บทความ
บันทึก 100 วัน (9)
27 เมษายน 2551
24 เมษายน 2551 สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ใหม่ มาสมัคร 14 คน รับคนได้เพียง 2-3 คน ผ่านรอบแรกเราคัดไว้ 5 คน ผมส่งต่อให้อ.พงค์เทพ คุยต่อ
เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ความคิดอยู่ในกรอบ เหมาะที่จะทำงานในระบบมากกว่าที่จะมาฝ่าฟันกับงานที่จำเป็นต้องมีความมั่นใจ มั่นคงกับเป้าหมายที่มิใช่เพียงแค่ตัวเอง แถมถามความสนใจ ความฝันในชีวิต จำนวนหนึ่งตอบไม่ได้ ตอบได้แค่ว่าอยากได้งาน
25 เมษายน 2551 เดินทางไปสกลนคร มีโปรแกรมร่วมกับ 13 จังหวัดเรียนรู้ดูงานในพื้นที่ของเครือข่ายจ.สกลนคร
เราไปนั่งรออยู่ที่สุวรรณภูมิร่วม 3-4 ชั่วโมง กว่าเครื่องจะออก(ช้าไป 20 นาที) อากาศที่นั่นค่อนข้างหนาว หิวก็หิว ดีว่าเครื่องของ ppair มีบริการเลี้ยงข้าว เครื่องบินที่นี่มีขนาดเล็ก 60 ที่นั่ง ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษๆก็มาถึงสกลนคร
สามทุ่มเราก็มาถึง เดินออกมาจากเครื่อง พบตัวสนามบินที่นี่ออกแบบได้ดี โปร่งโล่ง โอ่โถง นำรูปแบบทางศิลปกรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาประดับประดา ได้กลิ่นอายอิสาน (นึกถึงสนามบินหาดใหญ่-ไม่มีสิ่งใดส่อเค้าความเป็นภาคใต้ต้อนรับผู้มาเยือน) น่าเสียดายว่าอาจจะใช้งานได้ไม่เต็มที่นัก
มีเจ้าหน้าที่ของเครือจข่ายมารอรับ เราขึ้นรถสองคัน ขับไปนั่งคุยกันไป สกลนครใหญ่โตกว่าที่คิดมาก แถมทันสมัยน่าอยู่ การวางผังเมือง การออกแบบเมืองทำได้ยอดเยี่ยม บ้านเมืองดูสะอาด เงียบสงบ ประตูเมืองใหญ่โต นำเอารูปทรงสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ สกลเป็นเมืองใหญ่ มี 18 อำเภอ ประชากรกว่า 1 ล้านคน มีสส.ได้ 5 คน(แน่นอนว่าต้องพรรคพลังประชาชน) ถนนกว้างขวาง รถไม่พลุกพล่าน ดูแล้วรองรับการเติบโตของเมืองได้ร่วม 10-20 ปี (สร้างถนนก่อนสร้างเมือง)
26 เมษายน 2551
อ.พงค์เทพ ตื่นแต่เช้าตรู่นั่งสามล้อไปไหว้พระธาตุเชิงชุม ผมขี้เกียจตื่น สักราวๆ เจ็ดโมงครึ่งเราเดินทางออกจากโรงแรมเอ็มเจ.เดินทางเข้าสู่ราชภัฎสกลนคร(ต้องย้ายที่พักเนื่องจากที่ราชภัฎมีงานซ้อน โรงแรมที่นั้นเต็ม) มีเพื่อนฝูงจากอีก 13 จังหวัดทยอยกันเข้ามา ทั้งจากภาคเหนือ-เชียงใหม่ แพร่ น่าน ภาคกลาง-อ่างทอง พิจิตร เพชรบุรี สุพรรณบุรี เราเริ่มโปรแกรมดูงานวันแรกได้หลังเวลา 9 โมงเช้านิดหน่อย พิธีกรกล่าวต้อนรับ เขาบอกว่าจะพยายามสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่น
"คนอิสานนี่เขาบอกว่า ถ้าเข้าป่า ยกเว้นฤาษีเท่านั้น นอกนั้นกินได้หมด แต่ถ้าลงทะเล ยกเว้นสะพานเท่านั้น นอกนั้นก็กินได้หมด"
ประธานเปิดงานเป็นคณบดี มาถึงก็กางโพยอ่าน ทำให้บรรยากาศเป็นทางการไปหน่อยทำให้พวกเราดูเกร็งๆ(เหมือนมานั่งสอบปริญญาโท)
*ช่วงหัวค่ำ ทีมงานที่ถ่ายวีดีโอไว้ นำภาพพฤติกรรม อริยบทของแต่ละคนมาให้ดู-เรียกรอยยิ้ม-แต่ภาพช่วงเปิดงานเห็นได้ชัดว่านั่งกันแบบเกร็งๆฝืดๆ
พื้นที่ดูงานแรก อยู่ที่หมู่บ้านนาคำไฮ ที่นี่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ร้อยกว่าหลังคาเรือน ประชากรมาจาก 4 ตระกูลแตกลูกแตกหลานไปทั่ว ทำให้มีสายสัมพันธ์พร้อมจะทำกิจกรรมร่วมกัน ที่นี่ประสบปัญหาสืบเนื่องจากกองทุนเหล้า ซึ่งเดิมผู้คิดเจตนาดีต้องการช่วยเหลืองานศพ ด้วยการเรี่ยไรครัวเรือน เหล้า 1 ขวด พร้อมกับเงิน 20 บาท ช่วยเจ้าภาพงานศพ ทว่าผลที่ตามมาคือทำให้ชาวบ้านติดเหล้า ดื่มเหล้าจัด เมาสะเปะสะปะ(ตามคำของชาวบ้านที่เล่าให้ฟัง) มีเหตุทะเลาะวิวาท เสียเงินจากรายได้โดยใช่เหตุ ทำให้คิดที่จะแก้ปัญหา
การทำงานได้เจ้าหน้าที่อนามัยเข้ามาเป็นตัวหลัก จัดกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาของพื้นที่ จนได้ประเด็นการเลิกเหล้าซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและเป็นปัญหาระดับชาติที่ไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งนัก ที่นี่เริ่มต้นด้วยการให้ชาวบ้านแต่ละคนสมัครใจเลือกที่จะลด-ละ-เลิกเหล้า จนกระทั่งนำมาสู่การยุบกองทุนเหล้าและพัฒนามาเป็นกองทุนอื่นๆ ร่วม 10 กองทุนในเวลาต่อมา (เช่น กองทุนข้าว กองทุนถั่วลิสง กองทุนวัว กองทุนหม่บ้านฯลฯ) จากพื้นฐานแนวคิดกองทุนที่ต้องการพึ่งตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันนำมาสู่ความร่วมมือจัดตั้งกลุ่ม to be numberone ดึงเยาวชนและครอบครัวเข้าร่วม และต่อยอดด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงในชีวิต
เราลงจากรถตู้ ชาวบ้านยืนต้อนรับทั้งสองข้างทาง มีพวงมาลัยดอกคูน ดอกลั่นทม รอรับ สีหน้ายิ้มแย้ม อัธยาศัยในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของพวกเขาทำเอาตื้นตันใจ (มาภาคใต้ เห็นท่าจะทำได้ยาก)
ทุกบ้านมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ กางตาข่ายคลุมกันสัตว์ นก ฉี่หรือทำลาย ดูแล้วเป็นระเบียบสวยงาม และได้ใช้ประโยชน์ ผักสวนครัวที่ปลูก ก็อยู่บนฐาน "ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก"
ผมเห็นแทบทุกหลังมีกังหันที่ทำจากกระป๋องโคก ชาวบ้านบอกว่าทำไว้ไล่นก เวลาลมพัด กังหันจะส่งเสียงดังและเคลื่อนไหวไปมา
พวกเขาต้อนรับเราด้วยหมอลำ บอกเล่าเรื่องราวการทำงานและชื่นชมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน อนามัย แกนนำชุมชน โรงเรียน ตัวหมอลำเป็นครูใหญ่ที่ดึงเยาวชนมาร่วม
ขี้เกียจฟังข้อมูลในเชิงรูปแบบการนำเสนอเป็นทางการ ผมออกมานั่งคุยกับชาวบ้านที่นั่งอออยู่ข้างนอก อยากรู้ความเคลื่อนไหวความเป็นไป ได้คุยกับคนที่เลิกเหล้าได้ ตาลุงแกยังมีแววซ่านแดงบวกกับท่าทางเดินรู้ได้เลยว่าขาเมา แกบอกว่าใช้เวลาร่วม 4 ปีกว่าจะเลิกได้
ผมเห็นเด็กที่มาร่วมน้ำตารื้นเมื่อคนมาดูงานปรบมือให้พ่อที่เลิกเหล้าได้
พื้นที่ต่อมา ความจริงเป็นแค่ทางผ่าน แต่การได้มาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้กระตุ้นความรู้สึก จุดประกายความคิดได้มาก
วัดคำประมง มีแนวคิดจัดทำอโรคยาศาล สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เกิดขึ้นได้จากเจ้าอาวาส หลวงพ่อซึ่งเป็นพระสมัยใหม่ อายุเกือบ 60 ปี(แต่ยังดูหนุ่ม) จบดอกเตอร์ ได้ออกธุดงค์ตามป่าเขาอยู่นาน ไปในสถานที่ซึ่งเฉียดใกล้ความตายหลายครั้ง ได้รับรู้ประสบการณ์เร้นลับของธรรมชาติและจักรวาล ครั้งหนึ่งเคยติดอยู่ระหว่างยอดเขา-หน้าผาใหญ่ ขึ้นก็ไม่ได้ ลงก็ไม่ได้ อาศัยที่เคยเห็นงูจอมผา ที่เป็นงูปืนเขาเก่งมาก เลียนท่าทางของงูจอมผาประคองตัวเอาชีวิตรอดมาได้
ต่อมาท่านป่วยเป็นมะเร็ง และได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการรักษาทั้งการแพทย์ตะวันออกและตะวันตกจนเชี่ยวชาญ ท่านประยุกต์ภูมิปัญญาทั้งหมดมารวมด้วยกัน และเปิดอโรคยศาลรองรับผู้ป่วยคนอื่น ด้วยเจตนาที่จะเสียสละตัวเอง อาศัยความเป็นมนุษย์ในการดูแลกันและกัน พื้นฐานความคิดนี้ทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระยะสุดท้ายมาพักรักษากับท่านจำนวนมาก
ท่านบอกว่าทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ปลอดความทุกข์จากโรค หากจะตายก็ขอให้ตายอย่างมีความสุข
การดูแลของที่นี่ไม่ได้เน้นการรักษาและเน้นการอยู่กับโรคให้ได้อย่างไม่ทำร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานนำไปสู่การรักษาต่อไป
ผู้ป่วยเข้ามาจะต้องได้รับการอุลตราซาวด์ แยกแยะอาการ แล้วส่งต่อไปเข้าโปรแกรมบำบัด ด้วยวิธีผสมผสานทั้งศาสตร์ตะวันออก-ตะวันตก เช่น ธรรมมะบำบัด สมาธิบำบัด สมุนไพร หัวเราะบำบัด ชิ ไดนามิค พลังจักรวาล และรวมถึงการมีแพทย์ พยาบาล หมุนเวียนกันเข้ามาดูแลผู้ป่วย
ทั้งหมดนี้ทำได้จิตอาสา ไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกอย่างฟรีหมด ทั้งคนให้และคนรับการรักษา...ทำได้ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
ที่นี่ยังต้องการอาสาสมัครมาช่วยอีกมาก ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ ต้องการเพียงแค่คนที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ มาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบผู้ป่วย ให้ได้รับรู้ถึงคุณค่าของตน(ส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้)
วัดที่นี่ขยายตัวได้รวดเร็วมาก เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน มีคนแวะเวียนมาไม่ขาด ศรัทธาของญาติโยมก็มาไม่ขาดสายเช่นกัน เฉพาะตัวอโรคยศาล มูลค่า 30 ล้านเกิดขึ้นได้ก็จากจิตศรัทธาเช่นนี้ ไม่นับรวมบ้านดิน ที่พัก โรงอาหาร และสถานที่อื่นๆในวัดอีกมาก
สมกับเป็นเมืองธรรมมะ สกลนครเป็นจังหวัดที่มีพระป่ามีชือจำนวนมาก ระดับเกจิอาจารย์ทั้งสิ้น เช่น พระฝั่น อาจาโร พระปั้น พระเทส พระหลุย (จำชื่อได้ไม่หมด) พื้นฐานเหล่านี้ทำให้วัดคำประมงสามารถสร้างโมเดลระดับโลกได้ไม่ยาก
พื้นที่สุดท้าย อยู่ในการดูแลของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เดินทางไปหลายจุดได้เห็นความเชื่อมโยงของเครือข่ายชุมชน มีกิจกรรมและกลุ่มหลากหลาย เช่น ร้านค้าชุมชน กลุ่มเกษตรกร มีโรงปุ๋ยชีวภาพ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมสุขภาพเช่น สวนหินบำบัด น้ำแดดเดียว(อันนี้สุดยอด)
เดินทางขึ้นๆลงๆรถหลายจุดเล่นเอาเหนื่อย เนื้อหาช่วงนี้ไม่มีอะไรใหม่ นอกจากได้เห็นศักยภาพของแกนนำที่เป็นชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนำ โดยเฉพาะป้ารัชนีและแม่พิมพ์คำ ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผู้คนนับถือ
การทำเกษตรพ่วงด้วยหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ขยายผลไปทั่วประเทศ อยู่ที่ว่าใครจะทำรูปธรรมได้ดีกว่ากัน และประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีของตนได้อย่างเหมาะสม
ปิดท้ายช่วงหัวค่ำ ผ่อนคลายด้วยอาหารและการแสดงของโครงการย่อยในพื้นที่ มีการมอบรางวัลให้กับเครือข่าย 13 จังหวัดที่มาเยือน 12 รางวัล(ชาย-หญิง) ผมได้มา 1 รางวัล (ไม่อยากบอกว่าได้เพราะอะไร-อาย)
27 เมษายน 2551 เข้าสู่ช่วงสุดท้าย เราแบ่งกลุ่มย่อยวิเคราะห์ผลที่ได้จากการดูงาน กลุ่มของผมมีจังหวัดน่าน อ่างทอง ลพบุรี ร่วมวิเคราะห์ สุดท้ายเราพยายามจับประเด็นเรียนรู้ที่ได้ใน 4 ลักษณะ
1.ทุนเดิมของพื้นที่ ผมถามข้อมูลมาคร่าวๆทำให้พอรู้ว่าที่นี่บ่มเพาะอารยธรรมของตนมายาวนานร่วม 2 พันปี เฉพาะตัวเมืองที่ตกอยู่ในการปกครองของอาณาจักรสยามก็ร่วม 200 ปี การได้หลอมรวมอารยธรรมทั้งจากลาว กัมพูชา พม่า เชียงใหม่ ทำให้พื้นที่มีการสะสมภูมิปัญญาที่หลากหลาย มีผู้คนที่หลากหลายเชื้อพันธุ์ เหล่านี้เป็นทุนที่ดีของพื้นที่ทั้งสิ้น ดังนั้นการก่อเกิดของวัดคำประมงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
- บุคคลที่มีจิตอาสา ที่ทั้งเก่ง ได้รับการยอมรับ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ดูได้จากกลุ่มแกนนำชุมชนทั้งในหมู่บ้านนาคำไฮ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน และวัดคำประมง ล้วนมีตัวร่วมเหล่านี้ทั้งสิ้น
3.กระบวนการ ที่แต่ละพื้นที่นำเข้าสู่ชุมชน ทั้งการมีส่วนร่วม การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง การสร้างรูปธรรมบนฐานของวิถีชุมชน การจัดการความรู้ การสื่อสาร
4.เครือข่าย ทั้ง 3 แห่งมีเครือข่ายความร่วมมือที่หลากหลายมาก
น่าเสียดายว่าเราต้องรีบเดินทางกลับทำให้ไม่ได้ฟังกลุ่มอื่นนำเสนอ รีบลาแล้วออกมาทานมื้อเที่ยง ขึ้นรถตู้เดินทางไปขึ้นเครื่องที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างทางเราแวะไหว้พระฝั่น อาจาโร ได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่สานุศิษย์ระดมจิตศรัทธาฝากไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา เข้าใจได้ชัดเจนถึงพลังของชุมชน อาจเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งของภาคอิสาน
เหลืองดอกคูนไม่ได้บานอย่างสูญเปล่าและไร้ที่มา.