บทความ
เรื่องสั้นหัวใจ...ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
เรื่องสั้นหัวใจ...ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 มิถุนายน 2550 17:31 น.
เสน่ห์ของเรื่องสั้นนั้นอยู่ที่การเดินเรื่องที่สนุกกระชับ ทำให้เราสามารถรู้แนวคิดของผู้เขียนได้เร็วขึ้น และสามารถให้แง่คิดกับการใช้ชีวิตได้ โดยเฉพาะ ผู้ที่อยากรู้เรื่องการดำเนินชีวิตของคนในอดีตจะต้องอ่านเรื่องสั้นเพราะสามารถบรรยายให้บรรยากาศท้องทุ่งซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีหลงเหลือไว้ให้เห็นอีกต่อไป เป็นคำกล่าวของนักวิชาการผู้คร่ำวอดในวงการวรรณกรรมอย่าง พิเชฐ แสงทอง ที่ได้เอ่ยวลีนี้ออกมาเพื่อประกาศชัดว่าเสน่ห์ของเรื่องสั้นยังคงความสวยงามอยู่เสมอ
แต่หลังจากที่วงการวรรณกรรมบ้านเราได้สูญเสียพญาอินทรีย์เรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่อย่าง มนัส จรรยงค์ ไปแล้วนั้นก็ดูเหมือนว่าเส้นทางสายนี้จะถูกเก็บเข้าลิ้นชักไปพร้อมๆ กับพญาพฤกษาผู้นี้ไปด้วย ถึงแม้ว่าในแต่ละปีจะมีทั้งนักเขียนและนักอ่านหนังสือหน้าใหม่ผุดขึ้นมาทำให้วงการหนังสือมีสีสันคึกคักก็ตามที
แต่ทว่าจำนวนคนอ่านเรื่องสั้นนั้นกลับมีปริมาณที่น้อยลงจนทำให้หนังสือประเภทนี้ต้องนอนแน่นิ่งอยู่เพียงลำพังในมุมหนังสืออันแสนคับแคบ หรือการเข้าไปซุกซ่อนอยู่เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสารบางฉบับจนยากที่จะมาปรากฏกายให้คนได้เห็น
สาเหตุที่ทำให้เรื่องสั้นต้องกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวนิยายแนวประชานิยมหรือต้องเข้าไปซ่อนตัวเป็นเพียงส่วนน้อยของนิตยสารบางฉบับเท่านั้น ประทีป เหมือนนิล ผู้เชี่ยวชาญด้านวงการวรรณกรรม และในฐานะเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องราวและวิวัฒนาการของเรื่องสั้น ได้ให้เหตุผลพร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เรื่องสั้นว่า
การเขียนเรื่องสั้นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากแต่ประการใด แต่การที่จะให้เขียนแล้วให้เข้าไปประทับอยู่ในความทรงจำของคนนั้นเป็นเรื่องที่อยาก แม้แต่พญาอินทรีย์ราชาเรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่อย่างมนัส จรรยงค์ ที่มีผลงานเขียนเรื่องสั้นมาหลายพันเรื่องแต่มีเรื่องที่คนอ่านสามารถจดจำได้มีเพียงไม่กี่สิบเรื่องเท่านั้น หรือแม้แต่กระทั่งบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบรมครูด้านงานเขียนก็ไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องสั้นให้เป็นที่ติดตรึงได้
เรื่องสั้นเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่นักเขียนหน้าใหม่จะใช้เขียนเพราะคิดว่าเป็นการเขียนในถ้อยคำสั้นๆ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรมาก หรือที่เรียกว่าการเขียนแบบฉาบฉวยไม่ได้ใส่รายละเอียดลงไปให้คนเห็นภาพ พอเขียนออกมาวางขายก็มีเสียงฮือฮาตามกระแสอยู่เพียงชั่วครู่ประเดี๋ยวก็ต้องเลือนหายไปจากความทรงจำของคนอ่าน การเขียนเรื่องสั้นของนักเขียนสมัยนี้จะนำรูปแบบแปลกๆมาใช้ในการเขียนซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
แต่บางครั้งก็หลงลืมเสน่ห์อันแท้จริงของเรื่องสั้นออกไป เพราะเรื่องสั้นต้องเป็นการเขียนแนวสะเทือนอารมณ์ได้อย่างชัดเจน แต่นักเขียนในปัจจุบันอาจจะขาดตรงนี้ไปเลยทำให้เรื่องสั้นไม่ได้รับการจดจำ ซึ่งก็เป็นสาเหตุทำให้นักเขียนรู้สึกหมดหวังที่จะเขียนแนวนี้ จึงหันไปจับปากการ่าย นวนิยายแทน
เมื่อถามถึงเรื่องสั้นว่าทำไมถึงไม่ค่อยโตในสายงานวรรณกรรม ประทีป อธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องสั้นไม่ค่อยโต เพราะเสน่ห์ของเรื่องสั้นอยู่ที่การใช้ชั้นเชิงในการเขียน โดยเฉพาะการเขียนที่ต้องทำให้คนอ่านสงสัยว่าจะมีการดำเนินเรื่องอย่างไรต่อไป และต้องสามารถสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมได้ หรืออาจจะมีจุดจบที่หักมุมอย่างที่คาดไม่ถึง ซึ่งนักเขียนสมัยนี้ไม่สามารถที่จะเข้าถึง ได้
โดยประทีป ได้ยกตัวอย่างเรื่องสั้นของ มนัส ที่ยังคงอยู่ในห้วงความทรงจำของผู้อ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า เรื่องสั้นของมนัส เป็นเรื่องสั้นที่ยังคงเป็นปัญหาที่เราดำรงชีวิตประจำวันอยู่ อย่างเช่นเรื่อง แม่ยังไม่กลับมา ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของนักเขียนทั้งในอดีตและปัจจุบันว่านักเขียนเป็นอาชีพที่แร้นแค้นเมื่อคนอ่านแล้วรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ซึ่งปฐมเหตุของเรื่องนี้ก็ได้เกิดมาจาก มนัสได้ให้คุณอ้อมผู้เป็นภรรยานำเอาต้นฉบับที่เขียนเสร็จแล้วไปส่งโรงพิมพ์ ซึ่งคุณอ้อมออกเดินทางจากบ้านไปตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่สาดประโลมโลกดี จนเจียนถึงเวลาที่อาทิตย์อัสดงอ่อนแสงลาลับจากขอบฟ้า ภรรยาและแม่ที่แสนดีของลูกๆก็ยังคงไม่กลับมาถึงบ้านทุกคนต่างเฝ้ารอด้วยความกังวลว่าแม่จะเป็นอะไรหรือไม่ ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ มนัสเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ขึ้นมา ประทีปกล่าว
ถึงแม้ว่าวันนี้เรื่องสั้นจะยังคงซุกตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งบนชั้นหนังสืออาจจะยังไม่สามารถมาต่อกลอนสู้กับนวนิยายได้ แต่ก็ยังคงมีการทำเรื่องสั้นในรูปแบบที่ต่างออกไปเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะเป็นกลับมายืนตระหง่านอย่างสมศักดิ์ศรีบนเวทีวรรณกรรมอีกครั้ง