บทความ
THE BOOK OF LAUGHTER AND FORGETTING : Milan Kundera
THE BOOK OF LAUGHTER AND FORGETTING : Milan Kundera
read by SleepyO
" The struggle of man against power is the struggle of memory against forgetting."
มิลาน คุนเดราเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ในโลกวรรณกรรม แต่ความยิ่งใหญ่ของเขามีส่วนหนึ่งมาจากความทรงจำอันเจ็บปวดของประวัติศาสตร์ประเทศเชกโกสโลวาเกีย ซึ่งคือบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง ในเดือนสิงหาคม ปี 1968 เกิดเหตุการณ์ "ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปราก" คือ การเข้ารุกรานและยึดครองประเทศเชกฯโดยรถถังรัสเซีย เพื่อลิดรอนอิสรภาพและการเติบโตแพร่ขยายของพรรคคอมมิวนิสต์ของชาวเชกฯ หลังจากนั้นมีการแต่งตั้งประธานาธิบดี Gustav Husak ภายใต้อำนาจของรัสเซีย ซึ่งเขาถูกขนานนามว่า "The President of Forgetting" ความคิดเผด็จการของรัสเซียมีอยู่ว่าต้องกวาดล้างแนวความคิดใหม่ๆที่กำลังเติบโตขึ้นในหัวสมองของประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการหยุดคนรุ่นใหม่ รัสเซียจึงทำการลบ "ความทรงจำ" ของประชาชนด้วยวิธีการทุกรูปแบบ จนกรุงปรากกลายเป็นเมืองที่ไร้ความทรงจำ นักประวัติศาสตร์ นักวิจัย กว่า 145 คนที่มีชื่อเสียงต้องถูกแบนผลงาน หนังสือถูกนำไปเผาหรือโละออกจากหิ้งในห้องสมุดทั่วประเทศ เขาเหล่านั้นถูกขับออกจากงาน และไม่สามารถเผยแพร่วิชาความรู้ได้อีกต่อไป กลายเป็นคนที่ถูกลืมและไม่มีตัวตนในที่สาธารณะ แม้แต่บันทึก จดหมายของคนธรรมดาสามัญอื่นๆ ก็จะถูกนำมาเผาทั้งสิ้น คุนเดราก็เป็นหนึ่งในขบวนการทำ "ลืม" ของพวกรัสเซีย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาสูญสิ้นทั้งหมด ไม่สามารถเขียนหนังสือและได้รับการตีพิมพ์ในประเทศเชกฯได้ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเขียนในปี 1973 ชื่อ Life is elsewhere ต้องนำไปตีพิมพ์ในฝรั่งเศส จนท้ายที่สุด ปี 1975 คุนเดราเนรเทศตัวเองออกไปอยู่ในฝรั่งเศสพร้อมภรรยา เวร่า เขาไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และปี 1978 หนังสือ The Book of Laughter and Forgetting เล่มนี้ ทำให้เขาถูกขับออกจากการเป็นพลเมืองของประเทศเชกโกสโลวาเกีย ภายหลังจากที่เขาเริ่มโด่งดังในโลกวรรณกรรม เขาไม่อนุญาตให้ใครนำหนังสือของเขาไปพิมพ์เพื่อวางจำหน่ายในประเทศเชกฯ (เพิ่งมาอนุญาตเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และครบทุกเล่มในปี 1998) และเขาเริ่มหัดเขียนหนังสือในภาษาฝรั่งเศส จนปี 1986 Immortalityก็ปรากฎต้นฉบับภาษาแรกเป็นภาษาฝรั่งเศส เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ฝรั่งเศสคือบ้านของเขา เขาเป็นคนฝรั่งเศสทั้งกายและใจ...
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พอสมควร คุนเดราหยิบยกเรื่อง "ความทรงจำ" มาเป็นประเด็นหลักของหนังสือ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตอนเรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับยุโรปตะวันออก มันเป็นหนังสือประกอบการเรียนในหัวข้อ (ถ้าจำไม่ผิดคล้ายๆว่า) "History as a social memory" ซึ่งเป็นการอ่านที่สนุกมาก เพราะตัวหนังสือเองมีเทคนิคในการเล่าที่แสดงอัจฉริยะภาพของนักเขียนเต็มที่ ทั้งกึ่งประวัติศาสตร์ กึ่งชีวประวัติของนักเขียน เป็นกระทั่งท่อนดนตรีคลาสสิค บทวิจารณ์สังคม การเมือง วิจารณ์งานเขียน หรือเรื่องความรัก และสัมพันธภาพทางเพศ แต่ท้ายที่สุดทั้งหมดคือ"ชีวิต"ที่อยู่ภายใต้สังคมที่ถูกปิดไปแล้ว เนื้อหาของหนังสือถูกแบ่งออกเป็นเจ็ดบท แต่ละบทใช้ตัวละครแตกต่างกัน โดยมีธีมของหนังสือเท่านั้นที่เป็นตัวยึดเนื้อหาทั้งหมดเข้าด้วยกัน แต่ละเรื่องจึงเป็นภาพสะท้อนของกันและกันเหมือนกระจก อย่างเช่นเรื่องแรก เขากล่าวถึงชายคนหนึ่งที่ชื่อ มิเรค กำลังจะไปหาภรรยาเก่าซีดีน่า เพื่อขอจดหมายรักคืน ซีดีน่าเป็นผู้หญิงที่ถือว่าหน้าตาน่าเกลียด แต่มิเรคอยู่ด้วยเพราะสถานการณ์ทางการเมือง เพราะซีดีน่ามีอิทธิพลทางสังคมในหมู่พวกรัสเซีย แต่หลังจากนั้นมิเรครู้สึกอาย พยายามจะกำจัดความทรงจำด้วยการลบซีดีน่าออก ด้วยการไปมีชู้ และในที่สุดเขาก็เลิกกับเธอด้วยเหตุผลทัศนะทางการเมืองและเรื่องส่วนตัวที่ต่างกัน และถึงแม้จะเลิกมานานแล้ว เขาก็ยังลืมไม่ลง เขาจึงคิดว่า การไปขอจดหมายรักคืน จะเป็นการลบสิ่งที่อยู่ในใจได้ เขามีจุดประสงค์ต้องการจะนำไปทิ้ง แต่พอซีดีถามว่าจะเอาไปทำไม มิเรคกลับตอบว่าจะเอาไปรำลึกว่า ความทรงจำที่เคยมีในช่วงไหนเป็นยังไง จะได้รื้อฟื้นสิ่งที่ตนเคยเป็น ซีดีน่าเหมือนรู้ทันปฎิเสธทั้งหมด เธอกล่าวเหน็บแนมว่า จดหมายนั้นไม่น่าเชื่อว่ามิเรคจะเขียนขึ้นได้ เธอจะเก็บไว้ ยังไงเธอก็ไม่ให้.. คุนเดรามีวิธีการเล่าที่มีเสน่ห์เหมือนเทพนิยายและชวนเพลิดเพลินที่สุด เขาจะตัดสลับกันไปมา ทั้งแนวความคิดปรัชญา ตัวละคร เนื้อหา ส่วนสำคัญอื่นๆ และตัวเขาเอง ซึ่งเขาทำได้อย่างแนบเนียนและเป็นการเปรียบเทียบสอดแทรกเรื่องราวต่างๆอย่างมีชั้นเชิง อย่างตอนที่เขาเขียนว่า ผู้ชายหน้าตาดีแบบมิเรคจะหลงรักซีดีน่าได้หรือ? แล้วตัดกลับไปถึงวิธีทางการเมือง
...So I repeat is it possible? Yes, and why not? Can't a weak man feel true love for an ugly woman? .... The reason he wanted to remove her picture from the album of his life is not because he hadn't love her, but that he had. By erasing her from his mind, he erased his love for her. He airbrushed her out of picture in the same way the Party propaganda section airbrushed Clementis from the balcony where Gottwald gave his historic speech.
คุนเดราสรุปด้วยประโยคที่ว่า เพราะคนเรามักจะต้องการพยายามสร้างอนาคตที่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงแต่ประการใด เรื่องของอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่น่าแยแสและไม่น่าสนใจ อดีตตั้งหากเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทำให้ผู้คนโกรธเคือง ดีใจ อยากจะทำลาย หรือต้องการจะระบายสีใหม่ มีเหตุผลเดียวที่คนเราอยากจะเป้นเจ้านายของ"อนาคต" นั้นคือ ต้องการเปลี่ยน "อดีต" ประวัติศาสตร์จึงต้องถูกเขียนใหม่อยู่ร่ำไป
ส่วนบทอื่นๆก็เป็นความแปรผันที่แตกต่างกันของธีมเดียวของหนังสือทั้งเล่ม คุนเดรามาเฉลยวิธีเขียนในบทที่หก ซึ่งเป็นเรื่องของทามิน่า (ทามิน่าเป็นตัวละครเรื่องเดียวที่ถูกเขียนซ้ำจากบทที่สี่) ผู้หญิงที่ตรงข้ามกับมิเรค คือไม่อยาก"ลืม" อดีต ไม่อยากลืมสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะเชื่อว่าตัวเธอเป็นสิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ในโลกของสามีที่ตายไปแล้ว เธอทำงานอยู่ในร้านเหล้าพยายามจะหาคนกลับไปกรุงปราก เพื่อเอาบันทึกที่ตนเคยเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่อยู่กับสามี คุนเดราบอกว่าเขาเข้าใจสิ่งที่ทามิน่ารู้สึก(ในหนังสือ เขาเรียกตัวเองด้วยชื่อคุนเดราเช่นกัน) แล้วเขาก็แทรกรูปแบบการประพันธ์ของดนตรีคลาสสิคขึ้นมาประกอบ เขาอธิบายคำว่า variations ไปจนถึงเสียงดนตรีสิบหกห้องของบีโธเฟ่น จนมาสรุปที่ว่า
The entire book is a novel in the form of variations. The individual parts follow each other like individual stretches of a journey leading toward a theme, a thought, a single situation, the sense of which fades into the distance. It is a novel about Tamina, and whenever Tamina is absent, It is a novel for Tamina. She is its main character and main audience, and other stories are variation on her story and come together in her life as in a mirror. It is a novel about laughter and forgetting, about forgetting and Prague.
มีประเด็นอื่นๆอีกมากที่ถูกนำมาพูดถึงในหนังสือ ทั้งเรื่องหัวเราะร้องไห้ สัญลักษณ์ของปีศาจกับเทวดานางฟ้า การเปรียบเทียบการล้อมวงเพื่อเต้นรำเป็นวงกลม(circle) กับการแตกแถวในลักษณะเรียงเดี่ยว row คนแก่กับคนหนุ่ม ผมชอบเรื่องที่สอง Mother เรื่องมุมมองของแม่กับลูกมาก เมื่อในสายตาของแม่ เห็นลูกแพร์มีความสำคัญกว่ารถถังรัสเซียของลูก การเปรียบเทียบเรื่องการรับรู้ของคน และบทที่สนุกมากอีกบท คือบทที่ห้า Litost ซึ่งมีการปลุกชีวิตกวีขึ้นมาสนทนากันเป็นตัวเป็นตน ทั้ง Goethe, Petrarch, Boccaccio, Lermontov, และ Verlaine เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องกวีและผู้หญิง สุดท้ายสิ่งที่ขาดไม่ได้ในนิยายของคุนเดราคือเซ็กส์ ทุกเรื่องในนี้จะต้องมีเรื่องเกี่ยวกับเพศ มีการนึกถึง จินตนาการ ไปจนถึงฉากอีโรติคจริง โดยความเห็นส่วนตัวของผม เซ็กส์ของคุนเดรา เป็นเหมือนการแสดงภาพชีวิต คล้ายกับเป็นความจริงที่เป็นภาพข่าวซะมากกว่าที่จะเป็นธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ใจ ผู้หญิงทุกคนจะผูกพันด้วยความรัก แต่ถ้ามีเซ็กส์ก็จะอยู่ในรูปแบบที่ไร้จิตใจ ไร้หน้า ประหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สำคัญอะไรก็ได้ ผู้หญิงจะถูกยกไว้เหนือกว่าผู้ชายในความคิดด้านนี้ เพราะควบคุมได้มากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายเซ็กส์เป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เป็นธรรมชาติที่ถูกสร้างมาพร้อมกับเพศเท่านั้น แต่การจบบทด้วยเรื่องเพศในทุกๆเรื่อง ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับว่า คุนเดรากำลังจะสรุปสาระในชีวิตของตัวละครเหล่านั้น โดยผ่าน physical love วิธีการแสดงออกของแต่ละคนเป็นเหมือนภาพสะท้อนของชีวิตที่เล่ามาทั้งบท แต่ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการพูดถึงเรื่องเพศ อ่านแล้วกลับรู้สึกหดหู่ เศร้า จนไปถึงตลกไร้ยางอายมากกว่า คุนเดราเป็นนักเขียนหัวใจหนัก ภาพที่เขาบรรยายสวยและงดงาม แต่ต้องหนักในวิธีคิดเสมอ และมีวิธีคิดให้เลือกในหลายๆรูปแบบ โดยไม่ได้บังคับให้นักอ่านต้องเชื่อแต่ประการใด เขียนขึ้นในลักษณะให้คิดตามแล้วเถียงกลับมากกว่า มีคนเคยไปสัมภาษณ์คุนเดราว่าเขาชอบหนังสือเล่มไหนที่เขาเขียนมากที่สุด เขาตอบว่า Laughable Loves เพราะเขาเขียนในช่วงที่มีความสุขที่สุดในชีวิต หนังสือเล่มนั้นถูกเขียนโดยเสร็จก่อนสามวันก่อนเหตุการณ์ "ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปราก" ส่วนหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าเป็นเล่มที่แสดงถึงความเป็นคุนเดราริซึ่มได้อย่างชัดเจนที่สุด งานของเขาเหมือนคีตนิพนธ์ในดนตรีคลาสสิค สมควรอ่านอย่างยิ่งเพื่อการศีกษาของนักอ่าน และโดยเฉพาะถ้าอยากรู้ว่าทำไมหนังสือเพียงเล่มเดียว สามารถขับคนคนหนึ่งออกจากความเป็นประชากรของประเทศได้...
หมายเหตุการอ่าน: มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษอยู่สองฉบับจากสำนักพิมพ์เดียวกัน ฉบับแรก แปลโดย Michael Henry Heim เมื่อปี 1994 โดย HarperCollins (ผมได้อ่านฉบับนี้) แต่มีฉบับแปลใหม่โดย Aaron Archer ซึ่งตัวมิลาน คุนเดราให้การรับรอง กำกับ และควบคุมอยู่ทุกบรรทัด เป็นฉบับที่เขาบอกว่าใกล้เคียงกับภาษาและโทนเสียงในเรื่องของเขามากที่สุด ซึ่งเป็นของ Perennial classic แผนกหนึ่งของ HarperCollins เช่นกัน ส่วนหนังสือเล่มใหม่ของคุนเดรา พิมพ์ออกมาเล่มล่าสุดในภาษาสเปน ในปี 2000 มีชื่อว่า La Ignorancia คงใช้เวลาสักพักกว่าจะตีพิมพ์ออกมาในภาษาอื่นๆ
เกี่ยวกับผู้เขียน Milan Kundera เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1929 ในเมืองโบฮีเมีย ประเทศเชกโกสโลวาเกียเดิม (ปัจจุบันเป็นประเทศสาธารณรัฐเชก) บิดาของเขาลุกวิค คุนเดรา เป็นนักดนตรีศาสตร์ มิลานทำงานครั้งแรกเป็นนักดนตรีแจ็ส ก่อนจะเข้าเรียนในศาสตร์ดนตรี วรรณคดีและภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยชารล์ ปราก หลังจากนั้นเขาเป็นผู้ช่วย และเลื่อนเป็นศาสตราจารย์ด้าน film ที่ Prague Academy of performing arts จนตอนหลังสอน Advanced Cinematographic Studies มีลูกศิษย์คนสนิทที่มีชื่อเสียงคือ Milos Forman (ผู้กำกับจากเรื่อง The People vs. Larry Flynt, Amadeus และเรื่อง One Flew Over the Cuckoo's Nest) คุนเดราเริ่มเขียนกลอน บทวิจารณ์ บทละคร อย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในกองบรรณาธิการของหนังสือนิตยสาร Literarni noviny กับ Listy" เขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1948 ปี 1950 ก็ออกมาจากพรรค และกลับไปเข้าร่วมอีกครั้งในปี 1953-1970 เขาเขียนหนังสือชุดแรกคือ Laughable Loves ซึ่งเป็นการเขียนที่ยาวนาน แต่หนังสือเล่มแรกคือ The Jokes ในปี 1967 หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ "ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปราก" ปัจจุบันอายุ 72 ปี อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสกับภรรยา Vera Hrabankova และกลายเป็นประชากรโดยถูกกฎหมายของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1981
The Book of Laughter and Forgetting: Milan Kundera (Translated by Michael Henry Heim)
ISBN 0-06-099701-X 1994, HarperCollins $12.00, 228 pages
Listost is a Czech word with no exact translation into any other language. It designates a feeling as infinite as an open accordion, a feeling that is synthesis of many others: grief, sympathy, remorse, and an indefinable longing. The first syllable which is long and stressed, sounds like the wail of an abandoned dog.
Litost ..is a state of torment caused by a sudden insight into one's own miserable self. One of standard remedies for personal misery is love. The recipient of an absolute love cannot be miserable. All his fault are redeemed by love's magic eyes. p.122
The Book of Laughter and Forgetting . Milan Kundera
Copyright © 2001 faylicity.com