกรรมค่ายอีกหลายครั้งอย่างสนุกและกระตือรือร้น
นอกจากนั้น ความสนใจใฝ่รู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ยังชักพาให้เขาไปสมัครเรียนภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนเฉพาะวันอาทิตย์เพียงชั่วโมงเดียว เป็นโอกาสให้รู้จักกับรุ่นน้องผู้หญิง จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่สนิทสนมด้วยคนหนึ่ง ที่ชื่อ สายพิณ หงส์รัตนอุทัย
ปีที่ ๒ ปีแห่งการศึกษางานค่าย
ในช่วงปีที่ ๒ โกมลเริ่มสนิทสนม ใกล้ชิด และคุ้นเคยกับ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และ อุทัย ดุลยเกษม มากขึ้น ทั้งนี้โกมลได้ออกจากบ้านญาติมาอาศัยอยู่ที่หอพักธรรมนิวาสถาน แถวถนนวิสุทธิ์กษัติย์ ข้างวัดมกุฎกษัตริยาราม โดยมีอาจารย์วศิน อินทสระ เป็นอาจารย์ผู้ดูแลหอพัก ความมีอิสระจากผู้ปกครองมากขึ้นดังกล่าว ทำให้เขาสามารถทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่
ช่วงปีนี้โกมลเริ่มให้ความสนใจกับการศึกษามากขึ้น โดยอยากรู้ความเป็นไปของการศึกษาในบ้านเมืองว่าเขาทำกันอย่างไร อะไรคือจุดบกพร่องและจุดอ่อน สภาพความเป็นจริงกับสภาพที่เรียนๆ กันอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อนกลุ่มนี้เคยคิดที่จะตั้งชุมนุมวิชาการศึกษาขึ้นในคณะครุศาสตร์ เพื่อร่วมสนทนากันในเรื่องของการศึกษา พากันไปเที่ยวเยี่ยมเยือนโรงเรียนตามที่ต่างๆ โดยคิดไกลถึงขนาดว่าอย่างน้อยๆ ก็จะดึงอาจารย์ที่เคารพนับถือ ให้ไปรู้จักความจริงของสภาพแวดล้อมกับตนบ้าง และคิดกันถึงขนาดที่จะแก้ไขความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของคนในคณะครุศาสตร์ทีเดียว ดังข้อเขียนของโกมลเองเรื่อง "ความว่างเปล่า" ในหนังสือ เพลิงชมพู ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นสูจิบัตรประกอบงานบอลล์ของคณะครุศาสตร์
"เคยคิดลามปามมาถึงคณะในฐานะผู้ผลิต ไฉนจึงยัดเยียดให้กันแค่ความรู้ ความคิดที่สำคัญกว่าไม่ได้ให้ การปลูกฝังให้รักและหยิ่งต่ออาชีพไม่มี การสร้างอุดมคติแก่นิสิตไม่มี ด้วยเหตุนี้เมื่อจบออกไปแต่ละรุ่น จึงได้คนทำงานครูเป็น ๖๐ % เท่านั้น อีก ๔๐ % ถูกกลืนหายเข้าแดนสนธยาไปเสีย ความผิดพลาด ความสูญเสีย ทั้งนี้ทุกคนตระหนัก ทั้งนิสิตและคณะ แต่ไม่เคยเลยที่จะได้เห็นท่าทีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น"
จากจุดเริ่มต้นของการคิดตั้งชุมนุมวิชาการศึกษา ผนวกกับความสนใจในกิจกรรมโดยเฉพาะค่ายอาสาเป็นพิเศษนี้เอง ที่เป็นพลังให้โกมลได้ดำเนินการจัดตั้ง "ค่ายพัฒนาการศึกษา" ขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในปี ๒๕๑๑ ที่แปดริ้ว บ้านบางขวัญ ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเขาเป็นผู้อำนวยการค่าย หลังจากกลับจากค่ายฝึกผู้นำนิสิตนักศึกษาอาสาพัฒนา ที่บ้านนายาง จังหวัดหนองคาย ซึ่งทำให้เขามีเพื่อนต่างสถาบันมาก รวมถึงค่ายอาสาสมัครของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่บ้านหนองแปน บ้านโนนสูง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
โกมลถือได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มตั้งค่ายพัฒนาการศึกษาเฉพาะ คือไปให้การศึกษาเด็ก ไปช่วยโรงเรียน ถือเป็นค่ายแบบใหม่ของสโมสรนิสิตจุฬาฯ (เดิมเป็นค่ายของคณะครุศาสตร์) เพราะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษามากกว่าเรื่องการสงเคราะห์ หรือการก่อสร้างถาวรวัตถุให้แก่ชาวบ้าน และค่ายนั้นก็ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม นั่นแสดงว่าเขาสนใจในงานอาสาสมัคร งานเสียสละ เท่า ๆ กับงานด้านความคิด ด้านปัญญา
จากประสบการณ์ในงานค่ายนี้เอง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจไปเป็นครูที่บ้านส้อง อันเป็นสถานที่แห่งสุดท้ายก่อนถูกยิงเสียชีวิต
สามทศวรรษต่อมาหลังจากที่โกมลเสียชีวิต ไพฑูรย์เล่าให้ฟังว่า การที่โกมลอยู่ในวงกิจกรรมค่ายอาสา ค่ายการศึกษา ทำให้เขารู้สึกว่าชนบทเป็นสิ่งที่ต้องการการกระตุ้น ผลักดัน แก้ไข เมื่อเขาไปเห็นเด็กต่างจังหวัด ใจหนึ่งนั้นคงนึกเปรียบเทียบกับตนเอง ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน เขาคงรู้สึกสะท้อนใจ และคิดว่าต้องให้ความช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส เขาเองมองกิจกรรมนักศึกษาในสมัยนั้นว่าไปทางด้านสนุกสนานเฮฮา จึงคิดว่ามันต้องมุ่งไปสู่สิ่งที่ดีงามกว่านี้ เขาหวังให้น้องใหม่ คนในครุศาสตร์ ได้มองการศึกษา การทำงานในด้านการศึกษา ในภาพใหม่ๆ คือการที่จะได้เข้าใจความเป็นจริงของการศึกษาที่เป็นอยู่ เข้าใจสังคมที่การศึกษาจะไปมีบทบาท
ทั้งโกมลยังเข้าใจดีว่ากิจกรรมค่ายที่ตนเองทำนั้น มิได้หมายถึงการออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน สงเคราะห์เขา หรือช่วยแก้ปัญหาให้เขา แต่ชาวค่ายเองต่างหากที่เป็นผู้ได้ นอกจากน้ำใจจากชาวบ้านชนบทที่ชาวค่ายได้รับแล้ว ประสบการณ์ไม่กี่วันที่นักศึกษาจากในเมืองได้มีโอกาสไปพบเห็น ได้ร่วมคิด ถกเถียง เปิดมุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติมจากตำรับตำราต่างหาก ที่จะยังประโยชน์ให้แก่ชาวค่ายในโอกาสอื่น ๆ ต่อไป
ปีที่ ๓ ปีแห่งการเรียนรู้โลกภายนอก
ชีวิตของโกมลมาเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อตอนเรียนอยู่ปีที่ ๓ เขาใช้ชีวิตเพื่อความรู้และความคิดที่กว้างขวางลึกซึ้งมากที่สุด หลังจากที่คลุกคลีกับงานอาสาสมัครมามากพอควรแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าเขาหันเหชีวิตมาสนใจกิจกรรมทางด้านความคิด ความอ่าน และปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มวางมือจากงานค่าย มาติดตามกิจกรรมแทบทุกประเภท โดยเฉพาะด้านการศึกษา เขาแทบจะไม่ขาดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นที่หอประชุมคุรุสภา หอสมุดแห่งชาติ โรงพยาบาลสงฆ์ หอประชุมจุฬาฯ หอประชุมธรรมศาสตร์ และแม้จนหอประชุม เอ.ยู.เอ. รวมถึงได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาต่างสถาบันอีกด้วย
"ชมรมปริทัศน์เสวนา" มีส่วนอย่างสำคัญในการปลูกฝังคุณลักษณะหลายอย่างให้แก่โกมล และเขาเองได้เป็นสมาชิกประจำของชมรมนี้อยู่เสมอ ๆ ทำให้เขามีโอกาสพบปะกับผู้รู้และนักคิดต่าง ๆ มากมาย ได้ฟังทัศนะต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างจริงจัง คุณสมบัติประการหลังติดตัวเขาไปตลอดเวลาจวบจนสิ้นชีวิต
ชมรมปริทัศน์เสวนาตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจัง โดยอาศัยสติปัญญาเป็นเกณฑ์ มิได้ถือขีดขั้นแห่งการศึกษาเป็นเกณฑ์ เด็กนักเรียนมหาวิทยาลัยใด ๆ หรือเด็กนักเรียนโรงเรียนใดใคร่จะมาร่วมก็ได้ ในช่วงแรกได้อาศัยท่านเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุณาเป็นองค์อุปการะ ให้ใช้โบสถ์ร้างของวัดรังษีสุทธาวาสเป็นที่พบปะกัน ต่อมาจึงได้ใช้ร้านหนังสือศึกษิตสยามของอาจารย์สุลักษณ์ที่สามย่านเป็นสถานที่นัดพบ ชมรมดังกล่าวเป็นที่รวมของนักคิด นักเขียน นักกิจกรรม หรือรวมเรียกว่าปัญญาชน โดยต่างมีความคิดเห็นอิสระ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้ แต่สิ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถรวมตัวกันได้ คือ ความรู้สึกไม่พอใจในระบบที่เป็นอยู่ ต้องไม่ลืมว่าสมัยต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ ประเทศไทยยังถูกปกครองโดยกลุ่มเผด็จการทหารต่อเนื่องกันมานานกว่า ๒๐ ปี นับจากรัฐประหาร ๒๔๙๐
เมื่อโกมลไปฟังไปถามแล้ว ก็เก็บมาถกเถียงอภิปรายกันกับเพื่อนสนิท สถานที่ถกเถียงอภิปราย นอกจากชมรมปริทัศน์เสวนา ก็มักเป็นห้องอาหารครุศาสตร์ ร้านกาแฟ และแม้กระทั่งบ้านของไพฑูรย์เป็นบางครั้ง เรื่องที่พูดคุยกันนั้นมีสารพัดชนิด แต่ทุกเรื่องก็มักจะมุ่งไปที่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไร มีคุณค่าเพียงใด ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด และจะทำอะไรกันได้บ้าง เป็นต้น
ครั้นเมื่อสมาชิกชมรมปริทัศน์เสวนาหลายคนเรียนจบแล้ว และยังอยากพบปะแลกทัศนะกันเช่นนี้อีกเดือนละครั้งสองครั้ง จึงรวมตัวกันตั้งชมรมศึกษิตเสวนาขึ้นสำหรับผู้ที่พ้นภาระจากการเรียนในสถาบันการศึกษา โกมลร่วมอยู่ในกลุ่มทั้งสองนี้มาเกือบจะโดยตลอด ส่วนรัตนา เพื่อนสาวที่เสียชีวิตพร้อมกับเขา มาร่วมแต่กับกลุ่มศึกษิตเสวนาในระยะท้าย ๆ ของปี ๒๕๑๓
ทั้งโกมลและเพื่อนรุ่นพี่ของเขา คือไพฑูรย์ ต่างเห็นคุณค่าและประโยชน์ของชมรมปริทัศน์เสวนาเป็นอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะทำให้นิสิตเป็นอิสระในทางปัญญามากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจที่จะกล้าทำกล้าต่อสู้มากขึ้น ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีกิจกรรมเช่นนี้ขึ้น ในสมัยที่โกมลเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษา ของคณะครุศาสตร์ ในชื่อของ "แผนกศึกษาสนทนา" โดยมีอุทัยเป็นผู้ช่วย แต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นานนัก หลังจากหมดสมัยของเขาแล้ว กิจกรรมเช่นนี้ก็หมดไป
เมื่อโกมลเป็นประธานชุมนุมสังคมศึกษาของคณะครุศาสตร์ในปีนี้นั้น เขาได้จัดกิจกรรมทางด้านความคิดและวิชาการขึ้นอย่างกว้างขวาง เขาจัดฉายภาพยนตร์ความรู้ต่างๆ อยู่เป็นประจำ เชิญวิทยากรภายนอกและภายในมาปาฐกถา อภิปราย จัดทัศนศึกษาภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียง งานชิ้นสำคัญก็คือการจัดสัมมนานักเรียนฝึกหัดครูเรื่อง "บทบาทของครูในสังคมปัจจุบัน" ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ของคณะครุศาสตร์ และของวงการนักเรียนฝึกหัดครู
นอกจากนี้ โกมลยังเป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา และเมื่ออยู่ปลายปีที่ ๒ เขาก็เป็นหนึ่งในคณะบรรณกรของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ ๕ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ อีกด้วย
ปีสุดท้าย ปีแห่งการตั้งมั่นตามปณิธาน
ขณะขึ้นปีที่ ๔ โกมลได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการนิสิต ของคณะให้เป็นสาราณียกรหนังสือต้อนรับน้องใหม่ ครุศาสตร์รับน้อง ๒๕๑๒ ซึ่งทำความว้าวุ่นใจให้แก่เขามากพอควร เพราะใจหนึ่งก็อยากทำหนังสือ ตามที่ตนคิดฝันไว้ว่าจะให้มีเนื้อหาอันทรงคุณค่า มีความถูกต้อง มีความงาม และได้ประโยชน์คุ้ม คือใช้งบประมาณไม่มาก เพราะน้องใหม่ก็หาเงินมาอย่างยากลำบาก โดยปรารถนาจะนำความคิดอันเกิดจากการพูด และถกเถียงกันในเรื่องของคนทำหนังสือมาปฏิบัติ แต่ใจหนึ่งก็กลัวเรื่องการฝึกสอน และเรื่องการเรียน ทั้งนี้มีไพฑูรย์ เพื่อนรุ่นพี่ของโกมล ซึ่งตอนนั้นทำงานสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำหนังสือ และได้ เทพศิริ สุขโสภา เพื่อนชมรมปริทัศน์เสวนาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ช่วย
หนังสือรับน้องของคณะเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาและรูปแบบที่แหวกแนว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เพราะตามธรรมเนียมการทำหนังสือ ต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์ และบทอาศิรวาทสดุดีเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงหน้าแรก แต่โกมลกลับอัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่เกี่ยวกับการศึกษามาลงเป็นหน้าแรกแทน โดยที่เขาไปอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ คอลัมน์ "ลำนำเจ้าพระยา" ซึ่ง นิตยา นาฏยะสุนทร เจ้าของคอลัมน์อัญเชิญมาลงไว้ และรู้สึกประทับใจ จึงอยากให้เพื่อนๆ น้องๆ ที่คณะซาบซึ้งในวิญญาณครูตามพระบรมราโชวาทนั้นด้วย
จากข้อเขียนของโกมลที่ชื่อ "สุนทรพจน์ให้คณะเชียร์" เขาได้บรรยายขั้นตอนการทำหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ได้รวบรวมหนังสืออนุสรณ์จากสถาบันต่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๓๕ เล่มมาศึกษา และบอกเล่าจุดมุ่งหมายเชิงอุดมคติของหนังสือต่อนิสิตครูรุ่นน้องว่า "หนังสือนี้ข้าพเจ้ามิได้ทำเพื่อตัวข้าพเจ้าหรือเพราะเห็นแก่ผู้ใด ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะดีและถูกต้อง ต่อการที่จะทำอะไรเพียงเพื่อเอาใจ หรือเพื่อความพอใจให้แก่บางคน แต่ได้ทำขึ้นเพื่อให้ท่านได้อ่าน และได้ตระหนักในภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านต่อสังคม ให้ท่านได้เห็นความสำคัญในตัวท่าน ต่อประเทศชาติ ให้ท่านได้รอบรู้เท่าทันกับสภาพสังคม ให้ท่านได้คิด ได้หาจุดมุ่งหมายแน่วแน่ในชีวิต ได้มองออกไป ได้ไถ่ถอนตัวเองออกจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ทั้งมวล ได้มองสังคมและโลกด้วยความคิดจะให้จะช่วย แทนที่จะรับและรับดังที่คนส่วนมากเป็นอยู่"
ส่วนเพื่อนของโกมลซึ่งชอบทำและเขียนหนังสือเหมือนกันที่ชื่อ เกษม จันทร์น้อย และต่อมาเป็นคนทำหนังสือ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของจุฬาฯ เอ่ยถึงกรณีนี้ว่า "เมื่อขึ้นปี ๔ ถึงเวลาที่โกมลจะแสดงฝีมือในการทำหนังสือ เขียนหนังสือตามทัศนะของเขาเอง ข้าพเจ้าจำได้ติดหูติดตาว่า หนังสือรับน้องใหม่ครุศาสตร์ปีนั้น รูปร่างแปลกแหวกแนวชาวบ้าน และข้าพเจ้าเคารพความคิดของโกมลว่า เขากล้ามากที่ทำอย่างนั้น เพราะการทำหนังสือที่แหวกวงล้อมของคนปัจจุบันออกไปได้แบบนั้น แสดงให้เห็นว่าเขากล้าในสิ่งที่ถูก และเป็นผู้นำในสังคมด้วย ความจริงความคิดของโกมลไม่ใช่ของใหม่สำหรับเวลานั้น หลายคนคิดจะทำแบบนั้น แต่ไม่มีใครกล้า เพราะกลัวถูกตำหนิ ซึ่งมันก็เป็นการตำหนิผิดๆ นั่นเอง หนังสือเล่มนั้นได้มาตรฐานในสายตานักทำหนังสือด้วยกัน แต่เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความเอาจริงเอาจังในวิชาการ และเป็นแก่นสารอย่างหนักแน่น ตรงข้ามกับของคณะอื่นๆ ที่ฟุ่มเฟือยและ "ไม่มีอะไร" ในนั้นเลย เราเคยพูด "ไม่มีอะไร" ในนั้นว่า หากประหยัดเงินค่าจัดทำลง จะสามารถเหลือเงินเอาไปสร้างโรงเรียนชนบทได้หลายหลัง"
ในปีสุดท้ายของชีวิตมหาวิทยาลัย โกมลให้ความสนใจกับกิจกรรมภายนอกมากขึ้น โดยค่อยๆ ละงานอื่นๆ เกือบหมด และรับทำงานให้ชมรมปริทัศน์เสวนา จนเขาได้รับเลือกจากบรรดาเพื่อนๆ ให้เป็นประธานของชมรม ในช่วงปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ปรากฏว่าเขาเป็นประธานที่เอางานเอาการ จัดทั้งด้านสัมมนา ทั้งด้านปาฐกถาและอภิปราย และช่วงเทอมสุดท้ายในชีวิตการเรียนในห้องสี่เหลี่ยม เขายังรับเป็นบรรณกรให้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๓
ขณะเดียวกัน โกมลก็เริ่มมีงานเขียนโดยเฉพาะบทความที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและอื่นๆ ปรากฏเผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จำนวนไม่ใช่น้อย ทั้งใน ศูนย์ศึกษา จารุสัมพันธ์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จุฬาฯ สาร เป็นต้น ข้อเขียนของเขานั้นอ่านง่าย มีความไพเราะและนุ่มนวลทางภาษา เพราะเขาเขียนออกมาจากความคิดความรู้สึกของตนเอง ผลงานของเขาจึงเป็นผลงานในทางความคิด พอๆ กับในทางภาษา
ไพฑูรย์เล่าว่า การเขียนหนังสือทำให้โกมลมีโอกาสไปสัมภาษณ์ ไปคุยกับครู กับบุคคลต่างๆ ในวงการศึกษา เพื่อเตรียมตัวเป็นครูที่ดี เช่น ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง บุคคลที่เขาไปคุย ไปสัมภาษณ์ ไปติดตามฟังการบรรยาย การอภิปรายตามที่ต่างๆ นั้นเอง ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความก้าวหน้าในทางความคิดของเขา โดยบุคคลต่าง ๆ ในชมรมปริทัศน์เสวนาก็มีส่วนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เขาให้ความนับถือและยกย่องในอุดมการณ์และวิธีการ เพราะเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองและพรรคพวกได้โต้แย้ง ถกเถียง และคงความเป็นตัวของตัวเองได้ดี จนหลายคนในสถาบันการศึกษาของเขา หาว่าเขาถอดแบบมาจากอาจารย์สุลักษณ์ด้วย ทั้งท่วงทำนองการเขียน ตลอดจนบุคลิกลักษณะ
บุคคลที่โกมลนิยมในความคิดทางการศึกษาคนหนึ่งคือ อาจารย์ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ซึ่งเขาเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆ อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นครูของเขาเอง คืออาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ผู้เคยสอนวิชาภาษาไทยขณะเขาเรียนอยู่ชั้นปี ๑ และวิชาการศึกษากับสังคม เมื่อเขาอยู่ชั้นปีสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตาม เขาเคารพและนับถือทุก ๆ คนที่ได้ให้ความรู้และความคิดอันกว้างขวางแก่เขา แม้ว่าจะเป็นครูหรือคนเล็ก ๆ ที่ใด ๆ ก็ตาม
เมื่อเป็นครูฝึกสอน
ถึงแม้ปีที่ ๔ ในชีวิตมหาวิทยาลัยนี้ควรจะมีข้อที่ทำให้โกมลภูมิใจหลายอย่างก็ตาม แต่เขาก็รู้สึกผิดหวังมากอยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องการฝึกสอนนักเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในช่วงเทอมแรกของปีการศึกษา ๒๕๑๒ เขาพยายามดำเนินการในแบบที่คณะวางไว้และผสมผสานแบบของเขาเอง ชั่วระยะชั่วโมงสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้น เขามีความพอใจมาก เด็กนักเรียนทุกคนชอบเขา เห็นว่าครูโกมลสอนดี มีความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาให้เสมอๆ เขาเคยพูดว่าอาจารย์นิเทศก์เคยแนะนำให้เพื่อนนิสิตเอาอย่างเขา แต่เมื่อถึงวันสอบ เขาต้องสอบถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเขาไม่ดำเนินการตามแบบที่ได้วางไว้ตายตัว แต่พยายามค้นหาสาระและจุดหมายของการสอนครั้งนั้น ผลปรากฏว่าเขาต้องสอบใหม่ ผลการสอบของเขาครั้งนี้ทำให้เขาผิดหวัง และรู้สึกลังเลในระบบวัดผลการฝึกสอน ที่ถือเอาการสอนเพียงครั้งเดียว ชั่วโมงเดียว เป็นเครื่องตัดสินชีวิตคน
ยุทธชัย เฉลิมชัย อดีตลูกศิษย์ของครูโกมล เคยเขียนเล่าบรรยากาศสมัยที่ครูโกมลมาเป็นนิสิตฝึกสอน ไว้ในบทความที่ชื่อ "คิดถึงครู" เมื่อ ปี ๒๕๓๙ ว่า "เคยมีเรื่องกระทบกระเทือนใจครูอยู่ครั้งหนึ่ง เด็กนักเรียนเข้าไปแสดงท่าทางเกี้ยวพาอาจารย์ฝึกสอน คงลามปามจนเกินทน ครูโกมลในฐานะหัวหน้ากลุ่มอาจารย์ฝึกสอน จึงออกปากห้ามปราม เจ้าเด็กอันธพาลกลับฮึดฮัดจะเข้าทำร้ายครู เรื่องถึงโรงเรียน บ่ายวันนั้น หน้าแถวนักเรียนทั้งตึกก่อนขึ้นเรียน อาจารย์ฝ่ายปกครองเฆี่ยนเด็กคนนั้น และให้กล่าวขอขมาแก่ครูโกมล อันธพาลน้อยรายนั้นไม่ได้รู้สำนึกอะไร พูดและยกมือไหว้อย่างขอไปที แต่สิ่งที่เราเห็นคือความรู้สึกเสียใจของครู" และให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า จุดนั้นเองที่ทำให้เขาประทับใจในตัวครูโกมล เพราะ "ครูโกมลกลับขอโทษนักเรียนคนที่จะมาเตะแก แกร้องไห้ ทำให้นักเรียนพลอยจะร้องไห้ตามไปด้วย เป็นความฝังใจ"
เมื่อถามว่า หากย้อนกลับไปดูบทบาทของครูโกมลที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คิดอย่างไรบ้าง ยุทธชัยตอบว่า "ครูโกมลเป็นภาพความเป็นจริงของอุดมคติ ถ้าเราบอกว่าคนหนุ่มสาวคนใดมีอุดมคติ แกก็เป็นตัวจริง ก็ต้องย้อนไปดูว่าแกเติบโตมาอย่างไร ความอ่อนโยนมีเมตตานั้นชัดเจนในตัวครูโกมล จิตใจที่มีให้แก่คนอื่นนั้นมีอยู่สูงมาก คงไม่ต่างจากเมื่อเราพูดถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่แกจะมีจุดอ่อนอะไรก็ไม่รู้นะ ตลอดเวลาที่ยืนสอนอยู่หน้าชั้นแกไม่เคยหลุดเลย แกเป็นคนอ่อนไหวและละเอียดอ่อนมาก เช่นเรื่องการขอโทษนักเรียนหน้าชั้น นอกจากนี้แกยังปฏิบัติต่อเด็กไม่ต่างกัน"
ขณะที่อาจารย์สุมนเขียนถึงโกมลในกรณีนี้ว่า "โกมลภาคภูมิใจในการฝึกสอนของเขามาก เขาบอกกับฉันทุกครั้งที่กลับมาประชุมที่คณะครุศาสตร์ในวันศุกร์ เขาเข้ากับเด็กได้อย่างดี อาจารย์นิเทศก์ชมว่าสอนดี ทั้งยังให้เขาสอนเป็นตัวอย่างแก่นิสิตคนอื่นๆ ที่สอนไม่เก่ง เมื่อประกาศคะแนนฝึกสอน โกมลผิดหวังค่อนข้างมาก เพราะได้เกรด C แสดงว่าต้องมีข้อบกพร่องค่อนข้างมาก โกมลเขียนจดหมายถึงฉันยาวเหยียดในวันนั้น ฉันจึงต้องอธิบายว่าคะแนนฝึกสอนนั้น ประกอบด้วยการวัดผลหลายด้านด้วยกัน ตอนที่โกมลฝึกสอนนั้น โกมลรับหน้าที่สาราณียกรอยู่ด้วย โกมลอาจจะปลีกเวลาไปโรงพิมพ์บ้างก็ได้ ผลที่สุดฉันสรุปว่า ถ้าโกมลวัดผลตนเองเห็นว่าควรจะได้ A ก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง "ติด" อยู่กับการวัดผลของผู้อื่น สอบได้ก็แล้วกัน โกมลก็ไม่ใช่คนที่ "ติด" คะแนนนักไม่ใช่หรือ" (ในข้อเขียนไว้อาลัยที่ชื่อ "ฉันคิดถึงโกมล")
ในช่วงนั้น โกมลต้องตรากตรำกับการเรียน การฝึกสอน การทำกิจกรรมกับชมรมปริทัศน์เสวนา และงานสาราณียกรอย่างหนัก แต่สิ่งที่ทำให้เขาวิตกกลับเป็นเรื่องภายในจิตใจของเขาเอง คือกลัวว่าในอนาคตจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างที่เขาไม่ชอบใจ ดังข้อเขียนของเขาที่ว่า "ความหวั่นไหวขณะนี้เริ่มก่อตัวขึ้น ความลังเลไม่แน่ใจต่อสภาพที่ต้องเปลี่ยนแปลง และต่อสังคมที่ต้องออกไปเผชิญ ไม่แน่ใจว่าตนเองมั่นคง และเหนียวแน่นเพียงใด ออกไปครั้งนี้ได้ชื่อว่าออกไปทำงาน อยากจะถามตนเองว่าทำเพื่ออะไร หรือเพื่อใคร ข้าพเจ้าก็ยังลังเลที่จะตอบออกมาได้" (ข้อเขียนเรื่อง "เวลาที่เปลี่ยนไป")
และอีกตอนหนึ่งของข้อเขียนเรื่อง "ข้าพเจ้ากลัว" ในหนังสือ เพลิงชมพู ๒๕๑๒ โกมลเขียนไว้ว่า "ข้าพเจ้ากำลังเกรงอยู่ว่า เมื่อถึงขั้นหนึ่งไปแล้วข้าพเจ้าจะต้องเปลี่ยนแปลง จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงเป็นปรกติธรรมดาโลก แต่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนจุดหมายแห่งชีวิตจากความเริงรื่นสวยสดและเต็มไปด้วยความคิดและปรารถนาดี มาสู่ความอยากได้ ใคร่เด่น ความต้องการมีหน้ามีตา ทั้งคิด พูด และกระทำออกมาเพื่อหาเกียรติยศชื่อเสียงแก่ตัวเอง ดิ้นรนไปมาแต่เท่านี้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเลยว่าตัวเองได้เจริญขึ้น แต่ตรงกันข้าม ดูจะน่าสมเพชและชวนเวทนาขึ้นมากกว่า ข้าพเจ้ากลัวเหลือเกินจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างที่หลายท่านอันเป็นที่เคารพของข้าพเจ้ากำลังหมกมุ่นอยู่ อย่างอุตลุดและไม่คิดชีวิต"
ความเป็นบัณฑิตที่แท้
นอกจากนี้ โกมลยังได้แสดงทัศนะค่อนข้างชัดเจน เกี่ยวกับใบปริญญาบัตรตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ดังจดหมายที่เขาเขียนถึงพี่นันทา เนียมศรีจันทร์ ฉบับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งกล่าวว่า "ผมจะจบหลักสูตรในหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ แต่ผมอาจพูดได้เต็มปากเลยว่าไม่มีความยินดียินร้ายเลย ถ้าจะให้คิดว่าผมกำลังได้ใบปริญญาบัตร ผมไม่ค่อยเห็นคุณค่าข้อนี้ จะเป็นความผิดความถูกอย่างไรไม่ทราบ แต่ตระหนักอยู่ในใจว