บทความ
พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (3)
พันธกิจต่อวงการวรรณกรรม (3)
ประสบการณ์จากการเข้าไปร่วมงานการส่งเสริมการอ่านการเขียนของหน่วยงานหลัก ไม่ว่าหน่วยงานราชการ หรือว่าหน่วยงานเอกชนต่างๆ หลายครั้งจะพบว่า หัวใจของการส่งเสริมดังกล่าวถูกบิดเบือนไปจนกลายเป็นเรื่องของการแก่งแย่งแข่งขันประกวดประชันไปเสีย
นักเรียนนักศึกษาที่ส่งตัวเองเข้าประกวดเพื่อล่ารางวัลทั้งหลาย พวกเขาอาจต้องเตรียมตัวเป็นแรมเดือน โดยมีพี่เลี้ยงที่จะคอยซักซ้อม ตรวจทาน ปรับปรุง เพิ่มทักษะในการสร้างสรรค์ เราจึงพบว่าในหลายๆเวทีของการประกวดเราได้พบเพียงนักล่ารางวัลมืออาชีพ ที่เดินสายประกวดไปทั่ว สุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์หลังชัยชนะแต่ละครั้ง อาจเป็นชื่อเสียงของโรงเรียน ตำแหน่งหน้าที่การงานของคนที่เกี่ยวข้อง และเงินรางวัลสำหรับเด็ก ส่วนทักษะความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ที่ติดตัวและได้กับตัวเด็กโดยตรง ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า สุดท้ายเด็กๆเหล่านี้จะเป็นได้เพียง ช่างทางภาษา หรือว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์กันแน่
ต่อกรณีรางวัลระดับชาติก็เช่นกัน อย่างรางวัลซีไรต์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนได้เสียกับรางวัลดังกล่าว แต่ก็อยากเสนอแนะความเห็นไว้ตรงนี้เผื่อเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะสะท้อนการยกระดับรางวัลที่จะพึงมีในอนาคต (แม้ว่าโดยลึกๆในใจแล้ว ไม่อยากให้เราให้คุณค่ากับรางวัลมากเกินไปนัก)
ปัญหาหลักของรางวัลดังกล่าวในมุมมองของผู้เขียนมี 2 ประการได้แก่
- การขาดการมีส่วนร่วมในแทบทุกกระบวนการของรางวัล การพิจารณาตั้งแต่การคัดสรรกรรมการ การคัดสรรผลงาน การกำหนดรูปแบบ/ประเภทของรางวัล มีลักษณะ ปิด ไม่ได้เปิดกว้างให้สาธารณะเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก นักเขียนหรือสำนักพิมพ์ทำได้เพียงร่วมส่งผลงานไปตามกติกาที่ใครไม่รู้กำหนด สุญญากาศดังกล่าวจึงเป็นตัวบั่นทอนคุณค่าของรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย
แม้นว่าทุกรางวัลจะมีหน่วยงานหรือองค์กรเจ้าภาพหลัก แต่รางวัลที่เป็นสาธารณะนี้ยังมีไม่มากนัก ภาวะลักลั่นดังกล่าวสะท้อนความล้าหลังก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีความหลากหลายและต้องการการมีส่วนร่วมในแทบทุกเรื่อง พลวัตรทางสังคมจะเป็นตัวกดดันให้รางวัลไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่
2.การตัดสินงานศิลปะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวเอง การประกวดเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมหรือยกระดับผลงานศิลปะ บ่อยครั้งเราจะพบว่าผลงานดีๆ หรือนักเขียนดีๆ อยู่เลยพ้นรางวัลทั้งหลายแหล่ เพราะตัวชี้ขาดจริงๆนั้นย่อมอยู่ที่ผลงานและผู้สร้างมากกว่าองค์ประกอบเสริมแต่งอื่นใด
เมื่อเลือกที่จะหยิบยกผลงานที่มีความหลากหลาย มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และถูกกำหนดโดยรสนิยมของคนอ่าน กรรมการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่ารสนิยมใครดีกว่าใคร หรือจะมีผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่นปรากฏชัดจนเป็นที่ยอมรับของทุกคน เราจึงยอมกล้ำกลืนกับภาวะที่ด้านหนึ่งต้องยกย่องผลงานที่ผ่านการคัดสรรของตัวแทนคนจำนวนหนึ่ง ที่มีรสนิยมหรือมาตรฐานส่วนบุคคลกำกับ และเสียดายผลงานอื่นๆที่ตกหล่น หรือว่าไม่ได้ถูกหยิบยกมาเชิดชู ทั้งที่อาจมีคุณภาพมากกว่า หรือเทียบเท่า เพียงแต่ว่าดีเด่นในคนละแง่มุม การฝืนสภาพดังกล่าว จึงทำให้รางวัลนี้(หรือรางวัลอื่นๆ) ตกอยู่ในภาวะขัดแย้งในตัวเองอยู่ตลอดเวลา
การสถาปนาผลงานที่ดีที่สุดหรือนักเขียน/กวีที่ดีที่สุดในรอบปีผ่านรางวัลจึงเป็นการลดทอนคุณค่าทั้งตัวนักเขียน/กวีและผลงานนั้นๆ ไปในตัวของมัน เป็นผลเนื่องจากเงื่อนไขการประกวดที่มีข้อจำกัดเกินไป(นักเขียน/สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ผลงานเพื่อส่งประกวดตามจังหวะซีไรต์ในแต่ละปี) เราจึงได้เพียงผลไม้บ่มแก๊สมากกว่าผลไม้ตามฤดูกาล ขาดการบ่มเพาะและผ่านกาลเวลาที่จะเข้าไปประเมินคุณค่าจนสุกงอม
ส่วนทางออกนั้น ในมุมมองของผู้เขียนก็มีอยู่ ประการเดียว ได้แก่
หากเราเชื่อว่ารางวัลดังกล่าวควรที่จะดำรงอยู่และมีสถานะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป เราควรทบทวนความหมายของรางวัลว่าแท้จริงเป็นเช่นไร มีภาวะ มายา ซุกซ่อนอยู่อย่างไร มีกระบวนการได้มาซึ่งรางวัล และผลโดยตลอดเส้นทางของรางวัลมีสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้สามารถทำคู่ขนานไปกับการให้รางวัลในแต่ละปี
วิธีการสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการทำแบบสอบถาม การทำวิจัย การเปิดเวทีย่อยสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายมิใช่เพียงแค่เปิดเวทีสัมมนาพูดคุยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากได้ผลน้อยเราจะได้แค่ความเห็น หรือความรู้สึก หากทว่าขาดข้อมูล ข้อเท็จจริงประกอบ ซีไรต์ควรที่จะกล้าลงทุนหรือหาเอกชนสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว อาจทำร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้
หลังจากนั้นควรให้การเรียนรู้กับสังคมว่า รางวัลแต่ละรางวัลมีสภาพในเชิง ความเป็นจริง อย่างไร เพื่อให้รางวัลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ช่วยกันยกระดับคุณภาพงานเขียนและนักเขียน โดยมองภาพรวมทั้งระบบมากกว่ามองแยกย่อยเฉพาะหนังสือเล่มเดียวที่ได้รางวัล ทำอย่างไรที่จะให้ซีไรต์มิใช่กำหนดหรือชี้นำการอ่านและสร้างภาพลวงว่า นี่คือผลงานสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดในแต่ละปี(ผู้เขียนไม่คาดหวังว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะเห็นด้วย) แต่เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ เช่น สมาคมนักเขียน นักวิจารณ์ หรือนักอ่าน
ส่วนวิธีการปลีกย่อย กรรมการจะเป็นใคร มาจากไหน มีจำนวนเท่าไร หนังสือควรจะผลิตก่อนล่วงหน้าสัก 1-2 ปีก่อนส่งประกวดดีหรือไม่ หรือให้กรรมการพิจารณาอย่างโปร่งใส มีการถอดเทปการตัดสินเผยแพร่ หรือมีบทความต่อเนื่องสำหรับแนะนำหนังสือที่เข้าประกวดในแต่ละปี เพื่อให้สังคมมีทางเลือก...เหล่านี้ยังเป็นเรื่องปลีกย่อย สามารถสอบถามหรือเสนอแนะกันได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่าการมองแบบแยกส่วนมีลักษณะเป็นเส้นดิ่งเช่นนี้ ก็ไม่สามาถรถตอบโจทย์โดยภาพรวมได้ เนื่องจากบริบททางวรรณกรรม รางวัลเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น สำหรับผู้เขียนแล้วอยากเรียกร้องต้นทางคือตัวแทนของผู้ที่จะไปกำหนด ระบบ มากกว่า ก็คือ ส่วนนโยบายภาครัฐ ส่วนสำนักพิมพ์(รวมสายส่ง ร้านค้า) ผู้ผลิต นักอ่าน และนักวิจารณ์ ทำอย่างไรที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่แท้จริง มากกว่ามองแยกส่วนเฉพาะรางวัล