บทความ

“สังคมไทยให้เกียรติ แต่ผมก็ยังเป็นฝรั่งกระจอกๆ คนหนึ่ง” มาร์แซล บารังส์

by Pookun @May,04 2007 22.50 ( IP : 58...100 ) | Tags : บทความ

“สังคมไทยให้เกียรติ แต่ผมก็ยังเป็นฝรั่งกระจอกๆ คนหนึ่ง” มาร์แซล บารังส์
โดย ผู้จัดการรายวัน 3 พฤษภาคม 2550 09:04 น.

  29 ปีมาแล้วที่ ‘มาร์แซล บารังส์’ อยู่ในประเทศไทย และเป็นเวลากว่า 14 ปีที่เขาอยู่ในฐานะ ‘ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา’ ตามกฎหมาย แต่ผู้ชายชาวฝรั่งเศสคนนี้บอกว่าอาชีพของเขาจริงๆ คือ ‘นักแปล’
      เขาเป็นเพียงชาวต่างชาติเพียงคนเดียว ที่ได้รับรางวัลนักแปลอาวุโสดีเด่น โล่ ‘สุรินทราชา’ จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย พร้อมกับนักแปลมือฉมังชาวไทยอีก 15 คน อาทิ กรุณา กุศลาสัย, ชนิด สายประดิษฐ์, ผกาวดี อุตตโมทย์ ฯลฯ ทั้งที่หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งถูก ตม.ไทยแจ้งให้ทราบว่า เขามีสิทธิอยู่ในประเทศนี้ได้อีกเพียงแค่หนึ่งปี
      ต่างกันราวฟ้ากับเหว เราไปฟังจากคำบอกเล่าของชายต่างชาติที่มีวรรณกรรมไทยเต้นเร่าอยู่ในสายเลือดผู้นี้กัน
      รางวัลนี้เป็นรางวัลแรกในอาชีพนักแปลของคุณหรือเปล่า?
      เป็นรางวัลแรกรางวัลเดียวและก็อาจจะเป็นรางวัลสุดท้ายหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็เป็นเกียรติมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยนั้นได้เลือกให้รางวัลนักแปลและล่าม 16 คน ซึ่ง 15 คนก็เป็นคนไทยกันหมด มีแต่ฝรั่งคนนี้คนเดียว ผมก็แปลกใจเหมือนกัน ทีแรกก็ถามเขาว่ามีชาวต่างด้าวอื่นหรือเปล่า คือคิดว่าอาจจะเลือกคนจีน คนญี่ปุ่นรึเปล่า ก็เปล่า… ผมได้รับเกียรติมากก็ขอบคุณสมาคมฯ ที่ได้เลือกผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมได้แปลหนังสือเป็นอาชีพมาแค่ 14 ปีเท่านั้น เปรียบเทียบกับคนอื่นที่ได้รางวัลนี้บางคนที่แปลหนังสือมาจำนวน 100 เล่ม หรือมากกว่านั้น ส่วนของผมตามที่ทราบกันคือ ภาษาอังกฤษก็ประมาณ 20 เล่ม ภาษาฝรั่งเศสก็โหลหนึ่ง
      นี่ทำให้ผมคิดถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือสังคมไทยให้เกียรติผมอยู่ในด้านบวก แต่ก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม อีกด้านหนึ่งของสังคมก็ขู่ผมให้ออกจากประเทศไทยภายใน 7 วัน เรื่องมีอยู่ว่าผมอยู่ประเทศไทยเป็นประจำมา 29 ปีแล้ว แต่ว่าทุกปีๆ ก็ต้องต่ออายุวีซ่า ต้นเดือนมีนาวีซ่าของผมก็หมด จำเป็นต้องต่ออายุ ก็เลยไปที่กองตรวจคนเข้าเมืองที่ซอยสวนพลู เจ้าหน้าที่ก็อธิบายว่า เรามีกฎใหม่ปีนี้ว่า บริษัทของคุณ ไทยเดย์ดอทคอมนั้นขาดทุนอยู่ ถ้าเอกสารของคุณซึ่งมีเป็นภูเขาครบทุกชิ้นจะต่ออายุวีซ่าหนึ่งปีเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ครบแม้แต่ชิ้นเดียวจะต่ออายุวีซ่าให้เพียง 7 วัน หลังจากนั้นคุณต้องออกจากประเทศไทย
      ตอนนั้น ภรรยาผมไม่สบายอย่างหนัก สอง ลูกสาวของเราซึ่งอายุ 20 กำลังสอบอยู่ปี 3 ที่จุฬาฯ ปรากฏว่าถ้าเอกสารไม่ครบผมต้องออกจากเมืองไทยภายในวันที่ 12 มีนา ลูกสาวก็สอบจนถึงวันที่ 13 คิดดูสิว่าอยู่ๆ ก็ถูกขู่ให้ออกจากประเทศภายใน 7 วัน แม้ในที่สุดจะได้ต่อแต่มีข้อแม้อยู่ว่านี่เป็นครั้งสุดท้าย ปรากฏว่าปีหน้าผมก็จะมีปัญหาเดียวกันเลย ประเทศซิวิไลส์เขาไม่ทำแบบนี้กัน เขาจะถือว่าคนที่ทำงานแบบนี้เป็น cultural asset สมบัติทางด้านวัฒนธรรม จำเป็นที่ต้องอยู่ในประเทศ วิธีแก้ปัญหาก็คือ ให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ มีกรณีตัวอย่างของเดือนที่แล้ว มีนักเขียนอเมริกันที่แต่งงานกับชาวเบลเยี่ยม อยู่ประเทศฝรั่งเศสมาหลายปีแล้ว นักเขียนอเมริกันคนนั้นเขียนหนังสือออกมาได้รางวัลวรรณกรรม 3 รางวัล ทันทีนั้นกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสก็เสนอกับคณะรัฐมนตรีให้มาเป็นชาวฝรั่งเศส ปรากฏว่าคนนี้ขอสัญชาติฝรั่งเศสมาตั้ง 2-3 ครั้งแล้ว แต่ว่าถูกปฏิเสธทุกครั้งก่อนหน้านั้น พอถึงเวลานั้นถือว่าเป็น cultural asset ก็น่าจะเป็นคนฝรั่งเศส 2-3 ปีที่แล้วก็มีกรณีเดียวกันกับนักเขียนรัสเซียคนหนึ่ง ซึ่งทั้งนักเขียนอเมริกันและนักเขียนรัสเซียคนนั้นเขาเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่ภาษาของเขา
      ด้านหนึ่งผมได้เกียรติเต็มที่ อีกด้านหนึ่งก็ยังเป็นอีตาฝรั่งกระจอกๆ ที่อยู่ๆ ก็ต้องออกจากประเทศไทยเดี๋ยวนี้… มันเป็นสังคมสองหน้า
      เนื้อแท้คุณอยากได้สิทธิทำงานอยู่ในประเทศอย่างสบายใจ?
      อย่างที่บอกว่าผมอยู่เมืองไทยมา 29 ปีแล้ว แต่เข้ามาทำงานเป็นนักข่าวก่อนหน้านั้นก็ 33 ปี แต่งงานมา 21 ปีกับภรรยาชาวไทย มีลูกสาวก็ถือสัญชาติไทย แล้วก็เสียภาษีเหมือนกับทุกคน มิหนำซ้ำก็เสียภาษีเพิ่มเติมทุกวัน เพราะว่าสูบบุหรี่กินเหล้า แต่ขอโทษ เราก็ยังเป็นฝรั่งอยู่เต็มที่ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิอะไรแต่อย่างใด ถ้าเราแต่งงานกับคนไทยอย่างเป็นทางการ ผู้หญิงไทยคนนั้นก็เสียสิทธิ ซื้อบ้านไม่ได้ ซื้อที่ดินไม่ได้ ตอนแรกผมไม่ทราบแต่โชคดีที่ไม่ได้แต่งงานอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าจะอยู่กับภรรยาคนเดียวกันมา 21 ปีแล้ว หลังจากที่มีปัญหากับ immigration ผมก็ขอเอกสารมาดูสิว่ามันมี option วีซ่าอะไรบ้าง ก็มี option เกษียณ เราจะได้วีซ่าหนึ่งปีต่อไปๆ ถ้าเป็นพลเมืองเกษียณอายุ ซึ่งอายุผมก็แก่พอแล้ว เพียงแต่ว่าต้องได้เงินมาจากต่างประเทศ แต่เราก็ทำงานอยู่ในเมืองไทย นอกจากนั้นเกษียณแล้วก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ อีก option หนึ่งก็คือว่าจะต้องมีเงินในบัญชี 3 เดือนย้อนหลังจำนวนแปดแสนบาท ถึงจะมีสิทธิได้วีซ่าหนึ่งปีต่อไป แต่ของเราไม่ทราบว่าจะมีถึงขนาดนั้นหรือเปล่า แล้วเรื่องอะไรที่จะต้องไปสนับสนุนคนที่มั่งมีอย่างนี้ แต่ก่อนนั้นเราจะขอ permanent visa เพื่อที่จะเปลี่ยนสัญชาติ กว่าจะได้ก็ต้องคอยหลายปี ขอแล้วขออีกกว่าจะได้ก็ไม่คุ้ม แต่ option permanent visa ในเอกสารที่ผมได้มาก็ไม่มี ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า แล้วที่มาอ้างว่าชาวต่างชาติที่ทำงานในบริษัทที่ขาดทุนจะต่ออายุวีซ่าได้ปีเดียว ก็มีแต่พูด ผมไม่ได้เห็นเอกสารที่เกี่ยวข้อง
      ประเทศอื่นๆ ก็มีกฎที่งี่เง่าแบบนี้เหมือนกัน อย่างผมรู้จักผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่แต่งงานกับคนฝรั่งเศสและอยู่ที่นั่นมา 3 ปี แถมยังทำงานอยู่ที่เทศบาลซึ่งเป็นของรัฐ แต่ก็ยังไม่ได้สัญชาติฝรั่งเศสมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งผมก็เห็นว่านั่นไม่ถูกต้องเหมือนกัน เรื่องตลกอีกเรื่องคือ ตอนที่ลูกสาวผมเกิดที่โรงพยาบาลพญาไท ออกจากท้องแม่คนไทย แต่ในใบเกิดเขียนว่า ‘ไม่ให้สัญชาติไทย’ เราฟ้องเรื่องนี้กว่าจะได้สัญชาติก็หนึ่งปีครึ่ง สันติบาลมาตรวจสอบที่บ้านว่าฝรั่งคนนี้เป็นยังไง ลูกสาวถึงจะได้สัญชาติไทย ถือพาสปอร์ตไทย
      เริ่มต้นจับงานแปลได้ยังไง?
      โดยบังเอิญ คือ 16-18 ปีที่แล้วผมทำงานแบบบ้าระห่ำ แทบไม่มีเวลานอน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งผมไม่มีงานทำ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือนจากคุณสนธิอยู่ แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยลองไปอ่านนวนิยายไทยดูสิว่าดีเลวแค่ไหน ด้วยความคิดที่ว่าอยากจะเขียน anthology เกี่ยวกับนวนิยายไทย มีวันหนึ่งคุณสนธิก็เรียกไปคุย จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Thai Modern Classic (TMC) คัดเลือกนวนิยายไทยที่ดีที่สุด 20-30 เรื่องมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง และขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่สอนวรรณกรรมให้ทำรายชื่อนวนิยายที่สำคัญที่สุดของไทย ปรากฏว่าได้มาทั้งหมด 99 เรื่อง ผมก็เริ่มอ่านทั้งหมด โดยมีกฎว่าถ้าอ่านไป 100 หน้าแล้วยังไม่เก็ทก็ทิ้งไปเลย จนเลือกได้ 20 เรื่องเขียนเป็น anthology นำเสนอผู้เขียนแต่ละเล่ม ในเวลาเดียวกันเราก็แปลเป็นเล่มๆ เริ่มโครงการปี 1993 วางตลาดในปี 1994 ด้วยสองเล่มแรกคือ anthology และ ‘ทางเสือ’ ของศิลา โคมฉาย หลังจากนั้นคือ ละครแห่งชีวิต ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เราคิดว่าอีกภายในไม่กี่ปีก็จะแปลจบแล้ว แต่ปรากฏว่า มีเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 97 โครงการก็ต้องปิดตัว พวกเราก็ต้องออกจากงานเหมือนกันทุกคน ก็เลยออกมาเป็นนักแปลอิสระ
      ช่วงนั้นผมส่งอีเมล์ถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งในโลกภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แปลกที่โลกภาษาอังกฤษไม่มีใครสนใจ แต่ฝรั่งเศสมีบางรายที่สนใจ ที่สำคัญหนึ่งในนั้นคือ เลอเซย (Editions du Seuil) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส โดยแปลผลงานหลายชิ้นของแดนอรัญ แสงทอง ที่ฝรั่งรู้จักเขาในชื่อจริงคือ เสน่ห์ สังข์สุข แปลเรื่อง ‘เงาสีขาว’ เป็นภาษาฝรั่งเศส จากนั้นก็แปล ‘อสรพิษ’ ซึ่งได้ดิบได้ดี ขายในฝรั่งเศสได้หลายหมื่นเล่ม มีการแปลเป็นภาษายุโรปอื่นๆ อีก 6 ภาษา รวมทั้งพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับคนตาบอด และคนที่สายตาไม่ดีด้วยการพิมพ์ตัวใหญ่ๆ หลังจากนั้นยังแปลอีกเรื่องหนึ่งคือ ช่อการะเกด แต่โชคไม่ดีเพราะตอนนั้นสำนักพิมพ์มีปัญหากับสายส่ง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์บอกว่าเรื่องนี้ดีมาก ให้รีบซื้อ แต่ปรากฏว่าหนังสือไม่มีขาย 3 เดือน แม้หลังจากนั้นจะสามารถขายได้ประมาณ 3,000 เล่ม ซึ่งต้องถือว่ายังดีมาก แต่โชคร้ายเพราะมันมีสิทธิที่จะขายได้หลายหมื่นเล่มเหมือนกับอสรพิษ
      หลายคนมองว่าคุณกลายเป็นนักแปลคู่บุญของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ ไปแล้ว
      เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า พอดีในปี 1994 เงาสีขาวออกวางตลาด คุณพงษ์เดชเขาไปเจอที่ร้านดอกหญ้า ท่าพระจันทร์ เขาก็กลับมาบอกว่า นี่คุณมาร์แซลมีหนังสือแปลกๆ เล่มหนึ่ง ปกสีขาวและไม่มีย่อหน้า ฟังแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ก็เลยรีบมาซื้อ แล้วเริ่มอ่านๆๆ 4-5 วันต่อกันจนจบ เพราะว่าเราอ่านช้า โอ้โห! นี่มันคืองานมาสเตอร์พีซ แล้วก็รู้ทันทีด้วยซ้ำไปว่าคนไทยทั่วไปคงไม่ชอบ พอมีอาจารย์ผู้หญิงคนหนึ่งได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ว่า ถ้ามีผลงานดีๆ จากประเทศไทยที่แรงหน่อย เราก็จะเอา อาจารย์ผู้หญิงคนนั้นก็เอาจดหมายมาให้ผมอ่าน ตอนนั้นก็ตัดสินใจที่จะแปล 50 หน้าแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสส่งไป ไม่ถึงสองอาทิตย์เขาโทรมาบอกว่า ดีมาก เอาทั้งเล่มเลย
      เงาสีขาวได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ว่าเป็นของแท้ ถึงขายได้ไม่มากประมาณ 3,000 เล่ม แต่สำนักพิมพ์ก็พอใจ พอคุณเสน่ห์ส่งต้นฉบับเรื่องสั้นอสรพิษ ผมอ่านแล้วเห็นว่าเป็นผลงานที่ดีมาก เพียงแต่มันสั้นนิดเดียว ก็ตัดสินใจแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสส่งไป ภายใน 2 วันเขาก็บอกว่า เราจะจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งหนังสือเล่มนั้นก็ขายได้หลายหมื่นเล่ม คุณเสน่ห์หรือไอ้เฟิ้มเขียนเรื่องสั้นเมื่อไหร่ ก็รีบส่งมาให้มาร์แซลพิจารณาดูสิว่าจะแปลหรือเปล่า แล้วในช่วงหลังๆ นี้มาร์แซลก็บอกว่าเปล่า ไม่แปลหรอก ผลงานไม่ดี ก็มี 2-3 เรื่องที่ออกมาปีนี้ ผมอ่านแล้วก็บอกว่า เสียใจด้วย ด้านหนึ่ง ลีลาของเขา สไตล์ของเขามันดีมาก แล้วก็ดีขึ้นๆ ทุกครั้ง เห็นได้ชัดเลย แต่ว่าเรื่องมันอ่อนเกินไป คืออ่านแล้วก็โอเคนะ แต่ภายในไม่กี่ชั่วโมงก็ลืมไป ไม่เหมือนกับอสรพิษที่มันอ่านได้หลายระดับ เด็กๆ ก็อ่านได้เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น มีเด็กต่อสู้กับงู ผู้ใหญ่ก็อ่านได้อีกอย่างหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่าง นี่คือวรรณกรรมที่มีน้ำหนัก จะอยู่ได้ตลอดไปเหมือน The Old man and the sea หรือ Brokeback Mountain เป็นเรื่องสั้น แต่ว่า โอ้โห! หนักมาก
      มีวิธีการคัดเลือกเรื่องที่จะมาแปลยังไง ยึดรสนิยมตัวเองเป็นหลัก?
      ไม่เลย ผมบอกตรงๆ ได้ว่า ในจำนวน 20 เรื่องที่ผมเลือกมาแปล มีบางเรื่องที่ผมไม่ค่อยชอบ ใน anthology ที่ผมเขียนสิบกว่าปีที่แล้ว ผมอธิบายละเอียดว่ามีบรรทัดฐานอะไรบ้าง เรื่องความกว้างของเรื่อง ความสำคัญของเนื้อ เรื่อง ลีลา เอกภาพของพล็อตเรื่องต่างๆ แล้วในการทำรายชื่อ 20 เรื่องนั้น ทั้งถามจากคนที่คิดฝ่ายซ้ายและขวาว่าหนังสืออะไรดีที่สุด ฝ่ายขวาก็มักจะบอกว่า สี่แผ่นดินของคึกฤทธิ์ ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายแทบจะทุกคนก็จะบอกว่า ปีศาจ ซึ่งปีศาจนั้นผมเห็นว่ามันขาวดำเกินไป แต่มันเป็นรูปสะท้อนของสมัยนั้น ก็เลยเข้ามาอยู่ในรายชื่อ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผมชอบมากที่สุด มีบางเล่มที่ผมชอบมากๆ นี่คือรสนิยมส่วนตัว แต่ตามมาตรฐานนั้นทั้ง 20 เรื่อง ทุกเรื่องก็มีสิทธิที่จะอยู่ในนั้น
      ตอนนี้กำลังทำงานแปลอะไรอยู่?
      ตั้งแต่เว็บไซต์วรรณกรรมดอทคอมล่มสลายเมื่อกลางปีที่แล้ว ผมเริ่มแปลวรรณกรรมไทยอีกรอบหนึ่ง โดยล่าสุดตกลงกับคุณสนธิว่าจะรื้อฟื้นโครงการ TMC ขึ้นมาเพื่อทดลองตลาดสัก 4-5 เล่ม ในช่วงเวลานี้ยังไม่มีอะไรออกมา แต่จะออกมาเร็วๆ นี้ เล่มแรกคือ ทุติยาวิเศษ ของบุญเหลือ ทิพยสุวรรณ, เล่มที่สองคือ ผู้ดี ของดอกไม้สด, เล่มที่สามคือ แม่เบี้ย ของวานิช จรุงกิจอนันต์ มีอีกเล่มหนึ่งที่ค้างอยู่จากสมัย 10 ปีที่แล้ว คือ ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งในปี 97 เราแปลเสร็จแล้วแต่ไม่มีเงินพิมพ์เพื่อที่จะวางตลาด และเล่มที่ห้า ซึ่งเป็นเล่มที่ผมชอบมากที่สุดและยากมากที่สุดในการแปล คือเงาสีขาวเป็นภาษาอังกฤษ ตอนนี้แปลเกือบจบแล้ว เมื่อเช้าเหลืออยู่ 41 หน้า ทั้งหมดก็ 404 หน้า ที่ตลกก็คือว่า ผมเปรียบเทียบดูกับฉบับที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส 10 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสของผม มีข้อผิดพลาดเยอะแยะ อันนี้น่าจะแสดงว่าผมเรียนอาชีพนักแปลมาเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ผมบอกสำนักพิมพ์เลอเซยว่า ถ้าคุณอยากพิมพ์ซ้ำนะ ผมจะแก้ให้ฟรีๆ
      ปัญหาหนึ่งอยู่ที่วิธีเขียนของคุณเสน่ห์เอง คือมันไม่มีย่อหน้า ย่อหน้าหนึ่งคือบทหนึ่ง แล้วเขาชอบเขียนซ้ำ บางทีผมก็มองข้ามบรรทัดไป ข้อผิดพลาดที่สองคือ ข้อผิดพลาดธรรมดา ผมเข้าใจผิด (หัวเราะ) ก็มี น่าละอายแต่มันเป็นเช่นนี้ ข้อผิดพลาดที่สาม คือผมพยายามแปลให้เพราะกว่าต้นฉบับเกินไป ซึ่งอันนี้ผิด สรุปแล้วการแปลของผมที่จะออกเป็นภาษาอังกฤษนั้นจะสมบูรณ์กว่าภาษาฝรั่งเศสตั้งเยอะ วิธีการทำงานของผมในปัจจุบันนั้น จะแปลแล้วก็ส่งไปให้คุณกาญจนาซึ่งเป็นคนไทยอยู่ที่ออสเตรเลียช่วยเป็นบรรณาธิการ ตรวจต้นฉบับเทียบกับภาษาไทย แก้ไขแล้วก็ส่งไปที่อังกฤษให้บรรณาธิการชาวอังกฤษตรวจดูให้แน่ใจว่าภาษาอังกฤษของผมเรียบร้อย ถ้าหากผมโอเคในที่สุดก็เป็น final version
      มีคนบอกว่าถ้าอยากจะรู้จักตัวตนของนักเขียนให้ดูที่ผลงาน แล้วตัวตนของนักแปลอย่างคุณเป็นยังไง?
      ชีวิตผมมี 3 ชาติ ชาติแรกผมถูกอบรมเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ศิลปะ และสนใจวรรณกรรมเป็นพิเศษ ชาติที่สองก็เป็นนักข่าวเกือบจะ 25 ปี แล้วชาตินี้ผมก็เป็นนักแปล ถ้าจะพูดอย่างเป็นทางการก็คือ เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เพราะตอนที่ผมถูกคุณสนธิจ้างทำงานครั้งที่สองเมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อขออนุญาตใบทำงานเพื่อเป็นนักแปล เขาก็บอกว่า ‘ขอโทษค่ะ อาชีพนี้เราไม่มีค่ะ’ ก็เลยกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาแทน
      ผมมีความสุขมากในการเป็นนักแปลอาชีพ ต้องขอบคุณคุณสนธิด้วยที่เปิดโอกาสให้ผมได้แปลนวนิยายเต็มที่เลย ตอนนี้ผมกำลังแปลเงาสีขาวซึ่งผมฝากต้นฉบับให้เขาเป็นภาษาไทย เขาไม่ชอบ (หัวเราะ) แต่ก็ยังสนับสนุนในการแปล แต่ในฐานะที่เป็นฝรั่งผมมั่นใจว่านวนิยายเล่มนี้เป็นนวนิยายที่สุดยอด
      ตั้งใจจะทำงานแปลไปจนถึงเมื่อไร?
      ถ้ายังมีผลงานดีๆ ให้แปล ก็คงจะทำไปเรื่อยๆ ปัญหาอยู่ที่ว่าสักวันหนึ่งก็อาจไม่มีอะไรที่น่าแปลจริงๆ (หัวเราะ)
      ทำงานแปลมาก็มาก คิดอยากจะเขียนหนังสือเองบ้างไหม?
      ไม่เลย (ตอบทันที) เรามีฝีมือในด้านภาษา เราเอาฝีมือของเรามาช่วยคนอื่นเขา แต่เราไม่สามารถที่จะสร้างเรื่องเอง อันนี้ต้องชมนักเขียนโดยทั่วๆ ไปว่า คิดเรื่องต่างๆ ได้ยังไงกัน บางเรื่องเขียนง่ายๆ ผมอ่านจนเบื่อแล้ว แปลได้สบายมาก แต่ให้เขียนเองทำไม่ได้
      นักแปลที่ดีเป็นยังไง?
      ผมถือว่านักแปลที่ดี ต้องเป็นนักเขียนที่ดี ดูผลงานแปลหลายรายๆ เห็นได้ว่าภาษาแปลมันไม่ถึง ถึงแม้ว่าจะแปลอย่างถูกต้องตามความหมาย แต่การแปลวรรณกรรมไม่ได้เป็นการแปลความหมายอย่างเดียว นักเขียนคนหนึ่ง ใช้ภาษาแบบหนึ่ง มันมีดนตรี มีจังหวะ นักแปลที่ดีก็ต้องสามารถมีดนตรี มีจังหวะที่ไม่เหมือนนักเขียนแต่ดีพอๆ กัน โดยทั่วไปนักแปลที่แปลเป็นงานอดิเรกมักมีปัญหาอยู่ว่า แปลในลีลาเดียว คือลีลาของตัวเอง เหมือนกับไม่มีหู จะแปลผลงานของ มจ.อากาศดำเกิงในลีลาเดียวกับเสน่ห์ สังข์สุขได้ยังไง นักแปลที่ดีไม่มีลีลาของตัวเอง ต้องเป็นลีลาของผู้อื่น คือผู้เขียน โอกาสพัฒนามันมีทุกคนที่ทำงานอยู่ ช่วงแรกก็อาจตะกุกตะกัก ก็ค่อยๆ เรียนรู้ทริคในการแปลต่างๆ ไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งผมเองก็ยังเรียนอยู่
      ***************
      เรื่อง - รัชตวดี จิตดี

แสดงความคิดเห็น

« 9831
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ