บทความ
กวีคีตายังอยู่ : คมทวน เพื่อคมไท คมใจ เพื่อคมทวน*
กวีคีตายังอยู่ : คมทวน เพื่อคมไท คมใจ เพื่อคมทวน*
โดย ผู้จัดการรายวัน 11 มิถุนายน 2550 06:20 น.
ในโลกของตัวหนังสือ ชื่อของ "ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร" อาจไม่คุ้นหูเท่าอีกนามหนึ่ง อันเป็นนามปากกาของกวีหนุ่มใหญ่ ผู้ที่มีสำนวนการเขียนคมคาย ดุดันดุจเพลงทวน หากทว่าก็พลิ้วไหวโลดแล่วดุจธนูที่พุ่งทะยานออกจากแล่ง นาม "คมทวน คันธนู"
เจ้าของบทกวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ.2526 อย่าง "นาฏกรรมบนลานกว้าง" ที่หลายคนยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานกวีซีไรต์ในดวงใจ ด้วยฉันทลักษณ์ที่โดดเด่น และอหังการ์กล้าแกร่งที่แสดงถึงปณิธานกวีผู้นี้ กลับเป็นคนที่เก็บตัวและใช้ชีวิตสมถะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่หนังสือรวมบทกวี "จตุรงคมาลา" ในปี 2546 เราก็มีโอกาสได้พบเห็นบทกวีของเขาเพียงประปรายตามหน้านิตยสารบางฉบับ ก่อนที่เขาจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิธีการประพันธ์อย่าง "เขียนให้ดีต้องมีเคล็ดลับ" กับสำนักพิมพ์แม่โพสพ พิมพ์ออกมาในเดือนเมษายน 2549 เป็นเล่มล่าสุด หลังจากนั้นหนอนวรรณกรรมก็แทบไม่พบกับผลงานใหม่จากปลายปากกาของเขาอีกเลย
รวมทั้งข่าวคราวในแวดวงสังคม ไม่ว่างานเลี้ยงในแวดวงวรรณกรรมหรือวงการไหนๆ กวีซีไรต์ผู้ไม่นิยมชมชอบการออกงานผู้นี้ก็ไม่เคยปรากฏตัวเลยสักครั้ง
"คุณคมทวนกำลังทำงานใหญ่" คนใกล้ชิดกระซิบบอก "งานใหญ่" ชิ้นที่ว่านั่นคือ ข้อเขียนเกี่ยวกับ "พระไตรปิฎก" และนวนิยายประวัติศาสตร์มหากาพย์เรื่องยาว ที่ดึงดูดทั้งเวลาและสรรพกำลังจากนักเขียนวัย 57 ปีผู้นี้ไปจนหมดสิ้น
จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ปรากฏข่าวคราวที่ทำให้คนในแวดวงวรรณกรรมต้องรู้สึกตกใจและเป็นห่วง เมื่อมีข่าวว่า คมทวน คันธนู ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดสมองฉุกเฉิน เนื่องจากเส้นเลือดในสมองเกิดอาการโป่งบวมจนอาจเป็นอันตราย!
ท่ามกลางความห่วงใยของมิตรสหายในแวดวงน้ำหมึกและนักอ่านจำนวนไม่น้อย กำลังใจทั้งจากครอบครัว เพื่อนฝูงคนใกล้ชิด ตลอดจนแฟนหนังสือของคมทวน คันธนู ต่างหลั่งไหลสู่ห้องผ่าตัดฉุกเฉินของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์เป็นจุดเดียว จนกระทั่งเมื่อการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ห้องพักผู้ป่วยตึก 6 ห้อง 605 ของโรงพยาบาลแห่งนี้ก็เนืองแน่นด้วยผู้คนมากมายที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียน ขณะที่อาการของคมทวนนั้นก็ดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ
นายแพทย์ทางด้านศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ผู้เป็นเจ้าของไข้เปิดเผยว่า อาการของนักเขียนหนุ่มใหญ่เกิดจากสาเหตุที่เส้นเลือดในสมองมีลักษณะผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยบางคนเป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่เป็นโชคดีของคมทวนที่คนใกล้ชิดอยู่ด้วยระหว่างเกิดเหตุและสามารถนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดช้าไปกว่านี้อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ณ ปัจจุบันนี้ คมทวน คันธนู พ้นขีดอันตราย อาการปลอดภัยแล้ว เขาสามารถรับรู้ รับฟัง ตลอดจนพูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนได้ หากแต่ยังคงต้องทำกายภาพบำบัดร่างกายซีกซ้ายที่ยังคงชาไร้ความรู้สึกอยู่ วันที่ 9 หลังจากการผ่าตัด เมื่อเราเดินทางไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาลนั้น คมทวนกำลังพักผ่อนท่ามกลางการดูแลอย่างใกล้ชิดของกุณฑลี ภรรยาและ "ไญยฎา" บุตรสาว เขารับไหว้และสนทนากับเราอย่างเต็มอกเต็มใจ แม้สีหน้าจะยังอ่อนเพลีย และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายซีกซ้ายได้ด้วยตนเองก็ตาม
"พอนอนนานๆ เขาจะเมื่อย ต้องมีคนคอยประคองให้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ" ภรรยาของกวีซีไรต์เผย แม้ร่างกายทั้งหมดจะยังไม่ฟื้นคืนกลับมาเต็มที่หลังการผ่าตัด แต่ทางครอบครัวและตัวคมทวนเองนั้นยังมีกำลังใจดีเยี่ยม เนื่องด้วยความหวังเปี่ยมล้นว่าหัวหน้าครอบครัวจะต้องหายกลับมาเป็นปกติ
"ค่าใช้จ่ายในการรักษาตอนนี้เราใช้บัตรประกันสุขภาพ แต่ว่ามันจะมียาบางตัวที่เราต้องเพิ่ม " ซึ่งตัวยาดังกล่าวนั้น ไม่ครอบคลุมอยู่ในหลักเกณฑ์ของบัตรประกันสุขภาพ "เช่นว่าช่วงที่ผ่านมาคุณคมทวนเขาจะกระสับกระส่ายทุรนทุราย เหมือนกับคนหลับแล้วฝันร้าย คุณหมอก็เลยเปลี่ยนยาให้ ทีนี้ยาบางตัวมันแพงมาก แต่คุณหมอให้เปลี่ยนยาก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากเป็นยานอกเหนือจากที่เขากำหนดไว้เราต้องจ่ายเพิ่ม" โดยทางครอบครัวยังไม่รู้ยอดค่ารักษาทั้งหมดที่แน่นอนเพราะยังต้องพักรักษาตัวต่อไป รวมทั้งการรักษากายภาพบำบัดในระยะยาวต่อไปด้วย
"เราบอกความจริงทุกอย่างให้เขาฟังหมด ไม่มีปิดบัง ให้กำลังใจว่ายังไงเขาก็ต้องหาย ตอนแรกที่เขาฟื้นหลังการผ่าตัดสมอง เราเอาอัลบั้มรูปครอบครัวมาจากที่บ้าน เพราะกลัวว่าเขาจะจำใครไม่ได้ แต่ปรากฏว่าเขาจำได้ ใครมาเยี่ยมเขาไล่ชื่อได้หมดทุกคนเลย"
ในบรรดาผู้ที่มาเยี่ยมทั้งหมดนั้น มีทั้งนักเขียนอาวุโสอย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ได้มอบเงินเพื่อเป็นทุนสำรองในการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น, อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีหญิงผู้เป็นอดีตภรรยา และบุตรชาย ประคองธรรม สุทธิสาคร รวมทั้งมิตรสหายในแวดวงกวีอย่างกวีซีไรต์รุ่นพี่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นิภา บางยี่ขัน หนึ่งในนักกลอน "สี่มือทอง" ในอดีต, ศิริพงษ์ จันทร์หอม, เอนก แจ่มขำ, ธัญญา ธัญญามาศ, ยุทธ โตอดิเทพย์ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย, มหา สุรารินทร์ ฯลฯ
กุณฑลีเล่าว่า มีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนฝูงผู้มาเยี่ยมอาการของคมทวนถามไถ่ว่าจะไปร่วมงานพิธีฌาปนกิจศพของสุวิทย์ วัดหนู จะฝากอะไรไปให้ไหม เท่านั้นล่ะ คมทวนร้องขอกระดาษปากกา ลุกขึ้นนั่งเขียนบทกวีสดๆ ฝากเพื่อนผู้นั้นไปอ่านในงานของสหายร่วมอุดมการณ์อดีตคนเดือนตุลาผู้ล่วงลับทันที
แม้เมื่อกวีรุ่นเยาว์เดินทางมาเยี่ยม คมทวน คันธนู ผู้มีลมหายใจเข้าออกเป็นกวียังพยายามลุกขึ้นนั่ง ก่อนเอ่ยปากพร้อมรอยยิ้มว่า "ผมอยากเขียนกวีกับน้องๆ สักบท"
คมทวนนั้นป่วยด้วยโรคความดันอยู่ก่อนแล้ว ผนวกกับการที่เขาทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อเขียนหนังสือ 'พระไตรปิฎก' ให้กับมหาเถระสมาคม วัดบวรนิเวศ ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินขีดที่ร่างกายจะรับไหว
"มันคิดมากและเครียดผสมกัน เนื่องจากงานมันมีกำหนดเวลา ผมอยากทำให้ดีๆ แล้วก็กำลังจะทำนิยายเรื่องใหม่ด้วย จำได้ว่าวันที่ล้มนั้นผมเครียดมาก พูดได้คำเดียวว่าไม่ไหว" คมทวนเล่าย้อนช้าๆ ถึงสาเหตุของอาการหน้ามืดล้มหมดสติจนต้องเข้ารับการผ่าตัดให้เราฟัง
ครั้งหนึ่ง คมทวนเคยเขียนถึงอุปสรรคในการเขียนกวีนิพนธ์ไว้ในคำนำของหนังสือ 'นาฏกรรมบนลานกว้าง' ว่า "ข้อยากยิ่งของนักเขียนบทกวี การหาเวลาเขียน การจุดไฟไฟตัวเองตลอดเวลา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาส่วนตัว-ส่วนรวม เหล่านี้คือสิ่งที่บั่นทอนอย่างมากหากแก้ไม่ตก แต่ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับความเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม ขอแต่เพียงให้จิตสำนึกยังคงอยู่ว่า คุณเขียนบทกวีทำไม เพื่อใคร กาลเวลาจะเป็นผู้ตัดสินทุกอย่างด้วยความเที่ยงธรรม"
และเมื่อ 'เวลา' ได้ทำหน้าที่สะท้อนความจริงของธรรมชาติที่ว่าไม่มีใครหนีสัจจะแห่งสังขารพ้น กวีที่ชื่อ 'คมทวน คันธนู' ก็ได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า เขายอมให้ไฟแห่งปณิธานแผดเผาตนเอง เพื่อสร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์ และแม้ในห้วงยามที่โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า แต่กำลังใจและอุดมการณ์ในการทำงานของเขายังคงแรงกล้า ไม่ระย่อต่ออุปสรรคทางร่างกายแต่อย่างใด
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เอ่ยถึงกวีรุ่นน้องว่า "เขาเป็นคนที่มุ่งมั่นในความคิด ในอุดมการณ์ และการทำงานด้านวรรณศิลป์" เจ้าของบทกวีนิพนธ์ 'เพียงความเคลื่อนไหว' บอกว่าทางเพื่อนๆ กวีและนักเขียนวางแผนจะจัดงานรับขวัญ คมทวน คันธนู เมื่อเขาออกจากโรงพยาบาลแล้ว เวลานั้นก็คงจะหารือเรื่องการบริจาคเพื่อรวบรวมเงินมอบแก่ทางครอบครัวของคมทวนไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวต่อไป
"ที่ผ่านมาเพื่อนๆ กวีนักเขียน ที่รักใคร่คุณคมทวน และทางสมาคมนักกลอนก็เข้าไปดูแล และเตรียมช่วยเหลือในส่วนที่ควรจะช่วย" กวีซีไรต์ประจำปี 2523 ยอมรับว่า อาชีพกวีในบ้านเรานั้นเรียกได้ว่า ลำบาก เพราะเป็นอาชีพอิสระ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักประสบปัญหาเช่นนี้
"นับว่าคนวรรณกรรมทั้งหมดลำบาก ไม่ใช่เฉพาะพวกเรากวีหรอก แต่กวียิ่งแย่กว่าเป็นสองเท่าของคนเขียนอย่างอื่น เพราะว่าต้องเป็นคนที่มีใจจริงๆ มันเขียนยาก และก็ไม่ได้เป็นมรรคเป็นผลในทางที่เป็นผลตอบแทนเป็นจริงเป็นจังอะไร ทางสมาคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับนักเขียนก็น่าจะหันมาดูแลเอาใจใส่ในเรื่องนี้ให้มากสักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ หรือว่าความเป็นอยู่ หรือในการที่จะต่อรองกับผู้จัดพิมพ์ รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่นำผลงานของนักเขียนที่เรียกว่าเป็นที่ปรากฏอยู่แล้วไปใช้ ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างสรรค์มีคุณภาพพอควร สมาคมองค์กรเหล่านี้น่าที่จะมาช่วยดูแลให้หน่อย เพราะว่าคนที่ทำงานที่มีคุณภาพเขาก็ไม่มีความสามารถที่จะไปต่อรอง ไปเรียกร้อง ฉะนั้นสมาคมหรือองค์กรที่เกี่ยวกับนักเขียนเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นตัวแทนให้ได้ ให้ดูแลกันหน่อย ไม่งั้นก็จะเกิดลักษณะนี้ เพื่อนๆ ก็ต้องมาช่วยกัน เพื่อนๆ แต่ละคนก็ไม่ได้มี ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรกัน" เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฝากทิ้งท้าย
เมื่อใดหนอ ที่นักเขียนและกวีไทยจะมีรายได้ตอบแทนจากการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอย่างสมควรกับความเหนื่อยยากทุ่มเทเสียที ไม่ต้องถึงขนาดร่ำรวยมหาศาลอย่างนักเขียนต่างประเทศหรอก แค่ไม่อัตคัตและยากไร้ขัดสนแม้ในยามเจ็บป่วยเช่นนี้ก็เพียงพอแล้ว
* หมายเหตุ ชื่อบทความนำมาจากชื่องานที่ทางสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยตั้งใจจะจัดขึ้นเพื่อรวมน้ำใจสู่คมทวน คันธนู แต่ภายหลังได้มีการหารือเลื่อนออกไปก่อน รายละเอียดทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันจะติดตามมาแจ้งให้ทราบต่อไป ส่วนผู้ที่อยากจะร่วมสมทบทุนค่ารักษาพยาบาลแก่ประสาทพร ภูสุศิลป์ธรสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของธนาคารกรุงเทพฯ สาขาตลาดน้อย หมายเลขบัญชี 154-0454806
******************************
นาฏกรรมแห่งชีวิต ของกวีซีไรต์ 'คมทวน คันธนู'
คมทวน คันธนู เป็นนามปากกาของ ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่ธนบุรี เขาเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนดรุณวัฒนา เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนชิโนรส และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัยถึง 6 ปีครึ่ง
เขาเริ่มหัดเขียนกลอนเมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนได้รับเลือกเป็นประธานชมรมภาษาไทยเมื่ออยู่ชั้น ม.5 โดยชอบเขียนกลอนหวานๆ สัมผัสแพรวพราวเป็นพิเศษ ทว่า ใครจะเชื่อว่าครั้งหนึ่งในอดีต กวีซีไรต์ผู้นี้เคยเขียนกลอนได้ศูนย์คะแนนมาแล้ว
"ครูไม่เคยสอนเลยแล้วนำมาออกข้อสอบให้เลือกเขียนระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง ผมเขียนร้อยกรองอยู่คนเดียวในห้อง และก็ได้ศูนย์คะแนน แล้วไม่ใช่มีแค่ครั้งเดียวนะ มาได้อีกตอน ม.ศ. 5 ตอนนั้นเขียนกลอนเป็นแล้ว และผมเป็นประธานชมรมภาษาไทยของโรงเรียนด้วย อาจารย์ให้เขียนกลอนหัวข้อ สวนกุหลาบ ผมตีความหมายของกุหลาบเปรียบเหมือนผู้หญิง อาจารย์บอกว่าผิดเลยได้ศูนย์ ขณะที่ผมแอบเขียนให้เพื่อนโต๊ะข้างๆ ปรากฏว่าเขาได้ 9 คะแนน เต็ม 10 มานึกดูวันนี้มันก็ตลกดีเหมือนกัน"
หากคมทวนก็ยังไม่ละทิ้งหนทางการพิสูจน์ตนเองทางด้านฝีมือการแต่งบทกวี เขาพยายามศึกษางานกวีนิพนธ์ต่างๆ ด้วยตนเอง พร้อมทั้งหัดเขียนกลอนรูปแบบง่ายๆ เรื่อยมา จนเมื่อเข้าไปเรียนในคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เขาได้พบเห็นในช่วงเวลานั้นทำให้ประกายไฟทางความคิดของเขาคุโชนยิ่งขึ้น ชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยนี่เอง ที่คมทวนได้มีโอกาสทำหนังสือพิมพ์ และเริ่มมีความสนใจเรื่องการเมืองที่ส่งผลต่อการทำงานเขียนของเขามากขึ้น จึงถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนทั้งประเภทบทกวี กลอนเปล่า เรื่องสั้น และบทละคร ตีพิมพ์ลงในวารสารของมหาวิทยาลัย ซึ่งงานเขียนของเขาในยุคนั้นให้ความรู้สึกที่เร่าร้อน แข็งกร้าว จนถูกเพื่อนพ้องตั้งฉายาว่า 'กวีเหล็ก' ซึ่งภายหลังคมทวนยอมรับว่า ตอนนั้นเป็นเพราะความอ่อนด้อยทางด้านความคิดอ่านทางการเมืองที่ยังไม่ลึกและกว้างนัก
ผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีเล่มแรกของคมทวนชื่อว่า 'กบฏ วรรณกรรมซาดิสต์' ใช้นามปากกาว่า 'โกสุม พิสัย' ซึ่งมีที่มาจากเพื่อนสนิทคนหนึ่งเมื่อครั้งที่เรียนด้วยกันที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งมาจากอำเภอ โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ส่วนนามปากกา 'คมทวน คันธนู' ใช้เป็นครั้งแรกในการเขียนกลอนเปล่าลงหนังสือวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ ( ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ) นามปากกานี้ตั้งขึ้นจากความฝังใจในบทบาทของลิโป้ ในสามก๊ก ที่เป็นคนไม่ค่อยฉลาด แต่กล้าหาญและซื้อสัตย์ ยิงเกาฑัณฑ์แม่นและเก่งในการใช้ทวน
เมื่อสำเร็จการศึกษา คมทวนเริ่มทำงานเป็นนักข่าวให้หนังสือพิมพ์ปุถุชน และ ประชาธิบไตย ต่อมาทำ หนังสือพิมพ์ มติชน โลกใหม่ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บทกวีของเขาในนาม คมทวน คันธนู จึงแพร่หลายไปในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชีวิตของเขากลับตกอยู่ในช่วงมรสุมชีวิต ทั้งตกงานและเป็นหนี้สิน ทั้งๆ ที่ตกงานเขาก็ยังไปทำหนังสือ 'สมุดไทย' โดยไม่มีเงินเดือน ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องวรรณคดีเก่าๆ มากขึ้น เขาหมกตัวเองอยู่ในห้องนอนและห้องสมุด และกลับมาฝึกฝนการเขียนบทกวีอีกครั้งอย่างหนักและจริงจัง โดยมีงานเขียนของสุนทรภู่, จิตร ภูมิศักดิ์, และอินทรายุทธเป็นแรงบันดาลใจ
ต่อมาคมทวนจึงกลับไปทำงานที่มติชน มาตุภูมิ และ เศรษฐกิจการเมือง จนชื่อของคมทวน คันธนู สามารถก้าวออกมายืนอยู่แถวหน้าของกวีเมืองไทยได้ในที่สุด เมื่อหนังสือกวีนิพนธ์ 'นาฎกรรมบนลานกว้าง' ของเขาได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2526 โดยเขาได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถแต่งคำประพันธ์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งฉันท์ เพลงพื้นบ้านมาประยุกต์ได้อย่างกลมกลืน
ที่มา ; หนังสือ 100 นักประพันธ์ไทย ผ.ศ. ประทีป เหมือนนิล, สมประสงค์ เจียมบุญสม เรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือนาฏกรรมบนลานกว้าง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8