บทความ

ปราโมทยา อนันตา ตูร์ พลังหมึกแห่งอุษาคเนย์

by Pookun @June,30 2007 23.18 ( IP : 58...192 ) | Tags : บทความ

ปราโมทยา อนันตา ตูร์ พลังหมึกแห่งอุษาคเนย์

สัจภูมิ ละออ -รายงาน

ผลงานนักเขียนชื่อก้องโลก ปราโมทยา อนันตา ตูร์ ได้รับถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ กว่า 20 ภาษา ผลงานอันทรงคุณค่า เปี่ยมพลังสร้างสรรค์นั้น ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลหลายปีซ้อน แม้จะพลาดรางวัล แต่นั่นไม่ใช่ว่าเป้าหมายในการเขียนของเขาจะพลาดไป ตรงกันข้าม ผลงานของเขากลับยิ่งรุก ยิ่งเร้า และเรียกร้องให้ชาวโลกได้รับรู้เรื่องราวในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล และหลากหลายวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย

เสียงที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ ถ่ายทอดมาเป็นนวนิยายหลายเรื่อง เฉพาะที่ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้วมีอยู่ 2 เรื่องคือ แผ่นดินของชีวิต ซึ่งแปลมาจาก This earth of mankind และ ผู้สืบทอด ซึ่งแปลมาจาก Child of all nation ผลงานอันเปี่ยมพลังสองเล่มนี้ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ จัดพิมพ์ออกมาเรียบร้อยแล้ว เป็นหนังสือเล่มหนา เนื้อหาแน่น เหมาะงามอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ต้องการเห็นภาพสังคม ชีวิต และจิตวิญญาณของชาวอินโดนีเซีย

หากใครอยากอ่านฉบับภาษาอังกฤษ ผลงานของ Pramoedya Ananta Toer ก็มีแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Max Lane มีทั้งเรื่อง This Earth of Mankind; Child of All Nations; Footsteps; และ House of Glass สนพ. Penguin Books จัดพิมพ์ขายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 แล้ว

ผลงาน 4 เล่มนี้ มีชื่อเรียกขานกันว่า จตุรภาค บนเกาะบูรู เพราะสร้างสรรค์ระหว่างที่ถูกขังคุกบนเกาะบูรู หากจะเปรียบกับบ้านเรา อาจเป็นเกาะตะรุเตา ที่เคยขัง ส.เศรษฐบุตร ผู้ลำดับคำภาษาอังกฤษ หรือ "ดิกชินนารี" ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้นั่นเอง

ผลงานของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ ชุด "จตุรภาค" โครงการจัดพิมพ์คบไฟ จะพิมพ์ภาคภาษาไทยออกมาทั้ง 4 เล่ม ในส่วนที่พิมพ์ออกมา 2 เล่มนั้น ทางสำนักพิมพ์ได้จุดประกายให้เห็นเนื้องานของปราโมทยา อนันตา ตูร์ ที่คณะศิลปศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นวงพูดจาประสาคนสนใจวรรณกรรม โดยเชื้อเชิญ อาจารย์วิทยา สุจริตธนารักษ์ อดีต ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวของอินโดนีเซีย มาฉายภาพสังคมอินโดนีเซีย สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการชื่อดัง นักคิด นักเขียน ผู้สันทัดทางวรรณกรรม มาบอกกล่าวเล่าขานด้านวรรณกรรม และขาดไม่ได้ก็คือ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาษาไทย มาแสดงทรรศนะ

เมื่อประวัติศาสตร์ สังคมอินโดฯ เกี่ยวข้องกับผลงานปราโมทยา อนันตา ตูร์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจารย์วิทยาจึงฉายภาพกว้างๆ ให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เขียน

สภาพสังคมอินโดนีเซียย่อมเกี่ยวข้องอยู่กับอุดมการณ์ แนวความคิด สังคมของอินโดฯ นั้นเปลี่ยนมาตั้งแต่ช่วงอาณานิคมเป็นต้นมา เรื่อยมาจนถึงสมัยกู้เอกราช แล้วก็พัฒนาประเทศ ทุกขั้นตอนมีอุดมการณ์เป็นส่วนกำกับแนวความคิดของผู้นำและปัญญาชน อันเป็นพลังหลักของสังคม

ในสายอุดมการณ์มีอิสลาม มีสังคมนิยม และมีทุนนิยมข้ามชาติ

ประเด็นนี้ เรื่องชาตินิยมสำคัญที่สุด ตามมาด้วยอิสลาม และสังคมนิยม เฉพาะในส่วนของชาตินิยม อุดมการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นมาสังคมอินโดฯค่อนข้างสูง ความเป็นชาตินิยมของอินโดฯจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่ไปเจอเข้ากับการปกครองของเนเธอร์แลนด์เป็นเวลานาน

ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 มาจนถึงปี 1950

การปกครองของอาณานิคมดัตช์ การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง การตักตวงผลประโยชน์จากอินโดนีเซียไปใช้ในเนเธอร์แลนด์นั้นมหาศาลนัก นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับบอกว่า เนเธอร์แลนด์จะพัฒนาไม่ได้มากมายนัก ถ้าไม่ได้อินโดนีเซียเป็นเมืองขึ้น คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะว่า ความเจริญทั้งหลายทั้งปวงได้ผลประโยชน์ไปจากอินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นในช่วงตั้งแต่ 1920 เป็นต้นมา อินโดนีเซียจึงเกิดการต่อต้านอาณานิคมขึ้นมา เป็นการต่อต้านคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนตะวันตก ต่อต้านลัทธิอาณานิคม ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบหลัก อันเป็นปฏิกิริยาต่อการปกครองของเนเธอร์แลนด์

ในงานของปราโมทยา อาจารย์วิทยาชี้ว่า บางเรื่องสะท้อนให้เห็นภาพคนดัตช์เข้าไปอยู่ในอินโดนีเซีย เป็นผู้ปกครองอินโดนีเซีย แต่ขณะเดียวกันก็เอาวัฒนธรรมของคนชวามาใช้ เพื่อปรุงแต่งฐานะของตนเองให้ดูหรูหรา แบบที่คนชวาเข้าใจ แต่เพราะความไม่เข้าใจจึงดูกลายเป็นเรื่องตลกไป

อย่างกรณีคนดัตช์จะไปไหน ก็มีคนกางร่ม หรือ ฉัตรให้ กลายเป็นภาพที่ทุเรศ ตลกขบขันของชาวอินโดนีเซีย

"ความรู้สึกคับแค้นใจจะออกมาในงานเป็นอย่างสูง ผมว่าคนอินโดฯคับแค้นใจมาก เพราะทั้งหลายทั้งปวงอยู่ภายใต้การควบคุมของเนเธอร์แลนด์เต็มที่ การศึกษาเกือบจะไม่มีเลย มาเริ่มให้การศึกษาเป็นทางการ หลังปี 1910 เป็นต้นมาแล้วทั้งสิ้น เริ่มก็ให้เรียนเฉพาะผู้ดี ลูกคนที่เป็นเจ้าคนนายคนเก่า เป็นโรงเรียนของผู้ปกครอง คนธรรมดาไม่ค่อยได้เรียน จนกระทั่ง 20-30 ปีต่อมา ถึงจะเปิดโรงเรียนซึ่งสอนเป็นภาษาท้องถิ่น ไม่ยอมสอนภาษาเดียวกัน...

จนในอีกหลายปีต่อมา ถึงจะเปิดเรียนภาษาให้คนทั้งประเทศพูดกันได้ นานมากกว่าจะมาเปิดมัธยมได้ ไม่ต้องพูดถึงมหาวิทยาลัย แล้วถึงจะมาเปิดโรงเรียนหมอชวา บุคคลที่จบจากโรงเรียนเหล่านี้เอง ที่เป็นปัญญาชน ออกมาต่อต้านผู้ปกครอง"

การต่อต้านผู้ปกครองในอินโดฯ ในช่วงนั้น ทำกันทุกกลุ่มคนในสังคม เพราะความเดือดร้อนต่างๆ เป็นความเดือดร้อนร่วมกัน ยกเว้นผู้ได้ประโยชน์ พวกเจ้านายทั้งหลายที่รับใช้ดัตช์อยู่เท่านั้น

ชาวอินโดฯจึงแบ่งออกมาเป็นสองพวก พวกหนึ่งรับใช้เจ้าอาณานิคม พวกหนึ่งต่อสู้เรียกร้อง เป็นเหตุให้ต้องรบกันเอง

การต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย ในช่วงปี 1945-1950 นั้น นับว่าสำคัญมาก เป็นยุคบ้านแตกสาแหรกขาด ชาวชวาเหนือต้องเดินทางไปชวาใต้ ต้องอยู่ในป่า ในดง เดือดร้อนโดยทั่วกัน เป็นประสบการณ์เดือดร้อนร่วมกัน เพราะเหตุนี้เอง คนจึงรู้สึกร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดหนังสือมากมายเกี่ยวกับประสบการณ์ช่วงนี้

และคนที่อยู่ในช่วงนี้เรียกว่า เจเนอเรชั่น "45"

หลังจากนั้น อดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน ก็เข้ามามีอำนาจทางการเมือง ช่วงแรกๆ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างท่วมท้น แต่ในที่สุดเพราะความมั่นใจในตนเองสูงเกินไป ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในอินโดฯ ทำให้ท่านต้องเริ่มใช้วิธีเผด็จการ จึงเกิดผลกระทบกับนักศึกษา ปัญญาชน ทำให้นักศึกษา ประชาชนสนับสนุนซูฮาร์โตขึ้นมา

แต่ ซูฮาร์โต ภายหลังก็ออกลายมาอีก ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ซูฮาร์โตเป็นเหมือนจักรพรรดิ เพราะอาศัยกองทัพเป็นฐานอำนาจ วิธีการที่ซูฮาร์โตนำมาใช้แล้วกระทบต่อสังคมอินโดฯ ก็คือ การกวาดล้างผู้นิยมคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่การปราบคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เรื่องง่าย

การปราบยากมาก เพราะคอมมิวนิสต์ คนยากคนจนเป็นสมาชิก คนตายกันเป็นเบือ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับปัญญาชน

ประเด็นที่สองเรื่องนักโทษการเมือง มีการจับไปส่งเกาะ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ โดนส่งไปด้วย ไปอยู่เป็น 10 ปี การเอาคนขังคุก พอพ้นโทษออกมาแล้วมีปัญหามาก เพราะเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว บางคนก็ไม่ได้บัตรประจำตัวประชาชน บางคนได้แต่ก็ถูกสลักหลังว่าเคยต้องโทษเป็นคอมมิวนิสต์ ใครจะไปกล้ารับอดีตคอมมิวนิสต์เข้าทำงาน พวกนี้จึงไม่มีงานทำ และถ้าเป็นคนจีนต้องรายงานกับทางการทุกปี บางปีต้องรายงานถึง 2 หน

ประการที่ 3 การใช้กองทัพเป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชน เช่น ยิงทิ้งเฉยๆ บอกว่าเป็นอาชญากร มีหน่วยสังหารพวกนี้โดยเฉพาะ คนจึงไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน

และประเด็นสุดท้าย สิ่งที่ผู้นำอินโดนีเซียกลัวมากก็คือ อิสลาม เพราะอิสลามเป็นศาสนาหรืออุดมการณ์กันแน่ ถ้าเป็นศาสนาเฉยๆ ไม่มีปัญหา ถ้าอิสลามเป็นอุดมการณ์ นั่นหมายความว่า หลักการของอิสลามจะต้องเป็นหลักการที่รัฐต้องนำไปใช้ในการปกครองประเทศ เพราะศาสนาอิสลามทุกอย่างขึ้นอยู่กับคำสอนในอัล-กุรอานหมดแล้ว

นั่นหมายความว่ารัฐต้องเป็นรัฐอิสลาม

เพราะฉะนั้น การกดอิสลามไว้ จึงไปกระทบกับอิสลามซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศ มีทั้งปัญญาชน นักเขียน และศิลปิน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เอง เมื่อมาประมวลเข้าด้วยกัน ก็กลายเป็นเบ้าหลอมขนาดใหญ่ ให้เกิดเป็นชาตินิยม ในสังคมของชาวอินโดนีเซียในวงกว้าง

เห็นภาพสังคมอินโดนีเซียแล้วว่าประชาชนถูกบีบคั้นอย่างไร สุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้สันทัดวรรณกรรม รับหน้าที่มองวรรณกรรมของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์

การติดตามอ่านงานของปราโมทยา อนันตา ตูร์ ของสุชาติ เริ่มจากเมื่อทราบจากองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่าเป็นนักเขียนต้องห้าม ต่อมาก็ทราบจากหนังสือต่างๆ และจากงานที่ปราโมทยาเขียน โดยเฉพาะใน 4 เล่มที่ภัควดีแปล นั้นเป็นงานที่มีชื่อเสียงมาก

ทั้ง 4 เล่ม สุชาติถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ดัตช์เข้ามาปกครองอินโดนีเซีย หนังสือบอกว่าชาวอินโดนีเซียต้องชะตากรรมอย่างไรบ้าง ในส่วนของปราโมทยานั้น ท่านมีนวนิยายกว่า 20 เรื่อง มีทั้งเรื่องสั้น ความเรียง และบทความ แต่งานชุดที่มีชื่อเสียง เขียนขึ้นเมื่อไปติดคุกอยู่ที่เกาะบูรู ที่นั่นแม้จะถูกห้ามทุกอย่าง จะเอาออกมาไม่ได้ ต้องบอกเล่าต่อๆ กัน และมีการแอบคัดลอกออกมา

หลังจากที่ปราโมทยาออกจากคุก ผลงานของเขาขายดีมาก จนกระทั่ง ซูฮาร์โต กลัว จึงจับเขากับผู้จัดพิมพ์ไปไต่สวน นับเป็นชะตากรรมที่เลวร้ายสำหรับนักเขียน

หากจะมองผลงานชิ้นประวัติศาสตร์ของปราโมทยา แล้วมาเทียบกับของไทยแล้ว คล้ายๆ กับ สี่แผ่นดิน ของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช งานของเขามีเนื้อหา สีสันสะท้อนภาพสังคมหลากหลายแง่มุมด้วยกัน

เมื่อเข้าไปที่ตัวตนของคนเขียน "ตอนนี้เขาอายุ 76 ปี นับว่าเป็นคนร่วมสมัยกับ เสนีย์ เสาวพงษ์ ลาว คำหอม อังคาร กัลยาณพงศ์ แต่ผลงานของเขามีพลังมาก เพราะเขาผ่านช่วงการปะทะกันที่รุนแรง มีคนตายนับล้านคน"

หากจะมองในแง่บทบาทแล้ว สุชาติบอกว่า "ปราโมทยามีบทบาท ชาตินิยม เป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย เขาเคยสังกัด "เวกา" ซึ่งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรม ได้รับรางวัลแมกไซไซ ถึงกระนั้นก็มีนักเขียนกลุ่มหนึ่งต่อต้าน แต่บทบาทที่สำคัญของเขาก็คือ เป็นนักเขียนที่ทำงานศิลปะ เขาเป็นตัวเก็งรางวัลโนเบล แต่ก็แปลกที่ไม่ได้รับเสนอชื่อเข้ารับรางวัลซีไรต์เลย"

ลึกเข้าไปในตัวตนของปราโมทยา ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้แปลพูดถึงความประทับใจ จนถึงขนาดหยิบนวนิยายทั้ง 4 เล่มมาแปล เธอเริ่มมองตัวตนของผู้เขียนก่อน

"มีปัญหาอยู่ว่า เขาเป็นซ้ายแบบไหนกันแน่ แม้เขาจะทำงานให้กับองค์กรคอมมิวนิสต์ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นสมาชิก สิ่งที่แสดงจุดยืนของเขา น่าจะเห็นได้จากที่เขาเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่ง วิพากษ์นักเขียนอย่างรุนแรงว่า ถ้าไม่เขียนงานเพื่อรับใช้สังคม ก็ควรถูกกวาดทิ้งไป บทความนี้สร้างความไม่พอใจให้กับนักเขียนจำนวนหนึ่ง

ถ้าจะถามว่าเขาคิดอะไร คงเห็นได้จากการเข้าคุก เขาเข้าคุก 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งเพราะเขียนบทความเห็นใจคนจีน ที่รัฐบาลจับเอาคนจีนมาเป็นแพะ และเพราะความเป็นตัวตนของเขาเอง ผลงานของปราโมทยาจึงไม่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอินโดนีเซีย"

สำหรับความประทับใจในผลงานปราโมทยา ภัควดีบอกว่า ประทับใจวิธีการเล่าแบบตะวันออก มุมมองของเขานั้น ไม่ได้เข้าด้านใดด้านหนึ่ง หากสะท้อนภาพรวมของสังคมที่เป็นอยู่ออกมาได้อย่างหมดจด เกี่ยวกับอาณานิคม เขาก็ไม่ได้ฟันธงลงไปว่า อาณานิคมร้ายกาจ แต่บอกว่า "ลัทธิอาณานิยมมีอยู่ในโลก ถ้าวันนี้คุณไม่เอาอาณานิคม พรุ่งนี้ทุนนิยมก็จะเข้ามา และถ้าไม่เอาอาณานิยม การกดขี่ในชวาก็มีเหมือนกัน แล้วคุณจะทำอย่างไร เมื่อสังคมมีสิ่งเหล่านี้อยู่"

สรุปง่ายๆ ก็คือ ประทับใจวิธีการเล่า และมุมมองของผู้เขียน

ส่วนการแปลนั้น เธอบอกว่า ได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ให้ลองอ่านผลงานของปราโมทยา อนันตา ตูร์ เมื่ออ่านแล้วก็ชอบ เพราะได้เข้าใจสังคมอินโดนีเซีย

พลังผลงานของปราโมทยานั้น สาดประกายไปทั้งเอเชีย เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ใครได้อ่านนอกจากเข้าใจภาพชีวิต สังคมแล้ว ยังเข้าใจจิตวิญญาณของชาวอินโดนีเซียอีกด้วย เราในฐานะคนเอเชียด้วยกัน ก็น่าจะเรียนรู้ใจกันมิใช่หรือ.
จากจุดประกายวรรณกรรม

แสดงความคิดเห็น

« 3291
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ