บทความ
อารมณ์ศิลปินของนักเขียน
อารมณ์ศิลปินของนักเขียน
เออเนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ชอบยืนเขียนหนังสือหน้าเครื่องพิมพ์ดีด และจะชอบมากถ้าได้ใส่รองเท้าอยู่บ้านคู่หลวม เขาเริ่มเขียนตั้งแต่ ๗ โมงเช้า ตั้งกฎเพียงว่าวันหนึ่งต้องเขียนได้ ๕๐๐-๑,๐๐๐ คำ (๕๐๐ คำประมาณค่อนหน้ากระดาษหนังสือ) เฮมิงเวย์จะหยุดเขียนตอนกำลังเขียนได้ลื่นไหล เพราะจะได้เขียนต่อได้ว่องไวในวันรุ่งขึ้น เฮมิงเวย์เชื่อว่าการเขียนที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนกำลังมีความรัก
แกรห์ม กรีน (Graham Greene) เขียนหนังสือวันละ ๕๐๐ คำ เมื่อถึงเป้าหมายแล้วจะหยุดทันที แม้จะยังเขียนไม่จบประโยค
ลูอิส แครอลล์ (Lewis Carroll) เขียนหนังสือเกือบทุกเรื่องด้วยการยืนเขียน รวมถึง การผจญภัยของอลิซในแดนมหัศจรรย์
โทมัส วูล์ฟ (Thomas Wolfe) ยืนเขียนหนังสือในครัว โดยใช้หลังคาตู้เย็นต่างโต๊ะ
วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ชอบยืนเขียนหนังสือลงในบัตรคำขนาด ๓ x ๕ นิ้ว โดยเขียนบางประโยคหรือบางฉากลงไป แล้วค่อย ๆ เติมให้สมบูรณ์ โดยการเติมนั้นไม่เป็นไปตามลำดับ นาโบคอฟเป็นคนหลับยากจึงเก็บบัตรคำไว้ใต้หมอน เผื่อตื่นดึก ๆ จะได้เอามาเขียนต่อ
สตีเฟน คิง (Stephen King) เขียนหนังสืออย่างต่ำวันละ ๑๐ หน้าทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด
แดน บราวน์ (Dan Brown) ตื่นมาเขียนหนังสือตั้งแต่ตีสี่ ตั้งนาฬิกาทรายกำหนดเวลาหนึ่งชั่วโมงไว้บนโต๊ะ พอครบชั่วโมงจะพักจากการเขียนไปยืดเส้นยืดสายและวิดพื้น เพื่อให้เลือดและความคิดแล่น
จอห์น สไตน์เบก (John Steinbeck) ชอบเขียนหนังสือด้วยดินสอยี่ห้ออีเบอฮาร์ด เฟเบอร์ รุ่นแบล็กวิง ๐๖๒ เขาว่าเป็นดินสอดีที่สุดแม้จะแพงกว่าดินสอทั่วไปสามเท่า
ดอน เดอลิลโล (Don DeLillo) คิดค้นวิธีใหม่ในการเขียนคือขึ้นหน้าใหม่ทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นย่อหน้าสั้นเพียงใด วิธีนี้ช่วยให้เขาเห็นประโยคชัดเจนขึ้น แก้ต้นฉบับง่ายขึ้น และทำให้มีสมาธิกับสิ่งที่เขียนมากยิ่งขึ้น
เคิร์ต วอนนิกัต (Kurt Vonnegut) เขียนทีละหน้า จากนั้นจะแก้แล้วแก้อีกจนกว่าพอใจ ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะเขียนจบเล่ม
มาร์เซล พรูสต์ (Marcel Proust) เขียนหนังสือส่วนใหญ่ตอนกลางคืน โดยเขียนบนเตียง
โรเบิร์ต ฟรอสต์ (Robert Frost) ชอบเขียนงานบนเก้าอี้ โดยเอาแผ่นไม้วางบนที่วางแขนเก้าอี้ต่างโต๊ะ
ทรูแมน คาโพที (Truman Capote) จะเขียนโดยใช้กระดาษสีเหลืองเท่านั้น
บัลซัก (Balzac) ดื่มกาแฟวันละไม่ต่ำกว่าสิบแก้ว เชื่อว่าการจะเขียนหนังสือที่ยอดเยี่ยมขึ้นได้ จำเป็นที่ตัวเขาต้องคงความบริสุทธิ์ผุดผ่องของร่างกายเอาไว้ ทุกครั้งที่ไปนอนกับผู้หญิงมา เขาจะบอกตัวเองว่า "สูญงานมาสเตอร์พีซไปอีกเล่ม"
กุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) เก็บรองเท้าแตะของคนรักเอาไว้ในลิ้นชักโต๊ะ
เอมิลี ดิกกินสัน (Emily Dickinson) เป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวยิ่งและไม่ออกจากบ้านไปไหน
จอห์น ชีเวอร์ (John Cheever) สมัยพักที่นิวยอร์กตอนหนุ่ม ๆ ทุกเช้าจะใส่ชุดทำงานลงลิฟต์มากับผู้ชายร่วมตึกที่ออกไปทำงาน ลงลิฟต์แล้วเขาจะเดินลงบันไดต่อไปชั้นใต้ดินของอาคาร ไปเขียนหนังสือในห้องเก็บของไร้หน้าต่าง ห้องนั้นร้อนมากจนเขาต้องถอดเสื้อผ้าออกหมดเหลือแต่กางเกงชั้นใน เขียนจนเที่ยงก็ใส่เสื้อผ้าขึ้นลิฟต์มากินข้าวบ้าน พอกินข้าวเสร็จก็กลับลงไปถอดเสื้อผ้าเขียนต่อ
ฟรีดริก วอน ชิลเลอร์ (Friedrich von Schiller) เคยเก็บลูกแอปเปิลเน่าไว้ในลิ้นชักโต๊ะ คอยเปิดสูดดมขณะแต่งบทกวี
แอนโทนี ทรอลลอป (Anthony Trollope) เขียนหนังสือตั้งแต่ตีห้าครึ่งถึงแปดโมงครึ่ง โดยวางนาฬิกาไว้ตรงหน้า เขาบังคับตัวเองให้เขียนให้ได้ ๒๕๐ คำต่อสิบห้านาที ถ้าเขียนหนังสือจบเล่มก่อนแปดโมงครึ่ง จะเริ่มเขียนนิยายเล่มใหม่ต่อทันที (หลังแปดโมงครึ่งเขาไปทำงานประจำ ณ ที่ทำการไปรษณีย์) ด้วยวิธีนี้ เขาเขียนนิยายได้ ๔๙ เล่มภายใน ๓๕ ปี
วิลเลียม ฟอล์กเนอร์ (William Faulkner) กล่าวว่าเครื่องมือจำเป็นในการเขียนหนังสือของเขาได้แก่ กระดาษ บุหรี่ อาหาร และวิสกี้ เขาดื่มเหล้าตลอดเวลาที่เขียนหนังสือ
โคเลตต์ (Colette) ชอบอ่านและเขียนหนังสือบนเตียง ก่อนเริ่มเขียนเธอชอบหาเห็บให้แมวก่อน
Saint-Pol-Roux แขวนป้าย "กวีกำลังทำงาน" ไว้หน้าประตูห้องนอน
คาร์ล ไฮยาซัน (Carl Hiaasen) เขียนงานหน้าคอมพิวเตอร์โดยใส่ที่อุดหู
แฟรงก์ แบร์โรวส์ (Frank Barrows) สมัยเขียนข่าวกีฬาให้หนังสือพิมพ์ เมื่อนั่งเขียนข่าวจะใส่ที่อุดหู และหยิบเข็มขัดสีดำเส้นใหญ่มารัดตัวเองไว้กับเก้าอี้
- บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คนกับหนังสือ นิตยสารสารคดี เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐