บทความ
นัก(เขียน)สัญจร ธีรภาพ โลหิตกุล
นัก(เขียน)สัญจร ธีรภาพ โลหิตกุล
ธีรภาพ โลหิตกุล:"ความจริงมันคงไม่ใช่เพียงสารคดีเท่านั้น แต่สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์แมกกาซีนทั้งหลายก็ถูกถาโถมเข้ามา เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งตัว ตั้งรับ และรุกรับกับสิ่งเหล่านี้ ก็คือต้องพัฒนางานให้เข้มแข็งขึ้น รักษาคุณภาพของงานให้ดีมากยิ่งขึ้น และอาจขยายงานไปสู่สื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น"
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : แทบไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากมายสำหรับคนทำงานสารคดีที่ชื่อ ธีรภาพ โลหิตกุล ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในฐานะนักเขียนสารคดีมือฉมัง ทั้งที่เป็นข้อเขียนและบทโทรทัศน์
10 ปีแรกในภาระงานประจำ ก่อนเจ้าตัวจะปลดระวางตัวเองเพื่อ 'พักร้อน' และรับงานฟรีแลนซ์เลี้ยงตัวเองในช่วง 10 ปีหลัง ปัจจุบันนอกจากงานเขียนหนังสือ เขายังผันตัวไปเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของอุษาคเนย์บนหน้าปัดวิทยุที่คลื่น FM 96.5 ทุกวันอาทิตย์ บ่าย 2 และวิทยากรรับเชิญสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมของภูมิภาคแถบนี้ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังออกตัวว่าเป็น 'นักเดินทางมือสมัครเล่น' อยู่ดี
หลังจากอ่านเรื่องราวต่อไปนี้แล้วลองมานิยามดูอีกทีว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นนักเดินทางประเภทไหนกันแน่...
ถ้าพูดถึงงานเขียนของ ธีรภาพ โลหิตกุล จริงๆ แล้วเป็นงานเขียนประเภทไหน
งานของผมมันไม่ได้เป็นสารคดีท่องเที่ยวตรงๆ บางที่มันไปเที่ยวไม่ได้ แต่เราเห็นว่ามันมีประเด็นที่น่าสนใจ เราก็เอามาเขียน ผมชอบที่จะเรียกงานสารคดีของตัวเองว่างาน สารคดีสัญจร หมายความว่าผมต้องสัญจรไป ผมจึงมาเขียนได้ ซึ่งจะต่างจากงานของพี่เอนก (นาวิกมูล) ซึ่งจะเป็นงานสัญจรกึ่งค้นคว้า หรือค้นคว้าอย่างเดียว เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ถือว่าพี่เขาโดดเด่นมาก ถ้าไม่มีนักเขียนสารคดีเชิงค้นคว้าอย่างพี่เอนก สังคมไทยจะขาดอะไรไปอีกเยอะมาก แต่สำหรับผมจะเป็นประเภทที่ต้องให้ไปเห็นแล้วจึงเกิดแรงบันดาลใจให้กลับมาเขียน บางทีผมอาจจะเขียนถึงใบไม้ใบหนึ่ง อาจจะเขียนถึงขอบหน้าต่างสักบานหนึ่ง บางทีมันก็ไม่ใช่สารคดีท่องเที่ยวเสมอไป ท่องเที่ยวก็มี ความเรียงอันเกิดจากแรงบันดาลใจ มุมมองโลกและชีวิต มันก็จะออกมาในงานเขียนประเภทหนังสือแรงดลใจ สลับกับสารคดีท่องเที่ยว
พอมาในระยะหลังๆ พออายุเยอะขึ้น มันก็เริ่มจำกัดความสนใจให้แคบลง เราก็พบว่าหลังๆ เราสนใจงานด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีมากขึ้น งานเขียนธรรมชาติล้วนๆ ทะเลป่าเขาแทบไม่มี มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต ผู้คน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ส่วนนี้มันก็เลยกลายเป็นฐานไปเล่าให้นักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมฟังในการทัวร์วัฒนธรรม
ภาพในจินตนาการของคนอ่าน หรือคนที่เริ่มเขียนมักคิดว่า การเขียนสารคดีท่องเที่ยวคือการไปนั่งซึมซับบรรยากาศแล้วเขียนถึงด้วยความรู้สึกขณะนั้น?
มันยังมีอีกแขนงหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมาก บางทีนักเขียนรุ่นใหม่อาจจะให้ความสำคัญน้อยไปก็คือการกลับมาค้นคว้า แค่ไปเห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจยังไม่พอ มันต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติม สมมติว่าคุณไปเที่ยวธรรมชาติก็ต้องกลับมาค้นคว้าทางธรรมชาติ ธรณีวิทยา ก็ว่ากันไป อย่างสายผมสนใจวัฒนธรรมโบราณคดีก็กลับมาค้น ทำไมต้องเป็นกาแล ทำไมจึงมีภาพโรแมนติกในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ฯลฯ เมื่อรวมกับแรงบันดาลใจที่ได้เห็นมันจะกลายเป็นข้อมูล 2 ด้านที่ผมว่าจำเป็นมากในการเขียนสารคดี ก็คือข้อมูลทางกายภาพ ที่เรามาค้นคว้าจากเวบไซต์ จากเอกสารอ้างอิง จากบุคคลในพื้นที่ที่เราสอบถามพูดคุย และข้อมูลทางจินตภาพ คือความคิดคำนึงที่เราได้เห็น ข้อมูลทั้ง 2 ด้านเป็นสิ่งสำคัญมากในการเขียนสารคดี
แล้วควรจะให้น้ำหนักทั้งสองส่วนนี้อย่างไร
ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่ามันเป็นเทคนิควิธีที่สำคัญมากในงานเขียนสารคดี เพราะสารคดีต้องการข้อมูล 2 ด้าน คือข้อมูลทางกายภาพ กับข้อมูลทางใจ คือ จินตภาพ แต่ว่าความสำเร็จของสารคดีที่แท้ มันเกิดจากการเอาข้อมูล 2 ด้านนั้นมาผสมผสานอย่างเนียนสนิทและลงตัว ซึ่งทำให้เกิดสิ่งหนึ่งในงานก็คือคำว่า 'อรรถรส'
รสทางวรรณกรรม ข้อมูลทางกายภาพทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์ ส่วนข้อมูลทางจินตภาพนั้นทำให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิด นี่คือสิ่งที่รวมกันว่าทำให้เกิดอรรถรสในงานเขียน นักเขียนที่ประสบความสำเร็จผมคิดว่าเกิดจากการผสมผสาน 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกันอย่างเนียนสนิท แล้วมันก็เป็นหลักในการทำงานของผมที่จะไม่เอาข้อมูลทางวิชาการล้วนๆ มาแปะถ้าไม่จำเป็น ยกเว้นบางเรื่องที่มันซับซ้อนมากๆ ต้องอธิบายอย่างเป็นขั้นตอน เช่น เรื่องแนวคิดทางศาสนาที่เราตั้งใจจะตีให้แตกเลยว่าคืออะไร
ทุกวันนี้คุณพูดถึงความสนใจที่ตีวงแคบเข้ามาเรื่อยๆ อะไรที่ทำให้มันเป็นแบบนั้น
ฐานทางการเติบโตของครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่ง เราโตมาพร้อมกับห้องสมุดในบ้าน พ่อเป็นนักสะสมหนังสือ เราสนใจเรื่องอะไรก็จะศึกษาค้นคว้าจากในบ้านได้หมด นานๆ ครั้งถึงจะไปห้องสมุดสักที ประกอบกับว่า เรื่องราวทางสายวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มันมีเหตุให้ต้องค้นคว้า มีเรื่องให้อธิบายได้เยอะกว่าธรรมชาติ เสร็จแล้วมันก็ผลักดันให้เราเลือกเรียนทางสายสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เหตุผลสุดท้ายก็อาจจะเป็นเพราะว่า พูดได้เลยว่าผมไม่ใช่นักเดินทางตัวจริง ผมเป็นคนที่ค่อนข้าง... คือหมายความว่าถ้าการเดินทางที่ต้องเตรียมโน่นเตรียมนี่เยอะๆ ผมจะไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ ซึ่งการเดินป่ามันจะมีเรื่องราวที่ต้องเตรียมเยอะมาก ไม่ใช่รังเกียจนะ แล้วก็เคยทำมาแล้ว เดินขนาดเล็บหลุด เดินไปเสี่ยงชีวิตในการค้นหาแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ถ้าให้เลือก ผมตะลึงกับอารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น คุณสร้างปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างนครวัดได้ยังไง คุณเอาอะไรมาเป็นแรงผลักดันให้คุณสร้างเจดีย์นับหมื่นๆ องค์ในพุกาม แรงผลักดันอะไรที่ทำให้คุณทำอะไรกับหุบเขาทั้งหุบเขาอย่างภูเขากาฏมาณฑุให้เป็นห้องแสดงงานศิลปะแห่งเอเชีย มันทำให้ผมเกิดคำถามมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าธรรมชาติด้อยกว่า ผมก็สนใจว่าทำไมเกิดนาร์กิส ทำไมเกิดหน้าผาตัดตรงที่ภูชี้ฟ้า เพียงแต่คำถามมันเกิดกับประวัติศาสตร์โบราณคดีมากกว่า และประวัติศาสตร์โบราณคดีดึงความสนใจผมไปสู่การค้นคว้ามากกว่าธรรมชาติ หรืออาจจะนิดนึงก็ได้ว่าผมค่อนข้างรักสบายน่ะ (ยิ้ม) ไม่ค่อยชอบลำบากในการเดินทางนัก ก็เลยนานๆ ถึงจะไปลุยทางธรรมชาติสักทีนึง ยิ่งพออายุเยอะแล้วผมมีโรคประจำตัว มันก็จะไปลุยมากๆ แบบเก่าไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นงานโบราณคดีมันเหน็ดเหนื่อยแต่มันไม่ต้องลุยมากนัก รวมๆ กันแล้วก็ทำให้ยิ่งนานวันแขนงของงานยิ่งแคบลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าปิดเลย
มีบางคนมองว่า ผมค่อนข้างเป็นนักเดินทางแบบหน่อมแน้ม (หัวเราะ) ก็ไม่ได้ว่ากัน เพราะว่าผมถือว่าแต่ละคนต่างนานาจิตตัง ผมอาจจะชอบไปดูปราสาท เหงื่อไหลไคลย้อย ปีนป่ายตามก้อนหิน แล้วผมอยากจะกลับมานอนโรงแรมสบายหน่อย ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด ที่ลำบากๆ แบบนอนโรงเตี๊ยม อาบน้ำในถังน้ำมัน 200 ลิตร กลางฤดูหนาวที่ไม่มีน้ำอุ่น ผมก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้น อีกทั้งเงื่อนไขของตัวเรา มันจึงทำให้อาจจะหน่อมแน้มไปหน่อยในระยะหลัง
แล้วนักเดินทางตัวจริงเป็นยังไง
เขาก็ต้องเดินทางได้ทุกรูปแบบ ทั้งแบกเป้ ทั้งธรรมชาติ เดินป่า ไต่เขา จะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อไปลิ้มรสความสำเร็จจากการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอในชีวิต แต่ว่า ผมเองอาจจะขาดแรงจูงใจในด้านนั้น ขาดแรงจูงใจที่ไปเดินป่า แต่ผมกลับอยากจะไปเห็นเมืองโบราณอีกหลายเมืองในโลกใบนี้ที่ผมยังไม่เคยไป เช่น ลาดัก แคชเมียร์ แอฟริกา
ถึงจะออกตัวว่าเป็นมือสมัครเล่น แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่าน ชื่อของธีรภาพ โลหิตกุล ก็ไม่เคยหลุดไปจากทำเนียบนักเขียนสารคดีแถวหน้าของวงการเลย?
ผมคิดว่า การเดินทางมันมีหลายวิธี ซึ่งมันก็เป็นวิธีการเดินทาง แบกเป้ เที่ยวกับทัวร์ มันเป็นเพียงวิธีการ แต่ไอ้ผลของงานที่ออกมา มันอยู่ที่การค้นคว้า การผสานข้อมูลทางจินตภาพกับกายภาพ การทำให้สารคดีซึ่งถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่าเป็นการเอาข้อมูลมาเขียน เป็นสิ่งที่ทื่อ เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตชีวา กลับทำให้มันมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ผมไม่ได้ไปเที่ยวแบบแบกเป้มากนัก แต่ผมก็จะมีวิธีการของผมในการได้ข้อมูลเชิงลึกจากชาวบ้าน ในการเข้าไปพูดคุยกับพวกเขา พูดกันไม่รู้เรื่อง ผมก็ใช้ภาษามือ ภาษาตา ภาษาใจคุยกับเขา
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปถ่ายรูปเด็กจีนในชุมชนมุสลิมที่เมืองซ่งปัน ในมณฑลเสฉวน ชาวมุสลิมจะมีบุคลิกเฉพาะอยู่ เราก็ถูกเตือนว่าให้ระวังในการถ่ายภาพ ก็ไปถ่ายภาพเด็กแล้วพี่น้องเขาก็ห้าม ผมก็คิดว่าห้ามถ่ายภาพเด็กแต่เราคุยกันได้นี่ คุยกันด้วยภาษามือและภาษาจีน 2-3 คำ ที่พอจะจำได้ ก็สามารถที่จะสื่อสารกับเขาได้ ผมเห็นเขาอุ้มลูกเล็กๆ อยู่ ผมก็เอารูปของลูกผมให้ดูบ้าง ก็พอสื่อสารกันได้ว่า เขาเป็นชาวหุย นี่เป็นลูกคนที่ 2 ถ้าเป็นชาวฮั่นมีลูกได้คนเดียว ทีแรกเขาเข้าใจว่านี่เป็นภาพลูกคนที่ 5 ของผม แล้วเขาก็เอารูปลูกของผมไปให้ญาติพี่น้องเขาดูหมดเลย จนกระทั่งยิ้มแย้มแจ่มใสกันดีแล้วผมก็ลองอีกครั้งหนึ่ง 'ขอถ่ายภาพหลานๆ ด้วยนะ...' คราวนี้ก็ให้ถ่ายแล้ว เพราะมันถูกผูกมิตรด้วยจิตใจ แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้เกิดข้อมูลทางจินตภาพที่นำมาเล่าให้คนอ่านของเราฟังได้เหมือนกัน
มันเป็นวิธีการของเราที่ทำให้สารคดีมีชีวิตขึ้นมา ตรงนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน บวกกับการที่ผมยังทำงานสารคดีอย่างต่อเนื่อง มันก็เลยทำให้ยังมีชื่อติดอยู่บ้าง ปัจจุบันก็มีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ก็ยังมีความภูมิใจว่า การทำงานอย่าสม่ำเสมอและรักษาคุณภาพ ทำให้เรายืนหยัดอยู่ในวงการนี้อย่างยั่งยืน แม้ว่าจะไม่ได้เด่นดังหรือโดดเด่นก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมีคนอ่านงานของเราอยู่ เราก็ยังทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดต่อไป
เดินทางค่อนข้างบ่อยแบ่งเวลาให้กับครอบครัวอย่างไร
เยอะมากเลย ก่อนนั้นตอนที่ยังไม่มีครอบครัวหายใจเข้า-ออกเป็นสารคดี แม้แต่เวลาไปดูหนัง นอกจากความเพลิดเพลินแล้วก็ยังไปดูเทคนิคการตัดต่อ การดำเนินเรื่อง การร้อยเรียงเรื่องราวของเขาเพื่อนำมาเป็นตัวอย่าง แต่พอมีลูกแล้ว ก็ยอมรับว่าการค้นคว้าข้อมูลไม่เข้มข้นเหมือนแต่เก่า เมื่อก่อนค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียน และยังค้นคว้าเพิ่มเติมในสิ่งที่สนใจ ทุกวันนี้ค้นคว้าเพื่อเขียนอย่างเดียว ทุกวันนี้ให้เวลากับลูก วันที่ลูกไปเรียนหนังสือ กลับมาก็จะรับไม้ต่อจากภรรยา แฟนผมจะเป็นคนรับ-ส่งลูก กลับมาแล้วเขาก็จะไปออกกำลังกาย ผมก็ดูลูกทำการบ้าน แล้วก็ออกกำลังกายกับลูก จนกระทั่งดูเขาอาบน้ำ เข้านอน โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนเข้านอนก็จะอ่านนิทานให้เขาฟัง ชวนเขาคุยว่าที่โรงเรียนเป็นยังไง วันนี้อยากจะเล่าอะไร วันนี้เกิดเหตุการณ์อะไรในบ้านเมืองของเรา เพราะฉะนั้นเวลามีลูกแล้ว เราก็จะให้เวลากับลูกพอสมควร ก็ทำให้เวลาส่วนตัวบางด้านลดลงไปบ้าง
ครอบครัวส่งอิทธิพลถึงงานเขียนด้วย?
จิตสำนึกของการมีลูกเปลี่ยนผ่านงานเขียนของเราไม่น้อยทีเดียว ผมคิดว่าคนเราถ้ามีครอบครัวแล้วยังใช้ชีวิตแบบไม่มีครอบครัวอยู่ มันเป็นความไม่รับผิดชอบ ยกเว้นคนที่มีอาชีพในแขนงงานของตำรวจ ทหารที่ต้องไปทำงานตามพื้นที่ อันนั้นเป็นอีกประเภทหนึ่ง ตำหนิกันไม่ได้ แต่ถ้าคุณมีเวลาอยู่กับลูกได้ แล้วยังทำตัวอย่างหนุ่มโสด เดินทางเป็นว่าเล่น มันคือการขาดความรับผิดชอบโดยสำนึก และจากการที่มีลูกก็ทำให้เกิดแนวคิดที่พยายามอธิบายเรื่องยากๆ ให้ลูกเข้าใจอย่างง่ายๆ มันเกิดจากตรงนั้น
ลูกก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานเขียน เกิดคอลัมน์ 'คือสายน้ำคือขวัญข้าว' เป็นชื่อลูกของเราเลย แล้วมารวมเป็นเล่มชื่อว่า 'เรื่องนี้พ่อขอเขียน' อันนี้เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับลูกโดยเฉพาะเลย และงานอีกแขนงหนึ่งก็คืองานเขียนความเรียงเชิงสารคดีเป็นแบบข้อเขียนถึงลูก ซึ่งจริงๆ แล้วก็เขียนให้คนอ่านอ่านนั่นแหละ แต่ให้คนอ่านมีความรู้สึกว่าอ่านเรื่องที่พ่อเขียนถึงลูก และเป็นเงื่อนไขที่เราอธิบายเรื่องยากๆ ให้ง่ายขึ้น เพราะเวลาอธิบายให้ลูกเราก็ต้องใช้คำที่ง่าย กลายเป็นเสียงตอบรับที่ดีเกินคาด เพราะมันทำให้เขียนสั้นลง ทำให้เหมือนกับว่าพอดีคำสำหรับคนอ่านด้วย เพราะฉะนั้นลูกจึงทำให้เกิดงานอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านพอสมควร ควบคู่กับงานเขียนขนาด 7-8 หน้าที่ยังมีอยู่
ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปแล้ว นักเขียนสารคดีมีวิธีปรับตัวให้เข้ากับสังคมออนไลน์ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างไร
ความจริงมันคงไม่ใช่เพียงสารคดีเท่านั้น แต่สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ แมกกาซีนทั้งหลายก็ถูกถาโถมเข้ามา เป็นสิ่งที่เราต้อง ตั้งตัว ตั้งรับ และรุกรับกับสิ่งเหล่านี้ ก็คือต้องพัฒนางานให้เข้มแข็งขึ้น รักษาคุณภาพของงานให้ดีมากยิ่งขึ้น และอาจขยายงานไปสู่สื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังยอมรับว่าธรรมชาติของหนังสือที่สามารถจับต้องได้ด้วยมือ ที่พลิกเปิดอ่าน และพามันไปอ่านแม้แต่บนเตียงนอน ในห้องน้ำ ก็ยังเป็นธรรมชาติที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ยังดำรงอยู่ได้ แต่ต้องรักษาคุณภาพและพร้อมที่จะรับมือกับสื่อออนไลน์
แปลว่าอาจจะมี ธีรภาพ โลหิตกุล ดอท คอม หรือเปล่า
ก็ควรจะมีเพื่อส่งเสริมงานเขียนของเรา ถือว่าเป็นสื่อในการส่งเสริมการอ่าน หรือทำให้คนรู้จักตัวเรามากขึ้น ผมยังไม่มีนะตอนนี้ แต่มองว่าการสร้างเวบไซต์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การรักษาคุณภาพของเวบไซต์ให้เกิดประโยชน์ทางปัญญากับผู้คนเป็นเรื่องยากมากกว่า และถ้าเราคิดว่ายังดูแลเวบไซต์ให้มีคุณภาพไม่ได้ ก็ไม่ควรสร้างขึ้นมา ตอนนี้ก็เลยไม่มีเวบไซต์เป็นของตัวเอง