บทความ

อนุสรณ์ ติปยานนท์ กับ “ตัวตน” ร่วมสมัย

by Pookun @July,16 2008 21.49 ( IP : 222...211 ) | Tags : บทความ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2551 06:07 น.

“ใน โลกวัตถุนิยม มันคือโลกที่ “มนุษย์” ใช้ “วัตถุ” ยืนยันถึงการมี “ตัวตน” จึงไม่แปลกถ้าจะมีคนไปกางเต็นท์รอเพื่อซื้อไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดจนเป็นข่าว เกรียวกราวไปทั่วโลก หรือผู้หญิงญี่ปุ่นยอมเข้าแถวต่อคิวเป็นวันๆ เพื่อซื้อกระเป๋าหลุยส์-วิตตอง เพราะสิ่งเหล่านั้นมันยืนยันความเป็นตัวเขาได้"

“ผมจึงคิดว่า การที่เราจะบรรยายถึงใครคนหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องพุ่งตรงไปที่ตัวเขา แต่เราพุ่งไปที่ “ของ” ของเขา มันก็น่าจะทำให้เรามองเห็น “ตัวตน” คนๆ นั้น ได้มากขึ้น”

                        ....................

คงไม่เกินจริงไปสักกี่มากน้อย หากจะกล่าวว่าโมงยามนี้เนื้องานและนามของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ได้รับการกล่าวขานพอสมควรในแวดวงนักอ่านผู้นิยมความ “ร่วมสมัย” ลุ่มหลงบรรยากาศ “ ชวนค้นหา” ทั้งหลงใหล “พื้นที่ว่าง” ซึ่งนักเขียนทิ้งไว้ในงานมากกว่าจะนำพาผู้อ่านไปสู่บทสรุปชัดเจน

            ไม่ว่า “ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ” นวนิยายเล่มเล็กหวานเศร้าของเขา ซึ่งฉุดรั้งผู้คนให้หวนนึกถึงวันเวลาที่เราอาจพรากจากกับบุคคลอันเป็นที่รัก ได้ทุกเมื่อ โดยมีเหตุการณ์ 9/11 ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบ, “8 ½ ริคเตอร์ การตามหาหัวใจที่สาบสูญ” นำพาเราเดินทางไปสู่ทางรถไฟสายมรณะเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างรุ่มรวยและปวดร้าวในบรรยากาศเร้นลับของมิติเวลา , รวมเรื่องสั้น “H2O ปรากฏการณ์แตกตัวของน้ำบนแผ่นกระดาษ” ของเขา ทำให้ “ฟ้า พูลวรรักษ์” พูดอย่างเต็มปากว่า เจ้าของผลงานเล่มนี้ คือ นักเขียนที่น่าจับตา*
            มิพักต้องเอ่ยถึง บทกวี ความเรียง งานแปล และคอลัมน์ที่เขารับผิดชอบอยู่ตามหน้านิตยสารเล่มใหญ่ของวงการ

            แม้ไม่หวือหวา ร้อนแรง หากผลงานของเขาก็เติบโตและถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องในแวดวงของผู้ชื่นชอบ งานแนวนี้ ที่ “พล็อต” ถูกจัดวางอย่างมีชั้นเชิงภายใต้ความว่างโล่งของความคิดที่ผู้เขียนเปิดไว้ ให้ผู้อ่านได้ทอดน่องตามจินตนาการของตน

            อาจด้วยความโดดเด่นเช่นนั้น “เคหวัตถุ” ผลงานรวมเรื่องสั้นของเขา จึงเป็น 1 ใน 9 เล่ม ที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย การประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2551 ดังคำแถลงของกรรมการในทำนองว่า ผลงานที่ผ่านเข้ารอบปีนี้ ไม่ก้าวล่วงเข้าไปตัดสิน ชี้ ถูก- ผิด-ดี-เลว แต่ปล่อยให้ผู้อ่านขบคิด ผ่านเรื่องราวที่ยั่วล้อยุคสมัยอันเต็มไปด้วยสถานะของความเป็นปัจเจกท่าม กลางโลกวัตถุนิยม

            อดรู้สึกไม่ได้ว่า ราวกับคุณสมบัติดังกล่าว จัดวางมาเพื่องานของเขา ส่งให้ชื่อของ อนุสรณ์ ได้รับการจับตามากกว่าเคย

            เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา เพียงพอแล้วที่เราจะเชื้อเชิญเขามาพบปะ พูดคุย ในฐานะปฐมอาคันตุกะ แห่งคอลัมน์ “โต๊ะน้ำหมึก”
                          ...............



            บ่ายจัดของวันหยุดที่เพิ่งผ่านพ้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ เดินฝ่าเปลวแดดร้อนอบอ้าวมายังร้านหนังสือที่เรานัดหมายกันไว้ การสนทนาว่าด้วยความโดดเดี่ยว กลวงเปล่าแห่งยุคสมัย จึงเริ่มขึ้น

            ต่อเนื่องจากคำกล่าวที่ยกมาไว้ข้างต้น ถ้อยคำของเขายังคงพร่างพรูอย่างต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อสังคมบริโภค

            “โลกตะวันตกรู้จักคำนี้ก่อนชาวตะวันออกอย่างเรา เขาเป็นคนสร้างจำกัดความของมันขึ้นมา แต่ทำไมเขากลับไม่รู้สึกบ้าคลั่งอย่างคนในโลกตะวันออก สาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากว่า เขาอยู่กับมันมานาน แล้วการที่เขาอยู่กับมันมานานทำให้เขามีกระบวนการจัดการและมีกระบวนการตรวจ สอบการเข้าหาวัตถุนิยม ต่างจากในโลกตะวันออก ที่เราเน้นเรื่องของจิตนิยม ไม่ว่าศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ลัทธิเต๋า ขงจื๊อ หรือศาสนา-ของศาสดาองค์ใดก็แล้วแต่ ทว่า เมื่อเรารับเอาวัตถุนิยมเข้ามา มันทำให้เราขจัดความเป็นจิตนิยมออกไป มันจึงทำให้เราเคว้งคว้าง เมื่อยิ่งเคว้งคว้างเราก็ยิ่งขวนขวายหาวัตถุมาเพิ่ม เหมือนน้ำในแก้วของคุณถูกเทออกไป คุณก็พยายามหาน้ำใหม่ๆ มาเติมลงในแก้ว”

            ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า งานของคุณที่ถ่ายทอดออกมาจึงเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว ?

            “เหงาน่ะเหรอครับ? ผมว่ามันก็ไม่แปลกนะ มันเป็นเรื่องปรกติ มนุษย์เราก็เหงาอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะยุควัตถุนิยม แต่มันก็ทุกยุคนั่นแหละครับ หากเรามองมาที่งานวรรณกรรม ตัวละครใน “ฟ้าบ่กั้น” ก็เหงา “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ของศรีบูรพาก็เหงา เห็นไหมครับว่าผมไม่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าลัทธิความเหงานะ เพียงแต่ว่า ถ้าผมพูดถึงความเหงา ผมจะพูดถึงในแง่ที่ว่าเรารู้สึก “ร่วม” กันอยู่"
            "เช่น ถ้าจากนี้ไปคนกรุงเทพจะมี Wi-Fi ใช้อย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าอยู่ที่ไหนคุณก็เล่นอินเทอร์เน็ตได้ สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมเรายังมีปัญหาอยู่อีกวะ ขณะที่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเขาเขียนเพลงยาวถึงกัน หรือการส่งจดหมายถึงกัน มันอาจใช้เวลานาน แต่ทำไมเขาถึงมีปัญหาน้อยกว่าเรา หรือการติดต่อกันมากขึ้น มันยิ่งกลับทำให้เราว้าเหว่มากขึ้น ยิ่งเราขีดระยะทางของมโนคติให้สั้นลงเท่าไหร่ ระยะทางของความเป็นจริงก็จะยิ่งห่างออกไป”



            แล้วความโดดเดี่ยวกับความกลวงเปล่าล่ะ เหมือนกันไหม? ...เราเอ่ยถามแทนคนโดดเดี่ยวอีกนับล้าน

            “ในมุมมองของผม “ความกลวงเปล่า”มันเป็นภาวะที่น่ากลัวนะ เหมือนกับเรารู้สึกว่าข้างในตัวเรา มันมีหนังสือที่ถูกหยิบ ออกไปจนหมด เหมือนที่ “ฮารูกิ มูราคามิ” เคยพูดไว้ในนวนิยายของเขาเรื่อง “คาฟกา ออน เดอะ ชอร์” ที่คาฟกาบอกว่าตัวเองเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ แล้วมีคนยืมหนังสือไปจนหมด ซึ่งผมรู้สึกว่า มันเป็นคำเปรียบเทียบที่ชัดเจนมากเลย”

            อนุสรณ์เพิ่มเติมว่า ความกลวงเปล่าคล้ายกับภาวะที่ถูกแบ่งสรรปันส่วนไป โดยที่เราก็ไม่รู้วิธีที่จะเติมมันให้เต็ม ในขณะที่ความเหงาเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง ถ้าเปรียบเทียบในทางศาสนาก็ใกล้เคียงกับการ “เข้าเงียบ” ของชาวคาทอลิคคือการอยู่กับตัวเอง การพิจารณาตัวเอง

            “ผมคิดว่า “ความกลวงเปล่า” มันแทบจะเป็นหายนะของมนุษย์เลยนะ เพราะว่ามนุษย์อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกลวงเปล่า กระทั่งกว่าจะรู้ตัวอีกที...ก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของ “เคหวัตถุ” ด้วยนะ มันก็เหมือนกับการที่คุณซื้อของนู่นนี่เยอะมากๆ มันทำให้จิตใจคุณเข้าไปอยู่ในวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวของคุณจริงๆ มันก็จะเริ่มกลวงเปล่ามากขึ้น ถ้ายกของรอบๆ ตัวคุณออกให้หมด คุณจะอธิบายได้ไหม ว่าตัวคุณคือใคร”


            เซ็กส์เติมเต็มความกลวงเปล่าได้ไหม? ในมุมมองของนักเขียนร่วมสมัยอย่างเขา มอบคำตอบแก่เรา ว่า

            “เซ็กส์ก็เหมือนกับยาแก้กระดูพรุน พอนึกภาพออกไหม คือถ้ากินมากเกินไป กระดูกคุณก็อาจจะงอก แต่ถ้าไม่กินเลย กระดูกคุณก็อาจจะผุ เพราะฉะนั้นสำหรับผม ผมมองว่าเซ็กส์เป็นวัฎรจักร มันไม่ใช่สิ่งคงทน แต่เป็นตัวกระตุ้นให้คุณพอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความหวัง เป็นตัวกระตุ้นให้คุณรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่น่าค้นหา แต่ผมก็ยังมองว่ามันยังคงมีเรื่องอื่นๆ อีกเยอะที่น่าสนใจกว่าเซ็กส์ ไม่ว่า ความคิด ปรัชญา หรือมิติชีวิตด้านอื่นๆ”

            เมื่อเอ่ยถึงเซ็กส์ที่ไม่อาจเติมเต็ม อนุสรณ์จึงไม่อาจละทิ้งประเด็นดังกล่าวที่ปรากฏชัดในงานของนักเขียนชื่อดัง แดนปลาดิบ อย่างฮารูกิ มูราคามิ

            “เรื่องเพศในงานของมูราคามิไม่ได้สวยงาม บางครั้งมันดูน่าขยะแขยงด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเรื่อง "นอร์วิเจียนวู้ด" ตัวละครไปทำอะไรกันในสถานบำบัดแล้วก็มาฟังเพลงเดอะ บีทเทิลส์ คือหลายครั้งมันทำให้เรารู้สึกชวนคลื่นเหียน แต่ไอ้ภาวะเหล่านี้แหละ ที่มันทำให้รู้สึกว่า มนุษย์เราไม่มีทางออก เป็นเซ็กส์ที่ไม่มีทางออก ผมว่านี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราคอยเอาใจช่วยตัวละครของมูราคามิอยู่เสมอ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้แพ้ เป็นคนอ่อนแรง"
            "ยกตัวอย่างใน "เซาท์ ออฟ เดอะ บอเดอร์ส" ตัวเอกของเรื่องมีรูโหว่ในหัวใจอยู่ตลอดเวลา ว่าตราบใดที่เขาไม่ได้พบกับหญิงสาวที่ขาพิการคนนั้น ชีวิตของเขาก็ไม่สามารถที่จะเติมเต็มได้ ตัวละครจึงตั้งเป้าไว้ตลอด ไม่ว่าจะทำอะไร จะ เปิดบาร์ เปิดคลับ มีทุกอย่างครบแล้ว ก็ยังทำทุกวิถีทางที่จะเจอผู้หญิงคนนั้น แต่ตอนจบก็ไม่ได้บอกเราอย่างชัดเจนว่าเขาได้เจอกับผู้หญิงคนนั้นจริงๆ หรือเป็นแค่ความคิดฟุ้งฝัน มูราคามิฉลาดมาก ที่จะพาเราตามตัวละครไปจนถึงที่สุดเพื่อที่จะพบว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เรา คิด"

            "เซ็กส์ของมูราคามิ ไม่ว่าจะเล่ากี่ครั้ง มันคือความปวดร้าว มันแสดงให้เห็นว่าคนที่กลวงเปล่า ยิ่งแสวงหาบางสิ่งมาเติมเต็มมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ยิ่งไม่น่าชื่นชม ไม่ต่างจากมนุษย์ที่มุ่งจะไขว่คว้าอะไรมากเกินไป ก็มักตกอยู่ในวังวนของความล้มเหลว”

            งานของคุณ พยายามเติมเต็มความกลวงเปล่าให้ตัวละครหรือเปล่า?

            “ตัวละครของผมมันกลวงเปล่ามาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเวลาผมสร้างตัวละครขึ้นมา ในขณะเดียวกันนั้นผมก็ถือยางลบอยู่ในมือด้วย ผมเขียนไปผมก็จะลบตัวละครผมไปด้วยเรื่อยๆ จนกระทั่งมันหายเข้าไปในพล็อต”

            “ผมถึงชอบเรียกมันว่า ตัวละครที่ไม่มีใบหน้า คือเป็นตัวแทนใครก็ได้ และด้วยความที่เขาเป็นตัวแทนใครก็ได้ มันยิ่งทำให้เป็นตัวเรามากขึ้นด้วยซ้ำ”

            ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมักใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งอย่าง คำว่า “ผม” เป็นตัวดำเนินเรื่อง

            มี “วัตถุ” มากมาย ปรากฏอยู่ใน “เคหวัตถุ” เป็นต้นว่า “ตู้เย็น” “ร่ม” “กะโหลก” คุณให้สิ่งของเหล่านั้น เป็นตัวแทนของสิ่งใด?

            “การที่ผมเริ่มต้นด้วยตู้เย็น เพราะผมคิดว่ามันน่าสนใจ ถ้าตู้เย็นมันไม่ได้ถูกเอาไว้ใช้เก็บอาหาร แต่มันเก็บอารมณ์ เก็บความรู้สึกเอาไว้ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามันไม่ได้มีเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีหมูสับ ไม่ได้มีของหวาน แต่มันมีเสียง ผมก็เกิดความสังสัยว่า แล้วคนๆ นั้นจะจัดการกับตู้เย็นของเขายังไง”

            สำหรับ “ร่ม” ไม่ได้เป็นแค่ที่กันฝน แต่มันกลายเป็น “พื้นที่” ที่เด็กเล็กๆ สองคนอยู่ด้วยกัน “ปิ่นโต” ก็ไม่ได้ใช้เก็บอาหารอีกต่อไป แต่มันเก็บความทรงจำในอดีตเอาไว้ “น้ำตาล” ก็ไม่ใช่แค่น้ำตาลที่เอาไว้กิน แต่กลายเป็นอะไรบางอย่างที่ใช้บรรยายสภาวะขมขื่นของชีวิตคู่

            “ผมรู้สึกสนุกมาก กับการมองมนุษย์ผ่านวัตถุ” อนุสรณ์ ตอบอย่างหนักแน่น

            นอกจากความสัมพันธ์ของมนุษย์กับวัตถุแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร ?

            “เมื่อผมเขียน "เคหวัตถุ" ผมถึงเข้าใจว่า สาเหตุที่มนุษย์มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เพราะเรามองอีกฝ่ายเป็นวัตถุ เรามองสามี ภรรยา มองคนรักของเราเป็นวัตถุ เป็นสิ่งของที่เราครอบครอง ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ถึงล้มเหลว เพราะเมื่อครอบครองเขาได้แล้ว เราก็ไม่ได้มองเขาเป็นมนุษย์”

            “อย่างเรื่องสั้น “กะโหลก” ในเล่มนี้นี่มีเค้าความจริงนะ เพราะผมเองก็สะสมกะโหลกด้วย จากที่ปรกติแล้วผมไม่ชอบสะสมสิ่งของ แต่สำหรับกะโหลกผมรู้สึกว่ามันสวย กระทั่งวันหนึ่งผมก็มานั่งคิดว่าข้างในของกะโหลกคือสมอง ซึ่งสมองมันก็ไม่ต่างจากวัตถุ เพราะมันเป็นก้อน คุณจับต้องได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นตัวการเดียวกับที่ทำให้คุณทำนั่นทำนี่ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ ผมว่ามันน่าสนใจนะ มันอาจเป็นสิ่งเดียวที่ใกล้เคียงมากที่สุดในประเด็นว่าด้วยเรื่องการปฏิ สัมพันธ์ของวัตถุกับจิตใจ”

            ณ วันนี้ คุณคิดว่ามนุษย์บริโภคนิยมกำลังแสวงหาอะไรอยู่ และยุคสมัยของเรากำลังเดินไปสู่หนทางใด?

            “คำถามนี้คุณน่าจะไปถามอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์นะ ท่านน่าจะตอบได้ดีกว่าผม แต่ในความคิดผม เวลาผมมองสังคมไทยทุกวันนี้ มันเป็นภาวะที่ผมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวผมอยู่ตรงรอยต่อของ...เอ่อ ตอบลำบากมากเลยนะ คือมันเหมือนกับว่า คุณเคยตื่นขึ้นมาตอนตีห้าครึ่งไหม แล้วเราไม่รู้ว่าเราอยู่ตอนเช้า หรือว่าอยู่ในช่วงเวลาห้าโมงครึ่ง หกโมงครึ่งของตอนเย็น ถ้าคุณนอนข้าม วันข้ามคืน แล้วตื่นขึ้นมา คุณจะไม่รู้เลยว่ามันเป็นตอนเช้าที่เช้ากว่าเดิม หรือเป็นตอนเย็นที่พระอาทิตย์กำลังตกดิน"

            “แน่ล่ะในความเคยชิน ผมอาจรู้สึกว่าผมตื่นขึ้นมาตอนเช้า แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปเรื่อยๆ มันยิ่งมืดลง ซึ่งผมรู้สึกว่าสังคมตอนนี้ก็เป็นเช่นนั้น เราอยู่ในภาวะโพล้เพล้มากเลยนะ หรือจะเรียกว่ารุ่งสางก็ได้"

            “จริงๆ แล้วมันตอบไม่ได้เลย ว่าเรากำลังเดินไปสู่ภาวะที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือรอพระอาทิตย์ตก”

            แล้วคุณมุ่งหวังให้งานของคุณพยายามจะตอบคำถามนั้นไหม? คำถามที่ว่า เรากำลังเดินไปสู่อะไร

            “งานผมไม่ได้ตอบทั้งหมด แต่ในส่วนหนึ่งผมพยายามอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่ส่วนที่เหลือก็ดึงให้คนตระหนักว่าสิ่งนั้นคืออะไร ก็ถ้าเรามองว่าวรรณกรรมมันเป็น “กระบอกเสียง” มันก็ควรจะเป็นกระบอกเสียงที่บอกบางอย่างแก่เรา บอกว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่”

            ...ในความกระจัดกระจายไร้รากแห่งจิตวิญญาณ ยังมีความหมายซุกซ่อน

            คือตัวตนและมุมมองบางส่วนเสี้ยวในบ่ายแดดจ้าวันหนึ่ง ที่เราได้สัมผัสจากชายผู้นี้           นักบันทึกความกลวงเปล่าแห่งยุคสมัย...อนุสรณ์ ติปยานนท์

                          ...............
            สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ตัวหนอนบนกองหนังสือ
            เอื้อเฟื้อสถานที่ : ร้านหนังสือเดินทาง
      -หมาย เหตุ ทัศนะของ ฟ้า พูลวรรักษ์ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของฟ้าที่เคยตีพิมพ์ออนไลน์ในเว็บไซต์สำนักพิมพ์ประ พันธ์สานส์

Comment #1
Posted @July,24 2008 20.31 ip : 222...184

โดยส่วนตัว งานนี้ขอเชียร์อนุสรณ์ เข้าวิน

Comment #2ความเห็นต่อแนวคิดของอนุสรณ์
ck khui
Posted @September,11 2011 13.37 ip : 124...66

คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ ครับ ผมบังเอิญเปิดทีวี เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วมาสดุดกับคำพูดแย่ๆ ของคุณ คุณพูดในทำนองว่าสิ่งที่คุณทำ สิ่งที่คุณปฏิบัติ นั้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งถูกต้องไปเสียทุกอย่าง อันนี้ผมไม่ว่าเพราะแต่ละคนก็ย่อมคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำ ตัวเองปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่ชอบแล้ว ไม่งั้นก็คงไม่ทำ ตอนหนึ่งคุณพูดว่าคนเราอย่าเพิ่งไปตัดสินอะไร ปล่อยให้มันดำเนินไปตามครรลองของมัน นี่ก็ถูกอีก แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาทีน้ำลายยังไม่ทันหายเหม็น คุณกลับพูดว่าคนที่ไปต่างประเทศ ไปกับทัวร์นั้น เป็นการไปเพื่อโอ้อวด นี่แหละที่มันค้านกับสิ่งที่คุณพูด คุณรีบไปตัดสินว่าสิ่งที่คุณปฏิบัติ สิ่งที่คุณคิด สิ่งที่คุณสำรอกออกมาเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง แต่สิ่งที่คนอื่นทำกลับเป็นการโอ้อวด ทำไมแนวคิดดีๆอย่างคุณ กลับมีความคิดชั่วๆแฝงอยู่ได้ยังไง ผมว่าใครจะทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับความคิด การตัดสินใจ บนเหตุผลและสภาพแวดล้อมของเขา เหมือนกับความคิดของคุณเช่นกัน เพียงแต่ต่างกันที่พื้นฐาน ทัศนคติและความสามารถของแต่ละคนเท่านั้น ผมเห็นคุณก็พยายามพูดถ่อมตัวว่าตัวเองเป็นคนดี แต่ก็ยังโอ้อวดตัวเองอยู่เป็นระยะระยะเหมือนกัน บอกว่าเดี๋ยวไปปีนัง เดี๋ยวไปฮ่องกง ยกตัวอย่างที่อิตาลี ผมเข้าใจว่าคุณเพียงแต่พูดเพื่อให้ตัวเองดูดีเท่านั้น ตัวตนของคุณจริงๆ ก็ไม่ต่างกับคนอื่นเหมือนที่คุณกล่าวหาว่าเขา ผมว่าคุณจะเก่งอย่างไร จะทำอะไร จะพูดอะไรเพื่อให้ตัวเองดูดี ก็ทำไปเถอะ แต่อย่าไปแขวะ ไปดูถูกการกระทำของคนอื่นเขา ผมประเมินคุณว่า คุณก็เป็นคนที่แย่คนหนึ่ง ผมมีหลักแหล่งอยู่ใน fb ถ้าคุณไม่มีแนวคิดอย่างที่ผมว่าตอบผมมาได้ ถ้าไม่ตอบมาผมก็จะคิดว่าคุณก็เป็นเหมือนอย่างที่ผมคิด สวัสดีครับ

แสดงความคิดเห็น

« 8210
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ