บทความ
ความโดดเดี่ยวของจอมเผด็จการ: การปลดเปลือย-ต่อกรกับเผด็จการ(ทั่วโลก)ของ มาร์เกซ
ความโดดเดี่ยวของจอมเผด็จการ: การปลดเปลือย-ต่อกรกับเผด็จการ(ทั่วโลก)ของ มาร์เกซ
ณ ห้องประชุมย่อย ตัวบท : รูปแบบและกลวิธี กับความหมายที่แฝงเร้น ในเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเรื่อง ความโดดเดี่ยวของจอมเผด็จการ : การเมืองของเรื่องเล่าในนวนิยายเรื่อง The Autumn of the Patriarch ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยสัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ สนับสนุนโดยทุนรัชดาภิเกษสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องความโดดเดี่ยวของจอมเผด็จการ (The Autumn of the Patriarch) ในปี ค.ศ.1975 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่องของจอมเผด็จการหลายคนในทวีปลาตินอเมริกาที่เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศ ในนิยายเรื่องนี้เขานำเสนอเรื่องราวของจอมเผด็จการนิรนามคนหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 6 ส่วนด้วยกัน แต่ละส่วนเริ่มต้นด้วยฉากของบ้านจอมเผด็จการที่คนกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปค้นหาศพของเขาหลังจากที่ข่าวแพร่สะพัดว่าเขาเสียชีวิตแล้ว การดำเนินเรื่องในแต่ละส่วนจึงเปรียบเหมือนภาพความทรงจำหรือกระแสสำนึกของคนหลายคน
สุรเดช กล่าวว่า นิยายเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าของชาวบ้าน เรื่องซุบซิบนินทาจากปากต่อปาก วัฒนธรรมมุขปาฐะ แทนที่จะนำเสนอด้วยมุมมองของคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งมักไม่นำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา พยายามครอบงำหรือสร้างระบอบแห่งความจริงขึ้นมาเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจ โดยมาเกซใช้รูปแบบที่มิคาเอล บาห์กติน เรียกว่า นวนิยายพหุสำเนียง นั่นคือ มีผู้เล่าเรื่องหลากหลายต่างชนชั้น ต่างเพศสถานะ ไม่ได้เป็นของผู้เขียนเท่านั้น นับเป็นกลยุทธ์ที่ใช้บ่อนเซาะมุมมองกระแสหลักไปด้วย
นอกจากนี้ในการใช้แนวทางพหุสำเนียงยังเกี่ยวพันกับรูปแบบการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ เพราะการซุบซิบนินทา การเล่าปากต่อปาก มักเป็นการเล่าแบบเกินจริง เพื่อทำให้ผู้ฟังตกตะลึกพึงเพริดและติดตรึงในความทรงจำ เช่น การที่ชาวบ้านล่ำลือกันว่า ถ้ายิงจอมเผด็จการจากด้านหน้า กระสุนจะสะท้อนกลับไปทะลุตัวของผู้ที่คิดทำร้าย
มาเกซคิดว่าทั้งวัฒนธรรมมุขปาฐะและวัฒนธรรมลายลักษณ์อักษร เอกสารทางการ ต่างมีสิทธิและความชอบธรรมในการเข้าถึงความจริงเช่นเดียวกันและต่างมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของสาธารณชน
สุรเดชชี้ว่า ระบอบเผด็จการนั้นจะไม่ปรับตัวให้เข้ากับความจริง หากแต่มุ่งสร้าง ความจริง ใหม่ให้เข้ากับอุดมการณ์ที่ตนต้องการ โดยในกลไกของระบบเผด็จการนั้น กฎหมายจะสำคัญกว่าสามัญสำนึก เพราะกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของความลวงที่เกิดขึ้นมา และมีความสำคัญกว่าความจริง
อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวอย่างตอนหนึ่งในนวนิยาย คืนหนึ่งเมื่อจอมเผด็จการตกอยู่ในภาวะคิดถึงหญิงที่เขาตกหลุมรักซึ่งได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เขานอนไม่หลับ กระวนกระวาย จนเวลาตีสามเขาได้ออกคำสั่งให้ทหารยิงสลุดประกาศเร่งเวลาให้เป็นกลายเป็นเวลาเช้าทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ระบอบเผด็จการจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามวลชนไม่ยอมรับระบอบนี้ โดยเขาได้ยกแนวคิดของ Hannah Arendt ที่ศึกษาความสัมพันธ์การยอมรับฮิตเลอร์กับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในเยอรมัน Arednt ระบุว่า ระบบเผด็จการสามารถเกิดขึ้นเมื่อสังคมมีความเป็นปัจเจกสูง ผู้คนไม่รู้สึกว่าเป็นสังคมร่วมกัน ดังนั้น ผู้คนถ้าไม่ปักใจเชื่อในเผด็จการไปเลย ก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีพลังพอที่จะทำอะไรได้ แม้จะไม่เชื่อในเผด็จการก็ตาม
สุรเดช ระบุอีกว่าว่า ในสังคมที่ความจริงเป็นสิ่งลื่นไหล ซับซ้อน ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจริงอะไรลวง มวลชนจะรู้สึกสับสนและหันไปหาสิ่งยึดเหนี่ยวคือ ตัวของจอมเผด็จการ เพราะจอมเผด็จการรู้ว่าความจริงคืออะไร เนื่องจากเขาเป็นผู้จัดการกับความจริงและสร้างความจริงขึ้นมา เขาเป็นสัญลักษณ์ของความจริงสมบูรณ์
ขณะเดียวกันอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์กล่าวถึงความขัดแย้งในตนเองของเผด็จการด้วยว่า แม้กลไกของระบอบเผด็จการจะตั้งอยู่บนมวลชนที่โดดเดี่ยว สูญเสียความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่จอมเผด็จการเองก็ตกเป็นเหยื่อของความโดดเดี่ยวเช่นกัน เขาไม่เคยไว้วางใจคนรอบข้าง แม้แต่ภรรยาหรือลูกของตัวเอง ขนาดนายทหารที่สำคัญที่สุดก็ยังถูกฆ่าเอาไปทำอาหารอย่างพิสดาร
การที่จอมเผด็จการตกเป็นเหยื่อนั้นยังเลยไปถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของการออกคำสั่งด้วย เนื่องจากสัมฤทธิผลของคำสั่งมีความสำคัญมาก ทำให้อำนาจของเผด็จการไปขึ้นต่อคนอื่นๆ ที่รับคำสั่งด้วยเช่นกัน สรุเดชเล่าว่า ในนวนิยายจอมเผด็จการจะไม่ออกคำสั่งพร่ำเพรื่อ เพราะถ้าคนอื่นทำไม่ได้มากขึ้นเท่าใด ก็หมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคำสั่งหรืออำนาจของเขาที่จะลดน้อยลง ฉะนั้น จอมเผด็จการจึงมักขยิบตา ทำท่าทางให้ลูกน้องเป็นผู้เดาใจเขาแทน เมื่อทำเช่นนี้ หากทหารไปทำอะไรเลวร้ายมากๆ จอมเผด็จการก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นการเดาใจผิดของลูกน้อง
สุรเดช กล่าวต่อว่า แต่ในที่สุด ความแปลกแยกก็ได้เกิดขึ้นกับจอมเผด็จการ เพราะระบบการออกคำสั่งและปฏิบัติการดำเนินไปตามวิถีของมัน คำสั่งไม่ได้ออกจากปากเขา แต่เป็นการเดาใจ มันไม่ต้องพึ่งพาการตัดสินใจของจอมเผด็จการอีกต่อไป นำไปสู่ความแปลกแยกและโดดเดี่ยวสำหรับเขา จนกระทั่งท้ายที่สุด เมื่อเขารู้ว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมโลกภายนอกได้ จอมเผด็จการก็เลยเอาแต่นั่งดูทีวี และควบคุมตัวละครในนั้น เช่น ถ้าถึงตอนที่ตัวละครต้องตายแต่เขายังไม่อยากให้ตาย ก็จะสั่งไม่ให้ตาย
ความคลางแคลงใจ ความไม่ไว้ใจ ความกลัวที่เกิดขึ้นกับจอมเผด็จการนั้น มาเกซได้อธิบายผ่านภาพลักษณ์ของคนจมน้ำอย่างเดียวดาย โดยในเนื้อหาช่วงหลังตัวของจอมเผด็จการเริ่มมีซากหอยติดอยู่ตามร่างกาย
ส่วนการที่มาเกซไม่ตั้งชื่อให้จอมเผด็จการนั้น สุรเดชกล่าวว่า ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการแสดงถึงความเป็นสากลของจอมเผด็จการทั่วโลก แต่ในอีกด้านก็อาจเป็นความแปลกแยกโดดเดี่ยวของจอมเผด็จการที่เขาไม่รู้ว่าตัวเองคืออะไร จอมเผด็จการที่คนอื่นมอบให้เป็นตัวเองจริงหรือไม่
เขาระบุว่า นวนิยายเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของระบอบเผด็จการนิยมที่นำมาซึ่งความโดดเดี่ยวและการพ่ายแพ้ของจอมเผด็จการในที่สด โดยจอมเผด็จการตระหนักได้ว่า สิ่งที่ตนขาดคือความรัก ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะก้าวข้ามความโดดเดี่ยวไปสู่สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ ถ้ากลไกของเผด็จการคือการสร้างความโดดเดี่ยวแปลกแยกให้มนุษย์แต่ละคน ทำให้ผู้คนเกรงกลัวมากเสียจนไม่กล้าร่วมมือกันต่อสู้กับระบอบดังกล่าว ความรักอาจเป็นทางออกที่ทำให้ผู้คนหลุดพ้นได้
ท้ายที่สุดเรื่องนี้อาจนำมาสู่ธีมเดิมๆ คือ การโหยหาความรัก ถ้ารู้จักรัก มันจะไม่มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่สัมพันธ์กัน เผด็จการเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักรัก
สุรเดช จบการนำเสนอด้วยการยกคำกล่าวของผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้เมื่อปี 1982 ว่า It is not too late to engage in the creation of the opposite utopia. A new and sweeping utopia of life, where no one will be able to decide for others how they die, where love will prove true and happiness be possible
โดย : ประชาไท