บทความ
"สุนทรภู่" ยอดกวีนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว
"สุนทรภู่" ยอดกวีนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 มิถุนายน 2550 18:04 น.
วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 หรือเมื่อ 221 ปีที่แล้ว "เด็กชายภู่" ได้ถือกำเนิดขึ้นในบ้านริมกำแพงวังหลัง ติดกับคลองบางกอกน้อย แม้ดวงชะตาของเด็กชายคนนี้จะมีผู้ทำนายว่าตกอยู่ใน "อาลักษณ์ขี้เมา' ก็ตาม แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา เด็กชายภู่ก็ได้กลายเป็น "พระสุนทรโวหาร" หรือ "สุนทรภู่" กวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์จากผลงานกวีนิพนธ์ชิ้นเยี่ยมมากมาย จนในยุคปัจจุบัน สุนทรภู่ยังได้รับยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลกอีกด้วย
แต่นอกจากการเป็นกวี เป็นนักกลอนอันเลื่องชื่อแล้ว สุนทรภู่ก็ยังได้รับการยกย่องในอีกหนึ่งตำแหน่ง นั่นก็คือการเป็น "นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว" ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย
สำหรับผู้ที่ยกย่องท่านสุนทรภู่เช่นนั้นก็คือ "ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ" นักเขียนสารคดีท่องเที่ยวระดับคลาสสิคของเมืองไทย อดีตบรรณาธิการอนุสาร อสท. ผู้ล่วงลับ ได้กล่าวถึงท่านสุนทรภู่ไว้ในหนังสือ"เที่ยวไปกับสุนทรภู่" ว่า
ที่อาจหาญมาเขียนเรื่องสุนทรภู่ก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันเป็นเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับหัวใจของผมแท้ๆ ผมรู้จักสุนทรภู่จากผลงานด้านนิราศของท่าน อ่านนิราศของท่านแล้ว ผมก็แทบจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ท่านเขียนไว้
ผมยกย่องสุนทรภู่ว่า ท่านเป็นนักท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิกของเมืองไทยโดยแท้ เพราะนิราศต่างๆ ที่ท่านเขียนไว้คือสารคดีท่องเที่ยวดีๆ นี่เอง แต่เป็นการเขียนแบบร้อยกรอง ผมอ่านผลงานนิราศของสุนทรภู่แล้วก็รักท่านแต่นั้นมา มันนานมาแล้ว...นานกว่า 30 ปี
แม้กระทั่งทุกวันนี้(ช่วงที่ปราโมทย์ยังมีชีวิตอยู่) ผมก็ยังรักยังชอบนิราศสุนทรภู่อยู่ไม่เสื่อมคลาย ผมเชื่อว่าท่านเป็นครูคนหนึ่งในการเขียนสารคดีท่องเที่ยว"
โดยหากใครเคยได้อ่านผลงานนิราศของสุนทรภู่ก็คงจะเคยเห็น และเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวและภาพต่างๆ ที่บรรยายไว้ในนิราศมาแล้ว เช่น ตอนหนึ่งจากนิราศเมืองแกลง นิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ ที่กล่าวบรรยายถึง "ห้วยโป่ง" หรือบ้านห้วยโป่ง ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองระยองไว้ว่า
"...ถึงห้วยโป่งเห็นธารละหานไหล
คงคาใสปลาว่ายคล้ายคล้ายเห็น
มีกรวดแก้วแพรวพรายรายกระเด็น
บ้างแลเห็นเป็นสีบุษราคัม..."
หรือจะเป็นนิราศเมืองเพชรตอนหนึ่งว่า
"...ข้างฝั่งซ้ายชายทะเลเป็นลมคลื่น
นภางค์พื้นเผือดแดงดังแสงเสน
แม่น้ำกว้างว้างเวิ้งเป็นเชิงเลน
ลำพูเอนอ่อนทอดยอดระย้า..."
ก็ล้วนแต่บรรยายสภาพบรรยากาศของแต่ละเมืองแต่ละแห่งที่สุนทรภู่ผ่านไปได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่อาจารย์"เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" ศิลปินแห่งชาติ และประธานกรรมการกองทุนสุนทรภู่ กล่าวถึงบรมครูกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในแง่ของการเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวว่า
"ถ้ากล่าวอย่างนั้นก็ถูกต้อง แต่ในรูปแบบการเขียนของท่านคือเขียนเป็นกลอน เป็นนิราศ เนื้อหานั้นก็แน่นอนว่าเท่ากับเป็นการเปิดโลกของการไปเห็นอะไรที่มันกว้างไปจากที่คนอื่นเขาเขียนกันอยู่ ไม่ใช่เฉพาะในจินตนาการเท่านั้น แต่ได้ไปเห็นสถานที่ต่างๆ จริงๆ"
อาจเป็นเพราะท่านสุนทรภู่ได้มีโอกาสได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง จึงมีโอกาสได้เห็นสิ่งต่างๆ มากกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่เหนือยิ่งกว่านั้น อาจารย์เนาวรัตน์กล่าวว่า
"คนอื่นก็อาจจะมีโอกาสไปท่องเที่ยวอย่างท่าน เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้เขียนออกมา แต่สุนทรภู่ท่านมีวรรณกรรมเป็นชีวิต เป็นทางเดินของท่าน ไม่ว่าไปไหนก็จะเขียนเป็นเรื่องราวออกมา มันก็เลยเป็นความสมบูรณ์ และตรงนี้ถือเป็นประโยชน์กับคนอื่นต่อมาด้วย" อาจารย์เนาวรัตน์กล่าว
แต่เนื่องจากการแต่งเรื่องราวของสุนทรภู่เป็นแบบนิราศ โคลง กลอน ไม่ได้เป็นร้อยแก้วเหมือนอย่างในสมัยนี้ ไม่แน่ว่าคนอ่านอาจจะไม่ได้อรรถรสในการอ่านหรือไม่ ในจุดนี้อาจารย์เนาวรัตน์มองว่า
"ร้อยกรองจะให้ภาพมากกว่าร้อยแก้ว เพราะถ้อยคำ สำนวนโวหารมันเปิดโลกของจินตนาการในใจคนมากกว่าร้อยแก้ว ความไพเราะ ความสละสลวยและโวหารในการใช้คำในกาพย์กลอนหรือกวีนิพนธ์นั้น คือการใช้คำที่จำกัดเพื่อมาถ่ายทอดจินตนาการอันไม่จำกัด นี่คือคุณวิเศษของร้อยกรองหรือบทกวี ซึ่งแม้กระทั่งปัจจุบัน กลอนของท่านก็ยังเดินทางอยู่ในใจคนได้"
นอกจากนั้น อาจารย์เนาวรัตน์ยังกล่าวอีกว่า คนอ่านกลอนของสุนทรภู่นั้น นอกจากจะได้สุนทรียรส หรือความไพเราะของถ้อยคำราวกับเสียงดนตรีของท่านแล้ว ผลงานของสุนทรภู่ก็ยังถือเป็นสื่อของการเรียนรู้ได้ดีทั้งในเรื่องของวิชาการ ประวัติศาสตร์ และทางวรรณกรรมได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ "เจนจบ ยิ่งสุมล" นักเขียนสารคดี ที่มีความสนใจในประวัติและผลงานของท่านสุนทรภู่มากว่า 20 ปี จนทำให้เกิดหนังสือสารคดีเรื่อง "ตามรอยสุนทรภู่" หนังสือซึ่งได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมสำหรับเยาวชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2536 ซึ่งมีความเห็นตรงกันกับการกล่าวเรียกสุนทรภู่ว่าเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว โดยเจนจบกล่าวว่า
"ความแตกต่างระหว่างการเขียนเรื่องราวออกมาเป็นร้อยกรอง หรือร้อยแก้วนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างกัน จะต่างก็แค่ในเรื่องความนิยมของคนอ่านแต่ละยุคสมัยเท่านั้นเอง สุนทรภู่ท่านพบอะไรมาท่านก็บรรยาย ทั้งสถานที่ ทั้งคน สัตว์ต่างๆ ท่านก็จะเอามาโยงกับความคิดของท่าน อกหัก ผิดหวัง ดีใจ เสียใจ แต่เรื่องความลึกซึ้งกินใจก็ต้องแล้วแต่คนอ่าน แต่สิ่งที่ได้จากการอ่านนั้นก็สามารถทำให้เห็นสภาพบรรยากาศของสถานที่ต่างๆ เมื่อเกือบ 200 ปี ก่อนที่สุนทรภู่เดินทางผ่านไป ซึ่งหลายสถานที่ก็ยังคงอยู่ตอนนี้ ก็เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ได้ด้วย"
เมื่อถามว่านิราศเรื่องไหนที่คิดว่าเป็นนิราศที่ดีที่สุดมีการบรรยายเห็นภาพที่สุด เจนจบกล่าวว่า "นักภาษาศาสตร์ นักวรรณคดีหลายๆ คนยกให้นิราศเมืองเพชรกับนิราศภูเขาทองเป็นนิราศที่ดีที่สุด โดยส่วนตัวก็คิดเช่นนั้น เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องได้ดี ใช้ภาษาสละสลวย และมีการเปรียบเทียบได้เห็นภาพพจน์" เจนจบ กล่าว
"เมื่อก่อนนี้ไม่มีอะไรให้อ่านมากนัก มีแต่พวกนิราศ โคลง กลอน คนที่ชื่นชอบอยากอ่านก็จะไปขอคัดลอกมาจากท่าน แล้วก็จ่ายสตางค์ให้ท่านไปเพื่อเอาหนังสือมาอ่านกัน มันก็ไม่ต่างจากการไปซื้อแมกกาซีนหรือหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ซื้อหนังสือ อสท. มาอ่านกันในปัจจุบัน" เจนจบ กล่าวปิดท้าย
************************************************
************************************************
พระสุนทรโวหาร หรือที่เรียกกันติดปากว่า "สุนทรภู่" มีนามเดิมว่า "ภู่" เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2329 ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่แถวคลองบางกอกน้อย ใกล้กับพระราชวังหลัง ฝั่งธนบุรี
สุนทรภู่ได้เล่าเรียนวิชาหนังสือในสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วัดศรีสุดาราม ในคลองบางกอกน้อย ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดี ตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม
บทกลอนของสุนทรภู่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองเพชร สุภาษิตสอนหญิง นิทานคำกลอน เช่น พระอภัยมณี โคบุตร และอีกมากมายหลายเรื่องด้วยกัน จนสุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นกวีดีเด่นของโลก ในวาระครอบรอบวันเกิด 200 ปีของท่านเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529