บทความ

ชนบทในวรรณกรรม วาระครบรอบ 25 ปี "กลุ่มนาคร"

by Pookun @August,05 2007 18.36 ( IP : 124...159 ) | Tags : บทความ

ชนบทในวรรณกรรม วาระครบรอบ 25 ปี "กลุ่มนาคร" จุดประกาย วรรณกรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 6891 วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย : รายงานจากพื้นที่

วันที่ 27 กรกฎาคม 2550 'กลุ่มนาคร' ร่วมกับโครงการเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดสัมมนาทางวิชาการวรรณกรรม (ในวาระครบรอบ 25 ปี กลุ่มนาคร กลุ่มนักเขียนภาคใต้กลุ่มหนึ่งที่เคยมีบทบาทในแวดวงวรรณกรรมทั้งในเรื่องการก่อตั้งกลุ่มคนและการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรมจนเป็นที่รับรู้ของคนในแวดวงนี้มาครบเสี้ยวศตวรรษ) ว่าด้วยเรื่อง 'การเขียนชนบทในวรรณกรรม' ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยมีรายการอภิปรายเกี่ยวกับปมประเด็นในงานวรรณกรรมที่น่าสนใจยิ่ง

(1)

การอภิปรายเรื่อง แนวคิดว่าด้วยการเขียนชนบท วิทยากรประกอบด้วย รศ.ยงยุทธ ชูแว่น มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม ประมวล มณีโรจน์ นักเขียนอิสระ ดำเนินรายการโดย พิเชฐ แสงทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

การเขียนชนบท หมายถึง มโนทัศน์ที่แสดงออก/กล่าวถึงสภาพการณ์ทางสังคมในด้านความเชื่อ ความคิด อารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมที่ผู้ผลิตงานด้านศิลปะวรรณกรรมนำเสนอต่อสาธารณะซึ่งผลผลิตดังกล่าวได้แสดงจุดยืน/มุมมองผ่านกระบวนทัศน์อันใดอันหนึ่งเพื่อร่วมวาทกรรมกับสังคมที่ตนเองสังกัด ซึ่งเป็นนิยามศัพท์ของเอกสารโครงการสัมมนาวรรณกรรม ในวาระ 25 ปี กลุ่มนาครในครั้งนี้

ยงยุทธ ชูแว่น ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ได้เท้าความย้อนหลังไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่าการเขียนถึงชนบทตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ยุคใหญ่ๆ คือ จากยุคของการมองชนบทในฐานะเป็นพื้นที่ที่ทุรกันดาร ล้าหลัง จนมาถึงการมองพื้นที่ชนบทในฐานะพื้นที่ทางสังคมที่จะต้องรองรับการพัฒนาตามนโยบายของส่วนกลางและชนบทที่โต้กลับอำนาจรัฐในยุคหลัง

วิวัฒนาการของความคิด ปฏิบัติการโต้แย้งและความคลี่คลายของการเขียนชนบทเริ่มจากช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงปี 2500 การเขียนชนบทเป็นที่มั่นของส่วนกลางเพื่อเอื้อให้ต่อการปกครองแบบรวมศูนย์จากส่วนกลาง ช่วงปี 2500-2520 เป็นภาพชนบทที่เอื้อต่อการพัฒนาของแม่แบบคือส่วนกลาง มองชาวบ้านหรือชาวชนบทเป็นคนโง่ เป็นช่วงของการรับเอาแนวคิดในการพัฒนาจากฝรั่งมาใช้มองภาพชนบท และปี 2520 ถึงปัจจุบันมีความพยายามรื้อฟื้นอำนาจของชาวบ้านขึ้นมาโต้กลับ มีการเชิดชูชาวบ้าน ซึ่งตอนหลังนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นภาพชาวบ้านที่เพ้อฝัน

ยงยุทธ ชูแว่น ฝากไว้ให้ตระหนักว่า "การเขียนชนบทเป็นเรื่องสำคัญ ให้มองชนบทจากหลายมุมหลายมิติ ภาระนี้ยิ่งใหญ่ให้ช่วยกันคิด"

ประมวล มณีโรจน์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า...

"ทุกวันนี้ภาพของหมู่บ้านชนบทค่อนข้างจะหลากหลาย มีความขัดแย้งกันอยู่ มีทั้งการพัฒนากระแสหลักและกระแสรอง การพัฒนากระแสหลักก็ดิ่งเดี่ยวและครอบงำ ในขณะที่การพัฒนากระแสรองต้องตั้งรับภาพชนบทในวรรณกรรมในอดีตไม่ขัดแย้งเหมือนในปัจจุบัน มีข้อกังขาว่าทฤษฎีภาพสะท้อนทางวรรณกรรมจะเหมือนภาพสะท้อนในกระจกหรือไม่ ทฤษฎีภาพสะท้อนที่เราเชื่อกันว่ามันสะท้อนหรือมันเป็นภาพแทนหรือภาพสร้าง ภาพแทนคือภาพที่ไม่ได้เป็นภาพจริงของชนบทเช่นเดียวกับภาพสร้าง"

สังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่า "อดีตเป็นความล้าหลัง อนาคตเป็นความก้าวหน้า" อีกทั้งเราไม่อาจจะบอกต้นปลายของปรากฏการณ์ได้เพียงหนึ่งชั่วอายุคน

การเขียนและการบันทึกอยู่ในอำนาจของใคร เพื่ออะไรก็จะสามารถทำให้เป็นไปตามที่เขาต้องการได้ ถ้าการเขียนเป็นแสงสว่าง ประชาชนผู้ด้อยโอกาสก็จะถูกกำหนดให้อยู่ในเงามืด คนกลุ่มน้อยที่อยู่ในแสงสว่างก็จะปิดหูปิดตาประชาชนเอาไว้ แม้ว่าคนในเงามืดจะถูกเปิดให้ในที่สว่างแล้วแต่พวกเขากลับไม่มองตัวเอง

การลำดับแวดวงวรรณกรรมไทย แรกๆ วรรณกรรมอยู่ในแวดวงของคนกลุ่มเล็กในเมืองหลวง ชนบทเข้ามาเป็นฉากผ่านของวรรณกรรม แต่การดำเนินเรื่องยังเป็นวิถีของคนเมืองอยู่เช่นเดิม ภาพกระท่อมเลี้ยงเป็ดคือภาพชนบทแบบโรแมนติกจากงานวรรณกรรมประเภทนี้ เช่น งานของ ไม้ เมืองเดิม งานที่ตัวละครขี่ม้า ยิงปืน ไปอยู่ชนบท แต่ยังไม่เป็นคนชนบทจริงๆ เหมือนกองถ่ายหนังเอาผู้แสดงหนังไปถ่ายทำหนังในชนบท

ต่อมาก็เป็นการปรากฏตัวของคนชนบทและนักสู้ เช่น ขอแรงหน่อยเถอะ (ศรีบูรพา) แผ่นดินนี้ของใคร (ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์) ฯลฯ

วรรณกรรมเพื่อชีวิตของ ลาวคำหอม, สมคิด สิงสง, คำหมาน คนไค, วัฒน์ วรรลยางกูร ฯลฯ เหมือนความมืดถูกเปิดออกมากลับไปหาลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงถูกมองว่าเป็นภาพสร้างหรือภาพแทนมากกว่าจะเป็นภาพสะท้อนถึงชนบทที่เป็นจริง

แล้ว ประมวล มณีโรจน์ ก็ทิ้งท้ายให้คิดว่า

"ชนบทที่เป็นจริงจะอยู่ระหว่างแนวคิดของขวากับซ้ายหรือไม่ เราจะหาคำตอบได้หรือไม่?"

(2)

อะไรคือชนบทของกลุ่มนาคร...นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการอภิปรายเรื่อง การเขียนชนบทของกลุ่มนาคร วิทยากรประกอบด้วย ดร.แพทริค โจรี จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช เวียง-วชิระ บัวสนธิ์ สำนักพิมพ์สามัญชน ดำเนินรายการโดย จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย ('รูญ ระโนด) กลุ่มนาคร

ดร.แพทริค โจรี เกริ่นนำว่าฝรั่งมองชนบทไทยใน 2 แบบ คือ แบบโรแมนติก โดยมองว่าชนบทบริสุทธิ์ ครอบครัวอบอุ่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตามสบาย กับแบบมองว่าเป็นที่ที่ล้าหลัง มีคนด้อยโอกาสมาก มีค่านิยมศักดินา ไม่เสมอภาค มีความอยุติธรรม

แพทริค ประมวลงานเขียนหรือผลงานวรรณกรรมของสมาชิกกลุ่มนาครได้ว่า

  1. เป็นภาพสะท้อนของชนบทภาคใต้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้ สะท้อนวิถีทางสังคมที่กำลังจะหายไป

  2. สะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม

  3. ให้ความสำคัญกับชนบทมากกว่าในเมือง ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมแบบจารีตมากกว่าการสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่

  4. ภูมิภาคนิยม สะท้อนการแทรกแซงที่มาจากภายนอก ทุนนิยมเป็นความชั่วร้าย

  5. สมาชิกกลุ่มนาครมองว่างานวรรณกรรมมีความสำคัญกว่างานวิชาการ เป็นต้น

ด้าน เวียง-วชิระ บัวสนธิ์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทางวรรณกรรมทั้งการเป็นนักเขียนและบรรณาธิการนิตยสารและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ เน้นหนักไปที่ตัวตนกับงานเขียนของสมาชิกกลุ่มนาคร โดยมองภาพรวมของกลุ่มนาครว่าคนรุ่นใหม่มีทั้งชื่นชมและชิงชังงานเขียนของกลุ่มนาคร

พวกเขามองว่ากลุ่มนาคร "เป็นกลุ่มก้อนที่พยายามจะนับเน้นความเป็นท้องถิ่น เป็นกลุ่มที่มีภาพรวมว่ามีตัวตนหน้าตาสดชื่น แจ่มใส แต่งานเขียนไม่ค่อยมีความสุข ใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างวาทกรรม สะท้อนปัญหา ไม่ได้ชี้ทางออก บอกทางแก้ นักเขียนกลุ่มนาครปากจัด เหน็บแนมแม้จะสุภาพ"

เวียง-วชิระ บอกว่า น้ำเสียงแบบกลุ่มนาครเป็นน้ำเสียงแบบ 'ปัญญาชน' จึงไม่แน่ใจว่ามันกลมกลืนกับเนื้อสาร มีพลังหรือไม่ เช่น ยกตัวอย่างเรื่องสั้น บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน ของ ประมวล มณีโรจน์ หรือ โดยวิธีของเราเอง ของ ไพฑูรย์ ธัญญา ในขณะที่ กร ศิริวัฒโณ ไม่เป็นปัญญาชนและกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มีวิธีเล่าเรื่องอีกแบบ แม้ว่าเขาจะเป็นปัญญาชนบ้างก็ตาม

และ เวียง-วชิระ ยังกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"ถ้ารัฐบาลอ่านงานเขียนของกลุ่มนาคร ประเทศนี้จะดีกว่านี้ เพราะงานเขียนเหล่านี้ได้บอกไว้หมดแล้ว"

(3)

วิจารณ์แห่งวิจารณ์...การอภิปรายเรื่อง วิจารณ์รวมเรื่องสั้น 'หมู่บ้านแห่งเมืองหลวง' ของ อัตถากร บำรุง และกล้วยหอมในร้านเคเอฟซี ของ กร ศิริวัฒโณ วิทยากร ประกอบด้วย สุภาพ พิมพ์ชน นักวิจารณ์วรรณกรรมและคอลัมนิสต์นิตยสาร 'ฅนมีสี' จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนอิสระ ดำเนินรายการโดย อ.จิรวัฒน์ แสงทอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช

สุภาพ พิมพ์ชน กล่าวว่า วรรณกรรมไทยในยุคแรกๆ เป็นวรรณกรรมเพื่อการบันเทิง มองชนบทเป็นแบบโรแมนติก ช่วงต่อมาวรรณกรรมให้ภาพชนบทเพื่อตอบสนองการพัฒนาตามกรอบคิดของส่วนกลาง ช่วงที่สามวรรณกรรมตอบสนองอัตลักษณ์ ตัวตนของชนบท แต่มีปัญหาว่าชนบทในวรรณกรรมเป็นอันเดียวกันหรือไม่กับชนบทในความเป็นจริง หรือเป็นเพียงชนบทที่นักเขียนสร้างขึ้นมาโดยที่ชนบทหรือชาวบ้านไม่ได้มีส่วนในการกำหนด

เขามองว่างานเขียนของกลุ่มนาครมี 2 ลักษณะ คือ

  1. แนวมานุษยนิยม/ประสบการณ์นิยมเหมือนงานของ มนัส จรรยงค์

  2. แนวเพื่อชีวิต บันทึกชีวิตชาวชนบทเชิงโศกนาฏกรรม สุขนาฏกรรม มีจุดมุ่งหมายบางอย่าง เช่น อยากเห็นชีวิตที่ดีขึ้น เล่าเรื่องชาวบ้านที่มีความทุกข์ เรื่องจึงไม่ค่อยมีความสุข มีแง่มุมทางการเมือง

เวลาอ่านวรรณกรรมของกลุ่มนาครเหมือนอ่านวรรณกรรมต่างประเทศกลุ่มอเมริกาใต้ แอฟริกา อาหรับ อ่านเอาประสบการณ์ชีวิตในภาคใต้ แม้จำชื่อคนเขียนไม่ค่อยได้ แต่ก็รู้ว่าเป็นของกลุ่มนาคร

ช่วงแรกๆ (ปี 2525-2530) แนวคิดทางการเมืองยังไม่ชัดนัก เขียนตามแนวของนักเขียนในส่วนกลาง ช่วงที่สอง (ปี 2530-2540) เห็นประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไป (เวลารวมเล่ม) พยายามขับประเด็นออกมา เช่น รวมเรื่องสั้น พันธุ์พื้นเมือง (อัตถากร บำรุง) ออกมาหลัง แผ่นดินอื่น (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์) แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันคือพยายามขับประเด็น

ปลายทศวรรษ 2530 มีกระแสท้องถิ่นนิยมสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ นักเขียนเอาประเด็นนี้มาขับเคลื่อน ชูประเด็นการเปลี่ยนแปลง ชูรากเหง้า

หมู่บ้านแห่งเมืองหลวง ของ อัตถากร บำรุง ไม่มีความเป็นเมืองเลย และกล้วยหอมในร้านเคเอฟซี ของ กร ศิริวัฒโณ ก้ำกึ่งกันระหว่างเมืองกับชนบท ภาพชนบทของทั้งสองเล่มพร่าเลือนพอๆ กัน ภาพชนบทใน หมู่บ้านแห่งเมืองหลวง นักเขียนไม่ได้เห็นชนบทอย่างที่เคยมอง ลักษณะด้อยของชนบทถูกทำให้เด่นชัด ถูกแทรกแซงจากภายนอก วัฒนธรรมของชาวบ้านชนบทในปัจจุบันเต็มไปด้วยความมักง่ายและผลประโยชน์

สุภาพ สรุปภาพรวมผลงานของอัตถากร บำรุง เล่มล่าสุดว่า "ยังมีร่องรอย วิธีคิดแบบเก่าแต่มีความคลี่คลาย"

ส่วน กล้าวยหอมในร้านเคเอฟซี จุดอ่อนของ กร คือสื่อความหมายชัดเจนเกินไป

จำลอง ฝั่งชลจิตร เปิดประเด็นถล่ม อัตถากร บำรุง อย่างไม่ยั้งยังกับโกรธกันมาข้ามชาติ โดยบอกว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้พูดด้วยเมตตา (คนเขียน) ที่สุดแล้วว่า สงสารตัวเอง เพราะเขียนเก่งกว่าอัตถากร จำลองถล่มทั้งนักเขียนและตัวละครของเขาอย่างยับเยิน

ตัวละครเอกทุกตัวเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 คือ ผมและข้าพเจ้าที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่งที่รู้ดีทุกเรื่อง บางเรื่องเขา-เป็นครู เป็นหมอ เป็นปัญญาชนอยู่ในท้องถิ่น พูดได้ทุกเรื่อง แต่ไม่เคยบอกว่าชนบทมีความต้องการความเป็นเมือง เมืองมีแต่เรื่องร้ายๆ เท่านั้น ผู้เขียนโดนยาสั่ง ให้ไปเขียนหนังสือแต่ไปติดกับข้อมูล รายละเอียด เป็นบ้าหอบฟาง ไม่รู้จักพอในการใช้ข้อมูล ผู้อ่านต้องการสติปัญญา เสียดายที่เขามีข้อมูลแต่เขียนไม่เป็น ผมอ่านแล้วทรมานเพราะมันมีข้อมูลที่ดีแต่ไม่มีความสุข "ศิลปะของการปั้นคือการเอาออก ไม่ใช่การพอกเข้า"

อัตถากรไม่เห็นเรื่องที่อยู่ในข้อมูล เรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องของเขาเข้าไม่ถึงข้อมูล เขาเป็นนักเขียนที่ขึ้นต่อข้อมูลมากเกินไป กลัวจะไม่เป็น 'ปัญญาชน' ตัวละครที่เป็น 'สมญานาม' หรือ 'ฉายา' เยอะเกินไปทุกตัวละครเล่นกับฉายาเกินไป

แต่อย่าลืมว่า "ศิลปะคือความพอดี มากไปก็เฝือ น้อยไปก็ไม่รู้เรื่อง"

และทั้งหมดนั้นคืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของกลุ่มนาครกับวันเวลา 25 ปี ที่สร้างสรรค์ผลงานรูปแบบต่างๆ สู่โลกวรรณกรรม 0

Comment #1
กลุ่มเขียนข้าว
Posted @August,05 2007 19.05 ip : 124...67

ยินดีครับ 25 ปีแล้ว "นาคร" 10 ปี กลุ่มเขียนข้าว นายหัวเจนจะมาฉลองให้รึเปล่า ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

Comment #2
หัวฟู
Posted @August,10 2007 13.53 ip : 125...103

เยี่ยมครับพี่ลอง จตุคาม วิพากษ์วิจารณ์ได้ตรงไปตรงมาดี กลัวแต่คนที่โดนวิจารณ์จะปิดหูปิดตาไม่ยอบรับรู้น่ะซี
ว่าแต่ว่าระวังขาลงนะคร้าบผม

Comment #3
ปุย วัฒนธรรมศึกษา มว
Posted @February,18 2008 09.49 ip : 202...5

สวัสดีค่ะ

สนใจประเด็นของกลุ่มนาคร กับการเคลื่อนไหวทางสังคมน่ะค่ะ ไม่ทราบว่าจะติดต่อกับทางกลุ่มได้ยังไงบ้างค่ะ

Comment #4
กฤษณะ ทองแก้ว
Posted @April,05 2010 19.11 ip : 118...152

ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มคนที่ทำความฝันให้เป็นความจริงได้...

Comment #5
มร.โรเบร์ต
Posted @February,19 2011 19.54 ip : 61...178

เพิ่งอ่านหมู่บ้านแห่งเมืองหลวง ของ อัตถากร บำรุงจบครับคิดว่าจะติดตามผมงานของนักเขียนท่านนี้ต่อไปครับ คุณลอง เรื่องสั้นวิจารณ์ก็'ได้แรงอก'นะ

แสดงความคิดเห็น

« 0706
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ