บทความ
พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (2)
พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (2)
เราจะเห็นได้ว่าทิศทางและแนวโน้มการอ่านการเขียนศตวรรษนี้ กำลังเดินไปสู่การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า อะไรที่จะขายได้ก็ทำตามกระแสกันไป ทำอย่างไรที่จะแหวกออกไปจากกรอบของการบริโภคเช่นนี้ นี่คงเป็นโจทย์ร่วมที่ต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับกระแสสังคมที่เดินหน้าไปอย่างเป็นพลวัตร
ในด้านหนึ่ง กระแสบริโภคนิยมทำให้ภาพรวมของหนังสือมีมากขึ้น แต่จะเป็นในเชิงปริมาณหรือคุณภาพนั้นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณา ที่น่ากลัวก็คือปัจจัยการตลาดกลายเป็นกลไกเดียวที่จะมาชี้วัดความอยู่รอด ทำให้ทิศทางการอ่านการเขียนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสการขายดังกล่าว ไม่อาจดำรงอยู่ ผู้ที่จะยืนลมหายใจต่อไปได้ จำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้กระแสดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ หรือไม่ก็ล้มหายตายจากไป
ปัญหาเช่นนี้ทำให้เราเหลือทางรอดเพียงอย่างเดียวคือ การทำให้หนังสืออยู่ในกระแสการตลาด รางวัลก็เลยกลายเป็นทางรอดเพียงประการเดียว ทั้งสำนักพิมพ์ หน่วยงานต่างๆ จะส่งเสริมนักเขียนหรือวรรณกรรม จึงทำได้เพียงสร้างรางวัลขึ้นมาประทับตราให้กับผลงานวรรณกรรม นักเขียนหากไม่มีรางวัลห้อยท้ายก็ยากยิ่งที่จะมีผลงานออกมาสู่ท้องตลาด
ไม่ว่าจะเป็นทั้งรางวัลศิลปินแห่งชาติ รางวัลซีไรต์ รางวัลศิลปาธร รางวัลนายอินทร์ รางวัลสมาคมนักเขียน รางวัลช่อการะเกด รางวัลสารพัดดังกล่าว (ซึ่งน่าจะมีมากขึ้นอีกในอนาคต) ที่นักเขียนและสำนักพิมพ์จะต้องสร้างและช่วยกันแบกป้ายดังกล่าวกันไว้จนหลังแอ่น(ต่อไปนักเขียนต้องมีรางวัลห้อยท้ายเป็นหางว่าว เป็นคุณสมบัติภาคบังคับที่พึงมี) ยิ่งตอกย้ำการตลาดที่ครอบงำการอ่านการเขียนของเราไว้ทุกระดับ ทำให้น้ำหนักของความสนใจและการเรียนรู้ของสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มองเห็นแค่เพียงมิติเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
จริงอยู่ ด้านหนึ่ง รางวัลอาจสร้างแรงจูงใจให้กับการสร้างงาน และสร้างฐานะทางสังคม(และการเงิน) ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องการยกระดับรางวัลให้เป็นที่ยอมรับและส่งผลต่อคุณภาพของผลงาน(ซึ่งเป็นเป้าหมายของรางวัลดีๆหลายๆรางวัลดังที่ยกตัวอย่างมา) ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ก็นั่นแหละ ผลสะเทือนของแต่ละรางวัลควรจะสนองตอบเป้าร่วมของวงการโดยภาพรวมด้วยเช่นกัน
อย่าให้ลูกตุ้มรางวัลเหวี่ยงกระทบกันจนกระทั่งซวดเซเอียงกระเท่เร่ไปกับความขัดแย้ง ความสับสน จนแยกไม่ออกระหว่างโลกแห่งผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้กับโลกแห่งการทำงานสร้างสรรค์ ที่ไร้ขอบเขตจำกัด
ทางออกจึงควรสร้างสรรค์ทางเลือกอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย มาช่วยพยุงวงการและสร้างสมดุลให้สังคมไม่ให้อยู่ในกระแสบริโภคนิยมอย่างเดียว
และเพื่อไม่ให้มองด้านเดียวเกินไป หากพยายามมองการตลาดในแง่ดีบ้าง เรายังพบว่าในโลกแห่งการตลาดที่ เปิด เสรี มิใช่ ปิด ทำให้นักเขียน สำนักพิมพ์ นักอ่าน มีทางเลือกที่จะตัดสินใจ ทำอย่างไรที่จะทำให้กระแสที่ เปิด นี้ให้เป็นประโยชน์ สำหรับสำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีทุนหนา อาจเป็นโจทย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะท้าทายต่อการอยู่รอด สำหรับนักเขียน ที่ต้องการให้การตลาดมาช่วยรองรับผลงาน ก็จำเป็นต้องคิดหรือสร้างสรรค์งานที่ตลาดยอมรับ ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้เช่นกันว่าตลาดต้องการงานลักษณะใด นี้เองเป็นช่องว่างที่งานทุกประเภทสามารถสอดแทรกเข้ามาชิงพื้นที่สาธารณะทางการตลาดดังกล่าวได้
ในโลกที่ปลาเล็กก็สามารถกินปลาใหญ่ได้ ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆที่จะมอบให้ทุกคน ช่องว่างมหึมาดังกล่าวจึงดึงดูดปลาทุกตัวให้เข้ามาแหวกว่ายหาเหยื่อ เราจึงพบนักเขียน สำนักพิมพ์ ที่พยายามจะสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็พยายามปรับ/เปลี่ยน/ต่อเติมผลผลิตทางเลือกของตนให้กลายรูป/ต่อยอด/ข้ามพื้นที่เข้าหากระแสหลักอยู่เสมอ คนทำงานฟาก เพื่อชีวิต วันหนึ่งอาจกลับมาเขียนวรรณกรรม พาฝัน ดารานักร้องที่แค่เปลื้องเปลือยชีวิต วันหนึ่งอาจอยากเขียน เรื่องสั้น/นวนิยาย การทำให้นักเขียนวรรณกรรมดีๆ มีรูปลักษณ์การนำเสนอในตลาดที่ไม่ต่างไปจากดารา เหล่านี้ในโลกแห่งการสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดหรือกีดกันผู้ใด เพียงแต่ว่าจะมีใครสักกี่คนที่แหวกความคลุมเครือของมหาสมุทรแห่งการสร้างสรรค์เช่นนี้มาปรากฏโฉมเด่นชัดในฐานะผู้สร้างสรรค์ที่ยังประโยชน์ต่อวงการวรรณกรรม
ในหมู่มืออาชีพ บรรดา ตัวจริง ทางวรรณกรรมทั้งหลาย ที่มีการทำงานเป็นระบบหรือสำนักพิมพ์ที่มีสายป่านยาวจึงผงาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว น่ากังวลก็เพียงผู้ที่ยังค้นหาตัวเอง เพิ่งแหวกว่ายเข้ามาสู่วังวนบริโภคนิยมดังกล่าว ที่ไม่อาจต้านกระแสหลัก จนหาที่ยืนของตัวเองได้ หรือสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่แม้นผลิตงานมีคุณภาพ แต่ไม่อาจยืนระยะแลกหมัดกับทุนใหญ่ และทำงานได้ไม่เต็มระบบครบวงจรแห่งการตลาด เราจะพบการล้มหายตายจาก การเกิดใหม่ ปรากฏขึ้นเสมอมา
ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆเช่นนี้ น่าศึกษา น่าวิจัยเป็นอย่างยิ่ง จึงอยากเห็นนักศึกษาปริญญาโทการตลาดดีๆจากหลายมหาวิทยาลัยมาช่วยเก็บข้อมูลและศึกษาเป็นระบบ ฝากสมาคมนักเขียนประสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างๆมาช่วยกันทำงานด้วยกันจะได้หรือไม่ เราอาจได้วิทยานิพนธ์ดีๆอีกหลายเล่ม.