บทความ
100 ปี 3 นักเขียนไทย หยดน้ำหมึกที่ไม่มีวันจาง
100 ปี 3 นักเขียนไทย หยดน้ำหมึกที่ไม่มีวันจาง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤษภาคม 2550 17:13 น.
เรือน้อยลำหนึ่งลอยอยู่กลางท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนถึงวันนี้ก็ยังคงไม่ได้หยุดพัก แต่ก็จะยังคงลอยต่อไปเพื่อสร้างความทรงจำให้อยู่ในใจแก่ผู้ที่พบเห็นได้ต่อไป เฉกเช่นดังวงการวรรณกรรมบ้านเราที่ทุกวันนี้ยังคงเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านเส้นทางมาหลายยุคหลากสมัย
ดังเช่นกับ 3 เพชรน้ำหนึ่งแห่งวงการนักเขียนไทย ที่ถึงแม้ว่าวันนี้พวกเขาจะหยุดพายเรืออย่างถาวรเพื่อกลับไปสู่อ้อมกอดธรรมชาติที่สวยงามแล้ว แต่ผลงานของราชานักเขียนไทยทั้ง 3 กลับยังประทับอยู่ในความทรงจำของนักอ่านทุกคนเสมอมา ถึงแม้ว่าวันนี้วันเวลาจะล่วงเลยไปถึง 100 ปีก็ตาม
พื่อรำลึกถึงนักเขียนไทยทั้ง 3 ท่านนี้ ชีวี ชีวา ผู้ช่วยบรรณาธิการอำนวยการฝ่ายวรรณ กรรมไทย สนพ.อมรินทร์ ผู้ติดตามศึกษางานของท่านทั้ง 3 ได้มาย้อนรอยน้ำหมึกให้ฟังดังนี้
โชติ แพร่พันธ์ หรือเจ้าของนามปากกาที่ไปติดอยู่ที่ริมฝีปากของนักอ่านว่า ยาขอบ และอีกฉายาหนึ่งที่รุ่นน้องในวงการวรรณกรรมตั้งให้กับพญาอินทรีผู้นี้ด้วยความยกย่องว่า สุภาพบุรุษยาขอบ ยาขอบถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีจิตใจกว้างปานมหาสมุทร ยามใดที่พี่น้องได้รับความทุกข์ท้อหรือเดือดร้อนยาขอบก็จะให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนทุกครั้งไป
จากคำบอกเล่าของ ชีวี ชีวา บอกเล่าถึงชีวิตและผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับยาขอบว่า บุคลิกส่วนตัวของยาขอบจะเป็นคนที่อารมณ์ดีหรือคนที่ชื่นชมในชีวิต รักความสนุกสนาน ชอบที่จะหาความเพลิดเพลินให้กับชีวิต และบวกกับที่เป็นคนที่มีจิตใจดีใครเดือดร้อนก็มักจะชอบช่วยเหลืออยู่เสมอ จึงทำให้ยาขอบเป็นสุภาพบุรุษอยู่ในใจของทุกคนเสมอมา
ด้วยบุคลิกที่เป็นคนรักความสนุกและเป็นผู้ที่มีคารมอันเฉียบคมและแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน จึงได้ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาได้เริ่มเขียนหนังสือเรื่องแรกด้วยเรื่องตลกสั้นๆ สองสามเรื่อง จากเรื่องสั้นๆ ไม่กี่เรื่องนี้เองผู้อ่านก็เริ่มสนใจในตัวของนักเขียนผู้มีฝีปากคมคายผู้นี้
แต่ดูเหมือนว่าผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับยาขอบมากที่สุดก็คงจะเป็น ผู้ชนะสิบทิศ ที่ได้ใส่ชีวิตและจิตใจของยาขอบไว้ในนวนิยายปลอมพงศาวดารพม่าที่ยาขอบมีโอกาสได้อ่านเพียง 8 บรรทัดเท่านั้น แต่ความเป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรมกลับถ่ายทอดได้อย่างหลากอรรถรส มากถึง 8 เล่ม
หลายคนคิดว่าผู้ชนะสิบทิศเป็นแต่เพียงคู่มือจีบสาวสำหรับผู้ชายเจ้าชู้ มีโวหารเกี้ยวพาราสี แต่ถ้าได้อ่านจริงๆ จนจบ 8 เล่ม จะทำให้รู้จักยาขอบมากขึ้น ถึงความเป็นสุภาพบุรุษของตัวละครที่ยาขอบได้ถ่ายทอดผ่านตัวจะเด็ด ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักรบผู้เก่งกาจและนักรักผู้อ่อนโยน ไม่เคยข่มเหงรังแกน้ำใจของอิสตรีผู้อ่อนแอกว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจ นี่จึงถือได้ว่าเป็นตัวตนของยาขอบที่มีความเป็นสุภาพบุรุษไม่เคยรังแกผู้ใด แต่พร้อมเป็นผู้ให้เสมอมา ชีวี อธิบาย
นอกจากนี้ ยาขอบยังได้มีผลงานอีกหลากหลายเรื่องที่ได้จรดน้ำหมึกฝากไว้ให้คนรุ่นหลังยึดถือเป็นแนวทางต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผลงานเรื่องสั้นชื่อ เพื่อนแพง วรรณกรรมเรื่องยาวอย่าง สามก๊ก (ฉบับวณิพก) ความเรียงปกิณกะเรื่องสินในหมึก เป็นต้น
ผลงานทั้งหมดของยาขอบผู้หลงใหลในตัววรรณกรรมสามารถไปหาชมผลงานกันได้ที่ร้านหนังสือดอกหญ้าทุกสาขา และขณะนี้ทางดอกหญ้าได้เรียบเรียงละครเรื่องรัก 3 เล่มอมตะนิยายรักของยาขอบทั้งหมด 40 เรื่อง อาทิ มุมมืด และเพื่อนแพง ไว้ให้คนรักวรรณกรรมไทยได้สะสมกันไว้เป็นที่ระลึกถึงบรมครูชั้นเยี่ยมด้านวรรณกรรมไทย
มาถึงเพื่อนสนิทของยาขอบ ที่ปีนี้ก็จะมีครบ 100 ปี กับเจ้าของฉายา ราชาเรื่องสั้นลูกทุ่งไทย มนัส จรรยงค์ ผู้ที่จุดประกายทำให้คนได้หันกลับมาหลงใหลในอรรถรสของท้องดินกลิ่นทุ่งอีกครั้งโดยผ่านปลายปากกา ในเรื่องสั้นของมนัส จะสื่อให้เห็นฉากและชีวิตลูกทุ่งไทยที่เด่นชัดมาปรากฏอยู่ตรงหน้า ยิ่งวันคืนที่ผันผ่านจนทำให้ระบบทุนนินยมเข้ามาแทรกซึมอยู่ในสังคมไทยจนทำให้มองไม่เห็นความเป็นท้องทุ่งอีกต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องสั้นของมนัส จึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ชั้นดีชิ้นหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นหลังยังคงเห็นความสวยงามของท้องทุ่งนา
ชีวี เล่าถึงผลงานของมนัสด้วยน้ำเสียงสุขุมว่า ความโดดเด่นของมนัส จรรยงค์เกิดจากการกลั่นกรองวัตถุดิบที่คั้นมาจากประสบการณ์ชีวิตที่เรียบง่ายแต่งดงาม โดยเฉพาะ การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและฉากบรรยากาศที่เหมือนกับเห็นจริง เช่น เรื่อง จับตาย, ไม่ผิดเพี้ยน และผลงานประพันธ์ชั้นครูอย่าง จับตาย, ซาเก๊าะ, ท่อนแขนนางรำ, สลัดเครา, ใกล้อวสาน, แม่ยังไม่กลับมา และเรื่องสั้นชุด เฒ่า
นอกเหนือจากเรื่องสั้นที่มีโครงเรื่องเข้มข้น แทรกมนุษยธรรมให้สะเทือนอารมณ์อย่างแน่นขนัดแล้ว ยังเป็นบันทึกวิถีวัฒนธรรม สภาพปัญหาและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไว้แต่ละยุคอย่างครบครัน ชีวีสาธยาย
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีใครสามารถสืบค้นร่องรอยการพิมพ์การเผยแพร่ครั้งแรกและบอกได้ว่าราชาเรื่องสั้นผู้นี้มีผลงานประพันธ์ทั้งหมดกี่เรื่อง
ธรรมชาติไม่เคยให้โทษแก่ใคร ธรรมชาติทำให้จิตใจอ่อนโยน ธรรมชาติคือยารักษาโรคหัวเสีย ป้องกันผู้ที่สนใจไม่ให้ประกอบกรรมชั่วร้ายใดๆ นี่คือข้อความของผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งสารคดี นพ. บุญส่ง เลขะกุล ผู้ที่ยอมอุทิศกายเพื่อปกป้องธรรมชาติและสัตว์ป่าให้คงอยู่ได้เหมือนดังที่มนุษย์อยู่ได้
ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีของ นพ. บุญส่ง ถึงแม้ว่าคุณหมอจะไม่ได้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แล้วก็ตาม แต่ผลงานที่คุณหมอได้สร้างสรรค์ไว้โดยเฉพาะการต่อสู้เรียกร้องผลประโยชน์ให้กับสัตว์ป่าและป่าไม้นั้น ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างไม่มีวันเลือนลาง
ชีวี เล่าให้ฟังว่า ตลอดเวลาที่หมอบุญส่งมีชีวิตอยู่เป็นคนที่ชอบการเดินไพร และเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติตัวยง เพราะฉะนั้น ผลงานเขียนของคุณหมอส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า เช่น Bird Guide Of Thailand ชีวิตของลูกกระทิง ธรรมชาตินานาสัตว์ เป็นต้น
โดยหนังสือที่นพ. บุญส่ง จรดปากกาเขียนนั้นมีวางจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
นี่ก็คือ 3 เพชรงามที่รอยน้ำหมึกไม่มีวันจาง ถึงแม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน แต่จะยังคงเป็นอมตะอยู่คู่กับคนอ่านเสมอไป