บทความ
พัฒนาการขบวนการนักศึกษาไทย
พัฒนาการขบวนการนักศึกษาไทย
เกริ่น
การกำเนิดของกลุ่ม องค์กร สถาบัน ตลอดถึงขบวนการต่างๆในสังคม เป็นผลโดยตรงจากการเคลื่อนตัวของสังคมอย่างลึกซึ้ง โดยบทบาทและภาระหน้าที่ขององค์ประกอบต่างๆจะคลี่คลายขึ้นลงตามแต่ละช่วงสถานการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยพิสูจน์ว่า กลุ่ม องค์กร หรือขบวนการนั้นๆ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและการดำรงอยู่ในทางสังคมเพียงใด
ในทำนองเดียวกัน การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษา ก็หาได้หลุดพ้นไปจากกฎเกณฑ์นี้ไม่ พัฒนาการของขบวนการนักศึกษาดำรงอยู่ในฐานะกลุ่มพลังคนหนุ่มสาว กลุ่มปัญญาชน ซึ่งมีบทบาทที่เป็นจริง หรือ จำเป็นต้องแสดงออกมา เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มพลังต่างๆ ให้มากที่สุด โดยที่บทบาท ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีจะแปรผันตามสถานการณ์ทางสังคม (ภาววิสัย) และศักยภาพภายใน (อัตวิสัย) ของนักศึกษาเองตลอดเวลา
นิยาม
ก่อนอื่นเพื่อขจัดข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆนี้ตลอดเวลา ที่ว่า "ขบวนการนักศึกษาตายสนิทแล้ว" "ขบวนการนักศึกษามีอยู่จริงหรือไม่" "ขบวนการนักศึกษาคือใคร" ผู้เขียนใคร่ให้คำนิยาม "ขบวนการนักศึกษา" ดังนี้คือ
นามธรรม:ขบวนการนักศึกษาดำรงอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการประชาชนที่ร่วมแสดงบทบาททางสังคมเพื่อความเท่าเทียม
ความเสมอภาคความยุติธรรมของคนในสังคมในแง่นี้นักศึกษามิได้ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่มีจุดร่วมทางความคิดมีแนวร่วมสนับสนุนอยู่ที่เป็นจริงทางสังคม แม้ว่าอาจไม่มีการจัดรูปขบวนอย่างเป็นรูปการก็ตาม
รูปธรรม : ขบวนการนักศึกษาเป็นการรวมกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกันมีมวลชนมีแนวร่วม และการจัดการองค์กรในการปฏิบัติการทางสังคมที่ชัดเจน ในแง่นี้ขบวนการนักศึกษามีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ
1.กลุ่มคนที่มีความรู้สึกร่วมกัน
2.กลุ่มคนที่มีความคิดร่วมกันและ
3.มีการสร้างสัญญลักษณ์หรือการจัดองค์กรในการเคลื่อนไหว โดยแบ่งเป็นส่วนนำ ส่วนองค์กรสมาชิก (องค์กรพื้นฐาน) และส่วนนักศึกษาทั่วไป
การให้นิยาม "ขบวนการนักศึกษา" ทั้งส่วนนามธรรมและรูปธรรมดังกล่าว เราจะต้องมีทัศนะเบื้องต้นในการพิจารณาขบวนการนักศึกษาอย่างมี "บริบท" (Context) ที่มีการปฏิบัติการ มีพัฒนาการอย่างสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต นั่นคือความจริงแล้ว ขบวนการนักศึกษาไม่ได้ตายไปไหนไม่ได้หายไปไหน ขบวนการนักศึกษายังดำรงอยู่เพียงแต่ยังมิได้แสดงบทบาทออกมาเท่าที่ควรตามที่กลุ่มคนหลายๆกลุ่มตั้งความคาดหวัง
2.พัฒนาการขบวนการนักศึกษา
การเริ่มต้นของการวิพากษ์ วิจารณ์สังคมและระบอบการเมืองไทยมิได้มีการกำเนิดตายตัวหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อปีพ.ศ.2475 เท่านั้น ก่อนหน้านั้นเมื่อประเทศไทยยังปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดากลุ่มขุนนางต่างๆที่ต้องการอำนาจและไม่เห็นด้วยกับการรวบอำนาจการตัดสินใจและการบริหารงานทุกอย่างในมือของบุคคลเพียงคนเดียวคือกษัตริย์ซึ่งผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ยังมี"ปัญญาชน" ที่มีเชื้อสายขุนนางชั้นสูงที่มีการศึกษาดีกว่าประชาชนทั่วไปที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมที่ดำรงอยู่ในแต่ละช่วง แต่ก็เป็นไปในลักษณะปัจเจก หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่จะเริ่มเกิดความเป็น "ขบวนการ" มากขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา และเมื่อมีการก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง" ขึ้นมาในปี พ.ศ.2477 ซึ่งเป็น "ตลาดวิชา" และศูนย์รวมของปัญญาชนที่สนใจเรียนรู้วิชา "การเมือง" และเริ่มมีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนขึ้น มีกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา เราพอจะแบ่งพัฒนาการดังกล่าวได้เป็น 4 ช่วงดังนี้คือ
1.ช่วงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 - พ.ศ.2500
2.หลังรัฐประหาร พ.ศ.2500 - เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
3.ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 - เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
4.หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 - ปัจจุบัน
ช่วงแรก ช่วงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 - พ.ศ.2500
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง พ.ศ.2475 และการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นจุดเริ่มที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของปัญญาชนในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ มธก. มีการจัดหลักสูตร "เตรียมอุดมศึกษา" คือเตรียม มธก. (ต.มธก.) คล้ายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ ฯลฯ
จุดเริ่มของ ต.มธก. นี้เองที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกัน เกิดสปิริต สมัครสมานสามัคคี การรวมกลุ่มนี้เห็นได้ชัดจากกรณีประท้วงเรื่องอาหารขึ้นราคาอย่างน้อย 3 ครั้ง ในปี 2483 โดย ต.มธก.รุ่น 2-3 ในปี 2484 โดย ต.มธก.รุ่น 6-7 และ ปี 2489 โดย ต.มธก.รุ่น 9 การเคลื่อนไหวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ไปสู่เรื่องทางสังคมมากขึ้นและก่อนหน้านี้ในปี 2480 ภายใต้การปกครองและการจัดตั้งทางอุดมการ "ชาตินิยม" โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นักเรียน ต.มธก. และจุฬาฯ ได้ร่วมกันเดินขบวนสนับสนุนข้อเรียกร้องของรัฐบาล เรียกร้องดินแดนอินโดจีนจากการยึดครองของฝรั่งเศส ปี 2488 ร่วมกับ เตรียมอุดม จุฬาฯ ร่วมกับ "ขบวนการเสรีไทย" ร่วมฝึกกำลังเพื่อต่อสู้ต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น
แม้ ต.มธก. จะถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2490 และจัดหลักสูตรปริญญาตรีแทน ต.มธก.ได้กลายเป็นรากฐานที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเกิดของขบวนการนักศึกษา 10 ปีหลังจากนั้น คือช่วง 2490-2500 ซึ่งผู้นำนักศึกษาช่วงนี้มีพื้นฐานที่ดีมาจากประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางสังคมจาก ต.มธก.ทั้งสิ้น
ปี 2491 มีการเคลื่อนไหวเพื่อยกร่าง "ระเบียบสโมสรมธก." เพื่อเลือกตัวแทนของนักศึกษาเอง การเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็น "ขบวนการอิสระ" ที่หลุดจากฝ่ายบริหาร แต่ก็เป็นพื้นฐานที่ดี
ปี 2494 หลังกบฎแมนฮัตตัน ระหว่างทหารบกและทหารเรือ มธก.ถูกยึดโดยทหารบก นักศึกษาธรรมศาสตร์และการเมืองภายใต้คำขวัญ "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ได้เดินขบวนประท้วงและบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองโดยสันติคืนได้สำเร็จ
ปี 2495 นักศึกษา มธก. และจุฬาฯ มีบทบาทในการลงนามเรียกร้องให้มีสันติภาพ แต่ก็ถูกรัฐบาลจับกุม และลบรายชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา 5 คน ในข้อหา "กบฎสันติภาพ"
ปี 2500 นักศึกษาหลายสถาบัน เช่น ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ต่อมาได้เดินขบวนประท้วง โจมตีรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฐานทำให้การเลือกตั้งสกปรก มีเงื่อนงำ มีการโกงกันเละเทะ ซึ่งต่อมาเป็นเงื่อนไขให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารสำเร็จ
เราจะพบว่านอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจำนวนมาก สาเหตุที่สำคัญคือ ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเฉพาะช่วง พ.ศ. 2490 -2500 เป็นระยะที่การเมืองไทยอยู่ในสภาพที่ไร้เสถียรภาพเป็นอย่างมาก เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กรณีส่งทหารไปรบที่เกาหลี กรณีสวรรคต รัฐประหารจอมพลผิน ชุณหะวัณ สงครามเย็นระหว่างโลกเสรีนิยมและสังคมนิยม เกิดการแย่งอำนาจและสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มขุนนางชั้นสูง ที่ต้องการระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งสูญเสียอำนาจในปี 2475 (ซึ่งมักเรียกกันว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม) กลุ่มทหาร (ซึ่งมักถูกเรียกว่ากลุ่มอำนาจนิยม) กับกลุ่มปัญญาชนผู้ซึ่งต่อสู้เพื่อพัฒนาระบอบเศรษฐกิจการเมืองเสรีประชาธิปไตย หรือกระทั่งระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย ฯลฯ สถานการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะภายในประเทศปั่นป่วนและสับสนมากขบวนการนักศึกษาจากธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรฯ มีบทบาททางสังคมมากขึ้นโดยยกระดับจากการรวมกลุ่มที่เคยเป็นลักษณะชั่วคราว "เฉพาะกิจ" เป็น"ขบวนการ" แต่ผลสุดท้ายก็ต้องถูกจำกัดบทบาทโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งมีชัยชนะในอำนาจนอกจากนี้กลุ่มนี้ในเวทีระหว่างประเทศกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมหาอำนาจอเมริกาซึ่งเข้ามามีบทบาท ในประเทศไทยในสงครามต่อต้าน "คอมมิวนิสต์" สูง ช่วงท้ายของระยะนี้การเรียกร้องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย มักจะได้รับบทเรียนจากการถูกกล่าวหาว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนในช่วงนี้ถือว่าเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญในช่วงต่อมาเนื่องจากมีผลงานทางความคิดของกลุ่มปัญญาชน ที่เติบโตมาในระยะนี้อย่างเช่น สุภา ศิริมานนท์ จิตร ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก ฯลฯ ออกสู่สังคมตลอดเวลา
ช่วงที่สอง หลังรัฐประหารปี 2500 - เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
สถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติได้ทวีความเข้มงวดมากขึ้นหลังรัฐประหารปี 2500 ความหวังที่ไทยจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมืดมนลง การรัฐประหารครั้งที่สองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์วันที่ 20 ตุลาคม 2501 นำประเทศไปสู่ยุคเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบ รัฐบาลใช้นโยบาย "เชือดไก่ให้ลิงดู" ปราบปรามปัญญาชนที่มีความเห็นขัดแย้งเช่นนักศึกษานักหนังสือพิมพ์นักเขียนซึ่งสนใจปัญหาสังคม กลุ่มนี้ถูกหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเพ้อฝันถูกคอมมิวนิสต์จูงจมูกเพื่อที่จะล้มล้าง 3 สถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทย และบางกรณีก็ถูกประหารชีวิต
นักศึกษายุคนี้มีสภาพเป็นที่พออกพอใจของรัฐบาลมาก จะเห็นได้ชัดจากคำกล่าวแสดงความยินดีต่อบัณฑิต 2503 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ว่า "...ในยุคหลังนี้ได้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในมหาวิทยาลัยและทำตนเป็นนักศึกษาอย่างแท้จริง คือตั้งใจศึกษาหาความรู้ เหตุการณ์ไม่เรียบร้อยที่เคยมีมาในครั้งก่อนๆได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก ซึ่งนับเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่สถาบันการศึกษาสูงสุดของชาติ" (จากเอกสารประกอบการสังคายนาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระงาน 50 ปี ธรรมศาสตร์ โดยมีชาญวิทย์เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ธงชัย วินิจจะกูลฯลฯ ร่วมเป็นกรรมการ) ผลที่เกิดขึ้นคือได้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในหมู่นักศึกษารุ่นใหม่ซึ่งเรียกกันว่า "วัฒนธรรมยุคสายลมแสงแดด"หมายถึงวัฒนธรรมที่ไม่ผูกพันกับสภาพสังคมที่แวดล้อมตัวนักศึกษาอยู่ เกิดการจำกัดความสนใจหรือมีกิจกรรมอยู่ในวงแคบรอบๆตัวเอง สนใจงานด้านบันเทิงเป็นหลัก ตลอดระยะเวลาหลายปีในช่วงสมัยนี้นักศึกษาทำตัวเป็นอภิสิทธิ์เริ่มแยกตัวเองสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นว่าเป็นคนละพวกกับประชาชน กิจกรรมยุคนี้เน้นสนุนสนาน พิธีกรรม และมืดมนทางปัญญา
กิจกรรมยุคสายลมแสงแดดพอจะมีรูปธรรมให้เห็นดังนี้คือ นักศึกษาเป็นผู้ที่อยู่ในกรอบในระเบียบ ซึ่งมหาวิทยาลัยเน้นย้ำความสำคัญของพิธีกรรมและรูปแบบ เช่น ความเคร่งครัดเรื่องระเบียบเครื่องแต่งกาย ทั้งสำหรับงานธรรมดาและและงานพิธีกรรมระบบเช็คชื่อเข้าห้องเรียน ฯลฯ ส่วนในด้านกิจกรรมนักศึกษานั้นนักศึกษาจะใช้เวลาอยู่ในมหาวิทยาลัยอยู่ค่อนข้างมาก จึงมีการจัดรูปกิจกรรมที่แน่นอนโดยการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยได้แก่กิจกรรมด้านบันเทิงและกีฬาเราจะพบว่ามีการจัดงานประเภทนี้ตลอดทั้งปี เริ่มจากงานรับน้องใหม่ งานพบปะสังสรรค์ของนักศึกษาจังหวัดต่างๆ งานศิษย์เก่าโรงเรียนที่จบมา งานฟุตบอลประเพณี งานกีฬาคณะ งานลอยกระทง งานฉลองบัณฑิตงานขึ้นปีใหม่ ตลอดไปจนถึงการจัดดนตรีและภาพยนตร์ เพื่อหาเงินเข้าชุมนุมต่างๆ ข้อที่น่าสังเกตก็คือกิจกรรมบันเทิงจะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของชีวิตนักศึกษาตลอดทั้งปีและเป็นเรื่องที่อยู่ในแวดวงเพื่อความรื่นรมย์ส่วนตัวของนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประเภทที่เรียกว่า "งานบอลล์" ซึ่งหัวใจของงานจะได้แก่ การลีลาศ รำวง แฟชั่นโชว์ การแสดงบนเวทีรวมตลอดไปถึงฟลอร์โชว์ซึ่งเป็นแฟชั่นที่กำลังเฟื่องฟูในสังคมไทยช่วงนี้ และได้ระบาดเข้ามาในมหาวิทยาลัยลักษณะของการจัดงานชนิดนี้ก็คือมุ่งเพื่อความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีสปิริตของการจัดงานเพื่อสร้างสรรค์แบบยุคเก่าเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือยในหมู่นักศึกษาเพราะลักษณะของการจัดงานก็เป็นการลงทุนเพื่อเงิน ซึ่งมักอ้างว่าเพื่อสมทบทุนการกุศลหรือกิจกรรมของนักศึกษา ขณะที่นักศึกษาที่มาร่วมงานก็ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเริ่มตั้งแต่ค่าบัตร ค่าเสื้อผ้าชุดราตรี ค่าอาหารเหล้า บุหรี่ ฯลฯ นักศึกษาในฐานะที่ยังเป็นผู้ที่ไม่สามารถหารายได้มาด้วยตนเองจึงเป็นผู้สร้างภาระให้แก่ครอบครัว และชี้ให้เห็นถึงการขาดสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ถูกโจมตีอย่างมากในช่วงทศวรรษต่อมา
อาจกล่าวได้ว่าขบวนการนักศึกษาได้รับความกระทบกระเทือนจากอำนาจรัฐมากที่สุดในระยะนี้ นักศึกษาที่เคยมีบทบาทมาตลอดถูกจับตามองด้วยความไม่น่าไว้วางใจ รัฐบาลเผด็จการได้ใช้อำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการเข้าควบคุมองค์กรนักศึกษาได้อย่างประสบความสำเร็จขบวนการนักศึกษาที่ก้าวหน้ามีความอ่อนแอที่สุดไม่มีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ใดๆออกมาให้เห็น ความเข้าใจต่ออุดมการทางสังคมที่เคยมีการปฏิบัติการมาตลอดขาดช่วงลงอย่างสิ้นเชิง
สถานการณ์ทางการเมืองโดยรวมสมัยเผด็จการสฤษดิ์ เป็นผู้นำรัฐบาลเข้มงวดมากภายในประเทศ ส่วนระหว่างประเทศนั้นไทยค่อนข้างใกล้ชิดกับอเมริกา มีการร่วมมือกันแทบทุกด้าน เช่น การวางแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งเริ่มในปี 2504 การอนุญาตให้กองทัพสหรัฐเข้ามาปฏิบัติการอย่างอิสระในกรณีอินโดจีน เป็นต้น
"กด กด กด, กฎ กฎ กฎ"
หลังมรณกรรมของสฤษดิ์ ในปี 2506 การเมืองไทยตกอยู่ในมือของ 3 ทรราชย์คือจอมพลถนอมกิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นทายาทสืบทอดนโยบายของสฤษดิ์ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารประเทศในช่วงของจอมพลสฤษดิ์แล้วจะแตกต่างกันอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องอำนาจ สฤษดิ์นั้นเป็นผู้ที่เด็ดขาดในการแก้ปัญหาแต่ละ แม้ว่าประชาชนส่วนที่ต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาระบอบการเมืองจะไม่ค่อยนิยม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนประชาชนทั่วไปนั้นจะนิยมชมชอบผู้นำคนนี้มากเพราะเห็นว่าเด็ดขาดและในช่วงนี้เป็นช่วงที่ปลอดอาชญากรรม ความเป็นอยู่ค่อนข้างสงบสุข นอกจากนี้สฤษดิ์ยังได้รับการยอมรับจากกองทัพ และอเมริกาอย่างมาก ซึ่งต่างจาก 3 ทรราชย์ซึ่งไม่มีฐานการยอมรับจากทหาร สถาบันสูงสุด และประชาชน นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นผู้นำที่เอาแต่ใจตนเอง ไม่สนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำให้จุดอ่อนของทรราชกลุ่มนี้คือ "ความไม่เด็ดขาด"ในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ
ปี 2508 สภาวะ "สายลมแสงแดด" เริ่มถูกตั้งคำถาม บทกวี บทกลอนเรื่องรักๆ ใคร่ๆเรียกกันว่า "กลอนเปลือยหัวใจ" ซึ่งเฟื่องฟูมากในยุคมืดเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์สภาวะ "สายลมแสงแดด" ได้มาถึงจุดอิ่มตัว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเริ่มจากชุมนุมวรรณศิลป์ และกลุ่มคนไม่มากนักที่ชอบค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ และเริ่มรู้จักกันรวมกลุ่มกันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มเสนองานที่ออกมาโดยเฉพาะบทกลอนที่มีลักษณะ "ทวนกระแส" กลุ่มนักคิดค้นดังกล่าวเช่น พงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร วิทยากร เชียงกูล สุชาติ สวัสดิ์ศรี นิคม รายวา คำรณ คุณะดิลก เป็นต้น ที่ได้ริเริ่มบรรยากาศงานวรรณกรรมที่ฉีกรูปแบบไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว มีโอกาสแทรกเนื้อหาสาระใหม่ๆเช่นเรื่องปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรม สงครามและความยากจน บรรยากาศ "สายลมแสงแดด"ถูกชำแหละและเข้าสู่สภาวะ "ปฏิกิริยาแห่งยุคสมัย" แม้ว่ากิจกรรมบันเทิงรูปแบบเดิมจะยังมิได้หมดไปเสียทีเดียวก็ตาม
การเกิดขึ้นของกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มแสวงหาในสิ่งที่ "ทวนกระแส" ในช่วงนี้เป็นไปเองค่อนข้างมาก ด้วยการพยายามฉีกกรอบของการเรียนในห้องเรียน หาหนังสืออ่านตามที่พอจะหาได้ ทั้งวรรณกรรมไทยและเทศ ที่สำคัญได้พบกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตซึ่งหาได้ไม่มากนักเพราะถูกสั่งห้ามเผยแพร่ อย่างไรก็ตามวรรณกรรมเด่นๆสมัยนั้นที่มีอิทธิพลทางความคิดเช่นงานของรงค์ วงษ์สวรรค์ อุษณา เพลิงธรรม ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว อาจินต์ ปัญจพรรค์ สุวรรณี สุคนธา อังคาร กัลยาณพงศ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ ปี 2513 บรรยากาศทั่วไปของการถกเถียงในหมู่ปัญญาชน เริ่มเกิดขึ้นมาก มีการก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่นกลุ่มสภาหน้าโดม (ธรรมศาสตร์) กลุ่มโซตัสใหม่ (จุฬาฯ) กลุ่มสภากาแฟ (เกษตรฯ) กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กลุ่มสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกกันว่า "ยุคแห่งการแสวงหา" ภายใต้บทกลอนอันเป็นที่รู้จักกันดี "ฉันจึงมาหาความหมาย" ของวิทยากร เชียงกูล การเกิดกลุ่มต่างๆเหล่านี้ได้พัฒนาไปสู่การก่อตั้ง"ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย"(ศนท.) ในที่สุด
ปี 2514 3 ทรราชทำรัฐประหารรัฐบาลตนเอง และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ห้ามการจัดตั้งพรรคการเมือง และจัดการปกครองภายใต้สภาบริหารแห่งชาติ ประกาศวันที่ 17 พ.ย.2514
ปี 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย รณรงค์ต่อต้านการแทรกแซงเข้ามาของญี่ปุ่นดังคำให้สัมภาษณ์ของธีรยุทธบุญมี ความตอนหนึ่งว่า "...ช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นคลื่นระลอกแรกของเขา การแทรกแซงทางเศรษฐกิจและการเอารัดเอาเปรียบโจ่งแจ้งมากเป็นปัญหาที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดกันมาก เราชูประเด็นนี้เพราะว่าจะมีคนสนับสนุนมากและมุ่งหวังจะดึงแนวร่วมในส่วนนักศึกษาที่ยังกระจัดกระจายให้มีการรวมตัวกันมากขึ้นด้วย"
พ.ค. 2516 นักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศเกิดปฏิกริยาต่อต้านเผด็จการ กรณีคอรัปชั่นและการเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
พ.ค. 2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับแรงเรียกร้องและการสนับสนุนจากขบวนการชาวไร่ชาวนาขบวนการกรรมกรและประชาชนกลุ่มอื่นๆ เป็นผู้นำประท้วงในการเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีผู้ถูกจับกุม 13 คน ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่และทำให้ 3 ผู้นำต้องเดินทางออกนอกประเทศ
ช่วงที่สาม หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 - เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้มีการขยายตัวขององค์กรและกลุ่มนักศึกษาต่างๆมาก ความตื่นตัวของนักศึกษาในเรื่องการรวมพลังมีสูงขึ้น นักศึกษาที่เริ่มมีความสนใจในการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม หรืออยากมีส่วนเข้าร่วมในการแก้ปัญหาสังคมนั้น ได้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มต่างๆขึ้นมา โดยมีข้อสังเกตคือมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "ศูนย์" "แนวร่วม" และลงท้ายด้วยคำว่า "แห่งประเทศไทย"
งานเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เด่นๆ เช่น
ปี 2517 -เคลื่อนไหวขับไล่ฐานทัพอเมริกา
-ประท้วงการสร้างฐานเรด้าบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
-โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบท
-เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนอายุ 18 ปี มีสิทธิในการเลือกตั้งและอายุ 21 ปีมีสิทธิเข้ารับการเลือกตั้ง
-เคลื่อนไหวคัดค้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร (ธ.ค.2517)
-เคลื่อนไหวกรณีหมู่บ้านนาทราย จ.หนองคาย (ม.ค.2517) กรณีบ้านนาหินกอง จ.นครพนม (เม.ย.2517) กรณีพลับพลาไชย การกระทำเกิดกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ก.ค.) การฆาตกรรมแสง รุ่งนิรันดร์กุล ผู้นำนักศึกษารามคำแหง (ส.ค. 2517) เป็นต้น
ปี 2518 -รณรงค์คัดค้านการออกสัมปทานขุดแร่ดีบุกให้แก่บริษัทเทมโก้ (ม.ค.2518)
-ประท้วงการละเมิดเอกราชไทยกรณี "เรือมายาเกซ" ของสหรัฐอเมริกา (พ.ค.2518)
-เคลื่อนไหวกรณีการสังหาร 9 ผู้นำชาวนา
-ก่อตั้งกลุ่มพลัง "3 ประสาน" (กรรมกร-ชาวนา-นักศึกษา) เป็นต้น
ปี 2519 -ประท้วงรัฐบาลกรณีการลอบสังหารประชาชน (มี.ค.2519)
-เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร (ก.ค.2519)
-เคลื่อนไหวกรณีการกลับมาของจอมพลประภาส จารุเสถียร
-เคลื่อนไหวกรณีการกลับมาของพันเอกณรงค์ กิตติขจร
-เกิดขบวนเรียกร้องให้ถอนฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทย
-เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สภาพ "ยุคทองของประชาธิปไตย"ซึ่งประชาชนส่วนต่างๆมีความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในกิจรรมสาธารณะเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน แต่ดำรงอยู่เพียงช่วงสั้นๆ คือ 2516-2517 หลังจากนั้น สภาวะการณ์อยู่ในภาวะที่ "สับสน" ค่อนข้างสูงเนื่องจากเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงทั้งภายในประเทศระหว่างพลังประชาธิปไตย ประชาชน นักศึกษา ปัญญาชน กับกลุ่มพลังทหารและกลุ่มชนชั้นสูงผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด ประกอบกับแรงกดดันในระดับสากล ซึ่งอยู่ในช่วงการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มโลกเสรีกับกลุ่มประเทศสังคมนิยม ทำให้ระดับการเผชิญหน้าภายในและการใช้ความรุนแรงเริ่มทับทวี
การตื่นตัวของนักศึกษา ปัญญาชน รวมถึงประชาชนทั้งประเทศเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้ "โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" และถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกลุ่มอำนาจนิยมและกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งภายหลังประนีประนอมทางอำนาจกันได้เห็นได้ชัดจากความพยายามนำ3ทรราชย์กลับเข้ามาในประเทศทุกวิถีทาง
ภายในขบวนการนักศึกษาเองแม้ว่าจะมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา เป็นขบวนนำ แต่ก็มีขบวนการในส่วนอื่นๆเกิดขึ้นมาอีกมากมายและรวดเร็ว ทำให้เกิดความจำเป็นต้องมีการปรับขบวนเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นในส่วนที่เคยมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวมาก่อน ได้พยายามที่จะยกระดับความคิดขององค์กรนักศึกษาทั่วไปเข้าสู่ระดับที่มี "อุดมการทางการเมือง" การเคลื่อนไหวกรณีใหญ่ๆและสำคัญต่างเคลื่อนออกมาในนามของ ศนท. เพราะเป็นองค์กรที่เป็นทางการและชอบธรรมของขบวนการนักศึกษาเป็นองค์กรที่มีฐานนักศึกษากว้างที่สุด และมีอำนาจต่อรองกับทางการมากที่สุด เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ จึงต้องมีการจัดโครงสร้างภายในให้สอดคล้องกับสภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองและภาวะทางความคิดทั้งทางด้านองค์กรและกำลังคน ตลอดจน การจัดความสัมพันธ์ภายในองค์กรอย่างเป็นระบบให้มีระดับชั้นแน่นอน
นักวิจารณ์หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะที่เกิดขึ้นนี้เอง ประกอบกับการเข้าแทรกแซงทางความคิดโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมีการทำงานจัดตั้งทางความคิดที่เป็นระบบกว่าขบวนการนักศึกษาทำให้พคท.กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลทางความคิดกับนักศึกษาเป็นอย่างมาก ทำให้ทั้งระดับความคิดและการปฏิบัติของขบวนการนักศึกษามีลักษณะที่เป็นสังคมนิยมขึ้นทุกที ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มขุนนางผู้ที่เคยสูญเสียอำนาจ สามารถนำเป็นประเด็นเคลื่อนไหวโฆษณาชวนเชื่อต่อ ประชาชนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อขบวนการนักศึกษาและลังเลที่จะเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น
การเผชิญหน้าท้ายที่สุดลงเอยด้วยเหตุการณ์รุนแรง 6 ตุลาคม 2519ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมซึ่งมีปากกาและอาวุธปืนเก่าๆที่สามารถหาป้องกันตัวได้ กับฝ่ายอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม ซึ่งครอบครองอาวุธสงคราม ตลอดจนกลไกรัฐ และกลุ่มจัดตั้งที่ใช้ความรุนแรงเช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ ซึ่งนำโดยผู้ที่ยังคงมีอำนาจในปัจจุบันเข้าสกัดกั้น ก่อกวนกิจกรรมทางการเมืองของขบวนการประชาชน
ประชาธิปไตยไทยลงเอยด้วยการรัฐประหาร เมื่อนักศึกษาถูกปิดล้อมและเปิดฉากโจมตีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังผลกดดันให้นักศึกษาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถูกจับกุม และเสียชีวิตจำนวนมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาหยุดชะงัก
ช่วงที่สี่ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 - ประมาณปี ๒๕๓๔
ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้สั่งยุบกลุ่ม ชมรม องค์กรกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน นักศึกษา บรรยากาศทางการเมือง "ตึงเครียด" บรรยากาศในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน "เงียบเหงา" ผู้ที่เคยทำกิจกรรมต้องแยกกันอยู่อย่าง "กระจัดกระจาย"
การแบ่งสรรอำนาจไม่ลงตัว กลุ่มผู้ที่เคยสูญเสียอำนาจต้องการให้การเมืองอยู่ในสภาพที่เป็น "เผด็จการ" อีกครั้งหนึ่งนำโดยกลุ่มทหาร และกลุ่มขุนนางอนุรักษ์นิยม แต่เกิดการวิพากษ์ วิจารณ์กันมาก เกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2520 มีการประนีประนอมกันได้และเป็นที่มาของคำว่า"ประชาธิปไตยครึ่งใบ" โดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกรัฐมนตรี
ปี 2521 รัฐบาลภายใต้พลเอกเกรียงศักดิ์ มีนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษา หลังจากมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและแรงกดดัน การถูกประณามจากประชาคมโลก รัฐบาลจึงประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง อนุญาตให้นักศึกษาประชาชนมีกิจกรรมทางการเมืองได้ กิจกรรมนักศึกษาในแต่ละสถาบันจึงมีการ"ขยับตัว"อีกครั้งหนึ่งหลังจากสงบนิ่งถึง 2 ปี โดยเริ่มเรียกร้องการก่อตั้งสโมสรนักศึกษา องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และกลุ่มกิจกรรมต่างๆขึ้นอีกในแต่ละสถาบันนำไปสู่การรวมตัวก่อตั้งองค์กรประสานงานของนักศึกษาคือสโมสรนักศึกษา 12 สถาบัน และ 18 สถาบัน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมต่างๆ ยังคงอยู่ในความควบคุมจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด มิได้เกิดเสรีภาพและอิสระภาพอย่างจริงจัง มีความเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมในการร่างระเบียบข้อบังคับว่าด้วยกิจกรรม นักศึกษาแทบทุกสถาบัน กิจกรรมนักศึกษาต่อสังคมช่วงนี้ได้แก่การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือประชาชนในประเด็นปัญหาสาธารณะ เช่น ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ช่วยผู้ประสบภัยแล้ง ฯลฯ
ปี 2522 ภายหลังการเลือกตั้งกรรมการสโมสรนักศึกษาชุดใหม่แล้ว มีการประสานงานในรูปขององค์การนักศึกษา 18 สถาบัน มีการจัดงาน "สู่ความหวังใหม่" เพื่อให้กำลังใจผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลเวียดนามที่ไม่รับผิดชอบต่อชาวญวนอพยพ คัดค้านการประกาศขึ้นราคาน้ำมันซึ่งกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนอย่างหนัก มีการออกสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จัดสัปดาห์สินค้าราคาถูก คัดค้านการขึ้นราคาไฟฟ้า-น้ำประปา โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ฯลฯ
ปี 2523 องค์การนักศึกษา 18 สถาบันได้ปรับบทบาทและการทำงานจากบทเรียนที่ผ่านมา งานเคลื่อนไหวช่วงนี้เช่นการยื่นจดหมายคัดค้านรัฐบาลเกาหลีใต้ในการปราบปรามประชาชนกรณี "กวางจู" คัดค้านการเยือนของเหงียน โค ทัก กรณีไม่รับผิดชอบต่อชาวญวนอพยพเคลื่อนไหว เรื่อง วิกฤตการพลังงาน กรณีน้ำตาลแพงและขาดแคลนพานักศึกษาออกสำรวจปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน และสรุปผลเสนอต่อรัฐบาลประท้วงการต่ออายุผู้บัญชาการทหารบกคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ฯลฯ
ปีเดียวกันนี้เองที่รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต้องประกาศลาออก (3 มี.ค.2523) เนื่องจากแรงกดดันจากปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปปีเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล และมีความขัดแย้งกันมาก ต้องมีการเชิญพลเอกเปรมติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาเป็นตัวกลางในการคลี่คลายปัญหาเป็นนายกรัฐมนตรี
กิจกรรมนักศึกษาซึ่งมีท่าทีว่าจะฟื้นรูปขบวนขึ้นมาต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ "กระหน่ำ" อีกครั้งอย่างรุนแรงช่วงปี 2523-2524 ซึ่งเรียกกันว่า"วิกฤตศรัทธา"ผู้ที่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมตามสู่ระบอบสังคมนิยมหมดความเชื่อมั่นในการ "ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมตามแนวทางสังคมนิยม" ด้วยเหตุผลคือ
ประการแรก สถานการณ์ทางสังคมของประเทศที่ใช้ระบอบสังคมนิยมได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถจัดการบริหารในการพัฒนาสังคมและประชาธิปไตย (ประเด็นนี้มีความสำคัญค่อนข้างมากเนื่องระยะก่อนหน้านั้นระบอบสังคมนิยม ได้รับความเชื่อมั่นจากนักศึกษาปัญญาชนเป็นอันมากว่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้)
ประการต่อมา ผู้ที่เข้าร่วมต่อสู้เคียงข้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้พบกับ "ธาตุแท้"(ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่เป็นตัวของตัวเองทางความคิด เพราะรับเอาความคิดการปฏิวัติสังคมตามแนวทางของจีนอย่างเต็มที่ไม่เกิดการปรับให้สอดคล้องกับสังคมไทย) ของพรรคคอมมิวนิสน์แห่งประเทศไทย และเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ประกอบกับสภาวะการดำรงอยู่ของนักศึกษาที่มีพื้นฐานของ "เสรีชน" ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสมภายในพรรค ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามวิพากษ์ วิจารณ์พรรค