บทความ
ข้อคิดจากการกลับมาของนิตยสารช่อการะเกด...โดย พิเชฐ แสงทอง
ข้อคิดจากการกลับมาของนิตยสารช่อการะเกด...โดย พิเชฐ แสงทอง
« เมื่อ: วันนี้ เวลา 04:39:32 PM »
เวลานี้ดูเหมือนทุกอณูเนื้อขององค์อินทรีย์ทางวรรณกรรมจะเต้นตื่นกับการกลับมาครั้งใหม่ของช่อการะเกด เพราะพวกเราหวังว่า ช่อการะเกด จะสร้าง สิ่งดีๆ ให้กับวงการวรรณกรรมในสองระดับด้วยกัน ระดับที่หนึ่งคือ นักเขียนในฐานะปัจเจกชน จะ ผ่านเกิด ขึ้นมาเป็นที่จับตามองของสังคมได้มากขึ้น อีกระดับหนึ่งคือ ช่อการะเกด จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยวงการวรรณกรรมให้หลุดพ้นจากภาวะจิตเภทที่ (เราเข้าใจว่า) หลอกหลอนวงการวรรณกรรมมาอย่างน่าเป็นห่วง นั่นคืออาการจิตเภทที่เรียกกันว่า วิกฤติวรรณกรรม
ผมเองก็ดีใจที่ช่อการะเกดจะกลับมา และยิ่งมีความหวังในเชิงธุรกิจของนิตยสารหัวนี้มากขึ้นเมื่อกลับมาพร้อมกับลมใต้ปีกอันแรงจัดของสำนักพิมพ์พิมพ์บูรพา ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของทีวีบูรพา ผู้จัดรายการโทรทัศน์น้ำดีชื่อดังของเมืองไทย เพราะเชื่อว่าพิมพ์บูรพาจะทำให้หลุดพ้นจากภาระเรื่องผลประกอบการที่เคยฉุดให้ช่อการะเกดอำลามาแล้วทั้ง 2 ยุค
แต่ผมก็อยากให้เราได้ตั้งสติ และคิดกับ สิ่งดีๆ ทั้ง 2 ซึ่งเราหวังจากช่อการะเกดให้จริงจังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ต้องสร้าง ภาระทางใจ (อันหนักหน่วง) ให้กับสุชาติ สวัสดิ์ศรี และพิมพ์บูรพามากเกินไป
สิ่งดีๆ สิ่งที่หนึ่ง เราหวังว่านักเขียนในฐานะปัจเจก เมื่อถูกโฟกัสจากช่อการะเกดแล้ว จะกลายเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ เราอยากให้ช่อการะเกดเป็นโรงงานหรือแปลงเกษตรที่ส่งผลิตภัณฑ์ป้อนวงการวรรณกรรม ความหวังข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่าวงการเรารู้สึกว่า 8 ปีหลังจากช่อการะเกดฉบับที่ 41 ยุติไม่มี นักเขียนคุณภาพ หรือ นักเขียนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นมาประดับวงการเลย เป็น 8 ปีแห่งเหว่ว้าเดียวดายที่เรารู้สึกเหมือนชีวิตวรรณกรรมของเราแห้งเหี่ยวลงไปเรื่อยๆ
แต่มันเป็นเช่นนั้นหรือ? ผมคิดว่ามันตรงกันข้ามกันเลย 8 ปีที่ช่อการะเกดหายไป ยังมีนักเขียนคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นมาอย่างคับคั่ง จนผมเองซึ่งเริ่มสนใจอ่านและเขียนวรรณกรรมในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 รู้สึกเลยว่านักเขียนรุ่นทศวรรษที่ 2540 นั้นจะมากมายหลายหลากทั้งคุณภาพและปริมาณมากกว่าในรุ่น 2530 เสียอีก
บรรยากาศที่ไร้ช่อการะเกดนี่เองที่ผลิตนักเขียนเชิงเสียดสีได้อย่างถึงแก่นอย่างชาติวุฒิ บุณยรักษ์ ผลิตนักเขียนแนวหลังสมัยใหม่อย่างปราบดา หยุ่น อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนที่ใช้กลวิธีกระแสสำนึกได้อย่างโดดเด่นอย่างอุทิศ เหมะมูล นักเขียนที่มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เกลี้ยงเกลา รวบรัด กระชับ และง่ายอย่างภาณุ ตรัยเวช อุเทน พรมแดง นักเขียนที่มีความคิดคมคายอย่างนก ปักษนาวิน จรรยา อำนาจพันธุ์พงษ์ ปานศักดิ์ นาแสวง นักเขียนที่สะท้อนเหตุการณ์ความคิดด้วยการเล่าเรื่องที่ซื่อใสอย่างวิน วนาดร แขคำ ปั้นคำ แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า ธาร ธรรมโฆษณ์ ฉมังฉาย จรัญ ยั่งยืน นักเขียนที่ทดลองวิธีการนำเสนอที่ไม่เคยซ้ำผ่านมุมมองแบบมุสลิม (ซึ่งในสมัยช่อการะเกดแทบจะไม่มีเลย) เช่น อนุสิทธิ หวังเกษม ชุมพล ลาวัง และนักเขียนในกลุ่ม โรตีมะตะบะ ตลอดจนนักเขียนหญิงที่สะท้อนมุมมองเชิงเพศสภาพได้ดีเด่นอย่างอุรุดา โควินท์ การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ พิณประภา ขันธวุธ
นักเขียนรุ่นหลังช่อการะเกดยุคที่สองเหล่านี้มีตัวตนขึ้นมาในช่วงที่สื่อหนังสือพิมพ์เริ่มลดพื้นที่ให้กับวรรณกรรม แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสั้น และบทกวี ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย พร้อมๆ กับรางวัลวรรณกรรมที่เกิดขึ้นมากมาย
ตัวตนที่ชัดเจนแล้วในทุกวันนี้ของพวกเขายืนยันว่าวงการวรรณกรรมเองก็มีกลไกในการปรับตัวเพื่อตอบสนองกับพื้นที่ทางวรรณกรรมแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นถือว่าเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก วงการวรรณกรรมรู้จักใช้พื้นที่แบบนี้ทดแทนภาวะโหยหาการรวมกลุ่ม รู้จักใช้เพื่อการเผยแพร่และขัดเกลาคุณภาพ อันชวนให้รู้สึกว่าคนหนุ่ม (สาว) ที่เฝ้ามองคนหนุ่ม (สาว) ด้วยกันเองมีความหมายมากกว่าในแง่ของการรู้จักอารมณ์ร่วมของยุคมากพอที่จะทำให้พวกเขาสร้างงานอันเป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยของพวกเขาอย่างแท้จริงได้
สิ่งดีๆ สิ่งที่สอง คือเราหวังให้ ช่อการะเกด รักษาเราให้หายจากภาวะจิตเภทที่เรียกกันว่า วิกฤติวรรณกรรม ผมอยากเรียนว่าถ้าหากได้ย้อนไปดูนิตยสารโลกหนังสือในช่วงปี 2524 เป็นต้นมา สุ้มเสียงบ่นว่าด้วยวิกฤติตลาดวรรณกรรมนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และมันก็เป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงยุคถนนหนังสือ เพื่อนนักอ่าน ไรเตอร์ จุดประกายวรรณกรรม กระทั่งปัจจุบัน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันว่าช่อการะเกดอาจช่วยไม่ได้เท่านั้น แต่ยังบอกเราว่ามันต้องมีกลไกอื่นที่ไม่ใช่ อ้ายตัวร้าย ชื่อทุนนิยม บริโภคนิยม หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เราเข้าใจเป็นแน่
มันต้องมี อ้ายตัวร้าย อื่นที่บ่อนเซาะวรรณกรรมของเราอยู่ โดยเฉพาะอ้ายตัวร้ายที่เกาะกุมอยู่กับความคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมสร้างสรรค์ ความคิดเกี่ยวกับอำนาจวรรณกรรม หรืออื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น อ้ายตัวร้าย ในตัวของวรรณกรรมสร้างสรรค์เอง
ผมจะกลับมาแจกแจงให้ฟังวันหลังครับ
พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารคนมีสี รายปักษ์วิจารณ์