บทความ
ราหูอมจันทร์: ไฟฝันที่สานต่อ
ราหูอมจันทร์: ไฟฝันที่สานต่อ
มติชน วันที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10647
เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 แวดวงวรรณกรรมได้สูญเสียนักเขียนหนุ่มมากฝีมือ นาม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เจ้าของซีไรต์รวมเรื่องสั้นชุด แผ่นดินอื่น ให้กลับคืนสู่อ้อมกอดแห่งหุบเขาฝนโปรยไพร
หลังพายุฝนพรากนักเขียนหนุ่มตลอดกาลให้ก้าวล่วงสู่แผ่นดินอื่นอย่างกะทันหัน ใช่ว่ากนกพงศ์จะทิ้งไว้เพียงรอยอาลัยที่ก้าวล่วงผ่านวันเวลาจนประทับไว้ในรอยจำเท่านั้น เพราะนอกจากผลงานวรรณกรรมเลอค่าที่ได้ฝากไว้บนแผ่นดินแล้วนั้น เขายังเป็นโต้โผใหญ่ในการทำนิตยสารวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นรายฤดูกาล ราหูอมจันทร์ ด้วยหวังจะให้แวดวงวรรณกรรมตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง
แม้ร่างจะมอดไป แต่ไฟฝันไม่มอดตาม เพราะในวันนี้พี่ชายของเขา เจน สงสมพันธุ์ (ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเลขานุการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย) ก็ได้มุ่งมั่นสานฝันให้น้องชาย โดยเจนเล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ให้เราฟังว่า
"สมัยก่อนนักเขียนจะมีพื้นที่นำเสนองานค่อนข้างมาก ทั้งในหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ แต่ในระยะหลังคอลัมน์ของนักเขียนหายไป กลายเป็นคอลัมน์ของคนดังเข้ามาแทนที่ ทำให้พื้นที่ลดลงมาก ตรงนี้เลยกลายเป็นคำถามที่ว่าวรรณกรรมของเราถึงจุดซบเซาจริงหรือไม่
กนกพงศ์มองว่าวรรณกรรมไม่ได้ซบเซา ถ้าเราทำให้มันมีคุณภาพ แต่เราจะสร้างเวทีที่มีคุณภาพเหมือนที่โลกหนังสือ หรือช่อการะเกดสร้างมาได้อย่างไร เลยตั้งใจจะให้ราหูอมจันทร์เป็นเวทีเรื่องสั้นสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ทำให้เกิดการชุมนุมทางวรรณกรรมที่ต่อเนื่อง เมื่อกนกพงศ์เสียชีวิตไป นี่คือสิ่งที่คิดค้างไว้ ราหูอมจันทร์จึงเกิดขึ้นในนัยยะที่สำคัญว่า ปัญหาที่แวดวงหนังสือประสบอยู่นั้น น่าจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น"
ชื่อของราหูอมจันทร์ แม้จะฟังแล้วแปลกหูแต่ก็มีนัยยะล้ำลึกแฝงอยู่
"ตอนแรกกนกพงศ์ตั้งชื่อผลักหน้าต่างชมจันทร์ เหมือนบ้านมืดๆ ผลักออกไปก็ อ๋อ มีแสงอยู่ แต่ตอนหลังก็มองใหม่ และคงจะมองว่า วรรณกรรมก็เหมือนจันทร์ที่ถูกราหูอมอยู่ แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องสว่าง เราจะต้องช่วยกันตีฆ้องร้องป่าวไล่ราหู
ทว่าถ้ามองในแง่ปริศนาธรรม ก็เหมือนกับยันต์ราหู ที่ว่าโลกอยู่ภายใต้จักรราศี ถ้าคนไหนหลงลืมก็จะกลืนกินเวลาของเรา โดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและโลกเลย ถ้าไม่ตีฆ้องร้องป่าว เราก็จะถูกกลืนกิน และวงการนี้ก็จะทรุดลงไป"
และตอนนี้ราหูอมจันทร์ได้ตีพิมพ์ถึง 3 เล่มแล้ว โดยออกเป็นนิตยสารราย 6 เดือน เพื่อให้เวลาในการทำงานของทีมงานที่อาสามาทำไม่บีบรัดจนเกินไป ซึ่งเงินทุนในการสร้างสรรค์นั้น มาจากกองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่มาจากเงินบริจาคและรายได้จากของที่ระลึกในกิจกรรมต่างๆ และค่าลิขสิทธิ์งานที่ยังคงตีพิมพ์อยู่ ซึ่งเจนบอกว่าทางกองทุนพยายามใช้อย่างประหยัดต้นทุน เพื่อให้อยู่ได้นานที่สุด
ในแต่ละเล่มนั้นจะมีเรื่องสั้นประมาณ 12 เรื่อง ซึ่งคัดเลือกมาจากผลงานแบบไม่จำกัดแนว ของนักเขียนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่ส่งเข้ามาอย่างคับคั่ง และกรรมการคัดเลือกงานทั้ง 5 ท่านนั้น ก็ถือเป็นอาจารย์ในแวดวงวรรณกรรมทีเดียว
"มีไพวรินทร์ ขาวงาม ขจรฤทธิ์ รักษา ไพฑูรย์ ธัญญา ชีวีชีวา และก็ผม เราจะคัดเรื่องมาประมาณ 15-20 เรื่องต่อคน แล้วเอาเรื่องที่เลือกตรงกันทั้ง 5 มาวางไว้ก่อน และที่ไม่ตรงกันมีอะไรบ้าง แล้วใช้วิธีโหวต แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเอาเสียงข้างมากนะ คือเราสงวนการแปรญัตติว่า ทำไม 2 ใน 3 เลือก เรื่องนี้ ให้มีโอกาสชี้แจงว่าเรื่องนี้มีจุดเด่นอย่างไร ดังนั้นที่โหวต 2 ใน 3 อาจกลับเป็นเรื่องที่ได้รับการพิจารณาก็ได้ จริงๆ ก็มีนักเขียนที่มีชื่อชั้นส่งมาเยอะเหมือนกัน แต่หลายคนต้องตกไป เพราะเราเปรียบคุณภาพงานที่ส่งมากับงานเก่า ถ้าเขาเขียนได้ต่ำกว่าคุณภาพของเขา ก็อยากให้ส่งมาใหม่เท่านั้นเอง มีไม่เข้าใจบ้างแต่ก็อธิบายกันไป"
นอกจากนักเขียนคัดเลือกแล้ว ในแต่ละเล่มยังมีนักเขียนมือทอง อาทิ อัศศิริ ธรรมโชติ, แดนอรัญ แสงทอง และประชาคม ลุนาชัย เป็นต้น มาเป็นนักเขียนรับเชิญ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงน้องๆ หน้าใหม่ด้วย ส่วนที่เห็นว่ามีเรื่องแปลจากหลายประเทศในอาเซียนด้วยนั้น ก็เพราะว่า...
"ตอนแรกจะเอาเรื่องสั้นทันสมัย หรือเรื่องสั้นโนเบลมาลง เพราะคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ด้วย แต่ ลาว คำหอม บอกว่าอยากให้พวกเราทำเรื่องอาเซียน กนกพงศ์นั้นชื่อชั้นทางอาเซียนเป็นที่ยอมรับ งานกนกพงศ์ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษามาเลเซียหลายเรื่อง อย่างรวมเรื่องสั้นชุดบนสะพานขาด ชุดคนใบเลี้ยงเดี่ยว อีกทั้งกนกพงศ์ก็ได้ทำงานในส่วนวรรณกรรมของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไว้ส่วนหนึ่ง ก็เลยอยากจะสานต่อ"
และในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านั้น เจนก็แอบแย้มกับเราว่า มีโครงการจะมอบรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ขึ้น โดยคัดเพียง 1 เรื่องสั้นจากที่ตีพิมพ์มาทั้งหมด
และเมื่อเราถามว่าแล้วเขาเห็นด้วยไหม กับความเห็นที่ว่าแวดวงวรรณกรรมถึงคราวชะงักงันแล้วนั้น เขาก็ตอบมาทันทีเลยว่า
"วรรณกรรมต้องไปสู้กับสื่ออื่นๆ มากมาย แถมสื่อเดียวกันอย่างหนังสือ ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายจะเป็นหนังสือเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่หนังสือเติมสาระ เติมความรู้สึกให้มีพลังอยู่บนโลก
วรรณกรรมบ้านเราจึงอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนพัฒนาจากระดับปริมาณสู่คุณภาพ จะต้องทำให้เข้มข้นด้วยคุณภาพให้ได้ แล้ววรรณกรรมจะเฟื่องฟูขึ้นมาอีก"
เขายังเสริมด้วยความรู้สึกหดหู่ว่า สายส่งก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้สภาวะนิ่งสนิทนี้เกิดขึ้น
"สถานการณ์ปัจจุบัน เข้ามาสู่จุดที่สายส่งหรือร้านหนังสือเจ้าใหญ่หลายราย ไม่รับจำหน่ายหนังสือวรรณกรรม ยกเว้นหนังสือโรมานซ์ เพราะเป็นหนังสือที่ขายค่อนข้างช้า จะเป็นภาระสำหรับร้านหนังสือ เจ้าใหญ่เกือบทุกเจ้าตอนนี้ หนังสือเล่มไหนที่ดูแล้วว่าจะได้เงินน้อยหรือช้าก็จะตัดออกไป"
และที่พูดก็ไม่ใช่ความเห็นโดยทั่วไปนะ เพราะผู้ใหญ่อย่างเจน เคยเจอมากับตัวเองเลยทีเดียว
"เสนอไปยังสายส่งใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ถูกปฏิเสธมา โดยบอกมาชัดเจนว่าเขาไม่รับวรรณกรรม เพราะไม่มีความชำนาญในการวางจำหน่าย เราก็ต้องสู้กันต่อไป"
และด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้หนังสือดีๆ จากโครงการวรรณกรรมที่น่าสนับสนุนอย่างนี้ กลับมียอดขายเพียงหลักไม่กี่ร้อยเล่มเท่านั้น!
น่าเศร้าใจจริงๆ
แต่ถึงกระนั้น เจนก็ไม่เคยหมดหวัง และยังพยายามสู้อย่างเต็มที่ เพราะหวังที่จะให้ราหูอมจันทร์เป็นเวทีตัดสายสะดือ และสร้างฝันให้นักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่
"พยายามให้กนกพงศ์เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องของวรรณกรรมไทย ว่าคนเล็กๆ คนหนึ่ง เมื่อมาอยู่ในแวดวงคนเขียนหนังสือ ก็สามารถทำเรื่องใหญ่ได้
เพราะงั้นกนกพงศ์ หรือกองทุนกนกพงศ์จึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวบุคคล เหมือนกับการประเมินงานของเขา ว่าเป็นงานแบบเสนอภาพแทน (representation) คือการที่ตัวละครหนึ่งไม่ได้หมายถึงคนคนเดียว แต่เราสามารถเอาคนนี้ไปใส่ไว้ในตัวหลากหลายคน
ส่วนหนึ่งก็หวังลึกๆ ว่าราหูอมจันทร์จะช่วยแปรเป็นอย่างนั้นได้"
เจนกล่าวตบท้ายพร้อมรอยยิ้มแห่งความหวังที่ระบายเต็มใบหน้า