บทความ
ผู้อยู่เบื้องหลัง "ไอ้แขก" กับปริศนาแห่ง "ตันหยงบุหงา"
วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2005 19:06น.
สมเกียรติ จันทรสีมา
ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
"...สังขารเจ้าโดนฉีกขาด โดนตีให้แตกแยกเป็นส่วนส่วน คงมีเหลือไว้เพียงซากแห่งดวงวิญญาณ ตันหยงบุหงาประสบเคราะห์กรรม บังเกิด"สงครามแห่งกิเลส" และ "สงครามแห่งจิตวิญญาณ" ฉกคร่าชีวิตของประชาชนเป็นพันพัน...ชาวตันหยงบุหงาไม่อาจรู้แน่ ใครหนอใครเป็นผู้ร้ายตัวนั้น?"
เป็นบางช่วงบางตอนจาก "ปริศนาบทเพลงแห่งตันหยงบุหงา" โดย รัตติยา สาและ ซึ่งผู้แต่งระบุว่า มาจากความสะเทือนใจกรณีเหตุการณ์สังหาร 9 ศพที่บ้านกะทอง ต.บองอ และกรณีวิกฤตการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ ความท้าทายของปริศนาแห่ง "บทเพลงแห่งตันหยงบุหงา" หรือ "แหลมแห่งบุปผาชาติ" ซึ่งถูกบอกเล่าผ่าน "ซาฌะ" (กลอนเปล่า) ระหว่างการสัมมนาวิชาการ "ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 สะท้อนให้เห็นการมองต่างมุมต่อคำถามที่ว่า "ใครหรืออะไร" อยู่เบื้องหลังความไม่สงบที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับพัน โดยไม่แยกชาติ พรรณ วรรณะ ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี
รัตติยา สาและ รองศาสตราจารย์ด้านภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยทักษิณ อธิบายผ่าน "บทเพลงแห่งตันหยงบุหงา" ว่า ฟาฏอนี ดารุสลาม (ปราชญ์นครแห่งสันติภาพ) ในอดีต หรือปัตตานีในปัจจุบัน มีความรุ่งเรืองโดดเด่นทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมถึงขั้นถูกเล่าขานว่าเป็น "กระจกเงาและระเบียงแห่งมหานครเมกกะ"
"ปาตานี" หรือ "ปัตตานี" อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าสูงทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิศาสตร์ที่เหมาะสำหรับเป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาคนี้ ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งด้านกสิกรรมและอุตสาหกรรม
ทว่า อีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นลักษณะที่ล่อแหลมและเสี่ยงอันตรายจากบุคคลภายนอกซึ่งต้องการใช้พื้นที่นี้เป็นทำเลสำหรับทำมาหากินและเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ จนเกิดเป็นปัญหาต่อเนื่อง
"คนเท่านั้นที่จน แต่พื้นที่ไม่จน" เจ้าของบทเพลงแห่งตันหยงบุหงา ทิ้งเป็นปริศนาให้คิด
และว่า "สรุปว่าหลายปัญหาเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ ขาดความรู้ในเรื่องเนื้อหาของปัญหา จึงไม่เข้าใจปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นด้วยเหตุอันใด ใครเป็นผู้ก่อเหตุ จึงตั้งสมมติฐานว่า...คงเป็นไอ้แขกมั้ง เพราะมันจน... แล้วจะไม่มีใครบ้างเลยหรือที่ยืนอยู่เบื้องหลังไอ้แขก" เธอตั้งคำถาม
มุมต่างมองข้างหลัง "แขก"
เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อ สังเกตว่า ผู้นำรัฐบาลมักอ้างผ่านสื่อมวลชนว่า รู้ตัวผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ปรากฎว่า จับกุมผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังพยายามผูกขาดการตีความปัญหา โดยอ้างความรู้จริงดังกล่าว ขณะที่วรรณกรรมชิ้นนี้กลับเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน "ตีความ" ได้อย่างหลากหลาย
ประเด็นที่ เกษียร ยกขึ้นมาอธิบายสนับสนุนประเด็นดังกล่าวคือ บทสนทนาของ รัตติยากับผู้รู้พื้นถิ่น 2 ท่าน เกี่ยวกับเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ รัตติยา เล่าว่า พระสงฆ์รูปหนึ่งบอกเธอในเชิงเปรียบเปรยว่า "ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของช้าง 2 เชือกชนกัน ขณะที่เราเป็นเพียงต้นหญ้า อยู่ใกล้เท้าช้างก็ถูกเหยียบราบไป ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งของพุทธกับอิสลามอย่างที่อธิบายกัน แต่ตอนนี้หญ้ามันสูงท่วมตัวช้างแล้ว ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องแหวกหญ้าให้เข้าถึงช้างทั้ง 2 เชือก แล้วตัดเท้าช้างเสีย"
ขณะที่ผู้รู้อีกท่านเปรียบเทียบว่า "แผ่นดิน 3 จังหวัดเปรียบเสมือนสนามฟุตบอลที่เปิดโอกาสให้กับนักฟุตบอลทุกคนมาใช้ ขณะที่ชาวบ้านเป็นเหมือนหญ้าในสนาม ซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร และเมื่อมีการแข่งขัน ผู้ชมก็สนใจแต่ลูกบอลกับนักฟุตบอล ไม่สนใจหญ้าที่ถูกเหยียบย่ำหรือถูกเตะอย่างขุดรากถอนโคน"
เกษียร อธิบายว่า เนื่องจากที่ผ่านมารัฐยึดครองความจริงว่า เป็นผู้รู้จริงในเหตุการณ์ชายแดนภาคใต้เพียงคนเดียว แต่กรณีคำอธิบายของชาวบ้านหรือบทเพลงตันหยงบุหงาเปิดช่องให้มีการพูดความจริงทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในมุมมองที่หลากหลาย หรือไม่สามารถพูดตรงไปตรงมาได้
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมธีวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อธิบายในอีกมุมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพยายามที่จะใช้ "อำนาจนิยม" เข้ามาจัดการ "ปัญญานิยม" ส่งผลให้ความคิดที่แตกต่างหลากหลายในพื้นที่หายไป ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่น ซึ่งเดิมเป็นการร่วมรู้ร่วมคิด ผ่านการร่วมแรงงาน มาเป็นวัฒนธรรมเหมาจ้าง ซึ่งมาพร้อมกับความเจริญและการพัฒนา
ทั้งนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน ก็ไม่เกิดการร่วมหารือ ไม่สามารถจัดการร่วมกันได้ เพราะขาดองค์ความรู้ที่หลากหลายในการแก้ปัญหา ทำให้เกิด "คนยากใจ" ขึ้น
"เมื่อหมดทาง คนยากใจย่อมไปปรึกษาหมอเถื่อนที่มีเจตนารมณ์บางอย่าง แต่ไม่ชำนาญจริงมารักษา ทำให้เกิดปัญหาตามมา" สุธิวงศ์ ระบุ
ขณะที่ ภูวดล ทรงประเสริฐ ศาสตราจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ วิพากษ์ทัศนะของรัฐบาลว่า เป็นเรื่องไร้สาระที่คิดว่ามีขบวนการอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือคิดว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องศาสนา
เขาเห็นว่า ปัญหาหลักของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือเรื่องเชื้อชาติ ขณะที่รัฐไทยมีความคิดเรื่องเอกรัฐ ต้องการให้คนทั้งชาติมีความเป็นหนึ่งเดียว แต่ไม่เข้าใจว่า คนมลายูถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเอกลักษณ์ มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเฉพาะตัว
ทั้งนี้นอกจากจะปฏิเสธอัตลักษณ์ของคนมลายูถิ่นแล้ว ยังกระพือปัญหาให้ลุกลามออกไปโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มฆ่าชาวบ้านที่ต้องสงสัยว่าอยู่ตรงข้ามรัฐอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญรัฐไทยยังมองโลกแบบยุคสงครามเย็น ทั้งๆ ที่สังคมปัจจุบันเคลื่อนไปสู่โลกในยุคการก่อการร้ายสากลแล้ว ซึ่งสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการก่อการร้ายสากลเรียบร้อยแล้ว
"ประเทศไทยนิดเดียว แต่เราเดินเกมพลาดไปเล่นไพ่ของอเมริกา สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ที่ลุกลามไปก็เพราะเราเล่นไพ่ของอเมริกามากเกินไป" ศ.ภูวดล ตั้งข้อ สังเกต
ทางด้านนักวิชาการผู้หนึ่ง จากสถาบันการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบายความอึดอัดในระหว่างการสัมมนา ว่า ดูเหมือนมุสลิมกำลังกลายเป็นจำเลยในเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาผ่านงานวิจัยสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า มีส่วนเกี่ยวพันกับความคิด ความเชื่อทางศาสนา แต่สังคมอาจจะไม่ได้มองว่า คนมุสลิมถูกกระทำผ่านนโยบายของรัฐบาลอย่างไร
เขายกตัวอย่างว่า อย่างกรณีที่รัฐบาลดำเนินนโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุน โดยนำเงินจากสลากกินแบ่งรัฐบาลมา แล้วจัดฉากให้มุสลิมคลุมฮิญาบมารับ หรือการนำเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่มาพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ทราบว่าเป็นความไม่เข้าใจของรัฐบาล หรือไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งไม่รู้กันแน่ เพราะทั้งหมดขัดกับความเชื่อทางศาสนาอิสลาม ใช่หรือไม่ว่า "บทเพลงแห่งตันหยงบุหงา" อาจไม่ได้ตอบคำถามถึงสาเหตุของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การเปิดช่องให้เกิดความคิดความเห็นที่หลากหลาย อาจจะช่วยไขปริศนาซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้
นี่อาจจะเป็น "ปริศนาบทเพลงแห่งตันหยงบุหงา" อีกมุมก็เป็นได้!