บทความ

สวนโมกข์สมัยใหม่ จู พเนจร

by จู พเนจร @July,27 2008 23.34 ( IP : 222...185 ) | Tags : บทความ

อนุทิน อนุธรรม
สวนโมกข์สมัยใหม่
จู พเนจร

พิมพ์ครั้งที่ 2 (ปรับปรุงใหม่)
มิถุนายน 2551
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์เพื่อนเกลอ
กุมภาพันธ์ 2547

บรรณาธิการเล่ม
วัฒนชัย มะโนมะยา

ออกแบบปกและรูปเล่ม
ธีรวัฒน์ วณิชชาภิวงศ์

ภาพปก
กัมพล จิตตะนัง

สำนักพิมพ์ควนป่านาเล
75/161 ซอย 4 ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 4
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
kpnl_book@yahoo.com


คำนำ
(ในการพิมพ์ครั้งที่ 2)

อนุทิน อนุธรรม
สวนโมกข์สมัยใหม่

สวนโมกข์สมัยใหม่ พิมพ์ครั้งแรก
(แบบทำมือ จำนวน 50 เล่ม) ในปี 2547
ในครั้งนั้นใช้ชื่อนำเล่มว่า กวีรจนา

ในการพิมพ์ใหม่ ครั้งที่ 2 (ปรับปรุงใหม่) นี้
ใช้คำนำเล่มว่า อนุทิน อนุธรรม
เพื่อความเหมาะสมตามประการ

เมื่อย้อนนึกไปถึงวันเวลาเหล่านั้น
มีความประทับใจหลายๆอย่างเกิดขึ้น
ประสบการณ์ชีวิตนั่นเอง คือความอิ่มเอิบใจ
บางทีธรรมะอาจเป็นเพียงกระพี้
แต่ความเป็นมิตรของเพื่อนใหม่ๆที่ได้พบ
กลับทำให้วันเวลาเหล่านั้นชื่นบานขึ้น
แง่มุมเล็กๆที่เราสะดุดเห็น
ทั้งเรื่องราวดีๆและไม่ดีที่รู้สึกชอบไม่ชอบ
นั่นคือโลกหนึ่ง
และแท้ที่จริงแล้วบางทีมันคือโลกภายในด้วย
บันทึกในคราวนั้น
(หรืออนุทิน อนุธรรม ในคราวนี้)
อย่างน้อยที่สุดทำให้เราได้มองเห็นเรื่องราว
และแง่มุมหนึ่งของเราย้อนกลับไป
ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนเขลาเบาปัญญา
และความดีความงามนิดๆหน่อย
นั่นก็ช่างมันเถอะ
ถ้าอ่านแล้วยิ้มได้(บ้าง)นั่นก็คงจะดี

อนุทิน อนุธรรม สวนโมกข์สมัยใหม่ เล่มนี้ เป็นก้าวเล็กๆอีกก้าวของคนๆหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสข้องแวะกับธรรมะ
และศิลปะวรรณกรรมอยู่เล็กน้อย
เพื่อน้อมนำสิ่งดีงามสร้างสรรค์มาสู่ตน
และอื่นๆสืบไป

*******************


คำนำ
(ในการพิมพ์ครั้งแรก)

สวนโมกข์สมัยใหม่

1)

เพื่อนซึ่งได้รู้จักมักจี่กันคนหนึ่ง
เอ่ยถามผมว่า “สวนโมกข์สมัยใหม่” นี้หมายถึงเช่นไร
แค่เพียงเห็นชื่อเรื่องก็เกิดความสนใจใคร่อ่านเสียแล้ว
(ด้วยเขาเองเป็นผู้หนึ่งที่สนใจใฝ่ศึกษาธรรมะ
ของท่านพุทธทาส ภิกขุ)
หมายความว่าเป็นเรื่องราว
หรือยุคสมัยหลังจากสิ้นท่านพุทธทาสแล้วใช่หรือไม่

ในอีกนัยยะหนึ่ง ธรรมะของท่านพุทธทาสนั้น
นับว่ามิเคยล้าสมัย
หากแต่กลับทันสมัยอยู่เสมอ
คำว่าสมัยใหม่จึงมีแง่คิดชวนสนใจ

ผมกล่าวขอบอกขอบใจเขาในเรื่องนี้ และรู้สึกตื้นตันใจลึก ๆ
กอปรด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวขึ้นมาอย่างที่สุด

ผมบอกเขาว่า ผมมองสวนโมกข์ด้วยนัยยะของปุถุชนคนหนึ่ง
ที่พึงมองได้จากเวล่ำเวลาที่ผ่านมา
เสมอคนๆหนึ่งที่ได้มารับรู้เรื่องราวในช่วงเวลาหนึ่งนับจากนี้ และถ่ายทอดออกมา
ดังกล่าวผมก็คิดว่าได้สำคัญตนไว้ไม่น้อยแล้ว
ว่านี่คือ "สวนโมกข์สมัยใหม่"

2)

ผมมีโอกาสได้ไปสวนโมกข์
เมื่อครั้งท่านพุทธทาสไม่ดำรง(กาย)อยู่แล้ว
และเป็นความจริงที่ว่า
ธรรมะตามแนวทางคำสอนของท่านพุทธทาส
เป็นเรื่องที่ไม่ล้าสมัยเลย
แม้กาลจะเลยล่วงไปเพียงใด
ท่านพุทธทาสจะไม่ดำรงอยู่แล้วหรือไม่

สวนโมกข์นี้เป็นที่ซึ่งใครไปใครมาก็มักจะเล่าขานถึง
ด้วยความชื่นชมยินดีเสมอ
จนเป็นที่เลื่องลือระบือไกลไปว่า ได้น้อมนำตนสู่ความสงบเย็น
ภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติ และความเรียบง่ายธรรมดา

ความเรียบง่ายธรรมดาเช่นนี้ ก็คือธรรมะ
และธรรมะอันเรียบง่ายเช่นนี้ ก็คือธรรมชาติ
การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติจึงเป็นหนทาง
ที่จะน้อมนำตนเข้าสู่ธรรมะ
ธรรมะอันจะน้อมนำ "คน" มาสู่ความเป็น "มนุษย์"
คือผู้มีจิตใจสูง ต่อไป

3)

สวนโมกขพลาราม หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "สวนโมกข์" ตั้งอยู่ที่วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ก่อตั้งโดยท่านพุทธทาส ภิกขุ (อริยะ)สงฆ์ฝ่ายเถรวาทรูปหนึ่ง เมื่อครั้งปีพุทธศักราช 2475
ผู้ซึ่งในกาลต่อมาได้ปฏิวัติธรรม
จารีตอันล้าสมัยต่างๆประดามีเข้าหาแก่นธรรมโดยตรง
อันได้แก่ ลด ละ เลิก "ตัวกู ของกู" เป็นหลักใหญ่หลักเดียว

ธรรมะข้อที่ว่าเป็นการสอนหรือชี้ลงไปแบบตีแสกใจนี้
แม้เป็นสิ่งที่ปุถุชนคนทั่วไปอาจแสลงใจ
แต่ท่านก็ไม่ได้นำข้อนี้มายกเว้นหรือเกรงใจใคร
ด้วยเพราะท่านเองไม่ได้เห็นว่าจะต้องมี "ตัวใคร"
หรือ "ของใคร"
ให้ต้องถือหรือเกรงใจนั่นเอง

ท่านเห็นว่านอกจากคนหรือพระจะสอนธรรมะได้แล้ว
ธรรมชาติเป็นเสมอครูสอนธรรมะได้เป็นอย่างดีด้วย
แม้เรามีใจที่คอยเพ่งพิจารณาด้วยสงบรำงับแล้วไซร้
ก็จะเห็นสิ่งเหล่านั้นมีชีวิตจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด
ดังที่ท่านกล่าวไว้เสมอว่า "ที่นี่ต้นไม้ใบหญ้าก็พูดได้"

สถานที่ปฏิบัติธรรมของสวนโมกข์
จึงอิงแอบแนบชิดอยู่กับธรรมชาติ
และความเรียบง่ายธรรมดาเสมอมา
งดเว้นพิธีรีตองต่างๆ โดยเฉพาะที่เอิกเกริกทั้งหลายลงเสีย
แม้กอปรด้วยกุศโลบาย
ก็ไม่เป็นด้วยความใหญ่โตโอฬารเป็นสำคัญ
ที่เรารู้จักกันดี เช่น ลานหินโค้ง โรงปั้น ธารน้ำไหล
สระนาฬิเกร์ มหรสพทางวิญญาณ เป็นต้น
และการกวาดใบไม้ หรือเดินป่า
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เรียบง่าย สมถะ
ติดดินอยู่กับธรรมชาติทั้งสิ้น

ยกเว้นบ้างก็แต่โรงมหรสพทางวิญญาณ
ซึ่งเป็นสถานที่ประดับรูปปริศนาธรรมไว้
ทั้งภายนอกและภายใน
กับโบสถ์ทรงเรือหลังหนึ่งที่ทำไว้เป็นสัญลักษณ์บางประการเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อกอปรกิจกรรมดังกล่าวให้ลุล่วงไป
ไม่ใช่สิ่งพึงยึดติดอันใด

การได้เดินชมนกชมไม้ เพ่งมองสายน้ำไหล
นั่งแนบแอบหินติณชาติ และการกวาดใบไม้ก็ดี
ท่านพุทธทาสบอกว่านี้คือการปฏิบัติธรรม
ฝึกจิตสมาธิอีกรูปแบบหนึ่ง
ให้พึงมีทั้งฆราวาสและบรรพชิต
สิ่งที่เราจะได้จากการนี้อย่างหนึ่งคือความโล่งโปร่งเบาสบาย
ดังที่ท่านเอ่ยเอื้อนอยู่เสมอว่าคือ นิพพานชั่วคราว
หรือนิพพานชิมลาง

สำหรับสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยตรงเป็นหมู่คณะ
นับเป็นการปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง คือ "สวนโมกข์นานาชาติ"
ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะไปพำนัก
การไปที่นี่จะต้องเตรียมตัวพร้อมสักหน่อย
หรือหากใครมีเวลาก็ควรจะหาโอกาสไปสักครั้งหนึ่ง

นอกจากปฏิบัติได้กับตนแล้ว
เรื่องราวได้ถูกถ่ายทอดบันทึกไว้โดยผู้ที่เคยไปสวนโมกข์
ในรูปหนังสือต่าง ๆ
ซึ่งเกือบทั้งหมดจะรวบรวมและหาอ่านได้
ที่ "ห้องสมุดพุทธทาส"ที่ตั้งขึ้นตามที่ต่าง ๆ นั้น
จะทำให้รู้จักสวนโมกข์มากขึ้นตามแง่มุมที่ต่างออกไป
และแน่นอนว่าแง่มุมที่ต่างออกไป มุมมองที่ขยายกว้างออกไปในเรื่องราวเหล่านี้ ย่อมเป็นอานิสงส์สืบต่อไปด้วยกัน


ย่ำมาเยี่ยมถึงซึ่งถิ่นธรรม

ผมมีโอกาสได้ไปพักอาศัยอยู่ที่สวนโมกข์
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี 2 ครั้งในชีวิต
และตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสก็จะไปสักปีละครั้ง

ในครั้งแรกช่วงระหว่างวันที่ 7-15 ธันวาคม 2545
มาพร้อมกับภาพจินตนาการของสวนโมกข์
เท่าที่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของที่นี่และท่านพุทธทาส ภิกขุ

เป็นการตั้งใจออกเดินทางท่องเที่ยวพเนจรไป
เริ่มต้นโดยการแวะไปเยี่ยมเยียนเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง
ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ซึ่งเขาบอกว่าเมื่อมาพำนักที่สวนโมกข์แล้ว
รู้สึกไม่อยากออกมาสู่ความวุ่นวายภายนอกเลย
อยากให้ผมลองมาดู

เมื่อมาถึง...
นิวาสสถานอันมีชื่อเป็นที่รู้จักต่อสาธุชนทั้งหลายนี้
เห็นเด็กวิ่งเล่นส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวอยู่ระหว่างสองศาลาที่พักหน้าวัด
ชายคนหนึ่งกำลังเก็บกวาดขยะเหลือบมองมา
ริมรอบขอบขัณฑสีมานั้นมีร้านรวงขายของฝากอยู่เรียงราย
ส่งเสียงเรียกร้องลูกค้าอยู่ขวักไขว่
ฟากถนน รถวิ่งพลุกพล่านอยู่ไม่ขาดสาย
หยุดอยู่กับห้วงภวังค์หนึ่งที่พบปะปัง

ทอดเท้ามา...
นั่งสงบจิตสงบใจพอผ่อนคลายความเมื่อยล้าที่ศาลาพัก
แล้วลุกขึ้นกระหยับเป้ออกมา
ยืนแหงนมองป่าไม้ที่ยืนต้นเติบโต รกครึ้ม
ดูสงบเย็นร่มรื่นอยู่ในขอบเขตขัณฑสีมา
ยกมือขึ้นประณมไหว้ แล้วค่อยๆก้าวเท้าเดินเข้าสู่สวนโมกข์
เมื่อตะวันเริ่มคล้อยเคลื่อนเลื่อนลับกับห้วงกาลอีกวารวัน...


มีคนเดินอยู่ประปรายในสวนโมกข์ เมื่อผมย่างเท้าเข้าไปถึง
บางคนกำลังร่ำลาเดินทางกลับ
แดดราแสงลง ค่อยค่ำครึ้มอยู่ใต้เงาร่มไม้ใหญ่
ระหว่างทางลาดเนิน ใบไม้เกลื่อนกล่น
ขณะผืนทรายบางส่วน เกลี้ยงสะอาดด้วยรอยเวี่ยวาด
พลางมองไปรอบราย พ่างพื้นแลสงบเย็น
แฝงความวังเวง หดหู่
ใจ เตือนให้สืบเท้าก้าวเดินไปถามหาที่พักพิง

ย่ำเยือน

คล้อยค่ำย่ำมาถึง
ห้วงคำนึงแห่งคืนวัน
หมุนเวียนแปรเปลี่ยนผัน
มีสุขทุกข์อันรุกเร้า

ต้นไม้คล้ายเป็นเพื่อน
คอยย้ำเตือนให้ร่มเงา
ลมพัดมาเบาเบา
สัมผัสได้ถึงอายเย็น

ผู้มาแล้วลากลับ
ไปเลือนลับ ได้มองเห็น
สุขทุกข์ยากลำเค็ญ
คงลบหายไปจากจร

ผืนทรายรอยเวี่ยวาด
แลสะอาดแลสะออน
นึกไปใจถ่ายถอน
ใบไม้ร่วงล่วงสู่ดิน

นกน้อยคอยส่งเสียง
แจ้วจำเรียงโผผกบิน
พลบค่ำย่ำคืนถิ่น
โอ้ คนจรสะท้อนใจ

ระฆังกังสดาล
แผ่วแผ่วขานผ่านผ่านไกล
ย่ำเท้าก้าวสืบไป
ในคล้อยค่ำมาย่ำเยือน

ย่ำค่ำ 7 ธันวาคม 2545


เคยได้ยินได้ฟังเรื่องการกวาดใบไม้ปฏิบัติธรรม
ไม่นึกว่าจะได้มาถือไม้กวาดในวันหนึ่ง
ย่างเท้าเปลือยเปล่า แล้วลงมือกวาดขยะใบไม้
หวนนึกถึงคำท่านพุทธทาสที่ว่า"เดินดูให้ทั่วเสียก่อน"
กวาดไประเรื่อย เพลิดเพลินกับใบไม้แต่ละใบ ๆ
ช่วยให้ทางเดินสะอาดขึ้นเล็กๆน้อยๆ เหนื่อยก็พัก
แล้วมานั่งใต้ร่มไม้ เหลียวมองไปรอบราย
หย่อนคลายอารมณ์

กวาด

บางใบคล้ายดื้อด้าน
ไม่ยอมพ่านกับใบอื่น
ผนิดติดกับพื้น
ไป่ละลิ่วปลิวตามแรง

ละใบล้วนแกรบกรอบ
ยะแยบยอบใบไม้แห้ง
น้ำตาล เหลือง ปนแดง
แซมเขียวอ่อน ซ่อนปะปน

ลมเวี่ยก็วะว่อน
พอลมผ่อนก็วะวน
เรี่ยรายอยู่กรายกล่น
ย่างเหยียบย่ำต่ำติดตม

ปลิดใบไล้ลมลู่
พลัดร่วงพรูมาห้อมห่ม
นานนับก็ทับถม
แรเรื้อรกปรกทางเดิน

ไม้กวาดก็แกว่งกวาด
วะเวี่ยวาดด่ำดำเนิน
เหงื่อซึม ครึ้ม เพลิดเพลิน
งานง่ายง่ายสบายใจ

เช้า 8 ธันวาคม 2545


กวาดใบไม้เสร็จ เหงื่อไหลไคลเอือด
เอาเสื้อผ้ามาซัก
อ่างซีเมนต์ใบใหญ่ น้ำใสเย็น
ใบไม้ปลิดปลิวลิ่วลงมาลอยละล่องให้แกวกไกวเวลาตักน้ำ
นานแล้วที่ไม่ได้อาบน้ำกลางแจ้ง ใต้ร่มไม้ใบบังอย่างนี้
ทุกวันนี้เรามีห้องน้ำห้องท่าที่มิดชิดและโอ่โถง
เป็นวิมานส่วนตัวก็มี
สังคมเป็นฉันใดห้องน้ำก็เป็นฉันนั้น
เมื่อตักน้ำรดราดกาย
น้ำที่นี่ไฉนช่างฉ่ำเย็นนักแล

อาบน้ำ

น้ำใสในอ่างกลางป่าแนบ
กว้างแคบน้ำก็รู้อยู่อาศัย
น้ำให้ความเย็นรื่นชื่นใจ
ตักใส่ขันอาบก็ซาบกาย

ไหลลงสู่พื้นไปชื่นฉ่ำ
ไหลลงที่ต่ำคือที่หมาย
พัดมาพร่างพรมลมพร่างพราย
อยากว่ายแหวกไหวในธารา

ขัดถูเหงื่อไคลไซ้ซอก
คลายเมื่อยเข็ดยอกคลายปวดปร่า
ราดน้ำอีกครั้งน้ำหลั่งมา
มือคว้าสบู่มาถูตัว

ลูบไล้ไถถูเป็นฟูฟอง
งดงามอล่องฉ่องนะทูนหัว
น้ำก็ขาวข้นหม่นหม่นมัว
เสื้อตัวกางเกงตัวพลอยซักไคล

บ้วนปากสีฟันเป็นอันเสร็จ
หยดน้ำแต่ละเม็ดเป็นเกล็ดใส
ผ้าขาวม้าซับเหมือดแห้งเหือดไป
น้ำไม่เรียกร้องไม่ต้องการ

เที่ยง 8 ธันวาคม 2545


เดินฮัมเพลงเล่นเบาๆ เคล้าสายลมพัดพาย
มองดูเรือนกุฏิแต่ละหลังๆในราวป่า ดูสงบเงียบ ร่มเย็นสมถะ
เรียบง่ายแต่ก็ให้วังเวงหดหู่อยู่ในที
หลายเรือนเหมือนทิ้งร้าง
ตลอดทางเดินร่มครึ้มไปด้วยแมกไม้
เติบต้นโตตามวิสัยธรรมชาติแท้ ๆ
มีธารน้ำไหลเซาะฉ่ำแฉะ
สัตว์สาบางชนิดแอบออกมาให้เห็นอยู่ไวๆ เสมือนทักทาย
ดูเหมือนจะมีไม่กี่แห่งหนแล้ว ที่เป็นเรือนรังของผู้รักความสงบและสันโดษเช่นนี้

ดำเนินไพร

เหยียดต้นแตกกิ่งทิ้งใบปรก
ครึ้มรกร่มใบพฤกษ์ไพรสณฑ์
ซอกซอนโตรกผาภูวดล
ป่ายปนอิฐหินดงดินดอน

แซมแซมสุมทุมพวงพุ่มไม้
เขียวคราบตะไคร่ตามโขดขอน
ไม้ทิ้งกิ่งพักลงหักรอน
ไม้ก็ชอนไชขึ้นทะมึนแทน

น้ำค้างพร่างพรูเมื่อตรู่สาง
ย้อยลงพื้นพ่างตั้งบ่าแหงน
ไชรากเกาะหินแทรกดินแดน
พันแล่นลดเลี้ยวเกี่ยวเถาวัลย์

ลิงค่างบ่างชะนีมีที่อยู่
เงี้ยวงูไก่กาไม่อาสัญ
ต่อแตนกาฝากฝังฝากกัน
ร่วมเรียงเคียงขัณฑสีมา

แกว่งแกว่งลมไกวละไล้เล่น
โยกโยนโอนเอนระเนนบ่า
แดดลบพลบค่ำย่ำสนธยา
เช้าสายบ่ายราคือร่มเย็น

เย็น 8 ธันวาคม 2545


ตื่นสายกว่าใครเพื่อนเขา แต่ไปทันฟังเทศน์
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ตื่นทำวัตรเช้า
เสมือนมาอยู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งถึงพร้อมแล้ว
สำหรับเริ่มต้นสดับธรรม
เมื่อเริ่มทำสมาธิก็วิเวกแว่วเสียงไก่ขันอยู่ใกล้
ไม่ไกลคาคบรอบรายลานหินโค้ง
เจ้าคงสดับฟังธรรมอยู่ทุกวารวันกว่าใครหลาย ๆ คน
เสียงปลุกของเจ้า จะต่างเตือน

เสียงปลุก

เอ๊กอีเอ๊กเอ๊ก เอ๊กอีเอ๊กเอ๊ก
แว่ววิเวกสำเนียงเสียงไก่ขัน
ฟ้าเรื่ออุสา ทิวาวัน
ร้องเรียกกันเคล้าคละเป็นประจำ

ทอดรับขับขานกาลสมัย
สดับในจุ่งแจ้งจวบแสงค่ำ
ว่าตื่นเถิดมวลมนุษย์มาน้อมนำ
ประกอบกรรมเถิดหนาสาธุชน

กระพือปีก ร่อนถลาจากคาคบ
ก่อนวันลบลับลาอีกคราหน
ลงตะกุยคุ้ยเขี่ย วะเวี่ยวน
เป็นโภชน์ผลของเจ้าไม่เปล่าเปลือง

อันว่าไก่งามขน คนนั้นเล่า
งามพริ้มเพราะฉันใดไปสืบเนื่อง
งามรูปโฉมโนมพรรณนั้นเนืองเนือง
งามฟุ้งเฟื่องขัดสีฉวีวรรณ

กุ๊กกุ๊กไก่ สนทนาประสาไก่
รุ่งอรุโณทัยไอศวรรย์
วันแหละคือ คุณค่านับอนันต์
เพชรพลอยนั้นไก่ไม่เห็นเป็นวับวาว

เช้าตรู่ 9 ธันวาคม 2545


ลีลาที่โผนแผล็วแคล่วคล่อง ไร้สุ้มเสียง
แต่ดูยักเยื้องให้เห็นโดยสายตา โผล่มาทีละตัว ๆ
เช้านี้มีเปลือกแตงโมฝานเป็นชิ้นๆ ติดเนื้อแดง
อา เอมโอษฐ์โภชนาหรือประทังไปอีกมื้อหนอกระรอกน้อย
ตัวที่สองที่สามตามมา บางตัวมาแล้วแผล็วลับหายไป
บางตัวกินไปชิมไป(บ่นไป) หากบางตัวก็กินทิ้งกินขว้างก็มี
รู้นะ ว่าแกล้งทำหล่นแล้วจะเอาอันใหม่ใช่ไหมล่ะ

แผล็วโผน

มาแบบ เงียบเชียบ เงียบกริบ
มาหยิบ อาหาร ทานแจก
จัดวาง ตั้งอยู่ จำแนก
หว่างแยก ปางไม้ ชายโคน

เหยาะเหยาะ ย่องย่อง มองเมียง
คอเอียง กลับหัว ห้อยโหน
บัดเดี๋ยว แผ่วผละ กระโจน
โยกโยน กะเทาะ เปาะชิม

ว่องไว ไม่มี คอยท่า
อีกตัว ไต่มา หงิมหงิม
เหมือนนัด ชุมนุม กรุ้มกริ่ม
พออิ่ม อร่อย ประทัง

เจ้ามา ที่นี่ ที่หมาย
ป่าวอด ป่าวาย สะพรั่ง
เคยมาก เคยมี ที่ยัง
เสาะหา บางครั้ง ไม่มี

ป่าแปลก ลมเปลี่ยน ปุบปับ
มัวอับ อายอยู่ รู้นี่
มีใคร ใส่ใจ ไยดี
มีแต่ ตายซี้ แน่ใจ

สาย 9 ธันวาคม 2545


เที่ยงๆ ลมพัดโชยชื่น หนังตาปรือ ท้องอิ่ม ๆ
นอนเล่นริมระเบียงเรือนพัก
สอดส่ายสายตาดูแมกไม้ สดับฟังสรรพสำเนียงธรรมชาติ
รอบราย
ถ้าบินได้ก็จะบินไปสดับสรรพเสียงสกุณาร่าเริงลม
ฝ่าไปในโลกทิพยสถานจินตกวี ดังแก้วสารพัดนึก
พรักพริ้มใจนึกคิดถึงเรื่องราวของธรรมะข้อที่ว่าตัวกูของกู
แล้วคิดเคลิบเคลิ้มจินตนาการล่องลอยไป

โบกบิน

เอนกายพักผ่อนนอนไขว้ขา
สายตาสอดส่ายว่ายฟ้าใส
แผ่กิ่งก้านออกเป็นดอกใบ
ลมไกวก็เป็นเช่นสายลม

ฟากฟ้าสีครามอร่ามแอร่ม
อยากไปแซมเป็นเมฆน้อยลอยผสม
สกุณาร่าร้องก้องระงม
อยากไปชมสกุณินด้วยยินดี

ณ บึงหนองคลองใสแอบไหลเอื่อย
จักระเรื่อยไปเล่นลำดำผุดหนี
แม้เจอะปีกปักษิณ กินรี
ก็หยุดที่ข้างขอบแล้วลอบมอง

อยากปิดหูสองหูดูใบ้บอด
สิ้นตลอดเสียงยานยนตร์บนฝั่งสอง
ไม่ขาดสายขาดเสียงเยี่ยงลำพอง
เหมือนจักต้องเป็นตายให้ได้ทัน

จึงอยากเสาะแสวงหาความสงบ
เผื่อพานพบรังรวงสรวงสวรรค์
จักชื่นปาริชาติฉ่ำมากำนัล
ในอ้อมขวัญแห่งโลกการโบกบิน

เที่ยง 9 ธันวาคม 2545


บึงน้ำเคยชุ่มน้ำชื่นเย็นครั้งอดีตกาล
แมกไม้หยั่งรากลึกขนัดแน่น ค่อยๆหายจาก
เมื่อมนุษย์นำพาความเจริญเข้ามาข้องแวะ
วันเวลาและความเปลี่ยนแปลง
ไม่เอื้อให้ทุกสรรพสิ่งดำรงไว้ซึ่งความดั้งเดิมได้
มีแต่ต้องจัดแต่งรักษาบูรณาการไว้ให้มีสมดุล
โดยรบกวนความเป็นธรรมชาตินั้นให้น้อยที่สุด
เพื่อการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งนั้นให้ได้ชื่นชม
ตราบนานเท่านาน

สระสร้าง

สระสร้างน้ำใสกระไอเย็น
น้ำพุพุ่งกระเซ็นฟ่องฟองฝอย
แมลงปอล้อคลื่นวะวอยวอย
จิงโจ้น้อยเล่นน้ำตามอารมณ์

ผีเสื้อหยับปีกมาเว้าว่อน
เงาซ้อนพริ้มเพราเป็นเงาร่ม
โชยชายระบายสายลม
พื้นพรมเย็นรื่นชื่นใจ

นั่งแนบแอบหินติณชาติ
บรรยากาศเช่นนี้มีที่ไหน
เรื่องราวที่เห็นและเป็นไป
ยาวนานเท่าใดที่ดำรง

ใบไม้ร่วงลงตรงผิวน้ำ
เรือน้อยเล่นลำอยู่ไหลหลง
ภาพปรากฏชัดคือวัฏวง
เราคงเวียนว่ายในสายธาร

สระสร้างน้ำใสกระไอเย็น
น้ำพุพุ่งกระเซ็นมาผสาน
โลกนี้เกิดดับมานับนาน
เกิดการเปลี่ยนแปลงและแต่งเติม

บ่าย 9 ธันวาคม 2545


เขาพุทธทองเป็นเนินเขาลูกขนาดย่อม
เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขา ปางพระปฏิมาสงบนิ่งก็เห็นตั้งปรากฏอยู่
ท่ามกลางแมกไม้โปร่งสูง ลมพัดโชยชาย
และผืนทรายที่โอบโค้งโบสถ์กลางแจ้งแห่งนี้เป็นชั้นหลั่น
อาณาบริเวณแดดส่องลอดใบไม้ต้องผืนทราย
ก้าวเท้าที่เปลือยเปล่าลงย่างบนผืนทรายพลันรู้สึกสงบเย็น
ค่อยย่อก้มประณมกราบอธิษฐาน ก็บังเกิดศรัทธา
และที่พำนักอันแท้จริงแห่งตน

ปางปฏิมา

แดดร้อนก็นิ่งยิ่งไฉน
ลมไกวก็เฉยไม่เคยเห็น
ฝนตกไม่ขานว่าซ่านเย็น
เดือนเพ็ญส่องถึงไม่ซึ้งตาม

พระพักตร์ผินไปดังได้บอก
เหมยหมอกเล่นไล้ไม่ไหวหวาม
สงบนิ่งท่วงท่าสง่างาม
ไม่ตามแฟชั่นอันทั้งปวง

เผยแผ่ธรรมจักรรัศมี
ไม่ยึดทรามดีนรกสรวง
ไม่ทักทายท้าไม่ถามทวง
ไม่กลวงแก่นสารไม่บานบน

คราบไคร่ไต่บ้างสรรพางค์อยู่
ไม่ขัดไม่ถูไม่เพ้อบ่น
ไม่ยอกไม่ย้อนไม่ร้อนรน
ไม่ทนไม่ทุกข์ไม่ขุกใจ

เช่นฉะนี้ แลจะเป็นเช่นฉะนั้น
จะคืนวันผันผ่านนานแค่ไหน
คอยดับขันธ์ตามกาลผันผ่านไป
สร้างขึ้นใหม่ก็จะเป็นเช่นดังเดิม

แต่มนุษย์นี้หนอน่าท้อแท้
คิดว่าแน่เพ้อเจ้อและเห่อเหิม
ขอกราบองค์ปฏิมาจุณเจิม
เป็นบุญเสริมที่ลูกใกล้กรายพระองค์

ย่ำค่ำ 9 ธันวาคม 2545


แกเป็นคนจีน ผอม หลังคู้ อาศัยอยู่กุฏิทิ้งร้างหลังหนึ่ง
ระฆังตีบอกเวลาฉันเช้า แกก็จะค่อยๆกระเถิบขาทีละข้าง
กระย่องกระแย่งเดินออกมาจากราวป่า
ไปถึงโรงฉันแล้วก็ลงมือคดข้าว
แกะสำรับกับข้าวอยู่พิพักพิพ่วน ด้วยมือสั่นเทา
พลางพูดอะไรไปพึมพำ ลูกหลานเหลนอยู่ใดกันหนอ
ถึงทอดทิ้งให้อยู่เดียวดาย อาศัยข้าวก้นบาตรไปวัน ๆ

โภคะ (1)

ข้าวก้นบาตร

เหยาะย่างเยื้องมาจากป่าโมก
เยกโยกโยนมาพาสังขาร
"สามขา"ย่างเยื้องเชื่องช้านาน
เต่าคลานเหมือนว่าตาจะเดิน

สำรับกับข้าวฉันเช้าแล้ว
เสียงแว่วกังวานไม่นานเนิ่น
ขอข้าวก้นบาตรไม่ขาดเกิน
ดำเนินชีพรั้งประทังกาย

นั่งนั่งยองยองมองกับข้าว
เผลอหาวบางคราน่าใจหาย
นั่งนิ่งเหมือนว่าตาจะวาย
ตะกุยตะกายสำรับพลาง

กางเกงตัวเก่า เสื้อก็เก่า
เรื่องเล่าเพลาครารุ่งสาง
แล้วก็คล้อยค่ำลงสรรพางค์
เรื่อเรื่อลางลางแล้วสัพพี

เหี่ยวแห้งหนังเนื้อเหลือกระดูก
หลานลูกพานพบแล้วหลบหนี
คดข้าวใส่ชั้นอีกวันนี้
พรุ่งขึ้นอีกมีจะเดินมา..

เช้า ธันวาคม 2545


ฝรั่งมังค่าแวะเวียนมาไม่เคยขาดสาย
มีเรือนพักเฉพาะสำหรับคนต่างชาติ
บางคนทราบข่าวว่าเป็นถึงดอกเตอร์
มาเที่ยวเมืองไทยแล้วมีความสนใจในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งจนไม่อยากกลับ
มีฝรั่งอีกคนหนึ่งแกสวมชุดมีสีสันแล้วออกมาร่ายรำ
ทำโยคะ ฝึกสมาธิอยู่คราวละนานๆให้เห็นกันเสมอ
ไม่เคยเห็นพูดจาพาทีสุงสิงกะใคร
แกคงพูดกับสายลมแสงแดด

โภคะ (2)

โยคะ

เพ่งมองสายน้ำที่เบื้องหน้า
สองแขนซ้ายขวาทำเปะป่าย
สูดลมเช้าชื่นรื่นระบาย
หย่อนคลายโยคะสะโอดสะอง
ดูดกลืนภวพละหมด
ด่ำทิพย์โอสถพิศวง
ธาตุผลึกลึกล้ำดำรง
จิตประสงสัมผัสอัตมัน

กางเกงสีแสดเสื้อสีฟ้า
ไม่ใช่ใบ้อย่าโมหันธ์
โกนหัวเกลี้ยงเกลาใช่เมามัน
คงเป็นแฟชั่นความชอบพอ
ผิวเหลืองผิวขาวแค่ราวเรื่อง
นับเนื่องชาติพันธุ์นั่นละหนอ
เป็นเรื่องชีช้ำกำมะลอ
เทือกเขาเหล่ากอทะเลาะกัน

เขาไม่สนใจใครทั้งหล้า
จากแดนด้าวมาหาสวรรค์
สบแดนปรมัตถ์อัศจรรย์
วันทั้งวันเขาเอมอิ่มเขาลิ้มเล็ม

สาย 10 ธันวาคม 2545


เวลากลับกันมาจากโรงฉันตอนเช้าแล้ว
บางคนนำขนมต้มส้มสูกลูกไม้ติดไม้ติดมือกลับมา
วางไว้บนโต๊ะวางของหน้าระเบียงชานพัก
ใส่ถาดปิดกะละมัง
บางทีก็วางอะไรเผลอเข้าห้องหรือลงมาข้างล่างแป๊บเดียวเท่านั้น
เหล่าลิงทโมนทั้งหลายเหมือนรู้จังหวะลงมาฉกฉวยทั้งทีเผลอ
และบางทีซึ่งหน้าซึ่งตา เอาไปกินสบายใจเฉิบมัน

โภคะ (3)

ลิงทโมน

เล่นลิงทโมนกระโจนไม้
เลาะไต่หลังคาลงมาถึง
แหงนหน้ามองมันทำปั้นปึ่ง
เผ่นผึงหนีไวเล่นไต่ตาม
กินเดือนกินดาวแทนข้าวไม่ได้
ผลหมากรากไม้สุกและห่าม
(ก่อนอยู่ทัพกองของพระราม
แต่ยามนี้ยากอยากรับประทาน)

มากันแต่เช้ารื้อข้าวของ
สบช่องเสาะหาคุ้ยอาหาร
ที่เขาเก็บไว้ในชามจาน
เพ่นพ่านแล้วไปไม่ไยดี
บ่อยครั้งบ่อยคราหน้างอง้ำ
ขยำขยำแล้วขยี้
ค้นหาของกินสิ้นไม่มี
ฉีกโน่นฉีกนี่เกลื่อนกระจาย

เหลือพระฉันเช้าก็เอากลับ
สำรับส่วนรวมไม่ซื้อขาย
ใครหิวใครเชิญตามสบาย
ฝูงลิงทั้งหลาย ลักขโมย

สาย 10 ธันวาคม 2546


ตั้งใจจะขึ้นเขานางเอ อยู่หลายวัน แต่หลงทางไปมาอยู่ในป่า
จนไม่ได้ขึ้นเสียที
ไปพบตอนหลังป้ายบอกทางขึ้นเขาพลัดหล่นอยู่นั่นเอง
สุดท้ายต้องเดินอ้อมไปไกลผ่านสวนรุกขชาติ
ถือว่าได้ชมสวนไม้นานาพันธุ์ไปในตัว พอหายเหนื่อย
ถึงทางไต่ขึ้นเขาค่อนข้างชันเลาะเลี้ยว
มีแต่แง่งหินและรกเรื้ออยู่มาก
แต่ก็พากายขึ้นไปจนถึงยอดสูดลมชมวิวได้สมประดี

นิราศเขานางเอ

ขอขมาลาไหว้ แล้วไต่ เกาะ
ลัดเลาะขึ้นไปใช่ขนม
หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม
ซบซมแผ่นผาศิลาแลง
หนุ่มสาวหนึ่งคู่นั่งจู๋จี๋
ชวนชี้ฟากฟ้าดูหล้าแหล่ง
เขาคงเหนื่อยหายคลายอ่อนแรง
รักคงฝังแฝงมิเสื่อมคลาย
“...เจดีย์สงบนิ่งเหนือสิงขร
แต่กาลก่อนที่เก็บอัฐิสัตว์ทั้งหลาย
รอบเจดีย์นี้เล่าเกลื่อนกระจาย
สถูปทรายรายล้อมจอมอารัญ
พระสงฆ์องค์เจ้าเฒ่าแกแลสงชาติ
ยามชีวาตม์ล่มลับวัยดับขันธ์
ประเพณีเมืองไชยานี้สำคัญ
อัฐินั้นฝังลงตรงนี้แล...”
ลัดลงชมวิวทิวทัศน์
ลมพัดเย็นเย็นเซ็นกระแส
แลล่างพ่างพื้นเรียงเป็นแพ
ชะแง้แลดู สุดหูตา
ฝนตกแดดออกแซมหมอกเหมย
ไฉนเลยผกผันพรรษา
โอ้ กระไรนั้นแล้วแหละแก้วตา
จากลาเหมือนฝนที่หล่นราย
ชื้นชื้นแฉะแฉะเปาะแปะเปียก
พร่ำเพรียกแล้วผละให้ฉงาย
ดุ่มเดินดั้นด้นมาเดียวดาย
ปีนป่ายสูงชันที่ดั้นเดิน
ยอกเคล็ดเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
อยากเรียนวิชาการเหาะเหิน
แต่ใจเพียงพอก็เพลิดเพลิน
เผชิญโลกได้ทั้งร้ายดี

เที่ยง 10 ธันวาคม 45


แมงมุมตัวหนึ่งชักใยลงมาระเบียงที่นอนอ่านหนังสือเล่นอยู่
เห็นแวบๆแต่วันวาน ไม่นึกว่าจะชักใยได้ไวว่องนัก
ชีวิตมันดูเบาหวิวคล้ายไม่มีความหมายใด
แต่ก็ยังทำงานทำการแข็งขันไม่บันเบา
โยงชักถักใยหยากไย่ตั้งหน้าตั้งตาแท้เทียว
ดูสิดูตรงนี้ถึงจะดักมดแมลงแกก็จะได้ชั่วคราวเท่านั้นหรอก
เพราะมันไม่ใช่ที่รกเรื้อรุงรังที่แกจะอยู่อาศัยได้ ทำไมนะ

แมงมุมขยุ้มหัวใจ

ค่อยค่อยชักใยอยู่ไต่เกาะ
ไล่เลาะลงมาแล้วขึ้นใหม่
กลับไปกลับมาแล้วกลับไป
หยับเยื่อหยากไย่อยู่ยักยัน

ชักโยงเชื่อมใยไม่รู้เบื่อ
อาบน้ำต่างเหงื่อใช่ไหมนั่น
รีรอช้าไปจะไม่ทัน
ทุกวันเศรษฐกิจเป็นพิษพัง
แมลงเล็กแมลงน้อยก็พลอยสูญ
ไม่มากมีเพิ่มพูนเหมือนก่อนครั้ง
ซ้ำต้องคอยระแวดและระวัง
นานไปหวังไม่พอกินสิ้นประดา
มีสองเยื่อสามไย่ไม่พอหรอก
ต้องวิ่งรอกเช้าเย็นไม่เห็นหน้า
ทั้งลูกพร้อมจอมขวัญภรรยา
ก็ไขว่คว้าก้นเป็นเกลียวเที่ยวชักใย
ยุ่งกะฉันหน่อยเลยพ่อร้อยชั่ง
เห็นแต่นั่งนวยนาดประหลาดไฉน
ขยับหน่อยตรงนั้นฉันจะไป
ขยายเยื่อสยายใยจะทำงาน
เรื่องบาปบุญฉันก็รู้อยู่เต็มอก
เรื่องเรื้อรกฉันก็รู้อยู่ละท่าน
กาลแปรเปลี่ยนผันไปไม่ทันกาล
นี่ก็กว้านที่ให้เขาไว้เช่าจอง

บ่าย 10 ธันวาคม 2545


ฝนกระหน่ำอย่างกับฟ้ารั่ว พื้นดินชุ่มโชก
แมกไม้ระรื่นใบเปียกย้อยดูมีชีวิตชีวา
เสมือนเด็กๆระเริงเล่น ส่งเสียงเจรจา
ปรอยโปรยละอองลิ่วละล่องมาทบกาย พร้อมอากาศเย็นกระอวลอายขนลุกซู่
รู้สึกฉ่ำเย็นถึงหัวใจ ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งเงียบสงัด
สดับฟังเสียงเม็ดฝนตกกระทบพรั่งพรูไม่ขาดสาย
นกกาเคยส่งเสียงร้องลาลับหายไปไร้ศัพท์สำเนียง

วสันต์รำพึง

ฝนเทโถมถั่งหลั่งจากฟ้า
ส่งเสียงนกกาลาลับหาย
ลิงค่างบ่างชะนีลี้กลับกลาย
เคยทายทักอยู่ก้องกู่ไพร

แมกไม้ยูงยางสรรพางค์ชื่น
ดอกใบแอร่มรื่นอย่าสงสัย
ฝังฝากรากลึกแก่พฤกษ์ไพร
แต่สัตว์ป่าน้อยใหญ่ไหนเล่าเออ
ผ้าผ่อนมีไหมต้องไปเก็บ
หนาวเหน็บจะทำอย่างไรเหรอ
บ้านแตกสาแหรกขาดมีไหมเออ
น้ำเอ่อท่วมขังกระทั่งจม
หรือทำรูเรี้ยวอยู่เคี้ยวคด
พร้อมพรั่งทั้งหมดเตียงผ้าห่ม
นอนอ่านนิยายสบายอารมณ์
ท่อมทับบรรทมเปรียบราชา
เปียกเนื้อเปียกขนทนไม่ไหว
เจ็บไข้ลำบากยากรักษา
อย่าเอาอย่างสัตว์น้ำนานา
เลียนนกแอ่นฟ้าถลาบิน
ต้องมีรวงรังไว้ตั้งหลัก
แหล่งนอนผ่อนพักประจำถิ่น
ต้องรู้เก็บกักขยักกิน
ฟ้าดินเมื่อแล้งต้องแย่งชิง

เช้า 12 ธันวาคม 2545


บนต้นไม้ใหญ่ข้างเรือนพัก
กาฝากเกาะอยู่ตามกิ่งก้านต้น
ตรงนั้นตรงนี้
บ้างชูช่อกอก้านแลดูเติบใหญ่เต็มตัว
คนเราเปรียบกาฝากคือการเสนียดเบียดเบียนโลก
แต่ใครจะเฝ้าตระหนักว่าบางทีวัฏวงของธรรมชาติ
จะเกิดก่อเกื้อกูลกัน
เพื่อความสมดุลในการยังชีวิตอยู่
เปรียบสรรพชีวิตทั้งหลายที่ต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน
ไม่อาจอยู่ได้โดยโดดเดี่ยวเดียวดาย

ฝาก

กาฝาก กาฝากไว้
เขียวเขียวใบ ไหวสลวย
พวงพุ่ม ระรุ่มรวย
เพียงภักษา ผลาหาร

จากราก ฝากลำต้น
ปรับปรุงปน แบ่งเป็นทาน
เอื้อเฟื้อ และเจือจาน
ให้ชีพหนึ่ง ได้พึ่งพิง

ลำต้น ตนเติบใหญ่
ทั้งดอกใบ ไปก้านกิ่ง
ชิดแนบ อยู่แอบอิง
พันเลาะเลี้ยว เกาะเกี่ยวกัน

คบคา ได้อาศัย
เรียงร่มใบ มาแต่บรรพ
แสงแดด สายลมปัน
ไม่ถือสา น่าชมชัว

กาฝาก ยังฝากฝัง
ไม้ใกล้ฝั่ง ไม่ต้องกลัว
ฝากอยู่ คู่กับตัว
ไม้ฝังราก ฝังฝากดิน

บ่ายคล้อย 14 ธันวาคม 2545


ทอดกายนั่งเหม่อมองด้วยอารมณ์เย็นสบาย
แดดร่มครึ้มเมฆมัวฝน
ไหวระลอกลมพัดโชยทิวไม้ยินนกร้องร่ำ
น้ำที่ไหลทอดเอื่อยลงมาพัก ณ สระนาฬิเกร์
มะพร้าวยืนต้นโด่เด่อยู่กลางสระ เงาที่ทอดค่อยๆจางหาย
ราวป่ารอบรายทอดความมืดมาแตะจับสรรพสิ่ง
ผ่านเรื่องราวมาเช่นไร โดดเดี่ยวเดียวดายบ้างไหม
ฉันแว่วยินเสียงเฝ้าถามของหัวใจ

นาฬิเกร์

เมื่อมามีไรมาด้วยเล่า
หนักเบามีแค่เพียงแต่ขันธ์
จากมาไปเปล่าก็เท่ากัน
แล้วมีสิ่งอันใดเล่ามี

แดดลาก็ลับลบเลือนหาย
อยู่กลางสระเดียวดายทุกวันวี่
ผ่านวันผ่านคืนผ่านเดือนปี
ยอดชี้เด่โด่คอยโห่ยาม
น้ำกระเพื่อมเลื่อมไหวไม่ยึดติด
ต้อยตีวิดส่งเสียงเพียงจะถาม
ว่าโดดเดี่ยวบ้างไหมในเขตคาม
จึงตอบตามที่เห็นเช่นนั้นเออ

เมื่อตะวันส่องฉายระบายแสง
ฉันก็แจ้งกายฉันมั่นเสมอ
ต่อตะวันเคลื่อนคล้อยค่อยเจอะเจอ
ไม่เผยอขีดเส้นเข่นกับใคร
มีเพียงน้ำสระจ้อยคอยรองรับ
รูปเงาทับฉันก็ทอดตลอดสมัย
พอย่ำค่ำร่ำร่ำร้องหริ่งเรไร
แสงสุกใสพราวกระพริบดังนิพพาน

ย่ำเย็น 14 ธันวาคม 2545

หย่อนคลายป่วยไข้ในวิญญา

ผมไปสวนโมกข์ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2546
ที่นี่แม้ยังดูเหมือนเดิมมาทุกอย่าง
แต่ก็มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้แลเห็น
อย่างหนึ่งคือพื้นลาดปูนยื่นออกมาจากชายคานิดหน่อยที่โรงฉัน
ร่องรอยจากการมาเยือนของผู้คนซึ่งหลงเหลืออายอวลอยู่
หญ้าที่ถูกตัดโดยเครื่องมือเมื่อหลายวันก่อน
กิ่งก้านไม้ที่หักลิดรอนไป
และข้าวของเล็กๆน้อยๆที่ยักย้ายที่ทาง

ส่วนกิจวัตรและสถานที่ทุกอย่างอยู่คงเดิมมิแปรเปลี่ยน
อย่างน้อยที่นี่ก็รักษาความเป็นธรรมชาติและเรียบง่ายไว้
ถึงเวลาสี่ทุ่มไฟก็ดับ ทีวีวิทยุไม่มี
มีเพียงห้องสมุดเล็กๆไว้ศึกษาธรรมะพระไตรปิฎก
และรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองบ้าง
และน้ำดื่มกินยังเป็นน้ำฝนอยู่เหมือนเดิม

ณ สถานที่อย่างนี้ หลายแห่งหนเฉพาะอย่างยิ่งในซีกเมืองนั้น นับวันแต่จะทิ้งรูปรอยดั้งเดิม
แทนที่ด้วยตึกรามผุดราย
การได้อยู่ในเมืองเราอาจวุ่นวายกับชีวิตรอบด้าน
ไม่ให้โอกาสในการพินิจพิเคราะห์ความเป็นไปของชีวิตนัก

อย่างน้อยที่นี่เราได้นั่งเพ่งมองสายน้ำไหล
นั่งแนบอยู่กับผืนทราย
ขณะเกลี่ยกวาดใบไม้ด้วยความเพลิดเพลินนั้น
เราอาจได้เพ่งมองความละมุนละไมของสรรพชีวิต
สดับข้างใน ผ่อนความหนักอึ้งของภาระทั้งหลาย
คลายความป่วยไข้ในวิญญาณที่เราต้องดิ้นรนขวนขวาย
ตะกายตะเกียก และแบกรับกันเอาไว้

เมื่อมาถึงที่นี่ก็จง “เดินดูให้ทั่วเสียก่อน”
ส่วนใครจะได้อะไรไป หรือละทิ้งอะไร

Comment #1
Posted @July,27 2008 23.35 ip : 222...185

ย่างเยือนกลับสู่ถิ่นเก่าเคยมาอีกครั้ง
ย่างเท้าลงผืนดินอันชื่นเย็นเป็นธรรมชาติที่สัมผัสได้
เสียงใบไม้ไหวต้อนรับทักทายชวนสนทนา
กลับมาค้นหาคว้าไขว่อายกลิ่นลางอย่างให้รำพึงรำพันอีกสักครา ภายใต้กรอบกฎแห่งโลก
เรามาสู่อีกบทที่ให้เรียนรู้สดับธรรม สนทนากับหยาดน้ำค้าง และอ่านหนังสือเล่มใน
สัมผัสตัวตนที่แท้ น้อมนำสู่ความสงบเย็น

นิวาสถาน

กลับมาอีกครั้ง มาฟังเสียง
สรรพสำเนียงยุคสมัย
จากแจรงแสงสี ศิวิไลซ์
มาสู่ป่าไพรแดนฝนพรำ

เสียงไหวใบไม้คล้ายต้อนรับ
การหวนคืนกลับมาร้อยร่ำ
แผ่นดินชื่นเย็นเป็นลำนำ
เท้าย่ำนำพากลับมาเยือน
สัมภาระทั้งหลาย วางไว้ก่อน
พักผ่อนเอนกายคล้ายกับเพื่อน
ณ ถิ่นนี้หรือก็คือเรือน
แห่งการย้ำเตือนและปลอบโยน

มาเถิดน้อมนำธรรมชาติ
งดงามพิลาสไร้หัวโขน
ไหวหวั่นครั่นคร้ามตามอ่อนโอน
ทโมนค่อยคิดพิจารณา

เพื่อพักผ่อนนอนหลับในทับทิพย์
แผ่วกระซิบบรรเลงบทเพลงว่า...
ก่อนจากไปสู่โลกกว้างทางมายา
ได้ศึกษาอาศัยอยู่ในธรรม

บ่าย 5 สิงหาคม 2546


บริเวณอ่างอาบน้ำรายรอบด้วยไม้ร่มครึ้ม
มีกระจกสีชาด้านเก่ามัวกรอบบิ่นอยู่บานหนึ่ง
ไว้ให้ส่องดูหน้าตาพอเป็นพิธี
ทั่วอาณาบริเวณทั่วไปก็ไม่กระจกที่ใดอีก ที่นี่มีการมองภายในมากกว่าภายนอก
กระนั้นคนเราก็ต้องส่องรูปยลกายของตนบ้างเป็นธรรมดา
กระจกที่ส่องให้เห็นหน้าค่าตา เมื่อใจสงัดสงบแล้ว
ได้เห็นบางอย่างมากกว่ารูปราย

คันฉ่อง

พิศกระจกทุกครั้งแลตั้งอยู่
เห็นตัวกูอยู่ตั้งครั้งละหน
เห็นเนื้อหนังมังสาหน้าตาตน
(หารอยย่นไม่เห็น ค่อยเย็นใจ)

หรอกกระจกนั้นบานสีด้านชา
เห็นนานาวาวัดหาชัดไม่
ขุ่นมัวเกรอะกรีดขูดขีดไว้
นั้นพอแลเห็นได้ว่าใช่คน
มองตอนถูฟัน ส่ายสั่นหน้า
ทำตาหยีหยีปากบี้บ่น
มือสองไขว่คว้า สาละวน
ยิ้มยล ยลยิ้มเหมือนอิ่มบุญ

มองสารรูปให้จูบหอม
กายค้อมเอี้ยวขวับกลับหลังหมุน
แม้หมองฝ้ามัว หม่นละมุน
ยังคุณคันฉ่องส่องรูปราย

ก่อนเคยทุกข์เข็ญเป็นที่ตั้ง
นอนนั่งแนบในไม่สลาย
พลันแวบวกกลับลาลับกาย
เลือนหายไม่เห็นว่าเป็นไร

เช้า 6 สิงหาคม 2546


ฉันพิงไม้เท้าไว้ที่โคนเสาใต้พักเพิงร้านค้า
เผลอไผลไปหน่อยเดียวเท่านั้น พลันสะดุ้งโหยง
ร้องเอ๋งของสุนัขตัวหนึ่ง ซึ่งแอบนอนคุดคู้หลบร้อนอยู่ใกล้ๆ
ถูกฟาดด้วยไม้เท้าลงที่กลางหลัง
พร้อมเสียงแช่งชักหักกระดูก ส่ายหน้าอิดระอา
มันคงนึกงุนงงสงกากระไรนักคนเรา
และคงนึกหัวเราะอย่างขื่นขมว่าเรามันหมาขี้เรื้อน
ไม่ได้ประเสริฐเลิศเลอเหมือนมนุษย์มนา

สุนักขา

ไม้เท้าตั้งนิ่งลงพิงวาง
เขาเอาเขวี้ยงขว้างลงกลางหลัง
ไม่ทันจะได้ระไวระวัง
เผลอพลั้งมานอน ซ่อนขดกาย

โพล่งร้องเอ๋งเอ๋ง เขย่งลุก
เป็นผู้บุกรุกไม่คาดหมาย
หวังมาหลบร้อน มาผ่อนคลาย
หลบภยันตราย ใต้พักเพิง

กระโจนไปกลางแดด แผดลามเลีย
ใจเสียอยู่กลางความว้างเวิ้ง
ร้อนแดดอีกครั้ง ถะถั่งเพลิง
แต่มิเท่าร้อนเริง เพลิงใจคน
แดดก็ร้อนคนก็ร้าย ไม่คลายร้อน
ใจทอดถอนรำพัน หวั่น สับสน
ว่าดูก่อนดูหนาสาธุชน
เกิดเป็นคนเกิดเป็นหมาดีกว่ากัน

สาย 6 สิงหาคม 2546


ที่โรงมหรสพทางวิญญาณนั้น
จิตต้องสงบ พร้อมรับความหมายที่อยู่ในภาพ
ถ้ามาแบบท่องเที่ยวเดินชมเพื่อความเพลินเพลินอย่างเดียวอาจไม่ได้อรรถรสนัก
การเพ่งพิศให้เห็นด้วยตาต้องสัมผัสให้ถึงผัสสะปรุงแต่งนั้นๆ เพื่อซึมซาบปลดปลง หรือเกิดสภาวะลุกตื่นของดวงจิต
แบบฉับพลันทันที ตามรูปอารมณ์
เปรียบแม้นท่องไปในโลกหล้า ชมมหรสพทางวิญญาณ

มหรสพ

เรามองเห็นอีกด้านอีกการเห็น
และเราเป็นอีกด้าน บันดาลวิถี
ไม่อาจก้าวล่วงพ้น ตัวตนมี
จึงเป็นโดยดุษฎี ธรรมดา
ใครแบ่งโลกเป็นสอง ครรลองโลก
วิปโยค โศกซ้ำเงื่อนงำปริศนา
อาจถ้อยคำรำพัน จำนรรจา
ทะลุล่วงมายาร้อยเล่ห์กล

ในคนหนึ่งอย่างหนึ่งอย่างพึงหวัง
ในฟากฝั่งฟากหนึ่งจึงเหตุผล
ในผิดถูกชั่วดีชี้ค่าระคน
เกิดไกกลมนตรามาครอบครอง
เมียงมองตนในตน เห็นคนอื่น
ไม่รู้ตื่นในตน ในคนทั้งผอง
อาจ ไม่อาจหลุดพ้น ให้ตนตริตรอง
จึงจำต้องถ่องแท้ ตามแต่วิธี

ก่อนมองเห็นอีกด้าน อีกการเห็น
เพื่อการเป็นอีกด้าน เบิกบานวิถี
สดับถ้อยชีวิต ไร้ทฤษฎี
มองอีกทีให้เห็นธรรม ประจำดวงตา

บ่าย 6 สิงหาคม 2546


เรี่ยรายระเกะระกะอยู่รอบๆโรงปั้น พิงโขดเขินพะเนินไม้ใต้ร่ม
คือรูปปั้นเก่าคร่ำคร่า ตะไคร่ราเขียวครึ้มเกาะไต่
แต้มเติมแต่ละแผ่นภาพชาติภพและพุทธประวัติแต่ละช่วงกาล
ให้ดูศักดิ์สิทธิ์สถิตมั่นอยู่ในอดีตโพ้น บ้างหักรานบ้างจมจ่อมในด่างดิน
เถาวัลย์พันไต่ไล่เลาะร่วมร้อยจินตภาพ
หวนไห้ไหว้กราบซาบอารมณ์หลุดพ้นไปสู่บรรพกาล

โรงปั้น

ปั้นภาพไว้ซาบซับ
รูปประดับ ธ โคดม
ตัดลาอยู่อาศรม
ห่มผ้าเหลืองเปลื้องแพรพรรณ

ก่อรูปเป็นที่ตั้ง
แต่เมื่อครั้งเวฬุวัน
หินทรายปูนรวมกัน
กลั่นเบ้าหลอมน้อมบังคม

เรียงรายหลายราวเรื่อง
โลกกระเดื่องเซื่องโศกตรม
ดับหายทลายจม
ซบสะอื้นผืนพสุธา

ม่านไม้ก็ไต่เกาะ
คราบไคลเราะเวทนา
สดับกับประดา

ศิลาแลงแปลงร่างลง

เกิดที่มีชีวิต
นิรมิตจิตจำนง
ดำรูอยู่ดำรง
ประจงมั่นประจัญมา

เย็น 6 สิงหาคม 2546


เด็กวัดที่นี่มีอยู่สามสี่คน เป็นหนุ่มเหน้าแล้ว
คนหนึ่งพักอยู่โรงปั้น จะมาช่วยจัดสำรับกับข้าวเป็นกิจประจำ
พวกเขาจะเป็นธุระอะไรกันบ้างนั้นไม่ทราบ
แต่ที่สวนโมกข์นั้นคงมีกิจให้รับใช้อยู่ครามครัน
ดูวิถีชีวิตพวกเขาแล้วมานั่งคิดว่า
คนเราแม้ไม่มีเงินทองใช้จ่าย แต่อยู่ดีมีสุขได้
พวกเขามีหน้าที่เป็นผู้รับใช้พระศาสนาเป็นโภชน์ผลแก่ตนเอง

เด็กวัด

ทุกเช้าเขาจัดแจง /สำรับ
ตระเตรียมไว้สำหรับ /พระสงฆ์
เรียงรายตามลำดับ /คาวหวาน
คอยรับและคอยส่ง /ถ้วยชาม

ไม่ได้เล่าเรียนเพียร /ศึกษา
สำเร็จการวิชา /แต่ไหน
หากทำทุกคราวครา /แคล่วคล่อง
คอยคำนับรับใช้ /ไหว้วาน

ของดีและมีคุณ /หนุนเนื่อง
ไม่ปล่อยให้เปล่าเปลือง /ถวาย
เป็นค่าสลึงเฟื้อง /โยมญาติ
ให้แรงกำลังกาย /กอปรธรรม

นิทราเพลาพอ /มืดมิด
เพื่อทำชอบกอปรกิจ /แต่สาง
ให้ทันบรรพชิต /บิณฑบาต
(หน้าตาไม่ทันล้าง /บ่อยไป)

แต่เป็นซึ่งวิถี /มีค่า
ให้กับวัดกับวา /ทุกสมัย
สิ่งทำจะนำพา /เสริมส่ง
เด็กสวรรค์ไสว /ใบบุญ

บ่าย 7 สิงหาคม 2546


พูดกันว่าลุงคนหนึ่งที่พักอยู่ที่กุฏิหลังหนึ่งได้เสียชีวิตแล้ว
เมื่อรุ่งสาง
ประเดี๋ยวจะนำศพมาตั้งที่ศาลาโรงธรรม
ลุงเคยเป็นสารถีของที่นี่มาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ
จนสังขารไม่อำนวยให้เดินเหินไปไหนอีก
อยู่ตัวคนเดียวเดี่ยวโดด
อาศัยข้าวปลาจากเด็กวัดนำไปให้แต่ละวันๆ
รอวันจากไปอย่างไร้ญาติขาดมิตร
แล้ววันหนึ่งข่าวการตายก็เดินทางมาถึง

อพิโถ

เป็นคนเก่าแก่มาแต่หลัง
เมื่อครั้งนมนานกาลสมัย
ผ่านคืนผ่านวันและผันวัย
พลขับรับใช้ได้อับปาง

ดับลงง่ายง่ายคือตายจาก
พลัดพรากโลกนี้เป็นผีสาง
ทางเดินต่อไปใครนำทาง
ฤๅคว้างเคว้งใดไม่อาจรู้
ข่าวของการตายคล้ายลมพัด
บ้างเงียบสงัดสงบอยู่
บ้างก็เปรี้ยงปร้างและพร่างพรู
นั้นอยู่ที่ใครถึงคราวครา

ฟังว่าดับลงสิ้นสงสัย
ถึงวัยอยู่ยังของสังขาร์
ไม่มีกำลังและวังชา
ข้าวปลาอาหารต้องจานเจือ
หลับตาลาจรไปตอนค่ำ
ลำนำเดียวดายช่างร้ายเหลือ
ญาติมิตรไม่มีไม่เหลือเฟือ
เนื้อหนังมังสาญาติโก
ลำบากยากเข็ญเช่นไรมี
แต่นี้สบายไปอักโข
ยังแต่พระอภิธรรมสวดพุทธโธ
อพิโถเขาจำได้เมื่อวายวาง

เย็น 7 สิงหาคม 2546


รูปจำลองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
แบบอย่างมหายานอายุกว่าพันปี ตั้งอยู่เยื้องโรงฉันหน้าเขาพุทธทอง ประติมากรรมปั้นครึ่งท่อนแขนหัก โดยท่านเขมานันทะ สะท้อนถึงอุดมคติของพุทธศาสนิกชนคือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ แทนความสะอาด สว่าง สงบ เฉกเช่นรูปเงาแห่งพระองค์ทุกรูปนาม

การกลับมาแห่งรูปเงาของพระองค์

เพ็ญพักตร์พระองค์ทรงแย้มสรวล
รัญจวนก่องฉายรำบายศรี
แลโลกย์น่าถวิลด้วยยินดี
อารมณ์สุนทรีคลี่เบิกบาน

สำรวยขวยเขินที่เทอญเทิด
ว่าทรงประเสริฐข้ามสงสาร
บำบวงประทิ่นกลิ่นกำยาน
ซาบซ่านซึ้งทรวงห้วงโคดม
ปั้นปึ่งบึ้งตึงแลขึ้งโกรธ
ถือโทษติเตือนเหมือนจะข่ม
กิริยาอาการอันจ้านจม
ก่อเกิดเงื่อนปมให้ขมเคือง
หนึ่งหยาดน้ำตาหยดมาเผาะ
แสนเศร้าซอนเซาะให้ซึมเซื่อง
กอปรเรื่องเราะร้ายกำจายเมือง
สืบเนื่องโศกศัลย์จำนรรจา

เยี่ยมยลกลับเยือนเสมือนเหย้า
แนบเนาเนิ่นนานและหนักหนา
แสนสุดสูงส่งโปรดลงมา
แต่จักพาให้พ้นด้วยตนเอง

บ่าย 8 สิงหาคม 2546


ที่วัดธารน้ำไหลในครั้งนั้น สงฆ์รูปหนึ่ง
จาริกมาแสวงหาที่บำเพ็ญธรรมเผยแผ่พุทธศาสนา
ที่ซึ่งสงบร่มรื่นชุ่มเย็นอันก่อเกิดของสายน้ำ
ภายใต้โอบอ้อมของขุนเขา
และแมกไม้นานาพันธุ์ที่สร้างธารน้ำไหล
ให้ความชื่นเย็นหนุนเกื้อต่อกันให้สรรพแวดล้อมนี้เอง
ได้จุดประกายให้ลงหลักปักสร้างอาณาไว้เป็นสวนโมกขพลาราม

ธารน้ำไหล

ได้มานั่งอิงตลิ่งซบ
ชมห้วงมหรรณพอันปรารถนา
ได้พบได้เห็นเป็นบุญตา
ท้องท่าต้นน้ำและตำนาน

ยินเสียงน้ำไหลใจสะท้อน
เหมือนใครซุกซ่อนความอ่อนหวาน
เกิดเป็นเรื่องราวเนิ่นยาวนาน
ซาบซ่านซึ้งใจแค่ได้ยิน
แนวป่าชุ่มชื้นทั้งผืนป่า
ค่อยย้อยหยาดมาลงพื้น-ถิ่น
เกิดเป็นน้ำใสล่องไหลริน
อาบกินดื่มใช้ได้ประทัง

มาไหลโรยแรงแลแห้งโหย
ปรายโปรยฟ้าฝนเคยล้นหลั่ง
เคยชุ่มฉ่ำมีไม่จีรัง
เมื่อครั้งก่อนนี้ดังมีมนตร์
เถิดความฉ่ำชื่นแม้ตื้นเขิน
เผชิญฤดูกาลผ่านห้วงหน
ซุกตัวซ่อนกายเป็นสายชล
อย่าขุ่นข้นแห้งขอดตลอดไป

ย่ำค่ำ 8 สิงหาคม 2546


ปกติที่สวนโมกข์ เป็นที่ทราบสำหรับผู้มาพักว่าถึงเวลาสี่ทุ่มก็จะปิดไฟ เปิดอีกครั้งตีสี่ ซึ่งเป็นเวลาเตรียมตัวทำวัตรเช้า ดังนั้นใครจะทำกิจธุระอะไรต่างๆช่วงเวลานี้ก็ใช้เทียนต่างไต้กันไป
ประมาณสองทุ่มเห็นจะได้ผมกำลังอ่านหนังสือเขียนบันทึกอะไรอยู่เพลินๆ...


พลันความมืดมนอนธการ
โชติช่วงชัชวาลรัศมี
หนุ่มน้อยจุดเทียนเขียนวลี
ถามว่าชีพนี้คือสิ่งใด

เปลวเทียนวูบวับจะดับแสง
แล้วเจิดแจรงขึ้นมาใหม่
ชีวิตที่เห็นและเป็นไป
มีเกิดดับได้ธรรมดา
มีมืดย่อมมีที่สว่าง
มีบ้างไม่เป็นเช่นปรารถนา
บางสิ่งบางอย่างอาจค้างคา
หลับตาลงได้แต่ใจนึก
เพราะใจฟุ้งซ่านมานจึงหมอง
ให้กิเลสครอบครองไม่รู้สึก
ทุ่มเถียงทุ่มทำอยู่ล้ำลึก
ค่ำคืนดื่นดึกจรดล
มอดเทียนมลายแท่งเพื่อแสงส่อง
แตะต้องวาววามงามห้องหน
แล้วคนเล่าหนาคำว่าคน
วุ่นวายวกวนหรือว่างวาง

ค่ำ 8 สิงหาคม 2546


ราวตากผ้าอยู่ที่โล่งโปร่งริมสนามหญ้า
ข้างเรือนพักและโรงธรรมเก่า
แดดจ้าลมโชยพัดตลอดเวลา
ซักผ้ามาตากแล้วแห้งเหือดไม่ช้านาน
แม้ผ้าที่ซักจะไม่มีเครื่องปั่นให้แห้งเหมือนเครื่องซักทุกวันนี้
แต่ก็ไม่อับแดดอับลมเหมือนที่พักของคนเมืองยุคใหม่
นั่งเมียงมองดูผ้าแพรพรรณหลากสี
ที่ผลัดเปลี่ยนกันมา
เล่นแดดล้อลมสนุกสนานร่าเริงร่ายรำระบำ
เพลินใจเพลินตาเพลินอารมณ์

ซัก

แรงลมพรมพลิ้วปลิวสะบัด
น้ำสลัดหยดย้อยปรอยปรอยหล่น
อาทิตย์ทอแสงแรงร้อนรน
ผ้าบนราวตากหลากแพรพรรณ

ที่มากันก่อนที่ร้อนแผด
เปื้อนแปดแดดลมก็น้ำหลั่น
เหมือดเหมือดเอือดชื้นกลับคืนพลัน
วัยวันอาภรณ์ก่อนเป็นมา

เห็นความสดใหม่ไหวลมเห็น
หยดน้ำกระเซ็นเห็นเนื้อผ้า
ระริกพลิกพลิ้วริ้วลีลา
สีสันหรรษาในอารมณ์

เที่ยง 9 สิงหาคม 2546


กลางวันโล่งโปร่งแลดูสงบเงียบ
แมกไม้ยืนต้นเรียงรายตามชั้นหลั่นของลานทราย
โอบด้วยหินโค้ง
ลมโชยชื่นผืนทรายเกล็ดแก้วแวววาว
แดดส่องใสลอดใบไม้ไหวลงมา
ต่อแว่วเสียงทำวัตรเย็นแว่วขึ้น
ใต้อาณาสงบครึ้ม กลิ่นกำจายของธูปคละคลุ้ง
ประสานกับเสียงธรรมบรรยาย
เราแตกฉานธรรมได้
โดยไม่จำเป็นต้องมีโบสถ์วิหารตระการตา

ลานหินโค้ง

ณ โรงธรรมแห่งนี้มีฝาฟาก
ยืนหยัดรากเรียงรายพฤกษ์ไพรสณฑ์
พื้นปูด้วยทรายดินถิ่นมณฑล
ดึกดื่นยลหลังคาดาราพราว

คือแดนดินถิ่นฐานลานธรรมะ
มาลดละทุกขังมาฟังข่าว
มาทำวัตรเช้าเย็นเป็นเรื่องราว
หรือเพียงก้าวย่างเหยียบเคียงเลียบไป
ณ ลานหินโค้งที่โปร่งปลอด
ผู้มืดบอดปลดปลงผู้สงสัย
เลือกนั่งลงริมขอบตามชอบใจ
ประณมไหว้เอาฤกษ์ใจเบิกบาน

ไม่มีใบระกาช่อฟ้าโบสถ์
ให้คนโจษจันไกลไปเล่าขาน
มีเพียงธรรมเทียบถึงกึ่งทะนาน
ได้ด้วยการสดับรับเสียงธรรม

หนึ่งเม็ดทรายผนึกแน่นเป็นแผ่นผืน
ต้นไม้ยืนหยัดราก ใบไม้ร่ำ
แสงระบายทรายหินรินระบำ
ฉันกอบกำเพ่งพิศแล้วคิดครวญ

บ่าย 9 สิงหาคม 2546


เมื่อเหลือข้าวหรือเศษอาหารต่างๆ
ลางคนนำไปโปรยให้กับพวกปลาในสระในบางครั้ง
พวกปลาเหล่านั้นคงอดอยากปากแห้งมานาน
เมื่อมีอาหารมาจานเจือจึงตอดฮุบกันดูตะกละตะกราม
ตะก่อนร่อนชะไรก็อยู่กันมาได้ดี
มีคราบตะไคร่เป็นอาหาร
ตอนนี้ใครมานั่งที่บันได
พวกมันจึงแหวกว่ายผลุบโผล่
สาละวนมาให้เห็นตัวอยู่ไหวๆ

มัจฉา

เฝ้าคอยเจือจานเขาทานแจก
ว่ายแหวกไหวไหวในสระหวัง
เห็นมาแต่ไกลดีใจจัง
หย่อนนั่งลงพักจำหลักลง
มาวนมาว่ายมาทายทัก
วันนี้หน่ายหนักอานิสงส์
ไม่ได้ดังใจเจตจำนง
ยังคงปากแห้งอยู่แล้งตรม
ว่ายแหวกแถกน้ำไปตามกัน
กาลผันผ่านไปไม่สุขสม
ครั้นแล้วเบื่อหน่ายในโลกกลม
หาชมใดชอบไม่ตอบตา
เห็นแต่น้ำขุ่นคราบตะไคร่
สัตว์สาน้อยใหญ่ไม่พึงปรารถนา
เช้าสายบ่ายเย็นเล่นไปมา
หิวหาของแปลกที่แผกอัน
เมื่อโปรยเศษข้าวลงพราวผิว
ละโลดลิ่วตอดตุบเข้าฮุบมั่น
สิ้นแล้วเบ็ดเสร็จเอร็ดครัน
รอวันนั้นมาช่างช้านาน

ก่อนเคยอยู่ได้เที่ยวว่ายแหวก
จึงเริ่มจำแนกในสนาน
ครั้นไม่มีมาทรมาน
แอกอานปานมาดจะขาดใจ

บ่ายคล้อย 9 สิงหาคม 2546


บัวที่อยู่ในบ่อนี้สะดุดตา ดูนิ่งสงบกล้าแกร่งทัดทานแดดลม
ลักษณะใบกลมมีขอบใบคลาคล้ายกระด้งสาน
บัวบางชนิดชูช่อใบขึ้นเหนือน้ำ
บางชนิดจมจ่อมอยู่ในน้ำและโคลนตม บางชนิดก็ปริ่มๆน้ำ
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบคนสี่เหล่า
แต่บัวชนิดที่แลเห็นกลับลอยอยู่ในน้ำไม่พ้นไม่จมไม่ปริ่มน้ำ
หากแต่ลอยวนชลมารคหลากหลั่นสืบไป

บัวกระด้ง

เป็นบัวเบิกใบไม่เห็นดอก
ไหวระลอกไปตามยามน้ำไหว
มาจากแว่นแคว้นแดนถิ่นใด
แลทุกบัวใบไม่เห็นกอ
เป็นบัวลอยน้ำไม่ต่ำตก
ไม่ยอมชูยกเหมือนชูศอ
เพียงพื้นผิวน้ำคอยพะนอ
ใบห่อเป็นทรงกระด้งกลม
ไม่ต่ำติดตมอยู่จมเกลือก
ไม่พลอยไสเสือกห้วงน้ำห่ม
ไม่เพียงปริ่มน้ำอยู่ระงม
ล้อลมแดดฝนหล่นพร่างพรู
ยังคอยลอยวนชลมารค
แม้น้ำล้นหลากก็ลอยอยู่
คราน้ำหลั่นลงก็คงคู
ลอยลู่ในน้ำตามสบาย
แม้นน้ำเน่าเหม็นคงเช่นน้ำ
ยังทอดลำนำไม่แหนงหน่าย
เมื่อน้ำใสสดจรดกาย
ลอยชายเฉิดฉันท์สัมพันธ์พงศ์

เช้า 11 สิงหาคม 2546


มีอยู่หลายทางที่เป็นบันไดให้ขึ้นไปบนยอดเขาพุทธทอง
มีที่รกเรื้อไปด้วยแมกไม้และเชิงเขาสูงชัน เป็นโขดเขิน
ก็พอที่จะแทรกตัวเป็นทางลัดเลาะขึ้นไปได้
ลองเหนี่ยวตัวเกาะกิ่งไม้แง่งหินบุกฝ่าไปตามประสา
ฝ่ารกเรื้อด้วยหนามไหน่ขึ้นไปชั้นหนึ่ง
ก็พบรอยทางเก่าๆ ทอดไปที่ดูมืดครึ้ม
ท้าทายให้ก้าวเดินหรือจะหลีกพ้นไปอีกทางตามแต่ใจนำพา

ป่ายปีน

ปีนป่ายก่ายเกาะเลาะแง่งหิน
เนินดินไม้ปรกกิ่งรกชัฏ
บุกป่าฝ่าไปใจกระหวัด
ขึ้นข้างทางลัดไต่ตัดไป

ออกแรงอีกนิดคิดอีกน้อย
ค่อยค่อยก้าวข้ามหลีกหนามไหน่
เห็นแนวเหยียบย่ำอยู่รำไร
ทะลุครรไลไปพบทาง
เป็นชั้นหลั่นลาดพาดเพิงเขา
แก่เก่าพ่างพ้นเศร้าหม่นหมาง
มีเพียงรอยพรากที่จากจาง
หยุดกลางทางที่ไร้วี่แวว
จักก้าวเดินไปอีกใจหนึ่ง
เท้าจึงค่อยสอดทอดทิวแถว
กลับคิดอีกครั้งหันหลังแจว
เดินแน่วกลับมาแล้วหน้าเดิน

จึงมาถึงทางที่กว้างใหญ่ ถึงชั้นบันไดไต่โขดเขิน
ก้าวฉับฉับไวไปยอดเนิน
เหน็ดเหนื่อยเหลือเกินแต่ภูมิใจ

เที่ยง 12 สิงหาคม 2546


แม้จะสุขสงบอยู่กับสวนโมกข์จนซาบซับสู่ห้วงหัวใจแล้ว
กระนั้นคราจากจรกลับรู้สึกกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษ
เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า อาบน้ำแต่งตัวแล้วสดชื่น
เดินเตร็ดเตร่ไปสูดลมเช้าชื่น นึกคิดถึงคืนวันที่ผันผ่าน
ก้าวเดินออกมาแล้วรู้สึกถึงกลิ่นอายของอิสรเสรีบางอย่าง ทอดยาวอยู่ในเส้นทาง

ลาจร

ลาแล้วลาจรขอพรช่วย
ให้ร่ำรวยเงินทองเรื่องสองสาม
ทรัพย์สถานสถูปแค่รูปนาม
ของดงามในธรรมล้ำเลิศจริง

ได้เกิดมาหนึ่งหนเป็นคนพุทธ
นั้นแสนสุดวิเศษสมเจตยิ่ง
ได้พบสัจธรรมนำพึ่งพิง
เป็นขวัญมิ่งมงคลกับตนตัว

พุทธสอนให้ละวางในลางเรื่อง
แลนับเนื่องสำคัญในอันขรัว
ตั้งแต่เกิดจนตายได้พันพัว
แต่ดีชั่วเท่านั้นสำคัญมี

มิใช่เลือกเปลือกยิ่งแล้วทิ้งแก่น
ดังด้าวแดนเขตคันทุกวันวี่
สร้างชุดธรรมโฆษณ์โบสถ์เจดีย์
เป็นสง่าราศีเจ้าตนกู

ได้มาอยู่สวนโมกข์พบโลกใหม่
ร่มพฤกษ์ไพรแดนดงดำรงอยู่
ฆราวาส บรรพชิตจิตดำรู
กลับคืนสู่ความงามง่าย สบาย เบา

สาย 13 สิงหาคม 2546

ลาจรร่อนเร่ทะเลชีวิต

ได้มาพำนักพักพิงที่สวนโมกข์ ได้รู้จักสวนโมกข์มากขึ้น
ในแง่มุมต่างๆ
และมีโอกาสได้บันทึกเรื่องราวต่างๆไว้

สวนโมกข์และท่านพุทธทาส ภิกขุ แทบจะเป็นซึ่งสิ่งอันเดียวกัน
ชื่อเสียงเรียงนามที่ขจรขจายไป ชักจูงให้สาธุชนทั้งหลาย
แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนมิขาดสาย
หลายคนกลับมาใหม่และมาเป็นประจำสม่ำเสมอ
หลายคนมาแค่ชั่ววัน แค่ข้ามคืน
ผู้คนต่างๆ เหล่านี้นำเรื่องราวอันหลากหลายมา
พร้อมกับนำหลายสิ่งหลายอย่างกลับไป
บางคนได้มากกว่าเก่า ขณะบางคนกลับได้ไม่เท่าเก่าก็มี
ดังที่ท่านพุทธทาสว่า
มาสวนโมกข์อาจไม่ถึงซึ่งสวนโมกข์
อยู่ที่โตรกละหาร ธารน้ำไหล
อยู่ที่หมู่เมฆา ฟากฟ้าไกล
อยู่ที่ใครเยี่ยมถึงซึ่งนิพพานฯ

สวนธรรมอันสงบเรียบง่าย เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
อย่างสวนโมกข์นี้นับวันจะลดน้อยถอยลง
ทุกวันนี้คนเราเรียนรู้ที่จะใบบ้าคว้าไขว่กันไปตามกระแสโลก
เป็นเรื่องที่ยากทัดทาน
หวังแต่เพียงว่าวันหนึ่งเมื่อเขาได้สดับเสียงธรรมจากใบไม้
รู้จักกอบเก็บอัญมณีจากผืนทรายได้แล้วไซร้
เขาก็ไม่จำเป็นจะต้องมาที่สวนโมกข์
หรือธรรมสถานอื่นใดเลยก็ได้

ถึงเวลาผมเองก็จะจากจรร่อนเร่ทะเลชีวิตต่อไป
ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้มาเยี่ยมเยียนที่นี่อีก
บอกกับตัวเองว่านิวาสสถานเป็นเพียงรูปรายภายนอก
มิใช่สิ่งควรยึดถือ นิวาสสถานอันเป็นที่พำนักพักพิงแท้จริงแล้วสดับรู้อยู่ภายในของเรา
อันเป็นหนทางไปสู่นฤพานในท้ายที่สุดนั่นเอง.


ประวัติ(วัดๆ)ของผู้เขียน
จู พเนจร

สมัยหนึ่ง(หนุ่มๆ)เคยเดินทางจาริกแสวงหา
ร่อนเร่พเนจรไปตามที่ต่างๆ
แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือสถานที่ปฏิบัติธรรม
ซึ่งบางแห่งก็มีโอกาสได้ไปพำนักพักอาศัยปฏิบัติธรรม
(กินข้าวก้นบาตร)อยู่บ้าง บางแห่งก็สองสามวัน
บางแห่งก็สองสามสี่หน เช่น
สวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดถ้ำสุมมะโน จังหวัดพัทลุง
บางแห่งก็สองสามสี่วันเช่นที่สวนธรรมสากล หาดใหญ่
สันติอโศก จังหวัดตรัง
และบางแห่งก็เพียงสองสามชั่วยาม
เช่นที่วัดสวนแก้ว นนทบุรี สันติอโศก กรุงเทพฯ
เป็นต้น(ก็แล้วกัน)
ครั้งหลังสุดได้มีโอกาสไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
หลักสูตรคุณแม่สิริ กรินชัย ที่วัดถาวรวราราม หาดใหญ่

อนึ่ง ทั้งนี้ผู้เขียนมิได้เป็นคนธรรมะธัมโมแต่อย่างใด
(แต่ก็พอเป็นคนที่มีจิตใจเป็นธรรมอยู่บ้าง)
กระนั้นก็พบว่าธรรมะเป็นแก่นแกนที่จะโน้มนำตนให้พบสัจธรรม
ความดีงามและสร้างสรรค์
เฉกเช่นกับงานศิลปะวรรณกรรมและอื่นๆนานัปการ

“...ไม่มีใบระกาช่อฟ้าโบสถ์
ให้คนโจษจันไกลไปเล่าขาน
มีเพียงธรรมเทียบถึงกึ่งทะนาน
ได้ด้วยการสดับรับเสียงธรรม

หนึ่งเม็ดทรายผนึกแน่นเป็นแผ่นผืน
ต้นไม้ยืนหยัดราก ใบไม้ร่ำ
แสงระบายทรายหินรินระบำ
ฉันกอบกำเพ่งพิศแล้วคิดครวญ”

: ลานหินโค้ง

แสดงความคิดเห็น

« 3951
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซท์
"ก๊วนปาร์ตี้"
เว็บไซท์นี้เปิดมาเพื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับบันทึกเรื่องราว ทางด้านวรรณกรรม ทุกรูปแบบ ท่านสามารถส่งบทความ - เรื่องสั้น - บทกวี เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน โดยคลิกส่งได้จากด้านล่างนี้
คลิกเพื่อ >> ส่งบทความ | ส่งเรื่องสั้น | ส่งบทกวี | ปกิณกะ