บทความ
คนปลูกดอกไม้ : ถวัลย์ ดัชนี
ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของถวัลย์ ดัชนี ในนิตยสาร เห็นว่าเขาได้ให้ทัศนะ มองมองที่น่าสนใจไม่น้อย บางอย่างสามารถนำมาตั้งคำถามกับชีวิตการลงทุนของเราได้ จึงอยากแบ่งปันกันอ่าน
คนปลูกดอกไม้ : ถวัลย์ ดัชนี http://www.marsmag.net/?ref=http%3A//www.marsmag.net/s1000obj/frontpage/page/35.html&url=http%3A//www.marsmag.net/s1000obj/frontpage/page/131.html%3Fcontent_id%3D1239
ในฐานะของคนที่ทั้งเรียน ทั้งทำงานศิลปะในประเทศตะวันตกมาสิบกว่าปี หากเจาะจงเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน คุณมองเห็นความต่างเรื่องนี้อย่างไร ระหว่างประเทศตะวันตกกับบ้านเรา
เรื่องการอ่าน ม.ล. มานิจ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิด้านการอ่าน การเขียนของของบ้านเรา ท่านบอกว่าในจำนวนคนหกสิบล้านคนในบ้านเรา เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งอ่านหนังสือคนละไม่ถึงสิบหน้า ซึ่งเรื่องการอ่านนี้ผมวิเคราะห์ว่า... เนื่องจากคนตะวันออกนั้นอ่านจากธรรมชาติ เรามีฤดูร้อน มีฤดูฝน มีฤดูหนาว เรามีลมพัด มีภูเขา มีทุ่งราบ ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผ่นดินไหว เราไม่มีโคลนถล่ม ไม่มีภูเขาไฟระเบิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราอ่านจึงเป็นธรรมชาติ เราแทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะมาอ่านข้อมูลที่เขียนเอาไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลแห้ง ส่วนในยุโรป เขามีฤดูหนาวอันยาวนานถึง 10 เดือนต่อหนึ่งปี ฉะนั้น เขาจึงต้องถนอมทั้งความคิด ทั้งอาหาร รวมไปถึงการใช้ชีวิต
สื่อต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และนาฏกรรม จึงถูกนำมาเสนอแก่ผู้ซึ่งถูกตรึงไว้กับภูมิอากาศที่ครอบคลุมอยู่ ฉะนั้น เขาจึงต้องมีวรรณกรรม มีวัฒนธรรมในการอ่านหนังสือ ส่วนในบ้านเรา-ไม่มีวัฒนธรรมในการอ่านพระไตรปิฎก เพราะคนที่อ่านคือพระเท่านั้น เพราะท่านรู้ภาษาบาลีและสันสกฤต บ้านเราจึงไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน ไม่มีวัฒนธรรมการฟัง ถึงฟังเราก็ไม่รู้ความหมาย มีเพียงศรัทธาจริตที่ฟังว่า นะโม ตัสสะ ภควโต เราก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ หรือพ่อแม่สอนให้ไหว้พระเราก็ไหว้ไปอย่างนั้นแหละ ตรงนี้คือการควบคุมกายชนิดหนึ่งเรียกว่ากายานุสติปัฏฐาน คือรู้จักการนั่ง นอน ยืน เดิน หายใจ แต่ไม่เข้าใจ เพียงแค่รู้สึกว่านี่คือของศักดิ์สิทธิ์ เป็นความสูงส่ง แต่ไม่เข้าใจ เพราะวัฒนธรรมของเราไม่ได้สอนเพื่อการเข้าใจ วัฒนธรรมของเราสอนให้เกิดศรัทธาจริตและความรู้สึก แล้วปกติ 10 เดือนเราอยู่ข้างนอก ส่วนฤดูหนาวเราก็มีแค่เดือนเดียว อย่างมากก็สองเดือน แต่ทุกวันนี้อาจะเหลือครึ่งเดือนด้วยซ้ำ เราจึงสนุกสนานกับการใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกบ้าน สนุกสนานกับชั้นบรรยากาศ เรามีผลไม้กินตลอดปี มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เราจึงไม่ต้องถนอมอาหารทีละมากๆ ไม่จำเป็นต้องมีตู้เย็น ส่วนประเทศแถบยุโรปเขาจำเป็นต้องอยู่ในบ้านเป็นสิบๆ เดือน ขณะที่บ้านเรามีแต่พระเท่านั้นที่อ่านพระไตรปิฎก ส่วนบ้านเขาใครๆ ก็อ่านไบเบิลได้ เพราะเป็นภาษาที่เขาอ่านรู้เรื่อง เด็กๆ อ่านรู้เรื่อง มีครูสอน ขณะเดียวกัน-จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม มันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเขา มีอยู่ในบ้านเมืองเขาสามพันปีมาแล้ว เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน ส่วนบ้านเราเกิดมีวัฒนธรรมขึ้นมาจริงๆ ก็แค่เจ็ดร้อยปี ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีศรีวิชัย มีทวารวดี มีลพบุรี แต่ก็ไม่เรียกยุคอารยธรรม เพราะยังไม่มีศิลาจารึก พอมีศิลาจารึกเราก็ขาดตำนาน บางทีมีตำนาน มีศิลาจารึก แต่ขาดศิลปะ เมื่อใดที่มีศิลปะ มีศิลาจารึก มีตำนาน เราจึงจะอ้างอิงได้ว่านี่คือประวัติศาสตร์ แต่เมื่อประวัติศาสตร์ของเราเป็นเพียงแค่เชียงแสนขึ้นมา แต่เราก็ไม่รู้ว่าเชียงแสนมาจากไหน อยู่ดีๆ ก็เป็นคลาสสิกขึ้นมาเลย สุโขทัยก็เป็นคลาสสิก อู่ทองก็เป็นคลาสสิก อยุธยาก็เป็นคลาสสิก เราไม่มี primitive มาก่อน ไม่มี Ascetic มาก่อน อยู่ๆ ก็เป็นคลาสสิกขึ้นมาเลย เราไม่มีชุมชนบุรพกาลว่าเราสร้างบ้านแปงเมืองมาขนาดไหน เราค้นตัวหนังสือไทยได้แค่เจ็ดร้อยปี วัฒนธรรมที่มีมาเพียงเจ็ดร้อยปีจะไปเทียบกับวัฒนธรรมที่เขามีสามพันปีได้อย่างไร หรือจะบอกว่าอเมริกาที่เขาเพิ่งก่อตั้งมาสองร้อยปี แต่บรรพบุรุษเขาก็มาจากยุโรปกันทั้งนั้น อ่านหนังสือกันมาทั้งนั้น
เมื่อไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน การดู และการฟัง เราจึงไม่มีวัฒนธรรมในการดูจิตรกรรม ประติมากรรม อย่างมากก็เป็นได้แค่รูปเคารพในการทำศาสนพลี แล้วบ้านเรือนของเราก็เป็นแค่บ้านเรือนเครื่องผูก เป็นแค่กระต๊อบ นอกจากขุนนางวังน้ำเท่านั้นที่เป็นเรือนไม้ ส่วนตึกนั้นยิ่งไม่มีใหญ่ เราอาศัยอยู่ในภูมิประเทศแบบ... คืออยู่แบบยึดถือไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราไม่ยึดถือความมั่นคงว่าต้องสร้างตึกหิน ทำด้วยอิฐ เพราะเราไม่มีหิมะ ไม่มีลมหนาว เราก็เลยอยู่แบบง่ายๆ เราจึงทำแค่กระต๊อบ มุงหลังคาด้วยจาก ด้วยใบตอง ฉะนั้น งานศิลปะได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และวรรณกรรมจึงจำกัดอยู่แค่เจ้าขุนมูลนายที่ได้รับการศึกษาเท่านั้น ส่วนไพร่ฟ้าทั้งหลายก็ยากที่จะไปรับสัมผัสอันนี้ ส่วนในต่างประเทศมันเป็นเรื่องจำเป็น
ทีนี้ ย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน หนังสือที่บอกว่าขายดีที่สุดอย่างหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย วันหนึ่งอย่างมากก็ไม่เกินห้าล้านฉบับ คน 62 ล้านคน หรืออย่างคนที่เรียนมาด้านอักษรศาสตร์หรืออะไรก็ตาม คุณลองไปถามดูสิว่าก่อนจะมาเรียนเขาเคยอ่านโองการแช่งน้ำไหม เคยอ่านไตรภูมิพระร่วงไหม เคยอ่านลิลิตพระลอ, ทวาทศมาส, ศรีปราชญ์, สมุทรโฆษคำฉันท์, ขุนช้างขุนแผน,นิราศนรินทร์, นิราศธารทองแดง,นิราศของเจ้าพระยาตรัง หรืองานร้อยแก้วของเสถียร-โกเศศ นาคะประทีป เรื่องกามนิตไหม พลนิกร กิมหงวน ล่ะเคยอ่านไหม แล้วสามสิบปีถัดมาก็เรื่อง เพชรพระอุมา ของพนมเทียน ซึ่งมาจากของเทรเดอร์ แฮกการ์ด ที่เขียนไว้ช้านานมาแล้ว เคยอ่านไหม
ที่ต่างระเทศ, ก่อนจะเกิดงานเขียนของเออเนสต์ เฮมิงเวย์ แจ๊ก ลอนดอน ได้เขียนมาก่อนแล้ว เช่น The Call of the Wine เป็นเรื่องการชกมวย ซึ่งเป็นแม่บททำให้เกิด The Sun also rise, To have and have not, The old and the sea งานของเฮมิงเวย์ มันสืบเนื่องกันมา แต่ของเรานี่--มันสะบั้นโคนรากแก้วมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากเจ้ามาเป็นไพร่ เมื่อก่อนเจ้าจะทะนุบำรุงจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรมและนาฏกรรมเอาไว้ทั้งหมด แต่พอเจ้าสิ้นอำนาจ ไพร่ขึ้นมาครองเมืองเมื่อ 60 ปี ไพร่เหล่านี้ไม่มีสุขุมรสใดๆ เลย ก็เลยไม่มีใครมาช่วยเหลือจิตรกร ประติมากร วรรณกร สถาปนิก และนาฏกร เมื่อสะบั้นรากแก้วเหล่านี้เสียแล้ว จิตกรก็ไม่มีใครจ้างไปเขียนรูปให้วัดให้วัง ประติมากรก็ไม่รู้จะปั้นรูปให้ใคร วรรณกรก็ไม่มีคนอุดหนุนให้ทำงาน ดังนั้น พวกจิตรกร ประติมากร สถาปนิก วรรณกร นาฏกรจึงกลายเป็นคนยากจนข้นแค้น ไม่มีใครเข้าใจ คนพวกนี้อยู่ตรงกลางระหว่างคนที่ไม่เกิดกับคนที่ตายแล้ว เราจึงไม่มีใครที่เป็นจิตรกรแล้วสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จิตรกรที่ผมหมายถึงก็คือคนที่เขียนรูปอย่างที่อยากเขียน ไม่ใช่คนที่รับจ้างเขียนรูปให้แก่พ่อค้าวาณิชหรือนายธนาคาร อย่างนี้ไม่ใช่การทำงานศิลปะ แต่รับจ้างวาดรูป ประติมากรก็ปั้นพระ ปั้นหลวงพ่อหลวงปู่กันไป ออกแบบเหรียญอะไรไป ไม่ได้สร้างงานศิลปะเอาไว้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจหรือเพื่อแสดงความรู้สึกอันงดงามของตนเองอะไร วรรณกรรมก็ออกมาเป็นวรรณกรรมที่เลวทรามต่ำช้า เพื่อรับใช้มวลชนชั้นรากหญ้า เอามาทำเป็นหนังเป็นละคร ไม่มีทั้งรสนิยม ไม่มีทั้งความคิด มอมเมาผู้คนมาโดยตลอด สถาปัตยกรรมก็มีสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง ไม่มีความเป็นชนชาติ ไม่มีความเป็นตะวันออก กระทั่งทุกวันนี้เราก็รับมนสิการจากฝรั่ง หลายคนต้องใส่สูท ผูกไท อยู่ในห้องแอร์ ฝรั่งเองเขาจำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะอากาศหนาว หิมะตก แล้วเราเกี่ยวข้องอะไรกับเขาล่ะ บ้านเราร้อนจนตับแลบ
ก่อนจะสวรรคต รัชกาลที่สามท่านเรียกลูกทั้งหมดมาแล้วตรัสว่า การศึกฝ่ายพม่าฝ่ายเขมรไม่ต้องไปสนใจแล้ว ฝรั่งยึดไปหมดแล้ว ฝรั่งจึงน่าสนใจ สิ่งดีๆ ควรจะเรียนรู้จากเขาไว้ แต่อย่าเลื่อมใสเขาเสียทีเดียว แต่เราเล่นไปเลื่อมใสฝรั่งเสียจนยกเมืองให้แก่ฝรั่ง ยกความคิดให้แก่ฝรั่ง เราคือทาสที่ปลดปล่อยไม่ไปของฝรั่ง ทั้งที่ฝรั่งบอกว่าไม่เอาหรอก เขาไม่ได้ยึดเราเป็นเมืองขึ้น แต่เราอยากเป็นทาสของฝรั่ง ฝรั่งบอกไม่เอาๆ เราก็ขอ ขอเป็นทาส เป็นทาสทั้งรูปแบบ ทั้งเนื้อหา ทั้งความคิด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงเป็นแบบนั้น ในฐานะที่ผมเป็นคนไทย ผมมาจากวัฒนธรรมล้านนา ผมมาจุ่มอยู่ในวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ แล้วผมไปจุ่มอยู่ในวัฒนธรรมยุโรป รวมทั้งอเมริกา สาเหตุที่ทำแบบนั้นเพราะผมต้องการเรียนรู้จากฝรั่งว่าเขาคิดอย่างไร นำเสนออย่างไร แต่ผมก็คือคนเอเชีย ฉะนั้น สิ่งที่ผมทำทั้งหมดคุณจะเห็นว่าผมธำรงรักษาแสงเพลิงทางพุทธิปัญญาของตะวันออกเอาไว้ แต่ผมเป็นตะวันออกที่ร่วมสมัย ไม่ใช่ตะวันออกที่ต้องเขียนลายกนก ลายไทย ผมเน้นที่ลมหายใจและจิตวิญญาณของความเป็นตะวันออก ผมเป็นคนไทยร่วมสมัยที่ยังหายใจอยู่ใน พ.ศ. นี้ ไม่ใช่ไทยโบราณ
อย่างที่พูดไป เมื่อไม่มีใครมาดูแลจิตรกร สถาปนิก ประติมากร วรรณกร นาฏกร บ้านเมืองมันจึงได้เละเทะอย่างนี้ เราล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เดี๋ยวเราก็มีกระทรวงเกี่ยวกับวัฒนธรรม แต่พอผู้ปกครองบ้านเมืองเห็นว่าไม่มีประโยชน์ก็ยกเลิกกันซะ แล้วก็เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อสองสามปีนี้เอง แล้วกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ได้สนใจจะทำงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมจริงๆ คนที่มาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมเอาเสียเลย ไม่มีใดๆ เลยทั้งสิ้น อย่างมากก็แค่มาบอกว่า เมื่อทักทายกันต้องสวัสดี ต้องก้มตัวลงกราบผู้ใหญ่ นั่นไม่ใช่วัฒนธรรม (เน้นเสียง) มันแค่ประเพณี ขนบธรรมเนียม เป็นแค่ของเล็กๆ น้อยๆ เป็นเพียงหนังกำพร้า ต้องขอเน้นว่าคนที่มาทำงานนี้ในประเทศไทยไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมเอาเสียเลย ทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือวรรณกรรม แม้แต่น้อย เขามาโดยตำแหน่ง มาโดยพวกพ้อง หรือช่องทางอะไรของเขาก็ไม่รู้ บ้านเมืองถึงไม่เจริญก้าวหน้าในด้านศิลปวัฒนธรรม เพราะคนที่ทำงานเขาคิดว่าไม่ใช่ฐานเสียงของเขา ไม่ใช่ลมหายใจของเขา ทุกวันนี้เขาเข้าใจกันว่าถ้าทำศิลปะก็ต้องเป็นเรื่องหัตถกรรม เรื่องโอท็อป เรื่องอะไร เพื่อให้ฝรั่งไว้ดู แต่ไม่ใช่งานศิลปะบริสุทธิ์ที่สามารถยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นกระจกสะท้อนความเป็นไปของมรดกทางวัฒนธรรมในชาติ เป็นประจักษ์พยานทางจิตของมนุษยชาติ ธำรงคงอยู่ซึ่งมรดกของความเป็นมนุษย์ เราแยกกันไม่ออกว่าอะไรคืองานศิลปะ อะไรคืองานหัตถกรรม ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือ ในที่สุดแล้วต้องบอกว่าเราแยกไม่ออกระหว่างรัศมีดวงดาวบนท้องฟ้ากับรอยตีนหมาที่สะท้อนแสงในโคลนตม
เราไม่มีผู้รู้ บ้านเมืองเลยต้องเป็นแบบนี้ นอกจากไม่มีผู้รู้แล้ว ยังไม่มีผู้รู้สึกอีก เราจึงไม่รู้สึกรู้สมอะไร ก็อยู่กันไปแบบนี้ ถึงจะรู้ว่าบ้านเมืองไม่มีผังเมือง เราก็ไม่เห็นว่าน่าเกลียดอะไร ไม่เดือดร้อน ถึงจะมีสลัมเต็มไปหมด เราก็เรียกใหม่ซะว่าชุมชนแออัด แล้วสลัมก็ไม่มีอีกต่อไป เราไม่แก้ไข เพียงแค่เปลี่ยนชื่อเฉยๆ จิตรกร ประติมากร สถาปนิกก็ไม่มีใครสนใจอย่างเก่า ก็ทำมาหากินกันไปสิ เลี้ยงตัวเองไปสิ รับจ้างอาแปะ อาซิ้ม อากง นายธนาคาร เขาจ้างให้ทำอะไรก็ทำไปสิ แต่อย่าเสนอรูปแบบหรือเนื้อหาอะไรเองนะ ต้องทำตาม เขาอยากได้แบบไหนก็จงทำตาม เมื่อเป็นอย่างนี้ศิลปะมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
สมัยเป็นนักเรียน ผมไปพักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์ มีเส้นทางสายหนึ่งเขาเขียนไว้ว่า เส้นทางนี้ของ Truman capotes เขากำลังเขียนหนังสือ อย่าเดินไปนะ เดี๋ยวจะทับเส้นทางเขา อย่าไปทักทายเขานะ เพราะขณะนั้นเขาอาจจะกำลังคิดอะไรอยู่ก็ได้ ถ้าทักอาจทำให้ความคิดของเขาสะดุด เส้นทางนี้ของ ฮาโร รอบบิ้นส์ เขากำลังเขียนนวนิยายเรื่อง The Dream Die First แต่ยังไม่ทันจะเขียนทางฮอลลีวูดก็เอาเงินมาวางให้ 15 ล้านเหรียญ เขียนเสร็จแล้วจะขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อทำเป็นหนัง แต่บ้านเรา--คนที่เป็นวรรณกร เป็นกวี กว่าจะเขียนหนังสือขึ้นมาได้เล่มหนึ่ง นอกจากต้องใช้เรี่ยวอย่างมากมายในการเขียนแล้ว ต้องวิ่งไปหาสำนักพิมพ์ กว่าจะได้พิมพ์ขึ้นมาสักเล่มหนึ่งได้ ซึ่งได้เล่มละไม่กี่บาท บางคนไปศึกษาศิลปะอยู่แถวอยุธยา ต้องอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง ใช้เวลาสองปีกลับมาเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่ง แต่ค่าลิขสิทธิ์หนังสือได้ไม่กี่พันบาท ฉะนั้น เราจึงมีแต่คนยากคนจนที่ประกอบงานศิลปะ เพราะไม่มีใครเอาใจใส่ ไม่มีคนสนใจ ไม่มีใครเห็นมูลค่าและคุณค่า แล้วจิตรกร ประติมากร วรรณกรก็เหมือนชาวนา...ที่เขาปลอบใจว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของแผ่นดิน เขาพูดให้สวยงาม เพื่อเอาใจกันไปอย่างนั้นแหละ ศิลปินทั้งหลายก็เป็นรากแก้วของสติปัญญา แต่เขาไม่ได้ช่วยเหลืออะไรคุณ เขาไม่ได้สนใจคุณ คุณทำอะไรออกไปก็อยู่ในวงแคบๆ ถ้าดูที่ต่างประเทศ ผมมีเพื่อรุ่นพี่อย่างจัสเปอร์ จอห์น เป็นจิตรกร รูปเขาอย่างต่ำที่สุดล้านเหรียญขึ้นไป ฉะนั้น ศิลปินจึงสามารถซื้อเกาะส่วนตัวได้ ซื้อเครื่องบินไอพ่นได้ ไม่ต่างอะไรกับนักกอล์ฟหรือนักฟุตบอล ดังนั้น คุณจะเห็นว่าในดาวเคราะห์ดวงนี้สิ่งที่แพงที่สุดคืองานศิลปะ ไม่ใช่พ่อค้าน้ำมันหรือพ่อค้าทั่วๆ ไป ตอนนี้-งานของแวน เก๊าะห์ รูปหนึ่งก็เป็นหมื่นล้าน งานของปิกัสโซนี่จะแสนล้านเข้าไปแล้ว แต่บ้านเราจะเอาสักหมื่นหนึ่งหรือแสนหนึ่งแทบไม่มีหรอก ได้แค่สี่ห้าพันก็บุญแล้ว
ที่ยุโรปหรืออเมริการัฐบาลเขาจะช่วย เขามองเห็นว่าเขียนรูปแบบนี้ ไม่มีคนซื้อหรอก เพราะน่ากลัวเกินไป จริงเกินไป เขาก็จะมีรัฐบาลกลางมาซื้อเอาไว้ เพราะคนพวกนี้ทำงานอย่างที่เขาอยากทำ ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร แต่บ้านเราเขาห้ามไม่ให้คิด จิตรกร ประติมากร สถาปนิก คุณต้องฟังคำสั่งเจ้านาย แต่เจ้านายไม่ต้องรู้เรื่องศิลปะอะไรเลย เขาอยากได้ตึกแบบนี้ คุณเป็นสถาปนิกคุณก็ต้องทำ ถ้าเป็นจิตรกรเขาบอกว่ามีห้องขนาดนี้ มีสีอย่างนี้ คุณก็ทำไปอย่างที่สั่ง ตอนนี้ทุกอย่างในบ้านเรามันจึงกลายเป็นอาหารตามสั่ง นี่คือโฉมหน้าบ้านเรา
ในเมื่อคนเอเชียไม่มีวัฒนธรรมการอ่านอันเป็นรากฐานแน่นหนามาแบบยุโรป แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการอ่านถือเป็นจุดร่วมของคนทั้งโลก ถ้าไม่อ่านหนังสือคนเอเชียจะแสวงหาความรู้จากอะไร อะไรคือจุดแข็งของคนเอเชีย
จุดแข็งของเราคือการอ่านตรงจากธรรมชาติ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเขา ซึ่งเขาไม่อ่านหนังสือเลย แต่เป็นผู้ชำนาญเรื่องธรรมชาติ ชำนาญไพรมาก เขาสามารถอ่านจากสายลม อ่านจากแสงแดด อ่านจากสายรุ้ง อ่านจากใบไม้พลิกใบ แล้วผมก็ไม่แปลกใจ เพราะผมเคยอยู่กับชนเผ่านี้มาตั้งแต่เล็กๆ เมื่ออายุ 15 ปีผมเคยตามล่ากวางกับมัน ผมหิวน้ำแทบตายแล้วก็บอกมันว่าข้างหน้ามีเสียงน้ำไหล น่าจะเป็นห้วย แต่มันบอกว่าน้ำที่เราได้ยินน่ะเป็นน้ำที่อยู่ในท้องของช้างที่เดินมาเป็นโขลง ซึ่งก็จริง หรือครั้งหนึ่งตอนออกไปล่าสัตว์ ผมเห็นตาอะไรสักอย่างแดงๆ มันบอกว่าอย่ายิง อยู่สูงขนาดนี้ไม่มีกวาง เก้ง หรือหมูป่าอะไรหรอก แล้วสีแดงก็ไม่ใช่แดงทับทิมเหมือนตาเก้งกวาง นี่มันตานกยูง ยิงไปก็เสียเปล่า นี่คือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากธรรมชาติ
ตอนผมกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ผมเป็นครูอยู่ที่เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรขึ้นไปบนดอย เขาก็ใช้เครื่องจับความชื้นในอากาศ จากนั้นก็บอกว่าดินแถวๆ นี้เหมาะในการปลูกพริก เพราะมันเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนตรงโน้นควรจะปลูกฝิ่นเพราะเป็นดินเหนียวสีดำ กว่าจะได้ข้อสรุปอย่างนี้เขาใช้คนประมาณ 15 คน ใช้เงินไปหลายหมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทั้งอิสราเอล ทั้งไทยเต็มไปหมด แต่เพื่อนผม ซึ่งเป็นชาวเขาก็ถามผมว่าเขามาทำอะไร ผมก็บอกว่าเจ้าหน้าที่มาวิจัยดิน ว่าดินตรงไหนเหมาะจะปลูกอะไร มันก็ไม่ว่าอะไร ก็เดินคุยกันไป เดินไปสักพักหนึ่งก็ใช้มีดพร้าที่เหน็บเอวอยู่ทิ่มลงไปในดินแล้วก็ดึงขึ้นมา ดินไม่ติดพร้าเลย มันบอกว่าแสดงว่าเป็นดินร่วนและซุย อย่างนี้ปลูกพริกปลูกงาปลูกข้าวดี จากนั้นก็เดินไปอีกสักสองร้อยก้าวแล้วใช้มีดทิ่มลงไปอีก มีดินติดปลายมีดขึ้นมาหน่อยหนึ่ง มันบอกว่าตรงนี้ดินเหนียว ปลูกฝิ่นดี กัญชาดี ซึ่งมันไม่ต้องมารู้เลยว่าความชื้นในอากาศเท่าไหร่ ไม่ต้องหาค่าสัมพัทธ์ของน้ำของดิน แต่ธรรมชาติสอนให้มันเข้าใจเรื่องพวกนี้เอง เพราะนี่คือเส้นโลหิตของมัน ลองไม่รู้สิก็ต้องอดตาย
ที่คุณพูดถึงโลกาภิวัตน์หรือ Globalization มันก็คือกากเดนของฝรั่ง เป็นสติปัญญาที่ครอบคลุมไปทั่วโลก มันก็แค่คำโฆษณาชวนเชื่อของฝรั่งเท่านั้นเอง เพราะแต่ละที่แต่ละแห่งก็ต่างกัน อย่างอาหารการกินที่เรียกว่าฟาสต์ฟู้ดหรือแดกด่วนมันก็เหมาะกับฝรั่ง แต่เราต้องกินข้าว แล้วข้าวเราก็ต่างจากข้าวของญี่ปุ่นหรือข้าวของอิสราเอล ส่วนฝรั่งก็จะกินเมล็ดพืช กินขนมปัง เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ของมนุษย์ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมาจากการอ่านหนังสือเท่านั้น มันมาจากแหล่งอื่นๆ ได้ ยิ่งถ้าเป็นนิตยสารที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้... อย่างผมมาจากเชียงราย ทั้งเนื้อหาและรูปแบบของนิตยสารมันไม่ได้สัมพันธ์กับชีวิตผมเลยสักนิดเดียว มันไม่ได้ทำให้คนอ่านพบกับความสุข ความสว่าง หรือช่วยพัฒนาด้านจิตใจเลย แต่กลับเร้าให้คนอ่านต้องทะเยอทะยาน ต้องแต่งตัวแบบนี้ ต้องมีรูปแบบชีวิตแบบนี้ แล้วพฤติกรรมอยากมี อยากเป็นต่างๆ ของวัยรุ่นก็ล้วนมาจากสื่อที่เลวๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือทีวี แล้วแต่ไหนแต่ไรมาคนรุ่นโบราณเขาก็ไม่มีหนังสือ ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เขาก็สามารถอบรมลูกหลานให้เป็นคนดีมีศีลธรรมได้ สามารถสร้างบ้านแปงเมืองได้ สร้างมหาวิหาร สร้างพระราชวังได้ โดยที่ไม่ได้อ่านหนังสือ ความรู้หลักๆ มาจาก หนึ่ง-เรียนจากพ่อแม่ ครูอาจารย์ สอง-รู้ได้จากการใช้เหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรอง สาม-รู้จากประสบการณ์ แต่ทุกวันนี้... อย่างเรานั่งคุยกัน เมื่อก่อนเขาต้องจดบันทึก แต่ตอนนี้ใช้เครื่องถ่มน้ำลายแทน จากนั้นก็พูดใส่เครื่อง แล้วก็ไปถอด คนทุกวันนี้จึงไม่รู้จักแล้วว่า สุ จิ ปุ ลิ คืออะไร เพาะมันเต็มไปด้วยเครื่องมืออะไรมากมาย
รู้มาว่าที่บ้านคุณมีหนังสือเป็นหมื่นสองหมื่นเล่ม แสดงว่าเป็นคนให้ความสำคัญกับการอ่านมากทีเดียว ปัจจุบันการอ่านมีความจำเป็นสำหรับคุณมากแค่ไหน
ผมเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ ผมอยากรู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ผมพูดได้ถึง 6 ภาษา ดังนั้น ผมก็เอาของพวกนี้แหละมาเป็นเครื่องลับจินตนาการ ผมอยากรู้ว่าวิธีคิดแบบกรีกเป็นยังไง ผมอยากจะรู้ว่าคนอียิปต์คิดยังไง รากเหง้าและเมล็ดพันธุ์ของอียิปต์เมื่อหกพันปีที่แล้ว มหาอาณาจักรขนาดนั้น เมื่ออาณาจักรของมันล่มสลายไปแล้ว ผลึกเลือด โมเลกุล และนิวเคลียสของมันยังมีอะไรที่สืบสานทางวัฒนธรรมได้ เหล่านี้เป็นต้น สำหรับผม-การอ่านเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคม เพื่อจะออกมาเป็นรูปเขียน มันคือผังภูมิ มันเป็นท้องทุ่งแห่งจินตนาการ เราเดินเข้าไปเก็บดอกไม้มารวมเป็นช่อ เพื่อมันจะได้มีกลิ่นหอม ให้วิญญาณของเราชุบย้อมไปด้วยมวลดอกไม้ในท้องทุ่งแห่งมโนทัศน์ แล้วก็นำความหอมของดอกไม้มากลั่นเป็นน้ำหอม เพื่อเป็นเกสรแห่งจิตวิญาณของผู้คน บางปีผมใช้เวลาอ่านหนังสือ บางปีผมใช้เวลาบดย่อย บางปีนั้นผมใช้เวลารินไหล หมายความว่าคุณจะต้องดูดซับด้วย คุณต้องเคี้ยวเอื้องด้วย ต้องหลั่งรินด้วย ไม่ใช่ว่าคุณดูดซับอย่างเดียว แต่ไม่เคยหลั่งริน หรือคุณดูดซับ หลั่งริน แต่คุณไม่เคยเคี้ยวเอื้องความคิดให้มันตกผลึก มันก็ไม่สมบูรณ์ คุณเคยอ่านนิยายเรื่อง จางวางหร่ำ ไหม ผลงานของ น.ม.ส. ตอนหนึ่งพ่อเขียนจดหมายไปถึงลูกบอกว่า ที่พ่อส่งเจ้าไปเรียนก็เหมือนส่งคนไปเรียนทำแกงจืด คนที่ทำแกงจืดต้องรู้ว่าก่อนทำต้องเตรียมน้ำ เตรียมต้นหอม เตรียมผักชี เตรียมเนื้อสัตว์ เพราะแกงจืดเขาทำอย่างนี้ จึงไม่ต้องตำน้ำพริก ไม่ต้องขูดมะพร้าว ไม่ต้องเตรียมเครื่องแกง เพราะไม่ใช่เรื่องของแกงจืด ฉะนั้น ชีวิตนี้ผมจึงไม่พะรุงพะรัง หนังสือบางเล่มผมจึงไม่แตะ อย่าว่าแต่แตะเลยมองก็ไม่มอง เพราะมันจะเป็นข้าศึกต่อสายตา (หัวเราะ) บางเรื่องก็ไม่รู้จะอ่านไปทำไม มันหนักอึ้งและเพียบแปล้ไปด้วยสิ่งอโคจรต่อจิตวิญญาณเราทั้งสิ้น
ผมเดินทางไปยุโรปและอเมริกาทุกปี เพื่อจะรู้ว่าโลกไปถึงไหน เนปาล ทิเบต ภูฐาน ผมก็ไปทุกปีเหมือนกัน เพื่อเรียนรู้ว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์นั้นเป็นยังไง อยู่ยังไง ชีวิตนี้ผมอ่านหนังสือมาเป็นหมื่นๆ เล่ม ผมสามารถจดจำพระคัมภีร์ต่างๆ ได้เป็นร้อยเล่ม ทั้งของไทยและต่างประเทศ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพราะใจผมต้องโปร่งก่อนถึงจะสามารถรับสารต่างๆ ได้ ปีหน้าผมได้รับเชิญไปสอนหนังสือที่เบิร์กเลย์ และยูซีแอลเอ สหรัฐอเมริกา โดยสอนที่ละสามเดือน หลังจากที่เขาเชิญเมื่อสี่ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งจะตอบตกลงปีนี้เอง เพราะการขึ้นเวทีสักทีผมต้องเลือก
ความจริงแล้ว ผมไปสอนที่ต่างประเทศมาเป็นร้อยๆ ครั้งแล้ว ทั้งยุโรป ทั้งอเมริกา คราวนี้เขาบอกว่าเขาสนใจเรื่องพุทธปรัชญานิกายเซน ปรัชญานิกายพุทธมหายาน ในมุมมองของนักวาดรูป ที่เพิ่งจะรับปากก็เพราะว่าเพิ่งมีเวลาว่าง ประกอบกับเมื่อได้ดูงานของผมเองแล้วก็รู้สึกว่าพอทนได้
มีช่างวาดรูปที่ไปเข้าคิวเพื่อที่จะไปที่นั่นเป็นสิบๆ ปี แต่เขาก็ไม่เอา เพราะฝีมือไม่ถึง แต่กรณีผมเขาบอกว่าเขาตามงานผมมาตลอด 15 ปี รู้ว่าทำอะไรอยู่ ก็เลยเชิญ ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ ที่ต้องให้เขาหนังสือผ่านทางกระทรวงต่างประเทศหรือรัฐบาล แต่นี่เป็นการเชิญระหว่างผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กับผมโดยตรง
การรับเชิญไปสอนแบบนี้จะมีสองแบบคือ Visiting professor หรือที่เรียกว่าศาสตราจารย์รับเชิญ เชิญแบบเป็นเกียรติ อย่างนี้จะไม่ได้เงิน แต่ของผมไปนี่เขาเรียก Play visiting professor แบบนี้จะได้เงิน แต่ก็ไม่เยอะหรอก เงินเดือนแค่สองหมื่นเอง แต่พอมาคิดเป็นเงินไทยก็แปดแสนบาท ก็ไม่ถือว่าน้อยเท่าไหร่
ไปคราวนี้ผมคงไม่ต้องขนรูปไปด้วย เพราะไม่งั้นก็ต้องขนกลับมาอีก ผมเองมีบ้านที่โน่น ผมจะไปมือเปล่า ไปทำงานที่โน่นสักสามเดือน เพราะผมวัดความกว้างความยาวของพิพิธภัณฑ์ไว้หมดแล้ว สามเดือนผมก็สามารถคุมพื้นที่ได้หมด เหมือนงานแสดงที่นี่แหละ ตอนเขาเชิญผมถามว่าคุณเชิญผมกี่เดือน พื้นที่กี่ห้อง เขาบอกมีสามห้อง แล้วผมก็ใช้เวลาในการวาดรูปสามเดือนสำหรับสามห้อง สแตนฟอร์ดคือหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในอเมริกา คุณธารินทร์ นิมมาเหมินทร์ ก็จบจากที่นี่ เพื่อนผม อาจารย์นคร พวงน้อย ก็จบจากทีนี่ แม้ผมจะไม่ได้จบที่นี่ แต่การได้รับเกียรติก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมรับไปสอนคือผมสนุกที่จะได้นำเสนอความคิด ได้ฟังคำถามหรือข้อเสนอแปลกๆ จากนักเรียนทั้งยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะเด็กอเมริกานั้นก็มีทั้งเด็กอมริกันเชื้อสายเกาหลี อิตาเลียน ไทย ฟิลิปปินส์ ที่เกิดและใช้ชีวิตในอเมริกา แล้วความที่ผมเป็นคนผิวเหลือง มันก็ยิ่งดูถูกขึ้นมาอีกสองเท่า ยิ่งกว่าไอ้มืดอีก เพราะอย่างน้อยไอ้มืดมันก็ยังเป็นคนในอเมริกา ฉะนั้น มันจึงลองภูมิผมทุกรูปแบบ กระทั่งผมพูดเสียงแปร่งหน่อยเดียวมันก็เยาะเย้ยถากถางแล้ว พูดยังไม่ชัดเลย ผมก็เลยบอกไปว่า พูดชัดกับความคิดมันคนละเรื่องกัน ผมอาจจะพูดแปร่ง แต่ความคิดผมชัด เพราะผมไม่ได้เกิดที่นี่ ผมมาจากเมืองไทย มาจากเอเชีย ถ้าเจอผู้สอนผิวสีนักเรียนมันจะพยายามถามให้จนตรอก ต้อนให้จนมุม แต่ผมไม่จนมุมหรอก เพราะผมเตรียมตัวไปดี
เรื่องสีผิว-มีครั้งหนึ่งที่ผมความประทับมากคือ ครั้งหนึ่งผมอยู่ซูดาน เดินทางไปกับนักรบกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์ให้คณะพวกผมที่ไปกับชนชั้นสูงของยุโรป เพื่อไปล่าสัตว์ในซาฟารี ในคณะมีผมเป็นคนผิวเหลืองคนเดียว ระหว่างนั้นก็มีนักรบอีกกลุ่มหนึ่งสวนทางมา พอเจอผมที่กำลังหยุดพักใต้ร่มเงาไม้ มันหยุดทั้งหมดเลย แล้วสองสามคนก็เดินเข้ามาคุยกับนักรบที่เป็นไกด์ให้คณะผม พอเขาไปแล้วผมจึงถามไกด์ว่าสักครู่เขาพูดว่าอะไร เขาบอกว่าพวกนั้นมันบอกว่า คนขาวก็เคยกินมาแล้ว คนดำก็เคยกินมาแล้ว แต่คนเหลืองยังไม่เคยกิน ผมก็เลยฝากไปบอกว่าผมแค่ผ่านมาดูสัตว์ อย่ากินเลย แค่ชิมได้ไหม (หัวเราะ) ฉะนั้น ไอ้การดูถูกเรื่องสีผิวอะไรอะไรต่างๆ ผมจึงไม่ตื่นเต้น
ทำไมคุณถึงไม่ค่อยแสดงงานในเมืองไทย หากจะนับครั้งก่อนจนถึงครั้งนี้น่าจะประมาณสามสิบกว่าปี
ผมแสดงงานทุกปี แต่ผมเลือกเวที แทนที่ผมจะแสดงเฉพาะในเมืองไทย คือผมสำคัญตนผิดว่าผมเป็น International Known ดังนั้น ผมจึงไม่จำเป็นต้องแสดงเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น ผมแสดงงานที่ยุโรปเกือบทุกประเทศ ทั้งเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี หรือเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาผมก็แสดงมาแล้วเกือบทั้งสิ้น ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาผมแสดงเดี่ยวไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง แต่ป่วยการจะมาบอกใคร เพราะไม่เห็นมีใครสนใจเลย ผมก็แสดงของผมคนเดียว ครั้งล่าสุดที่ผมแสดงที่เมืองไทยคือเดือนตุลาคม ปี 2519 แล้วผมก็สร้างบ้านได้ 35 หลัง ปีหนึ่งผมก็ทำหลังหนึ่ง จากนั้นผมก็ไปซื้อสมบัติบ้าบอมาใส่บ้าน ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาปัญญาญาณจากสิ่งที่ผู้อื่นสร้างทำมาเก็บรวบรวมไว้ เพื่อเป็นเหมือนเรือไว้สำหรับข้ามฟากนำเราไปสู่ฟากหนึ่ง เมื่อข้ามไปแล้วผมจะก็ไม่สนใจเรือแล้ว ใครจะข้ามก็ข้ามไป ผมวางไว้ให้แล้ว
คุณสนใจเรื่องการตอบรับของคนที่เข้ามาชมงานแสดงของคุณมากน้อยแค่ไหน
ผมไม่สนใจ ผมเป็นช่างวาดรูป ผมก็ทำหน้าที่ผมของไป ดูก็ดู ไม่ดูผมก็ไม่สนใจ ผมไม่กังวล มันไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงไปที่ไหน ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงในอากาศว่าทำไมถึงร้องเพลง ผมไม่เคยถามถึงรสหวานที่มีอยู่ในกลีบดอกไม้ เพราะเหล่านี้มันคือธรรมชาติ ฉะนั้น ผมจึงไม่กระหายที่จะมีลูกศิษย์ ลูกศิษย์เท่านั้นแหละที่จะมาเสาะแสวงหาศาสดาเอง เหมือนเวลาไปสัมภาษณ์ออกรายการทีวีเขาถามว่าผมจะฝากอะไรกับผู้คนไหม ผมบอกไม่ฝาก ไม่มีอะไรจะฝาก เหมือนกัน เพราะผมได้จูงควายมาถึงหนองน้ำแล้ว ส่วนจะกินน้ำหรือไม่ก็เป็นเรื่องของควาย ไม่ใช่เรื่องของผม (หัวเราะ)
มีคนถามผมว่าตอนนี้มีเงินเก็บมากแค่ไหน ผมบอกไปว่าถ้าผมเอาเงินมากองทับๆ กัน ก็ไม่รู้ว่าระหว่างภูเขาทองกับเงินของผมอะไรจะสูงกว่ากัน (หัวเราะ) คือเรื่องพวกนี้มันเป็นเดรัจฉานกิจกรรม ไม่ต้องมาถาม สิ่งที่ต้องถามก็คือช่างวาดรูปคนนี้มันได้นำสาระเลวอะไรของมันไปสู่ผู้คน เพราะสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ คือรูป รูปคือภาษาสากล รูปเขียนผมไม่ใช่ภาษาไทย ฝรั่งก็ดูรู้ ไทยก็ดูรู้ เพราะผมไม่ได้เขียนรามเกียรติ ไม่ได้เขียนลายกนก ฉะนั้น ใครก็ดูรู้เรื่อง แล้วคนที่ซื้อรูปผมเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ก็เป็นฝรั่งทั้งนั้น นักวาดรูปเป็นคนที่อยู่ระหว่างคนที่ยังไม่เกิดกับคนที่ตายแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีคนเข้าใจมัน มันเกิดก่อนเวลา มีน้อยคนที่ขณะมีชีวิตอยู่จะประสบความสำเร็จ คือขายรูปได้ขณะมีชีวิตอยู่ ที่เห็นชัดๆ ก็มี ปิกัสโซ แต่ส่วนมากต้องตายไปแล้วหลายร้อยปีคนถึงจะขุดความคิดของเขาขึ้นมาได้ ในแง่นี้ผมก็นับว่าโชคดี
งานแสดงครั้งนี้ผมไม่ขายรูป เพราะไม่อยากยุ่งยากเรื่องเปอร์เซ็นต์เรื่องค้าขาย เขาเชิญมาแสดงก็นับว่าเป็นเกียรติแล้ว อย่างหนึ่งผมไม่ต้องการกำไรเงินทองอะไร ผมพอแล้ว อยากให้คนดูได้รับสุขุมรส แล้วเมื่อไม่มีการซื้อขายมันจะหมดจดกันทั้งสองฝ่าย แต่เพื่อให้ทางผู้จัดเขามีรายได้หมุนเวียนบ้าง เขาจึงได้เก็บเงินคนละยี่สิบบาทในการเข้ามาดู แล้วเขาขายเสื้อยืดได้เป็นพันๆ ตัว คนมาดูจากเปิดมาสองเดือนก็หมื่นกว่าคนแล้ว จากปกติงานอื่นๆ มีคนดูแค่พันคน ฉะนั้น การที่คนมาดูเยอะขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์แล้วสำหรับแผ่นดินที่ไม่มีใครสนใจศิลปะแห่งนี้
ทำไมคุณจึงชอบบอกกับผู้คนว่าเป็นแค่ช่างวาดรูปคนหนึ่งเท่านั้น
ผมเป็นคนที่เคารพในบทบาทและอาชีพของผู้คน ถ้าผมบอกว่าผมเป็นศิลปิน มันเหมือนยกย่องฐานะของตนเองให้โอ่อ่าวิลิศสะมาหรา เตชะหรูวิจิตรเกินไป อีกอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยออกเทป ไม่มีสักชุด (ยิ้ม) ผมเป็นช่างวาดรูป ผมอยากจะอ่อนน้อมถ่อมตัวว่าผมเป็นแค่นักวาดรูปเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ศิลปิน แล้วคำว่าศิลปินมันดูสับสน นักแสดงก็เรียกศิลปิน นักร้องก็ศิลปิน ขณะที่เมืองนอกคำว่าอาร์ติสต์นั้น เขาไม่ได้เรียกตัวเอง แต่คนอื่นยกย่อง เพราะเขายิ่งใหญ่พอที่