บทความ
วิกฤติโลกาภิวัตน์ในสังคมไทย มองผ่านรวมเรื่องสั้นหลัง "แผ่นดินอื่น"
วิกฤติโลกาภิวัตน์ในสังคมไทย มองผ่านรวมเรื่องสั้นหลัง "แผ่นดินอื่น"
ธัญญา สังขพันธานนท์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๕๒ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ความนำ
โลกาภิวัตน์ (Globalization ) มีรากมาจากเศรษฐกิจและผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ส่งผลอย่างมากต่อมิติทางวัฒนธรรม ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อวัฒนธรรมเป็นประเด็นอภิปรายที่หลากหลาย (2) การนิยามความหมายของโลกาภิวัตน์ก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะที่สำคัญของโลกาภิวัตน์ คือการการแผ่ขยายของพหุวัฒนธรรม มีช่องทางเข้าไปสู่ความความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ผ่านสินค้าของภาพยนตร์ฮอลลีวูด ระบบการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ การไหลบ่าของวัฒนธรรมสากลได้เข้าไปแทนที่วัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นสาเหตุของการเกิดวัฒนธรรมลูกผสม
นอกจากนี้แล้วโฉมหน้าของโลกาภิวัตน์ ยังเห็นได้จาก การขยายตัวของการท่องเที่ยวที่เป็นสากล การอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ รวมถึงการอพยพที่ผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว การแผ่ขยายของวัฒนธรรมบริโภค วัฒนธรรมประชานิยม และการบ้าคลั่งเรื่องไร้สาระ เช่น การเล่นเกมโปเกม่อน การขยายตัวของการแข่งกีฬาครั้งสำคัญ เช่น ฟุตบอลโลก การสร้างหรือการพัฒนากลุ่มค่านิยมสากล การเติบโตของระบบโทรคมนาคมโลก การไหลบ่าท่วมทะลักของข้อมูลข่าวสาร ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเตอร์เน็ต ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร และโทรศัพท์ไร้สาย เป็นต้น
คุณลักษณะเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดโลกและสังคมแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เป็นไปทั้งในทางบวกและทางลบ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่า โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมณฑลทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก และผลกระทบนี้มักจะถูกมองด้วยทัศนะในเชิงลบที่อยู่ในแบบแผนตายตัว เช่น การมองว่า โลกาภิวัตน์ทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การทำให้เป็นตะวันตก และทำให้เป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม (3) อาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางสังคม เท่าๆ กับที่ได้สร้างคุณูปการสำคัญๆ ต่อชีวิตของมนุษยชาติ วิกฤติโลกาภิวัตน์ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่มันยังได้ถูกผลิตซ้ำในสื่อแขนงต่างๆ รวมไปถึงศิลปวรรณกรรม ในฐานะการสะท้อนภาพหรือการนำเสนอภาพแทนวิกฤติดังกล่าว
บทความเรื่องนี้ สนใจที่จะศึกษาปัญหาหรือวิกฤตโลกาภิวัตน์ในสังคมไทย ซึ่งได้รับการนำเสนอผ่านวรรณกรรมร่วมสมัยที่เขียนขึ้นหลังปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา โดยผู้เขียนได้เลือกเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์จำนวน 3 เล่ม คือ "โลกหมุนรอบตัวเอง, นิทานประเทศ, และรอบบ้านทั้งสี่ทิศ" ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นชุดสุดท้ายในชีวิตการเขียนของเขา. เรื่อสั้น 2 เล่มหลังได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มภายหลังการเสียชีวิตของกนกพงศ์ ในต้นปี 2549 (4) รวมเรื่องสั้นทั้งสามเล่ม ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่สืบต่อจากรวมเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" ที่เคยได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2539 และเป็นผลงานช่วงสุดท้ายในชีวิตของนักเขียนหนุ่มผู้นี้ที่ฝากไว้ให้กับวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย
ดังนั้นนอกจากสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการในประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติโลกาภิวัตน์ในวรรณกรรมแล้ว บทความนี้ยังจะเป็นการรำลึกถึงการจากไปครอบรอบหนึ่งปีของนักเขียนหนุ่มตลอดกาลนาม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์อีกทางหนึ่ง
วรรณกรรมกับการนำเสนอภาพแทนทางสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคม เป็นหัวข้อสำคัญที่ได้รับการนำเสนออยู่เสมอในการศึกษาและวิเคราะห์วรรณกรรม แนวการศึกษาที่เป็นขนบและได้รับการยอมรับมาโดยตลอดคือการศึกษาภาพสะท้อนทางสังคมจากวรรณกรรม นั่นคือการมองในเชิงอุปมาว่า วรรณกรรมเปรียบเสมือนกระจกเงา ที่ฉายสะท้อนให้เห็นภาพต่างๆ ของสังคม หรือดังคำขวัญที่ได้รับการยึดถือมานานที่ว่า "ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี" (5) การศึกษาวรรณกรรมตามแนวคิดนี้ ส่วนใหญ่จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมในฐานะที่มีอิทธิพลต่อกัน ซึ่งเป็นแนวการวิจารณ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มทฤษฎีปฏิฐานนิยม (positivism) ที่ถือว่าวรรณกรรมแม้จะเป็นข้อเขียนเชิงจินตนาการแต่ก็เป็นภาพสะท้อน (reflection) ของสังคมแวดล้อมและของยุคสมัย การวิจารณ์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับวรรณกรรมในแนวสัจนิยม (realism) แนวการศึกษาที่นิยมกันมากในหมู่นักวิจารณ์ของไทย คือการศึกษาภาพสะท้อนทางสังคมในวรรณกรรมในแง่มุมต่างๆ
นักวิจารณ์วรรณกรรมคนแรกๆ ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมในบริบทของวรรณคดีศึกษาของไทย คือวิทย์ ศิวะศริยานนท์ ในหนังสือ "วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์" ในบทที่ชื่อว่า "วรรณคดีและสังคม". สิ่งที่วิทย์ นำเสนอก็คือ วรรณกรรมไม่อาจเป็นอิสระจากอิทธิพลของสังคมได้ เพราะนักเขียนซึ่งเป็นผู้สร้างวรรณกรรมนั้นเปรียบเหมือนคนสามคน คือในฐานะของผู้แต่ง ในฐานะของสมาชิกของสังคม และเป็นพลเมืองของประเทศชาติ ดังนั้นกวีหรือผู้แต่งจึงไม่อาจหลุดรอดจากอิทธิพลของสังคมไปได้ (6)
เช่นเดียวกับเมื่อพิจารณาตัวบทวรรณกรรม วิทย์ ก็อธิบายว่า กวีนิพนธ์เล่มใดเล่มหนึ่งก็สามารถมองได้สามแง่ คือ ในแง่ของศิลปะแท้ๆ ในแง่ที่เป็นหลักฐานการพรรณนาความเป็นไปของยุคสมัย และในแง่ของการแสดงความคิดเห็นต่อสังคม ซึ่งในแง่หลังนี้ย่อมแสดงให้เห็นโลกทัศน์ของกวีที่มีต่อชีวิตและโลก ข้ออภิปรายของวิทย์นั้น โดยแท้จริงแล้ว เป็นเพียงการตั้งข้อคำถามและทดลองตอบเพื่อการอภิปราย มากว่าวิสัชนาเพื่อหาข้อคำตอบ กระนั้นก็ตาม กรอบแนวคิดในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับสังคมที่ทดลองนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ได้กลายเป็นข้ออ้างอิงของนักวิจารณ์แนวสังคมอยู่เสมอ
ปัจจุบันการวิจารณ์วรรณกรรมเชิงสังคม ที่มองว่าวรรณกรรมเป็นภาพสะท้อนของสังคม ได้รับการวิพากษ์จากนักวิชาการรุ่นใหม่ว่า เป็นการศึกษาที่มีลักษณะเป็นกลไก เป็นเสมือนรายงานทางสังคมวิทยา และมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การวิเคราะห์แนวภาพสะท้อนไม่สามารถใช้ได้กับวรรณกรรมที่มีเนื้อหาต่างยุคสมัยไปจากเวลาที่แต่ง เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ (ย้อนไปในอดีตที่เก่ากว่า) หรือวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ (ฉายภาพไปในอนาคต) นอกจากนี้การศึกษาแนวภาพสะท้อนยังใช้ไม่ได้กับวรรณกรรมที่ไม่ได้เน้นการถ่ายทอดภาพทางสังคม เช่นนวนิยายรักพาฝัน นวนิยายแนวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ดังนั้นการศึกษาวรรณกรรมจึงได้ผละออกจากแนวคิด "ภาพสะท้อน" (reflection) มาสู่แนวคิดเรื่อง "ภาพเสนอ" (representation) หรือการนำเสนอภาพแทน ที่ถือว่าศิลปะวรรณคดีมิได้นำเอาความหมายที่มีอยู่แล้วในสังคมหรือโลกภายนอกมานำเสนอ หากแต่ความหมายทางสังคมได้ถูกสร้างหรือผลิตขึ้นภายในตัวงานนั้นเอง (7)
การนำเสนอภาพแทน เป็นแนวทางการศึกษาด้านวัฒนธรรมของสำนักปรากฏการณ์นิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิด การประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคม ภาพตัวแทนหรือภาพแทน ไม่ใช่สิ่ง/ผลผลิตที่เคยเป็นอยู่/มีอยู่ หากแต่เป็นผลผลิตที่มีการประกอบสร้าง (reproduct) ขึ้นมาใหม่ (8) หากนำแนวคิดนี้มาใช้ในการพิจารณาวรรณกรรม การเสนอภาพแทนในวรรณกรรมก็คือ ความสามารถของตัวบทในการวาดภาพลักษณะหน้าตาของโลก และนำเสนอออกมาให้เห็น การเสนอภาพแทนไม่เหมือนกับการสะท้อนภาพ แต่เป็นมากกว่านั้น คือเป็นการประกอบสร้าง ดังนั้น ภาพที่เห็นจึงไม่ใช่การแสดงให้เห็นความจริงที่แม่นยำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการนำเสนอสำนวนของความจริงที่ได้รับอิทธิพลโดยวัฒนธรรม ความคิดและการกระทำของคน การนำเสนอภาพแทนในที่นี่จึงเป็นผลมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ได้บรรจุเอารูปร่างของวัฒนธรรมและแบบแผนของทัศนคติทางสังคม ค่านิยม การรับรู้และพฤติกรรมของคนในสังคมรวมไว้ด้วย (9)
ฮอลล์ (Stuart Hall) เห็นว่า วัตถุและผู้คน ไม่ได้มีความหมายในเชิงตรงข้าม แต่ความหมายของมันถูกกำหนดโดยมนุษย์ในบริบทวัฒนธรรมของเขา และมันมีความสามารถในการสร้างให้สิ่งต่างๆ มีความหมายหรือสื่อความหมายได้ การนำเสนอภาพแทนในทัศนะของฮอลล์ ได้พิจารณาไปที่ประเด็นที่ว่า ภาษาและระบบของการผลิตสร้างความรู้ ทำงานเพื่อสร้างความหมายได้อย่างไร เขาสรุปว่า การนำเสนอภาพแทนสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า คือการศึกษากระบวนการที่ว่าภาษาสร้างความหมายได้อย่างไร (10)
เช่นเดียวกับนักคิดหลังโครงสร้างนิยมคนอื่นๆ การพิจารณาการนำเสนอภาพแทนของฮอลล์ คือการมองว่า มันคือบางอย่างที่ใหญ่กว่าสิ่งที่มันนำเสนอ การนำเสนอภาพแทน (ไม่ว่าในความทรงจำ การบรรยายโดยถ้อยคำ หรือภาพ) ไม่ใช่เป็นการประนีประนอมความรู้ของเรา แต่เป็นการขัดขวาง แตกทำลายและลบล้างความรู้นั้น ๆ ข้อเสนอนี้เคลื่อนย้ายจากแนวทางการรับรู้ที่ว่า การนำเสนอภาพแทนคือการนำเสนอภาพแทนของวัตถุแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไปสู่การเพ่งมองความสัมพันธ์และกระบวนการในสิ่งซึ่งการนำเสนอภาพแทนได้ผลิตขึ้นมา (11) โดยฐานคิดที่นำเสนอมาโดยสังเขปนี้ ผู้เขียนจะใช้เป็นแนวทางในวิเคราะห์และถอดรหัสความหมายจากเรื่องสั้นที่เลือกนำมาศึกษา เพื่อสร้างข้ออภิปรายเกี่ยวกับวิกฤติโลกาภิวัตน์ในวรรณกรรมไทยต่อไป
เรื่องสั้นหลัง "แผ่นดินอื่น" ของ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ กับการนำเสนอภาพแทนทางสังคม
รวมเรื่องสั้นทั้งสามเล่มของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ผู้เขียนใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย รวมเรื่องสั้นจำนวน 29 เรื่อง จากหนังสือรวมเรื่องสั้น 3 เล่ม เล่มที่ตีพิมพ์ในปี 2548 และ 2549 คือ "โลกหมุนรอบตัวเอง", "นิทานประเทศ" และ "รอบบ้านทั้งสี่ทิศ"
โลกหมุนรอบตัวเอง (2548) เป็นรวมเรื่องสั้นที่ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ชายผู้กินทะเล, วันนี้เป็นอีกวัน, ซูเปอร์สตาร์มาเยี่ยม, ล่วงละเมิด, ครึ้มฟ้าครึ้มฝน, หมอฟัน, เธอโบกมือ, ในโลกนิทาน (ฉากอีโรติก), ผมเห็นทิพย์ลัดดา, และบ้านคนตาย
นิทานประเทศ (2549) ประกอบด้วยเรื่องสั้น ทั้งหมด 11 เรื่อง คือ ชาวบ้านป่า, บ้านเมืองของเขา, คนขายโรตีจากศรีลังกา, บ้านเคยอยู่ (เพื่อชีวิต), หมูขี้พร้า, เพื่อนบ้าน, สมชายชาญ, กลางป่าลึก, เสียงนาฬิกา, ธรรมชาติของการตาย, และ น้ำตก (2547)
รอบบ้านทั้งสี่ทิศ (2549) ประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง คือ พวกเขาซึ่งเคยอยู่ข้างบ้าน, ปัญหาของหล่อน, อยู่ข้างใน, หมาของแม่, กลับบ้าน, น้อย;แท็กซี่มีเธอ, งานอดิเรกของพ่อ, และเรื่องหงุดหงิด
โดยภาพรวมแล้ว เรื่องสั้นทั้งหมดของกนกพงศ์ ยังคงมีลักษณะของแนวเรื่องที่ไม่ต่างจากรวมเรื่องสั้นชุดแผ่นดินอื่น มากนัก กล่าวคือ ยังเป็นงานเขียนที่หนักแน่น จริงจังและมุ่งสื่อแสดงความหมายทางสังคม มากกว่าการนำเสนอปัญหาภายในของปัจเจก ดังเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทยส่วนใหญ่ที่เขียนขึ้นหลัง ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การอ่านและพิจารณาเรื่องสั้นของกนกพงศ์นั้น ไม่สามารถละเลยประเด็นปัญหาทางสังคมไปได้
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์เองก็ยืนยันถึงเป้าหมายและอุดมคติในการเขียนหนังสือของเขา ที่ยอมรับในพันธกิจของงานเขียนว่า "
คือการมุ่งอธิบายถึงชีวิต สังคมและโลกในแง่มุมซึ่งผมเข้าใจ โดยการสร้างภาพจำลองเรื่องราวและความคิดตามแบบอย่างของงานวรรณกรรม" (12) โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่า กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นนักเขียนที่ให้ความสำคัญและตระหนักต่อบทบาทของนักเขียนที่มีต่อสังคมค่อนข้างมาก เขาวางตนเองไว้ในฐานะนักสังเกตการณ์ นักคิด และนักวิเคราะห์ปัญหาสังคม โดยใช้งานวรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการนำเสนอ ดังที่ฟิลลิปส์ (Phillipps) (13) เห็นว่า นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้น เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งในสังคมที่เป็นเสมือนประจักษ์พยาน (eye witness) ของประวัติศาสตร์ และเป็นสิ่งที่มีชีวิตทางสังคม (social being) ที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างปลอดจากคุณค่าและอคติแห่งยุคสมัย ในขณะเดียวกันนักเขียนก็มีฐานะเป็น "ปัจเจกบุคคล" ที่มีจิตวิญาณ ความรู้สึกและจินตนาการ นักเขียนในทุกสังคมจึงเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant) ของสังคมนั้นๆ เรื่องราวและคำบอกเล่าต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาเขียน ย่อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความหมายเสมอ
จากจำนวนเรื่องสั้นทั้งหมด 29 เรื่อง เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว พบว่าเรื่องสั้นทั้งหมดที่เขียนขึ้นหลังจาก"แผ่นดินอื่น" คือการประกอบสร้างความจริงและความหมายบางประการทางสังคม ที่กนกพงศ์ต้องการนำเสนอภาพแทนความจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์. ในการนำเสนอภาพแทนนั้น กนกพงศ์ได้นำเสนอผ่านองค์ประกอบที่สำคัญของเรื่องสั้นอย่างน้อย 2 องค์ประกอบด้วยกัน คือ องค์ประกอบของฉาก/สถานที่ และตัวละคร
ฉาก / สถานที่ พิจารณาในด้านของฉาก หรือมิติทางสถานที่ กนกพงศ์ได้สร้างสถานที่ขึ้นมาให้เปรียบเสมือนโลกใบเล็กที่เป็นตัวแทนของโลกใบใหญ่ สถานที่หรือพื้นที่ (space) ที่ได้รับการนำเสนอซ้ำๆ อย่างจงใจ มีอยู่อย่างน้อยสองแห่งด้วยกัน คือ ฉากหรือสถานที่ในชุมชนบ้านเกิดของเขา กับฉากของชุมชนในหุบเขาฝนโปรยไพร (14) ส่วนฉากอื่นๆ เป็นเพียงแค่สถานที่ปลีกย่อย เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องสั้นทั้งหมด ก็จะเกิดความคุ้นเคยกับฉากหรือพื้นที่ดังกล่าวจนสามารถปะติดปะต่อให้เห็นภูมิทัศน์ที่ชัดเจนได้ไม่ยาก
ตัวละคร
ในองค์ประกอบด้านตัวละครนั้น อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครสำคัญในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง คือภาพแทนของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคนในครอบครัวที่ได้รับการกล่าวซ้ำในเรื่องสั้นหลายเรื่อง ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ในบ้านเกิดและชาวบ้านในพื้นที่ของหุบเขาฝนโปรยไพร
คำถามที่น่าสนใจก็คือ "ฉาก/สถานที่ หรือพื้นที่" กับ "ตัวละคร" ในเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้รับการนำเสนอในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของเรื่องสั้นเท่านั้นหรือ ? หรือว่า ฉาก/สถานที่และตัวละครที่ปรากฏซ้ำๆ ในเรื่องสั้นเรื่องแล้วเรื่องเล่าของเขา มีความหมายมากกว่านั้น
หากเรายอมรับว่า วรรณกรรมคือ สิ่งที่เปิดเผยให้เห็นผิวหน้าและความหมายของประสบการณ์มนุษย์ และประสบการณ์ของมนุษย์ คือรหัสทางวัฒนธรรม (The cultural code) ซึ่งระบบของสัญญะได้สถาปนาความหมายและความสัมพันธ์ขึ้นมา ในความเป็นจริงแล้วสิ่งแวดล้อมทั้งมวลของเราและการกระทำทั้งหลายของเราล้วนแล้วแต่เป็นรหัส ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำล้วนแล้วแต่มีความหมาย เพราะมันถูกทำให้เป็น. แนวคิดนี้สามารถนำไปใช้อธิบายวรรณกรรมได้เช่นกัน กล่าวคือ วรรณกรรมคือพื้นที่ของรหัสจำนวนมาก ที่มีทั้งความหนาแน่น ความเจือจางและซับซ้อนมากกว่าฐานการสื่อสารอื่นๆ (15) หากเราสามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อรหัสของวรรณกรรม ก็จะสามารถเข้าถึงความหมายที่รหัสนั้นๆ ต้องการสื่อสดงถึงได้
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ฉาก/สถานที่ และ ตัวละคร ในเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ไม่ใช่องค์ประกอบที่ไร้เดียงสา แต่มันคือรหัสทางวรรณกรรมชนิดหนึ่ง ที่สื่อความหมายบางอย่างออกมา นั่นคือ ฉาก/สถานที่ คือการนำเสนอภาพแทนของสังคม (โลกใบเล็ก) ที่สามารถอธิบายภาพของสังคมในภาพรวม (โลกใบใหญ่) ที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์นั่นเอง
เรื่องสั้นหลัง "แผ่นดินอื่น": พื้นที่แสดงนาฏกรรมชีวิตของเหยื่อโลกาภิวัตน์
จะเห็นได้ว่า เรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ คือพื้นที่หรือเวทีที่เขาสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่แสดงของตัวละคร เป็นพื้นที่และตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติโลกาภิวัตน์ ทั้งฉาก/สถานที่และมิติของตัวละครถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นภาพแทนของสังคมไทย และผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากผลกระทบของปัญหาโลกาภิวัตน์ในหลากหลายแง่มุม ในกรณีนี้เรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่เขียนขึ้นหลังเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" จึงเป็นเรื่องสั้นที่เปรียบเสมือนพื้นที่ที่เขาใช้เป็นเวทีของการปะทะสังสรรค์ การโต้ตอบระหว่าง"วาทกรรมโลกาภิวัตน์"กับ"วาทกรรรมท้องถิ่นนิยม"ที่ดำเนินไปอย่างรุนแรง เข้มข้น
หากมองในเชิงเปรียบเทียบแล้ว จะเห็นได้ว่าเรื่องสั้นส่วนใหญ่ในงานเขียนสามเล่ม คือ โลกหมุนรอบตัวเอง, นิทานประเทศ, และรอบบ้านทั้งสี่ทิศ. กับเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" ยังคงนำเสนอแก่นเรื่องหลัก (theme) ที่เกี่ยวกับ "การเปลี่ยนแปลงของสังคมและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชีวิตผู้คน" ในลักษณะเดียวกับที่เคยนำเสนอในรวมเรื่องสั้นชุด"แผ่นดินอื่น"มาก่อน หรืออาจกล่าวในเชิงสรุปก็คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ยังคงครุ่นคิดและติดอยู่ในแนวความคิดที่ว่า "เมื่อแผ่นดินเป็นอื่น ผู้คนก็เป็นอื่น" ตามไปด้วย. อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า กนกพงศ์ยังคงย่ำอยู่กับความคิดแบบเก่า หรือการนำเสนอแนวเรื่องแบบเก่า เพราะถึงแม้เรื่องสั้นในชุดหลังแผ่นดินอื่นยังคงนำเสนอแก่นเรื่องที่คล้ายกันกับเรื่องสั้นในชุดแผ่นดินอื่น แต่เขากลับมีวิธีการเล่าเรื่องที่แนบเนียน เปลื้องเปลือย และรอบด้านมากขึ้น
ในเรื่องสั้นชุดแผ่นดินอื่น กนกพงศ์ค่อนข้างมองปัญหาแบบ"คู่ตรงข้าม" มีการแยกฝ่ายของคู่ปฏิปักษ์อย่างชัดเจน เช่น คู่ของความดีงาม/ความชั่วร้าย, พระเอก/ผู้ร้าย, ชีวิตดั้งเดิม/ชีวิตสมัยใหม่, ในรวมเรื่องสั้นทั้งสามชุดที่เขียนขึ้นหลังแผ่นดินอื่น แม้การนำเสนอความหมายยังคงหนีไม่พ้นการจัดวางแบบคู่ตรงข้าม แต่ก็มีความรอบด้าน เป็นภววิสัย และมีลักษณะของการชี้นำอยู่น้อย เรื่องส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นร่องรอยของการวางพล็อต แต่ดำเนินไปตามรายละเอียดและเหตุการณ์ย่อยๆ และสัญญะจำนวนมาก เหมือนภาพตัดปะที่ถูกนำมาร้อยเรียงผ่านผู้เล่าเรื่อง ในแง่นี้เรื่องสั้นหลังแผ่นดินอื่นของกนกพงศ์ จึงขึ้นอยู่กับผู้เล่าเรื่องและวิธีในการเล่ามากกว่า การกำหนดของโครงเรื่องที่ค่อนข้างตายตัว
ในจำนวนเรื่องสั้นทั้ง 29 เรื่องที่เขียนขึ้นหลัง "แผ่นดินอื่น" มีเรื่องสั้นที่จัดได้ว่า เสนอประเด็นปัญหาอันเนื่องมาจากวิกฤตโลกาภิวัตน์ที่ค่อนข้างเด่นชัดในเรื่องสั้นต่อไปนี้คือ
ชุด "โลกหมุนรอบตัวเอง" ได้แก่เรื่อง ซูเปอร์สตาร์มาเยี่ยม, ล่วงละเมิด, ครึ้มฟ้าครึ้มฝน,
เธอโบกมือ, โลกในนิทาน(ฉากอีโรติก), บ้านคนตายชุด "นิทานประเทศ" ได้แก่เรื่อง ชาวบ้านป่า, บ้านเมืองของเขา, บ้านเคยอยู่ (เพื่อชีวิต),
หมูขี้พร้า, เพื่อนบ้าน, กลางป่าลึก, เสียงนาฬิกา, น้ำตก (2547)ชุด "รอบบ้านทั้งสี่ทิศ" ได้แก่เรื่อง พวกเขาซึ่งเคยอยู่ข้างบ้าน, ปัญหาของหล่อน, อยู่ข้างใน,หมาของแม่,
กลับบ้าน, น้อย;แทกซี่มีเธอ, งานอดิเรกของพ่อ, และ เรื่องหงุดหงิด
บทความนี้คงไม่สามารถนำเสนอประเด็นต่างๆ ได้ครบถ้วนหลากหลาย แต่จากการอ่านเรื่องสั้นทั้งหมด ก็ได้ให้ภาพรวมของผู้คนและแผ่นดินถิ่นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป ภาพของการเปลี่ยนแปลงนั้นได้รับการนำเสนอในทางร้าย ชวนหดหู่และหม่นหมอง ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงการปะทะกันอย่างเข้มข้นของกระแสโลกาภิวัตน์กับสำนึกท้องถิ่นนิยม วิถีดั้งเดิมกับวิถีใหม่ ความขัดแย้งกันระหว่างคุณค่าเก่ากับคุณค่าใหม่ การแตกกระจายทางวัฒนธรรม ความสับสนอลหม่านของผู้คนในฐานะปัจเจกและการสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ส่วนบุคคล หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรวมถึงการแสดงน้ำเสียงของการโหยหาอดีต ภาพของผู้คนและสังคมในเรื่องสั้นแทบทั้งหมดจึงอยู่ในภาวะของความอึดอัด ไร้ทางออก สับสน ขัดแย้งและยอมจำนนเป็นส่วนใหญ่ ดังจะนำเสนอให้เห็นในรายละเอียดในประเด็นหลักๆ ดังนี้
การปะทะกันระหว่างวิถีดั้งเดิมกับวิถีใหม่
ดังที่กล่าวแล้วว่า เรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ส่วนใหญ่ใช้ฉากในชนบท ไม่ว่าจะเป็นฉากในหมู่บ้านในหุบเขาหรือฉากในท้องถิ่นแถวบ้านเกิด ฉาก/สถานที่ ที่กล่าวถึงนี้ ถูกนำเสนอในสองมิติคือมิติของอดีตกับมิติของปัจจุบัน สิ่งที่ผู้อ่านสามารถมองเห็นได้ระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็คือ การเปลี่ยนแปลง. ดังนั้น สถานที่/พื้นที่ ในเรื่องสั้นของกนกพงศ์จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่คงที่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขต่างๆ เช่น การพัฒนา การเข้ามาของเทคโนโลยี ระบบการผลิตที่เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่ในทางกายภาพเปลี่ยนไปด้วย ดังกรณีของนาข้าวกลายเป็นสวนยาง นาข้าวกลายเป็นนากุ้ง ป่าดงดิบกลายเป็นเมือง
ตัวอย่างที่ว่านี้อาจเห็นได้ ในเรื่องสั้น "บ้านเคยอยู่(เพื่อชีวิต) ฉายให้เห็นสภาพของหมู่บ้านริมทะเลสาบซึ่งเปลี่ยนแปลงไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยนาข้าวและต้นตาลโตนด ได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นนากุ้ง ในเรื่องสั้นเรื่องนี้กนกพงศ์นำเอา "ตาลโตนด" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งมาเป็นสัญญะของวิถีการดำรงชีวิตแบบเก่าคือสังคมชาวนา แต่เมื่อนากุ้งเข้ามาแทนที่อันเนื่องมาจากความเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตกุ้งส่งไปขายในตลาดโลก ทำให้ชุมชนริมทะเลสาบของภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ดังภาพที่เขาบรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า
"เราผ่านสะทิงพระมาแล้ว ซีอาร์วีสีบรอนซ์เงินพุ่งปราดไปในความมืด เราผ่านวัดหลวงพ่อทวดมาได้อึดใจใหญ่ เบื้องหน้าเรากลายเป็นความสว่างไสวเจิดจ้า มันช่างสว่างเสียจริง ราวแสงทั้งโลกมารวมกันอยู่ที่นี่ สว่างมากมายยิ่งกว่าโรงไฟฟ้า สว่างเสียยิ่งกว่าเมืองใดๆ แต่ข้าพเจ้ารู้ดี นี่หาใช่เมืองใหม่ มันเป็นแต่เพียงยุคสมัยใหม่ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าบอกไม่ได้เหมือนกันว่า มันควรนับเป็นสวรรค์หรือนรก" (16)
การหายไปของต้นตาลโตนด ก็คือการหายไปของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มันหมายถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เปลี่ยนไปจากวิถีเก่าแก่ที่คุ้นเคย ไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่พวกเขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน กนกพงศ์สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นขึ้นนี้ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "น้ำเค็มจากนากุ้ง ซึ่งซึมแผ่ไปทุกอณูเนื้อดินของท้องทุ่งนั้น หาได้ขุดรากถอนโคนเฉพาะต้นตาลหรือไม้ใดอื่น แต่มันยังขุดรากเสาของบ้านเรือน ถอนรื้อรากชีวิตคน" (17) เมื่อรากชีวิตของผู้คนถูกถอนรื้อไปแล้ว สิ่งที่เรื่องสั้นเรื่องนี้นำเสนอให้เห็นต่อไปก็คือ ชีวิตของผู้คนที่สับสนอลหม่าน อันเนื่องมาจากการไม่สามารถปรับตัวให้ลงรอยกับวิถีที่แปลกใหม่ นำมาสู่ปัญหาและความขัดแย้ง การยอมจำนน และไร้อำนาจในการต่อรองกับกระแสทุนนิยม พวกเขาสามารถทะเลาะกันได้แม้เรื่องเล็กน้อย และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่
การเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นอันเนื่องมาจากแรงกระแทกจากภายนอก นี้ยังได้รับการนำเสนอให้เห็นในเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นประเด็นหลักและประเด็นรอง ในเรื่องสั้น "หมูขี้พร้า" ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องของหญิงม่ายนักต่อสู้ชีวิตคนหนึ่ง ที่ผ่านช่วงของเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ ชีวิตของหล่อนผ่านวิกฤติการณ์มาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งนำพาตัวเองและครอบครัวมาสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เมื่อชุมชนบ้านป่าของเธอมีถนนตัดผ่าน
"ถนนสายนั้นนำผู้คนแปลกหน้าเข้ามาอีกมากมาย บริษัทค้าไม้หวนกลับมาใหม่...ท่อนซุงขนาดสามสี่คนโอบถูกชักนำมากองรวมหมอนโดยช้าง และหลังจากรถบรรทุกขนมันออกไป คนงานก็ย้ายที่ ขยับรถขึ้นไปในป่าลึก ทิ้งที่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมให้ใครก็ตามเข้าจับจองทำกิน คนเหล่านั้นส่วนหนึ่งไปจากหมู่บ้าน อีกหลายคนมาจากถิ่นอื่น" (18)
เมื่อความเจริญเข้ามา สภาพของชุมชนก็เปลี่ยนไป วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวสวนยางก็เปลี่ยนไป ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงมีแบบแผนการดำเนินชีวิตแบบเก่า สัญญะที่กนกพงศ์นำมาใช้เพื่อสื่อความหมายแทนวิถีดั้งเดิม คือ "หมูขี้พร้า" (หมูพันธุ์พื้นเมือง) และส้วม. หมูขี้พร้าหมายถึงความเป็นท้องถิ่น ตัวแทนของการดำรงชีวิตแบบเก่าที่อาศัยการพึ่งตนเอง ส่วน"ส้วม" เป็นตัวแทนของความล้าหลัง ความไม่เจริญ สัญญะทั้งสองคล้ายจะบอกว่า ในขณะที่ชุมชนของหล่อนเปลี่ยนไปสู่ความเจริญ ชีวิตบางส่วนของผู้คนพยายามปรับรับให้เข้ากับวิถีใหม่ แต่ยังมีบางส่วนที่ดำเนินไปตามวิถีแบบเก่า นี่คือที่มาของความลักลั่น ไม่ลงตัวและนำมาสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างสองวิถีที่แตกต่าง
พื้นที่ในการปะทะคือครอบครัวครัวของหญิงม่ายผู้นี้ โดยมีชีวิตของหล่อนและลูกหญิงชายเป็นเดิมพัน และเมื่อวันหนึ่ง "หมูขี้พร้า" กับ "ส้วม" ได้กลายเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง ระหว่างว่าที่ลูกเขยซึ่งเป็นคนจากในเมือง กับเพื่อนบ้าน "นักปลูกต้นไม้" กับตัวของหล่อนและคนในครอบครัว "หมูขี้พร้า" และ "ส้วม" กลายเป็นตัวทำลายศักดิ์ศรีของหล่อน ศักดิ์ศรีซึ่งเป็นคุณค่าของวิถีแบบดั้งเดิม ถูกทำลายลงด้วยวิถีใหม่ ปัญหาที่สั่งสมมานานก็ถึงจุดแตกหัก ผลลงท้ายคือโศกนาฏกรรมในชีวิตของคนในครอบครัวและชีวิตของหล่อน กนกพงศ์สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า "ทั้งหมดนี้นับเป็นเรื่องโง่เขลาซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินไปในชนบทห่างไกลเรื่องหนึ่งแค่นั้น...ไม่ใช่ปัญหาซึ่งน่าสนใจหรือมีความสำคัญมากพอที่เราควรจะกล่าวถึงอีก ในเมื่ออีกหลากหลายครอบครัวในชนบทต่างล้วนเป็นเช่นนี้" (19)
เรื่องสั้นสองเรื่องข้างต้น นับเป็นตัวแทนที่ชัดเจนซึ่งนำเสนอภาพแทนของความจริงที่ดำรงอยู่ในท้องถิ่นชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการรุกคืบของกระแสโลกาภิวัตน์ และผลกระทบของมัน ความจริงที่กนกพงศ์ประกอบสร้างขึ้นก็คือ การปะทะกันระหว่างวิถีชีวิตแบบเก่ากับวิถีแบบใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกลมกลืน ส่งผลอย่างมากต่อแบบแผนชีวิตของผู้คน พวกเขาไร้พลังที่จะต่อต้าน และอับจนปัญญาที่จะไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่ถูกกระแทกบีบคั้นให้ตกอยู่ภาวะสับสนอลหม่าน ชีวิตขาดความสมดุล และนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่ความล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นในที่สุด
การล่มสลายของสถาบันครอบครัว ครอบครัวเป็นพื้นที่และหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุด ความเข้มแข็งของครอบครัวคือดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม ดูเหมือนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จะตระหนักในความจริงข้อนี้ ครอบครัวจึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับการนำเสนอบ่อยครั้งที่สุดในรวมเรื่องสั้นชุดสุดท้ายของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรวมเรื่อสั้น ชุด "รอบบ้านทั้งสี่ทิศ" ที่เห็นได้จากเรื่อง "หมาของแม่, กลับบ้าน, น้อย;แทกซี่มีเธอ" ในเรื่องสั้นที่กล่าวถึงนี้ ภาพของครอบครัวอันเป็นเหมือนโลกใบเล็กนั้น อยู่ในสภาพของการล่มสลาย. ภินท์พัง เป็นพื้นที่ที่ได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจากกระแสของโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวแตกร้าว พิกลพิการและดูเหมือนไม่อาจจะเยียวยาได้อีก
ในการนำเสนอภาพตัวแทนของสถาบันครอบครัว ดูเหมือนกนกพงศ์จะเปลื้องเปลือยชีวิตของตนเองไว้ค่อนข้างมาก เพราะเรื่องราวและเหตุการณ์หลายตอนที่เกี่ยวกับครอบครัวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานความเป็นจริงในชีวิตของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นฉากภาพที่ถูกฉายซ้ำ สมาชิกในครอบครัว และคนรอบข้าง หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ กนกพงศ์นำเอาบางส่วนของชีวประวัติส่วนตัว มาเป็นฐานของการจิตนาการในการเขียนเรื่องสั้นหลายเรื่องของเขา. ภาพแทนของครอบครัวที่ได้รับการนำเสนอเป็นภาพของครอบครัวที่อยู่ในสภาพง่อนแง่น อ่อนแอ ความง่อนแง่นอ่อนแอนี้ไม่ได้มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ, ในทางตรงกันข้าม กนกพงศ์กลับชี้ให้เห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่มีสาเหตุอื่นที่สำคัญกว่านั้น นั่นคือการหายไปของสมาชิกครอบครัวรุ่นลูก ที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่
ในเรื่องสั้น "หมาของแม่, กลับบ้าน, น้อย:แทกซี่มีเธอ" กนกพงศ์ได้จำลองแบบของครอบครัวขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่มีความทับซ้อนระหว่างครอบครัวของชาวชนบทกับครอบครัวของคนชั้นกลาง ภาพของครอบครัวในชนบทที่เคยอบอุ่นด้วยความรัก ความผูกพันของพ่อแม่และลูกๆ เป็นภาพที่ถูกฉายซ้ำในเรื่องสั้นหลายเรื่อง ดังเช่น ในเรื่อง "น้อย; แทกซี่มีเธอ": "ปิดภาคเรียน พวกพี่ๆ กลับกันมา บ้านพลันคึกคักขึ้น หัวค่ำแม่ทำขนม ตอนเช้าพี่ชายคนโตออกไปยืนมองทุ่งนา กลางม่านหมอก หน้าเกี่ยวเพิ่งผ่านไป ยังทิ้งกลิ่นซังหอมกรุ่น พี่เล่าว่าเขาต้องช่วยพ่อหักร้างป่ารกลงเป็นผืนนาตอนวัยเด็ก" (20) หรือในเรื่องสั้น "อยู่ข้างใน" ฉายให้เห็นภาพของกิจวัตรประจำวันของคนในครอบครัวที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แม้จะต้องทำงานหนัก "แม่ตื่นไปตลาดทุกๆ เช้า ตลาดนัดในตัวอำเภอ แม่ไปดักซื้อพืชผักจากชาวบ้าน แล้วรวบรวมเพื่อขายต่อให้พ่อค้าขายส่ง ทุกวันหยุดผมต้องต