บทความ
บันทึก 100 วัน (10)
29 เมษายน 2551
เรานัดหมายบังอาเส็มไว้ที่มัสยิดห้วยโอน ตอนที่ไปถึงเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำภาค 8 มาถึงแล้ว
พื้นที่ ม.9 ของบังอาเส็มมีปัญหาน้ำเสีย ชุมชนเดือดร้อนมานานแล้ว ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร นึกถึงปัญหาน้ำที่เกิดในหมู่บ้านของผมทำให้เข้าใจหัวอกคนใช้น้ำด้วยกันถึงความทุกข์
เราใช้เวลาพูดคุยกันไม่นานก็ได้ข้อสรุปแจงเป็นประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้
1.สภาพปัญหา น้ำประปาของม. 9 ต.กำแพงเพชรมีสภาพขุ่นข้น เนื่องจากใช้น้ำจากต้นน้ำที่มีการขุดสระขนาด 40 เมตร ยาว 100 เมตร ลึก 4 เมตร รองรับน้ำก่อนสูบขึ้นไปขึ้นถังผลิตประปา ทำให้เกิดการหมักหมมของขยะใบไม้ กิ่งไม้ สารเคมีการเกษตร ชุมชนประสบปัญหามาเป็นเวลากว่าสิบปี
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ใช้น้ำไประยะหนึ่งประสบต้นทุนการใช้สารส้มในอัตราสูงกว่าที่รายได้ของการจัดเก็บน้ำสามารถรองรับได้ กล่าวคือมีต้นทุนต่อหน่วยตกประมาณ 9-10 บาท ขณะที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บค่าน้ำอยู่ยูนิตละ 5 บาท เมื่อชุมชนไม่ใช้สารส้มในการดักตะกอน ปรับสภาพน้ำที่มีความเป็นด่าง ทำให้วงจรการทำงานของระบบประปาติดขัด ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำโดยรวม
2. ต้นทุนการผลิต -ค่าจ้าง เดือนละ 6000 บาท -ค่าบำรุงรักษา เดือนละ 2500 บาท -ค่าไฟ 10-15 ชั่วโมง 10,800-20,000 บาท -ค่าสารส้ม เดือนละ 7500 บาท รวม 26,800 บาท ต่อเดือน
ประชากร 3000 คน รวมค่าใช้จ่ายต่อยูนิต 8.93 บาท
3. ทางแก้ไข ผู้เข้าร่วมเสนอแนะทางออกได้ข้อสรุปดังนี้
1.จัดประชุมชี้แจงคณะกรรมการประปาหมู่บ้าน 1 ครั้ง เพื่อสอบถามสภาพปัญหา ความต้องการและเชิญชวนตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ(ถือว่าดำเนินการแล้วในวันนี้)
จัดประชุมชี้แจงชุมชน 1 ครั้ง เพื่อสอบถามความสมัครใจ และชี้แจงต้นทุนการดำเนินการที่สูงกว่าข้อเท็จจริง พร้อมกับเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา(นัดวันศุกร์ ที่ 16 พค.)
จัดซื้ออุปกรณ์ ทดลองปรับระบบการกรองน้ำที่ชุมชนตัดขั้นตอนการใช้สารส้มในการดักตะกอนออก โดยการกลับไปใช้ระบบการผลิตที่ครบวงจรอีกครั้งและดูผลคุณภาพของน้ำเป็นเวลา 1 เดือน
จัดเวทีชุมชนสอบถามประชามติในการแก้ปัญหาด้วยการกำหนดราคาน้ำที่ตรงกับความเป็นจริงและค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
4. งบประมาณ 30,000 บาท จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนผ่านแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้
-จัดซื้ออุปกรณ์สารส้ม ปูนขาว และทราย จำนวน 10,000 บาท
-จัดประชุมชี้แจงชุมชน 2 ครั้งและมีการถ่ายทอดสดทางสื่อ 20,000 บาท
เราลงไปดูพื้นที่จริง บังอาเส็มขับรถนำไปถึงที่ สภาพป่าต้นน้ำของรัตภูมิ ว่าไปก็เหมือนที่อื่นๆ อยู่ใกล้ต้นน้ำแต่ก็ต้องซื้อน้ำดื่ม น้ำใช้ ไม่สามารถดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
สระน้ำที่ขุดไว้เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาที่นี่ก็เป็นของเอกชน กรรมการประปาคนหนึ่งบอกว่าทำให้เขาไม่มั่นใจในอนาคต หากมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไปทำกิจกรรมอื่น ชาวบ้านจะเดือดร้อนไปหมด
"ผมอยากให้หาที่ดินขุดสระใหม่" เขาเสนอให้ชุมชนร่วมกันซื้อที่ ทำเป็นที่สาธารณะ
ผมนึกภาพ-เรื่องน้ำทำให้เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้ชุมชนเกิดความมั่นใจ หลังจากที่ฟิ้นระบบการผลิตน้ำเต็มรูปแบบ สร้างความมั่นใจให้พวกเขาแล้ว ต่อไป การแก้ปัญหาอื่นๆของชุมชนก็จะตามมา
ขอให้ทุกอย่างยืนอยู่บนฐานการเรียนรู้และมีส่วนร่วมเท่านั้น.