บทความ
บันทึก 100 วัน (6)
8 เมษายน 2551
พี่เหมียว-อัจจิมา นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะไปหาผู้บริหารโรงเรียนมหาวชิราวุธ เรานัดพบกันก่อนที่สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง ผมเข้าใจผิด เดินไปหน้าห้องของรองสาคร ทองมุณี ตำรวจหน้าห้องบอกว่าสงสัยจะมาผิดที่
พี่เหมียวเป็นแกนนำรับผิดชอบกิจกรรมลดอุบัติเหตุ ปกติทำงานเป็นนักวิชาการที่สสจ. ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัย รวมไปถึงงานด้านความมั่นคงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ผมโทรหาพี่เหมียวทันทีที่ได้ยินเสียงรองสาครจากสถานีวิทยุที่มีการรายงานสดสถานการณ์การนับคะแนน การเลือกตั้งผู้บริหารเทศบาลนครหาดใหญ่ ทำท่าว่าจะมีการก่อม็อบยืดยาว รองสาครเข้ามาควบคุมสถานการณ์
"ผมมาในฐานะประชาชนคนหาดใหญ่ ไม่ใช่ตำรวจ ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ขอให้ส่งตัวแทนเข้ามาคุยกัน..." ผมพยายามเงี่ยหูฟังจับใจความได้สั้นๆ งานนี้ท่าทางจะยืดเยื้อ ผมคิด
รองสาคร เป็นอีกคนที่เข้ามาช่วยงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุของจังหวัด ในฐานะที่ตำรวจเป็นฝ่ายดูแลตรวจจับ ใช้มาตรการทางกฏหมายในการควบคุมป้องกันการจราจรและการเกิดอุบัติเหตุ สงกรานต์ ปีใหม่ทีไร ตำรวจจะต้องวุ่นวายกับการตั้งด่านลอยตรวจจับ ดูแลประชาชนให้มีการสวมหมวกกันน็อค รณรงค์ไม่ให้มีการขับขี่ขณะเมาสุรา เหล่านี้เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่ร่วมกันทำ
ผมไปถึงพี่เหมียว เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและสารวัตรนั่งรออยู่แล้ว เราแนะนำตัวกันสั้นๆ พวกเขากำลังคุยค้างเรื่องของการส่งลูกเข้าเรียนต่อมัธยม มีโรงเรียนชื่อดังบางแห่งเรียกค่าแปะเจียะร่วมแสนบาท
พี่เหมียวมีลูกสามคน คนอื่นผมไม่ทราบ นึกถึงไอ้ตัวเล็ก อีกหน่อยผมคงไม่ต่างจากพวกเขา เอาไว้ถึงเวลาค่อยว่ากัน
เราเดินทางมาถึงโรงเรียนมหาวชิราวุธ เพิ่งรู้ว่าคณะของเราส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่า มว. ผมนั้นเด็กหาดใหญ่ จบ ญว. ยังไม่เคยเข้ามา เราเข้าไปข้างใน อ.จุฑารัตน์ รำลึกความหลังกับพี่เหมียวอยู่พักใหญ่
ได้เห็นบรรยากาศ รูปทรงตัวอาคาร ที่มีกลิ่นอายสถานที่อันเกาขรึมขลัง ขณะเดียวกันก็มีความเป็นสถาบันการศึกษาสั่งสมชื่อเสียงมายาวนาน มีเยาวชนผ่านการเรียนรู้และก้าวออกไปจากสถานที่แห่งนี่นับหมื่นๆคน เพื่อนๆของผมก็มีหลายคนที่เป็นศิษย์เก่าที่นี่ อย่างถนอม ขุนเพชร ภาณุมาศ นนทพันธ์ มนตรี ศรียงค์
รองผู้อำนวยการรออยู่แล้ว เราเข้าไปคุยกันที่ห้องสมุดโรงเรียน มีกลุ่มเยาวชนที่เป็นประธานนักเรียนฝ่ายต่างๆเข้าร่วมด้วย น้องนิวเป็นทั้งประธาน และสนใจจัดรายการวิทยุ ช่วงหัวค่ำยังไปจัดรายการที่วิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง ท่าทางคล่องแคล่ว ฝากความหวังได้
หลังการพูดคุย เราได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะมาพัฒนาโมเดลการป้องกันและลดอุบัติเหตในหมู่นักเรียนของ 2 โรงเรียนใหญ่ ได้แก่ มหาวชิราวุธและวิเชียรชม
มีหลายสิ่งที่ฝ่ายบริหารของโรงเรียนได้ริเริ่มไว้ เช่น การเฝ้าระวัง การสร้างเครือข่ายชุมชน 33 แห่งร่วมกันสอดส่องดูแลนักเรียน การมีตำรวจเข้ามาประจำการที่โรงเรียน การทำแฟ้มความดี บันทึกความดีในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมเยาวชนให้มีจิตอาสาทำประโยชน์เพื่อชุมชน และจะส่งผลต่อนาคตการเรียน การเข้าเรียนที่มหาวชิราวุธหากมีแฟ้มความดีมาประกอบ จะเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณารับเข้าเรียน และเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งต่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา
ที่สำคัญ ต่อไปหากนักเรียนแม้เรียนดี แต่หากประพฤติไม่ดีนอกโรงเรียน เช่น ขับรถซิ่ง ทะเลาะวิวาท หากมีคดีติดตัวมา จะส่งผลต่อการเรียนด้วยเช่นกัน และโรงเรียนยังมีมาตรการต่อเนื่องกับผู้ปกครองและให้นักเรียนไปบำเพ็ญประโยชน์ในชั่วโมงทักษะชีวิต ช่วยงานชุมชนเพื่อไถ่โทษอีกด้วย...นโยบายลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ในการดูแลนักเรียนเราในระยะยาวมาก
ปัญหาเยาวชนมั่วสุม ขับรถซิ่ง ติดเกมส์ อบายมุข เป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และดูเหมือนทุกฝ่ายจะบอดใบ้กับการหาทางออก เมื่อมีวิธีการใหม่ๆเช่นนี้ ก็น่าจะพัฒนาให้เป็นรูปแบบการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไปได้
เรายกตัวอย่างดีๆที่เคยเห็นมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมกับนัดหมายแกนนำมายกร่างโมเดลที่จะทำงานร่วมกันในอนาคต ก่อนที่จะทำเวิร์คช็อปในช่วงปลายพฤษภาคม ชวนครู แกนนำเยาวชน ผู้ปกครอง ชุมชน ตำรวจ โรงพยาบาลและเทศบาลเมืองมาร่วมกำหนดแนวทางการทำงานต่อไป
เดินออกจากห้องสมุด ช่วงเวลาสั้นๆที่พบกัน แม้ไม่นานนักแต่ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยกันกระชับความสัมพันธ์ต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการเป็นศิษย์เก่าสถาบันเดียวกัน แต่เหนืออื่นใด ยังมีอนาคตของลูกๆหลานๆของแต่ละคนเป็นจุดร่วมที่ดึงดูดทุกคนให้หันมาทำประโยชน์ร่วมกันเป็นเป้าหมายสำคัญ