บทความ
บันทึก 100 วัน (5)
4 เมษายน 2551
เดินทางมาถึงอบต.ปริก โทรถามทางแกนนำของหมู่ 10 ถึงทางไปสำนักสงฆ์ควนเสม็ด ผมขับรถย้อนเส้นทางขามา ไปเลี้ยวขวาตรงสำนักงานที่ดิน บึ่งรถเข้าไปในซอยอีกกว่า 10 กม.ก็ถึงที่หมาย
พวกเขารอผมอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ที่นี่เป็นสำนักสงฆ์อยู่บนเนินสูง แลเห็นตัวพระเจดีย์เด่นสง่าแต่ไกล รอบข้างแวดล้อมไปด้วยป่ายางและเขาสูงของป่าต้นน้ำ ด้านซ้ายต่ำลงไปจากศาลามีสระบัวขนาดใหญ่ ดึงดูดสายตาใครต่อใคร
เข้าไปในโรงฉัน แนะนำตัวกันครู่หนึ่ง ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่อยู่ในหมู่ที่ 10 ทุกคนรวมตัวกัน ช่วยกันทำฝายให้กับหมู่บ้าน
ตั้งวงคุยกันถึงที่มาของกลุ่มซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไร
"เมียเราเรียกกันเล่นๆว่าพวกคนอยู่วัด" แกนนำกลุ่มหัวเราะ เขาบอกว่าทุกคนต่างอาชีพแต่ก็มาทำงานให้วัด อาศัยวัดเป็นที่พบปะชุมนุมกัน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าน่าจะรวมตัวกันทำอะไรสักอย่างเพื่อประโยชน์ของชุมชน
"ผมเห็นตัวอย่างจากที่อื่น พอมาดูที่หมู่บ้านยังไม่เห็นมีกลุ่มไหนทำงานให้กับชุมชน" เขาเท้าความ ย้อนไปถึงวันแรกๆที่เริ่มเกิดความคิด รวมตัวกันเป็นกลุ่ม...เริ่มจากแก้ปัญหาเรื่องน้ำ
น้ำในวัดและในหมู่บ้านขาดแคลน พวกเขาจึงนัดกันทุกวันเสาร์ วันอาทิตย์ชักชวนกันไปลงพื้นที่ ช่วยกันทำฝาย
"อาศัยเงินส่วนตัว ไม่มีใครมาสนับสนุน ใครๆก็หาว่าเราบ้ากันทั้งนั้นแหละ" ประธานกลุ่มว่า
ทว่ากิจกรรมแรกที่พวกเขาทำก็คือ ช่วยวัดระดมทุนจัดสร้างโรงเรือนเก็บเรือพระที่จอดตากแดดตากลมอยู่ในวัด
จากสมาชิกรุ่นก่อตัวประมาณ 10 คน ตอนนนี้เริ่มมีเพื่อนเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 คนแล้ว
"เราช่วยกันทำฝาย ย้ายพื้นที่ ทำไปหาเพื่อนไป สร้างกระแส จะได้มีคนมาช่วยกันมากๆ "
แลกเปลี่ยนความเห็นกันพักใหญ่ เรามาช่วยกันทำให้กลุ่มหรือชมรมมีความชัดเจนมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เป้าหมาย...ช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอ จนได้ออกมาว่า
ต้องการพัฒนาหมู่บ้านในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สร้างสำนึกให้กับสมาชิกให้มีความรัก ความสามัคคี สามารถพึ่งตนเองได้ ร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำดื่มน้ำใช้ ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรม และร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชน
พวกเขาปวารณาตัวเองว่าต้องการเป็นอาสาสมัครของหมู่บ้าน ร่วมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณสถาน สาธารณะประโยชน์ในด้านต่างๆของชุมชน
มาถึงชื่อ...เสนอกันมาหลายชื่อ เมื่อคำนึงถึงที่มา-จากในวัด พระรูปหนึ่งเดินเข้ามา ทุกคนเลยขอช่วยให้ตั้งชื่อ ท่านว่าขอให้มีคำว่าแสงธรรม
ผู้หญิงคนหนึ่งเสนอว่า กลุ่มมดงาน
อบต.คนหนึ่งเสนอว่า คนรักษ์ควนเสม็ด
รวมกันไปรวมกันมา สุดท้ายได้ชื่อว่าชมรมธรรมรักษ์บ้านควนเสม็ด รวมคำรวมความหมายที่ต้องการครบครันเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
เราคุยกันถึงกิจกรรมที่จะทำต่อไป ในช่วงแรกจะเน้นหนักการทำฝายเพราะว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเป็นกิจกรรมที่สนุก ผ่อนคลายการทำงานสวนยาง ช่วงนี้พักงานจากการกรีดยาง มีเวลาได้ทำงานอย่างอื่น
"ผมมาทำนี่ก็เพราะสนุก ความจริงไอ้การทำฝายนี่ จ้างเขาทำก็ได้ แต่ผมเห็นว่าพวกเราทำกันจริงก็เลยมาช่วย" สมาชิกคนหนึ่งเล่า
ผมฝากให้ทีมงานช่วยสำรวจสายคลองและดูจุดที่จะทำฝายว่ามีสักกี่จุด จุดไหนบ้างที่สามารถทำฝายถาวรได้ ทำแผนที่และกำหนดจุดเอาไว้ ต่อไปเผื่อมีงบประมาณลงมา ชุมชนจะสามารถดำเนินการได้ทันที
เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ฝาย คำนวณจากพื้นที่แล้วสามารถทำฝายแม้วได้ถึง 1000 ลูก
ร่วมคิด พัฒนา สามัคคี คุณธรรมนำชุมชน คือคำขวัญของชมรม
ได้เห็นความตั้งใจของคนหนุ่มในชุมชน นึกไปถึงอีกหลายๆพื้นที่ หากมีคนเช่นนี้ อนาคตของหมู่บ้านคงเต็มไปด้วยความหวัง ทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มพวกเขาเข้มแข็งมากขึ้น เดินไปอย่างตลอดรอดฝั่ง
ช่วยกันวางระบบการทำงาน ระบบการเงิน ผมเชื่อมโยงงานของพวกเขากับเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา ชี้ให้เห็นว่าการทำงานเช่นนี้ เรายังมีเครือข่ายที่พร้อมจะมาให้ความช่วยเหลือ
ผมนึกไปถึงงบจากมูลนิธิโคคาโคลา ซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนชุมชนได้ คิดไปก่อนว่าปีหน้าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราคงได้หนุนช่วยตำบลแห่งนี้