บทความ
พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (1)
พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (1)
เข้าสู่ปลายปี 2550 วงการวรรณกรรมโดยภาพรวมก็ยังไม่ต่างไปจากปีก่อนๆนัก แม้นว่าจะมีข่าวดีของการกลับมาในกรณีของ "ช่อการะเกด" ที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มสนามเรื่องสั้นมากขึ้น แต่การขยับก้าวส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่กับกระแสของรางวัล และดูเหมือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
ทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกส่วนหันมามองภาพรวมของวงการวรรณกรรมมากขึ้น มิได้มองแค่การตลาดที่จะขายหนังสือหรือส่งเสริมนักเขียนด้วยรางวัลเพียงอย่างเดียว?
ในกรณีของคนที่ทำงานในเชิงนโยบาย ซึ่งแทบมองไม่ออกว่าเป็นใคร? สมาคม สมาพันธ์ หรืออะไรก็ตาม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีบทบาทมากกว่าแค่จัดประชุม สัมมนา หรือว่าส่งตัวแทนไปเป็นกรรมการตัดสินรางวัล โดยหันมาทำงานในเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
เราจะพบว่าในโลกแห่งวรรณกรรมไทยยังมีช่องว่างที่เราสามารถดำเนินการผลักดันได้อีกหลายรูปแบบ เช่น เรื่องภาษี เรื่องสวัสดิการ การยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับการเรียนรู้ให้กับสังคม ที่จะมีส่วนช่วยทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ และนักอ่าน โดยแยกย่อยออกไปว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด
กรณีนักเขียน ยังพบว่ามีช่องว่างในการดูแล...เนื่องจากเป็นต้นน้ำในการผลิต ไม่ว่านักเขียนประเภทใด หากว่าผลิตงานในเชิงคุณภาพยกระดับการเรียนรู้ให้กับสังคมออกมา จำเป็นที่ทุกฝ่ายให้ความตระหนักและคิดจะส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยผลักดันในรูปแบบของสวัสดิการ กองทุน หรือหลักประกัน โดยเพิ่มสัดส่วนค่าตอบแทนในลักษณะสมทบร่วมกันระหว่างนักเขียน สำนักพิมพ์ และรัฐบาล (ฝ่ายละ 1 % ) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเขียนในระยะยาว สวัสดิการเช่นนี้สามารถทำได้ทั้งในระดับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่มีนักเขียนอยู่ในองค์กรจำนวนมาก และระดับบุคคลที่ต้องการอิสระในการดำเนินการ
ช่วยกันทำให้อาชีพนักเขียนเป็นที่ยอมรับและมีศักดิ์ศรีในสังคมมากขึ้น
และควรผลักดันหน่วยงานระดับชาติ ส่งเสริมนักเขียนที่ผลิตงานดีๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น สนับสนุนให้เกิดงานวิจัย งานรวบรวมประวัติ ผลงาน จัดระบบข้อมูลเพื่อเป็นฐานให้กับห้องสมุด มีระบบการทำประวัติ การแบ่งหมวดหมู่ผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งควรมีการกระจายความรับผิดชอบให้มีการดำเนินการไปยังทุกจังหวัดในประเทศไทย(ผ่านกระทรวงศึกษาหรือวัฒนธรรม) มิให้มุ่งเน้นแต่เฉพาะหนังสือหรือนักเขียนที่ได้รางวัลระดับชาติเท่านั้น
กรณีสำนักพิมพ์ ควรส่งเสริมสำนักพิมพ์ให้มีการผลิตหนังสือที่จะยกระดับสังคม ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มากขึ้น งานวรรณกรรมควรจะเป็นงานในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สำนักพิมพ์ทุกแห่งควรที่จะให้ความสำคัญ โดยทางรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะส่งเสริม ในรูปของการลดภาษีหรือลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็มีการกลั่นกรอง ควบคุม เพื่อสร้างมาตรฐานงานกลาง (หน้าที่นี้ควรจะเป็นของสมาคมหรือสมาพันธ์นักเขียนมาร่วมดำเนินการ)
อีกทั้งควรแยกประเภทสำนักพิมพ์เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีแนวทางการส่งเสริมที่แตกต่างกัน โดยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและกลางควรจะมีการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือกันมากขึ้น ทั้งในส่วนการผลิต การจำหน่าย และการส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างสมดุลให้กับสังคมการเขียนการอ่านระยะยาว และควรมีสมาคมของตนเองในการดูแล ช่วยเหลือ และร่วมกันแก้ปัญหาของตนเอง
ในอนาคตควรจะมีช่องทางการผลิต การจำหน่าย การประชาสัมพันธ์ และการขายที่แยกย่อยออกมาเพื่อจำหน่ายงานวรรณกรรมโดยเฉพาะ เพื่อสร้างทางเลือกและสร้างความเฉพาะ โดยภาครัฐควรสนับสนุนร้านหนังสือ สายส่ง สำนักพิมพ์เหล่านี้เป็นพิเศษ แต่ต้องทำให้เป็นระบบ และกระจายให้ครอบคลุม 4 ภูมิภาค
หากมีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรมองภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว และควรว่ามีองค์กร(NGOz)เข้ามารับผิดชอบ รับภารกิจดังกล่าว สำนักพิมพ์ หรือนักเขียน สามารถทำสัญญาความร่วมมือ โดยตัดงบประมาณในส่วนต้นทุนการผลิตเป็นค่าดำเนินการให้กับองค์กรสาธารณะนั้นๆ ทำการตลาดใหม่ๆ ที่ต่างไปจากกระแสหลัก โดยจับมือกับห้องสมุด โรงเรียน ภาคเอกชน ที่ส่งเสริมการอ่านเป็นฐานดำเนินการ หรือจะร่วมกับกระแสหลักในบางครั้ง เช่น ร่วมงานขายหนังสือ
ในส่วนของนักอ่าน ควรผลักดันให้เกิดสมาคมนักอ่าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน มีการส่งเสริมสนับสนุน กระตุ้นให้เกิดบรรยากาศดังกล่าว โดยร่วมมือกับสื่อมวลชน แนะนำนักอ่าน ครอบครัวนักอ่าน โรงเรียนนักอ่าน ห้องสมุดนักอ่าน สร้างกระแสให้เกิดการรับรู้ใหม่ๆ
เหนืออื่นใด องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสมาคมและสมาพันธ์ ควรทำให้เป็น "มืออาชีพ"มากกว่าองค์การอาสาสมัคร โดยมีการระดมทุน การวางโครงสร้างคณะทำงาน การบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพ มีการเป้าหมาย มีภารกิจที่แน่นอน เพื่อให้ก้าวทันกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง