บทความ

"เดือนเพ็ญ" บทเพลงมหัศจรรย์ บนความยิ่งใหญ่ที่ถูกลืมเลือน

by เจริญชัย ไชยไพบูลย์ว @December,12 2007 15.11 ( IP : 202...65 ) | Tags : บทความ

"เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา… …ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้ากับอกแม่เอย"


หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟัง แอบชื่นชอบชื่นชมกับเพลงบทนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่สงสัยหรือทราบอย่างแท้จริงว่า  ผู้แต่งเพลงนี้เป็นใคร ? มีความต่ำต้อยหรือยิ่งใหญ่เพียงใด ? บางคนฟันธงไปเลยว่า "น้าหงา" อาจารย์ใหญ่เพลงเพื่อชีวิตเป็นเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีอัจฉริยภาพถึงขั้นรจนาบทเพลงที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ แต่ผู้นิยมคาราบาว(แดง) อาจประท้วง ว่า "อาแอ๊ด" ศิลปินผู้ยืนยง ต่างหากที่เป็นผู้ประพันธ์ตัวจริงเสียงจริง
บรรยากาศชนบท ในสังคมชาวนาโรแมนติค ลานบ้านที่เต็มไปด้วยกองฟาง นั่งมองจันทร์ลอยเด่นบนฟากฟ้า ให้บรรยากาศที่งดงามดื่มด่ำยิ่งนัก หวนนึกถึงครั้งหนึ่งเมื่อผมได้ทำค่ายอาสาพัฒนาชนบท ด้วยจิตใจที่ร้อนแรงของคนหนุ่มสาวในรั้วมหา’ลัย ท่ามกลางแสงตะวันที่เจิดจ้า แต่พวกเรามิเคยย่อท้อ นึกถึงบรรยากาศยามเย็นที่พวกเรามาร่วมร้องเริงรำร่วมกับชาวชนบทผู้น่ารัก เคล้าคลอด้วยแสงจันทร์นวลอันยวนใจ จิตใจอาสาพัฒนาบวกกับมนต์มหัศจรรย์แห่งบทเพลง ได้ช่วยขับกล่อมพวกเราให้เคลิบเคลิ้มและพร้อมจะยืนหยัดในเส้นทาง ที่ได้ก้าวเดินมามิรู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมยิ่งหลงใหลเสียงเพลงแห่ง "เดือนเพ็ญ"

โชคชะตาและแรงบันดาลใจผลักดันให้ผมต้องตามค้นหาว่า "ใครเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงนี้" จะด้วยความรักชอบหรือความบ้าบิ่นอย่างไรไม่ทราบ สุดท้ายได้รู้ว่า ผู้ประพันธ์มีความยิ่งใหญ่ไม่น้อย มีนามกรว่า "อัศนี พลจันทร์" มีนามปากกาที่ใช้ประพันธ์มากมาย แต่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ "นายผี" ผมยังตามรอยต่อไปจนพบว่า "อัศนี พลจันทร์" ได้รับการขนานนามคู่กับ "จิตร ภูมิศักดิ์" ในฐานะ "มหากวีของประชาชน" ด้วยความสามารถในการประพันธ์กาพย์กลอนที่ซาบซึ้งตรึงจิต โดยเฉพาะเมื่อมีเนื้อหาอันแสดงถึงความทุกข์ยากของมวลประชาอันไพศาล รวมทั้งการเรียกร้องเร่งเร้าให้คนจนร่วมมือกันเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากการกดขี่ของคนบางกลุ่ม(ซึ่งเราไม่อยากเอ่ยนาม) โดยมิได้เป็นการยัดเยียด แต่เป็นการใช้ศิลปะประดุจมนต์ที่จะปลุกหัวใจอันเฉื่อยชาให้ฟื้นตื่น เพื่อร่วมกันค้นหาวันพรุ่งที่ดีกว่า

เมื่อสายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนเส้นทาง อุดมการณ์สังคมนิยมถึงกาลล่มสลาย จิตใจที่ต่อสู้เพื่อคนยากไร้อ่อนระโหย…แต่เสียงเพลง “เดือนเพ็ญ” ยังคงก้องกังวานท้าทายกาลสมัย (ในสถานบันเทิงยามราตรีทั่วแผ่นดิน) ยืนยงเคียงคู่ "แสงดาวแห่งศรัทธา" อันเป็นบทเพลงที่ลือลั่นของ "จิตร ภูมิศักดิ์" มหากวีแห่งสยาม ผู้ยืนยงเคียงข้างกันในอุดมการณ์เพื่อมวลประชา(น่าแปลกที่ทั้งสองคนนี้ มีตำแหน่งเป็นมหากวีเหมือนกัน สมาทานอุดมการณ์เดียวกัน มีเพลงอมตะคนละ 1 เพลง ที่เพลงหนึ่งเป็นเดือน ส่วนอีกเพลงคือดาว และเกิดในปีนักษัตรเดียวกัน แต่ห่างกัน 1 รอบ) ผมลุ่มหลงและคลั่งใคล้ในบทเพลงทั้งสองนี้ สัญชาติญาณรู้สึกว่าผู้ประพันธ์คงมีความเป็นมาและชีวิตที่ยิ่งใหญ่ จึงจะสามารถประพันธ์เพลงได้ลึกซึ้งกินใจเยี่ยงนี้ แต่หากให้เลือกว่าชื่นชอบเพลงใดยิ่งกว่า ผมคงต้องกลั้นใจเพื่อคล้องพวงมาลัยให้ "พี่เดือนเพ็ญ" ด้วยความเสียดาย “น้องแสงดาว” บางทีอาจเป็นเพียงแค่ความชอบส่วนตัว แต่หากให้หาเหตุผลประกอบ คงพออธิบายได้ว่า “เดือนเพ็ญ” ถ่ายทอดอารมณ์ได้หลากหลาย สามารถตีความเนื้อหาได้หลายนัย ให้ความละเมียดละไมยิ่งกว่า ในขณะที่ "แสงดาวฯ" นั้นแม้จะมีพลังปลุกเร้า มีความคิดแฝงที่ลุ่มลึก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ มิติด้านกว้างของเนื้อหา(เพราะมุ่งเน้นด้านการต่อสู้เพื่อสังคมมากเกินไป) โดยเฉพาะการเข้าถึงอารมณ์อันละเอียดอ่อนนั้น  "แสงดาวฯ" ยังขาดแคลนอยู่บ้าง เนื่องจากได้มุ่งเน้นไปยังอารมณ์ที่คุกรุ่น ซึ่งมุ่งหวังต้องการที่จะปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงสังคม ถ้าหากใครอยู่ในอารมณ์เดียวกันคงอดที่จะชื่นชอบมิได้ แต่สำหรับ "เดือนเพ็ญ"นั้น กลับให้อารมณ์ที่ทั้งสุขสดชื่น ทั้งทุกข์ตรมโหยหา และแสนจะโรแมนติคหวานซึ้ง ที่สำคัญยังมีแง่มุมให้ตีความได้มากมายโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความห่วงหาอาทร คิดถึงบ้าน ของผู้แต่ง อาจไม่ใช่เพียงแค่ “ความเหงา” ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่อาจหมายเลยไปถึง อุดมการณ์ที่ยังลุกโชนซึ่งหวังว่าสักวันจะต้องกลับไปเปลี่ยนแปลงแผ่นดินแม่ให้ดีและงามกว่าเดิม
หรือบางที ในอนาคต เราอาจค้นพบเงื่อนมุมอื่นที่ซ่อนเร้น ซึ่งการตีความและค้นพบแง่มุมใหม่อาจช่วยให้เราซาบซึ้งกับบทเพลงนี้ยิ่งขึ้น

เพื่อที่จะรู้จักชายคนนี้ให้ถึงแก่น ผมได้ตามไปค้นหางานประพันธ์ที่เหลือของ "นายผี" จนได้พบความอัศจรรย์ใจยิ่งขึ้นว่า "เดือนเพ็ญ" เป็นเพียงแค่หนึ่งในความยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชายคนนี้
แม้ว่า "ท่าน" จะแต่งบทกวีไว้มากมาย แต่ที่ผมคิดว่าโดดเด่นเป็นเอก (เช่นเดียวกับที่นักวิจารณ์หลายท่านยกย่อง) มีอยู่ 3 เรื่อง นั่นคือ "อีศาน", "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า", และ "ความเปลี่ยนแปลง"  งานทั้ง 3 ชิ้นนี้ เพียงพอให้ท่านยิ่งใหญ่ยรรยง เป็นเพชรกวีที่ได้รับการจารึกชื่อตราบชั่วกาลนาน ที่สำคัญทำให้ภาพของเพลง "เดือนเพ็ญ" ยิ่งดูสมบูรณ์พร้อม เมื่อล้อม(เดือน)ด้วย 3 ดาวอมตะนี้

เมื่อเริ่มอ่าน "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า" ได้เพียงบทเดียว ผมสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ อลังการ  จนไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไม!!!ผมจึงรู้สึกว่า "ความงามใน 3 โลกต่างมาร่วมเริงรำ” อย่างไรก็ตาม ความซาบซ่านใจเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว ตราบใดที่มันไม่สามารถอธิบายให้คนอื่นร่วมรับทราบได้ ผมจึงต้องพยายามสร้างคำอธิบายขึ้นมาสักชิ้น เพื่อทำให้ความงามนั้นดูมีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ สิ่งที่ผมค้นพบคือ "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า" ได้หลอมรวม “รูปแบบ” อันสวยงาม ถ้อยคำที่สลักเสลา กระตุ้นเร้าอารมณ์ให้เกิดภาพอันวิจิตร ดุจดั่งบทกวีแห่งกรุงศรีอยุธยาฯ เข้าด้วยกันกับ “เนื้อหา” อันเป็นรูปธรรมที่ไม่เลื่อนลอย เป็นภาพชีวิตคนจริงๆที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่บนพื้นพิภพนี้ สิ่งที่ผมรู้สึกว่าขาดหายไปในบทกวีสมัยอยุธยา คือ “ความหนักแน่นของชีวิต” ในบทกวียุคเก่าเรารู้สึกงดงาม ไพเราะ พริ้วไหวไปกับถ้อยคำอันเพริศแพร้ว แต่เราก็ล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ลอยไป ลอยไป เมื่อย้อนมามองตัวเองเรากลับพบว่า ตัวละครทั้งหลายในบทกวี ต่างไม่มีลักษณะของบุคคลที่เดินเหินอยู่บนโลกนี้ แต่เป็นผู้ลอยมาจากฟากฟ้า แล้วก็เลือนลับไป

        อ้าราตรีขณะนี้มิมีสินะสำเนียง
    แสนเงียบบ่งึมเสียง              สงัด
        อ้าราตรีขณะนี้สิพฤกษบ่สบัด
    ใบลมบโลมพัด                 และพาน

"ชะนะแล้วฯ" มีความงามเชิงวรรณศิลป์ของบทกวีครบถ้วน ทั้งถ้อยคำที่สั่นพ้องจนดลบันดาลให้เกิดความไพเราะ ทั้งชีวิตตัวละครที่สะท้อนอ่อนไหวซึ่งสั่นสะท้านหัวใจผู้ชม ก่อให้เกิดรสชาติเลียดละมุนแด่ผู้เสพบทกวี แต่ที่ยอดยิ่งคือ สามารถนำความยิ่งใหญ่ ความกระทบใจนั้นมาใส่ให้กับ "ชีวิตคนจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึกอันซับซ้อนเปราะบาง" ผมคงไม่มีความรู้สึกร่วมไปกับ กษัตริย์อยุธยาที่สูงศักดิ์ ดุจจะลอยมาจากวิมานเมฆ หรือเจ้านายชั้นสูงที่มีชีวิตความเป็นอยู่เกินกว่าจินตนาการของผม แต่ขณะเดียวกัน ผมกลับรู้สึกว่า คนเดินถนนอย่างเรา สามารถที่จะมีความอลังการและงดงามได้ มีความวิเศษศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวของเรา ในการกระทำของเรา ผมจึงเกิดอารมณ์ร่วมไปกับบทกวีนั้น

        เพื่อน้องนี้มาเจ็บ      ก็ประจักษ์ว่ายากใจ

จักปองแลมองไป ก็ปั่นป่วนอยู่รวนเร กำลังแม่อิดโรย ละเหี่ยโหยให้โผเผ ลุกนั่งยังโงเง ด้วยหง่อมงุ้มอยู่งันงัน

ได้แลเห็นความยิ่งใหญ่ การร่ายรำของภาษา ดุจเดียวกับที่ปรากฏใน “เดือนเพ็ญ” แต่อดเสียดายมิได้ว่า "ในผู้ที่ชื่นชอบเดือนเพ็ญ จะมีกี่คนที่รู้จัก ชะนะแล้ว…แม่จ๋า" ทั้งๆที่ทั้งคู่ต่างยิ่งใหญ่มิด้อยกว่ากัน ต่างสามารถสรรค์สร้างความงามให้กับชีวิตน้อยๆของคนธรรมดาอย่างเราๆได้

        ท่ามกลางราตรีกาล        อันละลานด้วยแสงเดือน
        เหมือนเสียงกระซิบเตือน  มาแต่ไกลจะเบาเบา
        เสียงนั้นฟังหนักแน่น        บ่คลอนแคลนดั่งขุนเขา
        "แน่นอน…แน่นอน, เรา ชะนะแน่ไม่นานเลย"

ไปถามผู้รู้หลายท่าน ปรากฏว่าได้รับคำตอบมาว่า "เนื้อหาแบบนี้(ชะนะแล้ว…แม่จ๋า) ล้าสมัยไปแล้ว อุดมการณ์สังคมนิยมนั้นจบสิ้นไปแล้ว" ในแวบแรกผมเกิดความรู้สึกหดหู่ ตายจริงสิ่งที่เราชื่นชอบกลายเป็นล้าสมัยไปแล้ว ช่างน่าเสียดายนัก
แต่เมื่อกลับมาทบทวน ครุ่นคิดไตร่ตรอง ผมกลับพบว่า คนที่พลาดไม่ใช่ผม แต่เป็นค่านิยมของสังคม ผมมาคิดดูแล้วว่า ที่ผมชื่นชอบ "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า" นั้น ไม่ใช่เนื้อหาแห่งการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมวลชนอันไพศาล แต่เป็นความสามารถในการใช้ถ้อยคำดุจปลายพู่กันอันวิจิตร บรรจงวาดความยิ่งใหญ่งดงามให้กับชีวิตของคนธรรมดา เป็นการแสดงให้รู้ว่า คนธรรมดาก็มีความเพริศแพร้วเจิดจรัสได้ นี่คือสิ่งที่ผมชื่นชอบและใหลหลง บางทีนี่คือคุณค่าหนึ่งซึ่งทุกคนต้องการได้รับจากการเสพบทกวี

ผมจึงเริ่มรู้สึกว่า "การผูกติด" บทกวีและศิลปะให้เข้ากับอะไรบางอย่างนั้น “น่ากลัวเหลือเกิน”

การที่งานของนายผี ได้รับการต้อนรับจากนักศึกษาและปัญญาชน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างล้นหลามนั้น ด้านหลักเกิดจากเนื้อหาที่เป็นสังคมนิยมซึ่งเรียกร้องต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ส่วนด้านรองกลับเป็นความงามและวรรณศิลป์ซึ่งช่วยให้การต่อสู้เรียกร้องแหลมคมยิ่งขึ้น โดยจะมีสักกี่คนที่เห็นคุณค่าจากตัวบทกวีจริงๆบ้าง ครั้นแล้วเมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศ สิ่งที่บทกวีถูกนำไปผูกติดไว้ได้กลับกลายเป็นความว่างโหวง บทกวีที่ยิ่งใหญ่จึงกลายเป็นเพียงถ้อยคำที่เลื่อนลอย มิมีคุณค่าแห่งตัวตน ถูกตีตราและปฏิเสธจากสังคม เช่นเดียวกับอุดมการณ์ที่ถูกนำไปผูกติด การปฏิเสธครั้งนี้จึงไม่ใช่การปฏิเสธบทกวี(เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยต้อนรับ) แต่เป็นการปฏิเสธเนื้อหาที่บทกวีไปรับใช้ใกล้ชิด ถ้างั้น !? หมายความว่า ศิลปะควรเป็นไปเพื่อศิลปะกระนั้นหรือ ? ศิลปะควรจะเพื่อประชาชน ไม่ใช่เหรอ ? (บางคนแย้ง) ผมคงไม่ถกเถียงเรื่องนี้ แต่ในความเห็นผมนั้น ทุกอย่างมีที่ทางของมัน ผมยอมรับว่า บทกวีนั้นถ้าให้ดีควรจะเพื่อประชาชน แต่จะต้องไม่เป็นการบังคับ หากมีศิลปินบางส่วนแยกตัวเองไปทำศิลปะเพื่อศิลปะ เขาควรมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น สำหรับศิลปะเพื่อประชาชนนั้น ผู้สร้างสรรค์ควรจะคำนึงถึงศิลปะเป็นด้านหลัก โดยนำเนื้อหา(เพื่อชีวิต)ที่ต้องการนำเสนอมาตกแต่งให้เกิดรูปศิลปะ แต่ไม่ใช่นำเนื้อหามาครอบงำและบิดเบือนรูปศิลปะ(ผมคิดว่าถ้าศิลปินมีฝีมือจริง เช่น นายผี ฯลฯ คงจะสามารถหลอมรวมศิลปะเข้ากับเนื้อหาที่รับใช้ประชาชนได้อย่างละเมียดละไม การที่ศิลปินเน้นแต่ด้านการรับใช้โดยไม่คำนึงถึงศิลปะนั้น ผมถือว่าเป็นการทำงานอย่างสุกเอาเผากินมากกว่าการเป็นกวีที่รับใช้ประชาชน) เพราะถ้าต้องการนำเสนอเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าควรจะเขียนเป็นบทความวิชาการหรือรายงานวิจัย มากกว่าการนำเสนอในรูปศิลปะ เช่นเดียวกัน การเขียนงานวิชาการ การค้นคว้าที่ต้องการสัจจะและความจริงเป็นด้านหลัก เรากลับไม่ควรให้ศิลปะการนำเสนอ มาบิดเบือนเนื้อหาที่แท้จริงไป พูดง่ายๆคือ ศิลปะกับเนื้อหาและความจริง ควรมีที่ทางและความอิสระของตน การนำมาผสมผสานเพื่อส่งเสริมกันและกันเป็นสิ่งดี แต่ต้องอย่าให้เกิดการครอบงำ จนต้องบิดเบือนเพื่อรับใช้กันขึ้น อันจะทำให้งานชิ้นนั้น(ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองานวิชาการ) แทนที่จะดีเด่น กลับด้อยค่า ไร้ราคา

ผมคิดว่า "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า" เป็นผลงานตัวอย่างที่สามารถผสมผสานศิลปะเข้ากับเนื้อหาได้อย่างลงตัว ผมไม่ปฏิเสธว่า งานชิ้นนี้มีเนื้อหาที่รับใช้อุดมการณ์สังคมนิยม แต่ผมเห็นว่า การรับใช้ใคร หรืออะไรนั้นย่อมทำได้ทั้งสิ้น ตราบที่ยังคงความงามแห่งศิลปะซึ่งเป็นด้านหลักของความเป็นบทกวีไว้ งานชิ้นนี้แสดงถึงการต่อสู้ของกรรมกรเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่ออุดมการณ์อันสูงส่งได้อย่างมีศิลป์ มีความเลิศล้ำอลังการ การนำเนื้อหาการต่อสู้เพื่อผู้ยากไร้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะในกรณีนี้ นอกจากจะไม่ทำให้เสียรสแล้ว ยิ่งกลับเพิ่มรสชาติขึ้นอีกด้วย เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้ว บทกวีแบบอยุธยานั้น แม้จะมีความวิจิตร ปลุกเร้าสัมผัสแห่งอารมณ์ แต่ยังขาดชีวิตคนจริงๆ ขณะที่ "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า" ได้นำภาพการต่อสู้ของกรรมกรที่มีเลือดมีเนื้อมีชีวิตมาใส่ไว้ได้อย่างดีเด่นเป็นเอก ยิ่งกว่านั้น หากเราไม่รู้มาก่อนว่า "ผู้ประพันธ์มีอุดมการณ์สังคมนิยม" เราคงดูไม่ออกว่า นี่เป็นการเขียนเพื่อรับใช้สังคมนิยม(บางคนอาจคิดว่าผู้ประพันธ์เป็นกวีอนุรักษ์ที่นิยมขนบโบราณก็ได้ โดยดูจากรูปแบบที่มีกลิ่นไออยุธยา)เพราะจริงๆแล้ว ชีวิตมนุษย์ก็คือชีวิตที่มีเลือดเนื้อ มีน้ำตา มีการต่อสู้ มีการแสวงหาอิสระและเสรีภาพ ส่วนอุดมการณ์หรืออะไรทำนองนั้นเป็นแต่เพียงส่วนที่เราใส่เข้าไปเท่านั้น เรานำมันไปอธิบายความเป็นมนุษย์ เรานำมันไปต่อสู้เพื่อเรียกร้อง แต่เมื่ออุดมการณ์นั้นล้าสมัยไป สิ่งที่เหลืออยู่คือ “ชีวิต” เท่านั้น ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ หากเราพิจารณาครอบครัวกรรมกรในเรื่อง มันคือครอบครัวกรรมกรที่มีอยู่ทั่วไป มีความอดอยากยากเข็ญ มีความพยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง เหมือนดั่งที่คนทุกยุคทุกสมัยก่อนที่จะมีอุดมการณ์สังคมนิยมได้เผชิญกันมา ไม่ว่าจะเป็น สปาร์ตาคุสแห่งโรมผู้รบพุ่งเพื่อปลดปล่อยทาสที่โดนทารุณร้าย, โมเสสผู้นำชนเผ่าของตนหนีจากความกดขี่ของฟาโรห์, หรือแม้แต่กบฎชาวนาทุกยุคทุกสมัยของจีน ซึ่งยังไม่มีความคิดสังคมนิยม เพียงแต่ต้องการเปลี่ยนฮ่องเต้องค์ใหม่เท่านั้น ที่เรื่องนี้สมควรเป็น "มหาอมตนิพนธ์" เพราะสามารถผสานรูปแบบที่เพริศพริ้งอลังการหล่อหลอมเข้ากับเนื้อหาที่ร้อนแรงเร่งเร้า ซับซ้อนสับสนของชีวิตเดินดินได้อย่างลงตัว ประดุจเพชรจรัสแสงที่เจียระไนจากเปลวเพลิงที่ร้อนระอุ ผู้อ่านไม่รู้สึกว่านี่เป็นการยัดเยียดอุดมการณ์สังคมนิยมโดยไร้ซึ่งศิลปะแห่งวรรณศิลป์ซึ่งบทกวีที่ดีควรจะมี และหากสังเกตให้ดีจะพบว่าเนื้อหาอันเป็นการต่อสู้ หยุดงาน และประท้วงนั้น มีอยู่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายความรู้สึกอันทุกข์ระทมของชีวิตที่ยากลำบาก ความสับสนระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัวของแก้ว(กรรมกรในเรื่อง) โดยผ่านการเห็นภาพความทุกข์ตรมอ่อนระโหยของน้องและแม่ ซึ่งขัดแย้งกับความสามัคคีที่พี่น้องกรรมกรต้องการจากเธอ รวมถึงการบรรยายฉากและบรรยากาศที่งามเลิศอลังการ ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบที่จำเป็นยิ่งของวรรณศิลป์ (ไม่ว่าจะเป็น นวนิยาย บทละคร บทกวี ฯลฯ) และ "นายผี" ได้นำมาผสมผสานกันอย่าง เข้มข้นและรจนาขึ้นเป็น "ชะนะแล้ว…แม่จ๋า"

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองมองไปที่ "อีศาน" ซึ่งเป็นบทกวีสั้นๆ (มี 6 บท ยาว 1 หน้ากระดาษ) แต่งในช่วงเดียวกันคือ ปี 2495 ซึ่งเป็นปีที่ “นายผี” ได้รจนาบทกวีที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ชิ้น (ช่วงอายุ 30-40 ปี เป็นช่วงวัยที่เหมาะสมยิ่งสำหรับกวีและนักประพันธ์ ?) เราจะพบว่าเนื้อหาของบทกวีช่างธรรมดายิ่ง ภาพของชนบทอีสานที่กันดารไร้ซึ่งความเจริญ แต่เมื่อผ่านการรังสรรค์ของนายผี "อีศาน" กลับทำให้เรารู้สึกถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ของความทุกข์ยาก ซึ่งถ้าหากใช้แนวคิดเรื่องอารยธรรมและความเจริญมาอธิบาย คงได้ภาพที่ไม่น่าสนใจ คือความล้าหลังป่าเถื่อน แต่สำหรับบทกวี เราสามารถทำให้มันน่าสนใจได้ และเรียกสิ่งนี้ว่า “การสร้างปาฏิหาริย์จากเม็ดทราย”

"ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปี"

เพียงเท่านี้เราคงเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ “อีศาน” ได้ เพราะโดยเนื้อหาไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจเลย เป็นเพียงแค่ผืนแผ่นดินที่แห้งแล้ง แต่เมื่อนำมาร้อยเรียงเป็นบทกวี กลับสามารถจุดประกายความงาม ผ่านการร่ายรำของภาษา ภาพแผ่นดินอีสานชัดเจนขึ้นมาทันตา ราวกับแผ่นดินที่แยกนั้นสั่นไหวอยู่เบื้องหน้า เรื่องศิลปะนี้คงเช่นเดียวกับที่ผมเคยไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ซึ่งถ้าหากเพียงแค่ไปเที่ยว ไปเยี่ยมเยือน ไปเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัย ผมคงไม่ซาบซึ้งดื่มด่ำและรู้สึกรักในความเป็นชนบท ในความเป็นชาวนาเหมือนอย่างที่ผมได้ไปออกค่ายในครั้งกระนั้น การเป็น “คนใน” ชนบท อาจเข้าถึงความรู้สึกและธรรมชาติได้ดีกว่า แต่ก็มักจะชินชากับสิ่งที่เห็นมากเกินไปจนละเลยความงามที่แฝงซ่อนอยู่ สำหรับคนที่มาท่องเที่ยวกลับมีความเป็น “คนนอก” มากเกินไป จนมองความงามของชนบทเพียงผิวเผิน “ค่าย” จึงเป็นจุดประสานที่ลงตัว ของความเป็นคนนอกและคนใน ของรูปแบบและเนื้อหา จึงสามารถเข้าถึงและสะท้อนความงามออกมาได้อย่างลงตัว (แม้กระนั้นไม่ได้หมายความว่า การเข้าถึงความงามของชนบทในวิถีทางอื่นนั้นด้อยกว่าแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า “ผู้สังเกต” ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะสามารถพาตัวเองให้ยืนอยู่ ณ จุดที่เหมาะสม ที่สามารถหยั่งเห็นความงามได้ดีเพียงใด)

ยิ่งเมื่อมาดู "ความเปลี่ยนแปลง" มหานิพนธ์ อีกเรื่องหนึ่งของนายผี ยิ่งทำให้เราซาบซึ้ง และหยั่งเห็นถึง ความยิ่งใหญ่แห่งมหากวีผู้รจนา

        นกน้อยมีรวงรัง      จึงเริงร้องได้สำราญ
       โพยภัยมิพ้องพาน     สำหรับลูกแลเมียมัน
        ตัวเราสิไร้เรือน            จะรองร่างทุเรศครัน
        ลูกเมียไม่มีวัน         มารวมร่วมสำเริงรมย์
        แม้ตายแต่เพียงหลุม      จะใส่ร่างอันรันทม
        ทั้งโลกอันสวยสม     ดูเสร็จแล้วไม่เห็นมีฯ

เรื่องนี้เป็นประวัติชีวิตของนายผี ตั้งแต่บรรพบุรษคือ พระยาจันทร์ ผู้รับใช้ศักดินา จนถึงตัวนายผีผู้เป็นขบถแห่งชนชั้นและวงศ์ตระกูล เราจะเห็นถึงประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่ข้ามผ่านกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้ของ “อมตกวี” นั่นก็คือ ความงามและการร่ายรำของภาษา จะเห็นว่า ในเรื่องนี้เช่นเดียวกับสองเรื่องที่ผ่านมา ผู้เขียนสามารถสรรหาถ้อยคำมาสร้างภาพแห่งยุคอดีต ผ่านความเปลี่ยนแปลง จวบจนมาถึงปัจจุบันในยุคของตน ให้ยิ่งใหญ่ ให้เห็นชีวิตคนที่มีเลือดเนื้อ ซึ่งมีทั้งพลังและความอ่อนไหวอยู่ในนั้น จนก่อรูปเป็น "ภาพชีวิตที่สวยงาม"

        เป็นชายมาหมิ่นชาย       จะไว้ลายให้ลือลาน
        สองเราและใครหาญ     ก็แลหัวบเหี้ยนหาย
        เลือดตัวแต่ปลายลำ       แม่กลองไหลแลเป็นนาย
        เลือดดูที่ต้นสาย        บสำหรับจะดูแคลน

จึงขอยืมคำพูด ของท่าน "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" มหากวีอีกท่านของเมืองไทย ซึ่งกล่าวไว้ใน "มหากาพย์แห่งชัยชำนะ" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2533 ความว่า

"เราต้องรอนับด้วยร้อยปีจึงจะมีกวีอย่างนี้สักคน เกิดมาให้ได้ชื่นชมกัน"

และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ "เดือนเพ็ญ"นั้น ถ้าจะลองไปเสาะค้นประวัติของมหากวีผู้รจนาดู จะได้อรรถรสหาน้อยไม่ ยิ่งได้ทราบว่า "เดือนเพ็ญ" ซ่อนความหมายใดไว้บ้าง จะยิ่งตื่นตาตื่นใจกับอัจฉริยลักษณ์แห่งกวี และหากว่า "เดือนเพ็ญ" ยังไม่จุใจแห่งความละมุนละไมและปลุกเร้าหัวใจ เราน่าจะลองหา "ชะนะ…แล้วแม่จ๋า" ซึ่งมีกลิ่นไออยุธเยศ สะท้อนให้เห็นความวิจิตรแห่งชีวิตผู้คนตัวเล็กๆในครอบครัวหนึ่ง เราควรออกเดินทางเพื่อไปลิ้มรส "อีศาน" ซึ่งมีความอลังการในความแห้งแล้งและยากจนนั้น ยิ่งกว่าใด "ความเปลี่ยนแปลง" ยังเหมาะสำหรับผู้ต้องการเห็นประวัติศาสตร์อารยธรรมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง รวมถึงทิพรูปที่ก่อเกิดขึ้นมาจากเปลวไฟแห่งความขัดแย้ง จนมีความงามที่ยิ่งยงตราบจนปัจจุบัน

สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่า ความมหัศจรรย์ ความอบอุ่น หอมละไม ของ บทเพลง "เดือนเพ็ญ" หรือชื่อที่แท้จริงว่า "คิดถึงบ้าน" นั้น คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน(บังเอิญโด่งดัง เพราะน้าหงาและเฮียแอ๊ดนำไปร้องขับกล่อมในยามราตรี) โดยเฉพาะเมื่อมองผ่าน บทกวีที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 บทนั้น พวกเราคงจะเห็นความเจิศจรัสที่คล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย

ขอสดุดดี "นายผี" มหากวีแห่งประชาชาติสยาม มหากวีของพวกเรา<br />



ร่วมคารวะและหวนระลึก โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ bloomsburyman@hotmail.com


Note

บทความนี้ ผมเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกเสียดายที่บทกวีอันยิ่งใหญ่ของมหากวีที่ยิ่งใหญ่ต้องถูกทอดทิ้ง เสียดายแทนคนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้าที่จะไม่ได้ลิ้มรสอันละเมียดละไมของบทกวีอมตะนี้ เฉกเช่นที่เคยได้รับจากบทเพลงเดือนเพ็ญ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเดียวของรสชาติที่มหัศจรรย์ สำหรับข้อเขียนทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นของคนคนหนึ่ง หากมีสิ่งใดผิดพลาดก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง และขอให้ท่านผู้รู้ถือเสียว่า มันเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นหนึ่งเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น

« 4614
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ