บทความ
บันทึก 100 วัน (2)
26 มีนาคม 2551 พี่เจี๊ยบโทรหาตั้งแต่เช้า ถามยืนยันเรื่องการประชุมของมูลนิธิโคกที่ไม่แน่ใจว่านัดหมายที่ใด ระหว่างวัดคลองแหกับหาดทิพย์ สรุปว่าไม่แน่ใจ เพราะว่าผมเองไม่ได้ถามให้ละเอียด เนื่องจากวันนี้ไม่ว่าง ต้องลงไปตำบลปริกทำแผนตำบล
งานสร้างฝายดักขยะของคลองแหกำลังรุดไปข้างหน้า วันนี้ได้แบบร่าง อีกไม่ช้าคงจะได้ลงมือทำ
คิดไปก็แปลกดี ที่อื่นเขาทำฝายชะลอน้ำ แต่ที่คลองแหกำลังจะทำฝายดักขยะ(ฝายที่ 3แล้ว ฝาย1 และฝาย 2 พังทลายไปหมดแล้ว ด้วยเหตุที่พ่ายแรงน้ำและขยะในหน้าน้ำหลาก คราวนี้เรากำลังจะทำฝายน้ำล้นถาวร)
มาถึงสถานีอนามัยปริก สายนิดหน่อย ปรากฏว่าชุมชนมากันพร้อมหน้า พวกเขาเตรียมนำเสนอผลการดูงาน ผมให้พวกเขานำเสนอด้วย powerpointเผื่อว่าคนอื่นที่ไม่ได้ไปดูงานมาจะได้ร่วมเรียนรู้ และผลที่ออกมาก็น่าชื่นใจไม่น้อยที่การดูงานใน 3 จุดระหว่างการทำแผน ได้ผลคืบหน้าไปมาก
รองนายกฯอบต.นำเสนอด้วยตัวเอง เล่าประสบการณ์ดูงานการทำฝายชะลอน้ำที่ป่าต้นน้ำบาโรยหรือผาดำ
ส่วนเหตุผลที่ต้องไปดูงานนั้น มาจากว่าตำบลปริกกำลังประสบปัญหาหนักอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ปัญหาน้ำ(ทั้งขาดแคลนน้ำ น้ำผิวดินแห้งขอด น้ำเสียจากโรงงาน) ปัญหายาเสพติดในชุมชน และปัญหาความแตกแยกทางการเมือง
ระหว่างการทำแผนตำบล เราตกลงกันว่าแผนนี้จะเน้นหนักไปยังปัญหาที่มีในตำบล และมุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ช่วงวิเคราะห์แผน เราได้ความคิดร่วมกันว่า อยากจะไปดูงานการทำฝายน้ำล้นซึ่งเป็นฝายเพื่อชะลอน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำผิวดิน ชาวบ้านจะได้อาศัยน้ำในบ่อที่แห้งขอดอุปโภคบริโภค กับแผนที่จะสร้างโรงน้ำชุมชน ทั้งสองกิจกรรมนี้เพื่อให้การทำแผนเป็นไปอย่างราบรื่น และยืนอยู่บนความเป็นจริง จึงตัดสินใจพากันไปดูงาน
การทำฝายน้ำล้น หรือฝายชะลอน้ำ เราไปดูกันที่ป่าต้นน้ำบาโรย ณ หน่วยจัดการต้นน้ำคลองอู่ตะเภา และหมู่ที่ 10 ที่มีการทำฝายนำร่องไปแล้ว
โรงน้ำชุมชนนั้นไปดูที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ
ผมนั้นไม่ได้ไปดูงานกับพวกเขาด้วย จึงนั่งฟังรองนายกนำเสนอ...ก็ได้ความรู้ดี
ฝายก็คือ สิ่งก่อสร้างขวางหรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
วัตถุประสงค์ในการสร้างฝาย
1.เพื่อชะลอการไหลและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำธาร
2. เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดการชะล้างพังทลายของดิน
3. เพื่อกักเก็บน้ำไว้เป็นแหล่งน้ำ
ข้อคำนึงในการสร้างฝาย
1. ควรสำรวจสภาพพื้นที่ วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติ
2. ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอที่จะไม่เกิดการพังทลาย
3. ควรก่อสร้างในบริเวณลำห้วยที่มีความลาดชันต่ำและแคบ
4.สำหรับฝายกึ่งถาวรและฝายถาวร ควรก่อสร้างฐานให้ลึกถึงหินดานร่องห้วย
5.วัสดุก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร ประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ควรนำวัสดุธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณต้นน้ำมาใช้ให้มากที่สุด ไม่ควรใช้กระสอบทราย
6.จัดลำดับความสำคัญของลำห้วย และต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมและความรุนแรงของปัญหาในพื้นที่เป็นสำคัญ
ประเภทของฝาย
1. ฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน
เป็นฝายที่สร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อขวางทางเดินของน้ำในลำธาร หรือร่องน้ำ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วด้วยวัสดุที่หาง่ายและราคาถูก โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องที่นั้น ได้แก่ กิ่งไม้ ใบไม้ เสาไม้ ก้อนหิน กระสอบทรายผสมซีเมนต์ หรือลวดตาข่าย หรือวัสดุที่คล้ายคลึงกัน
2.ฝายต้นน้ำลำธารแบบกึ่งถาวร
เป็นฝายที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือ ก่ออิฐถือปูน ราคาประมาณ 25,000 บาท จุดที่จะสร้างฝาย ควรสร้างบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลำธารหรือร่องน้ำ (second order) ที่กว้างไม่เกิน 3 เมตร ฝายชนิดนี้จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำได้ในช่วงฤดูแล้ง
3. ฝายต้นน้ำลำธารแบบถาวร เป็นฝายที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือ ก่ออิฐถือปูน ราคาประมาณ 50,000 บาท จุดที่จะสร้างฝาย ควรสร้างบริเวณตอนปลายของลำธารหรือร่องน้ำ (second or third order) ที่กว้างไม่เกิน 5 เมตร ฝายชนิดนี้จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี สามารถอำนวยประโยชน์เป็นแหล่งน้ำของชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่น่าดีใจก็คือ ชุมชนหมู่ 10 ที่ไปดูงานด้วยนั้นตื่นตัวเป็นอย่างมาก พวกเขารวมตัวกับกลุ่มเยาวชน นัดหมายกันทุกสัปดาห์ ช่วยกันทำฝายในหมู่บ้าน ที่ผ่านมาได้ช่วยกันทำไปแล้ว 2 จุด
ขณะที่หน่วยจัดการต้นน้ำ เมื่อเห็นความตื่นตัวของชุมชนก็ออกปากช่วยเหลือสนับสนุนการทำฝายให้อีก 10-20 จุด โดยให้ชุมชนเขียนโครงการเสนอมา
ได้ยินเช่นนี้แล้ว เรารีบเดินหน้าต่อ ชาวบ้านที่นี่(และรวมถึงทีอื่นๆ)ประสบปัญหาเดียวกันคือขาดความเชื่อมั่นในการทำงานพัฒนา การทำแผนก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ได้แต่ทำแล้วก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฎิบัติ เราจึงพร้อมใจกันที่จะสร้างรูปธรรมของการปฎิบัติควบคู่กับการทำแผน ซึ่งก็เป็นวิธีการอีกแบบหนึ่งที่ผมเองก็ไม่เคยทำมาก่อน แต่มาทดลองใช้ที่นี่
เรานัดหมายกับแกนนำหมู่ที่ 10 ในการสำรวจจุดทำฝายทั้งตำบล ตั้งใจที่จะให้หมู่ 10 เป็นแกนนำร่วมกับหมู่อื่นๆที่เหลือ สำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐานเอาไว้รองรับงบจากหน่วยงาน...อย่างน้อยก็ 3 แห่ง ได้แก่ อบต. หน่วยจัดการต้นน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ
ส่วนโรงน้ำชุมชนนั้น ต้องรีบผลักดันให้ชุมชนหรือผู้นำของบ SML ที่รัฐบาลเพิ่งจะมีมติครม.ออกมาเมื่อวานนี้ (เท่ากับว่าโครงการอยู่ดีมีสุขก็มีอันสิ้นสุดลงไปโดยปริยาย)
ตำบลปริกก็ไม่ต่างจากอีกหลายพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาการทำประชาคม บางหมู่ไม่เคยมี บางหมู่ความเห็นก็แตกต่าง งบได้มาก็ถูกแบ่งเป็นส่วนๆ ไม่สามารถนำมาทำโครงการที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันได้ การจะทำโรงน้ำชุมชน จำเป็นต้องได้รับความเห็นร่วมทั้งหมู่บ้านซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ประสบการณ์จากการไปดูงานที่ตำบลควนรู ทำให้แกนนำที่นี่เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าทำได้ ภายใต้งบประมาณที่มีไม่มากนักนี่แหละ
แกนนำบางคนบอกว่า จุดที่ยากที่สุดคือพลิกความคิดของชาวบ้าน จากที่เคยพึ่งพิงภาครัฐให้หันมาพึ่งตนเอง เมื่อเปรียบกับควนรูแล้ว ตำบลปริกยังต้องวางรากฐานของความร่วมมือภายในชุมชนอีกสักระยะ
ในที่สุดเราก็ได้ความเห็นร่วมว่า การทำฝายนี่แหละ สามารถเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือของชุมชนได้ อาศัยรูปธรรมของการสร้างฝายนี่แหละ ผลักดันให้เกิดเรื่องดีๆอย่างอื่นตามมาอย่างเช่น สภาผู้นำที่ผนวกรวมระหว่างผู้นำธรรมชาติและผู้นำทางการ มาร่วมกันแก้ปัญหาของชุมชน หรือการอนุรักษ์ป่าชุมชน ที่เราคิดว่าน่าจะเป็นอีกกิจกรรมสานสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน
ผมพยายามซักว่าป่าชุมชนที่นี่มีความหลากหลายทางพันธุ์ไม้ พันธุ์พืชอะไรบ้าง ก็พบว่ามีมาก สัตว์ที่เด่นๆก็มี ค้างคาวไม้ไผ่ที่สามารถรวมกลุ่มอนุรักษ์ได้
นึกถึงสภาพของลำคลองที่ไหลนับเนื่องมาแต่ต้นน้ำ-ป่าผาดำ ไหลเรื่อยลงมาถึงตำบลปริก และต่อเนื่องมาถึงหาดใหญ่ ไปลงคูเต่า น้ำจากคลองแหส่วนหนึ่งก็ไหลมาสมทบกันที่วัดนารังนก ว่าไปแล้ว สายน้ำก็เป็นจุดกลางเชื่อมโยงพวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน คนของตำบลปริก คนของคลองแห พวกเราล้วนสัมพันธ์กับน้ำสายนี้
ขากลับนิติกรของอบต.ขอติดรถมาด้วย ปรากฏว่าเขาพักอยู่ที่คูเต่า ซึ่งเป็นจุดปลายน้ำ รองรับสิ่งละอันพันละน้อยจากต้นน้ำ กลางน้ำ ไปรวมตัวอยู่ที่นั่น ก่อนไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา
วันนี้สายน้ำได้ดลใจให้เราได้พบเจอกัน ได้ร่วมกันคิดค้นแนวทางที่จะแก้ปัญหาของเรา ไม่ว่าจะอยู่แห่งใด ไม่ว่าจะเป็นใคร ปัญหาอาจเป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และเหนืออื่นใด ปัญหาทำให้เราได้เรียนรู้ ขอเพียงแต่เราเปิดใจ พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ แหวกกรอบความเคยชินที่ปิดล้อมเราไว้ในโลกแคบ
ทำไปเรียนรู้ไป.