บทความ
ถนนสายนั้นชื่อแสวงหา
บทสัมภาษณ์ ชีวิตกลางแจ้ง (Outdoor Life) สิงหาคม 2538 ธัญญา ผลอนันต์ ถนนสายนั้นชื่อแสวงหา
สามสิบปีผ่านไป ยุคสมัยแม้จะแปรเปลี่ยนจริงหรือไม่ที่ว่า ผู้คนพวกหนึ่งยังเป็นนักเสาะแสวงผู้เปล่าเปลี่ยวอยู่เสมอ ? นี่คือการคุยกันสั้น ๆ ในวันที่ฝนฉ่ำฟ้าวันหนึ่งต้นวสันต์นี้ เขาได้พูดถึงมันอีกเพื่อทวนความหลัง และฟังสิ่งที่เขาวาดหวังถึงความฝันของนักเดินทางแห่งอนาคต ยังจะมีถนนสายที่นำไปสู่ก้อนเมฆอีกหรือไม่ ? จะไปถึงมันได้อย่างไร ?
ไม่ว่าท่านจะเป็นนักเดินทาง ทัวริสต์ ผู้มาเยี่ยมเยือน พระผู้ภิกขาจาร หรือ คนโบกรถ สัตว์จรจัดหรือชายจร
ถนนสายไปสู่ก้อนเมฆ
..มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่าถนนสายนั้นชื่อแสวงหา ยังคงเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนในยุคที่เปล่าเปลี่ยวยิ่งขึ้น เขามาจากไหน? จะไปไหน? ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามส่วนตัวแสนโศกสลด มีคำตอบว้าเหว่แผ่วเบาเกลื่อนกระจายกันอยู่ระหว่างสองข้างทางอ้างว้างขอแต่เพียงให้มีเส้นทาง จะต้องมีนักเดินทางน่าเศร้าแค่ไหน? ที่เส้นทางสายเก่าของนักฝันข้างถนนผู้ยากไร้จะต้องมีป้ายตอกติดเอาไว้ว่า
เส้นทางสายนี้ปิดแล้ว ทางขาด
กรุณาใช้เส้นทางสายอื่น
ขออภัยในความไม่สะดวกด้วย กทม.
ชีวิตกลางแจ้ง : คุณธัญญารุ่นเดียวกับคุณเธียรชัยรึเปล่า?
ธัญญา : คงรุ่นเดียวกัน รึไม่ก็เธียรชัยอาจจะแก่กว่าสักปีสองปี แต่เรียนอยู่ในสมัยเดียวกันกับเธียรชัย (เธียรชัย ลาภานันต์) เขาอยู่วรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ ผมอยู่วรรณศิลป์เกษตร
ชีวิตกลางแจ้ง : คุณธัญญาเคยเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์เกษตร?
ธัญญา : เป็นตอนอยู่ปีสี่
ชีวิตกลางแจ้ง : รุ่นเดียวกับอาจารย์ไชยันต์ รัชกุลหรือเปล่า?
ธัญญา : ผมก่อนอาจารย์ไชยันต์สักสามปี รุ่นผมถ้าจะเทียบกันก็รุ่นวิทยากร เชียงกูล ส่วนสุชาติ (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) นี่เขาจะเรียนก่อนปีนึง วิทยากรเขาขยันเรียนเป็นนักวิชาการ นักคิด นักเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้มาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยรังสิต บ้านเขาอยู่ข้างบ้านพี่คำสิงห์นะ ในตอนนี้ตรงสี่แยกไปเมืองนนท์ ในกลุ่มนี้จะนอกคอกอยู่ 2 คน คือผมอยู่เกษตรกับม้าอยู่จุฬา ไอ้ม้านี่จำชื่อจริงไม่ได้
ชีวิตกลางแจ้ง : ใช่คุณมงคล วัชระรางกูร รึไม่?
ธัญญา : ใช่ ๆ<br />
ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรถึงได้มารวมกลุ่มกัน เพราะส่วนใหญ่อยู่ธรรมศาสตร์
ธัญญา : ที่หลุดเข้ามาเจอกันคงเป็นเพราะสัมมนาแล้วเจอกันคุยถูกคอ คือสมัยก่อนมีศูนย์กลางนักเรียนคริสเตียนเขาจัดสัมมนาก็มาเจอพวกวิทยากร, วีระประวัติ<br />
(วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์) ก็คุยกันแล้วถูกคอ สังคมมันเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมเราจะทำอะไรกับมันได้ อะไรทำนองนี้ แล้วชอบอ่านหนังสือกันน่ะพออ่านเสร็จก็มาคุยกัน เล่มนี้กูอ่านแล้วนะ มึงอ่านรึยัง.. เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ๆ นะ คุยกันแทบทุกวันจนบางวันไม่เรียนหนังสือ เช้าขึ้นมาก็มานั่งร้านนายกิ๊ดที่ธรรมศาสตร์เม้าท์ แล้วสมัยก่อนมีกัญชาด้วยนะ ค่ำลงก็ไปเสพกัญชากัน ก็สนุกเป็นคนหนุ่มที่มีอะไรร่วมกัน ซึ่งสิ่งนั้นเราหาไม่ได้จากเกษตร เกษตรตอนนั้นมีการรับน้องใหม่อะไรทำนองนี้ มีคนหนึ่งชื่ออาจารย์ดีพร้อม ชัยวงศ์เกียรติ แกจับทางกลอนอย่างเดียว งานสังคมแกก็ไม่ค่อยจับ แล้วแกก็หนักไปทางไทย เรานี่อ่านวรรณกรรมต่างชาติด้วย คุยกันถึงตอลสตอลบ้าง ความจริงภาษาอังกฤษก็ไม่แตกฉานหรอก เพียงแต่สังคมมันถูกปิดเราก็อยากอ่านที่แปลออกไป ก็อ่านแล้วมานั่งคุยกัน เล่าให้เพื่อนฟัง วิทยากรที่เขาจะเงียบ ๆ จะพูดก็เป็นวิชาการ หลักการ ประเภทขี้เมาก็จะมีเธียรชัย (ลาภานันต์) นี่พอเมาได้ที่ก็จะมีคำคม ๆ เธียรชัยเขาเป็นนักเล่านิทาน เขาจะเล่าเรื่องเก่งมาก บางทีดูหนังด้วยกันมา มันเล่าได้สนุกกว่าหนังซะอีก มันได้บรรยากาศ อย่างบางทีเราดูพลาดไปนี่ เธียรเขาจับได้หมดแล้วก็มีบริสุทธิ์ , บริสุทธิ์เขาอยู่ช่องมานี่ก็หนักไปทางกินเหล้า มีผมกับวินัย (วินัย อุกฤษณ์) นี่แหละที่หนักไปทางกัญชา คนที่สร้างผลงานจริง ๆ นี่มีสุชาติ , วิทยากร ชีวิตกลางแจ้ง : ที่พูดถึงนี้สักช่วงปีไหน? ธัญญา : ช่วงประมาณ 2508 2509 ผมเรียนสี่ปีจบช่วง 2510 2511 เป็นช่วงถนอม ,ประภาส พูดการเมืองอะไรก็ไม่ได้ เขียนอะไรก็ไม่ได้ ชีวิตกลางแจ้ง : ช่วงนั้นสงครามเวียดนามกำลังระอุ? ธัญญา : ใช่! เราเห็นทหารอเมริกันมานะ ไม่รู้ว่ามาทำไม รัฐบาลไม่บอกเรา บรรยากาศทางสังคมก็ต่างไปจากนี้เยอะ แผงหนังสือเรียกว่าใหญ่สุดนี่ ขนาดโต๊ะนี้ (1x1.5 ม.) เรียกว่าใหญ่แล้ว พอหนังสือใหม่ออกมาเล่มหนึ่งนี่ โห มุงดูกันใหญ่เลย แย่งกันอ่านแย่งกันซื้อ เดี๋ยวนี้คุณดูสิออกมาเดือนละร้อยเล่มไม่รู้จะอ่านเล่มไหนแล้ว ชีวิตกลางแจ้ง : ช่วงที่ไปเช่าบ้านแพตาท้วมนี่ เรียนกันจบแล้ว? ธัญญา : ผมจบคนเดียว คนอื่นยังไม่จบ คือมันเป็นช่วงต่อปลายปีสี่พอดี วีระประวัติมันมาบอก เฮ้ย! กูได้บ้านหลังหนึ่งโว้ย บรรยากาศดีฉิบหาย เดินเข้าไปในสวนน่ะ มีต้นมะพร้าวทางเข้าไป แล้วหลังคาบ้านนี่นะมองขึ้นไปวันไหนฟ้าใสเห็นดาวเลย ความจริงไม่ใช่ รอยตะปูเก่าตอกกลับกันบนหลังคาสังกะสี วีระประวัติมันพูดเกินจริง ชีวิตกลางแจ้ง : คุณคำรณ (คุณดิลก) นี่อยู่ในกลุ่มด้วยรึเปล่า? ธัญญา : คำรณนี่อยู่ในกลุ่มด้วย ไอ้ถกเถียงกันนี่เป็นเรื่องประจำของกลุ่ม ชีวิตกลางแจ้ง : กัญชานี่ติดมั้ย? ธัญญา : ไม่ถึงกับติด มันขึ้นอยู่กับจังหวะ พอถึงตอนเย็นนี่ก็เอาแล้ว ชีวิตกลางแจ้ง : จนแล้วทำที่บางกอกโพสต์เลย? ธัญญา : จบปั๊บนี่ไปอเมริกาเพราะตอนเรียนปีสุดท้ายทำงานไปด้วยด้านทัวร์ ความฝันคือเดินทางเที่ยวรอบโลกแล้วไปอยู่ที่เกาะเล็ก ๆ ที่คนน้อย ๆ ใช้ชีวิตแบบง่าย ๆ พอจบปั๊บเงินที่เก็บไว้ทั้งปีก็พอดีตั๋วเครื่องบิน ผมก็ซื้อตั๋วเครื่องบินไปอเมริกา ไปอยู่ที่ L.A. ประมาณสัก 3 เดือน ก็ไปทำงาน เรียนภาษาอังกฤษ แล้วผมก็ไป Washington D.C. ทำงานล้างจานพอเก็บเงินได้ก้อนนึงก็ไปเรียนที่นอร์ธดาโกต้าเรียนซัมเมอร์ ไอ้เงินที่เก็บไว้ทั้งที่เมืองไทย ทั้งตอนทำงานล้างจาน ผมไปลงเรียนแค่เทอมเดียวเงินหมดแล้วเพราะค่าเล่าเรียนมันก็แพงแล้วเราก็หาเงินได้น้อยก็เลยคิดว่าถ้าต้องเรียนจบต้องใช้เวลาอย่างน้อยตั้งสี่ปี ก็เลยคิดว่าไม่เอาแล้ว เลยทิ้งตำราจะเดินทางกลับบ้านนั่งเรือนักศึกษาข้ามเรือแอตแลนติก ซึ่งปกตินั่งเรือข้ามใช้เวลา 3 วัน แต่เรือนักศึกษาใช้เวลา 7 วันเพราะเป็นเรือเก่า แต่ราคาถูก แล้วก็ไปขึ้นที่เซาท์แทมตั้นแล้วก็โบกรถมาตลอดก็ได้อย่างที่เขียนในหนังสือเล่มนี้ ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนที่เรียนที่เกษตรเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์? ธัญญา : เรียนเศรษฐศาสตร์ ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วตอนไปเรียนที่นอร์ธดาโกต้าก็เรียนเศรษฐศาสตร์? ธัญญา : เรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ลงวิชาสถิติ ตอนนั้นมันก็เกิดความสับสนสองอย่างอย่างนึงก็อยากเป็นนักวิชาการอีกด้านนึงก็อยากทำในสิ่งที่ไม่ต้องง้อใคร ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ตอนนั้นเป็นปีแรกที่คนไปดวงจันทร์ด้วย ช่วง ค.ศ. 1969 เราก็เลยหลุดไปเลย คิดว่ามนุษย์เรามีศักยภาพเยอะสามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ แล้วเราทำไมต้องมาเจ่าจุกอยู่ตรงนี้ ก็เลย กูไปแล้ว ไปก็โบกรถไป ไม่รู้ไม่ชี้ตามเค้าไป ตอนมาขึ้นฝั่งที่เซาท์แทมตั้นของอังกฤษ เที่ยวในอังกฤษก็ยังมีเงินอยู่บ้างก็ขึ้นรถไฟอะไรบ้าง จนข้ามถึงฝรั่งเศสก็คิดว่าเงินที่เหลือนี่จะบินกลับหรือจะเดินทางต่อไปอีก ทีนี้ไปพักที่บ้านเยาวชนก็คุยกัน เฮ้ย! มึงต้องไปเมืองนั้นน่ะ เมืองนี้น่ะ อย่างเมืองคาบูน ถ้าไม่ไปก็แสดงว่ามึงไปไม่ถึงเอเซียนะ ผมถามใช้เงินเท่าไหร่ โอ้ย! ประเทศนึง 10,20 เหรียญเอง กูโบกรถไป เวลากินข้าวก็ไปกินตามร้านที่ไม่มีผ้าปูโต๊ะ มันก็ถูกหน่อย ชีวิตกลางแจ้ง : บรรยากาศและกลุ่มคนที่พูดกันช่วงนั้นก็เป็นวัยรุ่น? ธัญญา : เป็นวัยรุ่น ซึ่งช่วงนั้นจะมี 2 กระแส พวกอเมริกาที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม กับพวกนักศึกษาหัวรุนแรงของญี่ปุ่นที่นี้พอมาผสมผสานกันในยุโรปมาเจอกันที่บ้านเยาวชน ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนได้เดินทางและได้พักในราคาถูก ๆ กฎระเบียบของเขามีอยู่ว่าจะปิดห้องเมื่อประมาณ 10 โมงไล่คนออกให้หมด แล้วจะเปิดอีกครั้ง 5 โมงเย็น จะขายอาหารราคาถูก แล้วเราก็กินกาแฟ กินเบียร์ นั่งคุยกัน มีอะไรก็เอามาขายกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็เป็นคนหนุ่มคนสาวผมเผ้ายาว ชีวิตกลางแจ้ง : ถ้าตอนนั้นนั่งเครื่องบินกลับก็จบการพเนจรไว้ที่ตรงนั้น ไม่มีถนนไปสู่ก้อนเมฆ? ธัญญา : ใช่ แล้วตอนนั้นมีหนังสือเล่มนึงของ แจ็ค เคอ รูแอ็ค ซึ่งเป็นเรื่องของการเดินทาง การฝันมันสนุก ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วหนังสือของแจ็คจะมามีแรงผลักดันในแง่แตะต้องภายในของคุณธัญญาบ้างรึเปล่า ในส่วนความคิดความฝัน? ธัญญา : คงไม่นะ เพราะตอนนั้นภาษาอังกฤษยังไม่แตกฉาน ชีวิตกลางแจ้ง : มันเป็นหนังสือคัมภีร์เหมือนสมัยหนึ่งที่ รงค์ วงสวรรค์ มีผลต่อนักอ่านไทย ถ้าเป็นหนังสือไทย ก็ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ซึ่งเป็นเรื่องของคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ไปเป็นนักข่าว ผมอ่านตอนอยู่ ม.3 ม.4 รู้สึก อื้อหือ .มัน ชีวิตกลางแจ้ง : ได้เดินทางโบกรถจริง ๆ จากแดนฝรั่งเศสหรือยัง? ธัญญา : เริ่มจริง ๆ มาเริ่มที่สวิตเซอร์แลนด์เอากันตั้งแต่ไม่เป็นว่าจะยืนยังไง โบกยังไงจนทีหลังนี่ธรรมชาติเลย ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนนั้นมีสัมภาระอะไรบ้าง? ธัญญา : มีเป้ใบเดียว น้ำขวดนึง มีเสื้อสามสี่ตัว หมวกมีใบนึง กางเกงยีนส์ตัว อะไรทำนองนี้ กระเป๋ามันเบามาก ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนที่จนจริง ๆ นี่ไปที่ไหน? ธัญญา : จนที่สุดอินเดีย ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วยังชีพอยู่ยังไง? ธัญญา : มันก็มีวิธี ของนักธุดงค์น่ะ ขึ้นไปร้านบริการตัวเองเป็นเคนตั๊กกี้แล้วคุณไปซื้อน้ำมาซึ่งมันก็ไม่กี่บาท คุณก็ไปดูโต๊ะข้าง ๆ โต๊ะไหนว่าง ๆ มีอาหารเหลือคุณก็เข้าไปนั่งกินเลย ทำเป็นของคุณ ชีวิตกลางแจ้ง : ช่วงโบกรถนี่นานแค่ไหน? ธัญญา : สองเดือน รอนแรมกลับมาถึงบ้านผิวดำเมี่ยม แม่ยังจำไม่ได้เลย ชีวิตกลางแจ้ง : ได้เขียนจดหมายติดต่อมั้ย? ธัญญา : ไม่ได้เขียนเลย ตอนไปตัดทุกอย่าง มีชีวิตอยู่แบบพเนจร คุณคิดดู บางทีไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะไปไหน บางวันเดินทางได้เป็น 100 กิโล บางวัน 7 กิโล บางวันต้องโบกรถเวสป้า โห ..หนักฉิบหายเพราะต้องแบกเป้ไว้ข้างหลัง เวลาซ้อนท้ายรถเวสป้า บางวันก็เลือกเส้นผิดเสียเวลา คนก็ได้เจอหลายประเภท ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วที่อิตาลี ที่มีคนผลักเข้าไปในงานเลี้ยง? ธัญญา : ที่อิตาลีเหรอ ก็ไปยืนดูเหมือน ๆ ไทยมุงบ้านเรา ผมก็ไปยืนดูว่าเขาเลี้ยงอะไรตรงประตูทางเข้า ก็มีอยู่คนนึงมาดึงมือ ถาม นิปอง ๆ ผมก็ไทย ๆ เค้าก็โอ .ไทย ๆ โผน กิ่งเพชร แล้วดึงมือเข้าไปเลย รู้จักคนไทยแค่โผน กิ่งเพชร ชีวิตกลางแจ้ง : กับเพื่อนที่ชื่อ ย่งส่ง? ธัญญา : นั่นก็มีตัวจริง เป็นคนไต้หวันไปเรียนเยอรมัน แต่ตอนนี้ไม่ได้ติดต่อกันแล้ว เค้าเคยบอกว่าเค้าเป็นวิศวกรแล้วพอติดต่อก็หายไป คนบนถนนก็อย่างนี้แหละ แต่มีเพื่อนญี่ปุ่นนี่บางทีก็ยังได้เจอกัน ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนนั้นคุณธัญญาอายุเท่าไหร่? ธัญญา : ก็ช่วงจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ 22 23 ปี ยังหนุ่ม ชีวิตกลางแจ้ง : ถามย้อนหลังนิดนึง คุณธัญญาเป็นคนกรุงเทพฯ? ธัญญา : จริง ๆ แล้วเกิดโคราช แต่แจ้งเกิดที่กรุงเทพฯ เพราะพ่อเป็นข้าราชการย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดแค่อายุ 6 ขวบ ก็เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตลอด ชีวิตกลางแจ้ง : จนระดับมัธยมที่ไหน? ธัญญา : จบเซนคาเบรียลแล้วมาต่อเตรียมอุดมศึกษา แล้วมาเข้าเกษตร ตอนเรียนสมัยเตรียมนี่ห้องเดียวกับคำรณ ชีวิตกลางแจ้ง : คุณคำรณกับคุมคมศรเป็นพี่น้องกัน? ธัญญา : ใช่ฮะ คำรณเป็นพี่ คมศรเคยเขียนบทกวี แต่ตอนหลังก็หายไป ของคำรณนี่เป็นนกที่ว่ายฟ้าอะไรของมันนี่แหละ ผมมีอะไรเหมือนกันกับคำรณหลายอย่างและเป็นชีวิตที่โคจรมาเจอกันเรื่อย เรียนเตรียมห้องเดียวกันแล้วก็หายไป ไปเจอกันอีกที่พระจันทร์เสี้ยวด้วยกัน พอสมัยรัฐบาลหอยไปอยู่ยุโรป รณอยู่ฝรั่งเศส ผมอยู่สวีเดนก็เจอกันบ่อย พอผมอพยพกลับกรุงเทพฯก็กลับมาอีก ชีวิตมันมาไขว้กันตลอด สมัยเรียนหนังสือมีสารพัดโครงการ ความคิดสร้างสรรค์ ความฝันเป็นเลิศ อย่างตอนนี้เค้าก็ไปจับพวกวีดีโอ สารคดีก็เคยทำ กระจกหกด้าน ทำอยู่ในกลุ่มของโต้ง (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ)
ชีวิตกลางแจ้ง : ถนนไปสู่ก้อนเมฆนี่เขียนหลังจากกลับจากการโบกรถเข้มข้นครั้งนั้น?
ธัญญา : ใช่ พอกลับมาอยู่เมืองไทยทำแบงก์อยู่พักแล้วก็ไปทำหนังสือพิมพ์
ชีวิตกลางแจ้ง : แบงก์อะไรครับ?
ธัญญา : แบงก์ ออฟ อเมริกา แล้คุณคิดดูเพิ่งกลับจากโบกรถมานะอยู่ได้สามเดือนเผ่นเลย พอดีบางกอกโพสต์เขาประกาศรับ วิทยากรก็โทรมา วิทยากรนี่ช่วยผมหลายหนแล้วอย่างทุนญี่ปุ่นนี่เขาก็โทรมา แล้วที่บางกอกโพสต์วิทยากรโทรมา เฮ้ย! นายอยากทำนักข่าวไม่ใช่เหรอ เขาเปิดรับนะ ผมก็ไปสมัครก็ได้ เลยออกจากแบงก์ก็ไปทำหนังสือพิมพ์
ชีวิตกลางแจ้ง : ทำแบงก์นี่ทำอะไร?
ธัญญา : ออดิเตอร์ ซึ่งตำแหน่งนี้นี่อนาคตไกล เมื่อทำไปสักพักถ้ามีฝีมือคุณจะได้โอกาสเป็นออดิเตอร์ทั่วภาคพื้นประจำที่สิงคโปร์ตรวจได้หมด ตรวจสอบบัญชี
ชีวิตกลางแจ้ง : ซึ่งก็ตรงกับที่เรียนมา?
ธัญญา : ตรงกับสาขา ก็ทำอยู่บางกอกโพสต์อยู่ปีหนึ่ง ได้ออกต่างจังหวัดไปทำข่าวมันๆหลายข่าว เช่นคอนเทรนเนอร์กล่องแรกที่มาเมืองไทยซึ่งมันเป็นเหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมขนส่ง ข่าวปิดฐานทัพอู่ตะเภา แล้วก็ไปญี่ปุ่น
ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนไปญี่ปุ่นนี่ทุนอะไร?
ธัญญา : ทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่มีข้อผูกมัดอะไร ไปสอบก็ใช้ภาษาอังกฤษไปที่โน่นถึงก็นั่งเขียนหนังสือเดินขบวนกับเค้า เขียนหนังสือส่งให้เพื่อนที่เมืองไทยอ่าน อย่างบทแรกนี่เขียนให้หนังสือพระจันทร์เสี้ยวที่วินัยทำอยู่ มันก็บอกว่ามึงเขียนบทสองบทสามซี มันยุ ไม่ต้องรงต้องเรียนมันหรอกเรียนไปทำอะไร เราก็ไม่อยากเรียนอยู่แล้ว ก็ไปใช้ชีวิต นอกกรอบ ไปตั้งชมรมต่อต้านบริษัทญี่ปุ่นที่ส่งออก โรงงานที่ทำลายสภาพแวดล้อม คิดว่าเป็นช่วงที่ใช้เวลาอ่านหนังสือได้อย่างสะใจ เป็นนักศึกษาทุนวิจัยเราก็สบาย ก็บอกเขาว่าเราไปอ่านหนังสือทำวิจัย ตอนหลังพอวีซ่าจะหมด ผมก็เรียนปริญญาโท เรียน M.B.A. จนจบที่ญี่ปุ่นจะเป็นศูนย์รวมหนังสือจากที่ต่าง ๆ ที่หาที่อื่นไม่ได้ มีทั้งวรรณกรรมทั้งแนวความคิด
ชีวิตกลางแจ้ง : คุณธัญญานี่คล่องภาษาญี่ปุ่น?
ธัญญา : พอพูดพอจาได้ แต่เขียนอ่านไม่ค่อยได้ วรรณกรรมที่อ่านก็เป็นภาษาอังกฤษ คือจะมีย่านร้านหนังสือเก่าอยู่ย่านหนึ่งในโตเกียว ย่านคันดะที่มีหมดทั้งพวกหนังสือแปลจากจีน, รัสเซียและโลกที่สามที่คุณจะไปอ่านยังไงก็ได้อย่างบางทีเจ้าของร้านทัก
.. มาพอดี นี่ฉันมีหนังสือจากแอฟริกาน่ะ เป็นเรื่องที่เธอสนใจอยู่ คือเค้าจะจำเราได้เลย
ชีวิตกลางแจ้ง : กลับจากญี่ปุ่นแล้ว?
ธัญญา : ก็มาทำหนังสือพิมพ์จตุรัสรายสัปดาห์ ประชาชาติรายสัปดาห์ แล้วก็ไปสวีเดน อังกฤษรวมกัน 7 ปี กลับเมืองไทยอีกครั้งปี 28 ทำงานอยู่หลายบริษัทที่นานที่สุดคือ แบงก์กรุงศรีอยุธยา 5 ปี
ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนนี้พอจะมีเวลาเขียนหนังสือบ้างมั้ย?
ธัญญา : เวลาอ่านก็ยังไม่ค่อยมี บางทีซื้อไป 10 เล่ม อ่านจบ 2 เล่ม ผมกำลังรวบรวมอยู่ คิดว่าจะเริ่มเขียนงานวรรณศิลป์อีกครั้งตอนอายุ 50 หรือไม่ก็ 60 ปี ผมเป็นคนเขียนหนังสือช้า มีงานเขียนประเภทแนะนำการท่องเที่ยวในต่างแดน เช่น ถนนไปสู่ญี่ปุ่น ถนนไปสู่สิงคโปร์ งานวิชาการ ตอนนี้ก็ค้างอยู่สองเล่ม ก็พอหมด 2 เล่มนี้แล้ว คงต้องไปนั่งรวบรวมคือ คุยกันว่า ในปี 2538 นี้ ชุมนุมวรรณศิลป์เกษตรครบรอบ 30 ปีให้กลุ่มนี้มาเขียนใหม่คนละเรื่องผมก็มีอยู่พล็อตนึงซึ่งก็ยังไม่ได้ดั่งที่เคยมีความฝันอยากทำแบบคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คือท่องเที่ยวไปแล้วเขียน ล่องมาจากเชียงรายลงไปถึงนราธิวาสเลย จากแม่ปิงสู่สุไหงโกลกอะไรทำนองนั้น มีกล้องตัวนึงมีฟิล์มไม่จำกัด และมีเวลาไม่จำกัดด้วย งานเขียนเป็นงานที่เพลิน อย่างตอนนี้ผมเขียนตำราวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ แปลไปเขียนมาได้เกือบ 400 หน้าแล้ว
ชีวิตกลางแจ้ง : ในฐานะผู้ผ่านทางมาก่อน มีทางออกหรือคำแนะนำอะไรบ้างสำหรับคนรุ่นใหม่?
ธัญญา : ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีวิญญาณของการผจญภัย การอยากรู้อยากเห็น อยากจะแสวงหาอยู่ในตัวทุกคนตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พอช่วงอายุสักสิบถึงสิบแปดนี่ต้องเข้าโรงเรียนเลยถูกระบบการศึกษา ระบบโรงเรียน ทำให้ตัวนี้หายไปจากเรา ผมก็เป็นอย่างนั้น แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยนี่ผมก็ได้อ่านในสิ่งที่ไม่เคยได้อ่าน , แอบอ่าน ไปเสาะแสวงหาอ่านหนังสือดี ๆ ที่แปลกไปจากสังคมตอนนั้นหาอ่านยากมีแต่ประเภทนวนิยายที่ลงเป็นตอนๆ ในหนังสือรายสัปดาห์ ทีนี้พอได้ไปอ่านเข้า วิญญาณนี่มันก็กลับมา ไอ้ความอยากรู้อยากเห็นมันก็กลับมา
ชีวิตกลางแจ้ง : คิดว่าหนังสือเล่มไหนที่ได้กระทบเข้ากับจิตใจส่วนลึก?
ธัญญา : มันคงหลายเล่ม ถ้าเป็นพื้นฐานไทย ๆ จริง ๆ ก็ของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง เป็นเรื่องชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ไทย อ่านแล้วมีความรู้สึก โห
.โลกเรานี้อะไรสารพัดเลยที่ตื่นเต้นมันไม่จำเจ มีอิสระ มีเรื่องความรักด้วย นอกจากนั้น ก็เป็นชุดล่องไพร ของ<br />
น้อย อินทนนท์ นั่นก็เป็นเรื่องผจญภัยอีกมิติหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับป่า, ความตื่นเต้น, ไสยศาสตร์, ความลึกลับ, ความรักสัตว์ สรุปแล้วหนังสือใดก็ตามที่เกี่ยวกับการเดินทางการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อยากให้คนหนุ่มสาวปลดพันธนาการออกไป เริ่มจากใกล้ ๆ ในเมืองไทยก่อนก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้โอกาสมันเปิดขึ้นเยอะ เมื่อก่อนนี้เมืองไทยไม่มีตั้งแคมป์เหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ดีขึ้น ที่นี้จะได้สะสมความกล้าและก็ประสบการณ์ของการเจอสิ่งใหม่ ๆ สิ่งที่ไม่คาดฝัน ผมเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นเส้นทางเดิมก็ตาม เราก็จะเจอของใหม่ๆ เจอเพื่อนร่วมทางใหม่ เจอคนใหม่ของพื้นที่ คือทุกครั้งของการเดินทางจะเป็นเรื่องของความสด ความใหม่ อยากให้คนรุ่นใหม่ปลดพันธนาการของตัวเองออกแล้วเดินออกไปได้ ชีวิตกลางแจ้ง : คนรุ่นใหม่ยังมี ถนนไปสู่ก้อนเมฆ อยู่? ธัญญา : มันมีอยู่ในทุกคนเพียงแต่เราถูกสังคมปิด ถูกลบความทรงจำ ชีวิตกลางแจ้ง : คิดว่าเดินทางครั้งนั้นได้ปลดปล่อยอะไรไปบ้าง? ธัญญา : มันก็ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ในสิ่งที่เราถูกกดมานาน มันเหมือนกับการเสพอะไรอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่เคย ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ผมคิดว่ามันเป็นความสุขอย่างบอกไม่ถูก การที่เราเดินทางคนเดียว ทุกวันเราได้เพื่อนใหม่ได้เจอสถานที่ใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วเกิดความกลัวบ้างมั้ยในตอนนั้น? ธัญญา : มันก็มีความกลัว กลัวอันตราย กลัวการถูกทำร้าย ถ้ากลัวแล้วไม่ทำเราก็ไม่ได้อะไร ซึ่งต่อไปเราก็ได้เจอเรื่องตื่นเต้น แต่เราก็รอดมาได้เพราะว่าจริง ๆ แล้วก็ไม่ถึงกับว่าอยากจะฆ่ากันแล้วเราเองก็ไม่ได้มีอะไรอยู่แล้ว ในส่วนของการเดินทางเรียกว่าส่วนกลัว มีส่วนหวาดเสียวสัก 4 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเห็นใจมากกว่า เป็นเรื่องของมิตรภาพ ความเอื้ออาทร ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ๆ มั้ย ? ธัญญา : ความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นมีมานานแล้ว เพราะเราเป็นพวกที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา เราทำหนังสือก็มาปิดของเราอะไรทำนองนี้ ความโดดเดี่ยว ความเหงานี่เป็นส่วนหนึ่งของพระจันทร์เสี้ยวพวกเราลึก ๆ ลงไปนี่เหงา คิดอยู่ในใจว่าพวกเราเป็นคนนอกของสังคม แม้แต่มหาวิทยาลัยเราก็เป็นคนนอกของสังคมนั้น ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนที่เดินทางรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่คาดคิดไว้หรือไม่? ธัญญา : มันไม่ได้มีความหวังอะไรนอกจากอยากเจอสิ่งใหม่คิดว่าเรื่องของความผิดหวังจะไม่ค่อยเจอ ความท้อแท้ ความเหนื่อย ความเหงาจะมี ชีวิตกลางแจ้ง : เปรียบเทียบได้มั้ย ซึ่งในสภาพการณ์ปัจจุบัน ยังมีผู้คนจำนวนมากเหงาอยู่ หนทางที่จะเดินออกไปกับสมัยก่อน ธัญญา : รูปแบบของมันคงแตกต่างกัน คนสมัยนี้อาจไม่ต้องโบกรถ อาจนั่งเครื่องบินหาความใหม่ได้ คือการเดินทางมันไม่จำกัดว่าคุณต้องไปเดินแล้วโบกรถ ผมเมื่อ 3 ปีก่อน ที่ย้ายงานผมยังนั่งรถไฟคนเดียวจากกรุงเทพฯไปสิงคโปร์ คือมันยังอร่อยอยู่ ผมเลื่อนงานใหม่สายสัก 15 วัน แล้วผมก็นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯไปถึงสิงคโปร์ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน ไปอยู่สิงคโปร์แค่ 7 วันแล้วนั่งกลับ ผมก็ถ่ายรูปไปแล้วนั่งคุยกับคนนั้นคนนี้บ้าง มันเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ก็ทำได้ ถ้าคุณมีหัวใจที่อยากจะทำ อยากเดินทาง หัวใจที่จะแสวงหาดิ้นรนพบสิ่งใหม่
ชีวิตกลางแจ้ง : ระยะเวลาที่ทำงานน้อยที่สุดนานแค่ไหน?
ธัญญา : ทำธนาคาร 3 เดือน
ชีวิตกลางแจ้ง : แล้วนานที่สุด?
ธัญญา : ทำ 5 ปี ก็ธนาคารเหมือนกัน
ชีวิตกลางแจ้ง : ตอนนี้ถ้าเขียนแบบไม่ใช่ถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นลักษณะ<br />
ถนนไปสู่ก้อนเมฆ นี่มีโอกาสได้เขียนมั้ย? ธัญญา : อย่างนั้นเขียนยาก เพราะเราต้องการความลงตัว ละเมียดละไม ซึ่งช้า ..ช้ามาก ถนนไปสู่ก้อนเมฆนี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้บันทึกความรู้สึกของเราถ่ายทอดออกไป ซึ่งเขียนยากและสื่อได้ด้านเดียวคือปลุกวิญญาณให้อยากไป แล้วถ้าจะไป ไปยังไงล่ะ พอคุณหยิบเล่มนี้ขึ้นมาคือนำเที่ยวสิงคโปร์ คุณก็รู้ว่า เออ .ไปสิงคโปร์นี่คุณนั่งรถไฟไปก็ได้? ชีวิตกลางแจ้ง : มีความคิดว่าคนในยุคนี้เหงากว่ายุคเก่ามั้ย? ธัญญา : ลึก ๆ คิดว่าเหงากว่า เพราะว่าคนมันยิ่งห่างกันทุกที เพราะฉะนั้นความโหยหาในธรรมชาติ โหยหาในสิ่งที่เป็นพื้นฐานน่าจะมีมาก ชีวิตกลางแจ้ง : มีทางไหนมั้ย เพื่อจะเดินทางไปพบกับสิ่งใหม่ ๆ ? ธัญญา : คนแต่ละรุ่นก็จะมีทางออกของรุ่นเขาเองอย่างคนรุ่นเรา 2512 2514 ก็เจอทางตันอย่างนี้แหละ แต่พวกเราก็ไม่คิดจะทำเป็นทางออก เพียงแต่หาทางที่จะแหวกออกไปมากกว่าเพราะในยุคนั้นก็มีงานบอลล์ งานเต้นรำ แข่งฟุตบอลประเพณีก็มีเท่านั้น แต่ละคนก็แหวกไปคนละทาง ผมก็ไปทาง เธียรเขาก็ไปทาง ไปออกท้องทุ่งอะไรของเขา มันเป็นเรื่องของแต่ละรุ่น ไม่มีคำตอบของคนอีกรุ่นหรอกเป็นหน้าที่ที่ต้องแสวงหาเอง ปลุกวิญญาณการแสวงหาให้ได้ก่อน ชีวิตกลางแจ้ง : เรียกว่าวิญญาณอิสระ? ธัญญา : วิญญาณพเนจร หรือวิญญาณขบถ คือจะเรียกอะไรก็ตาม แต่ต้องปลดพันธนาการแล้วมองโลกให้ผิดแปลกไปจากที่เรามอง ให้มีความเสรีแบบเด็ก ๆ ที่เดินไปชนโต๊ะหัวแตกก็ยังเดิน คือมันต้องเดิน นี่คือวิญญาณ แล้วแม่ก็จะเริ่มดึง หนูอย่าไปตรงนั้น เราก็เอาตัวนั้นแหละกลับ เบื่อก็ไปเครื่องบินก็ได้ นั่งรถไฟก็ได้ หรือเล่นเกมกดก็ได้ ไม่มีคำตอบสำหรับคนรุ่นใหม่ คุณต้องไปหาเอาเอง แต่ผมมีวิญญาณให้ว่าคุณต้องปลดพันธนาการ ชีวิตกลางแจ้ง : อยากจะเดินไปบนถนนสู่ก้อนเมฆอีกครั้งไหม? ธัญญา : อยากจะเดินในเมืองไทย อยากจะไล่ลงมาจากเชียงรายถึงสุไหงโกลกเลย ถ้ามีเวลาอาจใช้รถยนต์ก็ได้ ขอให้เราไปแบบเวลาไม่จำกัด ไม่ใช่ 9 โมงเช้าต้องไปถึงนี่อย่างนั้นไม่ใช่ ชีวิตกลางแจ้ง : เพื่ออะไร? ธัญญา : เพื่อสนองความอยากที่จะเป็นอิสระไม่ตั้งเป้าว่าจะไปถึงนั่นถึงนี่แล้วหยุด บางทีอาจจะพัก 3 เดือน บางทีอาจจะอยู่ 3 วัน คือทางออกมันมีหลายอย่างไม่เจาะจงว่าจะต้องเดินทางอาจจะทำละคร , นั่งกินเหล้า ก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งคือมันหลากหลาย กลุ่มเราเองก็มีทางออกแต่ละคน ผมไม่อยากให้เป็นเฉพาะ ถนนไปสู่ก้อนเมฆ อยากให้เป็นวิญญาณของการแสวงหา วิญญาณของผู้ขบถมากกว่า.
ข้อมูลจาก www.tanyaph.com