บทความ
บันทึกร้อยวัน : เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน (1)
ดีใจที่ได้มานั่งหน้าจอ นั่งเขียนบันทึกอีกครั้งหลังเว้นช่วงมาหลายเดือน นั่งลงตรงนี้ขณะเดียวกันก็พยายามละทิ้งความหดหู่เศร้าใจที่มีผลมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทำท่าว่าวันหยุดยาวนานก็จริง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความอึดอัดขัดข้องใจในใจดีขึ้น
ทำไปทำมาดูเหมือนว่าความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์มันฝังรอยร้าวลึกในใจของผู้คนในประเทศนี้เสียแล้ว จะพูดจะคุยกับใครก็ระแวงระวังไปหมด ไม่รู้ใครสีอะไร การเมืองที่บั่นทอนตัวเองเช่นนี้ มีแต่จะทำร้ายทำลายกันและกัน
แต่ก็นั่นแหละนะ เหรียญมีสองด้านฉันใด ด้านหนึ่งก็ตอกย้ำความเชื่อการเมืองภาคพลเมืองหรือการสร้างประชาธิปไตยชุมชนให้เข้มแข็งขึ้นอาจจะเป็นทางเลือกใหม่ ทิศทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเลือกข้าง เลือกสีเลือกฝ่าย
การเมืองที่ไม่รวมศูนย์อำนาจและขึ้นตรงต่อกันและกัน การเมืองที่ได้มาโดยไม่จำเป็นต้องปฎิวัติ(ทั้งซ่อนรูปและไม่ซ่อนรูป)
เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสดีได้ไปดูงานที่อเมริกา เพื่อไปดูต้นกำเนิดแนวคิดการทำมูลนิธิชุมชน ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานร่วมกับหลายองค์กรโดยเฉพาะ Nida ที่เป็นเ้จ้าภาพ และองค์กรธุรกิจที่มีใจทำงานเพื่อสังคม ร่วมกันพัฒนาแนวคิดเรื่องมูลนิธิชุมชนในประเทศไทย
มูลนิธิชุมชน หรือ Community Foundation ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1914 ณ เมือง Cleveland รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ในนาม Cleveland Foundation โดย Fredrick Goff นายธนาคารผู้มีชื่อเสียงแห่ง Cleveland Trust Company ปัจจุบัน “มูลนิธิชุมชน Cleveland” มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิชุมชนในสหรัฐอเมริกา มีทรัพย์สินกว่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการบริหารจัดการกองทุนเพื่อพัฒนา ชุมชนมากกว่า 800 กองทุน และกระจายทุนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนเป็นจำนวนเงินมากกว่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี ความสำเร็จของมูลนิธิชุมชนในสหรัฐอเมริกาเป็นที่ยอมรับและแนวความคิดนี้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเชื่อกันว่า “มูลนิธิชุมชน” จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของท้องถิ่น และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทุนเพื่อชุมชนของตนเอง จากรายงานประจำปีของ WINGS แจ้งว่าในปี พ.ศ.2547 มีมูลนิธิชุมชนกระจายไปถึง 1,175 มูลนิธิ ใน 46 ประเทศ มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5%
มูลนิธิชุมชนเป็นองค์กรทุนที่ก่อตั้งขึ้นโดยชุมชนในพื้นที่นั้นๆ จาก 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ร่วมกันบริหาร เพื่อประโยชน์ของชุมชนนั้นๆ อาจจะระดมทุนเองจากภายในหรือภายนอก จากนั้นกระจายทุนหรือทรัพยากรที่ได้ไปช่วยคนในชุมชน หรืออาจจะเป็นแบบประสานเครือข่ายในชุมชนมารวมพลังกันไปช่วยในประเด็นต่างๆ มูลนิธิชุมชนมีการสร้างกองทุนสะสมเพื่อความยั่งยืน (Endowment Fund) และมีกองทุนที่เจาะจงช่วยเหลือในประเด็นต่างๆได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค มูลนิธิชุมชนสามารถเป็นเวทีกลางสะท้อนปัญหาที่มีในชุมชน เพื่อระดมสรรพกำลังลงไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์<br />
ในประเทศไทยแนวความคิดเรื่อง “มูลนิธิชุมชน” เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ที่รัฐได้ให้ความสำคัญต่อองค์กรชุมชน และการมีส่วนร่วมของชุมชน ต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่เน้นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สถาบันซีเนอร์กอส (The Synergos Institute) จากสหรัฐอเมริกาได้จุดกระแสแนวคิดเรื่องมูลนิธิชุมชนในประเทศไทยในปี 2545
ต่อมานายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เปิดให้ได้ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับ 14 องค์กร คือ 1) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 2) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย 3) มูลนิธิรักษ์ไทย 4) มูลนิธิกองทุนไทย 5) มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย 6) มูลนิธิปูนซิเมนต์ไทย 7) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 9) กองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค 10) ธนาคารออมสิน 11) วิทยาลัยการจัดการสังคม 12) สถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่น 13) ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ 14) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ของการเกิดมูลนิธิชุมชนในประเทศไทย
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ทางศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ Nida อาศัยทุนทางสังคมซึ่งก็คือลูกศิษย์ทั้งหลายในแต่ละพื้นที่มาร่วมกันพัฒนาแนวคิดนี้ และล่าสุดจังหวัดสงขลาและสตูล ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ และปัจจุบันทั้งสองจังหวัดอยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิ
ณ วันที่ผมกำลังเขียนบันทึกอยู่นี้ มูลนิธิชุมชนสงขลาได้จดทะเบียนก่อตั้งเรียบร้อยแล้ว และผมเองก็ได้เป็นกรรมการคนหนึ่งของมูลนิธินี้
หลายคนอาจจะสงสัย มูลนิธิชุมชนนี้จะมีความแตกต่างจากมูลนิธิทั่วไปอย่างไร? ทำไมจึงถูกมองว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาชุมชน? ทำไมเราจะต้องไปศึกษาเรียนรู้?
กล่าวโดยทั่วไป ลักษณะสำคัญของมูลนิธิชุมชนมีดังต่อไปนี้
1. การก่อตั้งมูลนิธิชุมชน เป็นความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ร่วมกันก่อตั้ง และบริหารด้วยความเสมอภาคกัน
2. มีพื้นที่ชุมชนชัดเจนที่จะดำเนินงาน (กรณีบ้านเราจะเลือกพื้นที่ระดับจังหวัด)
3. มูลนิธิชุมชนมีบทบาทและหน้าที่ในการระดมทุน (Resource Mobilization) จากภายในและภายนอกชุมชน เพื่อนำมาช่วยเหลือโครงการที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เป็นการบริหารจัดการด้วยประชาชนในชุมชน
4. มูลนิธิชุมชนมีหน้าที่ในการกระจายทุน และประสานงานกับองค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนด้านต่างๆ
5. มูลนิธิชุมชนจะมีเงินกองทุนถาวร (Endowment Fund) สะสมไว้ และทำให้กองทุนถาวรนี้มีการเติบโตและยั่งยืน(บ้านเรายังไม่มีองค์กรใดทำอย่างจริงจัง)
6. มูลนิธิชุมชนมีระบบการบริหารงานที่โปร่งใส และมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้สาธารณชนรับทราบสม่ำเสมอ
นั้นคือหลักการทั่วไป อย่างที่บอก แนวคิดนี้ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก การส่งเสริมการให้เช่นนี้ในโลกตะวันออกเองผมว่าเรามีรูปแบบที่หลากหลาย มีลักษณะของการพึ่งพิงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น การแบ่งปันข้าวของเงินทอง การบริจาค การทำบุึญ การจัดงานเลี้ยงน้ำชาช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก การทำซะกาต ฯลฯ หากเราสามารถพัีฒนาหรือต่อยอดทุนเดิมนี้ขึ้นมาโดยประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบการบริหารจัดการโดยมูลนิธิ ด้านหนึ่งนอกจากจะสร้างความเข้มแข็งบนฐานการพึ่งตนเองของชุมชนแล้วยังเป็นการพัฒนาศาสตร์ของการให้ในส่วนของความรู้ด้านนี้ด้วย
และแม้นว่าระหว่างขวบปีที่เราเตรียมตัวก่อตั้ง คณะทำงานมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้แนวคิดและร่วมพัฒนาแนวทางการทำมูลนิธิในสงขลามาระยะหนึ่งแล้ว การมีโอกาสได้ไปดูงานถึงอเมริกาก็ย่อมเป็นการสร้างความมั่นใจและเปิดโลกการเรียนรู้ได้อีกไม่น้อย
ตอนที่เราเดินทางมาถึงสุวรรณภูมิ ยังมีความทรงจำในช่วงของการปิดล้อมสุวรรณภูมิของเหล่าพันธมิตรให้ได้รำลึก คณะดูงานในคราวนั้นทางประเทศไทยมี 6 ชีวิต ประกอบด้วยทีมงานของศูนย์สาธารณะประโยชน์ 3 คน และทีมงานจังหวัดสงขลาอีก 3 คน เ้ราใช้วิธีนัดหมายกันต่างคนต่างมา ผมเองนั้นเดินทางมากับคุณชิต ประธานกรรมการชุดก่อตั้ง คุณชิตเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดและศิษย์เก่า Nida
สังคมจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกและทางออกใหม่ บนหนทางการเมืองเก่าที่เริ่มตีบตัน ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จะเป็นคำตอบสุดท้าย แต่เราก็เชื่อว่าบนเส้นทางของการสร้่างประชาธิปไตยชุมชนอาจช่วยให้เราพอจะอยู่ร่วมในโลกที่เต็มไปด้วยความขัีดแย้งนี้ได้
เราเริ่มออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 มีนาคม 2552 ไต่มิติเวลาจากอีกซีกโลกไปอีกซึกโลก