บทความ

คำประกาศอิสรภาพของนักเขียนและศิลปินอินโดนีเซีย

by Pookun @June,30 2007 23.21 ( IP : 58...192 ) | Tags : บทความ

คำประกาศอิสรภาพของนักเขียนและศิลปินอินโดนีเซีย แถลงการณ์วัฒนธรรม:
วรรณกรรมและการเมืองในอินโดนีเซียทศวรรษ ๑๙๖๐
คุณะวรรณ โมฮะหมัด ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม : แปล The "Cultural Manifesto" Affair:
Literature and Politics in Indonesia in the 1960s A Signatory's View
(Working Paper No. 45, The Centre of Southeast Asian Studies, Monash University : 198) Goenawan Mohamad

หมายเหตุ : วรรณกรรมชิ้นนี้เคยเผยแพร่แล้วบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
และมีสมาชิกบางท่านเสนอให้นำมาเผยแพร่บนหน้าเว็บเพจ เพื่อความสะดวกในการอ่านและทำสำเนา ทางกองบรรณาธิการจึงใคร่ขออนุญาตผู้แปลนำงานวรรณกรรมนี้เผยแพร่ต่อสาธารณชนมา ณ ที่นี้ midnightuniv@yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 979 เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ (บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)

แถลงการณ์วัฒนธรรม: วรรณกรรมและการเมืองในอินโดนีเซียทศวรรษ ๑๙๖๐ ทัศนะของผู้ลงนาม โดย คุณะวรรณ โมฮะหมัด / ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม : แปล


คำนำ คุณวรรณ โมฮะหมัด บรรณาธิการของนิตยสารรายสัปดาห์ทรงอิทธิพล เท็มโป (TEMPO) ได้มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโมนาชในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมีนาคม ค.ศ. 1988 ในฐานะที่เป็นคนแรกที่รับทุนวิจัยซึ่งให้การเอื้อเฟื้ออย่างดี ที่จัดการบริหารโดยศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาโดยนักธุรกิจชาวออสเตรเลีย และนักอินโดนีเซียศึกษา George Hicks ได้มอบให้กับมหาวิทยาลัยใน ค.ศ. 1986

คุณวรรณ โมฮะหมัดเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในอินโดนีเซียในฐานะกวีและนักวิจารณ์วรรณกรรม งานวิจัยหมายเลข 45 เป็นผลลัพธ์ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดของการมาเยือนอันมีคุณค่าของคุณวรรณ และมีที่มาจากงานสัมมนาที่เขาได้มอบให้แก่ศูนย์ในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1988 ข้าพเจ้าต้องขอบคุณเขาไม่เพียงแค่ในเรื่องของการสัมมนาที่จุดประกายความคิดใหม่ๆ และการมาเยือนของเขาโดยรวม แต่ยังต้องขอบคุณต่อการทำงานอย่างหนักที่เขาได้กระทำเพื่อผลิตงานเขียนที่เฉียบคมชิ้นนี้ ซึ่งได้วางไว้บนโต๊ะของข้าพเจ้า ในฐานะสิ่งที่เป็นเหมือนกับของขวัญในการจากไกล ของเช้าวันที่เขาออกเดินทาง

David Chandler
25 March 1988

แถลงการณ์วัฒนธรรม พวกเรา เหล่าศิลปินและปัญญาชน ขอประกาศแถลงการณ์วัฒนธรรม ซึ่งเป็นการประกาศจุดยืนของพวกเรา อุดมคติของพวกเรา และนโยบายของพวกเรา ต่อวัฒนธรรมแห่งชาติ

สำหรับพวกเราแล้ว วัฒนธรรมเป็นเรื่องของการดิ้นรนเพื่อที่จะนำสภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ให้ไปสู่จุดที่สมบูรณ์แบบ เรามิได้คิดว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของวัฒนธรรมจะมีความเหนือกว่าส่วนอื่นๆ ทุกๆ ส่วนทำงานร่วมกันเพื่อให้วัฒนธรรมนี้มีสมรรถภาพสูงสุด

ด้วยการตระหนักเช่นนี้ในเรื่องของวัฒนธรรมแห่งชาติ พวกเราจึงดิ้นรนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่แท้จริงและบริสุทธิ์ ในฐานะที่เป็นคุโณปการของพวกเราในการที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องและพัฒนาศักดิศรีของพวกเราในฐานะประชาชนอินโดนีเซียในประชาคมแห่งชาติต่างๆ

ปัญจศีล จะเป็นพื้นฐานปรัชญาที่สำคัญของวัฒนธรรมของพวกเรา

จาการ์ตา 17 สิงหาคม 1963

Drs. H.B. Jassin Ras Siregar
Trisno Sumardjo Hartojo Andangdjaja
Wiratmo Sukito Sjahwil
Zaini Djufri Tanissan
Bokor Hutasuhut Binsar Sitompul
Goenawan Mohamad Drs. Taufiq A.G. Ismail
A.Bastari Asnin M. Saribi Afn.
Bur Rasuanto Poernawan Tjondronagoro
Soe Hok Djin Dra. Boen S. Oemarjati
D.S. Muljanto

(Manifes Kebudajaan ตีพิมพ์ใน Sastra 9-10 1963 พร้อมกับการแสดงความเห็นและคำอธิบาย รวมทั้งดูที่ฉบับที่ตามออกมาของ Sastra และ Basis 13.3) คำแปลภาษาอังกฤษนำมาจาก H. Soebadio and C.A. Sarvaas (editors), Dynamic of Indonesian History Amsterdam 1978, pp. 339-340.

1.
จุดมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อที่จะบรรยายถึงประสบการณ์ของนักเขียนอินโดนีเซียคนหนึ่งในระหว่างช่วงความวุ่นวายสับสนที่เกิดขึ้นก่อน "Gestapu Affair" ใน ค.ศ. 1965 ส่วนใหญ่ของงานชิ้นนี้เป็นการย้อนระลึกความหลังโดยส่วนตัว อันมีความช่วยเหลือจากชุดเอกสารงานสะสมที่เป็นสิ่งพิมพ์ซึ่งมีความสำคัญมากหลายชิ้น อันปรากฏขึ้นในกรุงจาการ์ตาในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เพื่อที่จะเติมเต็มช่องว่างในความทรงจำของข้าพเจ้า

หมายเหตุผู้เขียน: ข้าพเจ้าขอขอบคุณ คุณ Helen Sumardjo จากหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยโมนาช ที่ให้โอกาสข้าพเจ้าได้ใช้แฟ้มเอกสารที่ข้าพเจ้าไม่สามารถหาได้ในจาการ์ตา สำหรับ Dewi Fortuna Anwar และ Greg Barton ซึ่งช่วยเหลือข้าพเจ้าในการต่อสู้เรื่องภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าก็ขอแสดง "terimankasih" ไว้ด้วย

2.
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1963 วารสารวรรณกรรมรายเดือน "ศาสตรา" (Sastra) ในจาการ์ตาได้ตีพิมพ์เอกสารสามหน้ากระดาษชื่อว่า "Manifes Kebudayaan" หรือ แถลงการณ์วัฒนธรรม เอกสารนี้ประกอบด้วยลำดับรายชื่อผู้ร่วมลงนาม ซึ่งประกอบไปด้วยนักเขียน 16 คน จิตรกร 4 คนและนักแต่งเพลง 1 คน พวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มในวัยต้นยี่สิบ และดังเช่นข้าพเจ้า ที่มีเพียงแค่กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น หรืองานวิจารณ์ อยู่เพียงแค่หยิบมืออยู่ด้านหลัง กลุ่มนี้นี่เองเป็นที่มาของพลังผลักดันในแถลงการณ์นี้

ถึงแม้ว่าเหล่าคนที่เป็นหัวหอกนั้น จะเป็นคนสำคัญเป็นที่รู้จักในวงการวรรณกรรมและศิลปะของอินโดนีเซีย และผู้ที่สำคัญที่สุดก็คือ H.B. Jassin นักวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งโดยทั่วไปมักจะได้รับการกล่าวถึงแบบกึ่งติดตลกว่า "สังฆราช (The Pope)" ของวงวรรณกรรมอินโดนีเซีย อันเนื่องมาจากสถานะผู้กุมบังเหียนในวงการวิจารณ์วรรณกรรมของเขา. Trisno Sumadjo ชื่อที่สองที่ปรากฏอยู่ในรายนาม เป็นกวี นักวาดรูป และผู้แปลงานของเชคสเปียร์ที่โดดเด่น. Wiratmo Sukito ซึ่งอยู่ในลำดับที่สาม ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ที่คอยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทางวัฒนธรรมและการเมืองที่มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก และมีอิทธิพลสำคัญเหนือปัญญาชนคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

หลังจากการรณรงค์ต่อต้านแถลงการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยเหล่านักเขียนและองค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Indonesian Communist Party, PKI) ประธานาธิบดีสุการโนก็ได้ประกาศให้แถลงการณ์ที่มีอายุอันสั้นนั้นผิดกฏหมาย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1964 ผลที่ตามมานักเขียนและปัญญาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ดังกล่าวถูกไล่ออกหรือลดตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นข้าราชการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย งานเขียนของพวกเขาเป็นสิ่งต้องห้ามควบคู่ไปกับงาน "ต่อต้านการปฏิวัติ" ชิ้นอื่นๆ เกิดกระแสที่โหมแรงขึ้นในการที่จะเรียกร้องเจ้าหน้าที่ให้ขจัด "เรื่องที่เป็นแถลงการณ์วัฒนธรรม" ทั้งหมดออกไปจากมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์และศิลปะขึ้นมาโดยฉับพลัน

โดยทันทีทันใดนั้น แถลงการณ์วัฒนธรรมได้กลายเป็นโรคร้ายทางการเมือง. Harian Rak (People's Daily) อันเป็นองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ตั้งคำถามที่ต่อมาภายหลัง ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อที่จะทำให้แถลงการรณ์นี้และผู้ที่ร่วมลงนามเป็นที่น่าขบขัน และน่าหยามเหยียด แถลงการณ์นี้ถูกเรียกว่า "Manikebu" อันเป็นชื่อย่อของ "Manifes Kebudayaan" แต่ก็ยังให้ความหมาย ซึ่งเป็นมากกกว่าตลกร้ายเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "อสุจิของควาย"

3.
ข้าพเจ้าจะต้องยอมรับว่าแถลงการณ์นี้ ในฐานะที่เป็นเอกสารวิชาการ ยากมากที่จะถอดรหัสความหมายออกมา ส่วนหลักของงานเขียนนี้เป็นฝีมือของ Wiratmo Sukito เขาเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ผลิตความเรียงเชิงปรัชญาที่ซับซ้อนจนเกือบอ่านไม่รู้เรื่องอยู่หลายชิ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับมาร์กซิสม์ หรือเกี่ยวกับปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) ของ Edmund Husserl ใครก็ตามที่ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบเฉพาะของงานเขียนของเขา ย่อมจะหลีกไม่พ้นที่จะพบว่าความเรียงเกี่ยวกับปรัชญาวัฒนธรรมของเขานั้น แทบจะไม่รู้เรื่องเอาเลย

แต่ที่สำคัญกว่านั้น โครงสร้างคำศัพท์ที่ใช้ในแถลงการณ์นั้นยังถูกจำกัดอยู่มากด้วยภาษาทางการเมืองของยุคนั้น มีการพาดพิงอ้างอิงอย่างเห็นได้ชัดเจนอย่างมากถึงงานเขียนและคำพูดของประธานาธิบดีสุการโน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งที่มาของความคิดที่ถูกต้องตามกฏหมายเพียงหนึ่งเดียวในยุคของ "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" (guided democracy) มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งพื้นฐานของแถลงการณ์นี้ค่อนข้างจะชัดเจน นั่นคือ เป็นความพยายามที่จะรักษาพื้นที่ไว้ให้มากขึ้น สำหรับการแสดงออกทางศิลปะอย่างเป็นอิสระ เป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมืองและกระแสนิยม "การปฏิวัติ" ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960

เพื่อให้แน่ใจว่า ยุค "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" จะไม่เป็นสิ่งเดียวกับที่ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในแบบของพวกนิยมออร์เวลล์ (Orwellian) [of or characteristic of the work of the British novelist George Orwell (1903-50), especially with reference to the totalitarian state as depicted in Nineteen Eighty-four.] แต่กระนั้นมันก็มี "คำใหม่" (newspeak) ของมันเอง อันเป็นภาษาที่เต็มไปด้วยตัวย่อที่น่าลุ่มหลงต้องมนต์ ร่วมทั้งมันยังมีวิธีการของมันเองในการควบคุมจิตใจ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐ ปัญญาชนจะต้องประจันหน้ากับวีถีแห่งทรราชย์โดยรัฐอันทรงพลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะที่โดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวของ "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" ของสุการโน เท่าที่มันส่งผลกระทบต่องานเขียนวิชาการก็คือ การที่คอยเรียกร้องอยู่เป็นนิจให้คนต้องแสดงถึงการตระหนักรู้ถึงหลักการของรัฐ ที่รู้จักกันว่า "Manipol" (ตัวย่อของแถลงการณ์การเมืองของประธานาธิบดีสุการโนในการเรียกร้องอยู่เสมอๆ เพื่อ "indokritnasi" (ปลูกฝัง) เกิดขึ้นในเกือบจะทุกปริมณฑลทางการเมือง) โดยมีแนวคิดมาร์กซิสม์ และงานเขียนของสุการโนเป็นส่วนประกอบหลักในการสอน ดูเหมือนว่าไม่มีใครเลยที่จะเป็นอิสระจากความปรารถนาที่จะยกคำพูดเหล่านั้นมากล่าวซ้ำ "การปฏิวัติ" การเป็นคำที่มีมนต์สะกดอย่างสูง มันสามารถที่จะเปลี่ยนให้คนกลายเป็นผู้ที่ก้าวร้าวสู้คนหรือหัวอ่อนสอนง่ายได้เพียงข้ามวัน
[หมายเหตุผู้เขียน: หลายปีต่อมาเมื่อข้าพเจ้าอ่านบันทึกความทรงจำของภรรยาหม้ายของ กวี Ossip Mandelstam ด้วยความประหลาดใจข้าพเจ้าพบว่า สถานการณ์เดียวกันได้เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1930 เช่นกัน]

ผลลัพธ์โดยตรงของมัน เท่าที่โลกของงานเขียนให้ความสนใจก็คือ การปิดกั้นกลุ่มการใช้คำภาษาอินโดนีเซียให้แคะแกรน ไม่ว่าจะมีคุโณปการอันมีสีสันของสุการโนในเรื่องคำศัพท์ภาษาอินโดนีเซียในเวลานั้นก็ตาม แต่สำเนียงภาษาหลักๆ ที่ใช้ ก็มักจะมีลักษณะก้าวร้าว คำดังเช่น "menggnayang" (บดขยี้) "mengeremus" (การบดเคี้ยวบางสิ่งด้วยฟัน) ซึ่งพบได้ทั่วไปในสำนวนการเมืองอินโดนีเซียยุค "ประชาธิปไตยชี้นำ"
[หมายเหตุผู้เขียน: ต่อมา ยังมีคำ "membabat" หมายถึงการตัดริดต้นไม้ หรือต้นหญ้าที่ไม่ต้องการด้วยของมีคม อันเป็นแนวคิดที่มาจากนักเขียนนวนิยายปราโมทยา อนันตา ตูร์] เช่นนี้นั้น ทำให้มีเนื้อที่อันน้อยนิดให้แก่วิถีของการสร้างแนวคิดที่เป็นทางเลือก

สิ่งต่างๆ แย่ลงเมื่อเราจะต้องใช้รูปแบบสำนวนภาษาที่เป็นที่ยอมรับหรือที่กำหนดไว้ซ้ำๆ ซากๆ ถูกกดดันอยู่เป็นนิจให้แสดงถึง "ตรา" แห่งการปฏิวัติของตนเอง ภาษาสาธารณะก็พัฒนาไปเป็น "ภาษาแบบอัตโนมัติ" อย่างรวดเร็ว ซึ่งถูกครอบงำโดยชุดของคำขวัญทางการเมืองอันง่ายที่จะพูดซ้ำๆ ชุดหนึ่ง คำนามในภาษาอินโดนีเซียได้ย้ายเข้าไปอาณาจักรของนามธรรมมากขึ้นมากขึ้น คำเช่น "Rakyat" (ประชาชน) "Tani" (ชาวนา) "Buruh" (ชนชั้นกรรมาชีพ) "Tanahair" (ปิตุภูมิ) "Kemerdekaan" (เสรีภาพ) และอื่นๆ มักจะใช้เพื่อหมายถึงความหมายแบบเป็นกลุ่มโดยรวม มากกว่าที่จะหมายถึงคน หรือสถานภาพหนึ่งๆ มากขึ้นมากขึ้นทุกที

สำหรับกวีที่ดำรงอยู่ด้วยภาพลักษณ์อุปมาอุปมัยเชิงกวีนิพนธ์ที่เป็นรูปธรรม อันเป็นคำที่มุ่งหมายให้จับฉวยสิ่งที่มีอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวจากปริมณฑลของความรู้สึกแล้ว นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมาก นักเขียนน้อยคนลงเรื่อยๆ ที่จะสามารถปฏิบัติต่อภาษาในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของการผจญภัย และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่ใต้เงาไม้หน้าห้องแสดงภาพในจาการ์ตา ข้าพเจ้าเห็นนกกระจอกเคลื่อนไหวเข้าๆ ออกๆ ระหว่างแสงกับเงา และทำให้ข้าพเจ้าคิดได้ว่าตอนนี้นั้นข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะชื่นชมกับความสำคัญของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวของข้าพเจ้าได้ แต่กลับเพียงแค่ฟังและเขียนเกี่ยวกับความคิดใหญ่ ๆ ที่ห่อหุ้มด้วยคำหรูๆ เท่านั้น

ไม่น่าแปลกใจที่ผลลัพธ์จาก "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" ในปลายทศวรรษที่ 60 และต้นทศวรรษที่ 70 จะทำให้เรนทรา (Rendra) แสดงออกด้วยละครสั้นที่ใช้คำพูดน้อยที่สุด ราวกับว่าเพื่อที่จะแสดงออกอย่างซื่อสัตย์ คนเราก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงที่ใช้คำนาม คำกริยา และคำคุณศัพท์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถูกบิดเบือนไปโดยการทำให้ภาษาเป็นการเมือง แต่กระนั้นมันก็ได้นำไปสู่สำนึกที่เลวร้ายอันหนึ่งในการที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยของตน ในเรื่องความคิดความเชื่อทางอุดมการณ์ของทศวรรษที่ 1960

ในต้นทศวรรษที่ 60 ได้เห็นถึงความพยายามทั่วทั้งชาติอยู่ชุดหนึ่งในการที่จะขับเคลื่อนประชาชน ในตอนต้นเป็นเรื่องของการรณรงค์เพื่อปลดปล่อยอิหร่านตะวันตก ในไม่ช้าก็ตามมาด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ในจาการ์ตา การแข่งขันกีฬาครั้งนี้ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมได้มาก เนื่องจากนักวิ่งชาวอินโดนีเซียจำนวนมาก ที่บางทีอาจจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคมัชปาหิตได้รับเหรียญทอง หลังจากนั้น ในช่วงปลาย ค.ศ. 1963 คำกล่าวแรกที่แสดงความเป็นอริต่อต้านการก่อตั้งมาเลเซียได้ดังมาถึงหู เมื่อความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นในบรูไน โดยมีอินโดนีเซียหนุนหลังขบวนการปลดปล่อยกาลิมันตันเหนือที่กำลังก่อตัวขึ้น

ท่ามกลาง "ความบ้าคลั่งอย่างต่อเนื่อง" ตามคำของออร์เวลล์ (Orwell) ก็มีความยินดีพร้อมใจอย่างจริงใจ แต่ไร้เดียงสา ในส่วนของนักเขียนจำนวนมากในทุกๆ ความเชื่อทางการเมืองที่จะเขียนงานแสดงความรักชาติ และผูกตนเองเข้าข้าง "rakyat" ประชาชน งานที่มีแกนเรื่องแบบการเล่าเรื่องชีวิตเฟื่องฟู และบทกวีที่ใช้ภาษาสวยงาม เป็น "อัตวิสัย" เกือบจะสูญหายไป ข้าพเจ้า ซึ่งเข้าร่วมกับคนอื่นๆ ได้เขียนบทกวีบทหนึ่งเกี่ยวกับคนทำงานกลางคืนของจาการ์ตา นักเขียนอีกคนหนึ่งในคนรุ่นเดียวกับข้าพเจ้า นั่นคือ Bur Rasuanto เขียนเรื่องราวหลายเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนงานบริษัทน้ำมัน (ข้าพเจ้าอนุมานเอาเองว่าเขาเคยทำอาชีพนี้เช่นกัน) Hartojo Andangdjaja ผู้แปลโคลงไฮคุของญี่ปุ่น ภายหลังได้ตีพิมพ์โคลงขนาดยาวเพื่อให้แก่ประชาชน "Rakyat" [หมายเหตุผู้เขียน - ดู Sarojini wimbadi (นามแฝงของ Satyagraha Hoerip) "Sastra Sebagai Ajang Penulis Revolusioner" Sastra, March 1963.]

สำหรับคนอื่นๆ ความจำเป็นที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามวิถีวรรณกรรมในช่วงยุคสมัยของกองทัพเช่นนั้น ส่วนมากแล้วมาจากแรงกดดันจากภายนอก การเรียกร้องเพื่อที่จะทำตามแนวทางของ "Manipol" อย่างสัตย์ซื่อสำหรับพวกเขาแล้ว เป็นการยึดถือหลักการที่น่ารำคาญ ข้อเรียกร้องนี้ ซึ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้น อันเป็นช่วงที่งานตีพิมพ์จะกลายเป็นงานต้องห้ามโดยง่ายดาย และปัญญาชนหลายคนถูกจับเข้าคุก โดยนัยแล้วนั้นเป็นการคุกคามเช่นเดียวกัน

ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1961 วารสารวรรณกรรม "Sastra" ที่ขณะนั้นอายุได้ไม่ถึงหนึ่งปี ก็ถูกโจมตีเสียแล้วโดยเหล่านักเขียนที่อยู่ในกลุ่ม Lekra อันเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ที่ขณะนั้นยังทรงอิทธิพลอยู่ เป้าหมายแรกเป็นเรื่องสั้นสองเรื่องโดย B. Sularto งานดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอริศัตรูกับประชาชนและแนวคิดรื่องสันติภาพโลก

Sularto ในขณะนั้นเป็นนักเขียนวัย 26 จากเซอมารัง ชวากลาง ทำงานในกองวัฒนธรรม (Office of Cultural Affairs) งานเรื่องแรกของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวสลัมยากจนกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกกักบริเวณชั่วคราวโดยตำรวจ เนื่องจากการยึดครองที่ดินที่เป็นของเทศบาล เรื่องที่สองของเขาเกี่ยวกับการประชุมใน kampong เพื่อสนทนาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพโลก

Jassin บรรณาธิการของ "Sastra" ซึ่งปกป้องการตัดสินใจของตนในการตีพิมพ์งานของ Salarto ได้อธิบายจุดยืนของเขาในบทความเปิดเล่มของฉบับเดือนมกราคม 1962 ว่า เขาปฏิเสธที่จะลดขนาด "daerah pengalaman" หรือ "พื้นที่ของประสบการณ์" ของนักเขียน ลงเป็นเพียงโลกที่มีแค่เพียงคำขวัญและอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะว่า "ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นงานที่เหี่ยวแห้งและถูกจำกัด

เช่นเดียวกับงานที่เราเห็นในช่วงระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่น" การกล่าวพาดพิงไปถึงการยึดครองของญี่ปุ่นของ Jassin นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก ภายใต้การบริหารประเทศของญี่ปุ่นในต้อนทศวรรษ 1940 ก่อนหน้าได้รับเอกราชไม่นาน นักเขียนและนักแต่งเพลงชาวอินโดนีเซียได้รับการเรียกร้องให้ต้องผลิตงาน ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมายและนโยบายของรัฐ ดูเหมือนว่าข้อสมมติฐานของ Jassin ก็คือว่านักเขียนและสาวกของ Lekra มุ่งที่จะสนับสนุนความคิดที่ว่า วรรณกรรมจะต้องเป็นบูรณาการหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อการปฏิวัติ

สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านจากผู้ที่สนับสนุน Lekra ต่อไป เริ่มต้นในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1962 ปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียนนวนิยายได้ก่อตั้งส่วนวรรณกรรมขึ้นมาในหนังสือพิมพ์รายวัน "Bintang Timur" (ดาวตะวันออก) เขาเรียกมันว่า "Lentera" (ตะเกียง) ในฉบับปฐมฤกษ์นั่นเอง ปราโมทยาได้เสนอแนะไว้ในคอลัมภ์สั้นๆ ในกลางหน้าว่า เรื่องของ Sularto เป็นพวก "ปฏิกิริยา" และกล่าวว่าความเรียงของ Jassin เป็น "แนวทางทางการเมือง" ที่เปิดเผยออกมา แต่หลังจากนั้นอีกห้าเดือนต่อมาที่ "Lentera" ถึงจะเริ่มที่จะใช้น้ำเสียงที่ก้าวร้าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น

บทความหลักในฉบับวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1962 เป็นความเรียงที่ไม่ลงชื่อ ซึ่งมีแนวโน้มอย่างมากว่าจะเป็นของปราโมทยา ได้พูดถึงเรื่องสั้นหลายเรื่องที่พิมพ์ใน "Sastra" โดยละเอียด นอกจากความชาญฉลาดล้ำลึกและน้ำเสียงเหยียดหยามอย่างตรงไปตรงมา บทความนี้ก็มิได้แตกต่างออกไปนักจากแนวคิดที่เป็นปกติธรรมของ Manipol ที่ได้รับการเชิดชู "ขณะนี้ไม่มีอำนาจใดที่จะพบว่า Manipol เป็นสิ่งผิด" บทความนี้กล่าว

แต่กระนั้น ตามคำของปราโมทยา เรื่องในกระแสหลักของ "Sastra" ยังคง "นำเสนอค่านิยมของพวกกระฎุมพี" "ค่านิยมทางศีลธรรม" ของวารสารนี้เป็นสิ่งที่น่าสงสัย ปราโมทยากล่าว เนื่องจากมัน "มิได้เข้าข้างมวลชนซึ่งเหนื่อยยากและต้องตรากตรำทำงานหนัก" [หมายเหตุผู้เขียน - Lentera. Bintang Timur, 16 March 1962.]

ในสัปดาห์ต่อมา ปราโมทยาเริ่มต้นชุดบทความที่ชื่อว่า "Yang Harus Dababat dan Harus Dibangun" (ผู้ที่ควรจะถูกริดทิ้ง และผู้ที่ควรจะได้รับการสนับสนุน" ซึ่งเน้นการวิจารณ์แรกสุดไปยังนักเขียนดังเช่น S. Takdir Alisjahbana Takdir ถูกมองว่าเป็นสมาชิกของพรรคสังคมนิยมที่ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1960 และเขามักจะเป็นคนที่สำหรับคนอื่นแล้ว เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความคิดที่เอียงข้างไปทางตะวันตก

ในช่วงทศวรรษ 1960 Takdir อยู่นอกประเทศ นี่ทำให้เขาดูเหมือนเป็นพวกนกสองหัว และส่วนที่ดูเหมือนจะมีความเกี่ยวข้องกับเขานั้น สามารถที่จะเป็นสิ่งไม่น่าปรารถนาทางการเมืองได้ทั้งนั้น สำหรับปราโมทยาแล้ว นักเขียนของ "Sastra" บางคน โดยเฉพาะ Iwan Simatupang ซึ่งเป็นนักเขียนเรื่อง "เพ้อฝันเหลวไหล" เห็นได้ชัดว่าเป็นคนประเภทเดียวกับ Takdir

เราจะเห็นได้อย่างง่ายดาย การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงเรื่องส่วนตัวที่แสดงออกในช่วงต้นๆ ของงานชุดนี้ ตัวอย่างเช่น เขากล่าวว่า Takdir Alisjahbana "ประสบความสำเร็จในการสะสมโชคลาภก้อนใหญ่" ซึ่ง "เขาสามารถนำตัวเองไปอยู่ในรายชื่อของมหาเศรษฐีในระดับชาติ" ปราโมทยายังได้พูดผ่านๆ ว่า Iwan Simatupang "กอบโกย" ("gondol") เงินได้หลายพันรูเปียจากคณะกรรมการมหกรรมละครคนหนึ่ง อย่างไรก็ตามจุดประสงค์หลักของปราโมทยาก็คือ การแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของนักเขียนเหล่านั้น ซึ่งมิได้ยอมรับหลักการของ Lekra ที่ว่า "การเมืองคือผู้บังคับการ"

เขาสรุปว่า "ความคลุมเคลือทางการเมือง ที่ได้ให้กำเนิดศิลปะและความคิดของ "คนจรจัดไร้สังกัด" ("gelandangan") ควรจะถูกริดทิ้ง ("dibabat") และกำจัดออกไป ("disapu") เขายังกล่าวต่อไปว่า ไม่มีความจำเป็น "ที่จะให้พื้นที่ แม้ว่าจะเป็นแบบจำกัด แก่ส่วนที่เป็นโรคติดต่อเหล่านี้" เพราะว่าพวกมัน "ดูเหมือนว่าจะยังสามารถสยายปีกของตนได้กระทั่งในปัจจุบัน" ดังที่ได้เห็นอยู่ในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องที่ตีพิมพ์อยู่ในจาการ์ตา ดังนั้นจึงเริ่มต้นการถกเถียงอันขมขื่นที่ยิ่งทำให้นักเขียนของ "Sastra" ต้องออกมาปกป้องตนเองมากยิ่งขึ้น ฐานะของพวกเขา ในตอนแรก ออกจะไม่มั่นคงนัก

4. วารสารอันเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันอยู่ จัดพิมพ์โดยบริษัทเอกชนเล็กๆ ที่เป็นของผู้ผลิตรองเท้าที่ไม่โด่งดังนัก นักเขียนส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่มิได้สังกัดอยู่กับสถาบันทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะได้รับการปกป้องจากผู้มีอำนาจทางการเมืองที่มีอิทธิพล อันที่จริงแล้ว พวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพรรคการเมืองใดๆ

ในฉบับแรกของ "Sastra" ที่ขึ้นปีที่สอง Jassin ได้เขียนไว้ว่า "เรามิได้เข้าร่วมพรรคการเมืองฝ่ายขวาหรือพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย มิใช่เพราะเราไร้ความคิดเห็น แต่เพราะทั้งพรรคการเมืองฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ต่างก็มีจุดบกพร่องทั้งนั้น และเราจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพวกมันอย่างใช้ความคิดวิพากษ์วิจารณ์" [หมายเหตุผู้เขียน - Sastra, No.1, Vol. 11, 1962.]

แต่ในทศวรรษ 1960 การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้เป็นความโง่ทางการเมือง ตั้งแต่ ค.ศ. 1958 หลังจากการกบฏในภูมิภาคต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อินโดนีเซียก็ตกอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก กองทัพเข้าไปควบคุมวิถีชีวิตหลายๆ ด้าน แต่พรรคการเมืองปีกซ้ายก็ได้เฟื่องฟูขึ้นด้วยอย่างแข็งแกร่งและยังคงอยู่ในฝ่ายรุก จนกระทั่งถึงวันแห่งชะตากรรมในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 การกระทำใดๆ ก็ตามที่ต่อต้านพวกเขา อาทิการห้าม "Harian Rakyat" ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 โดยกองทัพนั้น ย่อมเป็นการท้าทายอย่างแรง
[หมายเหตุผู้เขียน - แม้ว่าพวกเขาจะมิได้ประสบความสำเร็จเสมอไปก็ตาม อาทิในการห้ามตีพิมพ์หนังสือของปราโมทยาเกี่ยวกับสภาพชีวิตของคนจีนชนกลุ่มน้อยในอินโดนีเซียนั้น ไม่เคยที่จะถูกยกเลิกไป รวมบทกวีของ Lekra "Matinya Seorang Petani" หรือ "ความตายของชาวนาคนหนึ่ง" เป็นหนังสือต้องห้ามเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962.]

ในเวลานั้น นักเขียนที่เป็นที่รู้จักกันดีของคนรุ่นก่อน เช่น Sitor Situmorang ก็ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ PNI (พรรคชาตินิยม) หรือ NU (พรรคมุสลิม) สองกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในแนวร่วม Nasakom (แนวร่วมชาตินิยม-ศาสนา-คอมมิวนิสต์ : Naitonalist-Rligious-Communist front) พวกเขาเปรมปรีย์กับการอุปถัมภ์ของพรรคและอภิสิทธิ์พิเศษที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น Sitor Situmorang ซึ่งเป็นผู้นำขององค์กรวัฒนธรรมของ PNI เป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติอันทรงเกียรติ เขาเป็นที่รู้จักในต้นทศวรรษ 1950 ในฐานะกวีที่แสดงความรู้สึกเกี่ยวกับความรักในความตายที่ทรงพลัง และในทศวรรษ 1960 ได้เขียนโคลงชุดหนึ่งซึ่งเชิดชูคอมมูนปฏิวัติในประเทศจีนหลังจากที่เขาได้ไปเยือนที่นั่น. Sitor ซึ่งสนับสนุนแนวทาง "Manipol" ในวรรณกรรมอย่างแข็งขัน อันที่จริงแล้วมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยส่วนตัวกับผู้มีอำนาจหลายคน รวมทั้งตัวประธานาธิบดีเองด้วย

ในทางกลับกัน นักเขียนของ "Sastra" ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคนหนุ่มจากต่างจังหวัด และกลายเป็นผู้ที่ปราโมทยา เรียกอย่างค่อนข้างเหยียดหยามว่า "พวกจรจัด" (gelandangan) พวกเขาดูเหมือนจะทำตามแนวทางของ Jassin ในเรื่องการไม่แสดงออกให้เห็นรสนิยมความชอบทางการเมืองของตนเอง ข้าพเจ้าอนุมานว่าพวกเขาส่วนใหญ่เห็นการเป็นสมาชิกพรรคและความภักดีว่า มีความหมายเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเสียเลย

เป็นความจริงที่ว่า การอยู่โดยปราศจากร่มของพรรคการเมือง ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงอะไรโดยง่ายๆ ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปต่างประเทศที่ส่วนใหญ่จัดขึ้นโดยประเทศสังคมนิยม การประชุมสัมมนานานาชาติที่สำคัญ (เช่นการประชุมนักเขียนแอฟริกา-เอเชียที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963) นั้นโดยพื้นฐานแล้วเป็นนักเขียนของ Lekra ที่เข้าร่วม คนของ Lekra มักจะได้รับเงินจากรัฐเพื่อที่จะประดับประดาเมืองด้วยเนื้อหาของการปฏิวัติ โดยเฉพาะในระหว่างการเฉลิมฉลองวันชาติและการประชุมนานาชาติ

แต่นักเขียน "Sastra" ส่วนใหญ่ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงวัยยี่สิบกว่าๆ นั้น ดูเหมือนที่จะให้ความสำคัญกับภาพแบบโรแมนติกของกวีว่าเป็นเหมือน "สัตว์ป่าที่ยังไม่เชื่อง" (binatang jalang) ดังที่ได้รับการส่งเสริมจาก Chairil Anwar ผู้เป็นตำนานซึ่งเป็นกวีของคนรุ่น 1945 ที่จบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าขณะที่ยังอายุน้อยอยู่ ข้าพเจ้าเชื่อว่า แนวคิดถัดมาของเรนทราในเรื่อง "orang urakan" (ตามคำศัพท์คือ "คนที่ไม่นับถือจารีตธรรมเนียม") มีรากมาจากความคิดที่คล้ายๆ กันนี้ นั่นคือ กวีและปัญญาชนเป็นดังคนที่ไม่นับถือสิ่งใด เป็นอิสระ และชอบปฏิเสธ

แต่บรรยาการทางการเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องต้องห้ามของทั้ง "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" และกฎอัยการศึกไม่ได้เอื้ออำนวยให้กับจุดยืนเช่นนั้น สำหรับ PKI ซึ่งเป็นพรรคนำในแนวร่วม Nasakom นั้น ความคิดเรื่อง "ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด" ถือเป็นอุปสรรคขัดขวาง คำโต้แย้งทางทฤษฎีก็คือว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของพวกมาร์กซิสต์-เลนินิสต์แล้ว พรรคการเมืองมีความหมายเท่าๆ กับการต่อสู้ทางชนชั้นที่จะดำเนินต่อไป อันที่จริงแล้ว เลนินกล่าวถึงคำถามนี้ในบทความที่อุทิศให้กับการต่อสู้ความคิดเรื่อง "ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด" โดยเฉพาะ (ซึ่ง ตามการวิเคราะห์ของเขาแล้ว โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในระหว่าง "ขั้นตอนประชาธิปไตย" ของการปฏิวัติ)

ในระดับปฏิบัติ PKI มองเห็นอันตรายของอุดมการณ์ "ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด" ในรูปของแผนยุทธศาสตร์ทางการเมืองของกองทัพ เป็นความขัดแย้งที่น่าตลกที่ว่าเป็น PKI นั่นเองที่เชิญสมาชิกที่ "ไม่สังกัดพรรค" เข้าร่วมในรายชื่อของผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1955 โดยเฉพาะจิตรกรสำคัญบางคนเช่น Affandi อย่างไรก็ตาม ในต้นทศวรรษ 1960 สิ่งต่างๆ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป

ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1962 ประธานพรรค PKI D.N. Aidit ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์การชุมนุมของตำรวจใน "Sukabumi" (ผู้ที่เข้าร่วมในการอบรมขั้นสูงที่เรียกว่า Kursus Persamaan Komisaris Polisi) ว่า "โรคเกลียดกลัวพรรคการเมือง" (partyphobia) เป็น "อาชญากรรม" [หมายเหตุผู้เขียน - Bingtang Timur, 22 September 1962.]

อันที่จริงแล้วมี "โรคเกลียดกลัวพรรคการเมือง" ในหลายๆ ระดับด้วยกัน ในกลุ่มประชาชนซึ่งได้ตาสว่างเนื่องจากการทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเอกราช พรรคการเมืองต่างๆ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผลประโยชน์ของลัทธิ นิกาย ประธานาธิบดีสุการโนครั้งหนึ่ง (ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1957) ถึงกับฝันออกมาดังๆ เกี่ยวกับการฝังพรรคการเมืองทั้งหลายไว้ด้วยกัน กองทัพ ซึ่งไม่เชื่อถือในพรรคการเมืองเสมอมานับตั้งแต่ช่วงปีของการทำสงครามกองโจร โดยธรรมชาติแล้วก็จะคอยมองหาทุกโอกาส ในการที่จะกระทำการตามความปรารถนานี้ของประธานาธิบดี หรืออย่างน้อยก็จำกัดอำนาจของนักการเมืองพลเรือน อย่างไรก็ตาม กองทัพนั่นเองคือผู้ดำเนินการจัดการกฎอัยการศึก

แต่กระนั้นพรรคการเมืองก็ยังคงอยู่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอยู่มากต่อไปในช่วง "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวมวลชนอยู่เสมอ ท่ามกลางความโวกเวกวุ่นวายทางการเมืองเช่นนี้เองที่ "แถลงการณ์วัฒนธรรม" ถูกร่างขึ้น

ในงานเรื่อง "Social Commitment in Literature and the Arts" (1986) Keith Foulcher ได้เสนอว่าแถลงการณ์นี้เป็น "การแสดงความแข็งแกร่ง" โดย "กลุ่มที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เชิงวัฒนธรรมที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์" โดยมี "การหนุนหลังอยู่ลับๆ ของกองทัพ" เรื่องนี้ในฉบับของข้าพเจ้าค่อนข้างที่จะแตกต่างออกไป

ในฐานะที่เป็นนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนรวมโดยตรงในกระบวนการของการร่างแถลงการณ์นี้ขึ้น ข้าพเจ้าควรจะเริ่มต้นด้วยการบอกกับท่านว่าทำไมแถลงการณ์นี้ จึงถูกเขียนขึ้นเป็นประการแรกสุดก่อน

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1963 ใกล้กับวันเกิดครบ 21 ปีของข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั่งรถประจำทางไปยัง Bogor พร้อมกับจิตรกรและนักเขียนคนอื่นสองหรือสามคน เราไปเยี่ยม Iwan Simatupang ซึ่งอยู่ในห้องของโรงแรม และเป็นผู้ที่มักจะสร้างความสำราญให้กับทุกคน ด้วยเชาว์ปัญญา ไหวพริบ และเรื่องโกหกที่มีเสน่ห์ของเขา ปรากฏว่าในวันนั้นอิวานมีผู้มาเยือนอีกคนหนึ่ง ในช่วงระหว่างการสนทนากัน อิวานบอกกับพวกเราว่าชายคนนี้มาจากองค์กรที่มีกองทัพหนุนหลังคือ SOKSI และเขาอยู่ในระหว่างกระบวนการที่จะจัดตั้งองค์กรสำหรับนักเขียน ชาวละครและจิตรกร พวกเราได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย

ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าคนอื่นๆ ในห้องมีปฏิกิริยาอย่างไร? แต่ข้าพเจ้ารู้สึกหนักใจกับข้อเสนอนี้ ข้าพเจ้ารู้ ดังเช่นที่เพื่อนๆ หลายคนของข้าพเจ้ารู้ ว่า SOKSI ในตอนนั้นมีชื่อเสียงว่าเป็นองค์กรที่เงินหนัก นำโดยนายทหารของกองทัพที่รับผิดชอบในบริษัทของรัฐที่ทำเงิน ปราโมทยาเป็นคนหนึ่งละ ที่จะยินดีที่เห็นพวกเราขายจิตวิญญาณให้กับองค์กรเช่นนี้ มันจะเป็นการยืนยันความเชื่อของเขาที่ว่า พวกเราเป็นพวกกระฎุมพีที่ไร้ยางอาย

ข้าพเจ้าพยายามที่จะไม่ทำตัวเป็นศัตรู แต

แสดงความคิดเห็น

« 6733
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ