บทความ
ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน
ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ความทรงจำมิใช่เป็นเพียงแค่การจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเฉยๆ เท่านั้น หากแต่เป็นการจดจำอดีตที่มีพลังในการอธิบายเชื่อมโยงมาสู่การกระทำ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ คือการเลือกจดจำอดีตบางอย่างเอาไว้ โดยละเลยอดีตอื่นๆ ที่เราคิดว่าไม่สำคัญหรือไม่อยากจำ การเลือกจำหรือไม่จำอะไรย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม ความทรงจำที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันพึงถูกเก็บซ่อนหรือคัดทิ้ง ขณะที่ความทรงจำซึ่งหนุนเสริมโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันย่อมถูกเลือกมาจดจำ ผลิตซ้ำ และเผยแพร่ให้กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม
ใครเป็นวีรบุรุษที่เราควรยกย่อง ใครคือผู้ร้ายที่ต้องสาปแช่งประณาม เหตุการณ์ใดมีค่าควรแก่การจดจำ เหตุการณ์ไหนควรปล่อยทิ้งและลืมเลือน เหล่านี้ล้วนถูกกำหนดจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแต่ละยุคสมัย ซึ่งไม่มีความแน่นอน จริงแท้ และถาวร เป็นแต่เพียงจินตนาการร่วมกันของสังคม ณ ยุคสมัยหนึ่ง เป็นเพียงการเรียงร้อยอดีตที่ขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง และกระจัดกระจาย ให้สามารถรวมกันอยู่ภายใต้ความทรงจำที่มีเอกภาพชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่ถูกคัดทิ้งในยุคสมัยหนึ่งอาจถูกเลือกมาจดจำและผลิตซ้ำในอีกสมัยหนึ่งก็ได้ ในขณะที่ความทรงจำที่เคยถูกจดจำมากในสมัยหนึ่งก็อาจถูกกดทับและลืมเลือนได้เช่นกัน และเมื่อใดก็ตามที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยนแปลงไป ความทรงจำที่เคยถูกกดทับก็พร้อมจะก้าวขึ้นมาประกอบสร้างเป็นความทรงจำร่วม ของสังคมแทนที่ได้เสมอ
อาจกล่าวได้ว่า อำนาจเป็นผู้ผลิตสร้างความทรงจำ และในทางกลับกัน ความทรงจำก็ทำหน้าที่เกื้อหนุนอำนาจให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
เมื่อความทรงจำและอำนาจเป็นเสมือนสองด้านของเหรียญเดียวกันเช่นนี้ พื้นที่แห่งความทรงจำจึงเป็นสนามประลองที่ต้องมีการแย่งชิงต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ใครที่ยึดกุมความทรงจำร่วมของสังคมได้ย่อมเป็นผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจย่อมสถาปนาความทรงจำที่ตนเองได้ประโยชน์ ให้กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม
การต่อสู้แย่งชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนใน ตำราประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ตำราประวัติศาสตร์ก็เป็นเพียงพื้นที่หนึ่งที่มีการต่อสู้แย่งชิงความทรงจำเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง ในทุกปริมณฑลของสังคม ในทุกๆ สิ่งที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ล้วนแล้วแต่เป็นที่บรรจุความทรงจำและเป็นสมรภูมิแย่งชิงความทรงจำทั้งสิ้น
ดังนั้น ในบทความนี้จึงพยายามที่จะศึกษาประเด็นการแย่งชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ และการนิยามความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมในปริมณฑลอื่นที่นอกเหนือจากตำราประวัติศาสตร์ โดยผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านการต่อสู้แย่งชิงความทรงจำบนพื้นที่ถนนราชดำเนิน
สาเหตุที่สนใจถนนราชดำเนิน เป็นเพราะว่าถนนราชดำเนินเป็นถนนประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนานและมีสถานะพิเศษมากกว่าถนนเส้นอื่นๆ ในสังคมไทย
ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ถนนราชดำเนินได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นฉากทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า ทุกตารางนิ้วบนถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงล้วนเต็มไปด้วยความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ซึ่งความทรงจำที่เกิดขึ้นมิได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่อย่างใด แต่กลับเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ขัดแย้งและไม่ลงรอยกัน แต่ละความทรงจำต่างแย่งชิงการนำ และพยายามเบียดขับความทรงจำอื่นให้พ้นออกไปอยู่ตลอดเวลา
หากมองเปรียบเทียบระหว่างถนนราชดำเนินกับตำราประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นวัตถุที่บรรจุความทรงจำร่วมของสังคมเอาไว้ จะพบความแตกต่างในระเบียบวิธีการศึกษา คือ การศึกษาความทรงจำในตำราประวัติศาสตร์จะกระทำผ่านการวิเคราะห์ โครงเรื่อง ที่สื่อสารด้วยภาษาและตัวอักษร ในขณะที่การศึกษาความทรงจำบนพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนนราชดำเนิน จะต้องกระทำผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ตึก อาคาร ถนน ต้นไม้ อนุสาวรีย์ ป้ายโฆษณา ฯลฯ โดยองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเสมือนภาษาในอีกแบบหนึ่ง ที่จะขอเรียกว่าเป็น ภาษาสถาปัตยกรรม
ภาษาสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีไวยากรณ์เฉพาะที่สัมพันธ์กับบริบทในแต่ละยุคสมัย การทำความเข้าใจจะต้องอาศัยการศึกษาและทำความใจในไวยากรณ์ของภาษาดังกล่าวภายใต้บริบทของยุคสมัย ถึงจะสามารถถอดความหมายที่แฝงอยู่ในองค์ประกอบเหล่านั้นออกมาได้
ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การแย่งชิง ความทรงจำ และอำนาจ บนถนนราชดำเนินตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะวนเวียนอยู่แวดล้อมประเด็นปัญหาว่าด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจหลักๆ ในสังคมไทยสามกลุ่ม คือ สถาบันกษัตริย์ รัฐ และ กลุ่มคนชั้นกลางใหม่ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา
การต่อสู้แย่งชิงความทรงจำและอำนาจดังกล่าวทิ้งร่องรอยให้ปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจนจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ถนนราชดำเนิน
รายละเอียดทั้งหมดจะอภิปรายและชี้ให้เห็นในหัวข้อต่อ ๆ ไป1
จากราชดำเนิน สู่ราษฎรเดินนำ 2 : จุดเริ่มการแย่งชิงความทรงจำและอำนาจ
ถนนราชดำเนินประกอบด้วยถนนสามสาย คือราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินนอกถูกตัดขึ้นเป็นสายแรก โดยเป็นถนนถมดินปูอิฐ เริ่มตัดในเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินสู่วังสวนดุสิต3 ใช้เวลาตัดสองปี
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนราชดำเนินกลางต่อในทันที ส่วนถนนราชดำเนินในคงเริ่มสร้างในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
ถนนสามสายถูกเรียกรวมว่า ถนนราชดำเนิน ตลอดแนวถนนพาดผ่านคลองสำคัญสามสาย คือคลองคูเมืองเดิม คลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษม รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการก่อสร้างสะพานสมัยใหม่ด้วยรูปแบบศิลปะตะวันตกขึ้นเพื่อเชื่อมร้อยถนนราชดำเนินทั้งสามให้ต่อเนื่องเป็นสายเดียวกัน คือสะพานผ่านพิภพลีลา ผ่านฟ้าลีลาศ และมัฆวานรังสรรค์
ถนนราชดำเนินคือสัญลักษณ์ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ สยามเก่า คือ พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพื้นที่ สยามใหม่ คือ พระราชวังดุสิตและวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเป็นการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงอุดคติทางการเมืองแบบจักรพรรดิราชมาสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ องค์ประกอบที่แวดล้อมถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นสะพาน พระราชวัง วัง และตำหนัก ที่สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก คือภาพสะท้อนของพระราชอำนาจสมัยใหม่ และศูนย์กลางจักวาลสมัยใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์4
นอกจากนี้ ถนนราชดำเนินยังทำหน้าที่เป็น ฉากแห่งความศิวิไลซ์ ของสยามที่แสดงต่อนานาอารยประเทศ และเป็นรูปธรรมของสัญลักษณ์ในการนำพาประเทศสยามก้าวเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่อย่างชาญฉลาดและทันท่วงที จนสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมไปได้ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้ร่มพระบารมีของรัชกาลที่ ๕ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยมีสัญลักษณ์แห่งความทรงจำที่สำคัญที่สุดคืออนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ปลายสุดของถนนราชดำเนินนอก
แต่นัยเชิงสัญลักษณ์นี้จะเริ่มถูกแย่งชิงความหมายไป ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร
คณะราษฎรพยายามสร้างความทรงจำใหม่ว่าด้วยเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ระหว่าง สยามเก่า กับ สยามใหม่ ขึ้น โดยในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ คือยุค สยามเก่า ที่ล้าหลัง ในขณะที่ช่วงหลังปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา สยามได้ก้าวเข้าสู่ สยามใหม่ ที่ทันสมัย5 ความทรงจำว่าด้วยรัชกาลที่ ๕ นำความศิวิไลซ์มาสู่บ้านเมือง ถูกแทนที่ด้วยความทรงจำว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยคือความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริงของบ้านเมือง เส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ6 สถาปัตยกรรม ภาษา วรรณกรรม การแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบที่ตัดขาดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบจะสิ้นเชิง
ถนนราชดำเนินกลางคือพื้นที่สำคัญที่ถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำใหม่นี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มทำการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ถนนราชดำเนินกลางใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการตัดต้นมะฮอกกานีที่ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลง ทำการขยายถนน สร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม ศูนย์การค้า และที่สำคัญที่สุดคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย7 ซึ่งถูกสร้างขึ้นกลางถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยสัดส่วนความกว้าง ความสูง ตลอดจนรายละเอียดของการออกแบบอนุสาวรีย์ล้วนถอดออกมาจากตัวเลขที่สัมพันธ์กับวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งสิ้น8
อาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลางถูกออกแบบด้วย สถาปัตยกรรมแบบทันสมัย (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบสถาปัตยกรรม Modern Architecture ในยุโรป) ที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากสถาปัตยกรรมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสิ้นเชิง รูปแบบสถาปัตยกรรมมีความเรียบง่ายในรูปแบบและองค์ประกอบ ตัดทิ้งซึ่งลวดลายตกแต่งทางสถาปัตยกรรม ตัดขาดจากฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม สื่อถึงนัยแห่งความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย9 ที่ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มิใช่กษัตริย์อีกต่อไป
ราชดำเนินในยุคนี้ โดยเฉพาะราชดำเนินกลาง ได้ถูกแทนที่ความทรงจำแบบเดิมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งมีสัญลักษณ์คือสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกในแบบต่างๆ และอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า) ด้วยความทรงจำใหม่ของคณะราษฎร (ซึ่งมีสัญลักษณ์คือสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
โครงการที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินในยุคนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจเฉพาะระหว่าง สถาบันกษัตริย์ กับ รัฐ (คณะราษฎร) ที่เพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา เป็นเพียงการแย่งชิงและต่อรองอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ โดยมิได้กระจายไปสู่ประชาชนในวงกว้างแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ของกลุ่มอำนาจสองกลุ่มนี้ดำเนินไปในแบบโครงสร้างอำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
สถาบันกษัตริย์ ดำรงสถานะเป็นเพียงสัญลักษณ์ มิได้มีอำนาจใดๆ แม้แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่สองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานราชการ ภายใต้กำกับดูแลของรัฐโดยเด็ดขาด ผ่านกระทรวงการคลัง10
สถาบันกษัตริย์ ไม่มีพื้นที่ในการแสดงสัญลักษณ์ความเป็นตัวแทนของตนเองออกสู่สาธารณะได้ พระราชพิธีต่างๆ ถูกยกเลิกไปโดยมาก เช่น พิธีโล้ชิงช้า พิธีแรกนาขวัญ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งคงเนื่องมาจากในช่วงเวลานี้ กษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงปฏิเสธได้ยากถึงโครงสร้างอำนาจทางสังคมในยุคนี้ ที่ไม่เปิดที่ทางมากนักแก่ สถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ รัฐ มีความเข้มแข็งมาก สามารถกำหนดนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระ และควบคุมพื้นที่สาธารณะและควบคุมความทรงจำบนพื้นที่สาธารณะได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังจะเห็นได้จากตัวแบบบนถนนราชดำเนินที่ได้ยกมา11
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะนี้ก็คงอยู่เพียงไม่นานคือ เพียงราว ๑๕ ปีเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์สวรรคตอันลึกลับของรัชกาลที่ ๘ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ และการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะราษฎรถูกเบียดขับตกไปจากเวทีแห่งอำนาจ พร้อมๆ กับการรื้อฟื้นกลับมาของพลังอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งหมดได้ส่งผลต่อโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปแบบใหม่ และกระทบต่อการสร้างความทรงจำใหม่ๆ บนถนนราชดำเนินด้วย
ถนนราชดำเนินกับการแย่งชิงความทรงจำว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตย
เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า หลังปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา พลังอนุรักษ์นิยมที่แสดงออกในแนวทางการเมืองแบบ กลุ่มนิยมเจ้า (Royalist) ได้เริ่มเข้ามามีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกับที่อุดมการณ์ของคณะราษฎรได้แตกสลายลงไป
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เจ้านายทั้งหลายได้รับบรรดาศักดิ์คืน และได้รับอนุญาตให้มีบทบาททางการเมืองได้ ในแง่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยสาระสำคัญ ได้มีการถวายพระราชอำนาจแด่กษัตริย์มากขึ้น กษัตริย์มีพระราชอำนาจในทางการเมือง เช่น การแต่งตั้ง ถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเลือก การแต่งตั้งวุฒิสภา เป็นต้น12 แม้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะยังสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งก็ตาม แต่คราวนี้ จอมพล ป. ก็ต้องสลัดทิ้งอุดมการณ์คณะราษฎรออกไปจนเกือบสิ้น และต้องประนีประนอมกับกลุ่มนิยมเจ้าเป็นอย่างมาก
ภายใต้บรรยากาศแบบนิยมเจ้า ความทรงจำของเหตุการณ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕ เริ่มถูกรื้อสร้างความหมายใหม่ โดยกลุ่มปัญญาชนนิยมเจ้าหลายคนที่ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคหลัง ๒๔๙๐ ที่สำคัญได้แก่ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว. เสนีย์ เริ่มนิยามกำเนิดประชาธิปไตยใหม่ อธิบายว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย มิใช่เพิ่งมาเริ่มมีในปี ๒๔๗๕ โดยให้ความเห็นว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงคือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย13 ซึ่งเท่ากับแสดงว่าระบอบประชาธิปไตยมีมาช้านานแล้วตั้งแต่ยุคสุโขทัย
นอกจากนี้ ม.ร.ว. เสนีย์ ยังเป็นบุคคลแรกๆ ที่เริ่มสร้างความทรงจำว่าด้วยรัชกาลที่ ๗ เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย เป็นผู้ที่ริเริ่มจะให้สยามได้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และกำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไทยเป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรด้วยซ้ำ14 อันจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความทรงจำว่าด้วย การชิงสุกก่อนห่าม ของคณะราษฎรในเวลาต่อมา
การแย่งชิงความทรงจำว่าด้วยกำเนิดรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ในมิติของความพยายามสร้างความทรงจำบนถนนราชดำเนินได้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประชุมและมีมติให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ ขึ้น โดยให้ทำการรื้อป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลง และนำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ ที่มีขนาดใหญ่สามเท่าตัวคนไปตั้งแทน โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า พานรัฐธรรมนูญเป็นเพียงสิ่งของเท่านั้น ทำไมจึงไม่นำพระบรมรูปไปตั้งแทน เพราะเหมาะสมกว่าในแง่ที่เป็นการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง15
เห็นได้ชัดถึงความพยายามในการลบความทรงจำว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรลง และแทนที่ด้วยความทรงจำว่าด้วยกำเนิดประชาธิปไตยโดยการพระราชทานของรัชกาลที่ ๗ ลงไปบนพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้จะประนีประนอมกับฝ่ายนิยมเจ้ามากเพียงใด ก็ยังไม่ยอมให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
ความสำเร็จในแง่วัตถุสัญลักษณ์ของความทรงจำบนถนนราชดำเนินว่าด้วย ประชาธิปไตยอันเกิดจากการพระราชทานนั้นจะมาเกิดขึ้นจริงภายหลัง แต่มิได้เกิดขึ้นบนพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยตรง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ มีการสร้างอาคารรัฐสภาบนถนนอู่ทองใน ปลายสุดของถนนราชดำเนินนอก ทางด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้มีการตั้งอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ ขึ้นไว้หน้าอาคารรัฐสภา แสดงถึงนัยของการสร้างความทรงจำว่าด้วยกษัตริย์ประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจนยิ่ง
การสร้างความทรงจำของสถาบันกษัตริย์บนถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่อง
นอกจากอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ แล้ว บนพื้นที่หน้าอาคารกระทรวงยุติธรรมที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อเป็นอาคารที่ระลึกในการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชสมบูรณ์ (เอกราชทางการศาล) ก็มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ภายใต้ความทรงจำ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำชุด พระบิดา ในสาขาวิชาต่างๆ อันเป็นอนุสาวรีย์ชุดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นนับตั้งแต่หลังปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา16 นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งในหลายๆ ประการของกระแส นิยมเจ้า ที่เพิ่มสูงขึ้นในยุคนั้น อนุสาวรีย์ชุดดังกล่าวได้สร้างอำนาจและพลังในการอธิบายที่สำคัญยิ่งต่อสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นพลังแห่งความทรงจำใหม่ที่อธิบายความเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ทุกสาขาวิชาชีพภายใต้ร่มพระอัจฉริยภาพของเจ้านายเชื้อพระวงศ์
ในพื้นที่สองฟากฝั่งถนนราชดำเนินนอก ยุคหลัง พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้เกิดการสร้างอาคารที่ทำการกระทรวง ตลอดจนสถานที่ราชการอื่นๆ อีกหลายหลังขึ้น อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๔๙๗ (สนามเสือป่า) ศาลาสันติธรรม พ.ศ. ๒๔๙๖ (เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ - ปัจจุบันรื้อลงแล้ว) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นต้น
กลุ่มอาคารเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ภายใต้นโยบายชาตินิยมทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงครามในยุคหลังปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งกระแสความคิดได้หวนทวนย้อนกลับมาสู่แนวทางที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น สอดคล้องเป็นอย่างดีกับแนวคิดของ กลุ่มนิยมเจ้า ที่สร้างความทรงจำว่าด้วย ความเป็นไทย ที่ต้องยึดโยงสัมพันธ์กับความเป็นไทยแบบจารีตโบราณอย่างแนบแน่น มิใช่ความเป็นไทยใหม่แบบที่ยุคคณะราษฎรเคยกระทำไว้ให้แก่สถาปัตยกรรมสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลางในทศวรรษที่ ๒๔๘๐
ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งหมดบนถนนราชดำเนินในทศวรรษที่ ๒๔๙๐ นี้ เป็นภาพสะท้อนของการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของ สถาบันกษัตริย์ ในสังคมไทย ที่แสดงออกผ่านโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรบนถนนราชดำเนินแทบจะเลือนหายไปหมดสิ้น
รัฐ ในช่วงเวลานี้ จำเป็นต้องประนีประนอมกับพระราชอำนาจมากขึ้น ขณะที่ สถาบันกษัตริย์ เริ่มปรากฏที่ทางในการแสดงพระองค์สู่สาธารณะมากขึ้น และสร้างความทรงจำลงบนที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ชุด พระบิดา ต่างๆ การสร้างความทรงจำว่าด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยโดยรัชกาลที่ ๗ ผ่านการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์หน้าอาคารรัฐสภา หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่อิงอาศัยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีต ซึ่งเป็นนัยของรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมที่แวดล้อม สถาบันกษัตริย์ หรือชนชั้นสูงมาแต่เดิม
รูปธรรมที่สำคัญอีกประการซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของ สถาบันกษัตริย์ ที่เพิ่มขึ้น คือการถือกำเนิดของ โครงการพระราชดำริ ที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔17 ในขณะที่อำนาจของ รัฐ กลับมีทิศทางที่สวนกัน คืออำนาจเริ่มจะลดน้อยลง
กรณีตัวอย่างบนถนนราชดำเนินที่สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์นี้ได้ดีคือ การออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ที่ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายสถานะเป็นองค์กรอิสระอยู่นอกเหนือรัฐ การดูแลบริหารจัดการเกิดขึ้นจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยตรงจากกษัตริย์ ซึ่งผลจากพระราชบัญญัตินี้ได้ทำให้พื้นที่สองฟากฝั่งถนนราชดำเนินในหลายๆ ส่วนกลายมาอยู่ภายใต้องค์กรในพระราชอำนาจโดยตรง18
หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จนข้ามมาถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ในช่วงระยะเวลาราว ๑๕ ปีนี้ ถือได้ว่าอำนาจ รัฐ ได้ตกมาอยู่ในกลุ่มทหาร รัฐไทยมีลักษณะเผด็จการที่ขาดความชอบธรรม แต่ได้อาศัยอ้างอิงความชอบธรรมด้วยการแสดงบทบาทสนับสนุนการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของ สถาบันกษัตริย์ ให้เพิ่มสูงขึ้น19 สถาบันกษัตริย์ได้เริ่มกลายมาเป็นแกนกลางแห่งความเป็นชาติไทย เริ่มกลายเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่สุดแห่งความเป็นชาติ
ในยุคนี้ พื้นที่สาธารณะต่างๆ จะถูกจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น อำนาจ รัฐ แม้ว่าจะเข้มแข็ง แต่ต้องอิงอาศัยกับพระราชอำนาจเป็นสำคัญ มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยกเลิกไปในปี ๒๔๗๕ ให้กลับมามีบทบาทและที่ทางในสังคมอีกครั้ง20
นอกจากรื้อฟื้นพระราชพิธีเก่าแล้ว ยังมีการสร้างพระราชพิธีใหม่ด้วย ที่สำคัญในช่วงเวลานี้คือพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นพระราชพิธีพิเศษเฉพาะในรัชกาลปัจจุบัน มีการสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติและประดับประดาไฟตามถนนหนทาง โดยเฉพาะถนนราชดำเนิน ที่สำคัญคือมีการรื้อฟื้นการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ซึ่งที่ผ่านมาจะกระทำเฉพาะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น แต่เนื่องจากในรัชกาลปัจจุบันมิได้ทรงกระทำเมื่อคราวบรมราชาภิเษก รัฐบาลจึงจัดให้มีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น ประเพณีประดิษฐ์ใหม่ เฉพาะในรัชกาล
กระบวนเสด็จในการเสด็จเลียบพระนครยาตราออกจากพระบรมมหาราชวังไปตามถนนหน้าพระลาน เข้าถนนราชดำเนิน ถนนพระสุเมรุ ไปยังวัดบวรนิเวศ ประกอบพิธีในพระอุโบสถ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระบรมมหาราชวัง21
พระราชพิธีดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกครั้งในการสร้างความทรงจำร่วมทางสังคมที่ สถาบันกษัตริย์ ได้เริ่มก้าวเข้ามาเป็นศูนย์กลางจิตใจของคนไทยทั้งชาติอย่างจริงจัง โดยมีฉากที่สำคัญคือถนนราชดำเนิน
การแบ่งส่วนความทรงจำของคนชั้นกลางบนถนนราชดำเนิน
ผลกระทบที่สำคัญอีกด้านของสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ที่สืบเนื่องมายังสมัยจอมพลถนอมคือ สังคมไทยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในทางเศรษฐกิจ เกิดสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศมากมาย เกิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคขึ้นหลายแห่ง เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้การกำกับของรัฐ ฯลฯ
ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิด กลุ่มคนชั้นกลางใหม่ ในปริมาณที่สูงขึ้น22 คนชั้นกลางใหม่เหล่านี้เริ่มไม่พอใจต่อรัฐบาลเผด็จการทหารที่รวบอำนาจเอาไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว กลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจมากขึ้น ต้องการการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญ
ความไม่พอใจต่อระบบเผด็จการทหารได้ขยายตัวจนนำไปสู่การรวมพลังกันเป็นมหาชนขนาดใหญ่ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งอาจถือว่าเป็นปฏิวัติของคนชั้นกลางใหม่ เพื่อขับไล่เผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน
ผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ คือการก้าวเข้ามามีส่วนแบ่งในโครงสร้างอำนาจของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ และจากการที่ถนนราชดำเนินได้กลายเป็นเวทีในการแสดงพลังที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมครั้งสำคัญของกลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ ได้ทำให้ถนนราชดำเนินถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ต่อรอง และเรียกร้องความต้องการต่างๆ ของกลุ่มคนชั้นกลางใหม่ ในความหมายของการเป็น ถนนประชาธิปไตย
นอกจากนั้น ภาพมหาชนที่คราคร่ำเต็มถนนราชดำเนินและรายล้อมอยู่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ทำให้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ก่อนหน้านี้มีความเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงชื่อ ได้กลายความหมายมาเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง23
ด้วยเหตุนี้ ถนนราชดำเนินหลัง ๑๔ ตุลาฯ จึงมิได้บรรจุเพียงความทรงจำที่สะท้อนอำนาจเฉพาะของ สถาบันกษัตริย์ และ รัฐ เพียงเท่านั้น แต่ได้เพิ่มความทรงจำว่าด้วยการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชน (คนชั้นกลาง) เอาไว้ด้วย การผลักดันของพลังนักศึกษาปัญญาชนให้ทำการก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗24 คือสิ่งที่ยืนยันถึงอำนาจของคนชั้นกลางที่อยากจะขอร่วมแบ่งพื้นที่แห่งความทรงจำบนถนนราชดำเนินแห่งนี้
แต่ภายหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ทารุณโหดร้ายอย่างยิ่งกลางท้องสนามหลวงและในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ได้ทำให้เกิดรอยแยกทางความทรงจำที่ยังไม่อาจหาจุดบรรจบได้ระหว่างสถาบันกษัตริย์ รัฐ และนักศึกษาปัญญาชน (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของคนชั้นกลางในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ) จนส่งผลทำให้โครงการอนุสรณ์สถานฯ ถูกระงับไป25
โครงการก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่อย่างจริงจังอีกครั้ง หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนชั้นกลางได้แสดงพลังเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กระแสเรียกร้องเพื่อที่จะให้มีการบรรจุความทรงจำของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และพฤษภาทมิฬลงไปบนถนนราชดำเนินก็เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ในที่สุด อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ก็ทำก่อสร้างแล้วเสร็จ บนพื้นที่หัวมุมของสี่แยกคอกวัว ริมถนนราชดำเนินกลาง ได้มีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔26
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่การออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว คงต้องกล่าวว่า อนุสรณ์สถานแห่งนี้ออกแบบโดยยังไม่สามารถที่จะบรรจุความทรงจำที่แสดงออกถึงพลังของมหาชนที่ร่วมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้ดีเพียงพอ ส่วนที่เป็นจุดเน้นสำคัญที่สุดของอนุสรณ์สถานคือสถูปวีรชน ซึ่งแสดงถึงนัยของการระลึกถึงต่อผู้เสียชีวิตในรูปแบบของสถูปเจดีย์ แน่นอนว่าเป็นการให้เกียรติต่อวีรชนที่เสียชีวิตไป แต่ข้อด้อยที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนของการเลือกใช้สัญลักษณ์สถูปเจดีย์คือ การหายไปของพลังมวลชนอันยิ่งใหญ่หลายแสนคนที่มารวมตัวกันบนถนนราชดำเนิน ด้วยเป้าหมายในการต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เพราะสถูปเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ที่อิงอยู่กับคติทางพุทธศาสนา ทำให้เมื่อเรามองดูสถูปเจดีย์จึงมักเกิดความรู้สึกไปในทางสงบนิ่งและปล่อยว่าง มากกว่าที่จะรู้สึกถึงพลังอันเร่าร้อนและรุนแรงของมหาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับเผด็จการ
แม้ว่าคนชั้นกลางจะสามารถพลักดันให้เกิดกระแสสังคมในการบรรจุความทรงจำของตนเองลงบนถนนราชดำเนินได้ และสามารถสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นกลางได้มากขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา แต่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็ได้ละเลยในการบรรจุความทรงจำที่สำคัญที่สุดลงไปคือ พลังอันยิ่งใหญ่ของมหาชนและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่เร่าร้อนของคนรุ่นหนุ่มสาวบนถนนราชดำเนินในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
สาเหตุประการหนึ่ง (ที่สำคัญที่สุดในทัศนะผู้เขียน) ซึ่งทำให้ความทรงจำที่สำคัญนี้หายไปจาก อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา คือ ชัยชนะของมวลชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการอธิบายภายใต้ความทรงจำอีกชุดหนึ่ง ที่ดูเสมือนว่ากำลังแย่งชิงความทรงจำหลักของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ไปแล้วคือความทรงจำเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในการยุติการนองเลือดในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา
ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย : ชัยชนะของสถาบันกษัตริย์บนถนนราชดำเนิน
สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดต่อกระบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนชั้นกลางใหม่ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ คือในการต่อสู้กับเผด็จการทหารที่ยึดครองอำนาจรัฐ กลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้กลับเลือกใช้สัญลักษณ์ของ สถาบันกษัตริย์ มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้ไม่เพียงแต่รัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้นที่อาศัยอ้างอิงความชอบธรรมจาก สถาบันกษัตริย์ แต่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนคนชั้นกลางที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในการยก สถาบันกษัตริย์ ให้สูงเด่นมากยิ่งขึ้น
การยกพระราชดำรัสเฉพาะบางตอนในกรณีสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเคร