บทความ

อ่านความคิดดาวรุ่งซีไรต์ “ศิริวร แก้วกาญจน์”

by Pookun @August,14 2007 23.55 ( IP : 222...49 ) | Tags : บทความ

อ่านความคิดดาวรุ่งซีไรต์ “ศิริวร แก้วกาญจน์”

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 สิงหาคม 2550 17:58 น.

      “เราเพียงแค่นั่งมองบทกวี ไม่ได้เข้าไปอยู่ใกล้ๆ ก็จะรู้สึกว่าบทกวีเป็นสิ่งที่อยู่ไกลจากห้วงความรู้สึก ไม่กล้าที่จะเข้าไปแตะต้อง ทำไมเราไม่เดินเข้าไปหาสิ่งนั้น เพื่อที่จะได้เข้าไปลิ้มลองรสชาติอันหอมหวานจากบทกวี”
      เสียงสะท้อนของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ที่มีต่อโลกแห่งความสลักเสลาทางตัวอักษรอย่างโลกกวี ที่เขาได้เข้ามาโลดแล่นและแจ้งเกิดอย่างสวยงาม กับผลงานที่โดดเด่นจนเป็นที่ถูกตาต้องใจของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ครั้งที่ 29 ประจำปี พ.ศ.2550 เข้าอย่างจัง จนทำให้ปีนี้มีชื่อของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ติดอันดับเข้าชิงรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์ ผลงานถึงสองเรื่องคือ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” และ “ลงเรือมาเมื่อวาน”
      นอกจากการที่เขามีชื่อเป็นดาวเด่นเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปีนี้แล้ว ล่าสุดเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศิริวร แก้วกาญจน์ ยังได้รับการคัดสรรให้ได้รับ “รางวัลศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ.2550 จากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม “สาขาวรรณศิลป์” ชนิดที่ยังไม่ต้องรอชิงดำ คอยลุ้นผลให้หัวใจสั่นระรัว ซึ่งรางวัลนี้มอบให้กับศิลปินร่วมสมัยอายุประมาณ 30-50 ปี ที่มีความมุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่สายตาประชาชนอย่างต่อเนื่อง
      แต่นี่คงไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการรับรางวัลอันทรงเกียรติแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้เขาเองเคยได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2548 ประเภทเรื่องสั้น จากรวมเรื่องสั้น “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่า” ที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง
      นอกจากนี้ ยังมีหนังสือรวมบทกวี “ประเทศที่สาปสูญ” และรวมเรื่องสั้น “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” ที่ได้เข้าสู่รอบแรกรางวัลซีไรต์ ปี 2547 และปี 2549 ตามลำดับ





      ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้โลดแล่นอยู่บนถนนสายน้ำหมึก เขาได้มาสัมผัสบนเส้นทางน้ำหมึกนั้นเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราว รวมทั้งมุมมองของเขาที่มีต่อวงการกวีนิพนธ์อย่างน่าชวนติดตาม       จุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิริวรหันมาสนใจงานเขียนนั้น เกิดมาจากเมื่อครั้งที่ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม คณะวิจิตรศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะในระหว่างที่กำลังจรดปลายพู่กันวาดรูปอยู่นั้น เขาได้เกิดความคิดขึ้นมาว่า จะวาดรูปอย่างไรให้สวยงามกับอุปกรณ์อันมีอยู่อย่างจำกัด เฉกเช่นเดียวกับงานเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งให้ออกมามีคุณภาพที่สุด
      “การเขียนหนังสือเป็นงานที่ท้าทายเหมือนกับการเขียนรูป เพราะเราจะต้องใช้ฝีมือของเราทั้งหมดที่มี มาถ่ายทอดภาษาให้มีความละเมียดละไมมากที่สุด” นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชายหนุ่มคนนี้หันมาจับปากกาเขียนหนังสือ
      โดยผลงานที่เขาได้เริ่มเขียนเป็นครั้งแรกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบทกวีที่เขาและเพื่อนๆ ที่อยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งบทกวีส่วนใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปีนี้ทำให้ผลงานเขียนของชายหนุ่มคนนี้มีชื่อเข้าชิงรางวัลถึงสองเล่ม
      สำหรับผลงาน 2 เล่มที่เข้าสู่รอบแรกรางวัลซีไรต์ปีนี้ ศิริวรบอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะส่งพร้อมกันในปีเดียว เพียงแต่เล่มที่ชื่อ “เก็บความเศร้าให้พ้นมือเด็กเด็ก” ได้รับการตีพิมพ์เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงปีที่สามารถส่งประกวดได้ ส่วน “ลงเรือมาเมื่อวาน” เพิ่งตีพิมพ์เสร็จในปีนี้ตนจึงถือโอกาสส่งทั้งสองเล่ม
      ศิริวร เล่าต่ออีกว่า ทั้ง 2 เล่มที่เข้ารอบแรกนั้นมีรูปแบบการนำเสนอที่ต่างกันแบบสุดขั้ว คือ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” เป็นกวีนิพนธ์ปลอดฉันทลักษณ์ หรือเป็นกลอนเปล่าที่ไม่ได้ยึดติดในรูปแบบของฉันทลักษณ์ และ “ลงเรือมาเมื่อวาน” นำเสนอในรูปแบบฉันทลักษณ์ ก็ยังมีแก่นเรื่องที่ต่างกันคือ เล่มแรกนำเสนอเนื้อหาเป็นบทกวีที่จรรโลงอารมณ์อันประณีตของมนุษย์ ในโลกยุคบริโภควัตถุ ตัวเลขและเทคโนโลยี แม้จะเป็นเสียงแผ่วเบา แต่ก็เป็นเสียงตอกย้ำให้สังคมเชื่อว่ามนุษย์ยังมีคุณค่าพื้นที่กว้าง มองปัญหาของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างครอบคลุม
      ส่วนเล่มที่สอง “ลงเรือมาเมื่อวาน” มีลักษณะเป็นอัตวิสัยและมีเนื้อหาเชิงกวีศาสตร์ เป็นกวีนิพนธ์ที่พรรณนาอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจของกวีที่มีต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ ในสังคม ซึ่งได้ชี้ชวนให้ขบคิดถึงความสำคัญของการดำรงอยู่และความเป็นไปของวัฏจักรชีวิต แม้ว่าจะเป็นสัจธรรมที่รับรู้กันโดยทั่วไป
      ศิริวร ยังได้พูดถึงความแตกต่างของบทกวีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า ได้มีพัฒนาการไปตามลำดับ ตั้งแต่ชั้นเชิงในการประพันธ์ จนถึงการหลุดออกจากกรอบของกวีนิพนธ์แบบเดิมๆ โดยเฉพาะ บทกวีปลอดฉันทลักษณ์
      “ทุกวันนี้คนในวงการกวีมักจะมอง บทกวีปลอดฉันทลักษณ์ เปรียบเสมือนวัชพืชที่ต้องเร่งกำจัดโดยด่วน เพื่อไม่ให้ลุกลามไปทำร้าย กวีตามขนบประเพณีเดิมที่เขาเคยมีไว้แต่กาลก่อน”
      แต่สำหรับชายหนุ่มคนนี้เขากลับมีความรู้สึกว่า วงการวรรณศิลป์ควรจะมีความหลากหลายในงานเขียน เพื่อสร้างสีสันให้วงการวรรณกรรม มากกว่าการมีรูปแบบเพียงหนึ่งเดียว ถ้าเปรียบบทกวีเป็นดอกไม้ ถ้ามีดอกไม้เพียงแค่สีเดียวก็คงจะดูเบาตา กว่าการมีดอกไม้หลากสีมาประดับให้เกิดความสดใสชุ่มฉ่ำ
      ถ้าบทกวีในวันนี้เปรียบเสมือนดอกไม้หลากสี ชายหนุ่มคนนี้ก็คงจะสวมบทบาทเป็นนายมาลาเพื่อร้อยดอกไม้หลากสีเข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม

Comment #1
จรดล
Posted @August,15 2007 03.08 ip : 58...2

ไม่จริง ที่ศิริวร บอกว่า “ทุกวันนี้คนในวงการกวีมักจะมอง บทกวีปลอดฉันทลักษณ์ เปรียบเสมือนวัชพืชที่ต้องเร่งกำจัดโดยด่วน เพื่อไม่ให้ลุกลามไปทำร้าย กวีตามขนบประเพณีเดิมที่เขาเคยมีไว้แต่กาลก่อน”

เพราะว่า ทุกวันนี้ หรือนานพอควรแล้ว อาจนับแต่ ราช รังรอง เขียนขอบกรุง บทกวีปลอดฉันทลักษณ์ก็ได้รับการยอมรับ หากแต่ข้อเท็จจริงที่จริงกว่านั้นก็คือ แทบทุกคนในแวดวงต่างก็ยอมรับบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ทั้งนั้น

ไม่ทราบว่าศิริวร ยังติดยึด หรือร้อนตัวร้อนใจอะไรไปกับการที่บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของตัวเองเข้ารอบไป

กวี นับแต่อังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ วาณิช จรุงกิจอนันต์ คมทวน คันธนู จีรนันท์ พิตรปรีชา แรคำ ประโดยคำ ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ โชคชัย บัณฑิต ฯลฯ คนที่เขียนงานฉันทลักษณ์เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่น้อมรับกวีไร้ฉันทลักษณ์ และส่วนใหญ่ก็เคยเขียนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์กันมาแล้วทั้งนั้น

และในแวดวงกวีนิพนธ์เองก็ยอมรับกันมาตั้งนานแล้ว ศิริวร เป็นอะไร เอาอะไรเป็นตัวตั้งที่ว่า ซีไรต์ หรืออะไร

ส่วนใหญ่ต่างหากที่ผมเห็น เวลาที่คนซึ่งไม่ยอมรับกวีไร้ฉันทลักษณ์ออกมาแสดงทัศนะ ก็จะถูกมองว่าคับแคบทันที ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องของตรรกะเหตุผล ไม่ใช่ความคับแคบทางจิตใจ แต่เป็นการมองในมิติที่ต่างกันในเรื่องของตรรกะทางภาษามากกว่า เมื่อเขามองว่ากวีไร้ฉันทลักษณ์ไม่เป็นกวี หรือโมฆะกวีอะไรทำนองนั้น ก็จะถูกตัดสินทันทีว่าเป็นพวกคับแคบ คร่ำครึ ทันทีโดยไม่มองมิติอื่นๆว่าเขามีเหตุผลอะไรที่มากกว่า คับแคบ และคร่ำครี

จริงๆแล้วเรารับอิทธิพลของกลอนเปล่า หรือบทกวีปลอดฉันทลักษณ์มาจากต่างชาติ คือ ฟรีเวิร์ด หรือแบลงค์เวิร์ด แล้วมาลอกหรือมาแปลท่วงทำนองตรงๆ คือเป็นการใช้ภาษาแบบโดดๆ ทั้งๆที่โดยหลักภาษาแล้ว การเรียงร้อยถ้อยคำ นัยยะความหมาย และความเข้าใจภาษานั้นต่างกัน รากของการใช้คำในแต่ละท่วงทำนองภาษาต่างกัน มันก็เริ่มมาตั้งแต่การสร้างอักษร ซึ่งแน่นอนว่ามันผูกพันสอดคล้องมากับวิถีคิดวิถีชีวิตในแต่ละที่แต่ละถิ่นด้วย และอันว่าภาษานั้นย่อมสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิด แตกต่างกัน

การเรียงร้อยถ้อยคำของกวีนิพนธ์ไทยนั้น ไม่อาจแยกออกจากความสอดคล้องสัมพันธ์ในรูปของการสัมผัสอักษร สระ และเสียงได้ หากแต่ภาษาของฝรั่งหรือห้วนกระชับ ตัวอักษรน้อย มีสระ วรรณยุกต์ ต่างกับของไทยเรา เหล่านี้ย่อมมีการร้อยเรียงภาษาสื่อ ที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองได้แตกต่างกัน ชนิดแยกขั้วชัดเจน ฉันทลักษณ์ของไทยจึงมีรูปแบบกวีนิพนธ์ต่างกับกวีนิพนธ์ของต่างชาติที่มีรูปภาษาอื่นๆข้างต้น เป็นรูปแบบของกวีนิพนธ์ตามพื้นภาษานั้นๆ แน่นอน มันมิใช่ความหมายแค่ง่าย งาม มีความหมาย หรือที่เราเรียกว่า แค่คิดเท่านั้นก็เป็นกวี ย่อมมิได้ กวีนิพนธ์ไทยย่อมมีรูปแบบของกวีนิพนธ์ไทย ที่ต่างไปจากความหมายหรือนัยยะของกวีนิพนธ์ว่าคือสิ่งใดเท่านั้น ไม่ใช่ฉันทลักษณ์เป็นกวีนิพนธ์ไทยเสมอไป แต่กวีนิพนธ์ไทยก็ต้องเป็นฉันทลักษณ์ของไทยด้วย จะใหม่เก่าก็ตาม ขอให้มีรูปแบบ ที่เราเรียกว่าเป็นสากล(ของถิ่นและเจ้าภาษาน้นๆ) อันเป็นคนละนัยยะความหมายของความเป็นกวีนิพนธ์อีกชั้น

อนึ่ง คำว่าฉันทลักษณ์ ก็ไม่ได้แปลทื่อตรง หรืออย่าง เทิ่งตรงไปนา อย่างที่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้นิยมเอาไว้ว่า ถ้าฉันทะ แปลว่า ความพอใจ ลักษณ์แปลกว่าลักษณะ ถ้าอย่างนั้นฉันทลักษณ์ก็แปลว่า ลักษณะอันพึงพอใจเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้น ลักษณะอันพึงพอใจอย่างนั้นก็แปลว่าไม่ได้แปลว่าเป็นฉันทลักษณ์(ก็ได้)เท่านั้นเอง ฉันทลักษณ์ แปลว่า ไม่เป็นฉันทลักษณ์ก็ได้ ก็จะแปลว่าอย่างนั้น ซึ่ง ตื้น

ทุกวันนี้ หรือนานวันมา ก็เลยเขียนฉันทลักษณ์กันแบบกลอนเปล่า กลอนปล่อย กลอนเปลือย กลอนบ้างไม่กลอนบ้าง กลอนแบบประเภทหวานแหวว ซึ่งก็คล้ายๆกับกลอนของศุ บุญเลี้ยง ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ของใครต่อใคร ที่ถ้าใครเขียนฉันทลักษณ์ผิด ไม่ถูกต้องฉันทลักษณ์ก็จะถูกต่อว่าต่อขานว่าไม่ถูกต้องบ้าง ผิดสัมผัสอะไรบ้าง แต่ถ้าเขียนกลอนปล่อย กลอนเปล่า กลอนบ้างไม่กลอนบ้าง ก็อ้างไม่ได้ ก็อ้างว่า เป็นกลอนแบบนั้นแบบนี้ ฟังดูก็ตลกดี เอาอะไรเป็นเกณฑ์ถ้าไม่ใช่วิชากรูเป็นที่ตั้ง นี่ว่ากันเคร่าๆ

อันที่จริงคำว่า ฉันทลักษณ์นั้น ต้องแปลรวมๆว่า ลักษณะอันพึงพอใจ ร่วม ที่ต้องมีกฎกติกา หรือมาตรฐานร่วม อันไม่ได้หมายถึงว่า ความหมายของบทกวีก่อน ฉันทลักษณ์ยังไม่ได้เป็นบทกวีนิพนธ์ แต่เป็นลักษณะร่วมอันพึงพอใจ ทีอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เป็นสากล ...เวลาหมดแล้ว  อันหมายถึง รูปแบบ ซึ่งของเราก็คือ ฉันทลักษ์ครับ นี่เป็นข้อสังเกตข้อหนึ่ง เอาไว้ต่อนะครับ เวลาเน็ตหมด..ครับผม

Comment #2
โกหก
Posted @August,18 2007 19.17 ip : 203...242

จริงไม่จริงไม่รู้แหละ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=1682&catid=8

Comment #3
โกหก
Posted @August,18 2007 19.18 ip : 203...242

ลองเข้าไปอ่านดูนะจ้ะ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=1682&catid=8

Comment #4
Posted @August,19 2007 00.00 ip : 124...160

บนเส้นทางสายฝันของนักเขียนศิลปาธร 2550 ศิริวร แก้วกาญจน์
| โดย มติชนออนไลน์ : วันที่ 18 สิงหาคม 2550 - เวลา 14:20:02 น.

ทุกคนต่างก็มีวิถีทางของการก้าวเดินที่ผิดแผกกัน บางคนเดินอย่างสบายเท้าบนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบอันนุ่มละไม บางคนก็เจอทั้งกิ่งและหนามของกุหลาบทำเนื้อตัวถลอกปอกเปิก จนต้องขอยกธงขาวขอยอมแพ้พ่ายไป

แต่ก็มีอีกหลายคนที่แปรเปลี่ยนสารพัดอุปสรรค ให้กลับกลายเป็นแรงใจคอยผลักดัน เพื่อก้าวไปสู่วันที่งดงาม

เหมือนนักเขียนหนุ่มหนวดงามผู้ซึ่งใช้เวลากว่า 15 ปีของการเดินทางในถนนวรรณกรรม สลักเสาตัวอักษรเยี่ยงผู้ทรงศิลป์ สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนสะเทือนสังคมไว้มากมายทั้งบทกวี เรื่องสั้น และนวนิยาย จนได้รับการ คัดสรร จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในศิลปะหลากสาขา ให้ได้รับรางวัล ศิลปาธร ประจำปี พ.ศ.2550 ในสาขาวรรณกรรม และเขาก็เป็นนักเขียนรางวัลศิลปาธรคนแรกที่ยังไม่ได้รับรางวัลซีไรต์ (แต่เข้ารอบสุดท้ายมา 4 สมัยติดต่อกัน กับผลงาน 5 เล่มในทั้ง 3 ประเภท!)

เขาคือ ศิริวร แก้วกาญจน์

1.แรกก้าว...

ศิริวรเริ่มหลงใหลในกลิ่นน้ำหมึกมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เพราะได้รับการปลูกฝังจากครูศิลปะคนหนึ่งคือ อ.สมทรง ฝั่งชลจิตร ซึ่งเป็นน้องชายของนักเขียนชื่อก้อง จำลอง ฝั่งชลจิตร ซึ่งชอบนำวรรณกรรมดีๆ มาให้ลูกศิษย์อ่าน ส่วนถ้าใครจะมองว่าเริ่มช้าไปนิด นั่นก็เป็นเพราะว่า...

'ในหมู่บ้านชนบทของประเทศโลกที่สามที่ผมเติบโตมา ไม่เคยมีศัพท์คำว่านักเขียนในการรับรู้เลย เด็กรู้จักแต่ทหาร ครู ตำรวจ พยาบาล สังคมไทยไม่ได้ให้ค่ากับการคิดการเขียนไง'

แต่ศิริวรก็ยังไม่ได้ก้าวสู่เส้นทางอักษรอย่างเต็มตัว เพราะความสามารถที่ฉายแววชัดเจนในช่วงขณะนั้น คืองานศิลปะ และด้วยความเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่งหลังจากจบมัธยมจึงได้โควต้ามาเรียนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช

ซึ่งระหว่างเรียนนอกจากจะมุ่งมั่นในการสะบัดแปรงพู่กันแล้ว ศิริวรยังใช้เวลาที่ว่างจมอยู่กับตัวอักษรของหนังสือในห้องสมุด และนั่นก็เปรียบเสมือนประตูที่นำเขาเข้าสู่โลกวรรณกรรมอย่างจริงจัง

'การเขียนรูปมันมีอุปกรณ์ มีเฟรม สี พู่กัน เราสามารถเขียนมิติ แสงและเงาได้ไม่ยาก แต่การเขียนหนังสือมีแค่ตัวอักษร 40 กว่าตัว คุณจะทำให้เกิดแสงเงา เกิดมิติได้ยังไง สำหรับผม นี่คือโจทย์ที่ท้าทายและน่าลิ้มลองอย่างยิ่ง รู้เลยว่าจะต้องเป็นนักเขียนให้ได้' ศิริวรนึกย้อนไปถึงความรู้สึกเริ่มแรก

หลังจากเรียนจบ ปวส.ศิริวรได้ไปรับใช้ชาติเป็นทหารอยู่ 1 ปี และที่นั่นชื่อ ศิริวร แก้วกาญจน์ ก็ได้รับการจารึกในบรรณพิภพเป็นครั้งแรก และปรากฏพร้อมกันใน 2 ฉบับ คือ บทกวีในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และเรื่องสั้นในหนังสือพิมพ์มาตุภูมิรายสัปดาห์ และหลังจากปลดประจำการเมื่อปี 2534 ศิริวรก็เข้ามาเผชิญโลกที่เมืองหลวง

'ตอนนั้นก็ถือบทกวีของคาลิล ยิบราน มาเล่มหนึ่งกับกีตาร์ตัวหนึ่ง' ศิริวรเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนที่จะบอกต่อว่า...

'ช่วงนี้แหละที่ผมเขียนแบบบ้าระห่ำเลย เพราะเจอเพื่อนๆ กวีที่เคยอ่านผลงานกันและกันมาตามหน้านิตยสาร พวกหน้ารามนี่รู้จักกันเพราะผลงานเขียนทั้งนั้น จนมาทำงานประจำที่มาตุภูมิรายสัปดาห์'

ถึงจะเรียนศิลปะมา แถมเรียนได้ดีซะด้วย แต่ศิริวรก็ไม่เคยเสียดายที่ละเลยงานด้านศิลปะ เพราะในมุมมองของเขา ทั้ง 2 สิ่งเป็นเรื่องเดียวกัน

'ต่างแค่รายละเอียด วิธีการ ศิลปะใช้เส้นใช้สี เขียนหนังสือใช้ตัวอักษร แต่แก่นแกนคือสร้างมิติแสงเงาเหมือนกัน'

แต่ด้วยความเป็นคนหนุ่มที่รักจะโบยบินอย่างอิสระ ไม่ยึดติดกับระบบ ประกอบกับขัดอกขัดใจที่หนังสือพิมพ์การเมืองอย่างมาตุภูมิรายสัปดาห์ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (ปี 2535) ซึ่งเพิ่งจะจบลงไปไม่นานนัก เขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อเติมเต็มความใฝ่ฝันของตัวเอง

2.เรียนรู้...

เวลากว่า 15 ปีบนถนนสายอักษร ได้หล่อหลอมศิริวรให้กลายเป็นคนคุณภาพของวงวรรณกรรม ผลงานของเขาทุกชิ้นในทุกประเภทล้วนแต่มีอักษรที่บรรจงสลักเสลาอย่างเห็นจินตภาพ และที่สำคัญคือมีเรื่องราว มุมมอง วิธีคิดซึ่งทั้งแหวกและแตกต่างน่าลิ้มลอง

เพราะงานวรรณกรรมในความหมายของศิริวรคือ ต้นตอบ่อเกิดของคำถาม มากกว่าจะเป็นการให้คำตอบแก่คนอ่าน โดยเฉพาะคำตอบแบบสำเร็จรูป

'วรรณกรรมต้องย่อยข้อมูลดิบๆ เป็นแท่งๆ ที่ได้มาให้ละเอียดก่อนเอามาใช้ ทุบหรือบดมันให้ละเอียด แล้วปั้นมันขึ้นมาใหม่ด้วยกลวิธีของวรรณกรรม' ศิริวรอธิบายด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ภาพของศิริวรอาจทำให้หลายคนมองว่าเขาคือกวีหนุ่ม แต่เมื่อศิริวรรู้เข้า เขากลับส่ายหน้าหวือปฏิเสธคำกล่าวนี้ทันควัน และบอกทันทีว่าเขาเป็น คนเขียนหนังสือ ก่อนที่จะขยายความอีกนิดหลังจากเห็นหน้าเอ๋อๆ ของเราว่า 'คนที่พยายามเขียนทุกรูปแบบ ที่พื้นที่วรรณกรรมสามารถเอื้อให้สร้างงานได้ไง' ศิริวรยังวิเคราะห์ให้ฟังอีกด้วยว่าที่หลายคนมองว่าเขาเป็นกวีนั้น น่าจะเป็นเพราะช่วงแรกๆ เขาเขียนกวีเยอะมาก ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของคนมอง

'เมื่อเราหันด้านไหนให้โลกโลกก็จะรู้จักเราด้านนั้นๆ หลายคนชี้นิ้วว่าศิริวร คุณคือกวี แต่จริงๆ แล้วยังมีสิ่งที่คุณมองไม่เห็นอีกหลายด้าน' ส่วนสาเหตุที่เขียนครบทุกด้าน แถมดีทุกประเภทอย่างนี้ก็เพราะเขาเชื่อว่า

'โดยศักยภาพของมนุษย์ เราน่าจะทำอะไรได้หลายๆ อย่างในตัวคนคนเดียวกัน แต่ต้องเรียนรู้ ค้นคว้า และตั้งใจจริง' เป็นความเชื่อที่ขอปรบมือให้เลยนะเนี่ย

ถึงแม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ศิริวรจะพบเจออุปสรรคมากมาย ทั้งคำสบประมาท คำเสียดสีเยาะหยัน ความอยุติธรรมในการพิจารณางาน (แบบมีการเมืองเข้าแทรก) แต่ศิริวรก็ไม่เคยทดท้อ กลับมองว่าเป็นความท้าทายชนิดหนึ่งที่ยอมอ่อนข้อให้ไม่ได้ แถมนำสิ่งเลวร้ายพวกนี้มาแปรเป็นพลังให้วิถีของการขีดเขียนแข็งแกร่งขึ้นด้วย

'เรื่องพวกนี้ส่งผลด้านบวก ไม่เคยมีส่งผลด้านลบเลย ผมรู้อย่างเดียวว่าต้องมุ่งไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง' ศิริวรยืนยันความคิดด้วยแววตาที่มุ่งมั่น

3.มุมมอง...

ทรรศนะต่อไปนี้คือมุมมองต่อแวดวงวรรณกรรมที่ประมวลมาจากประสบการณ์ของคนเขียนหนังสือคนนี้

'ที่เคยบอกว่าวงการวรรณกรรมต้วมเตี้ยมเหมือนเต่า เป็นเพราะหวังจะกระตุ้นวงการว่า เฮ้ย! เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมไม่มองข้างหลัง เพื่อเป็นทิศทางมุ่งไปข้างหน้า ทำไมต้องยึดติดกับความคุ้นชินเดิมๆ จนเกินไป โลกได้เดินทางมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่คุณยังยืนงงงวยในศตวรรษที่ 20 งานวรรณกรรมต้องเคียงคู่ไปกับโลก สอดคล้องกับอารมณ์ร่วมสมัย แม้คุณจะเขียนงานประวัติศาสตร์ก็ตาม

แล้วพอไปเทียบกับวรรณกรรมประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย วรรณกรรมบ้านเราถือว่ายังเดินตามหลังเขาอยู่เลย ผมเองเขียนได้แค่นี้ก็ไม่ภูมิอกภูมิใจเลย

'ที่เป็นอย่างนี้เพราะระดับหนึ่งนักเขียนบ้านเรามุ่งมองต่อความเป็นไทยมากเกินไป ยังติดกรอบอยู่กับความเป็นอีสาน ใต้ เหนืออยู่เลยจนขาดความเชื่อมโยงกับบริบทอื่นในสังคมที่กว้างออกไป แล้วคุณจะเติบโตได้อย่างไรล่ะ นักเขียนควรมุ่งมองบริบทที่กว้างกว่าพื้นที่ที่มองเห็นด้วยสายตา

'แต่ทุกสังคมเป็นแบบนี้นะ ไม่ใช่แค่สังคมไทย การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ ต้องเจอกับแรงปะทะ ซึ่งแรงปะทะนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความกลัว เพราะแน่นอนว่าพื้นที่ของคุณเจอกับการสั่นสะเทือนที่คุณไม่รู้จัก แล้วคุณไม่รู้จะรับมือกับมันยังไง กลัวสูญเสียความเชื่อมั่น คุณค่าที่เคยมี'

ชัดเจนทางความคิดจริงๆ

4.รางวัล...

'รู้สึกดีมากที่ได้รางวัลที่มาจากการคัดสรรอย่างศิลปาธร ดีกว่าการส่งประกวด เพราะการส่งประกวดรางวัล แง่หนึ่งคือการแข่งขัน แม้เราไม่อยากเรียกว่าอย่างนั้นก็ตาม แต่กรณีศิลปาธรต่างออกไป

'ไม่เคยนึกเลยว่า การทำงานเงียบๆ ของเราจะมีสายตาคู่ใดคู่หนึ่งมองอยู่ จนถึงวันหนึ่งรางวัลศิลปาธรถูกโยนลงในมือเรา ก็เฮ้ย! สิ่งที่ทำอยู่ก็มีคุณค่า มีคนเห็นเหมือนกันนี่หว่า' เขาเผยถึงความรู้สึกต่อศิลปาธร และเมื่อเราตั้งข้อสังเกตว่าเห็นรายชื่องานเขาส่งเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ค่อนข้างบ่อย เขาก็รีบปฏิเสธทันทีว่า ไม่บ่อยหรอก อย่างซีไรต์เขาเพิ่งจะส่งไม่กี่ปีนี้เอง

'ก่อนหน้านี้ผมเฉยๆ กับรางวัลด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้แอนตี้นะ แค่เราทำงานของเราไป จนถึงวันหนึ่งกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า พอไม่สังฆกรรมกับรางวัล งานมันจะเงียบหายไปจากการรับรู้ของสังคม สื่อก็ไม่พูดถึง เลยต้องเอากระแสมาใช้ให้เป็นประโยชน์' ศิริวรยอมรับตรงๆ ก่อนที่จะจำกัดคำนิยามให้รางวัลว่า

'รางวัลก็เป็นแค่สปอตไลท์ ที่ช่วยทำให้ขอบเขตการรับรู้งานของคุณเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ยังไงซะแก่นของเนื้องานก็มีอยู่เท่าเดิม'

ศิริวรเป็นบุคคลประเภทที่ไม่ให้ความสำคัญกับรางวัลมากนัก (หายากนะเนี่ย) เพราะเขาเชื่อว่า

มนุษย์ที่มีแก่นมีราก ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเปลือกจะหนาหรือบาง

'คนเขียนหนังสือต้องเข้าใจธรรมชาติของรางวัล คุณค่าที่เป็นนามธรรม เป็นคุณค่าที่ลื่นไหล หากเข้าใจตรงนี้ได้เราก็จะไม่มีปัญหากับการประเมินค่าใดๆ เลย' ศิริวรกล่าวด้วยรอยยิ้มกว้าง และเสริมอีกว่า การได้รางวัลเป็นเพียงก้าวแรกๆ ในชีวิตเท่านั้น เพราะการเขียนหนังสือต้องประเมินค่ากันตลอดชีวิต แถมยังต้องประเมินค่ากับนักเขียนทั้งโลกด้วย

'คุณเขียนหนังสือ คุณมีสิทธิที่จะภูมิใจเมื่อใครๆ บอกว่าคุณเจ๋งที่สุดในหมู่บ้าน แต่สำหรับผมไม่ได้คิดอย่างนั้น เวลาเขียนหนังสือ ผมจินตนาการถึงพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของโลกวรรณกรรม และเราน่าจะเป็นจุดใดจุดหนึ่งในนั้น นี่อาจเป็นความทะเยอทะยานที่ไม่เข้าท่าก็ได้นะ'

นั่นไม่ใช่ความทะเยอทะยานหรอก แต่เป็นความมุ่งมั่นต่างหาก

ไม่แปลกใจเลยกับความสำเร็จในวันนี้ของศิริวร แก้วกาญจน์

Comment #5
จรดล
Posted @August,20 2007 02.28 ip : 58...3

ขอบคุณครับที่แนะนำและโพสต์ทัศนะมาให้อ่าน แต่ถ้าใครมีประเด็นปาฐกกันในเรื่อง ตรรกะของกวีนิพนธ์(ต่อ)ก็ยินดีนะครับ ถ้าอยู่ในเรื่องอื่นประเด็นอื่นผมขอบาย...

แสดงความคิดเห็น

« 9515
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ