บทความ
วิถีที่เลือก ชีวิตที่เป็น วรภ วรภา
วิถีที่เลือก ชีวิตที่เป็น วรภ วรภา
ใครบางคนเคยพูดไว้ว่าชะตาชีวิตของคน ถูกกำหนดจากมือที่มองไม่เห็นบนฟากฟ้า ใครคนนั้นยังบอกอีกว่าไม่มีทางหรอกที่เราจะฝืนลิขิตที่กำหนดไว้ได้
ระหว่างที่เขาพูดเราเองกลับรู้สึกโต้แย้งลึกในใจว่า ไม่จริงหรอก สิ่งที่กำหนดชะตาชีวิต คือความตั้งใจของแต่ละคนต่างหาก
เหมือนอย่างที่นักเขียนจากแดนสะตอเมืองสตูล วรภ วรภา ตัดสินใจลิขิตอีกครึ่งของชีวิต ด้วยความใฝ่ฝันและมุ่งมั่นของตัวเอง
โดยเลือกที่จะละทิ้งหน้าที่การงานที่กำลังก้าวหน้าในตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อก้าวเข้าสู่หนทางของนักเขียนอาชีพอย่างเต็มตัว
และจากความสำเร็จของ หมอกฝัน ม่านฟ้า ห่าฝน ด้วยรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด,รวมเรื่องสั้นชุดอุบัติการณ์ ที่คว้ารางวัลดีเด่นสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รวมถึงล่าสุด มหาชเล ที่ชนะใจกรรมการมาตรฐานสุดเคี่ยวของรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ก็น่าจะช่วยให้วรภมั่นอกมั่นใจได้ว่า การตัดสินใจ (ที่ดูเสี่ยง) ของเขานั้น ถูกต้อง!
นักเขียนหนุ่มใหญ่ผู้มีรอยยิ้มอารมณ์ดีประดับบนใบหน้าเสมอ เล่าให้เราฟังว่า การตัดสินใจที่ (แอบ) บ้าบิ่นของเขา เกิดขึ้นเพราะต้องการให้อีกครึ่งหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่ ได้ทำงานที่ตนรัก
"รักที่จะเขียนหนังสือมานานแล้ว แต่มีช่วงหนึ่งที่หายไปเลยเกือบ 4-5 ปี เพราะภารกิจด้านการงานที่ต้องทุ่มเทมาก พลังงานหมดเลย แล้วต่อไปการงานก็จะมากขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น อาจจะเสียดายจนทิ้งไม่ได้
เลยถามตัวเองว่าชีวิตที่เหลือต้องการอะไร ก็ได้คำตอบมาว่า ทำในสิ่งที่รักคือเขียนหนังสือ ถ้ารอจนเกษียณจะเอาเวลาและพลังที่ไหนมาเขียนล่ะ" วรภย้อนถามกลับมาแบบขำๆ
ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้วรภตัดสินใจลาออก ขณะที่กำลังจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งตามบริบทของสังคมไทยแล้ว คงยากนักที่ใครจะเข้าใจและยอมรับได้ โดยเฉพาะครอบครัว
"อาศัยว่าภรรยาเข้าใจ เพราะเราจะคุยให้ฟังตลอด เขาเห็นเรามีความสุขกับการเขียน เลยยินดีร่วมเผชิญ ปัญหาหลักคือพ่อแม่ ซึ่งท่านก็เป็นห่วงความมั่นคง และคาดหวังในเกียรติยศเป็นธรรมดา"
และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วรภมุ่งมั่นส่งงานเข้าประกวด ตามเวทีต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
"รางวัลที่ได้ช่วยผ่อนความรู้สึกไม่สบายใจของท่านได้มาก เพราะเห็นว่าถึงเราจะละทิ้งสิ่งที่เคยมีเคยเป็น แต่วิถีชีวิตเราก็มีความสุข และก็สามารถสร้างตัวตนตรงนี้ขึ้นมาให้คนยอมรับได้"
อีกประการที่สำคัญก็คือ ต้องการให้แวดวงเกิดการขยับเขยื้อน และตื่นตัวในการสร้างสรรค์งานคุณภาพมากขึ้น
"ยังเคยข้องใจอยู่เลยว่า ทำไมนักเขียนรุ่นที่โตๆ ใหญ่ๆ กันแล้ว ถึงไม่ส่งงานเข้ามาบ้างล่ะ ส่งเข้ามาก็น่าจะสนุกนะ นักเขียนจะได้สร้างผลงานมาประชันกัน นักเขียนใหม่ก็ไม่ต้องกลัว สองมือสองเท้า มันสมองเหมือนกัน นอกจากจะได้เคี่ยวกรำตัวเองแล้ว ยังช่วยกระตุ้นวงการ ทำให้รางวัลมีคุณค่าขึ้นมา"
นอกจากจะมีส่วนช่วยให้วงการตื่นตัวแล้ว เวทีประกวดในสายตาของวรภ ยังสามารถช่วยเรื่องปากท้องของนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ได้ไม่น้อยเลย
"การส่งประกวดเป็นคำตอบส่วนหนึ่งเหมือนกันในเรื่องของการครองชีพ โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว เพราะลูกต้องเรียน เมียต้องใช้
สนามวรรณกรรมบ้านเรามันน้อย บางทีกว่าจะได้พิมพ์รอกันจนลืม เงินค่าเรื่องก็น้อย คนที่ยึดอาชีพเป็นนักเขียนอย่างเดียวอยู่ลำบาก แถมนิตยสารบางแห่งส่งค่าต้นฉบับเร็วที่สุดคือ 2 เดือน บางแห่งก็ไม่ส่งเบี้ยวค่าเรื่องไปเลย บางทีรวมเล่มแล้วสนพ.เบี้ยวก็มี นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของพิมพ์เกิน และขโมยพิมพ์อยู่บ้าง บอกพิมพ์ 3 พันเล่ม จ่าย 3 พันเล่ม แต่พิมพ์จริงไป 4-5พันเล่ม" วรภเปิดเผยเรื่องจริงที่ทำเอาเราถึงกับอึ้งไปเลย
แต่คำว่านักล่ารางวัล ก็ทำใครหลายคนหวาดๆ ไปเหมือนกัน แล้วนักเขียนรุ่นเก๋าอย่างวรภล่ะ คิดอย่างไร
"ถ้ากลัวว่าจะโดนว่าเป็นนักล่ารางวัล แล้ววันหนึ่งรางวัลล้มหายตายจากไปจะเป็นไง หน้าที่ของเราคือทำงานให้มีคุณภาพ ใครได้ไม่ได้ก็เป็นเรื่องของกรรมการ แต่สำคัญที่สุดคืออย่าไปหลงมัน จนทะเลาะกันเอง มึงได้กูไม่ได้ กูอิจฉามึง มันไม่ใช่อย่างนั้น"
อืม ชัดเจนจริงๆ
ถ้าลองสังเกตตัวงานของวรภ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะหลากหลายทั้งบทกวีและเรื่องสั้น แต่ถ้าถามถึงความถนัดละก็ วรภชี้ไปที่เรื่องสั้นทันที เพราะว่า...
"เรื่องสั้นจะเขียนได้ลื่นไหลกว่า บทกวีเป็นงานที่ค่อนข้างยากสำหรับตัวเอง เพราะมีข้อจำกัดเยอะ กว่าจะได้แต่ละบทต้องใช้พลังงานเยอะมาก ต้องเค้น ต้องคิด และยากกว่าในการถ่ายทอด ต้องใช้คำน้อยที่สามารถสื่อทั้งความหมาย และอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถึงจะยากก็ยังที่จะทำนะ พยายามอยู่ ไม่ได้เก่งกาจมากมาย ไม่ถึงขั้นปฏิภาณกวีหรอก" วรภเล่าพร้อมกลั้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ถึงจะถ่อมตัวขนาดนั้น แต่มหาชเลก็เป็นผลงานหนึ่งที่พิสูจน์ฝีมือกวีของวรภได้อย่างดี ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ ได้เชื่อมโยงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเล มาถึงวัฏฏะสังสารในชีวิตมนุษย์ โดยหยิบยกปรากฏการณ์ธรรมชาติมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา ซึ่งผ่านการเกลาด้วยตัวเองอย่างหนักมากว่า 4 ปี
"ที่ส่งประกวดนายอินทร์อะวอร์ด เพราะรู้สึกว่าค่อนข้างท้าทาย หลายปีที่ผ่านมาไม่มีใครได้รางวัลเลย พอได้ก็ดีใจที่เราเขียนแล้วมีคนชื่นชม แสดงว่างานของเราเป็นอัตลักษณ์ร่วมของใครหลายคน ไม่ใช่แค่อัตลักษณ์เฉพาะตัวเราคนเดียว" วรภเล่าถึงความรู้สึกที่มหาชเลผ่านมาตรฐานโหดๆ มาได้
สร้างเรื่องสั้นบทกวีมาซะนาน ตอนนี้วรภก็เลยมองหาความท้าทายใหม่ ด้วนนิยายและวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งนิยายแนววิพากษ์สังคมและภาวะจิตมนุษย์ของวรภนั้น ตอนนี้เริ่มไปเกือบ 3 บทแล้ว ส่วนวรรณกรรมเยาวชน ก็เขียนไปตั้ง 4 บทแล้วนะ
"วรรณกรรมเยาวชนยากมาก เราวัยผ่านมาแล้วไง แต่อาศัยว่ายังมีลูกเล็กๆ อยู่ และเคยเป็นครูมาก่อนเลยเข้าใจความคิความอ่านจินตนาการเด็กๆ อยู่พอสมควร ตอนนี้วรรณกรรมเยาวชนบ้านเรามีกลิ่นอายสีสันเมืองนอกทั้งนั้นเลย ที่เป็นแฟนตาซีแบบแฝงความเป็นไทยๆ ซบเซาลงไปเยอะ เลยอยากเขียนให้เด็กๆ ได้อ่านกัน"
แถมวรภยังแอบแย้มมาอีกด้วยว่า วางแผนจะเขียนนิยายเชิงพาฝันที่แหวกแนวจากเรื่องอื่นอีกด้วยนะ จะเป็นยังไงก็ต้องติดตามกันต่อไปล่ะ
ทุกวันนี้ วรภพอใจกับชีวิตในระดับหนึ่ง เพราะความฝันสูงสุดจริงๆ คือการดำรงอยู่ให้ได้ในอาชีพนักเขียน เมื่อไหร่ที่ทำได้ ถึงจะถือว่าการตัดสินใจทั้งหมดของเขาประสบความสำเร็จ
และทั้งหมดคือวิถีชีวิตที่วรภ วรภา มุ่งมั่นลิขิตด้วยความตั้งใจ