บทความ

บนเส้นทางแสวงหากับ อ.เขมานันทะ

by Pookun @October,21 2007 09.23 ( IP : 222...245 ) | Tags : บทความ

บนเส้นทางแสวงหากับ อ.เขมานันทะ

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ในปีนี้อาจารย์เขมานันทะได้รับรางวัลนักเขียนอมตะคนที่ 3 ท่านมีผลงานทั้งบทกวี ธรรมบรรยาย บทความอันเกี่ยวเนื่องกับ มหากาพย์และพุทธศาสนากว่า 60 เล่ม ไม่ว่างานศิลปะรูปแบบใดก็ตาม ท่านทำเพื่อการภาวนาและรับใช้พุทธศาสนา และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวท่าน


ในช่วงเวลาที่ทะเลสาบสงขลายังชุกสาหร่าย อุดมด้วยกุ้งงามและปลาดี กลางแวดล้อมของทุ่งข้าวและดงตาลบนแผ่นดินสทิงพระ จังหวัดสงขลา จิตรกร กวี และวิปัสสนิก ผู้มีนามจริงว่า อาจารย์โกวิท เอนกชัย หรือท่านโกวิท เขมานันทะ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2481 อาจารย์เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนชะแม โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา โรงเรียนอำนวยศิลป์ และจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยขึ้นเป็นประธานนักศึกษาในสมัยชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมกับบทบาทโดดเด่น ในฐานะผู้นำการประท้วง เกี่ยวกับความอยุติธรรมของงบประมาณ ในมหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาเพียง 2 ปี ความสนใจลึกซึ้งทางพุทธศาสนา ผลักดันให้อาจารย์เขมานันทะ เข้าสู่ชีวิตนักบวชอย่างยาวนานถึง 16 ปี ได้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ อันทรงคุณค่าจำนวนมาก ไว้ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม กับได้ศึกษาพุทธธรรม และการปฏิบัติภาวนา ทั้งจากท่านพุทธทาสและหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

หลังจากยุติวิถีนักบวชในเครื่องแบบพระภิกษุเถรวาทเมื่อปี พ.ศ.2526 อาจารย์เขมานันทะได้กลับมาใช้ชีวิตฆราวาส สร้างสรรค์งานจิตรกรรม เขียนบทความ บทกวี ด้วยจุดหมายสูงสุดเพื่อรับใช้พุทธศาสนา พร้อมกับบรรยายธรรมะ อบรมการภาวนา และยังคงปฏิบัติธรรมอยู่ในทุกมิติของการใช้ชีวิต - ผมรับราชการของพระพุทธเจ้า - อาจารย์เคยกล่าวไว้เช่นนั้น

การปฏิบัติธรรม งานเขียน งานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ทุกแขนงทั้งหมดของอาจารย์เขมานันทะ จึงเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติภาวนาอย่างชัดแจ้ง ดังที่อาจารย์กล่าวไว้เสมอว่า จิตรกรรม บทกวี และธรรมบรรยายของตนนั้นเป็นไปเพื่อการภาวนา และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรับใช้พุทธศาสนา

ผลงานทางด้านบทกวี ธรรมบรรยาย และบทความอันเกี่ยวเนื่องกับมหากาพย์ และประเด็นลึกซึ้งทางศาสนาของอาจารย์นั้น ปรากฏเป็นหนังสือจำนวนมาก ที่ตีพิมพ์เผยแพร่มายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 จนถึงปัจจุบันประมาณ 60 เล่ม เริ่มตั้งแต่เพลงปราโมทย์ของเซน (พ.ศ.2513, พ.ศ.2544) อันนับได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายเซนในรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย หากผลงานโดดเด่นที่มีคุณค่ายิ่งของท่านคือ "เค้าขวัญวรรณกรรม" (พ.ศ.2529, พ.ศ.2543) และ 'ลิงจอมโจก' (พ.ศ.2517, พ.ศ.2540) ซึ่งได้ไขความสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในมหากาพย์ วรรณคดี วรรณกรรมไซอิ๋ว ชาดก และนิทานพื้นบ้านไทยหลายเรื่อง โดยเทียบเคียงสัญลักษณ์ที่ปรากฏ กับแนวคิดทางพุทธศาสนาอย่างมีหลักเกณฑ์ ด้วยมุมมองที่ผ่านการปฏิบัติภาวนาผ่านภูมิต่างๆ ของชีวิตมาอย่างยาวนาน ส่วน "อันเนื่องกับทางไท" (พ.ศ.2538) นั้นถือเป็นงานคลาสสิก ที่อธิบายแนวคิดทางสุนทรียภาพ ของศิลปะตะวันออก เปรียบเทียบกับศิลปะตะวันตกไว้อย่างลุ่มลึก สำหรับ "ไตร่ตรองมองหลัก" (พ.ศ.2533, พ.ศ.2543) นั้น นับได้ว่าเป็นหนังสือที่นำเสนอมติทางพุทธศาสนา นิกายวัชรยานไว้อย่างชัดเจนลึกซึ้งที่สุดเล่มหนึ่ง ที่ปรากฏในภาคภาษาไทย

  1. พบครู

ข้อความข้างต้นนี้ ดิฉันเขียนสรุปความไว้เมื่อนานมาแล้ว ครั้งที่ได้ทำงานหนังสือกับอาจารย์เขมานันทะ ต่อเนื่องกันอยู่หลายปี

ดิฉันจำได้ว่าไปพบอาจารย์และสนทนากันอย่างยืดยาวเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ดิฉันอ่านผลงาน "อันเนื่องกับทางไท" ของอาจารย์เขมานันทะจบไปหลายเที่ยว ได้พบการตีความ "พุทธศิลป์" ของท่าน อธิบายหลายสิ่งในจิตรกรรมไทย ต่างไปจากที่ดิฉันรับรู้มาจากห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ดังเช่น ภาพน้ำของช่างไทยนั้นอาจารย์กล่าวว่า แม้น้ำในขันช่างก็ยังเขียนเป็นคลื่นล้อกันไป เพราะช่างไทยไม่ได้เขียน "น้ำ" ดังที่ตาเห็น แต่เขียนอาการของ "อาโปธาตุ" ที่มีลักษณะเอิบอาบ เซิบซาบ หรือภาพราหูอมจันทร์ในจิตรกรรม และลายปูนปั้นที่ไปโผล่อยู่ตามวัดต่างๆ อย่างมากมายนั้น เท่าที่ดิฉันเคยรู้มาก็เกี่ยวเนื่องเพียงแค่ตำนานของพระราหู แต่สิ่งที่อาจารย์เขมานันทะ ไขความไว้อย่างแม่นยำกลับกลายเป็นว่า ภาพราหูอมจันทร์ในพุทธศิลป์ของไทยนั้น คืออุปมาของ "มุญจิตุกัมยตาญาณ" ซึ่งเป็นญาณลำดับที่ 6 ของวิปัสสนาญาณ 9 ซึ่งหมายถึงญาณที่ใคร่จะหลุดพ้นดังพระจันทร์ใคร่พ้นปากราหู

การตีความเช่นนี้ของอาจารย์และคำอธิบายเรื่องต่างๆ ทั้งชาดก มหากาพย์ วัชรยาน เซน ฯลฯ ที่อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือจำนวนมาก ทำให้ดิฉันมั่นใจว่า ความรู้และความเข้าใจของท่าน มาจากวิธี Spiritual Approach ด้วยการปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถใช้จิตสัมผัส "ธาตุแท้" ของแต่ละสิ่ง จนเกิดปัญญาสามารถอธิบายเค้าเงื่อนของพุทธศิลป์ และศาสนศิลป์ทั้งทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และวรรณกรรมได้

สิ่งที่ดิฉันมุ่งหวังจะเรียนรู้ในขณะนั้นก็คือ อาจารย์ทำอย่างไรจึงสามารถใช้วิธี Spiritual Approach นี้ได้ และอาจารย์ตีความพุทธศิลป์ชิ้นอื่นอย่างไรบ้าง โดยในตอนแรกดิฉันตั้งใจทำแค่การสัมภาษณ์อาจารย์เท่านั้น ไม่ได้คิดจะใส่ใจใดๆ กับวิถีทางการปฏิบัติภาวนา เพราะตัวเองยังสนุกอย่างยิ่ง กับการทดลองฝึกจิตจากการดูดาว และการค้นคว้าทางโหราศาสตร์ในช่วงเวลานั้น

หลังพบอาจารย์ได้ไม่นาน ถือเป็นโอกาสดีของชีวิตที่ดิฉันได้มีโอกาสลงพื้นที่ภาคใต้ทำหนังสือ "ทะเลสาบสงขลา" กับอาจารย์เขมานันทะและทีมงาน จนได้กิ๋ว-ปรัศนันท์ กังศศิเทียม หรือ "ขมิ้นศรี" ศิลปินรุ่นน้อง มาเป็นปิยมิตรในการเดินทางและการทำงานร่วมกันจนถึงบัดนี้ พร้อมกันนั้นทางสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ก็ได้ให้ดิฉันไปขอสัมภาษณ์อาจารย์เขมานันทะ เพื่อเขียนชีวประวัติของท่านออกมาเป็นหนังสือพอคเก็ตบุ๊ค โดยประเด็นที่สนใจ ตั้งเข็มไว้สำหรับการทำงาน และท่านยินดีให้สัมภาษณ์ก็คือ วิถีชีวิตทุกช่วงอายุในการเป็น "นักแสวงหา" ตลอดกาลของท่านอาจารย์นั่นเอง

ดิฉันทำโครงร่างหนังสือแต่ละบทเสนอให้ท่านดูก่อนอย่างละเอียด และทำการสัมภาษณ์ท่านอยู่หลายเดือน ทำๆ หยุดๆ ตามเวลาที่ท่านว่าง จำได้ว่าใช้เทปไปกว่า 30 ม้วน ซักไซ้ไล่เลียงอย่างละเอียด ในขณะนั้นท่านยังแข็งแรงพอที่จะตอบทุกคำถาม อธิบายอย่างชัดแจ้ง หากเมื่อปิดงาน จบสิ้นการสัมภาษณ์ได้ไม่นาน อาจารย์ก็เริ่มป่วยด้วยโรคพาร์คินสัน และหลอดเลือดหัวใจตีบ มากขึ้นทุกที

ม้วนเทปจำนวนมากนี้ดิฉันทำการถอดเทป ตรวจทานและเรียบเรียงอยู่หลายครั้ง แต่ถึงกระนั้นเวลาส่วนใหญ่มักถูกใช้ไป กับงานเลี้ยงชีพเฉพาะหน้า คือการเขียนหนังสือของตัวเอง และการทำงานหนังสือหลายเล่มของอาจารย์เขมานันทะ ที่เมื่อได้เห็นได้อ่านต้นฉบับแล้ว จะเป็นเรื่องน่าเสียใจและน่าเสียดาย สำหรับผู้อ่านอย่างยิ่ง ถ้าผลงานเหล่านั้นไม่ได้ถูกตีพิมพ์ออกมา จนงานสำคัญที่สุดคือต้นฉบับอัตชีวประวัติของอาจารย์โกวิทที่ถอดเทป 30 ม้วนออกมาแล้ว ถูกทิ้งค้างเอาไว้ เพราะทำๆ หยุดๆ อยู่เรื่อยมา

ประสบการณ์การทำงานกับท่านอาจารย์คือการเรียนรู้ที่มีค่า ได้เห็นว่าท่านทำงานหนัก ตรวจทานหนังสือ สเกตช์ภาพ เขียนบทกวีพร้อมไปกับการปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคงทำงานอยู่ตลอดจนถึงบัดนี้ แม้สุขภาพท่านจะไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก ที่ประเสริฐที่สุดก็คือเมื่อดิฉันและกิ๋วทำงานกับท่านได้ไม่นาน เราก็ได้รับการอบรมสั่งสอน ให้รู้จักการปฏิบัติธรรมไปพร้อมกันด้วย ซึ่งทำให้ดิฉันได้พบว่า ในความเป็น "ครู" ของอาจารย์เขมานันทะ ท่านไม่ได้อ่อนโยนใจดี หรือนิ่งสงบเหมือนพระพุทธรูปบนหิ้ง อย่างที่ดิฉันเข้าใจในตอนแรก และคาดหวังจะให้ท่านเป็น หากท่านมีหลายมิติที่ฉับไว ในการรับมือกับจริตของคนแต่ละประเภทอย่างทันท่วงที อีกทั้งท่านสอนลูกศิษย์แต่ละคนด้วยวิธีต่างกัน ตามแต่จริตนิสัยของแต่ละคน คนที่ซื่อ ถ่อม สงบนิ่มนวล ท่านจะมีเมตตา เอื้อเฟื้อแบ่งปันธรรมะให้ด้วยวิธีการอันนุ่มนวลประณีต แต่คนที่ดื้อดันทุรัง หัวแข็ง มีแรงบ้าเยอะนั้น อาจารย์เขมานันทะเหมือนอาจารย์เซนโหดๆ ที่พร้อมจะเอาดุ้นฟืนฟาดหัวศิษย์ตลอดเวลาที่ศิษย์เผอเรอไร้สติ จนแสดงกิริยาหยาบๆ เถื่อนๆ พูดจาแรงๆ แสบๆ ตามความเคยชิน สิ่งเหล่านี้อาจารย์ไม่เคยปล่อยให้หลุดรอดสายตา แต่จะเป็นกระจกสะท้อนที่แจ่มชัด ด้วยสายตาตำหนิ ถ้อยคำดุด่าอบรม หรือบางครั้งโหดสุดๆ ของท่านก็คือกิริยาเฉยเมยไม่ไยดี ที่เห็นแล้วน้ำตาตกเอาได้ง่ายๆ จนต้องนั่งตัวลีบระวังตัว ระวังคำพูด ระวังทุกกิริยา ทุกขณะเวลา เพราะกลัวถูกครูดุว่า แต่นั่นก็เป็นการระวังตัวบนความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่เข้าใจ ต่อต้านในใจอย่างรุนแรง ซึ่งมองปราดเดียวอาจารย์ก็รู้ชัด และกระแทกตัวตนของเราหนักๆ ให้เห็นความอ่อนด้อยของตัวเองด้วยคำพูดของท่านที่ว่า "ถ้าสติของคุณติดตั้งได้อย่างมั่นคงเมื่อไหร่ ต่อให้นั่งเอาตีนชี้หน้าผม ผมจะไม่ว่าอะไรสักคำ"

อาจารย์เคยย้ำให้ฟังเสมอว่า หากสติไม่มี หรือสติอ่อนก็จำเป็นจะต้องทำตามครรลองของมารยาท ดังที่บรรพชนวางแนวทางไว้ เพราะมารยาทไทยมีฐาน อยู่บนการฝึกสติฝึกความรู้สึกตัวในทุกอิริยาบถ และอาจารย์ยังเน้นอีกว่า ถึงกระนั้น สติก็เป็นเพียงพื้นฐาน หากจะไปให้ถึงที่สุดทุกข์ แม้แต่สติก็ต้องทิ้ง เพราะสติละเวรไม่ได้ การยึดสติเอาไว้จะเป็นอุปสรรคเสียด้วยซ้ำ การบำเพ็ญภาวนาจึงเป็นเพียงการเร้าความรู้สึกตัวให้อินทรีย์แก่กล้า เพื่อไปสู่ธรณีประตูแห่งการรู้แจ้ง ส่วนการก้าวข้ามธรณีประตู มิได้เกิดจากสติเพียงอย่างเดียว หากเกิดจากการถึงพร้อมด้วยองค์มรรค ซึ่งอาจจะเกิดแบบฉับพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไป สุดแต่วาสนาบารมี

  1. พ.ศ.2550

ประมาณช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2550 นี้ ดิฉันแจ้งอาจารย์เขมานันทะว่า งานเขียนอัตชีวประวัติของอาจารย์ที่ดิฉันทำค้างอยู่นั้น มีเพื่อนรุ่นน้องที่รักกันมากคนหนึ่งคือน้องกี้-จารุปภา วะสี ผู้เป็นสุดยอดฝีมือในการตัดต่อเรียบเรียงต้นฉบับ จะเข้ามาจัดการงานชิ้นนี้ให้เมื่อเธอออกจากงาน และมีเวลาว่างสั้นๆ ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม โดยที่ทางพี่ยุทธชัย เฉลิมชัย เจ้าของสำนักพิมพ์ชื่นใจ จะเป็นผู้จัดพิมพ์ให้ อีกทั้งมีลูกศิษย์อาจารย์อีกหลายคนมาช่วยกันระดมทำหนังสือเล่มนี้ร่วมกัน กิ๋วจะเป็นคนจัดทำรูปเล่มเนื้อใน, ตุ้ย-วรพร พรหมบุตร ออกแบบปกและรูปเล่ม, อาจารย์โชติวัฒน์ ปุณโณปถัมภ์ มาช่วยสแกนภาพและแต่งภาพ, เปิ้ล-วิชญดา ทองแดง ช่วยพิสูจน์อักษร โดยดิฉันจะเป็นคนวางแผนงานดูแลความเรียบร้อยทั้งหมดของหนังสือประวัติอาจารย์เล่มนี้

น้องกี้เรียบเรียงต้นฉบับงานเขียน "ทางทรายใกล้ทะเลสาบ: อัตชีวประวัติช่วงแสวงหามายาชีวิตของเขมานันทะ" หนังสือหนา 480 หน้าเล่มนี้ได้อย่างประณีต ซึ่งดิฉันดีใจและมั่นใจว่า ถ้าดิฉันตัดต่อเรียบเรียงด้วยตัวเอง คงทำได้ไม่ดีเท่ากี้ทำไว้เป็นแน่ ที่สำคัญก็คือ กี้บอกว่าดีใจเหลือเกินกับการได้เรียบเรียงงานชุดนี้ของอาจารย์เขมานันทะ เพราะทำให้เธอได้พบ "ความลับ" ของการเป็นนักเขียน ในช่วงครึ่งหลังของการทำงานยาวเหยียดกว่า 20 วันจนแทบไม่ได้หลับได้นอนนั้น กี้เล่าว่าเธอเรียบเรียงงานชิ้นนี้ราวกับอยู่ในภวังค์ เหมือนไม่ใช่เธอทำเอง แต่เธอกำลังถูกใช้เป็นทางผ่านของ "พลัง" ที่โหมเข้ามาเขียนตัดต่องานจนเสร็จไปได้อย่างเรียบร้อยและรวดเร็ว

ดิฉันอนุโมทนากับน้องสาวกี้ด้วย บอกเธอว่า มีนักเขียนไม่กี่คนหรอกที่ได้ "สัมผัส" ความวิเศษยิ่งของสภาวะนี้ สิ่งนี้เกิดขึ้นกับบางคนและบางครั้ง…เท่านั้น

องค์ประกอบทุกอย่างมาประชุมพร้อมกันอย่างน่าอัศจรรย์ หนังสือเดินหน้าใกล้เสร็จพร้อมกับที่อาจารย์เขมานันทะได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ คนที่ 3 ประจำปี พ.ศ.2549-2550 จากมูลนิธิอมตะ และในวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ซึ่งอาจารย์เขมานันทะได้รับรางวัลจากท่านอานันท์ ปันยารชุน ผู้เป็นประธานในพิธี ก็เป็นวันเดียวกับที่หนังสือเสร็จงดงามเรียบร้อยเดินทางมาถึงมืออาจารย์และมาวางในงาน ให้คนทำคนอ่านได้เห็น ได้ชื่นชมร่วมกัน

  1. มายาชีวิต

คุณเทพศิริ สุขโสภา ศิลปินเพื่อนสนิทของอาจารย์เขมานันทะ กล่าวถึงหนังสือ "ทางทรายใกล้ทะเลสาบ: อัตชีวประวัติช่วงแสวงหามายาชีวิตของเขมานันทะ" ว่า

"เป็นหนังสือดีที่สุด ทั้งภาษา ความลุ่มลึกของประสบการณ์ ที่ไม่ใช่ทางด้านศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นประสบการณ์ทางด้านศิลปะที่คุณโกวิทประยุกต์ใช้ ปรับใช้ นำมาพูดในมุมที่พวกคนทำงานศิลปะไม่อาจพูดอย่างนี้ได้ ถ้าไม่ก้าวไปสู่ประสบการณ์ทางธรรมะ จะพูดอย่างนี้ไม่ได้ ทำให้มองเห็นศิลปะในอีกมุมหนึ่ง ที่คนเรียนศิลปะสายตรงไม่อาจมองเห็นได้

งานเล่มนี้สรุปชีวิตคล้ายกับหนังสือ "เล่าไว้ในวัยสนธยา" ที่พระประชาทำประวัติของท่านพุทธทาส แม้ไม่มีช่วงชีวิตปัจจุบันของคุณโกวิท แต่ก็สรุปให้เห็นชีวิตที่ผ่านมา จังหวะการเล่า ความนุ่มนวล มีสีสันลึกซึ้งมาก ผมยอมรับว่าคุณโกวิทเขาเหนือชั้นจริงๆ ขนาดเราคิดว่า เราสนใจธรรมะ ปรัชญาต่างๆ แต่เทียบกับเล่มนี้ เราตื้นเลย การปล่อยความคิดเป็นคำพูดทำได้อย่างวิเศษ เป็นการก้าวเดินไปสู่ความเข้าใจชีวิต นี่คือการคั้นเอาบทเรียนของมนุษย์คนหนึ่ง ในระดับครู ผมขอใช้คำนี้เลย

ผมเห็นว่างานนี้เป็นงานชิ้นเยี่ยม เป็นหนังสืออีกเล่มที่คนไทยควรอ่านอย่างยิ่ง คนไทยต้องอ่าน หนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญแห่งปี"

ในช่วงปีปัจจุบัน ดิฉันสังเกตเห็นว่า แม้อาจารย์จะอ่อนแรงไปมาก พูดสั้นลง แต่เรื่องธรรมะแล้วอาจารย์ชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างที่สุด ทุกคำถามท่านตอบได้กระจ่างไม่เหลือข้อสงสัย เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา คุณพ่อดิฉันฝากคำถามให้ไปเรียนถามอาจารย์เขมานันทะว่า ที่พระพุทธเจ้ากล่าวกับพระอานนท์ว่า หากจะมีชีวิตยืนยาวชั่วกัปกัลป์ ให้เจริญอิทธิบาท 4 นั้นมีความหมายลึกๆ อย่างไร

อาจารย์ให้คำตอบว่า การอยู่ชั่วกัปกัลป์ไม่ได้หมายถึงอยู่กันเป็นหมื่นเป็นแสนปี แต่หมายถึงอยู่นานยืนยาว และการจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวนั้น ต้องเจริญอิทธิบาท 4 อันมีความหมายดังนี้

ฉันทะ คือการชอบอย่างแรงที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยสรรพสัตว์

วิริยะ คือการมีความเพียรที่จะ energize พลังงานอย่างแรง เดินลมปราณกระตุ้นตัวเองตลอด ด้วยจิตอธิษฐานที่จะอยู่ต่อไป ข้อนี้สำคัญที่สุด

จิตตะ มีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูสุขภาพอนามัย

วิมังสา ใช้สติปัญญาอย่าหยุด หยุดใช้จะเข้าใกล้ความตาย

ทั้ง 3 ข้อแรกเป็นการ energize พลังงาน ส่วน "วิมังสา" ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญา ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การอยากที่จะอยู่ แต่เป็นความตั้งใจที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยสรรพสัตว์ในโลกให้พ้นทุกข์

ทุกวันนี้ อาจารย์เขมานันทะไม่ได้สอนอะไรยาวๆ และไม่ได้มาดุด่าว่ากล่าวอะไรลูกศิษย์อีกแล้ว วิธีสอนแบบวันวานยุติลงแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะท่านอ่อนแรงไปมาก และลูกศิษย์ก็ต้องเรียนรู้การเจริญสติด้วยตนเองโดยไม่มีครูมาเข้มงวดกวดขัน แต่ถึงเสียงของครูจะเบาลงมาก แต่ความคมคายนั้นทำให้ต้องคว้าปากกามาจดไว้ทุกครั้งเมื่อได้พบท่าน อาจารย์ไม่จำเป็นต้องเอ่ยอะไรยาวๆ อีกแล้ว เพราะแต่ละประโยคสั้น กินใจความลึกซึ้งครอบคลุม ทุกคำของท่านเหมือนเป็นคติธรรม เป็น "เขมานันทะวาที" ให้กับทุกคนที่มีโอกาสได้ฟัง ดังเช่นที่ท่านกล่าวว่า

แต่ละช่วงของชีวิต บางครั้งรุ่งเรือง บางครั้งตกต่ำ รู้เท่าไม่ทันก็ทุกข์ รู้เท่าทันถึงทุกข์ก็เรียนรู้จากทุกข์ได้"

"การโศกเศร้าเป็นสิ่งดี เป็นจุดตั้งต้นของการหันไปสำรวจตรวจตรา ห้วงชีวิตในความโศก ลึกซึ้งกว่าชีวิตที่สนุกสนาน ไม่มีความทุกข์ใจจะเตลิดเพลินไป"

"การมีบุคคลต้นแบบเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เรียนจากตำรามันเปราะเกินไป"

และที่จับใจอย่างยิ่งต่อดิฉัน ลูกศิษย์ผู้ก้าวร้าว ดื้อดึงและดันทุรังไปในทางที่ตัวเองเชื่อ ในบัดนี้มองย้อนกลับไปถึงวันที่เดินมาพบท่านเมื่อ 8-9 ปีก่อน ดิฉันพบว่าตนเองโชคดีเหลือเกิน ที่ชีวิตนี้ได้พบครูผู้ให้ชีวิตทางธรรม ผู้มีบุญคุณสูงสุด เสมอด้วยพ่อแม่ที่ให้ชีวิตให้การเรียนรู้ทางโลก เพราะถ้าไม่ได้พบอาจารย์ ดิฉันยังนึกไม่ออกเลยว่า กับหน้าที่การงานที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน….หากไม่รู้จักวิถีภาวนา ไม่รู้วิธีดูจิตดูใจอย่างที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์เขมานันทะ และหากไม่ได้ถูกเข้มงวดกวดขันมาหนักๆ ให้รู้จักเอาจิตใจไปวางไว้ในที่เหมาะที่ควร ถ้าไม่ถูกกระหนาบแล้วกระหนาบอีกอย่างที่ได้ประสบมา ถึงวันนี้ตัวเองจะต้องแบกรับความกลัวและความทุกข์ของชีวิตอย่างหนักหนาสาหัสมากเพียงไหน

ยังมีบางถ้อยคำของอาจารย์ ที่ทำให้ดิฉันซาบซึ้งยิ่ง ในสิ่งง่ายๆ ตรงๆ แต่สำคัญยิ่งนักในสายสัมพันธ์ของครูกับศิษย์ หากที่ผ่านมาตัวเองกลับมองไม่เห็น เพราะถูกความขุ่นเคือง เสียใจ ไม่เข้าใจในความปรารถนาดีของครู…. มาบดบังสายตาเอาไว้

นั่นคือคำพูดที่อาจารย์เขมานันทะพูดกับกิ๋ว ดิฉัน อาจารย์โชติวัฒน์ เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า

"ความเป็นกันเองกับครูบาอาจารย์ไม่ใช่การยอมสยบ แต่เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ นี่เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้"

Comment #1
pmon
Posted @October,26 2007 10.45 ip : 125...55

เคยอ่านและกำลังอ่านผลงานของท่านเขมานันทะ สนใจหนังสือ"ทางทรายใกล้ทะเลสาบ: อัตชีวประวัติช่วงแสวงหามายาชีวิตของเขมานันทะ" วันนี้ยังไม่เห็นบนแผงหนังสิอที่สงขลา

แสดงความคิดเห็น

« 4970
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ