บทความ
ฌอง-มารี กุสตาฟ เลอ เคลซีโอ โนเบลวรรณกรรม 2008
แต่หลังจากนี้อาจจะได้รู้จักผู้ชายมากขึ้น จากสื่อต่างๆ ทั่วโลกที่จะช่วยเผยทั้งตัวตนและผลงานของเขา
เพราะ เลอ เคลซีโอ เจ้าของวาทะที่ว่า ภาษาฝรั่งเศสเป็นขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลทางความรู้สึกของเขา คือนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสคนล่าสุด ซึ่งได้รับรางวัลคัดสรรอันทรงเกียรติอย่าง รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ตามรอยรุ่นพี่ชาติเดียวกันอีก 13 คนมาติด ๆ
เลอ เคลซีโอ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1940 ในวัยเยาว์ชีวิตของเขาผูกติดกับการเดินทาง เพราะครอบครัวของเขาโยกย้ายถิ่นฐานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนิว เม็กซิโก, แอฟริกา หรือแม้แต่เกาะกลางทะเลอย่างมอริเชียส มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พ่อของเลอ เคลซีโอ กำลังไล่ตามความฝันของตัวเอง เขา แม่ และพี่ชาย จึงตัดสินใจเดินทางไปที่ไนจีเรียและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายโดยไม่ต้องศึกษาจากโรงเรียน (เคยพรรณนาชีวิตช่วงนี้ไว้ใน Onitsha นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของเขา เมื่อปี 1991) แต่วิถีส่วนใหญ่ของครอบครัวนี้คือ เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส
แม้ ว่าช่วงชีวิตที่กลับมาตั้งถิ่นฐานในเมืองนีซ จะเป็นระยะเวลาที่กำลังเกิดสงคราม ครอบครัวจึงลำบากบ้าง แต่ก็ทำให้เขาได้รับการศึกษาตามระบอบของสังคม ในปี 1957 เลอ เคลซีโอ ได้ตัดสินใจที่จะศึกษาต่อด้านวรรณกรรมและปรัชญา ทั้งที่มหาวิทยาลัยบริสตอล (Bristol University) มหาวิทยาลัยลอนดอน (London University) สถาบันวรรณกรรมแห่งเมืองนีซ มหาวิทยาลัยเอกซ์-ออง-โปรวองซ์ และสุดท้ายกับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตจาก University of Perpignan ก่อนที่จะเดินทางไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก อาทิ University of New Mexico, The Boston University, University of Texas รวมถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย เมื่อปี 1966-1967 ด้วย
เส้น ทางแห่งบรรณพิภพของนักเขียนคนนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เขาอายุเพียง 8 ขวบ ในรูปแบบของบทกวี เลอ เคลซิโอ ถ่ายทอดมุมมองและความรู้สึกผ่านตัวอักษร ด้วยแนวคิดที่ว่า "การเขียนสำหรับผมไม่ต่างจากการเดินทาง ที่ทำให้ผมได้สำรวจทั้งชีวิตของตัวเองและคนอื่น" ก่อนที่ผลงานสมบูรณ์แบบชิ้นแรกจะก้าวมาพร้อมกับชื่อเสียง เมื่ออายุเพียง 23 ปี หลังจากที่นวนิยายเรื่องแรกของเขา Le Proces-Verbal (The Deposition) จะได้รับรางวัล Renaudot Prize
Le Proces-Verbal เป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ้างว้างและสิ้นหวังของเมืองทันสมัยใน ซีกโลกตะวันตก อดัม พอลโล ตัวละครเอกของเรื่อง เป็นชายหนุ่มผู้อ่อนไหวและไม่แน่ใจในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ ไม่ต่างกับสุนัขเร่ร่อนที่หลงทางในเมืองกว้าง จนก่อเกิดการกระทำที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ปลุกปั่นสังคมให้ปั่น ป่วน และจุดจบของชายคนนี้คือเตียงนอนในโรงพยาบาลบ้า
นั่นเป็นจุด เริ่มต้นที่ทำให้เลอ เคลซีโอ ถูกจับตามองในนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำให้แวดวงวรรณกรรมผิดหวัง เพราะหลังจากนั้นปลายปากกาของเขาก็สะบัดอย่างต่อเนื่อง
เลอ เคลซีโอ เชื่อว่าประสบการณ์ต่างถิ่นและการเดินทางแทบจะทั่วโลก ซึ่งทำให้เขาได้เห็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมอยู่เสมอๆ เป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างบางกระแสสำนึกขึ้นมาในจิตใจของเขา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรู้สึกของคนเล็กๆ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยของสังคม ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และความคิดนั้นก็สะท้อนในผลงานของเขากว่า 30 เรื่องอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในหลากประเภททั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ งานวิจารณ์ต่างๆ รวมถึงงานแปลชิ้นสำคัญซึ่งสื่อถึงจิตวิญญานแห่งอินเดียอีก 2 เรื่องด้วย
บ่อยครั้งที่ตัวละครของเขามักจะเป็นคนสันโดษ ที่ต้องพยายามหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับคำว่าทันสมัย ซึ่งถาโถมเข้ามาในชีวิตอย่างรวดเร็ว บ้างก็แสดงถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างคนกลุ่มใหญ่และคนชายขอบ รวมถึงการปะทะกันทางวัฒนธรรมในโลกโลกาภิวัตน์ ซึ่งเลอ เคลซิโอ มองว่าความเชื่อแห่งโลกตะวันตกกำลังพยายามรุกล้ำและครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างในเรื่อง In Desert (1980) ซึ่งได้รับรางวัล Grand Prix Paul Morand เล่าถึง ลัลลา หญิงสาวจากชนเผ่าเร่ร่อนจากทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งความสวยแปลกของเธอได้ส่งให้ลัลลากลายเป็นนางแบบระดับโลก แต่สุดท้ายแล้วเธอก็กลับไปยังทะเลทราย แผ่นดินเกิดของเธอ
แม้ประเด็น ความคิดของผู้ชายคนนี้จะน่าทึ่ง ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีในความร่วมสมัยที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและ กระตุ้นเตือนบางความคิดแนวขบถให้เกิดแก่ผู้อ่านจนมีการแปลในหลายภาษาทั่วโลก แต่มักจะมีเสียงบ่นจากนักอ่านบ่อยๆ ว่า การสื่อสารของเขาค่อนข้างที่จะเข้าถึงยาก
ปัจจุบันเลอ เคลซิโอ ยังคงเดินทางรอบโลกเช่นในวัยเยาว์ เพียงแต่การเดินทางของเขาไม่ได้เป็นเพียงการก้าวอย่างเป็นรูปธรรมเฉกอดีต เท่านั้น แต่หมายถึงการลากเก้าอี้มานั่งหน้านั่งโต๊ะ แล้วหยิบปากกามาถ่ายทอดเรื่องราวบนกระดาษด้วย
เพราะเมื่อการเดินทางช่วยเติมเต็มชีวิตภายนอก การเขียนก็ช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณภายในให้สมบูรณ์
ที่มา - มติชนรายวัน วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11179